๖. นตังทัฬหวรรค

๑. พันธนาคารชาดก ว่าด้วยเครื่องผูก

[๒๕๑] เครื่องผูกอันใด ที่ทำด้วยเหล็กก็ดี ทำด้วยไม้ก็ดี ทำด้วยหญ้าปล้องก็ดี นักปราชญ์ไม่กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง ความกำหนัด ยินดีในแก้วมณีและกุณฑลก็ดี ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี. [๒๕๒] นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง ทำให้สัตว์ตกต่ำ หย่อน แก้ได้ยาก แม้เครื่องผูกนั้น นักปราชญ์ก็ตัดได้ ไม่มีความห่วงใย ละกามสุข หลีกออกไปได้.

จบ พันธนาคารชาดกที่ ๑.

๒. เกฬิสีลชาดก ว่าด้วยปัญญาสำคัญกว่าร่างกาย

[๒๕๓] หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี ฟานก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ ทั้งนั้น จะถือเอาร่างกายเป็นประมาณไม่ได้ ฉันใด. [๒๕๔] ในหมู่มนุษย์ ก็ฉันนั้น ถ้าแม้เด็กมีปัญญา ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึง ร่างกายจะใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้.

จบ เกฬิสีลชาดกที่ ๒.

๓. ขันธปริตตชาดก ว่าด้วยพระปริตต์ป้องกันสัตว์ร้ายต่างๆ

[๒๕๕] ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า วิรูปักขะ ขอไมตรีจิต ของเราจงมีกับตระกูลพระยางูชื่อว่า เอราปถะ ขอไมตรีจิตของเราจงมี กับตระกูลพระยางูชื่อว่า ฉัพยาปุตตะ (และ) ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับ ตระกูลพระยางูชื่อว่า กัณหาโคตมกะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์ ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามากขอสัตว์ที่ ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามากอย่าได้ เบียดเบียนเราเลย ขอสัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ที่มีลมปราณ สัตว์ผู้เกิดแล้ว หมดทั้งสิ้นด้วยกัน จงประสบพบแต่ความเจริญทั่วกัน ความทุกข์ อันชั่วช้า อย่าได้มาถึงสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งเลย. [๒๕๖] พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณหาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์ เลื้อยคลาน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ประมาณได้ เราได้ทำการรักษาตัวแล้ว ป้องกันตัวแล้ว ขอ สัตว์ทั้งหลายจงพากันหลีกไป ข้าพเจ้านั่นขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระ ภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.

จบ ขันธปริตตชาดกที่ ๓.

๔. วีรกชาดก ว่าด้วยโทษการเอาอย่างผู้อื่น

[๒๕๗] ข้าแต่ท่านวีรกะ ท่านเห็นนกที่ร้องเสียงเพราะ มีสีเสมอด้วยสร้อยคอ แห่งนกยูง ตัวเป็นผัวของฉันชื่อว่า สวิฏฐกะบ้างไหม? [๒๕๘] นกสวิฏฐกะ เมื่อทำตามภรรยาของปักษีตัวผู้เที่ยวไปได้ทั้งทางน้ำ และ ทางบก บริโภคปลาสดเป็นนิจนั้น ถูกสาหร่ายพันคอตายเสียแล้ว.

จบ วีรกชาดกที่ ๔.

๕. คังเคยยชาดก ว่าด้วยผู้ชอบโอ้อวด

[๒๕๙] ปลาชื่อคังเคยยะก็งาม และปลาชื่อยมุนาก็งาม แต่สัตว์ ๔ เท้า มีปริ มณฑลเพียงดังต้นไทร มีคอยาวหน่อยหนึ่ง ตัวนี้ ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่า ใครทั้งหมด. [๒๖๐] ท่านไม่บอกเหตุที่เราถาม เราถามอย่างหนึ่ง ท่านบอกเสียอย่างหนึ่ง คน สรรเสริญตนเองนี้ ไม่ชอบใจเราเลย.

จบ คังเคยยชาดกที่ ๕.

๖. กุรุงคมิคชาดก ว่าด้วยการร่วมมือกัน

[๒๖๑] ดูกรเต่า เราขอเตือน ท่านจงกัดบ่วงอันมีเกลียวแข็งด้วยฟัน เราจัก ทำอุบายไม่ให้นายพรานมาถึงเร็วได้. [๒๖๒] เต่าก็ลงน้ำไป กวางก็เข้าป่าไป นกสตปัตตะไปถึงต้นไม้แล้ว ก็พาลูกๆ ไปอยู่ในที่ห่างไกล.

จบ กุรุงคมิคชาดกที่ ๖.

๗. อัสสกชาดก ไม่รู้ของจริงเพราะมีสิ่งใหม่ๆ ปิดไว้

[๒๖๓] ประเทศนี้ เราผู้มีความจงรัก ได้เที่ยวเล่นอยู่กับพระเจ้าอัสสกะ ผู้เป็น พระสวามีที่รัก. [๒๖๔] ความสุขและความทุกข์เก่า ถูกความสุขและความทุกข์ใหม่ปกปิดไว้ เพราะฉะนั้น หนอนจึงเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าพระเจ้าอัสสกะอีก.

จบ อัสสกชาดกที่ ๗.

