๘. มหานารทกัสสปชาดก พระมหานารทกัสสปะ ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี


[๘๓๔] พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่าอังคต เป็นพระราชาของชนชาววิเทหรัฐ ทรงมีพระราชยาน พระราชทรัพย์มากมาย ทรงมีพลนิกายเหลือที่จะนับ ก็คืนหนึ่งในวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ขณะปฐมยาม พระองค์ประชุมเหล่า อำมาตย์ราชบัณฑิต ผู้ถึงพร้อมด้วยการศึกษาเล่าเรียน เฉลียวฉลาด ผู้ที่ทรงเคยรู้จัก ทั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่อีก ๓ นาย คือ วิชยอำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตอำมาตย์ ๑ แล้วตรัสถามตามลำดับว่า ท่าน ทั้งหลายจงกล่าวไปตามความพอใจของตนๆ ว่า ในวันเพ็ญเดือน ๑๒ เช่นนี้ พระจันทร์แจ่มกระจ่าง กลางคืนวันนี้ เราทั้งหลายพึงยังฤดูเช่นนี้ ให้เป็นไปด้วยความยินดีอะไร.
[๘๓๕] ลำดับนั้น อลาตเสนาบดีได้กราบทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะ ข้าพระ พุทธเจ้าทั้งหลาย พึงจัดพลช้าง พลม้า พลเสนา จะนำชายฉกรรจ์ ออกรบ พวกใดยังไม่มาสู่อำนาจ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็จะนำมาสู่ อำนาจ นี่เป็นความเห็นของข้าพระพุทธเจ้า เราทั้งหลายจะได้ชัยชนะ ผู้ที่เรายังไม่ชนะ (ขอเดชะ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยการรบ นี้เป็น เพียงความคิดของข้าพระพุทธเจ้า).
[๘๓๖] สุนามอำมาตย์ได้ฟังคำของอลาตเสนาบดีแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่ พระมหาราชา พวกศัตรูของพระองค์มาสู่พระราชอำนาจหมดแล้ว ต่าง พากันวางศาตรา ยอมสวามิภักดิ์แล้วทั้งหมด วันนี้เป็นวันมหรสพ สนุกสนานยิ่ง การรบข้าพระพุทธเจ้าไม่ชอบใจ ชนทั้งหลายจงรีบนำ ข้าวน้ำ และของควรเคี้ยวมาเพื่อพระองค์เถิด ขอเดชะ ขอพระองค์จง ทรงรื่นรมย์ ด้วยกามคุณ และในการฟ้อนรำขับร้องการประโคมเถิด พระเจ้าข้า.
[๘๓๗] วิชัยอำมาตย์ได้ฟังคำของสุนามอำมาตย์แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระ มหาราชา กามคุณทุกอย่างบำเรอพระองค์อยู่เป็นนิตย์แล้ว การทรง เพลิดเพลินด้วยกามคุณทั้งหลาย พระองค์ทรงหาได้โดยไม่ยากเลย ทรง ปรารถนาก็ได้ทุกเมื่อ การรื่นรมย์กามคุณทั้งหลายนี้ ไม่ใช่เป็นความคิด ของข้าพระบาท วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึงกำจัดความ สงสัยของพวกเราดีกว่า.
[๘๓๘] พระเจ้าอังคติราชได้ทรงสดับคำของวิชัยอำมาตย์แล้ว ได้ตรัสว่า ตามที่ วิชัยอำมาตย์พูดว่า วันนี้ เราทั้งหลายควรพากันเข้าไปหาสมณะหรือ พราหมณ์ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณ ซึ่งท่านจะพึง กำจัดความสงสัยของพวกเราดีกว่านั้น แม้เราก็ชอบใจ ท่านที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกท่านจงลงมติว่า วันนี้ เราทั้งหลายควรจะเข้าไปหาใครผู้เป็นบัณฑิต รู้แจ้งอรรถธรรม ผู้แสวงหาคุณซึ่งท่านพึงกำจัดความสงสัยของพวกเรา ได้.
[๘๓๙] อลาตเสนาบดี ได้ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้ กราบทูลว่า มีอเจลกที่โลกสมมติว่าเป็นนักปราชญ์อยู่ในมฤคทายวัน อเจลกผู้นี้ชื่อว่าคุณะ ผู้กัสสปโคตรเป็นพหูสูตร พูดจาไพเราะ เป็นเจ้า หมู่เจ้าคณะ ขอเดชะ เราทั้งหลายควรเข้าไปหาเธอ เธอจักกำจัดความ สงสัยของเราทั้งหลายได้.
[๘๔๐] พระราชาได้ทรงสดับคำของอลาตเสนาบดีแล้ว ได้ตรัสสั่งสารถีว่า เรา จะไปยังมฤคทายวัน ท่านจงนำยานเทียมม้ามาที่นี่.
[๘๔๑] พวกนายสารถีได้จัดพระราชยาน อันล้วนแล้วไปด้วยงา มีกระพองเป็น เงิน และจัดรถพระที่นั่งรองอันขาวผุดผ่อง ดังพระจันทร์ในราตรีที่ ปราศจากมลทินโทษ มาถวายแก่พระราชา รถนั้นเทียมด้วยม้าสินธพ สี่ตัว ล้วนมีสีดังดอกโกมุท เป็นม้ามีฝีเท้าเร็วดังลมพัด วิ่งเรียบ ประดับ ด้วยดอกไม้ทอง พระกลด ราชรถม้า และวีชนี ล้วนมีสีขาว พระ เจ้าวิเทหราชพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จออกย่อมงดงามดังพระจันทร์ หมู่พลราชบริพารผู้กล้าหาญขี่บนหลังม้าถือหอกดาบตามเสด็จ พระเจ้า วิเทหราชมหากษัตริย์พระองค์นั้น เสด็จถึงมฤคทายวันโดยครู่เดียว เสด็จ ลงจากราชยานแล้วทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ก็ในกาลนั้น มีพราหมณ์และคฤหบดีมาประชุมกันอยู่ในพระราชอุทยาน นั้น พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น พระราชามิให้ลุกหนีไป.
[๘๔๒] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จเข้าไปประทับนั่งเหนืออาสนะ อันปูลาดด้วย พระยี่ภู่มีสัมผัสอ่อนนิ่ม ณ ส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทรงปราศรัยไต่ถาม ทุกข์สุขว่า ผู้เป็นเจ้าสบายดีอยู่หรือ ลมมิได้กำเริบเสียดแทงหรือ ผู้ เป็นเจ้าเลี้ยงชีวิตโดยไม่ฝืดเคืองหรือ ได้บิณฑบาตพอเยียวยาชีวิตให้เป็น ไปอยู่หรือ ผู้เป็นเจ้ามีอาพาธน้อยหรือ จักษุมิได้เสื่อมไปจากปกติหรือ.
[๘๔๓] คุณาชีวกทูลปราศรัยกับพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงยินดีในวินัยว่า ข้าแต่ พระมหาราชา ข้าพระพุทธเจ้าสบายดีอยู่ทุกประการ บ้านเมืองของ พระองค์ไม่กำเริบหรือ ช้างม้าของพระองค์หาโรคมิได้หรือ พาหนะยัง พอเป็นไปแหละหรือ พยาธิไม่มีมาเบียดเบียนพระสรีระของพระองค์ แลหรือ.
[๘๔๔] เมื่อคุณาชีวกทูลปราศรัยแล้ว ทันทีนั้น พระราชาผู้เป็นจอมทัพทรงใคร่ ธรรมได้ตรัสถามอรรถธรรมและเหตุว่า ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติ ธรรมในมารดาและบิดาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในอาจารย์อย่างไร พึง ประพฤติธรรมในบุตรและภรรยาอย่างไร พึงประพฤติธรรมในวุฒบุคคล อย่างไร พึงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์อย่างไร พึงประพฤติ ธรรมในพลนิกายอย่างไร และพึงประพฤติธรรมในชนบทอย่างไร ชน ทั้งหลายประพฤติธรรมอย่างไร ละโลกนี้ไปแล้วจึงไปสู่สุคติ ส่วนคน บางพวกผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไฉนจึงตกลงไปในนรก.
[๘๔๕] คุณาชีวกกัสสปโคตร ได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้ กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา ขอพระองค์ทรงสดับทางที่จริงแท้ของ พระองค์ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติแล้วเป็นบุญเป็นบาปไม่มี ขอเดชะ ปรโลกไม่มี ใครเล่าจากปรโลกนั้นมาในโลกนี้ ปู่ย่าตายายไม่มี มารดา บิดาจักมีที่ไหน ขึ้นชื่อว่าอาจารย์ไม่มี ใครจักฝึกผู้ที่ฝึกไม่ได้ สัตว์เสมอ กันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญไม่มี กำลังหรือความเพียร ไม่มี บุรุษผู้มีความหมั่นจักได้รับผลแต่ที่ไหน สัตว์ที่เกิดตามกันมา เหมือนเรือน้อยห้อยท้ายเรือใหญ่ สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรได้ ในข้อนั้น ผลทานจักมีแต่ที่ไหน ผลทานไม่มี ความเพียรไม่มีอำนาจ ทานคนโง่ บัญญัติไว้ คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เป็นผู้ไม่มีอำนาจ ย่อมให้ทานแก่นักปราชญ์ทั้งหลาย.
[๘๔๖] รูปกายอันเป็นที่รวม ดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวิต ๗ ประการนี้ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ ไม่กำเริบ รูปกาย ๗ ประการนี้ ของสัตว์ เหล่าใด ชื่อว่าขาดไม่มี ผู้ที่ถูกฆ่าหรือถูกตัด หรือเบียดเบียนใครๆ ไม่มี ศาตราทั้งหลายพึงเป็นไปในระหว่างรูปกาย ๗ ประการนี้ ผู้ใด ตัดศีรษะของผู้อื่นด้วยดาบอันคม ผู้นั้นไม่ชื่อว่าตัดร่างกายเหล่านั้น ใน การทำเช่นนั้น ผลบาปจะมีแต่ที่ไหน สัตว์ทุกจำพวกท่องเที่ยวอยู่ใน วัฏสงสาร ๘๔ มหากัป ย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะ สำรวมด้วยดีก็บริสุทธิ์ไม่ได้ เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะประพฤติความดี มากมาย ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ถ้าแม้กระทำบาปมากมาย ก็ไม่ล่วงขณะนั้น ไป ในวาทะของเราทั้งหลาย ความบริสุทธิ์ย่อมมีได้โดยลำดับเมื่อถึง ๘๔ กัป พวกเราไม่ล่วงเลยเขตอันแน่นอนนั้น เหมือนคลื่นไม่ล่วงเลย ฝั่งไป ฉะนั้น.
[๘๔๗] อลาตเสนาบดีได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตรแล้ว ได้กล่าวขึ้นว่า ท่าน ผู้เจริญกล่าว ฉันใด คำนั้นข้าพเจ้าชอบใจ ฉันนั้น แม้ข้าพเจ้าก็ระลึกชาติ หนหลังของตนได้ชาติหนึ่ง คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสี อันเป็นเมืองมั่งคั่ง เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อปิงคละ ข้าพเจ้าได้ทำบาป กรรมไว้มาก ได้ฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต คือ กระบือ สุกร แพะ เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริบูรณ์นี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก.
[๘๔๘] ครั้งนั้น ในมิถิลานครนี้ มีคนเข็ญใจเป็นทาสเขาผู้หนึ่ง ชื่อวีชกะ รักษาอุโบสถศีล ได้เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก ได้ฟังคำของกัสสป คุณาชีวก และอลาตเสนาบดีกล่าวกันอยู่ ถอนหายใจฮึดฮัด ร้องไห้ น้ำตาไหล.
[๘๔๙] พระเจ้าวิเทหราช ได้ตรัสถามนายวีชกะนั้นว่า สหายเอ๋ย เจ้าร้องไห้ ทำไม เจ้าได้ฟังได้เห็นอะไรมาหรือ เจ้าได้รับทุกขเวทนาอะไร จงบอก ให้เราทราบ.
[๘๕๐] นายวีชกะได้ฟังพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้า พระองค์ไม่มีทุกขเวทนาเลย ข้าแต่พระมหาราชา ขอได้ทรงพระกรุณา ฟังข้าพระพุทธเจ้า แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็ยังระลึกถึงความสุขสบายของตน ในชาติก่อนได้ คือ ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเกิดเป็นภาวเศรษฐี ยินดีในคุณธรรม อยู่ในเมืองสาเกต ข้าพระพุทธเจ้านั้นอบรมตนดีแล้ว ยินดีในการบริจาคทานแก่พราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย มีการงานอัน สะอาด ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบาปกรรมที่ตนกระทำแล้วไม่ได้เลย ข้า แต่พระเจ้าวิเทหราช ข้าพระพุทธเจ้าจุติจากชาตินั้นแล้ว มาเกิดในครรภ์ ของนางกุมภทาสีหญิงขัดสนในมิถิลามหานครนี้ จำเดิมแต่เวลาที่เกิด แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าก็ยากจนเรื่อยมา แม้ข้าพระพุทธเจ้าจะเป็นคนยาก จนอย่างนี้ ก็ตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้อาหารกึ่งหนึ่งแก่ ท่านที่ปรารถนา ได้รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ทุกเมื่อ ไม่ ได้เบียดเบียนสัตว์และไม่ได้ลักทรัพย์เลย กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า ประพฤติดีแล้วนั้น ไร้ผลเป็นแน่ ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ เหมือน อลาตเสนาบดีกล่าว ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้ เหมือน นักเลงผู้มิได้ฝึกหัดฉะนั้นเป็นแน่ ส่วนอลาตเสนาบดีย่อมกำเอาแต่ชัย ชนะไว้ ดังนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็น ประตูอันเป็นเหตุไปสู่สุคติเลย ข้าแต่พระราชา เพราะเหตุนั้น ข้า พระพุทธเจ้าได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้.
