พระศาสดา  เมื่อประทับอาศัยเมืองสาเกตทรงปรารภ

สาเกตพราหมณ์  ตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า  โก  นุ  โข

ภควา  เหตุ  ดังนี้.

          ส่วนเรื่องราวในชาดกนี้  ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันกล่าวไว้

ในเอกนิบาตในหนหลังแล้ว.

          ก็ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปสู่วิหาร  ภิกษุทั้งหลายทูล

ถามว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ชื่อว่า  ความรักนี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร

กล่าวคาถาแรกว่า  :-

                             ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า  เหตุไรหนอ

                   เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้  พอเห็นกันเข้าก็เฉย ๆ

                   หัวใจก็เฉย  บางคนพอเห็นกันเข้าก็เลื่อมใส.

          เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า  อะไรหนอแลเป็นเหตุให้บุคคล

บางคนในโลกนี้  พอเห็นกันเข้าเท่านั้นหัวใจก็สงบนิ่งสนิท  คือ

เยือกเย็นดังเอาน้ำหอมพันหม้อมารด  บางคนไม่สงบ  บางคน

พอเห็นกันเข้าเท่านั้นก็มีจิตผ่องใสอ่อนลมุนละไม  เยื่อใยต่อกัน

ด้วยอำนาจความรัก  บางคนก็ไม่เยื่อใยต่อกัน.

          ลำดับนั้นพระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งความรัก

แก่ภิกษุเหล่านั้น  จึงตรัสคาถาที่    ว่า  :-

                             ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสอง

                   ประการ  คือ  ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน 

                   ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน    เหมือน

                   ดอกอุบลเมื่อเกิดในน้ำย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ

                   สองประการ  คือน้ำและเปือกตม  ฉะนั้น.

          เนื้อความแห่งคาถานั้นว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรมดา

ความรักนี้ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการ  คือได้เป็นมารดา  บิดา

ธิดา  บุตร  พี่น้องชาย  พี่น้องหญิง  สามี  ภรรยา  หรือสหายมิตร

กันในภพก่อน  เคยอยู่ร่วมที่เคียงกันมา  ความรักนั้นย่อมไม่ละ

คงติดตามไปแม้ในภพอื่น  เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน

อย่างหนึ่ง  อีกอย่างหนึ่ง  ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะความเกื้อกูล

กันในปัจจุบันอันได้ทำในอัตภาพนี้. ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้น

ด้วยเหตุสองประการฉะนี้   เปรียบเหมือนอุบลในน้ำฉะนั้น  คือ

เหมือนอุบลและบุปผชาติที่เกิดในน้ำต่าง  ๆ เกิดในน้ำก็ได้อาศัย

เหตุสองอย่าง  คือน้ำและเปือกตมฉันใด  ความรักก็ย่อมเกิดด้วย

เหตุสองประการนี้ฉะนั้น.

          พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ทรงประชุม

ชาดก.  พราหมณ์และพราหมณีในครั้งนั้นได้เป็นชนทั้งสองนี้

ในครั้งนี้  ส่วนบุตร  คือเราตถาคตแล.

                             จบ  อรรถกถาสาเกตชาดกที่