๘. สุงสุมารชาดก ว่าด้วยผู้มีปัญญาไม่สมกับตัว

[๒๖๕] เราไม่ต้องการด้วยผลมะม่วง ผลหว้า และผลขนุนทั้งหลายที่ท่านเห็น ฝั่งสมุทร มะเดื่อของเราต้นนี้ดีกว่า. [๒๖๖] ร่างกายของท่านใหญ่โตก็จริง แต่ปัญญาหาสมควรแก่ร่างกายนั้นไม่ ดูกร จระเข้ ท่านถูกเราลวงเสียแล้ว บัดนี้ ท่านจงไปตามสบายเถิด.

จบ สุงสุมารชาดกที่ ๘.

๙. กักกรชาดก ว่าด้วยผู้ฉลาดเอาตัวรอดได้

[๒๖๗] ต้นหูกวางและสมอพิเภกทั้งหลายในป่า เราเคยเห็นแล้ว ต้นไม้เหล่านั้น ย่อมเดินไปเหมือนกับท่านไม่ได้. [๒๖๘] ไก่ตัวเก่าที่แหกกรงหนีมานี้ เป็นไก่ฉลาดในบ่วงขนสัตว์ ย่อมหลีกไป และยังขันเย้ยเสียด้วย.

จบ กักกรชาดกที่ ๙.

๑๐. กันทคลกชาดก นกหัวขวานตายเพราะไม้แก่น

[๒๖๙] ดูกรผู้เจริญ ต้นไม้ที่มีใบละเอียดมีหนามนี้เป็นต้นไม้อะไร เราเจาะเพียง ครั้งเดียว ทำให้สมองศีรษะแตกได้? [๒๗๐] นกหัวขวานตัวนี้ เมื่อเจาะหมู่ไม้อยู่ในป่า ได้เคยเที่ยวเจาะแต่ไม้แห้ง ที่ไม่มีแก่น ภายหลังมาพบเอาต้นกฐินซึ่งมีกำเนิดเป็นไม้แก่นอันเป็นที่ ทำลายสมองศีรษะ.

จบ กันทคลกชาดกที่ ๑๐.

จบ นตังทัฬหวรรคที่ ๖. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. พันธนาคารชาดก๒. เกฬิสีลชาดก ๓. ขันธปริตตชาดก ๔. วีรกชาดก ๕. คังเคยยชาดก๖. กุรุงคมิคชาดก ๗. อัสสกชาดก ๘. สุงสุมารชาดก ๙. กักกรชาดก ๑๐. กันทคลกชาดก. _________________

๗. พีรณัตถัมภกวรรค

๑. โสมทัตตชาดก ว่าด้วยอาการของผู้ขอ

[๒๗๑] ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นนิจ ได้ทำความเพียรอยู่ในป่าช้าชื่อพีรณัต ถัมภกะถึงหนึ่งปี ครั้นเข้าประชุมบริษัท กลับกล่าวให้ผิดพลาดไป ความเพียร ย่อมป้องกันผู้ปราศจากปัญญาไม่ได้. [๒๗๒] ดูกรพ่อโสมทัตต์ บุคคลผู้ขอ ย่อมประสบอาการ ๒ อย่าง คือได้ทรัพย์ ๑ ไม่ได้ทรัพย์ ๑ เพราะว่าการขอมีอาการอย่างนี้เป็นธรรมดา.

จบ โสมทัตตชาดกที่ ๑.

๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก นางพราหมณีหาชายชู้

[๒๗๓] อาการข้าวข้างบนเป็นอย่างหนึ่ง อาการข้าวข้างล่างเป็นอย่างหนึ่ง ดูกร นางพราหมณี ฉันขอถามท่านหน่อยเถิด เหตุไรข้าวข้างล่างจึงเย็น ข้างบนจึงร้อนนิดหน่อย? [๒๗๔] ดูกรท่านผู้เจริญ ฉันเป็นคนฟ้อนรำ เที่ยวขอมาจนถึงที่นี่ ก็ชายชู้ของนาง พราหมณีนี้ ซุ่มอยู่แล้วที่ซุ้มต้นไม้ ท่านเสาะหาผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ชายชู้ ผู้นี้เอง.

จบ อุจฉิฏฐภัตตชาดกที่ ๒.

๓. ภรุราชชาดก ประทุษร้ายผู้มีศีลย่อมวิบัติ

[๒๗๕] เราได้ฟังมาว่า พระราชาในภรุรัฐ ได้ทรงประทุษร้ายต่อฤาษีทั้งหลายแล้ว ทรงประสบความวิบัติพร้อมทั้งแว่นแคว้น. [๒๗๖] เพราะฉะนั้นแล บัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญการลุอำนาจแก่ฉันทาคติ บุคคลไม่ควรมีจิตคิดร้าย ควรกล่าวแต่คำที่อิงความจริง.

จบ ภรุราชชาดกที่ ๓.