[๘๕๑] พระเจ้าอังคติราชทรงสดับคำของนายวีชกะแล้ว ได้ตรัสว่า ประตูสุคติ ไม่มี ยังสงสัยอยู่อีกหรือวีชกะ ได้ยินว่า สุขหรือทุกข์สัตว์ย่อมได้เอง แน่นอน สัตว์ทั้งปวงหมดจดได้ด้วยการเวียนเกิดเวียนตาย เมื่อยังไม่ ถึงเวลาอย่ารีบด่วนไปเลย เมื่อก่อนแม้เราก็เป็นผู้กระทำความดี ขวน ขวายในพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย อนุศาสน์ราชกิจอยู่เนืองๆ งด เว้นจากความยินดีในกามคุณตลอดกาลประมาณเท่านี้.
[๘๕๒] ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลายจะได้พบกันอีก ถ้าเราทั้งหลายจักมีการสมาคม กัน (เมื่อผลบุญไม่มี จะมีประโยชน์อะไรด้วยการพบท่าน) พระเจ้า วิเทหราชครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของ พระองค์.
[๘๕๓] ตั้งแต่รุ่งสว่าง พระเจ้าอังคติราชรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ในที่ ประทับสำราญพระองค์ แล้วตรัสว่า จงจัดกามคุณทั้งหลายเพื่อเราไว้ใน จันทกปราสาทของเราทุกเมื่อ เมื่อข้อราชการลับและเปิดเผยเกิดขึ้น ใครๆ อย่าเข้ามาหาเรา อำมาตย์ผู้ฉลาดในราชกิจ ๓ นาย คือ วิชย อำมาตย์ ๑ สุนามอำมาตย์ ๑ อลาตเสนาบดี ๑ จงนั่งพิจารณาข้อ ราชการเหล่านั้น พระเจ้าวิเทหราชครั้นตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า ท่าน ทั้งหลายจงใส่ใจกามคุณให้มาก ไม่ต้องขวนขวายในพราหมณ์ คฤหบดี และกิจการอะไรเลย.
[๘๕๔] ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่ ๑๔ ราชกัญญาพระนามว่ารุจา ผู้เป็นพระธิดาที่ โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหราช ได้ตรัสกะพระพี่เลี้ยงว่า ขอท่าน ทั้งหลายช่วยประดับให้ฉันด้วย และหญิงสหายทั้งหลายของเราก็จง ประดับ พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ฉันจะไปเฝ้าพระชนกนาถ พระ พี่เลี้ยงทั้งหลายได้จัดมาลัย แก่นจันทน์ แก้วมณี สังข์ แก้วมุกดา และผ้าต่างๆ สี อันมีค่ามาก มาถวายแก่พระนางรุจาราชกัญญา หญิง บริวารเป็นอันมาก ห้อมล้อมพระนางรุจาราชธิดาผู้มีพระฉวีวรรณงาม ผุดผ่อง ประทับนั่งอยู่บนตั่งทอง งามโสภาราวกะนางเทพกัญญา.
[๘๕๕] ก็พระนางรุจาราชธิดานั้น ประดับด้วยเครื่องสรรพาภรณ์ เสด็จไป ณ ท่ามกลางหญิงสหาย เพียงดังสายฟ้าแลบออกจากเมฆ เสด็จเข้าสู่ จันทกปราสาท พระราชธิดาเสด็จเข้าไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช ถวาย บังคมพระชนกนาถ ผู้ทรงยินดีในวินัย แล้วประทับอยู่ ณ ตั่งอันวิจิตร ด้วยทองคำส่วนหนึ่ง.
[๘๕๖] ก็พระเจ้าวิเทหราช ทอดพระเนตรเห็นพระนางรุจาราชธิดาผู้ประทับอยู่ ท่ามกลางหญิงสหาย ซึ่งเป็นดังสมาคมแห่งนางเทพอัปสร จึงตรัสถาม ว่า ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาทและยังประพาสอยู่ในอุทยาน เล่นน้ำ ในสระโบกขรณีเพลิดเพลินอยู่หรือ เขายังนำของเสวยมากอย่างมาให้ ลูกหญิงเสมอหรือ ลูกหญิงและเพื่อนหญิงของลูก ยังเก็บดอกไม้ต่างๆ ชนิดมาร้อยพวงมาลัย และยังช่วยกันทำเรือนหลังเล็กๆ เล่นเพลิด เพลินอยู่หรือ ลูกหญิงขาดแคลนอะไรบ้าง เขารีบนำสิ่งของมาให้ทันใจ ลูกอยู่หรือ ลูกรักผู้มีพักตร์อันผ่องใส จงบอกความชอบใจแก่พ่อเถิด แม้สิ่งนั้นจะเสมอดวงจันทร์ พ่อก็จักให้เกิดแก่ลูกจนได้.
[๘๕๗] พระนางรุจาราชธิดา ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว กราบ ทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชา กระหม่อมฉันย่อมได้สิ่งของทุกๆ อย่างใน สำนักของทูลกระหม่อม พรุ่งนี้ ๑๕ ค่ำ เป็นวันทิพย์ ขอราชบุรุษ ทั้งหลายจงนำพระราชทรัพย์พันหนึ่งมาให้ กระหม่อมฉันจักให้ทานแก่ วณิพกทั้งปวงตามที่ให้มาแล้ว.
[๘๕๘] พระเจ้าอังคติราชได้สดับพระดำรัสของพระนางรุจาราชธิดา แล้วตรัสว่า ลูกหญิงทำทรัพย์ให้พินาศเสียเป็นอันมาก หาผลประโยชน์มิได้ ลูกหญิง ยังรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคข้าวน้ำเป็นนิตย์อยู่ ลูกหญิงไม่บริโภค ข้าวน้ำเป็นนิตย์ บุญไม่มี แม้วีชกบุรุษได้ฟังคำของคุณาชีวกกัสสปโคตร ในกาลนั้น แล้วถอนหายใจฮึดฮัก ร้องไห้น้ำตาไหล ลูกหญิงรุจาเอ๋ย ตราบเท่าที่ลูกยังมีชีวิตอยู่ อย่าอดอาหารเลย ปรโลกไม่มี ลูกหญิงจะ ลำบากไปทำไม ไร้ประโยชน์.
[๘๕๙] พระนางรุจาราชธิดาผู้มีพระฉวีวรรณงดงาม ทรงทราบกฎธรรมดาในอดีต ๗ ชาติ ในอนาคต ๗ ชาติ ได้สดับพระดำรัสของพระเจ้าวิเทหราชแล้ว กราบทูลพระชนกนาถว่า แต่ก่อนกระหม่อมฉันได้ฟังมาเท่านั้น กระ หม่อมฉันเห็นประจักษ์เองข้อนี้ว่า ผู้ใดเข้าไปเสพคนพาล ผู้นั้นก็เป็น พาลไปด้วย ผู้หลงอาศัยคนหลง ย่อมถึงความหลงยิ่งขึ้น อลาตเสนาบดี และนายวีชกะสมควรจะหลง.
[๘๖๐] ขอเดชะ ส่วนพระองค์มีพระปรีชา ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงฉลาดรู้ซึ่ง อรรถ จะทรงเป็นเช่นกับพวกคนพาล เข้าถึงซึ่งทิฏฐิอันเลวได้อย่างไร ก็ถ้าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของ คุณาชีวกก็ไม่มีประโยชน์ คุณาชีวกเป็นคนหลงงมงาย ย่อมถึงความ เป็นคนเปลือย เหมือนตั๊กแตนหลงบินเข้ากองไฟ ฉะนั้น คนเป็นอัน มากผู้ไม่รู้อะไร ได้ฟังคำของกัสสปคุณาชีวกว่า ความหมดจดย่อมไม่มี ได้ด้วยสังสารวัฏ ก็เชื่อมั่นเสียก่อนทีเดียว จึงพากันปฏิเสธกรรมและ ผลของกรรม โทษคือความฉิบหายที่ยึดไว้ผิดในเบื้องต้น ก็อยากที่จะ เปลื้องได้เหมือนปลาติดเบ็ด ยากที่จะเปลื้องตนออกจากเบ็ดได้ ฉะนั้น.
[๘๖๑] ข้าแต่พระราชา กระหม่อมฉันจักยกตัวอย่างมาเปรียบถวายเพื่อประโยชน์ แก่ทูลกระหม่อม บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ บางพวกย่อมรู้เนื้อความได้ ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนเรือของพ่อค้า บรรทุกสินค้าหนักเกินประมาณ ย่อมนำสินค้าอันหนักยิ่งจมลงในมหาสมุทร ฉันใด นรชนสั่งสมบาป กรรมทีละน้อยๆ ก็ย่อมพาเอาบาปอันหนักยิ่งไปจมลงในนรก ฉันนั้น ทูลกระหม่อมเพค๊ะ อกุศลอันหนักของอลาตเสนาบดียังไม่บริบูรณ์ก่อน อลาตเสนาบดียังสั่งสมบาปอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติอยู่ ขอเดชะ การที่ อลาตเสนาบดีได้รับความสุขอยู่ในบัดนี้ เป็นผลบุญที่ตนได้ทำไว้แล้ว ในปางก่อนนั่นเอง บุญของอลาตเสนาบดีนั้นจะหมดสิ้น อลาตเสนาบดี จึงมายินดีในอกุศลกรรมอันไม่ใช่คุณ หลีกละทางตรงเดินไปตามทาง อ้อม นรชนสั่งสมบุญไว้แม้ทีละน้อยๆ ย่อมไปสู่เทวโลก เหมือน วีชกบุรุษผู้เป็นทาสยินดีในกรรมอันงาม ย่อมมุ่งไปสู่สวรรค์ได้ เปรียบ เหมือนตาชั่งที่กำลังชั่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง เมื่อเอาของหนักออกเสีย ข้างที่ต่ำก็จะสูงขึ้น ฉะนั้น นายวีชกะผู้เป็นทาส เห็นทุกข์ในตนวันนี้ เพราะได้เสพบาปกรรมที่ตนกระทำไว้ในปางก่อน บาปของเขาจะหมด สิ้น เขาจึงมายินดีในวินัยอย่างนั้น ทูลกระหม่อมอย่าคบหากัสสป คุณาชีวก ทรงดำเนินทางผิดเลย เพค๊ะ.
[๘๖๒] ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีลหรืออสัตบุรุษ ผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำคนเช่นใดให้ เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นใด แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น เพราะ การอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้นได้ ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ ติดต่อย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแล่ง ฉะนั้น นักปราชญ์ไม่ควรเป็นผู้มีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปด เปื้อน การเสพคนพาล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไป ฉะนั้น เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตนดังใบไม้สำหรับ ห่อ จึงไม่คบหาสมาคมอสัตบุรุษ คบหาสมาคมสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อม นำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้ถึงสุคติ.
[๘๖๓] แม้กระหม่อมฉันก็ระลึกชาติที่ตนได้ท่องเที่ยวมาแล้วได้ ๗ ชาติ และ ระลึกชาติที่ตนจุติจากชาตินี้แล้วจักไปเกิดในอนาคตอีก ๗ ชาติ ข้าแต่ พระจอมประชาชน ชาติที่ ๗ ของกระหม่อมฉันในอดีต กระหม่อมฉัน เกิดเป็นบุตรนายช่างทองในแคว้นมคธราชคฤห์มหานคร กระหม่อมฉัน ได้คบหาสหายผู้ลามก ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาของชายอื่น เหมือนจะไม่ตาย กรรมนั้นยังไม่ให้ผล เหมือนไฟอันเถ้าปกปิดไว้ ใน กาลต่อมาด้วยกรรมอื่นๆ กระหม่อมฉันนั้น ได้เกิดในวังสรัฐเมือง โกสัมพี เป็นบุตรเดียวในสกุลเศรษฐีผู้สมบูรณ์ มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย คนทั้งหลายสักการะบูชาอยู่เป็นนิตย์ ในชาตินั้น กระหม่อมฉันได้คบหา สมาคมมิตรสหายผู้ยินดีในกรรมอันงาม ผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เขา ได้แนะนำให้กระหม่อมฉันรักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอด ราตรีเป็นอันมาก กรรมนั้นยังไม่ให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ ครั้น ภายหลังบรรดาบาปกรรมทั้งหลาย ปรทารกกรรมอันใดที่กระหม่อมฉัน ได้กระทำไว้ในมคธรัฐ ผลแห่งกรรมนั้นมาถึงกระหม่อมฉันแล้ว เหมือน ดื่มยาพิษอันร้ายแรง ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉัน จุติจากตระกูลเศรษฐีนั้นแล้ว ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกสิ้นกาลนาน เพราะกรรมของตน กระหม่อมฉันระลึกถึงทุกข์ที่ได้เสวยในนรกนั้น ไม่ได้ความสุขเลย กระหม่อมฉันยังทุกข์เป็นอันมากให้สิ้นไปในนรกนั้น นานปี แล้วเกิดเป็นลาถูกเขาตอนอยู่ในภินนาคตมหานคร.
