พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระเชตวันมหาวิหาร  ทรง

ปรารภปลายิปริพาชก  ตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า

ธชมปริมิตํ  อนนฺตปารํ  ดังนี้.

          แต่ในเรื่องนี้ปริพาชกนั้นเข้าไปยังพระเชตวันมหาวิหาร.

ขณะนั้นพระศาสดาแวดล้อมด้วยมหาชนประทับนั่งบนธรรมาสน์

อันประดับประดาแล้วแสดงธรรมดุจลูกสีหะแผดเสียงสีหนาท

อยู่เหนือพื้นมโนสิลา.  ปริพาชกเห็นพระรูปของพระทศพลมี

ส่วนสัดงามดังรูปพรหม.  พระพักตร์มีสิริฉายดังจันทร์เพ็ญ  และ

พระนลาฏดังแผ่นทองคำ  กล่าวว่าใครจักอาจเอาชนะบุรุษผู้อุดม

มีรูปอย่างนี้  ได้หันกลับไม่ยอมเข้าหมู่บริษัทหนีไป.  มหาชน

ไล่ตามปริพาชกแล้วกลับมากราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระ-

ศาสดา.  พระศาสดาตรัสว่า  ปริพาชกนั้นเห็นพระพักตร์มี

ฉวีวรรณดังทองคำของเราหนีไปแล้วในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่  แม้

ในกาลก่อนก็ได้หนีไปแล้วเหมือนกัน  ทรงนำเรื่องอดีตมาตรัส

เล่า.

          ในอดีตกาล  พระโพธิสัตว์เสวยราชสมบัติอยู่ในเมือง

พาราณสี.  พระเจ้าคันธารราชพระองค์หนึ่ง  เสวยราชสมบัติ

อยู่ในเมืองตักกสิลา.  พระเจ้าคันธารราชนั้น  ดำริว่าจะไปตี

กรุงพาราณสี  พรั่งพร้อมด้วยจตุรงคเสนา  ยกทัพมาล้อมกรุง

พาราณสีไว้  ประทับยืนใกล้ประตูนครทอดพระเนตรดูพลพาหนะ

ของพระองค์  คิดว่าใครจะอาจเอาชนะพลพาหนะมีประมาณเท่านี้

ได้.  ได้กล่าวคาถาแรกสรรเสริญกองทัพของพระองค์ว่า:-

                             ธงสำหรับรถของเรามีมากมาย  พลพาหนะ

                   ของเราก็นับไม่ถ้วน  แสนยากที่ศัตรูจะหาญหัก

                   เข้าสู้รบได้  ดุจสาครยากที่ฝูงกาจะบินข้ามให้

                   ถึงฝั่งได้ฉะนั้น  อนึ่ง  กองพลของเรานี้ยากที่

                   กองพลอื่นจะหาญเข้าตีหักได้  ดุจภูเขาอันลมไม่

                   อาจให้ไหวได้ฉะนั้น  วันนี้เราประกอบด้วยกอง

                   พลเท่านี้  อันกองพลเช่นนั้นยากที่ศัตรูจะหาญหัก

                   เข้ารุกรานได้.

          ในบทเหล่านั้น   บทว่า  ธชมปริมิตํ  ความว่า  เฉพาะธงที่

ปักไว้ที่งอนพลรถของเรานี้เท่านั้น  ก็นับไม่ถ้วนมากมายหลาย

ร้อย.  บทว่า  อนนฺตปารํ  ความว่า  แม้พลพาหนะของเราดูสุด

สายตาเหลือที่จะคณานับได้  พลช้างมีเท่านี้  พลม้ามีเท่านี้  พลรถ

มีเท่านี้  พลราบมีเท่านี้.  บทว่า  ทุปฺปสหํ  ได้แก่  ศัตรูทั้งหลาย

ไม่สามารถจะข่มขี่ย่ำยีได้.  ถามว่าเหมือนอย่างอะไร  ตอบว่า

เหมือนดังสมุทรสาครอันกาทั้งหลายแม้มาก  ยากที่จะเอาชนะได้

ด้วยการแข่งความเร็ว  หรือการบินข้ามฉะนั้น.  บทว่า  คิริมิว

อนิเลน  ทุปฺปสโห  ความว่า  อนึ่ง  พลนิกายของเรานี้ยากที่พล

นิกายอื่นจะรานรอนได้  ดุจภูเขาอันลมจะพัดให้โยกคลอนไม่ได้

ฉะนั้น.  บทว่า  ทุปฺปสโห  อหมชฺช  ตาทิเสน  ความว่า  เรานั้น

สะพรั่งด้วยกองพลเช่นนี้  ยากที่ศัตรูเช่นท่านจะชิงชัยได้ในวันนี้.