๔. ปุณณนทีชาดก ว่าด้วยการไม่ระลึกถึง

[๒๗๗] ชนทั้งหลายพึงพูดถึงแม่น้ำที่เต็มแล้วว่า กาดื่มกินได้ก็ดี พูดถึงข้าวกล้า ที่เกิดแล้วว่า กาซ่อนอยู่ได้ก็ดี พูดถึงบุคคลที่รักกันไปสู่ที่ไกลว่า จะกลับ มาถึงเพราะกาบอกข่าวก็ดี กานั้น เรานำมาให้ท่านแล้ว ขอเชิญบริโภค เนื้อกานั้นเถิด ท่านพราหมณ์. [๒๗๘] คราวใด พระราชาทรงระลึกถึงเรา เพื่อจะส่งเนื้อกาให้เรา คราวนั้น เนื้อหงส์ก็ดี เนื้อนกกะเรียนก็ดี เนื้อนกยูงก็ดี เป็นของที่เรานำไปถวาย แล้ว การไม่ระลึกถึงเสียเลย เป็นความเลวทราม.

จบ ปุณณนทีชาดกที่ ๔.

๕. กัจฉปชาดก ว่าด้วยตายเพราะปาก

[๒๗๙] เต่าพออ้าปากจะพูด ได้ฆ่าตนเองแล้วหนอ เมื่อตนคาบท่อนไม้ไว้ดีแล้ว ก็ฆ่าตนเสียด้วยวาจาของตนเอง. [๒๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นรชน บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเห็นเหตุ อันนี้แล้ว ควรเปล่งแต่วาจาที่ดี ไม่ควรเปล่งวาจานั้นให้ล่วงเวลาไป ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรเต่าตัวถึงความพินาศเพราะพูดมาก.

จบ กัจฉปชาดกที่ ๕.

๖. มัจฉชาดก ไฟราคะร้อนกว่าไฟอย่างอื่น

[๒๘๑] ไฟนี้ก็ไม่เผาเราให้เร่าร้อน แม้หลาวที่นายพรานแหเสี้ยมเป็นอย่างดีแล้ว ก็ไม่ยังความทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่เรา แต่การที่นางปลาเข้าใจว่า เราไปหา นางปลาตัวอื่นด้วยความยินดี อันนี้แหละจะเผาเราให้เร่าร้อน. [๒๘๒] ไฟคือราคะนั้นแล ย่อมเผาเราให้เร่าร้อน อนึ่ง จิตของเราเองย่อมเผาเรา ให้เร่าร้อน ข้าแต่ท่านพรานแหทั้งหลาย ขอได้ปล่อยเราเถิด สัตว์ผู้ตก ยากอยู่ในกาม ท่านไม่ควรฆ่าโดยแท้.

จบ มัจฉชาดกที่ ๖.

๗. เสคคุชาดก การได้รับทุกข์จากผู้เป็นที่พึ่ง

[๒๘๓] สัตว์โลกทั้งปวง เป็นผู้พอใจในการเสพกาม ดูกรนางเสคคุ เจ้าเป็นผู้ ไม่ฉลาดในธรรมของชาวบ้าน ความที่เจ้าเป็นนางกุมารีถูกบิดาจับมือ ในป่าชัฏร้องไห้อยู่ในวันนี้ เป็นธรรมดา. [๒๘๔] เมื่อฉันได้รับทุกข์แล้ว ผู้ใดพึงเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นคือบิดาของฉัน กลับ มากระทำมิดีมิร้ายฉันในป่า ฉันจะคร่ำครวญหาใครในกลางป่าอีกเล่า ผู้ใดเป็นที่พึ่งได้ ผู้นั้นกลับมาทำฉันถึงสาหัส.

จบ เสคคุชาดกที่ ๗.

๘. กูฏวาณิชชาดก หนามยอกเอาหนามบ่ง

[๒๘๕] ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงดีแล้ว ถ้าหนู ทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉน เหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า? [๒๘๖] บุคคลที่โกงตอบคนโกง ย่อมมีอยู่แน่นอน บุคคลที่ล่อลวงก็ย่อมมีอยู่ เหมือนกัน ดูกรท่านผู้มีบุตรหาย ท่านจักไม่ให้ผาลแก่เขา บุรุษผู้มีผาล หาย ก็จะไม่นำบุตรมาให้แก่ท่าน.

จบ กูฏวาณิชชาดกที่ ๘.

๙. ครหิตชาดก คนโง่เขลาย่อมเห็นแก่เงิน

[๒๘๗] มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาเขลา ไม่เห็นอริยธรรม พูดกันแต่ว่า เงินของเรา ทองของเรา ดังนี้ ทั้งกลางคืนและกลางวัน. [๒๘๘] ในเรือนหลังหนึ่ง มีเจ้าของเรือนอยู่ ๒ คน ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่งไม่มี หนวด แต่มีนมห้อยยาน เกล้าผมมวย และเจาะหู เขาซื้อมาด้วย ทรัพย์มาก เจ้าของเรือนผู้นั้น ย่อมกล่าวเสียดแทงคนในเรือนนั้น ตั้งแต่แรกมาอยู่.

จบ ครหิตชาดกที่ ๙.

๑๐. ธัมมัทธชชาดก ว่าด้วยผู้ถึงธรรมของสัตบุรุษ

[๒๘๙] ท่านอยู่เป็นสุขแล้ว ได้ออกจากแว่นแคว้นมาสู่ป่าอันสงัดเงียบ ท่านนั้น นั่งซบเซาอยู่ที่โคนต้นไม้แต่ผู้เดียว เหมือนคนกำพร้า. [๒๙๐] เราอยู่เป็นสุขแล้ว ได้ออกจากแว่นแคว้นมาสู่ป่าสงัดเงียบ และระลึกถึง ธรรมของสัตบุรุษอยู่ นั่งซบเซาอยู่ที่โคนต้นไม้แต่ผู้เดียว เหมือนคน กำพร้า.