[๘๖๔] กระหม่อมฉัน (เมื่อเกิดเป็นลา) ต้องพาลูกผู้ดีทั้งหลายไปด้วยหลังบ้าง ด้วยรถบ้าง นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยา ของผู้อื่น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็น ลานั้นแล้ว ไปบังเกิดเป็นลิงในป่าใหญ่ ถูกนายฝูงผู้คะนองขบกัดลูก อัณฑะ นั่นเป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาของ ผู้อื่น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นลิง นั้นแล้ว ได้เกิดเป็นโคในทสันนรัฐ ถูกเขาตอน มีกำลังแข็งแรง กระหม่อมฉันต้องเทียมยานอยู่สิ้นกาลนาน นั่นเป็นผลของกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาของผู้อื่น ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นโคนั้นแล้ว มาบังเกิดเป็นกระเทยในตระกูล ที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี จะได้เกิดเป็นมนุษย์ยากจริงๆ นั่น เป็นผลแห่งกรรม คือ การที่กระหม่อมฉันคบชู้ภรรยาผู้อื่น ข้าแต่พระ องค์ผู้ครองวิเทหรัฐ กระหม่อมฉันจุติจากชาติเป็นกระเทยนั้นแล้ว ได้ ไปบังเกิดเป็นนางอัปสรในนันทวัน ณ ดาวดึงส์พิภพ มีวรรณน่าใคร่ มี ผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ ข้าแต่พระองค์ผู้ครองวิเทหรัฐ เมื่อกระหม่อมฉันอยู่ในดาวดึงส์พิภพนั้น ระลึกชาติแม้ในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่กระหม่อมฉันจุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว จักไปเกิดต่อไป กุศลที่กระหม่อมฉันกระทำไว้ในเมืองโกสัมพีตามมาให้ผล กระหม่อมฉัน จุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ข้าแต่ พระมหาราชา กระหม่อมฉันเป็นผู้อันชนทั้งหลายสักการบูชาแล้วเป็น นิตย์ตลอด ๗ ชาติ กระหม่อมฉันไม่พ้นจากความเป็นหญิงตลอด ๖ ชาติ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ชาติที่ ๗ กระหม่อมฉันจักได้เกิดเป็นเทวดา ผู้ชาย เป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา แม้วันนี้ นางอัปสรทั้งหลายก็ยังร้อยดอกไม้เป็นพวงมาลัยอยู่ในนันทวัน เทพบุตร พระนามว่าชวะสามีของกระหม่อมฉัน ยังรับพวงมาลัยอยู่ ๑๖ ปี ใน มนุษย์นี้ราวครู่หนึ่งของเทวดา ๑๐๐ ปีในมนุษย์เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของ เทวดาดังที่ได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทั้งหลายย่อมติดตามไป ทุกๆ ชาติ แม้ตั้งอสงไขย ด้วยว่ากรรมจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม (ยังไม่ให้ผลแล้ว) ย่อมไม่พินาศไป.
[๘๖๕] ชายใดปรารถนาเป็นบุรุษทุกๆ ชาติไป ก็พึงเว้นภรรยาผู้อื่นเสีย เหมือน บุคคลล้างเท้าสะอาดแล้วเว้นเปือกตม ฉะนั้น หญิงใดปรารถนาเป็นบุรุษ ทุกๆ ชาติไป ก็พึงยำเกรงสามี เหมือนนางเทพอัปสรผู้เป็นบาทบริจาริกา ยำเกรงพระอินทร์ ฉะนั้น ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุยศและสุขอัน เป็นทิพย์ ก็พึงเว้นบาปทั้งหลายประพฤติแต่สุจริตธรรม ๓ อย่าง สตรี ก็ตาม บุรุษก็ตาม ควรเป็นผู้ไม่ประมาทด้วยกาย วาจา ใจ มีปัญญา เครื่องพิจารณาเพื่อประโยชน์ของตน นรชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่เป็นคนมียศ มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ทุกอย่าง นรชนเหล่านั้นได้สั่งสม กรรมดีไว้ในปางก่อนแล้วโดยไม่ต้องสงสัย สัตว์ทั้งปวงล้วนมีกรรมเป็น ของตัว ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระราชดำริด้วย พระองค์เถิด ข้าแต่พระจอมชน พระสนม (ผู้ทรงโฉมงดงาม) ปาน ดังนางเทพอัปสรผู้ประดับประดาคลุมกายด้วยร่างแหทองเหล่านี้ พระ องค์ทรงได้มาเพราะผลแห่งกรรมอะไร พระนางรุจาราชกัญญา ทรงยัง พระเจ้าอังคติราชพระชนกนาถให้ทรงยินดี พระราชกุมารีผู้มีวัตรอันดีงาม ทรงกราบทูลทางสุคติแก่พระชนกนาถ ดังหนึ่งบอกทางให้แก่คนหลงทาง และได้ทรงกราบทูลข้อธรรมถวายโดยนัยต่างๆ ดังนี้แล ฯ
[๘๖๖] ในกาลนั้น นารทมหาพรหมตรวจดูชมพูทวีป ได้เห็นพระเจ้า อังคติราชผู้ทรงมีความเห็นผิด จึงมาจากพรหมโลกถึงถิ่น มนุษย์ ลำดับนั้น นารทมหาพรหมได้ยืนอยู่ที่ปราสาทเบื้อง พระพักตร์แห่งพระเจ้าวิเทหราช ก็พระนางรุจาราชธิดาเห็น นารทฤาษีนั้นมาถึง จึงนมัสการ ฯ
[๘๖๗] ครั้งนั้น พระราชาทรงหวาดพระทัย เสด็จลงจากราชอาสน์ เมื่อจะตรัสถามนารทฤาษี ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ท่านมี ผิวพรรณงามดังเทวดา ส่องรัศมีสว่างจ้าไปทั่วทิศดังพระจันทร์ ท่านมาจากไหนหนอ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกนามและ โคตรแก่ข้าพเจ้า คนในมนุษยโลกย่อมรู้จักท่านอย่างไรหนอ ฯ
[๘๖๘] อาตมภาพมาจากเทวโลกเดี๋ยวนี้เอง ส่องรัศมีสว่างจ้าไป ทั่วทิศดังพระจันทร์ มหาบพิตรตรัสถามแล้ว อาตมภาพ ขอถวายพระพรนามและโคตรให้ทรงทราบ คนทั้งหลายเขา รู้จักอาตมภาพโดยนามว่านารทะ และโดยโคตรว่ากัสสปะ ฯ
[๘๖๙] สัณฐาณของท่านและการที่ท่านเหาะไปและยืนอยู่บนอากาศได้ น่าอัศจรรย์ ดูกรท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้ กะท่าน เออเพราะเหตุอะไรท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้ ฯ
[๘๗๐] คุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ๑ ธรรม ๑ ทมะ ๑ จาคะ ๑ อาตมภาพได้ทำไว้แล้วในภพก่อน เพราะคุณธรรม ที่อาตมภาพเสพมาดีแล้วนั้นแล อาตมภาพจึงไปไหนๆ ได้ ตามความปรารถนา เร็วทันใจ ฯ
[๘๗๑] เมื่อท่านบอกความสำเร็จแห่งบุญ ชื่อว่าท่านบอกความ อัศจรรย์ ถ้าแลเป็นจริงอย่างท่านกล่าว ดูกรท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่าน จงพยากรณ์ให้ดี ฯ
[๘๗๒] ขอถวายพระพร ข้อใดพระองค์ทรงสงสัย เชิญมหาบพิตร ตรัสถามข้อนั้นกะอาตมภาพเถิด อาตมภาพจะถวายวิสัชนา ให้มหาบพิตรทรงสิ้นสงสัย ด้วยนัย ด้วยญายธรรม และ ด้วยเหตุทั้งหลาย ฯ
[๘๗๓] ดูกรท่านนารทะ ข้าพเจ้าขอถามเนื้อความนี้กะท่าน ท่านถูก ถามแล้ว อย่าได้กล่าวมุสาแก่ข้าพเจ้า ที่คนเขาพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี ปรโลกมีนั้น เป็นจริงหรือ ฯ
[๘๗๔] ที่คนเขาพูดกันว่าเทวดามี มารดาบิดามี และปรโลกมีนั้น เป็นจริงทั้งนั้น แต่นรชนผู้หลงงมงายใคร่ในกามทั้งหลาย จึงไม่รู้ปรโลก ฯ
[๘๗๕] ดูกรท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่าปรโลกมีจริง สถานที่อยู่ ในปรโลกของเหล่าสัตว์ผู้ตายไปแล้วก็ต้องมี ขอท่านจงให้ ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ให้ ท่านพันหนึ่งในปรโลก ฯ
[๘๗๖] ถ้าอาตมภาพรู้ว่ามหาบพิตรทรงมีศีล ทรงรู้ความประสงค์ ของสมณพราหมณ์ อาตมภาพก็จะให้มหาบพิตรทรงยืมสัก ห้าร้อย แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติจากโลกนี้แล้ว จะ ต้องไปอยู่ในนรก ใครจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกเล่า ผู้ใดในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว เกียจคร้าน มีกรรมอันหยาบช้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้น เพราะจะไม่ได้ทรัพย์คืนจากคนเช่นนั้น ส่วนบุคคลผู้ขยัน หมั่นเพียร มีศีล รู้ความประสงค์ คนทั้งหลายรู้แล้ว ย่อม เอาโภคทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง ด้วยคิดว่า ผู้นี้ทำการงานเสร็จ แล้ว พึงนำมาใช้ให้ ฯ
[๘๗๗] ขอถวายพระพร มหาบพิตรเสด็จไปจากที่นี่แล้ว จักทอด พระเนตรเห็นพระองค์เองอยู่ในนรกนั้น ซึ่งถูกฝูงการุม ยื้อแย่งฉุดคร่าอยู่ ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกฝูงกา ฝูงแร้ง ฝูงสุนัข รุมกัดกิน ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ฯ
[๘๗๘] ในโลกันตนรกนั้นมืดที่สุด ไม่มีพระจันทร์และพระอาทิตย์ โลกันตนรกมืดตื้ออยู่ทุกเมื่อ น่ากลัว กลางคืนกลางวันไม่ ปรากฏ ผู้ต้องการทรัพย์คนไรเล่า จะพึงเที่ยวไปในสถานที่ เช่นนั้นได้ ฯ
[๘๗๙] ในโลกันตนรกนั้นมีสุนัข ๒ เหล่า คือ ด่างเหล่า ๑ ดำ เหล่า ๑ ล้วนมีร่างกายกำยำล่ำสันแข็งแรง ย่อมพากันมา กัดกินผู้ที่จุติจากมนุษยโลกนี้ ไปตกอยู่ในโลกันตนรก ด้วย เขี้ยวเหล็ก ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ตกอยู่ในนรก ถูกสุนัขอันทารุณร้ายกาจ นำ ทุกข์มาให้ รุมกัดกินตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้.
[๘๘๐] และในนรกอันร้ายกาจ พวกนายนิรยบาลชื่อกาลูปกาละ ผู้เป็นข้าศึก พากันเอาดาบและหอกอันคมกริบมาทิ่มแทงนรชนผู้กระทำกรรมชั่วไว้ใน ภพก่อน ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ถูก ทิ่มแทงที่ท้อง ที่สีข้าง พระอุทรพรุนวิ่งวุ่นอยู่ในนรก ตัวขาดกระจัด กระจายเลือดไหลโทรมได้.
[๘๘๑] ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนต่างๆ ชนิด คือ หอก ดาบ แหลม หลาว มีประกายวาวดังถ่านเพลิง ตกลงบนศีรษะ สายอัสนีศิลาอันแดงโชน ตกต้องสัตว์นรกผู้มีกรรมหยาบช้า และในนรกนั้นมีลมร้อนยากที่จะทน ได้ สัตว์ในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย ใครเล่าจะพึงไป ทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทรงกระสับกระส่ายวิ่งไป มาหาที่ซ่อนเร้นมิได้.
[๘๘๒] ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ถูกเทียมใน รถวิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยประตักอยู่ได้.
[๘๘๓] ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทนไม่ได้ วิ่งไปขึ้นภูเขาอันดาดไปด้วยขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง ตัว ขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้.
[๘๘๔] ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งต้องวิ่งขึ้น เหยียบถ่านเพลิงกองเท่าภูเขา ลุกโพลงน่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ ไหว ร้องครวญครางอยู่ได้.
[๘๘๕] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้หากระทำชู้ภรรยาผู้อื่น ถูกนาย นิรยบาลผู้ทำตามสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้น กะมหาบพิตร ซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วใน นรกเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายเหี้ยมเกรียมหนังปอกเปิก กระสับ กระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนัก ใครเล่าจะไปขอทรัพย์จำนวนเท่านั้น กะพระองค์ผู้หอบแล้วหอบอีก อันเป็นโทษของบุรพกรรม หนังปอกเปิก เดินทางผิดได้.
[๘๘๖] ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมกริบดังดาบ กระหายเลือดคน ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งขึ้นอยู่บน ต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมดังดาบ ก็ถูกใบงิ้วอันคมนั้น บาด มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้.
[๘๘๗] ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้น กะมหาบพิตรซึ่งเดินหนีออกจากขุม นรกไม้งิ้ว มีใบเป็นดาบ ไปพลัดตกลงในแม่น้ำเวตรณีได้.
[๘๘๘] แม่น้ำเวตรณี น้ำเป็นกรด เผ็ดร้อน ยากที่จะข้ามได้ ดาดาษไปด้วย บัวเหล็ก มีใบคมกริบไหลอยู่ ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์นั้นกะมหาบพิตร ซึ่งมีตัวขาดกระจัดกระจาย เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิต ลอยอยู่ใน เวตรณีนทีนั้น หาที่เกาะมิได้.