พระเจ้าคันธารราชตรัสหมายถึงพระโพธิสัตว์   ซึ่งประทับยืน

อยู่บนป้อม.

          ลำดับนั้น   พระโพธิสัตว์จึงแสดงพระพักตร์ของพระองค์

อันทรงสิริดุจจันทร์เพ็ญแก่พระเจ้าคันธารราชนั้น  ทรงขู่ขวัญ

ว่า  พระราชาผู้เป็นพาล  อย่าพร่ำเพ้อไปเลย  บัดนี้เราจักบดขยี้

พลพาหนะของท่านเสีย  ให้เหมือนช้างซับมันเหยียบย่ำพงอ้อ

ฉะนั้น  ได้กล่าวคาถาที่    ว่า  :-

                             ท่านอย่าพูดเพ้อถึงความที่ตนเป็นคนโง่

                   เขลาไปเลย  คนเช่นท่านจะเรียกว่าผู้สามารถมิได้

                   ท่านถูกความเร่าร้อน  คือราคะ  โทสะ  โมหะ  และ

                   มานะเผารนอยู่เสมอ  ไม่อาจจะกำจัดเราได้เลย

                   จะต้องหนีเราไป  กองพลของเราจักย่ำยีท่านหมด

                   ทั้งกองพล  ดุจช้างเมามันขยี้ไม้อ้อด้วยเท้าฉะนั้น.

          ในบทเหล่านั้น  บทว่า  มา  พาลิยํ  วิปฺปลปิ  ความว่า  ท่าน

อย่าพร่ำเพ้อถึงความที่ตนเป็นพาลไปเลย.  บทว่า    หิสฺส  ตาทิสํ

บาลีว่า    หิสฺส  ตาทิโส  บ้าง  ความว่า  ด้วยว่าไม่มีบุคคลผู้คิด

ว่า  พาหนะของเราสุดสายตา  สามารถจะชิงราชสมบัติได้ดัง

เช่นท่าน.  บทว่า  วิทยฺหเส  ความว่า  ท่านถูกความเร่าร้อน  คือ

ราคะ  โทสะ  โมหะ  และมานะเผารนอยู่เสมอ.  บทว่า    หิ  ลภเส

นิเสธกํ  ความว่า  ท่านจะไม่ได้การข่มขู่ครอบงำปราบปรามคน

เช่นเราได้เลย  วันนี้เราจะให้ท่านหนีไปตามทางที่ท่านมานั่นเอง.

บทว่า  อาสชฺชสิ  ได้แก่เข้าไปใกล้.  บทว่า  คชมิว  เอกจารินํ

ได้แก่  ดุจช้างเมามันผู้เที่ยวไปโดดเดี่ยว.   บทว่า  โย  ตํ  ปทา

นฬมิว  โปถยิสฺสติ  ความว่า  กองทัพของเราจักบดขยี้ท่านให้

แหลกไป  เหมือนช้างเมามันบดขยี้ไม้อ้อแหลกรานด้วยเท้าฉะนั้น.

          ฝ่ายพระเจ้าคันธารราชได้สดับคำของพระโพธิสัตว์ตรัส

ขู่ขวัญฉะนี้แล้ว  ทอดพระเนตรดู  ทรงเห็นพระนลาฎเช่นกับ

แผ่นทองคำ  กลัวจะถูกจับ  พระองค์จึงหันกลับหนีคืนสู่นครของ

พระองค์.

          พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ทรงประชุม

ชาดก.  พระเจ้าคันธารราชในครั้งนั้นได้เป็นปริพาชกในครั้งนี้.

ส่วนพระเจ้าพาราณสี  คือเราตถาคตนี้แล.

                             จบ  อรรถกถาทุติยปลายิชาดกที่   ๑๐