จบ ธัมมัทธชชาดกที่ ๑๐.

จบ พีรณัตถัมภกวรรคที่ ๗. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. โสมทัตตชาดก ๒. อุจฉิฏฐภัตตชาดก ๓. ภรุราชชาดก ๔. ปุณณนทีชาดก ๕. กัจฉปชาดก๖. มัจฉชาดก ๗. เสคคุชาดก๘. กูฏวาณิชชาดก ๙. ครหิตชาดก ๑๐. ธัมมัทธชชาดก. _________________

๘. กาสาววรรค

๑. กาสาวชาดก ว่าด้วยผู้ควรนุ่งห่มผ้ากาสาวะ

[๒๙๑] ผู้ใด ยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด ปราศจากทมะและสัจจะ จักนุ่งห่มผ้าย้อม น้ำฝาด ผู้นั้น ย่อมไม่สมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดเลย. [๒๙๒] ส่วนผู้ใด คายกิเลสดุจน้ำฝาดแล้ว ตั้งมั่นอยู่ในศีลทั้งหลาย ประกอบด้วย ทมะและสัจจะ ผู้นั้นแล ย่อมสมควรจะนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดได้.

จบ กาสาวชาดกที่ ๑.

๒. จุลลนันทิยชาดก ผลของกรรมดีกรรมชั่ว

[๒๙๓] ปาราสริยพราหมณ์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่ว อันจะทำ ตัวท่านให้เดือดร้อนในภายหลังนะ คำนี้นั้น เป็นถ้อยคำของท่านอาจารย์. [๒๙๔] บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.

จบ จุลลนันทิยชาดกที่ ๒.

๓. ปุฏภัตตชาดก ว่าด้วยการคบ

[๒๙๕] บุคคลควรนอบน้อมต่อผู้ที่นอบน้อมตน ควรคบกับผู้ที่คบตน ควรทำกิจ ตอบแทนแก่ผู้ที่ช่วยทำกิจของตน ไม่ควรทำประโยชน์แก่ผู้ปรารถนาความ ฉิบหายให้ และไม่ควรคบกับผู้ที่ไม่คบตน. [๒๙๖] บุคคลควรละทิ้งผู้ที่ละทิ้งตน ไม่ควรทำความอาลัยรักใคร่ในบุคคลเช่นนั้น ไม่ควรสมาคมกับผู้ที่เขาไม่ใฝ่ใจกับตน นกรู้ว่า ต้นไม้หมดผลแล้วก็ละทิ้ง ไปหาต้นไม้อื่น เพราะโลกเป็นของกว้างใหญ่.

จบ ปุฏภัตตชาดกที่ ๓.

๔. กุมภีลชาดก คุณธรรมเครื่องให้เจริญ

[๒๙๗] ผู้ใด มีคุณธรรม อันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ธิติ ๑ จาคะ ๑ ผู้นั้น ย่อมล่วงพ้นศัตรูได้. [๒๙๘] ส่วนผู้ใด ไม่มีคุณธรรม อันเป็นเครื่องให้เจริญอย่างยิ่ง ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ธิติ ๑ จาคะ ๑ ผู้นั้นย่อมล่วงพ้นศัตรูไม่ได้.

จบ กุมภีลชาดกที่ ๔.

๕. ขันติวรรณนชาดก ต้องอดใจในคนที่หาคุณธรรมยาก

[๒๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระบาทมีบุรุษผู้ขวนขวายในกิจทุกอย่าง อยู่คนหนึ่ง แต่เขามีความผิดอยู่ข้อหนึ่ง พระองค์จะทรงโปรดดำริในความ ผิดของเขานั้นเป็นประการใด พระเจ้าข้า. [๓๐๐] บุรุษเช่นนี้ของเราก็มีอยู่ในที่นี้ แต่บุรุษผู้ประกอบด้วยองค์คุณหาได้ยาก เราจึงสู้อดใจเสีย.

จบ ขันติวรรณนชาดกที่ ๕.

๖. โกสิยชาดก ว่าด้วยผู้รู้กาลควรไม่ควร

[๓๐๑] การออกไปในเวลาอันสมควร เป็นความดี การออกไปในเวลาอันไม่ สมควร ไม่ดี เพราะว่า คนผู้ออกไปโดยเวลาไม่สมควร ย่อมไม่ยัง ประโยชน์อะไรให้เกิดได้ คนที่เป็นศัตรูเป็นอันมาก ย่อมทำอันตรายคน ผู้ออกไปแต่ผู้เดียวในเวลาอันไม่สมควรได้ เหมือนฝูงการุมจิกนกเค้า ฉะนั้น. [๓๐๒] นักปราชญ์รู้จักวิธีการต่างๆ เข้าใจช่องทางของคนเหล่าอื่น ทำพวกศัตรู ทั้งมวลให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว พึงอยู่เป็นสุขเหมือนนกเค้าผู้ฉลาด ฉะนั้น.

จบ โกสิยชาดกที่ ๖.