[๘๘๙] ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้าหลงสำคัญผิดจึงไม่รู้จัก ทิศ ท่านฤาษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้วย่อมร้อนใจ เพราะ กลัวมหาภัย ท่านฤาษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ดังหนึ่งน้ำสำหรับ แก้กระหายในเวลาร้อน เกาะเป็นที่อาศัยในห้วงมหาสมุทร และประทีป สำหรับส่องสว่างในที่มืดฉะนั้นเถิด ท่านฤาษี ขอท่านจงสอนอรรถและ ธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อนข้าพเจ้าได้กระทำความผิดไว้ส่วนเดียว ข้าแต่ท่านนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยที่ข้าพเจ้า จะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด.
[๘๙๐] พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตระ ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสีวิราชและพระราชาพระองค์อื่นๆ ได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ฉันใด ดูกร มหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตรก็ฉันนั้น จงทรงเว้น อธรรม แล้วทรงประพฤติธรรม ราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศ ภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จักนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนา ใครต้องการร่ม ใครต้อง การรองเท้า อย่างเนื้ออ่อนอย่างดี ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศ ดังนี้ในพระนครของพระองค์ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า มหา บพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า และโคม้าอันแก่ชราเหมือนดังก่อน และจงทรงพระราชทานเครื่องบริหาร แก่บุคคล ที่เป็นกำลังเคย กระทำความดีไว้เท่าเดิมเถิด ฯ
[๘๙๑] มหาบพิตรจงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่าเป็นดังรถ อัน มีใจเป็นนายสารถี กระปรี้กระเปร่า (เพราะปราศจากถิ่นมิทธะ) อันมีอวิหิงสาเป็นเพลาที่เรียบร้อยดี มีการบริจาคเป็นหลังคา มีการสำรวมเท้าเป็นกง มีการสำรวมมือเป็นกระพอง มีการ สำรวมท้องเป็นน้ำมันหยอด มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบ สนิท มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์ มีการไม่กล่าว คำส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท มีการกล่าวคำอ่อนหวาน เป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา มีการกล่าวพอประมาณเป็นเครื่อง ผูกรัด มีศรัทธาและอโลภะเป็นเครื่องประดับ มีการถ่อมตน และกราบไหว้เป็นกูบ มีความไม่กระด้างเป็นงอนรถ มีการสำ รวมศีลเป็นเชือกขันชะเนาะ มีความไม่โกรธเป็นอาการไม่ กระเทือน มีกุศลธรรมเป็นเศวตรฉัตร มีพาหุสัจจะเป็นสาย ทาบ มีการตั้งจิตมั่นเป็นที่มั่น มีความคิดเครื่องรู้จักกาลเป็นไม้ แก่น มีความแกล้วกล้าเป็นไม้ค้ำ มีความประพฤติถ่อมตนเป็น เชือกขันแอก มีความไม่เย่อหยิ่งเป็นแอกเบา มีจิตไม่หดหู่เป็น เครื่องลาด มีการเสพบุคคลผู้เจริญเป็นเครื่องกำจัดธุลี มีสติของ นักปราชญ์เป็นปฏัก มีความเพียรเป็นสายบังเหียน มีใจที่ฝึก ฝนดีแล้วเช่นดังม้าที่หัดไว้เรียบเป็นเครื่องนำทาง ความ ปรารถนาและความโลภเป็นทางคด ส่วนความสำรวมเป็นทาง ตรง ขอถวายพระพร ปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนม้า ในรถ คือพระวรกายของมหาบพิตรที่กำลังแล่นไปในรูป เสียง กลิ่น รส พระองค์นั้นแลเป็นสารถี ถ้าความประพฤติชอบและความ เพียรมั่นมีอยู่ด้วยยานนี้ รถนั้นจะให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง จะ ไม่นำไปบังเกิดในนรก ฯ
[๘๙๒] อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัตต์ สุนามอำมาตย์เป็นพระภัททชิ วิชยอำมาตย์เป็นพระสารีบุตร วีชกบุรุษเป็นพระโมคคัลลานะ สุนักขัตตะเป็นลิจฉวีบุตร คุณาชีวกเป็นอเจลก พระนางรุจา ราชธิดาผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใส เป็นพระอานนท์ พระเจ้า อังคติราชผู้มีทิฐิชั่วในกาลนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ มหา พรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงชาดกไว้ ด้วยประการฉะนี้แล ฯ

จบมหานารทกัสสปชาดกที่ ๘ _____________________

๙. วิธุรชาดก พระวิธูรบัณฑิตบำเพ็ญสัจจบารมี


[๘๙๓] เธอมีผิวพรรณเหลือง ซูบผอม ถอยกำลัง เมื่อก่อนรูปพรรณ ของเธอมิได้เป็นเช่นนี้เลย ดูกรพระน้องวิมลา พี่ถามแล้ว ขอเธอจงบอก เวทนาในร่างกายของเธอเป็นเช่นไร ฯ
[๘๙๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมหมู่นาค ชื่อว่าความอยากได้โน่น อยากได้นี่ เขาเรียกกันว่าเป็นธรรมดาของหญิงทั้งหลายใน หมู่มนุษย์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดในหมู่นาค หม่อมฉัน ปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ที่บุคคลนำมาได้โดยชอบ เพคะ ฯ
[๘๙๕] ดูกรพระน้องวิมลา เธอปรารถนาหทัยของวิธุรบัณฑิต ดังจะ ปรารถนาพระจันทร์ พระอาทิตย์ หรือลม เพราะว่าวิธุร บัณฑิตยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจักนำวิธุรบัณฑิตมาใน นาคพิภพนี้ได้ ฯ
[๘๙๖] ข้าแต่สมเด็จพระบิดา เหตุไรหนอสมเด็จพระบิดาจึงทรง ซบเซา พระพักตร์ของสมเด็จพระบิดา เป็นเหมือน ดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ ข้าแต่สมเด็จพระบิดาผู้เป็นใหญ่ เป็นที่เกรงขามของศัตรู เหตุไรหนอสมเด็จพระบิดาจึงทรง เป็นทุกข์พระหฤทัย อย่าทรงเศร้าโศกไปเลย เพค๊ะ ฯ
[๘๙๗] อิรันทดีลูกรัก ก็พระมารดาของเจ้า ปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต เพราะวิธูรบัณฑิต ยากที่บุคคลจะเห็นได้ ใครจักนำวิธูรบัณฑิต มาใน นาคพิภพนี้ได้.
[๘๙๘] เจ้าจงไปเที่ยวแสวงหาสามี ซึ่งสามารถนำวิธูรบัณฑิตมาในนาคพิภพนี้ ก็นางนาคมาณวิกานั้นได้สดับพระดำรัสของพระบิดาดังนี้แล้ว เป็นผู้มี จิตชุ่มด้วยกิเลส ออกเที่ยวแสวงหาสามีในคืนนั้น.
[๘๙๙] คนธรรพ์ รากษส นาค กินนร หรือมนุษย์ผู้ฉลาดสามารถ จะให้ สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวงได้ คนไหนก็ตามที่จักเป็นสามีของเราตลอดกาลนาน.
[๙๐๐] ดูกรนางผู้มีนัยน์ตาหาที่ติมิได้ เธอจงเบาใจเถิด เราจักเป็นสามีของเธอ จักเป็นผู้เลี้ยงดูเธอ เพราะปัญญาของเราอันสามารถจะนำเนื้อดวงใจของ วิธูรบัณฑิตมาให้ จงเบาใจเถิด เธอจักเป็นภรรยาของเรา.
[๙๐๑] นางอิรันทดีผู้มีใจกำหนัดรักใคร่ เพราะเคยร่วมอภิรมย์กันมาในภพก่อน ได้กล่าวกับปุณณกยักษ์ว่า มาเถิดท่าน เราจักไปในสำนักพระบิดาของ ดิฉัน พระบิดาของดิฉันจักตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ท่าน.
[๙๐๒] นางอิรันทดีประดับประดานุ่งผ้าเรียบร้อย ทัดทรงดอกไม้ประพรมด้วย จุรณแก่นจันทน์ จูงมือปุณณกยักษ์เข้าไปสู่สำนักแห่งพระบิดา.
[๙๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นาค ขอพระองค์ได้ทรงโปรดสดับถ้อย คำของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงทรงรับสินสอดตามสมควร ข้าพระองค์ ปรารถนาพระนางอิรันทดี ขอพระองค์ ได้ทรงพระกรุณาให้ข้าพระองค์ ได้อยู่ร่วมกับพระนางอิรันทดีเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอได้ ทรงพระกรุณารับสินสอดนั้น คือ ช้าง ๑๐๐ ม้า ๑๐๐ รถเทียมม้า ๑๐๐ เกวียนบรรทุกของเต็ม ล้วนแก้วต่างๆ ๑๐๐ ขอได้โปรดพระราชทาน พระราชธิดาอิรันทดีแก่ข้าพระองค์เถิด พระเจ้าข้า.
[๙๐๔] ขอท่านจงรออยู่จนเราได้ปรึกษาหารือกับบรรดาญาติ มิตร และเพื่อนที่ สนิทเสียก่อน กรรมที่กระทำด้วยการไม่ปรึกษาหารือ ย่อมเดือดร้อน ในภายหลัง.
[๙๐๕] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ ตรัสปรึกษากับพระชายา เป็นพระคาถา ความว่า ปุณณกยักษ์ มาขอลูกอิรันทดีกะเรา เราจะให้ ลูกอิรันทดี ซึ่งเป็นที่รักของเรา แก่ปุณณกยักษ์นั้น เพราะได้ทรัพย์เป็น จำนวนมากหรือ.
[๙๐๖] ปุณณกยักษ์ไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเราเพราะทรัพย์ เพราะสิ่งที่ปลื้มใจ แต่ถ้าปุณณกยักษ์ ได้หทัยของวิธูรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดยชอบ ธรรม เพราะความชอบนั่นแลเขาจะพึงได้ลูกสาวของเรา หม่อมฉัน ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่าหทัยของวิธูรบัณฑิตหามิได้.
[๙๐๗] ลำดับนั้น ท้าววรุณนาคราชเสด็จออกจากนิเวศน์ แล้วตรัสเรียกปุณณ กยักษ์มาตรัสว่า ท่านไม่พึงได้ลูกอิรันทดีของเราเพราะทรัพย์ เพราะ สิ่งปลื้มใจ ถ้าท่านได้หทัยของวิธูรบัณฑิตนำมา ในนาคพิภพนี้โดย ชอบธรรม ท่านจะพึงได้ลูกสาวของเรา เราปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่า หทัยของวิธูรบัณฑิตหามิได้.
[๙๐๘] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ในโลกนี้ คนบางพวกย่อมเรียกคนใดว่า เป็นบัณฑิต คนพวกอื่นกลับเรียกคนนั้นนั่นแลว่าเป็นพาล ในเรื่องนี้ คนทั้งหลายยังกล่าวแย้งกันอยู่ ขอได้ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ พระองค์ ทรงเรียกใครว่าเป็นบัณฑิต.
[๙๐๙] บัณฑิตชื่อว่าวิธูระ ผู้ทำการสั่งสอนอรรถธรรมแก่พระเจ้าธนญชัย โกรพยราช ถ้าท่านได้ฟังได้ยินมาแล้ว ท่านจงไปนำบัณฑิตนั้นมา ครั้นท่านได้มาโดยธรรมแล้ว อิรันทดีธิดาของเราจงเป็นภรรยาของท่าน เถิด.
[๙๑๐] ฝ่ายปุณณกยักษ์ ได้สดับพระดำรัสของท้าววรุณนาคราชดังนี้แล้ว ยินดี ยิ่งนัก ลุกขึ้นแล้ว ไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำ ม้าอาชาไนยที่ประกอบไว้แล้วมา ณ ที่นี้ ม้าสินธพอาชาไนยนั้น มีหู ทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้มด้วยแก้วแดง มีเครื่องประดับอกล้วน แล้วด้วยทองชมพูนุทอันสุกใส.
