พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิรูปกฺเขหิ เม เมตฺตํ ดังนี้.
            ได้ยินว่า เมื่อภิกษุนั้นกำลังผ่าฟืนอยู่ที่ประตูเรือนไฟ งู ตัวหนึ่งเลื้อยออกจากระหว่างไม้ผุได้กัดเข้าที่นิ้วเท้า. ภิกษุนั้น มรณภาพในที่นั้นทันที. เรื่องที่ภิกษุนั้นมรณภาพได้ปรากฏไป ทั่ววัด. ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ได้ยินว่า ภิกษุรูปโน้นกำลังผ่าฟืนอยู่ที่ประตูเรือนไฟ ถูกงูกัดถึงแก่ มรณภาพ ณ ที่นั้นเอง. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุ ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุรูปนั้นจักได้เจริญเมตตาแผ่ถึงตระกูลพญางูทั้งสี่แล้ว งูก็จะไม่กัดภิกษุนั้น. แม้ดาบสทั้งหลายซึ่งเป็นบัณฑิตแต่ปางก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้อุบัติ ก็ได้เจริญเมตตาในตระกูลพญางู ทั้ง ๔ ปลอดภัยอันจะเกิดเพราะอาศัยตระกูลพญางูเหล่านั้น แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
            ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ แคว้นกาสี ครั้นเจริญวัย สละกามสุข ออกบวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและ สมาบัติให้เกิด สร้างอาศรมบทอยู่ที่คุ้งแม่น้ำแห่งหนึ่งในหิมวันต- ประเทศ เพลิดเพลินในฌาน เป็นครูประจำคณะ มีหมู่ฤๅษี แวดล้อมอยู่อย่างสงบ.
            ครั้งนั้นที่ฝั่งคงคา มีงูนานาชนิดทำอันตรายแก่พวกฤๅษี. พวกฤๅษีโดยมากได้ถึงแก่กรรม. ดาบสทั้งหลายจึงบอกเรื่องนั้น แก่พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์เรียกประชุมดาบสทั้งหมด แล้ว กล่าวว่า หากพวกท่านเจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ งู ทั้งหลายก็จะไม่กัดพวกเธอ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้ไป พวกเธอ จงเจริญเมตตาในตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้วจึงตรัสคาถานี้ว่า :-
            ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับตระกูลพญางู ชื่อว่า วิรูปักขะ ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับ ตระกูลพญางูชื่อว่า เอราปถะ ขอไมตรีจิตของเรา จงมีกับตระกูลพญางูชื่อว่า ฉัพยาปุตตะ ขอไมตรี จิตของเราจงมีกับตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ.
            พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงตระกูลพญางูทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จึงกล่าวว่า หากพวกท่านจักสามารถเจริญเมตตาในตระกูลพญางู ทั้ง ๔ นั้น งูทั้งหลายก็จักไม่กัดไม่เบียดเบียนพวกท่าน. แล้ว กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
            ขอไมตรีจิตของเรา จงมีกับสัตว์ที่ไม่มี เท้า ขอไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์สองเท้า ขอ ไมตรีจิตของเราจงมีกับสัตว์สี่เท้า ขอไมตรีจิต ของเราจงมีกับสัตว์มีเท้ามาก.
            พระโพธิสัตว์ครั้นแสดงเมตตาภาวนาโดยสรุปอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะแสดงด้วยการขอร้องจึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
            ขอสัตว์ที่ไม่มีเท้า สัตว์ที่มี ๒ เท้า สัตว์ที่มี ๔ เท้า สัตว์ที่มีเท้ามาก อย่าได้เบียดเบียนเราเลย.
            บัดนี้เมื่อจะแสดงการเจริญเมตตาโดยไม่เจาะจง จึงกล่าว คาถานี้ว่า :-
            ขอสัตว์ผู้ข้องอยู่ สัตว์ผู้มีลมปราณ สัตว์ ผู้เกิดแล้วหมดทั้งสิ้นด้วยกัน จงประสบพบแต่ ความเจริญทั่วกัน ความทุกข์อันชั่วช้า อย่าได้ มาถึงสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งเลย.
            พระโพธิสัตว์กล่าวว่า พวกท่านจงเจริญเมตตาไม่เฉพาะ เจาะจงในสรรพสัตว์อย่างนี้ เพื่อให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย อีก จึงกล่าวว่า :-
            พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีพระคุณ หาประมาณมิได้ บรรดาสัตว์เลื้อยคลาน คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็น สัตว์ประมาณได้.
            พระโพธิสัตว์แสดงว่า เพราะธรรมทั้งหลายอันทำประมาณ มีราคะภายในของสัตว์เหล่านั้นยังมีอยู่ ฉะนั้นสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านั้น จึงชื่อว่ามีประมาณ แล้วกล่าวว่าท่านทั้งหลายจงระลึก ถึงคุณของพระรัตนตรัยอย่างนี้ว่า ด้วยอานุภาพของพระรัตนตรัย อันหาประมาณมิได้ ขอสัตว์ทั้งหลายอันมีประมาณเหล่านี้ จงทำ การปกป้องรักษาพวกเราทั้งกลางคืนกลางวันเถิด เพื่อแสดง กรรมที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า :-
            เราได้ทำการรักษาตัวแล้ว ป้องกันตัวแล้ว ขอสัตว์ทั้งหลาย จงพากันหลีกไป ข้าพเจ้าขอ นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอนอบน้อม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์.
            พระโพธิสัตว์ผูกพระปริตรนี้ให้แก่คณะฤๅษี. ก็พระปริตร นี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้ในชาดกนี้ด้วยคาถาทั้งหลายตอนต้น เพราะแสดงเมตตาในตระกูลพญานาคทั้งสี่ หรือเพราะแสดง เมตตาภาวนาทั้งสอง คือ โดยเจาะจงและไม่เจาะจง ควรค้นคว้า หาเหตุอื่นต่อไป.
            ตั้งแต่นั้นคณะฤๅษีตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ เจริญเมตตารำลึกถึงพระพุทธคุณ. เมื่อฤๅษีรำลึกถึงพระพุทธคุณ อยู่อย่างนี้ บรรดางูทั้งหลายทั้งหมดต่างก็หลีกไป แม้พระโพธิสัตว์ ก็เจริญพรหมวิหาร มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม ชาดก. คณะฤๅษีในครั้งนั้นได้เป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้. ส่วน ครูประจำคณะ คือเราตถาคตนี้แล.
            จบ อรรถกถาขันธปริตตชาดกที่ ๓