๗. คูถปาณกชาดก หนอนท้าช้างสู้

[๓๐๓] ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญ มาพบกับเราผู้กล้าหาญ อาจประหารได้ไม่ย่นย่อ มาซิช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัวหรือจึงได้หนีไป ขอให้พวกคน ชาวอังคะและมคธะได้เห็นความกล้าหาญของเรา และของท่านเถิด. [๓๐๔] เราจักไม่ต้องฆ่าเจ้าด้วยเท้า งา หรือด้วยงวงเลย เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถ หนอนตัวเน่า ควรฆ่าด้วยของเน่าเช่นกัน.

จบ คูถปาณกชาดกที่ ๗.

๘. กามนีตชาดก ผู้ถูกโรครักครอบงำรักษายาก

[๓๐๕] เราปรารถนาระหว่างเมืองทั้ง ๓ คือ เมืองปัญจาละ ๑ เมืองกุรุยะ ๑ เมือง เกกกะ ๑ ดูกรท่านพราหมณ์ เราปรารถนาราชสมบัติทั้ง ๓ เมืองนั้นมาก กว่าสมบัติที่เราได้แล้วนี้ ดูกรพราหมณ์ ขอให้ท่านช่วยรักษาเราผู้ถูก ความใคร่ครอบงำด้วยเถิด. [๓๐๖] อันที่จริง เมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผี เข้าสิง หมอผู้ฉลาดก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลถูกความใคร่ครอบงำแล้ว ใครๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่า เมื่อบุคคลล่วงเลยธรรมขาวเสียแล้ว จะรักษาได้อย่างไร?

จบ กามนีตชาดกที่ ๘.

๙. ปลายิชาดก ว่าด้วยขับไล่ศัตรูแบบสายฟ้าแลบ

[๓๐๗] เมืองตักกสิลาถูกเขาล้อมไว้ทุกด้านแล้ว ด้วยกองพลช้างตัวประเสริฐ ซึ่งร้องคำรณอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลม้าตัวประเสริฐ ซึ่งคลุมมาลาเครื่อง ครบอยู่ด้านหนึ่ง ด้วยกองพลรถ ดุจคลื่นในมหาสมุทรอันยังฝนคือ ลูกศรให้ตกลงด้านหนึ่ง ด้วยกองพลเดินเท้า ถือธนูมั่นมีฝีมือยิงแม่นอยู่ ด้านหนึ่ง. [๓๐๘] ท่านทั้งหลายจงรีบรุกเข้าไป และจงรีบบุกเข้าไป จงไสช้างให้หนุนเนื่อง กันเข้าไปเลย จงโห่ร้องให้สนั่นหวั่นไหวในวันนี้ ดุจสายฟ้าอันซ่าน ออกจากกลีบเมฆคำรณอยู่ ฉะนั้น.

จบ ปลายิชาดกที่ ๙.

๑๐. ทุติยปลายิชาดก คนถูกความเร่าร้อนเผาจนไม่อาจสู้ข้าศึกได้

[๓๐๙] ธงสำหรับรถของเรามีมากมาย พลพาหนะของเราก็นับไม่ถ้วนแสนยาก ที่ศัตรูจะหาญหักเข้าสู้รบได้ ดุจสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามให้ถึงฝั่งได้ ฉะนั้น อนึ่ง กองพลของเรานี้ยากที่กองพลอื่นจะหาญเข้าตีหักได้ดุจภูเขา อันลมไม่อาจให้ไหวได้ ฉะนั้น วันนี้ เราประกอบด้วยกองพลเท่านี้ อันกอง พลเช่นนั้นยากที่ศัตรูจะหาญหักเข้ารุกรานได้. [๓๑๐] ท่านอย่าพูดเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนโง่เขลาไปเลย คนเช่นท่านจะเรียกว่า ผู้สามารถไม่ได้ ท่านถูกความเร่าร้อน คือ ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ เผารนอยู่เสมอ ไม่อาจจะกำจัดเราได้เลย จะต้องหนีเราไป กองพล ของเราจักย่ำยีท่านหมดทั้งกองพล ดุจช้างเมามันขยี้ไม้อ้อด้วยเท้า ฉะนั้น.

จบ ทุติยปลายิชาดกที่ ๑๐.

จบ กาสาววรรคที่ ๘. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. กาสาวชาดก ๒. จุลลนันทิยชาดก ๓. ปุฏภัตตชาดก ๔. กุมภีลชาดก ๕. ขันติวรรณนชาดก ๖. โกสิยชาดก ๗. คูถปาณกชาดก ๘. กามนีตชาดก ๙. ปลายิชาดก ๑๐. ทุติยปลายิชาดก. _________________

๙. อุปาหนวรรค

๑. อุปาหนชาดก อนารยชนย่อมใช้ศิลปะในทางผิด

[๓๑๑] รองเท้าที่คนซื้อมา เพื่อประโยชน์จะให้สบายเท้า กลับนำเอาความทุกข์ มาให้ รองเท้านั้น ถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าครูดสีบ้าง ก็กลับกัดเท้า ของผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด. [๓๑๒] ผู้ใด เกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน เรียนวิชาและศิลปะมาจากสำนัก อาจารย์ได้แล้ว ผู้นั้น ย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปะที่เรียนมาในสำนักของ อาจารย์นั้น ฉันนั้น บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ไม่ใช่อารยชน เปรียบ ด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี ฉะนั้น.