[๙๑๑] ปุณณกยักษ์ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้วขึ้นม้าอันเป็น ยานพาหนะของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้น กำหนัดแล้วด้วยกามราคะ ปรารถนา นางอิรันทดีนาคกัญญา ไปทูลท้าวกุเวรเวสสวัณผู้เรืองยศ ซึ่งเป็นใหญ่แห่งหมู่ยักษ์ว่า ภพนาคนั้นเขาเรียกชื่อว่าโภควดี นครบ้าง วาสนครบ้าง หิรัญญวดีนครบ้าง เป็นเมืองที่ บุญญกรรมนิรมิต ล้วนแต่ทองคำ สำเร็จแก่พระยานาคผู้ บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ทุกอย่าง ป้อมและเชิงเทิน สร้างโดย สัณฐานคออูฐ ล้วนแล้วด้วยแก้วแดงและแก้วลาย ในนาค พิภพนั้น มีปราสาทล้วนแล้วด้วยหิน มุงด้วยกระเบื้องทอง ในนาคพิภพนั้น มีไม้มะม่วง ไม้หมากเม่า ไม้หว้า ไม้ ตีนเป็ด ไม้จิก ไม้การะเกต ไม้ประยงค์ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะม่วงหอม ไม้ชะบา ไม้ยางทราย ไม้จำปา ไม้ กากระทิง มะลิซ้อน มะลิลา และไม้กะเบา ต้นไม้ใน นาคพิภพเหล่านี้มีกิ่งติดต่อกันและกัน งามยิ่งนัก ในนาค พิภพนั้น มีต้นอินทผาลัม อันสำเร็จด้วยแก้วอินทนิล มีดอกและผลล้วนไปด้วยทองเนืองนิตย์ ท้าววรุณนาคราชผู้มี ฤทธิ์มาก เป็นผู้ผลุดขึ้นเกิดอยู่ในนาคพิภพนั้น มเหษีของ พระยานาคราชนั้น กำลังรุ่นสาว ทรงพระนามว่าวิมลา มีพระรูปพระโฉมอันประกอบด้วย ศิริงดงามดังก้อนทองคำ สะโอดสะองดังหน่อเถาจิงจ้อดำ พระถันทั้งคู่มีสัณฐานดัง ผลมะพลับ น่าดูยิ่งนัก พระฉวีวรรณแดงดังน้ำครั่ง เปรียบ เหมือนดอกกรรณีการ์อันแย้มบาน เปรียบดังนางอัปสรผู้อยู่ ในสวรรค์ชั้นไตรทศ หรือเปรียบเหมือนสายฟ้าอันแลบ ออกจากกลีบเมฆ ข้าพระองค์ผู้เป็นใหญ่ พระนางวิมลานั้น ทรงแพ้พระครรภ์ ทรงปรารถนาดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต ข้าพระองค์ จะถวายดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต แก่ท้าววรุณ นาคราชและพระนางวิมลา เพราะการนำดวงหทัยของวิธุร บัณฑิตไปถวายแล้ว ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลา จะพระราชทาน พระนางอิรันทดีราชธิดาแก่ข้าพระองค์ ฯ
[๙๑๒] ปุณณกยักษ์นั้น ทูลลาท้าวกุเวรเวสสวัณผู้เรืองยศ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ แล้วไปสั่งบุรุษคนใช้ของตนผู้อยู่ในที่นั้นว่า เจ้าจงนำม้าอาชาไนยที่ประ กอบแล้วมา ณ ที่นี้ ม้าสินธพนั้นมีหูทั้งสองประดับด้วยทองคำ กีบหุ้ม ด้วยแก้วแดง เครื่อง ประดับอกล้วนด้วยทองคำชมพูนุทอันสุกใส ปุณณกยักษ์ ผู้ประดับประดาแล้ว แต่งผมและหนวดดีแล้ว ขึ้นม้าอันเป็นยานพาหนะ ของเทวดา เหาะไปในอากาศกลางหาว ฯ
[๙๑๓] ปุณณกยักษ์นั้น ได้เหาะไปสู่กรุงราชคฤห์อันน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก เป็นนครของพระเจ้าอังคราช อันพวกข้าศึกไม่กล้าเข้าใกล้ มีภักษาหาร และข้าวน้ำมากมาย ดังมสักกสารภพของท้าว วาสวะ เป็นนครกึกก้องด้วยหมู่นกยูงและนกกะเรียน อื้ออึงด้วยฝูงนกต่างๆ ชนิด เป็นที่เสพอาศัยของฝูงทิชาชาติ มีนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่อึงมี่ ภูมิภาคราบเรียบ ดารดาษ ไปด้วยบุปผชาติดังขุนเขาหิมวันต์ ปุณณกยักษ์นั้น ขึ้นสู่ วิบุลบรรพตอันเป็นภูเขาศิลาล้วน เป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่ กินนรเที่ยวแสวงหาแก้วมณีดวงประเสริฐอยู่ ได้เห็นดวง แก้วมณีนั้น ณ ท่ามกลางยอดภูเขา ฯ
[๙๑๔] ปุณณกยักษ์ ครั้นเห็นดวงแก้วมณีมีรัศมีอันผุดผ่อง เป็น แก้วมณีอันประเสริฐสุด สามารถจะนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจ ปรารถนา รุ่งโรจน์ชัชวาลย์ด้วยหมู่แก้วบริวารเป็นอันมาก สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ ปุณณกยักษ์ได้ถือเอาแก้วมณี ชื่อมโนหรจินดาอันมีค่ามาก มีอานุภาพมาก เป็นผู้มีวรรณะ ไม่ทราม ขึ้นหลังม้าสินธพอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลาง หาว ฯ
[๙๑๕] ปุณณกยักษ์ได้เหาะไปยังอินทปัตตนคร ลงจากหลังม้าแล้ว เข้าไปสู่ที่ประชุมของชาวกุรุรัฐ ไม่กลัวเกรงพระราชา ๑๐๑ พระองค์ ที่ประชุมพร้อมเพรียงกันอยู่ ณ ที่นั้น กล่าว ท้าทายด้วยสะกาว่า บรรดาพระราชาในราชสมาคมนี้ พระองค์ ไหนหนอจะทรงชิงเอาแก้วอันประเสริฐ ของข้าพระองค์ได้ หรือว่าข้าพระองค์จะพึงชนะพระราชาพระองค์ไหน ด้วย ทรัพย์อันประเสริฐ อนึ่ง ข้าพระองค์จะชิงเอาแก้วอัน ประเสริฐยิ่ง กะพระราชาพระองค์ไหน หรือพระราชา พระองค์ไหน จะทรงชนะข้าพระองค์ด้วยทรัพย์อันประเสริฐ ฯ
[๙๑๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแว่นแคว้นไหน ถ้อยคำของท่านนี้ ไม่ใช่ถ้อยคำของชาวกุรุรัฐเลย ท่านมิได้กลัวเกรงเราทั้งปวง ด้วยรัศมีแห่งผิวพรรณ ท่านจงบอกชื่อและพวกพ้องของท่านแก่เรา ฯ
[๙๑๗] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์เป็นมาณพกัจจายนโคตร ชื่อว่าปุณณกะ ญาติและพวกพ้องของข้าพระองค์ อยู่ในนครกาลจัมปาก์ แคว้นอังคะ ย่อมเรียกข้าพระองค์อย่างนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์มา ถึงในเมืองนี้ด้วยต้องการจะเล่นพนันสะกา.
[๙๑๘] พระราชาผู้ทรงชำนาญการเล่นสะกา เมื่อชนะท่าน จะพึงนำเอาแก้วเหล่า ใดไป แก้วเหล่านั้นของมาณพมีอยู่หรือ แก้วของพระราชามีอยู่เป็น จำนวนมาก ท่านเป็นคนเข็ญใจจะมาพนันกะพระราชาเหล่านั้นได้อย่างไร.
[๙๑๙] แก้วมณีของพระองค์ดวงนี้ ชื่อว่าสามารถ นำทรัพย์มาให้ได้ดังใจ ปรารถนา นักเลงเล่นสะกาชนะข้าพระองค์แล้ว พึงนำแก้วมณีดวง ประเสริฐสามารถนำทรัพย์มาให้ได้ดังใจปรารถนา และม้าอาชาไนยเป็น ที่เกรงขามของศัตรูนี้ไป.
[๙๒๐] ดูกรมาณพ แก้วมณีดวงเดียวจักทำอะไรได้ อนึ่ง ม้าอาชาไนยตัวเดียว จักทำอะไรได้ แก้วของพระราชามีเป็นอันมาก ม้าอาชาไนยที่มีกำลัง รวดเร็วดังลมของพระราชามีมิใช่น้อย. (นี้) ชื่อโทหฬกัณฑ์
[๙๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่าประชาชน ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตร ดูแก้วมณีของข้าพระองค์ดวงนี้ รูปหญิงและรูปชาย รูปเนื้อและรูปนก ปรากฏเป็นหมู่ๆ อยู่ในแก้วมณีดวงนี้ พระยานาคและพระยาครุฑ ก็ปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญพระองค์ทอดพระเนตรสิ่งที่น่าอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า.
[๙๒๒] ขอเชิญทอดพระเนตรจตุรงคินีเสนา คือ กองช้าง กองม้า กองรถ และกองเดินเท้าอันสวมเกราะ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรพลทหารที่จัดไว้เป็นกรมๆ คือกรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรมราบ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๓] ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันสมบูรณ์ด้วยป้อม มีกำแพง และค่าย เป็นอันมาก มีถนนสามแพร่ง สี่แพร่ง มีพื้นราบเรียบ อันธรรมดา สร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรเสาระเนียด เสา เขื่อน กลอน ประตู ซุ้มประตู และประตู อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๔] ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงนกนานาชนิดมากมาย ที่เสาค่าย และหนทาง คือ ฝูงหงษ์ นกกะเรียน นกยูง นกจากพราก และนกเขา อันธรรมดา สร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันเกลื่อน กล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ คือ นกดุเหว่าดำ ดุเหว่าลาย ไก่ฟ้า นกโพรดก เป็นจำนวนมาก อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๕] ขอเชิญทอดพระเนตรพระนครอันแวดล้อมไปด้วยกำแพงทอง เป็นนคร น่าอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า เขาชักธงขึ้นประจำลาดด้วยทรายทอง น่ารื่นรมย์ อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระ เนตรร้านตลาดอันบริบูรณ์ด้วยสินค้าต่างๆ เรือน สิ่งของในเรือน ถนนซอย ถนนใหญ่ อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์จัดไว้เป็นส่วนๆ ในแก้ว มณีดวงนี้.
[๙๒๖] ขอเชิญทอดพระเนตรโรงขายสุรา นักเลงสุรา พ่อครัว โรงครัว พ่อค้า และหญิงแพศยา อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญ ทอดพระเนตรช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างปรุงของหอม ช่างทอผ้า ช่างทอง และช่างแก้ว อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอ เชิญทอดพระเนตรช่างของหวาน ช่างของคราว นักมหรสพ บางพวก ฟ้อนรำขับร้อง บางพวกปรบมือ บางพวกตีฉิ่ง อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ ไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๗] ขอเชิญทอดพระเนตรกลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหรทึก และ เครื่องดนตรีทุกอย่าง อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญ ทอดพระเนตรเปิงมาง กังสดาล พิณ การฟ้อนรำขับร้อง เครื่องดนตรี ดีดสีตีเป่า อันเขาประโคมครึกครื้น อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ไว้ในแก้วมณี ดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรนักกระโดด นักมวยปล้ำ นักเล่นกล หญิงงาม ชายงาม คนเฝ้ายาม และช่างตัดผม อันธรรมดาสร้างสรรค์ค์ ไว้ในแก้วมณีดวงนี้.
[๙๒๘] แท้จริง ในแก้วมณีดวงนี้ มีงานมหรสพอันเกลื่อนกล่น ไปด้วยชายหญิง ขอเชิญทอดพระเนตรพื้นที่เป็นที่เล่น มหรสพบนเตียงที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ ในแก้วมณีดวงนี้ เชิญทอดพระเนตรเถิด ขอเชิญทอด พระเนตรพวกนักมวยซึ่งกำลังต่อยกันในสนามมวย ทั้งผู้ชนะ และผู้แพ้ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ฯ
[๙๒๙] ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ เป็นอันมากที่เชิงภูเขา คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี หมาใน เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย ระมาศ วัว สุกรบ้าน ชะมด แมวป่า กระต่าย และกระแต ซึ่งมีอยู่ มากมายหลายหลาก ขอเชิญทอดพระเนตรฝูงเนื้อต่างๆ ซึ่ง มีอยู่เกลื่อนกลาด อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ฯ
[๙๓๐] ในแก้วมณีดวงนี้ มีแม่น้ำอันมีท่าอันรายเรียบลาดด้วยทราย ทอง มีน้ำใสสะอาดไหลไปไม่ขาดสาย เป็นที่อยู่อาศัยแห่ง ฝูงปลา อนึ่ง ในแม่น้ำนี้ มีฝูงจรเข้ มังกร ปลาฉลาม เต่า ปลาสลาด ปลากระบอก ปลากด ปลาเค้า ปลา ตะเพียน ท่องเที่ยวไปมา ขอเชิญทอดพระเนตรขอบ สระโบกขรณี อันก่อสร้างด้วยแผ่นแก้วไพฑูรย์ เกลื่อน กล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ ดารดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาชนิด อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ฯ
[๙๓๑] ขอเชิญทอดพระเนตร สระโบกขรณีในแก้วมณีดวงนี้ อัน ธรรมดาจัดสรรไว้เรียบร้อยดีทั้ง ๔ ทิศ เกลื่อนกล่นด้วยฝูง นกต่างชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของปลาใหญ่ๆ ขอเชิญทอด พระเนตรแผ่นดินอันมีน้ำล้อมโดยรอบ เป็นกุณฑลแห่ง สาคร ประกอบด้วยทิวป่า (เขียวขจี) อันธรรมดาสร้างสรรค์ ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ฯ
[๙๓๒] เชิญทอดพระเนตรบุรพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และชมพูทวีป ขอเชิญทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรค์ ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรพระจันทร์และ พระอาทิตย์ อันเวียนรอบสิเนรุบรรพต ส่องสว่างไปทั่วทิศ ๔ ทิศ ขอเชิญ ทอดพระเนตรสิ่งอัศจรรย์ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสิเนรุบรรพต หิมวันตบรรพต สมุทรสาคร พื้น แผ่นดินใหญ่ และท้าวมหาราชทั้ง ๔ อันธรรมดา สร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณี ดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรพุ่มไม้ในสวนแผ่นหินและเนินหินอันน่า รื่นรมย์ เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกกินนร อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ใน แก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสวนสวรรค์ คือ ปารุสกวัน จิตตลดาวัน มิสสกวัน และนันทนวัน ทั้งเวชยันปราสาท อันธรรมดา สร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสุธรรมเทวสภา ต้นปาริจฉัตตกพฤกษ์อันมีดอกแย้มบาน และพระยาช้างเอราวัณซึ่งมีอยู่ ในดาวดึงส์พิภพ อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอด พระเนตรเถิดพระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรดูเหล่านางเทพกัญญาอัน ทรงโฉมล้ำเลิศ ดังสายฟ้าแลบออกจากกลีบเมฆ เที่ยวเล่นอยู่ใน นันทนวันนั้น อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอด พระเนตรเถิดพระเจ้าข้า ขอเชิญทอดพระเนตรเหล่าเทพกัญญาผู้ประเล้า ประโลมเทพบุตรอภิรมย์เหล่าเทพกัญญาอยู่ในนันทนวันนั้น อันธรรมดา สร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ พระเจ้าข้า ฯ
[๙๓๓] ขอเชิญทอดพระเนตรปราสาทมากกว่าพันในดาวดึงส์พิภพ พื้นลาดด้วย แผ่นแก้วไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งเรือง อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ในแก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้น นิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัสดี อันธรรมดาสร้างสรรค์ไว้ใน แก้วมณีดวงนี้ ขอเชิญทอดพระเนตรสระโบกขรณีในสวรรค์ชั้นนั้นๆ อันมีน้ำใสสะอาด ดารดาษไปด้วยมณฑาลกะ ดอกปทุมและอุบล ฯ
[๙๓๔] ลายขาว ๑๐ แห่งอันน่าดูน่ารื่นรมย์ใจ ลายเหลืองอ่อน ๒๑ แห่ง ลาย เหลืองขมิ้น ๑๔ แห่ง ลายสีทอง ๒๐ แห่ง ลาย สีน้ำเงิน ๒๐ แห่ง ลายสีแมลงค่อมทอง ๓๐ แห่ง มีปรากฏอยู่ในแก้วมณีดวงนี้ ในแก้ว มณีดวงนี้มีลายดำ ๑๖ แห่ง และลายแดง ๒๕ แห่ง อันเจือด้วยดอก ชะบา วิจิตรด้วยนิลุบล ข้าแต่พระมหาราชาผู้สูงสุดกว่าปวงชน ขอ เชิญทอดพระเนตรแก้วมณีดวงนี้ อันสมบูรณ์ด้วยองค์ทั้งปวง มีรัศมี รุ่งเรืองผุดผ่องอย่างนี้ ผู้ใดจักชนะข้าพระองค์ด้วยการเล่นสะกา แก้ว มณีดวงนี้ ชื่อมณีกัณฑ์ จักเป็นส่วนค่าพนันของผู้นั้น. (นี้) ชื่อมณิกัณฑ์
[๙๓๕] ข้าแต่พระราชา กรรมในโรงเล่นสะกาสำเร็จแล้ว เชิญพระองค์เสด็จไป ทรงเล่นสะกา แก้วมณีเช่นนี้ของพระองค์ไม่มี เราพึงชนะกันโดยธรรม อย่าชนะกันโดยไม่ชอบธรรม ถ้าข้าพระองค์จักชนะพระองค์ไซร้ ขอ พระองค์อย่าได้ทรงทำให้เนิ่นช้า.
