พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    สุภควัน  อาศัยอุกกัฏฐธานี

ทรงปรารภ  มูลปริยายสูตร  ตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่ม

ต้นว่า  กาโล  ฆสติ  ภูตานิ  ดังนี้.

          ได้ยินว่า  ในกาลนั้นมีพราหมณ์  ๕๐๐  จบไตรเพทแล้ว

ออกบวชในพระศาสดาเรียนพระไตรปิฎก  เป็นผู้มัวเมาด้วยความ

ทะนงตนคิดว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้พระไตรปิฎก  แม้เรา

ก็รู้พระไตรปิฎก  เมื่อเป็นอย่างนี้  เรากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จะต่างกันอย่างไร  จึงไม่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์.

อยู่มาวันหนึ่ง  พระศาสดาเมื่อภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในสำนัก

ของพระองค์  ตรัสมูลปริยายสูตรประดับด้วยภูมิ  ๘.  ภิกษุเหล่านั้น

กำหนดอะไรไม่ได้.  จึงมีความคิดว่า  พวกเราทะนงตนว่า  ไม่มี

ใครฉลาดเท่ากับพวกเรา  แต่บัดนี้พวกเราไม่รู้อะไรเลย  ชื่อว่า

ผู้ฉลาดเช่นกับพระพุทธเจ้าย่อมไม่มี  ชื่อว่าพระพุทธคุณน่า

อัศจรรย์.  ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเหล่านั้นก็หมดความทะนงตน  สิ้น

ความหลงผิด  ดังงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้วฉะนั้น.

          พระศาสดาประทับอยู่    อุกกัฏฐธานี  ตามพระสำราญ

แล้วเสด็จไปกรุงเวสาลี  ตรัสโคตมกสูตรที่โคตมกเจดีย์.  ทั้ง

หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว.  ภิกษุเหล่านั้นฟังโคตมกสูตรนั้นแล้ว

ได้บรรลุพระอรหัต.  เมื่อจบมูลปริยายสูตร  พระศาสดายังประทับ

อยู่    อุกกัฏฐธานีนั่นเอง  ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันใน

โรงธรรมว่า  อาวุโสทั้งหลายน่าอัศจรรย์พระพุทธานุภาพ  พระ-

ผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นพราหมณ์ออกบวช

มัวเมาด้วยความทะนงตนอย่างนั้น  หมดความทะนงตนด้วย

มูลปริยายเทศนา.

          พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร  เมื่อภิกษุเหล่านั้น

กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว  จึงตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  มิใช่

ในบัดนี้เท่านั้น  แม้เมื่อก่อนเราก็ได้ทำภิกษุเหล่านั้นผู้มีหัวรุนแรง

ด้วยความทะนงตนให้หมดความทะนงตนแล้ว  ทรงนำเรื่องอดีต

มาตรัสเล่า.

          ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน

กรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์  ครั้น

เจริญวัยสำเร็จไตรเพท  เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์  สอนมนต์แก่

มาณพ ๕๐๐.  มาณพทั้ง  ๕๐๐  นั้น  ครั้นเรียนจบศิลปะผ่านการ

ซักซ้อมสอบทานในศิลปะทั้งหลายแล้ว  เกิดกระด้างด้วยความ

ทะนงตนว่า  พวกเรารู้เท่าใด  แม้อาจารย์ก็รู้เท่านั้นเหมือนกัน

ไม่มีความพิเศษกว่ากัน  ไม่ไปสำนักอาจารย์  ไม่กระทำวัตร

ปฏิบัติ.  ครั้นวันหนึ่งเมื่ออาจารย์นั่งอยู่โคนต้นพุทรา.  พวกมาณพ

เหล่านั้นประสงค์จะดูหมิ่นอาจารย์จึงเอาเล็บมือเคาะต้นพุทรา

พูดว่า  ต้นไม้นี่ไม่มีแก่น.  พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าดูหมิ่นตน  จึงกล่าว

กะอันเตวาสิกว่า  เราจักถามปัญหาพวกท่านข้อหนึ่ง.  มาณพ

เหล่านั้นต่างดีอกดีใจกล่าวว่า  จงถามมาเถิด  พวกผมจักแก้.

อาจารย์เมื่อจะถามปัญหา  ได้กล่าวคาถาแรกว่า  :-

                             กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย

                   ก็ผู้ใดกินกาล  ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว.