จบ อุปาหนชาดกที่ ๑.

๒. วีณาถูณชาดก รักคนผิด [๓๑๓]

เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียว บุรุษเตี้ย ค่อม ผู้โง่เขลานี้ จะนำทางไปไม่ได้แน่ ดูกรเจ้าผู้เจริญ เจ้าไม่สมควรจะไปกับบุรุษเตี้ยค่อมผู้นี้เลย. [๓๑๔] ดิฉันเข้าใจว่า บุรุษค่อมเป็นผู้องอาจ จึงได้รักใคร่บุรุษค่อมผู้นี้นอนตัวงอ อยู่ ดุจคันพิณที่มีสายขาดแล้ว ฉะนั้น.

จบ วีณาถูณชาดกที่ ๒.

๓. วิกัณณกชาดก คนเห็นแก่อามิสย่อมเดือดร้อน

[๓๑๕] เจ้าปรารถนาในที่ใด ก็จงไปในที่นั้นเถิด เจ้าเป็นผู้ถูกชะนักของเราแทง แล้ว เจ้าเป็นผู้โลภด้วยอาหารแท้ เมื่อติดตามปลาทั้งหลายมาก็ถูกอาหาร มีเสียงกลองกำจัดเสียแล้ว. [๓๑๖] บุคคลเห็นแก่โลกามิสแม้อย่างนี้ ชอบประพฤติตามอำนาจของจิต ย่อม เดือดร้อน เขาย่อมเดือดร้อนอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติและสหาย ดุจจระเข้ ตัวติดตามปลาไปถูกแทง ฉะนั้น.

จบ วิกัณณกชาดกที่ ๓.

๔. อสิตาภุชาดก โลภมากลาภหาย

[๓๑๗] พระองค์นั่นแหละ ได้กระทำเหตุอันนี้ ในบัดนี้ หม่อมฉันปราศจาก ความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้น ประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอัน ตัดขาดแล้วด้วยเลื่อย ฉะนั้น. [๓๑๘] บุคคลผู้ปรารถนาเกินส่วน ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ เพราะความโลภ เกินประมาณ และเพราะความมัวเมาอันเกิดจากความโลภเกินประมาณ เหมือนเราเสื่อมจากนางอสิตาภู ฉะนั้น.

จบ อสิตาภุชาดกที่ ๔.

๕. วัจฉนขชาดก ว่าด้วยดาบสผู้มีเล็บงาม

[๓๑๙] ข้าแต่ท่านดาบสผู้มีเล็บงาม เรือนทั้งหลายที่มีเงิน และโภชนาหารบริบูรณ์ เป็นเรือนมีความสุข ท่านบริโภค และดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวาย ก็ได้นอน การอยู่ครองเรือนนั้น เป็นสุขอย่างยิ่ง. [๓๒๐] บุคคลผู้เป็นฆราวาส ไม่มีมานะ ทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ... ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีได้แสนยาก เล่า?

จบ วัจฉนขชาดกที่ ๕.

๖. พกชาดก นกเจ้าเล่ห์

[๓๒๑] นกมีปีกตัวนี้ ดีจริง ยืนนิ่งดังดอกโกมุท หุบปีกทั้ง ๒ ไว้ ง่วงเหงา ซบเซาอยู่. [๓๒๒] ท่านทั้งหลาย ไม่รู้จักกิริยาของมัน พวกท่านไม่รู้จึงได้พากันสรรเสริญ นกตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองรักษาพวกเราดอก เพราะเหตุนั้น นกตัวนี้จึงไม่ เคลื่อนไหวเลย.

จบ พกชาดกที่ ๖.

๗. สาเกตชาดก เหตุให้เกิดความรัก

[๓๒๓] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกัน เข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้า จิตก็เลื่อมใส. [๓๒๔] ความรักนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกัน ในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนดอกอุบล และชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม ฉะนั้น.

จบ สาเกตชาดกที่ ๗.

๘. เอกปทชาดก ความเพียรทำให้เกิดประโยชน์หลายอย่าง

[๓๒๕] คุณพ่อครับ เหตุอย่างเดียวทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่างมีอยู่หรือไม่ ผมจะพึงทำประโยชน์ให้สำเร็จด้วยเหตุใด ขอคุณพ่อจงบอกเหตุนั้น ซึ่ง รวบรวมประโยชน์ได้หลายอย่างแก่ผมเถิด. [๓๒๖] ลูกเอ๋ย เหตุอย่างหนึ่ง คือ ความขยันหมั่นเพียร ทำให้ได้ประโยชน์ หลายอย่าง ก็ความขยันหมั่นเพียรนั้น ประกอบด้วยศีล ประกอบด้วย ขันติ อาจจะทำมิตรทั้งหลายให้ถึงความสุข หรืออาจทำศัตรูทั้งหลายให้ ถึงความทุกข์ได้.

จบ เอกปทชาดกที่ ๘.