[๙๓๖] ข้าแต่พระเจ้าสุรเสนปัญจาลราชผู้ปรากฏ พระเจ้ามัจฉราช และพระ เจ้ามัททราช ทั้งพระเจ้าเกกกราช พร้อมด้วยชาวชนบท ขอจงทรง ทอดพระเนตรดูข้าพเจ้าทั้งสองจะสู้กันด้วยสะกา กษัตริย์ก็ดี พราหมณ์ ก็ดี ไม่ได้ทำสักขีพยานไว้แล้วย่อมไม่ทำกิจอะไรๆ ในที่ประชุม.
[๙๓๗] พระราชาของชาวกุรุรัฐ และปุณณกยักษ์ผู้มัวเมาในการเล่นสะกา เข้าไป สู่โรงเล่นสะกาแล้ว พระราชาทรงเลือกได้ลูกบาศก์ที่มีโทษ ทรงปราชัย ส่วนปุณณกยักษ์ชนะ พระราชาและปุณณกยักษ์ทั้งสองนั้น เมื่อเจ้า พนักงานเอาสะกามารวมพร้อมแล้ว ได้เล่นสะกากันอยู่ในโรงสะกานั้น ปุณณกยักษ์ได้ชัยชนะพระราชาผู้แกล้วกล้าประเสริฐกว่านรชน ท่าม กลางพระราชา ๑๐๑ พระองค์และพยานที่เหลือ เสียงบันลือลั่นได้มีขึ้น ในสนามสะกานั้น ๓ ครั้ง.
[๙๓๘] ข้าแต่พระมหาราชา เราทั้งสองผู้พยายามเล่นสะกา ความชนะและความ แพ้ย่อมมีแก่คนใดคนหนึ่ง ข้าแต่พระจอมชน ข้าพระองค์ชนะพระองค์ด้วย ทรัพย์อันประเสริฐแล้ว ข้าพระองค์ชนะแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราช ทานเสียเร็วๆ เถิด.
[๙๓๙] ดูกรท่านกัจจานะ ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอันประ เสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลายมีอยู่ในแผ่นดินของเรา ท่านจงรับเอาเถิด เชิญ ขนเอาไปตามปรารถนาเถิด.
[๙๔๐] ช้าง ม้า โค แก้วมณี กุณฑล และแก้วอื่นใด ที่มีอยู่ในแผ่นดิน ของพระองค์ บัณฑิตมีนามว่าวิธูระ เป็นแก้วอันประเสริฐกว่าทรัพย์ เหล่านั้น ข้าพระองค์ชนะพระองค์แล้ว โปรดพระราชทานวิธูรบัณฑิตแก่ พระองค์เถิด.
[๙๔๑] วิธูรบัณฑิตนั้นเป็นตัวของเรา เป็นที่พึ่ง เป็นคติ เป็นเกาะ เป็นที่เร้น และเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ท่านไม่ควรจะเปรียบวิธูรบัณฑิตนั้น กับทรัพย์ของเรา วิธูรบัณฑิตนั้นเช่นกับชีวิตของเรา คือ เป็นตัวเรา.
[๙๔๒] การโต้เถียงกันของข้าพระองค์และพระองค์ จะพึงเป็นการช้านาน ขอ เชิญเสด็จไปถามวิธูรบัณฑิตกันดีกว่า ให้วิธูรบัณฑิตนั้นแลชี้แจงเนื้อ ความนั้น วิธูรบัณฑิตจักกล่าวคำใด คำนั้นจงเป็นอย่างนั้นแก่เราทั้งสอง.
[๙๔๓] ดูกรมาณพ ท่านพูดจริงแท้ทีเดียว และไม่ผลุนผลัน เราไปถาม วิธูรบัณฑิตกันเถิดนะ เราทั้ง ๒ คน จงยินดีตามคำที่วิธูรบัณฑิตพูดนั้น.
[๙๔๔] เทวดาทั้งหลายย่อมรู้จักอำมาตย์ในแคว้นกุรุรัฐ ชื่อว่าวิธูระ เป็นผู้ตั้งอยู่ ในธรรม จริงหรือ การบัญญัติชื่อว่าวิธูระในโลกนั้น ท่านเป็นอะไร คือ เป็นทาส หรือเป็นพระประยูรญาติของพระราชา.
[๙๔๕] ในหมู่นรชน ทาสมี ๔ จำพวก คือ ทาสครอกจำพวก ๑ ทาสไถ่ จำพวก ๑ ทาสที่ยอมตัวเป็นข้าเฝ้าจำพวก ๑ ทาสเชลยจำพวก ๑ แม้ ข้าพเจ้าก็เป็นทาสโดยกำเนิดแท้ทีเดียว ความเจริญก็ตาม ความเสื่อมก็ ตาม จะมีแก่พระราชา แม้ข้าพเจ้าจะไปยังที่อื่นก็คงเป็นทาสของสมมติ เทพนั่นเอง ดูกรมาณพ พระราชาเมื่อจะทรงพระราชทานข้าพเจ้าให้เป็น ค่าพนันแก่ท่าน ก็พึงทรงพระราชทานโดยธรรม.
[๙๔๖] วันนี้ ความชนะได้มีแก่ข้าพระองค์เป็นครั้งที่ ๒ เพราะว่าวิธูรบัณฑิตผู้ เป็นปราชญ์อันข้าพระองค์ถามแล้ว ได้ชี้แจงปัญหาแจ่มแจ้ง พระราชา ผู้ประเสริฐ ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรมหนอ ไม่ทรงยอมให้วิธูรบัณฑิตแก่ข้า พระองค์.
[๙๔๗] ดูกรกัจจานะ ถ้าวิธูรบัณฑิตชี้แจงปัญหาแก่เราทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราเป็น ทาส เราหาได้เป็นญาติไม่ ท่านจงรับเอาวิธูรบัณฑิตผู้เป็นทรัพย์อันประ เสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหลาย พาไปตามที่ท่านปรารถนาเถิด. (นี้) ชื่ออักขกัณฑ์
[๙๔๘] ท่านวิธูรบัณฑิต คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน จะพึงมีความประพฤติอันปลอด- ภัยได้อย่างไร จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างไร จะพึงมีความไม่เบียด เบียนได้อย่างไร และอย่างไรมาณพจึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้ไปยังโลกหน้า แล้วจะไม่เศร้าโศกได้อย่างไร.
[๙๔๙] วิธูรบัณฑิตผู้มีคติ มีความเพียร มีปัญญาเห็นอรรถธรรมอันสุขุม กำหนด รู้ธรรมทั้งปวง ได้กราบทูลพระราชาในโรงธรรมสภานั้นว่า ผู้ครองเรือน ไม่ควรคบหญิงสาธารณะเป็นภรรยา ไม่ควรบริโภคอาหารมีรสอร่อยแต่ผู้ เดียว ไม่ควรซ่องเสพถ้อยคำอันให้ติดอยู่ในโลก ไม่ให้สวรรค์นิพพาน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นไม่ทำให้ปัญญาเจริญ ผู้ครองเรือนพึงเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร ไม่ประมาท มีปัญญาเครื่องสอดส่องเหตุผล มีความ ประพฤติถ่อมตน ไม่เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้สงบเสงี่ยม กล่าว ถ้อยคำจับใจ อ่อนโยน ผู้ครองเรือน พึงเป็นผู้สงเคราะห์มิตร จำแนก แจกทาน รู้จักจัดทำ พึงบำรุงสมณพราหมณ์ด้วยข้าวน้ำทุกเมื่อ ผู้ครอง เรือนพึงเป็นผู้ใคร่ธรรม จำทรงอรรถธรรมที่ได้สดับมาแล้ว หมั่นไต่ถาม พึงเข้าไปหาท่านผู้มีศีลเป็นพหูสูตโดยเคารพ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน จะพึงมี ความประพฤติอันปลอดภัยได้อย่างนี้ จะพึงมีความสงเคราะห์ได้อย่างนี้ จะพึงมีความไม่เบียดเบียนกันได้อย่างนี้ และมาณพพึงปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่ามีปกติกล่าวคำสัตย์ จากโลกนี้แล้วไปยังโลกหน้าจะไม่เศร้า โศกได้ด้วยอาการอย่างนี้ พระเจ้าข้า. (นี้) ชื่อฆราวาสปัญหา
[๙๕๐] เราจักไปกันเดี๋ยวนี้แหละ พระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นอิสราธิบดี ทรงพระ- ราชทานท่านให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านจงปฏิบัติประโยชน์แก่ข้าพเจ้า ธรรมนี้เป็นของเก่า.
[๙๕๑] ดูกรมาณพ ข้าพเจ้าย่อมรู้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าเป็น ผู้อันพระราชา ผู้เป็นอิสราธิบดีพระราชทานแก่ท่านแล้ว แต่ว่าข้าพเจ้า ขอให้ท่านพักอยู่ในเรือนสัก ๓ วัน ขอให้ท่านยับยั้งอยู่ ตลอดเวลาที่ ข้าพเจ้าสั่งสอนบุตรภรรยาก่อน.
[๙๕๒] คำที่ท่านกล่าวนั้น จงมีแก่ข้าพเจ้าเหมือนอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะพักอยู่ ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ ท่านจงทำกิจในเรือนทั้งหลาย ท่านจงสั่งสอนบุตร ภรรยาเสียแต่วันนี้ ตามที่บุตรภรรยาของท่านจะพึงมีความสุขได้ภายหลัง ในเมื่อท่านไปแล้ว.
[๙๕๓] ปุณณกยักษ์ผู้มีสมบัติน่าใคร่มากมาย กล่าวว่าดีละ แล้วหลีกไปพร้อม กับวิธูรบัณฑิต เป็นผู้มีมรรยาทอันประเสริฐสุด เข้าไปภายในบ้านของ วิธูรบัณฑิต อันบริบูรณ์ด้วยช้างและม้าอาชาไนย.
[๙๕๔] ปราสาทของพระมหาสัตว์มีอยู่ ๓ คือ โกญจาปราสาท ๑ มยูรปราสาท ๑ ปิยเกตปราสาท ๑ ในปราสาททั้ง ๓ นั้น พระมหาสัตว์ได้พาปุณณกยักษ์ เข้าไปยังปราสาท อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก มีภักษาหารบริบูรณ์ มีข้าว น้ำเป็นอันมาก ดังหนึ่งสักกสารวิมานของท้าววาสวะ ฉะนั้น.