          ในบทเหล่านั้น  บทว่า  กาโล  ได้แก่  เวลาเป็นต้น  เช่น

เวลาก่อนอาหาร  หลังอาหาร.  บทว่า  ภูตานิ  นี้เป็นชื่อของสัตว์

กาลมิได้ถอนหนังและเนื้อเป็นต้นของสัตว์ไปกิน  เป็นแต่ยังอายุ

วรรณและพละของสัตว์เหล่านั้นให้สิ้นไป  ย่ำยีวัยหนุ่มสาว  ทำ

ความไม่มีโรคให้พินาศ  เรียกว่า  กินสัตว์  คือ  เคี้ยวกินสัตว์.

ก็กาลที่กินสัตว์อยู่อย่างนี้  ไม่เว้นใคร    ย่อมกินหมดทั้งนั้น.

อนึ่งมิได้กินแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น  ย่อมกินแม้ตนเองด้วยกาล

ก่อนอาหาร  ย่อมไม่เหลืออยู่ในเวลาหลังอาหาร.  ในเรื่องเวลา

หลังอาหารเป็นต้น  ก็นัยเดียวกัน.  ที่ว่าสัตว์ผู้กินกาลนั้น  หมาย

ถึงพระขีณาสพ.  จริงอยู่พระขีณาสพนั้นเรียกว่าผู้กินกาล  เพราะ

ยังกาลปฏิสนธิต่อไปให้สิ้นด้วยอริยมรรค.  บทว่า    ภูตปจนึ  ปจิ

ความว่า  พระขีณาสพนั้นเผา คือทำให้ไหม้เป็นเถ้าซึ่งตัณหาที่

เผาสัตว์ในอบาย  ด้วยไฟคือญาณ.

          พวกมาณพเหล่านั้นฟังปัญหานี้แล้ว  ไม่มีผู้สามารถจะรู้

ได้แม้คนเดียว.  ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะมาณพเหล่า

นั้นว่า  พวกท่านอย่าได้เข้าใจว่าปัญหานี้มีอยู่ในไตรเพท  พวก

ท่านสำคัญว่าอาจารย์รู้สิ่งใด  เราก็รู้สิ่งนั้นทั้งหมด  จึงได้เปรียบ

เราเช่นกับด้วยต้นพุทรา  พวกท่านมิได้รู้ว่า  เรารู้สิ่งที่พวก

ท่านยังไม่รู้อีกมาก  จงไปเถิด  เราให้เวลา    วัน  จงช่วยกัน

คิดปัญหานี้ตามกาลกำหนด.  มาณพเหล่านั้นไหว้พระโพธิสัตว์

แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน  แม้คิดกันตลอด    วัน  วันก็มิได้เห็น

ที่สุด  มิได้เห็นเงื่อนงำแห่งปัญหา.  ครั้นวันที่  ๗ จึงพากันมาหา

อาจารย์ไหว้แล้วนั่งลง  เมื่ออาจารย์ถามว่า  พวกท่านมีหน้าตา

เบิกบาน  รู้ปัญหานี้หรือ  กล่าวว่า  ยังไม่รู้.  พระโพธิสัตว์เมื่อ

จะตำหนิมาณพเหล่านั้นอีก  จึงถามปัญหาที่    ว่า  :-

                             ศีรษะของนรชนปรากฏว่ามีมาก  มีผม

                   ดำยาว  ปกคลุมถึงคอ  บรรดาคนทั้งหลายนี้จะ

                   หาคนที่มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้.

          ความของคาถานั้นว่า  ศีรษะคนปรากฏมีมากหลาย  และ

ศีรษะเหล่านั้นมีผมดกดำประถึงคอ  เอามือจับดูไม่เหมือนผลตาล

บุคคลเหล่านั้นไม่มีข้อแตกต่างกันด้วยธรรมเหล่านี้เลย.  บทว่า

กณฺณวา  คือผู้มีปัญญา.  ก็ช่องหูจะไม่มีแก่ใคร    ก็หามิได้.

          พระโพธิสัตว์ติเตียนพวกมาณพเหล่านั้นว่า  พวกท่านเป็น

คนโง่  มีแต่ช่องหูเท่านั้น  ไม่มีปัญญา  ฉะนี้แล้วจึงแก้ปัญหา.

มาณพเหล่านั้นฟังแล้วกล่าวว่า  ธรรมดาอาจารย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่

อย่างน่าอัศจรรย์ขอขมาอาจารย์แล้วต่างก็หมดความทะนงตน

ปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ตามเดิม.

          พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว  ทรง

ประชุมชาดก.   มาณพทั้ง  ๕๐๐  ในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุเหล่านี้

ส่วนอาจารย์คือเราตถาคตนี้แล.

                             จบ  อรรถกถามูลปริยายชาดกที่