๙. หริตมาตชาดก ว่าด้วยผู้มีอิสรภาพ

[๓๒๗] ดูกรท่านผู้เป็นบุตรกบเขียด ปลาทั้งหลายรุมกัดฉันผู้มีพิษแล่นเร็ว เข้าไป ยังหน้าลอบ เรื่องนี้ท่านชอบใจหรือ? [๓๒๘] บุรุษผู้มีอิสรภาพอยู่เพียงใด ก็ย่ำยีผู้อื่นได้อยู่เพียงนั้น คนอื่นมาย่ำยีตน คราวใด คราวนั้น ผู้ที่ถูกย่ำยีก็ย่ำยีตอบบ้าง.

จบ หริตมาตชาดกที่ ๙.

๑๐. มหาปิงคลชาดก ว่าด้วยพระเจ้าปิงคละผู้ร้ายกาจ

[๓๒๙] ชนทั้งปวงถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว เมื่อพระเจ้าปิงคละนั้น สวรรคตแล้ว ชนทั้งหลายก็ได้ความยินดี ดูกรนายประตู พระเจ้าปิงคละ ผู้ไม่มีพระเนตรดำ เป็นที่รักของท่านหรือ เพราะเหตุไร จึงได้ร้องไห้หนอ? [๓๓๐] พระเจ้าปิงคละผู้ไม่มีพระเนตรดำ จะเป็นที่รักของข้าพเจ้าก็หามิได้ แต่ ข้าพเจ้ากลัวว่า พระเจ้าปิงคละนั้นจะกลับเสด็จมาอีก พระเจ้าปิงคละเสด็จ ไปจากมนุษยโลกนี้แล้ว ก็จะเบียดเบียนพระยามัจจุราช พระยามัจจุราช นั้นถูกพระเจ้าปิงคละเบียดเบียนแล้ว ก็จะพึงนำมาส่งมนุษยโลกนี้อีก. [๓๓๑] พระเจ้าปิงคละนั้น พวกเราช่วยกันเผาแล้วด้วยฟืนพันเล่มเกวียน รดด้วยน้ำหลายร้อยหม้อ พื้นที่ดินนั้นเราป้องกันไว้อย่างดีแล้ว ท่าน อย่ากลัวเลย พระเจ้าปิงคละจักไม่เสด็จกลับมาอีก.

จบ มหาปิงคลชาดกที่ ๑๐.

จบ อุปาหนวรรคที่ ๙. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. อุปาหนชาดก ๒. วีณาถูณชาดก ๓. วิกัณณกชาดก ๔. อสิตาภุชาดก ๕. วัจฉนขชาดก ๖. พกชาดก ๗. สาเกตชาดก ๘. เอกปทชาดก ๙. หริตมาตชาดก ๑๐. มหาปิงคลชาดก. _________________

๑๐. สิคาลวรรค

๑. สัพพทาฐิชาดก ผู้มีบริวารมากเป็นใหญ่ได้

[๓๓๒] สุนัขจิ้งจอกกระด้างด้วยมานะ มีความต้องการด้วยบริวาร ได้บรรลุถึง สมบัติใหญ่ ได้เป็นราชาแห่งสัตว์มีเขี้ยวงาทั้งปวง ฉันใด. [๓๓๓] ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดมีบริวารมาก ผู้นั้นชื่อว่า เป็นใหญ่ในบริวารเหล่านั้น ดุจสุนัขจิ้งจอกได้เป็นใหญ่กว่าสัตว์มีเขี้ยวงา ฉะนั้น.

จบ สัพพทาฐิชาดกที่ ๑.

๒. สุนขชาดก ผู้ฉลาดย่อมช่วยตัวเองได้

[๓๓๔] สุนัขตัวใด ไม่กัดเชือกหนังให้ขาด สุนัขตัวนั้น โง่เขลามาก สุนัขควร จะเปลื้องตนเสียจากเครื่องผูก กินเชือกหนังเสียให้อิ่ม แล้วจึงค่อย กลับไปยังที่อยู่ของตน. [๓๓๕] คำที่ท่านกล่าวนี้ฝังอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้า อนึ่ง ข้าพเจ้ายังได้จำไว้ใน ใจแล้ว ข้าพเจ้าจะรอเวลาจนกว่าคนจะหลับ.

จบ สุนขชาดกที่ ๒.

๓. คุตติลชาดก ลูกศิษย์คิดล้างครู

[๓๓๖] ข้าพระองค์ได้สอนให้ศิษย์ชื่อมุสิละเรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย มีเสียง ไพเราะจับใจคนฟัง เขากลับมาขันดีดพิณสู้ข้าพระองค์ ณ ท่ามกลาง สนาม ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด. [๓๓๗] ดูกรสหาย ฉันจะเป็นที่พึ่งของท่าน ฉันเป็นผู้บูชาอาจารย์ ศิษย์จักไม่ ชนะท่าน ท่านจักชนะศิษย์.

จบ คุตติลชาดกที่ ๓.

๔. วิคติจฉชาดก ความปรารถนาไม่มีที่สิ้นสุด

[๓๓๘] บุคคลเห็นสิ่งใด ไม่ปรารถนาสิ่งนั้น อนึ่ง บุคคลไม่เห็นสิ่งใด ย่อม ปรารถนาสิ่งนั้น เราเข้าใจว่า บุคคลนั้น จักท่องเที่ยวไปอีกนาน อยาก ได้สิ่งใด ก็จักไม่ได้สิ่งนั้นเลย. [๓๓๙] บุคคลได้สิ่งใด ไม่ยินดีด้วยสิ่งนั้น ปรารถนาสมบัติอันใด ก็ติเตียน สมบัติที่ได้มานั้น เพราะขึ้นชื่อว่า ความปรารถนามีอารมณ์ไม่สิ้นสุด เราขอกระทำความนอบน้อมแด่ท่านผู้ปราศจากความปรารถนา.