[๙๕๕] นารีทั้งหลายผู้ประดับประดางดงาม ดังเทพอัปสรในเทวโลก ฟ้อนรำ ขับร้องเพลงอันไพเราะจับใจ กล่อมปุณณกยักษ์อยู่ในปราสาทนั้น พระ มหาสัตว์ผู้รักษาธรรม รับรองปุณณกยักษ์ด้วยนางบำเรอที่น่ายินดี ทั้งข้าว และน้ำ แล้วคิดถึงประโยชน์ส่วนตน ได้เข้าไปในสำนักของภรรยาใน กาลนั้น ได้กล่าวกะภรรยาผู้ลูบไล้ด้วยจรุณจันทน์และของหอม มีผิว พรรณผุดผ่องดุจแท่งทองชมพูนุทว่า ดูกรนางผู้เจริญ ผู้มีดวงตาอันงดงาม มานี่เถิด จงเรียกบุตรธิดามาฟังคำสั่งสอน นางอโนชาได้ฟังคำของสามี แล้ว ได้กล่าวกะลูกสะใภ้ผู้มีเล็บแดง มีตาอันงามว่า ดูกรเจ้าผู้มี ผิวพรรณดังดอกนิลุบล เจ้าจงไปเรียกบุตรและธิดาของเราผู้แกล้วกล้า สามารถเหล่านั้นมา.
[๙๕๖] พระมหาสัตว์ผู้รักษาธรรม ได้จุมพิตบุตรธิดาผู้มาแล้วนั้นที่กระหม่อม ไม่หวั่นไหว ครั้นเรียกบุตรธิดามาพร้อมแล้วได้กล่าวสั่งสอนว่า พระ ราชาในพระนครอินทปัตนี้ พระราชทานพ่อให้แก่มาณพแล้ว พ่อพึงมี ความสุขของตนเองได้เพียง ๓ วัน ตั้งแต่วันนี้ไป พ้นจากนั้นไป พ่อ ก็ต้องเป็นไปในอำนาจของมาณพนั้น เขาจะพาพ่อไปตามที่เขาปรารถนา ก็พ่อมาเพื่อสั่งสอนลูกทั้งหลาย พ่อยังไม่ได้ทำเครื่องป้องกันให้แก่ลูกทั้ง หลายแล้ว จะพึงไปได้อย่างไร ถ้าว่า พระราชาผู้ปกครองกุรุรัฐ ผู้มีพระ ราชสมบัติอันน่าใคร่เป็นอันมาก ทรงต้องการกัลยาณมิตร จะพึงตรัสถาม ลูกทั้งหลายว่า เมื่อก่อนเจ้าทั้งหลายย่อมรู้เหตุเก่าๆ อะไรบ้าง พ่อของ เจ้าทั้งหลายได้พร่ำสอนอะไรไว้ในกาลก่อนบ้าง ถ้าแหละ พระราชาจะพึง มีพระราชโองการตรัสว่า เจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีอาสนะเสมอกันกับเราใน ราชสกุลนี้ มนุษย์คนไร ซึ่งจะมีชาติสกุลสมควรกับพระราชาไม่มี ลูกทั้ง หลายพึงถวายบังคมกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระ องค์อย่าได้รับสั่งอย่างนั้นเลยพระเจ้าข้า เพราะข้อนี้มิใช่ธรรมเนียม ขอ เดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีชาติต่ำต้อย ไม่สมควรมีอาสนะเสมอด้วย พระองค์ผู้สูงศักดิ์ เหมือนสุนัขจิ้งจอกผู้มีชาติต่ำต้อย จะพึงมีอาสนะ เสมอด้วยพระยาไกรสรราชสีห์อย่างไรได้ พระเจ้าข้า. จบลักขกัณฑ์
[๙๕๗] วิธูรบัณฑิตนั้น มีความดำริแห่งใจอันไม่หดหู่ ได้กล่าวกะบุตรธิดา ญาติ มิตรและเพื่อนที่สนิทว่า ดูกรลูกรักทั้งหลาย ลูกทั้งหลายจงมานั่งฟังราช วัสดีธรรม อันเป็นเหตุให้บุคคลผู้เข้าไปสู่ราชสกุลได้ยศ.
[๙๕๘] ผู้เข้าไปสู่ราชสกุล พระราชายังไม่ทรงทราบความสามารถย่อมไม่ได้ยศ ราชเสวกไม่ควรกล้าเกินไป ไม่ควรขลาดเกินไป ควรเป็นผู้ไม่ประมาทใน กาลทุกเมื่อ เมื่อใดพระราชาทรงทราบความประพฤติปกติ ปัญญา และ ความบริสุทธิ์ของราชเสวกนั้น เมื่อนั้น ย่อมทรงวางพระทัยและไม่ทรง รักษาความลับ.
[๙๕๙] ราชเสวกอันพระราชาไม่ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติ เป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น ราช เสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงตั้งใจกระทำราชกิจทุกอย่าง ให้เสมอต้นเสมอปลาย เหมือนตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยง ตรงดี ฉะนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๐] ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจ อันพระราชาตรัสใช้กลางวันหรือ กลางคืนก็ตาม ไม่พึงหวาดหวั่นในการกระทำราชกิจนั้นๆ ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้ ทางใดที่เขาตกแต่งไว้เรียบร้อยดี สำหรับเสด็จ พระดำเนินถึงพระราชาทรงอนุญาต ราชเสวกก็ไม่ควรเดินโดยทางนั้น ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๑] ราชเสวกไม่พึงบริโภคสมบัติที่น่าใคร่ ทัดเทียมกับพระราชาในกาลไหนๆ ควรเดินหลังในทุกสิ่งทุกอย่าง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราช เสวกไม่ควรใช้สอยประดับประดาเสื้อผ้า มาลา เครื่องลูบไล้ ทัดเทียม กับพระราชา ไม่พึงประพฤติอากัปกิริยา หรือพูดจาทัดเทียมกับพระราชา ควรทำอากัปกิริยาเป็นอย่างหนึ่ง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๒] เมื่อพระราชาทรงพระสำราญอยู่กับหมู่อำมาตย์ อันพระสนมกำนัลในเฝ้า แหนอยู่ เสวกามาตย์เป็นคนฉลาด ไม่พึงกระทำการทอดสนิทในพระ สนมกำนัลใน ราชเสวกไม่ควรเป็นคนฟุ้งซ่าน ไม่คนองกายวาจา มี ปัญญาเครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ สมบูรณ์ด้วยการตั้งใจไว้ดี ราช เสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๓] ราชเสวกไม่ควรเล่นหัว เจรจาปราศัยในที่ลับกับพระสนมกำนัลใน ไม่ ควรถือเอาทรัพย์จากพระคลังหลวง ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกไม่พึงเห็นแก่การหลับนอนมากนัก ไม่พึงดื่มสุราจนเมามาย ไม่พึงฆ่าเนื้อในสถานที่พระราชทานอภัย ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนัก ได้ ราชเสวกไม่พึงขึ้นร่วมพระตั่ง ราชบัลลังก์ พระราชอาสน์ เรือ และรถพระที่นั่ง ด้วยอาการทนงตนว่าเป็นคนโปรดปราน ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกต้องเป็นผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ไม่ ควรเฝ้าให้ไกลนักใกล้นัก ควรยืนเฝ้าพอให้ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็น ถนัด ในสถานที่ที่พอจะได้ยินพระราชดำรัสเบื้องพระพักตร์ของพระราชา ราชเสวกไม่ควรทำความวางใจว่า พระราชาเป็นเพื่อนของเรา พระราชา เป็นคู่กันกับเรา พระราชาทั้งหลายย่อมทรงพระพิโรธได้เร็วไวเหมือน นัยน์ตาอันผงกระทบ ราชเสวกไม่ควรถือตัวว่าเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต พระราชาทรงบูชา ไม่ควรเพ็ดทูลถ้อยคำหยาบคายกะพระราชาซึ่งประทับ อยู่ในราชบริษัท.
[๙๖๔] ราชเสวกผู้ได้รับพระราชทานพระทวารเป็นพิเศษ ก็ไม่ควรวางใจใน พระราชาทั้งหลาย พึงเป็นผู้สำรวมดำรงตนไว้เพียงดังไฟ ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงยกย่องพระราชโอรส หรือ พระราชวงศ์ด้วยบ้าน นิคม แว่นแคว้น หรือชนบท ราชเสวกควร นิ่งดูก่อน ไม่ควรเพ็ดทูลคุณหรือโทษ.
[๙๖๕] พระราชาจะทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่กรมช้าง กรมม้า กรมรถ กรม เดินเท้า ตามความชอบในราชการของเขา ราชเสวกไม่ควรทัดทานเขา ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้เป็นนักปราชญ์ พึงโอนไป เหมือนคันธนู และพึงไหวไปตามเหมือนไม้ไผ่ ไม่ควรทูลทัดทาน ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มีท้องน้อยเหมือน คันธนู พึงเป็นผู้ไม่มีลิ้นเหมือนปลา พึงเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ มีปัญญาเครื่องรักษาตน แกล้วกล้า ราชเสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๖] ราชเสวกไม่พึงสัมผัสหญิงนัก ซึ่งเป็นเหตุให้สิ้นเดช ผู้สิ้นเดชย่อมได้ ประสบโรคไอมองคร่อ ความกระวนกระวาย ความอ่อนกำลัง ราชเสวก ไม่ควรพูดมากเกินไป ไม่ควรนิ่งทุกเมื่อ เมื่อถึงเวลาพึงเปล่งวาจาพอ ประมาณ ไม่พร่ำเพรื่อ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ เป็น คนพูดจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด ไม่ควรพูดถ้อยคำเพ้อเจ้อ ราช เสวกนั้นพึงอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๖๗] ราชเสวกพึงเลี้ยงดูมารดาบิดา พึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในสกุล มีวาจาอ่อนหวาน กล่าววาจากลมเกลี้ยง ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำ นักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้ได้รับแนะนำดีแล้ว มีศิลปะ ฝึกฝนแล้ว เป็น ผู้ทำประโยชน์ เป็นผู้คงที่ อ่อนโยน ไม่ประมาท สะอาดหมดจด เป็นคนขยัน ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้มี ความประพฤติอ่อนน้อม มีความเคารพยำเกรงในท่านผู้เจริญ เป็นผู้ สงบเสงี่ยม มีการอยู่ร่วมเป็นสุข ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเว้นให้ห่างไกลซึ่งทูตที่ส่งมาเกี่ยวด้วยความลับ พึงดูแลแต่ เจ้านายของตน ไม่ควรพูด (เรื่องลับ) ในสำนักของพระราชาอื่น.
[๙๖๘] ราชเสวกพึงเข้าหาสมาคมกะสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูต โดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกเมื่อได้เข้าหา สมาคมกะสมณะและพราหมณ์ ผู้มีศีลเป็นพหูสูตแล้ว พึงสมาทาน รักษาอุโบสถศีล โดยเคารพ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงบำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ด้วยข้าว และน้ำ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกผู้หวังความเจริญ แก่ตน พึงเข้าไปสมาคมคบหากะสมณะและพราหมณ์ผู้มีศีล เป็น พหูสูต มีปัญญา.
[๙๖๙] ราชเสวกไม่พึงทำทาน ที่เคยพระราชทาน ในสมณพราหมณ์ให้เสื่อมไป อนึ่ง เห็นพวกวณิพกซึ่งมาในเวลาพระราชทาน ไม่ควรห้ามอะไรเลย ราชเสวกพึงเป็นผู้มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยความรู้ ฉลาดในวิธีจัดราชกิจ รู้จักกาล รู้จักสมัย ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึง เป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท มีปัญญาสอดส่องพิจารณาในการงาน ที่ตนพึงทำ จัดการงานให้สำเร็จด้วยดี ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนัก ได้.
[๙๗๐] อนึ่ง ราชเสวกพึงไปตรวจตราดูลานข้าวสาลีปศุสัตว์และนาเสมอๆ พึง ตวงข้าวเปลือกให้รู้ประมาณแล้ว ให้เก็บไว้ในฉาง พึงนับบริวารชนใน เรือนแล้ว ให้หุงต้มพอประมาณ ไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล ไม่จัดว่า เป็นพี่น้อง คนเหล่านั้น เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว แต่เมื่อเขาเหล่านั้น มาหาถึงสำนัก ก็ควรให้ผ้านุ่งผ้าห่มและอาหาร ควรตั้งพวกทาสหรือ กรรมกร ผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีล เป็นคนขยันหมั่นเพียร ให้เป็นใหญ่.
[๙๗๑] ราชเสวกพึงเป็นผู้มีศีล ไม่โลภมาก พึงประพฤติตามเจ้านาย ประพฤติ ประโยชน์แก่เจ้านาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ราชเสวกนั้นควรอยู่ใน ราชสำนักได้ ราชเสวกพึงเป็นผู้รู้จักพระราชอัธยาศัย และพึงปฏิบัติ ตามพระราชประสงค์ ไม่ควรประพฤติขัดต่อพระราชประสงค์ ราชเสวก นั้นควรอยู่ในราชสำนักได้ ราชเสวกพึงก้มศีรษะลงชำระพระบาท ใน เวลาผลัดพระภูษาทรง และในเวลาสรงสนาน แม้จะถูกกริ้วก็ไม่ควร โกรธตอบ ราชเสวกนั้นควรอยู่ในราชสำนักได้.