จบ วิคติจฉชาดกที่ ๔.

๕. มูลปริยายชาดก กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

[๓๔๐] กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผา ตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว. [๓๔๑] ศีรษะของนรชนปรากฏว่ามีมาก มีผมดำยาวปกคลุมถึงคอ บรรดาคน ทั้งหลายนี้ จะหาคนผู้มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้.

จบ มูลปริยายชาดกที่ ๕.

๖. พาโลวาทชาดก ว่าด้วยคนมีปัญญาบริโภค

[๓๔๒] บุคคลผู้ไม่สำรวม ประหารสัตว์ เบียดเบียน และฆ่าสัตว์ ให้ทานแก่ สมณะใด สมณะนั้น บริโภคภัตเช่นนี้ ย่อมเข้าไปติดบาปด้วย. [๓๔๓] ถ้าสมณะเป็นผู้มีปัญญา แม้จะบริโภคทานที่บุคคลผู้ไม่สำรวม ฆ่าบุตร และภรรยาถวาย ก็ไม่เข้าไปติดบาปเลย.

จบ พาโลวาทชาดกที่ ๖.

๗. ปาทัญชลิชาดก ว่าด้วยปาทัญชลีราชกุมาร

[๓๔๔] ปาทัญชลีราชกุมาร ย่อมรุ่งเรืองกว่าเราทั้งหมดด้วยพระปรีชาแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงทรงเม้มพระโอฐอยู่เล่า จะทรงเห็นเหตุอย่าง อื่นยิ่งกว่านี้เป็นแน่. [๓๔๕] ปาทัญชลีราชกุมารพระองค์นี้ จะทรงทราบสิ่งที่เป็นธรรมหรือไม่เป็น ธรรม สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ก็หาไม่ ปาทัญชลี ราชกุมารพระองค์นี้ นอกจากจะเม้มพระโอฐแล้ว ย่อมไม่ทรงทราบ เหตุการณ์สักนิดหนึ่งเลย.

จบ ปาทัญชลิชาดกที่ ๗.

๘. กิงสุโกปมชาดก คนไม่รู้ธรรมด้วยญาณย่อมสงสัยในธรรม

[๓๔๖] ท่านทุกคนเห็นต้นทองกวาวแล้ว ยังจะสงสัยในต้นทองกวาวนั้น เพราะ เหตุไรหนอ ท่านทั้งหลายหาได้ถามนายสารถีให้ถี่ถ้วนในที่ทั้งปวงไม่. [๓๔๗] บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งหลาย เหมือนพระราชาบุตร ๔ พระองค์ ทรง สงสัยในต้นทองกวาวฉะนั้น.

จบ กิงสุโกปมชาดกที่ ๘.

๙. สาลกชาดก ว่าด้วยสาลกวานร

[๓๔๘] ดูกรพ่อสาลกวานร พ่อเป็นลูกคนเดียวของเรา อนึ่ง พ่อจักได้เป็นใหญ่ แห่งโภคสมบัติในตระกูลของเรา ลงมาจากต้นไม้เถิด มาเถิดพ่อ เรา จะพากันกลับไปบ้านของเรา. [๓๔๙] ท่านสำคัญเราว่า เป็นสัตว์ใจดี จึงได้ตีเราด้วยเรียวไม้ไผ่ เราพอใจอยู่ใน ป่ามะม่วงที่มีผลสุก ท่านจงกลับไปบ้านตามสบายเถิด.

จบ สาลกชาดกที่ ๙.

๑๐. กปิชาดก เข้าใจว่าลิงเป็นฤาษี

[๓๕๐] ฤาษีผู้ยินดีแล้วในความสงบและความสำรวม ท่านถูกภัย คือ ความ หนาวเบียดเบียน จึงมายืนอยู่ เชิญฤาษีผู้นี้จงเข้ามายังบรรณศาลานี้เถิด จะได้บรรเทาความหนาว และความกระวนกระวายให้หมดสิ้นไป. [๓๕๑] นี้ไม่ใช่ฤาษีผู้ยินดีในความสงบและความสำรวม เป็นลิงเที่ยวโคจรอยู่ ตามกิ่งมะเดื่อ มันเป็นสัตว์ประทุษร้าย ฉุนเฉียว และมีสันดานลามก ถ้าเข้ามาอยู่ยังบรรณศาลาหลังนี้ ก็จะพึงประทุษร้ายบรรณศาลา.

จบ กปิชาดกที่ ๑๐.

จบ สิคาลวรรคที่ ๑๐. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. สัพพทาฐิชาดก ๒. สุนขชาดก ๓. คุตติลชาดก ๔. วิคติจฉชาดก ๕. มูลปริยายชาดก ๖. พาโลวาทชาดก ๗. ปาทัญชลิชาดก ๘. กิงสุโกปมชาดก ๙. สาลกชาดก ๑๐. กปิชาดก. _________________

กลับที่เดิม