[๙๗๒] บุรุษผู้หวังความเจริญแก่ตน พึงกระทำอัญชลีในหม้อน้ำ และพึงกระทำ ประทักษิณนกแอ่นลม อย่างไรเขาจักไม่พึงนอบน้อม พระราชาผู้เป็น นักปราชญ์สูงสุด พระราชทานสมบัติอันน่าใคร่ทุกอย่างเล่า เพราะ พระราชาทรงพระราชทานที่นอน ผ้านุ่งผ้าห่ม ยวดยาน ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ยังโภคสมบัติให้ตกทั่วถึง เหมือนมหาเมฆยังน้ำฝนให้ตก เป็นประโยชน์แก่หมู่สัตว์ทั่วไป ฉะนั้น ดูกรเจ้าทั้งหลาย นี้ชื่อว่าราชวัสดี เป็นอนุศาสน์สำหรับราชเสวก นรชนประพฤติตาม ย่อมยังพระราชาให้ โปรดปราน และย่อมได้การบูชาในเจ้านายทั้งหลาย. (นี้) ชื่อราชวัสดี
[๙๗๓] วิธูรบัณฑิตผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ครั้นพร่ำสอนหมู่ญาติอย่างนี้แล้ว หมู่ญาติมิตรห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระราชา ถวายบังคมพระยุคลบาทด้วย เศียรเกล้า และทำประทักษิณท้าวเธอ แล้วประคองอัญชลีกราบบังคม ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงปราบศัตรู มาณพนี้ปรารถนาจะทำตามความ ประสงค์ จึงจะนำข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์จะกราบทูลประโยชน์ แห่งญาติทั้งหลาย ขอเชิญพระองค์ทรงสดับประโยชน์นั้น ขอพระองค์ ได้ทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ดูแลบุตรภรรยาของข้าพระองค์ ทั้งทรัพย์ อย่างอื่นๆ ที่มีอยู่ในเรือน โดยที่หมู่ญาติของข้าพระองค์จะไม่เสื่อมใน ภายหลัง ในเมื่อข้าพระองค์ถวายบังคมลาไปแล้ว ความพลาดพลั้งของ ข้าพระองค์นี้ เหมือนบุคคลพลาดล้มบนแผ่นดิน ย่อมกลับตั้งอยู่บน แผ่นดินนั้นเอง ฉะนั้น ข้าพระองค์ย่อมเห็นโทษนี้.
[๙๗๔] ท่านไม่อาจจะไปนั่นแลเป็นความพอใจของเรา เราจะสั่งให้ฆ่าตัดออกเป็น ท่อนๆ แล้วหมกไว้ให้มิดชิดในเมืองนี้ ท่านอยู่ในที่นี้แหละการทำดัง นี้เราชอบใจ ดูกรบัณฑิตผู้มีปัญญาอันสูงสุด กว้างขวางดุจแผ่นดิน ท่านอย่าไปเลย.
[๙๗๕] ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อย่าทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในอธรรมเลย ขอจงทรงประกอบพระองค์ไว้ในอรรถและในธรรมเถิด กรรมอันเป็น อกุศลไม่ประเสริฐ บัณฑิตติเตียนว่า ผู้ทำกรรมอันเป็นอกุศลพึงเข้าถึง นรกในภายหลัง นี่ไม่ใช่ธรรมเลย ไม่เข้าถึงกิจที่ควรทำ ข้าแต่พระจอม ประชาชน ธรรมดานายผู้เป็นใหญ่ของทาส จะทุบตีก็ได้ จะเผาก็ได้ จะฆ่าเสียก็ได้ ข้าพระองค์ไม่มีความโกรธเลย และข้าพระองค์ขอกราบ ทูลลาไป.
[๙๗๖] พระมหาสัตว์นั้นมีเนตรทั้งสองนองด้วยน้ำตา กำจัดความกระวนกระวาย ในหทัยแล้ว สวมกอดบุตรผู้ใหญ่ แล้วเข้าไปยังเรือนใหญ่.
[๙๗๗] บุตรพันหนึ่ง ธิดาพันหนึ่ง ภรรยาพันหนึ่ง และทาสเจ็ดร้อย ในนิเวศน์ ของวิธูรบัณฑิต ต่างประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ กลิ้งเกลือก กลับทับกันไป เหมือนป่าไม้รังถูกลมพัดล้มระเนระนาดทับกันไป ฉะนั้น พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พวกพ่อค้า ชาวนา และพราหมณ์ทั้ง หลาย ต่างก็มาประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธูรบัณฑิต พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบทและชาวนิคม ต่างมาประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในนิเวศน์ของวิธูรบัณฑิต ภรรยาพันหนึ่งและทาสีเจ็ดร้อย ต่างพากันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญ ว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละดิฉันทั้งหลายไป พระสนมกำนัล พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ทั้งหลาย ... พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมา ประชุมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงจักละ ข้าพเจ้าทั้งหลายไป.
[๙๗๘] พระมหาสัตว์ กระทำกิจทั้งหลายในเรือนสั่งสอนคนของตน คือ มิตร สหาย คนใช้ บุตร ธิดา ภรรยา และพวกพ้อง จัดการงาน บอก มอบทรัพย์ในเรือน ขุมทรัพย์ และการส่งหนี้เสร็จแล้ว ได้กล่าวกะ ปุณณกยักษ์ว่า ท่านได้พักอยู่ในเรือนของข้าพเจ้า ๓ วันแล้ว กิจที่จะพึง ทำในเรือนของข้าพเจ้าทำเสร็จแล้ว อนึ่ง บุตรและภรรยาข้าพเจ้าได้ สั่งสอนแล้ว ข้าพเจ้ายอมทำกิจตามอัธยาศัยของท่าน.
[๙๗๙] ดูกรมหาอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวง ถ้าแลท่านสั่งสอนบุตร ภรรยา และคนอาศัยแล้ว เชิญท่านมารีบไปในบัดนี้ เพราะในทางข้างหน้ายัง ไกลนัก ท่านอย่ากลัวเลย จงจับหางม้าอาชไนย การเห็นชีวโลกของท่าน นี้ เป็นการเห็นครั้งที่สุด.
[๙๘๐] ข้าพเจ้าจักสะดุ้งกลัวไปทำไม เพราะข้าพเจ้าไม่มีกรรมชั่วทางกาย ทาง วาจาและทางใจ อันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ.
[๙๘๑] พญาม้านั้น นำวิธูรบัณฑิตเหาะไปในอากาศกลางหาวไม่กระทบที่กิ่งไม้ หรือภูเขา วิ่งเข้าไปสู่กาฬคีรีบรรพตโดยฉับพลัน.
[๙๘๒] ภรรยาพันหนึ่ง และทาสีเจ็ดร้อยประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์ แปลงเพศเป็นพราหมณ์มาพาเอาวิธูรบัณฑิตไป พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ ... กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบท และชาวนิคมต่างมาประชุมพร้อมกัน ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญว่า ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มา พาเอาวิธูรบัณฑิตไป ภรรยาพันหนึ่งและทาสีเจ็ดร้อย ต่างประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธูรบัณฑิตนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน พระสนมกำนัลใน พระราชกุมาร พ่อค้า ชาวนาและพราหมณ์ ... กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ... ชาวชนบท และชาวนิคม ต่างมาประชุม พร้อมกันประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า วิธูรบัณฑิตไปแล้ว ณ ที่ไหน.
[๙๘๓] ถ้าท่านวิธูรบัณฑิต จักไม่มาโดย ๗ วัน ข้าพระพุทธเจ้าจักพากันเข้า ไปสู่กองไฟ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีความต้องการด้วยชีวิต.
[๙๘๔] ก็วิธูรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม สามารถแสดงประโยชน์ และมิใช่ ประโยชน์แจ้งชัด มีปัญญาเครื่องพิจารณา คงจะเปลื้องตนได้โดยพลัน ท่านทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย วิธูรบัณฑิตปลดเปลื้องตนแล้ว ก็จักรีบ กลับมา. (นี้) ชื่ออันตรเปยยาล
[๙๘๕] ปุณณกยักษ์นั้น ไปยืนคิดอยู่บนยอดกาฬคีรีบรรพต ความคิดย่อมเป็น ความคิดสูงๆ ต่ำๆ ประโยชน์อะไรๆ ด้วยความเป็นอยู่ของวิธูร บัณฑิตนี้ หามีแก่เราไม่ เราจักฆ่าวิธูรบัณฑิตนี้เสีย แล้วนำเอาแต่ ดวงใจไปเถิด.
[๙๘๖] ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตประทุษร้ายลงจากยอดเขาไปสู่เชิงเขา วางพระมหา สัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์ เอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ขว้างลงไปที่พื้นดินที่ไม่มีอะไรกีดกั้น.
[๙๘๗] วิธูรบัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ เมื่อถูกห้อยศรีษะ ลงในเหวอันชัน เป็นที่น่ากลัว น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียวมาก ไม่สะดุ้งกลัว ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านเป็นผู้มีรูปดังผู้ประเสริฐ แต่หาเป็นคนประเสริฐไม่ คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม กระทำ กรรมอันหยาบช้าไร้ประโยชน์ ส่วนกุศลแม้แต่น้อยหนึ่งย่อมไม่มีในจิต ของท่าน ท่านจะโยนข้าพเจ้าลงในเหวประโยชน์อะไร ด้วยการตายของ ข้าพเจ้า จะพึงมีแก่ท่านหนอ วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนของ อมนุษย์ ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร.
[๙๘๘] ข้าพเจ้าเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ และเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร ถ้าท่านคง ได้ฟังมาแล้ว พญานาคใหญ่นามว่าวรุณ ผู้ครอบครองนาคพิภพมีรูป งามสะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นาง นาคกัญญานามว่าอิรันทดีธิดาของพญานาคนั้น ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวอันงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะ ฆ่าท่าน.
[๙๘๙] ดูกรยักษ์ ท่านอย่าได้มีความลุ่มหลงนักเลย สัตว์โลกเป็นอันมากฉิบหาย แล้วเพราะความถือผิด เพราะเหตุไร ท่านจึงทำความรักใคร่ในนางอิรันทดี ผู้มีเอวอันงามน่ารัก ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยความตายของข้าพเจ้า เชิญท่านจงบอกเหตุทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วย.
[๙๙๐] ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพญาวรุณนาคราช ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้า ชื่อว่าเป็นผู้รับอาสาญาติของนางอิรันทดีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้า ว่า ถูกความรักใคร่ครอบงำโดยส่วนเดียว เหตุนั้น พญาวรุณนาคราช ได้ตรัสกะข้าพเจ้าผู้ทูลขอนางอิรันทดีนาคกัญญาว่า เราทั้งหลายพึงให้ธิดา ของเรา ผู้มีร่างกายอันสลวย มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง ลูบไล้ด้วยจุรณ แก่นจันทน์ ถ้าท่านพึงได้ดวงหทัยของวิธูรบัณฑิตนำมาในนาคพิภพนี้โดย ธรรม เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา เราทั้งหลายมิ ได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น ดูกรท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็น คนหลง ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้ อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิด อะไรๆ เลย เพราะดวงหทัยของท่าน ที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมลา จะประทานนางอิรันทดีนาคกัญญาแก่ ข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามเพื่อจะฆ่าท่าน ข้าพเจ้ามี ประโยชน์ด้วยการตายของท่าน จึงจะผลักท่านให้ตกลงในเหวนี้ ฆ่า เสียแล้วนำเอาดวงหทัยไป.
[๙๙๑] จงวางข้าพเจ้าลงโดยเร็วเถิด ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งปวงนี้แก่ท่านในวันนี้.
[๙๙๒] ปุณณกยักษ์นั้น รีบวางวิธูรบัณฑิตอำมาตย์ผู้ประเสริฐที่สุดของชาว กุรุรัฐลงบนยอดเขา เห็นวิธูรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามนั่งอยู่ จึงถามว่า ท่านอันข้าพเจ้ายกขึ้นจากเหวแล้ว วันนี้ข้าพเจ้ามีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัย ของท่าน ท่านจงแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนั้นแก่ข้าพเจ้าในวันนี้.
[๙๙๓] ข้าพเจ้าอันท่านยกขึ้นจากเหวแล้ว ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนี้แก่ท่านในวันนี้.
[๙๙๔] ดูกรมาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว ๑ จงอย่าเผาฝ่ามือ อันชุ่ม ๑ อย่าได้ประทุษร้ายในหมู่มิตร ในกาลไหนๆ ๑ อย่าตกอยู่ใน อำนาจของหญิงอสติ ๑.
[๙๙๕] บุคคลชื่อว่า เป็นผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้วอย่างไร บุคคลชื่อว่า เผาฝ่ามืออันชุ่มอย่างไร บุคคลเช่นไรชื่อว่าประทุษร้ายมิตร หญิงเช่นไร ชื่อว่าอสติ ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้น.
[๙๙๖] ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่คุ้นเคยกัน ไม่เคยพบเห็นกันแม้ด้วยอาสนะ บุรุษพึงกระทำประโยชน์แก่บุคคลนั้นโดยแท้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุรุษ นั้นว่า ผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใด แม้คืนเดียว ได้ข้าวน้ำด้วย ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้นแม้ด้วยใจ ผู้คิดร้าย ต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่าประทุษร้ายมิตร บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนชั่วช้า หญิงที่สามียกย่องอย่างดี ถึงแก่ให้ แผ่นดินนี้อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นสามีนั้นได้ บุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าอสติ บุคคลชื่อ ว่าเดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้วอย่างนี้ ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่มอย่างนี้ ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงผู้ชื่อว่าอสติอย่างนี้ ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร อย่างนี้ ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จงละอธรรมเสีย. (นี้) ชื่อสาธุนรธรรมกัณฑ์
[๙๙๗] ข้าพเจ้าได้อยู่ในเรือนท่านตลอด ๓ วัน ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุงด้วยข้าว และน้ำ ท่านเป็นผู้พ้นจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอปล่อยท่าน ดูกรท่านผู้มี ปัญญาอันสูงสุด เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามปรารถนาเถิด ความต้องการของตระกูลพญานาคจะเสื่อมไปก็ตามที เหตุที่จะให้ได้ นางนาคกัญญา ข้าพเจ้าเลิกละ ดูกรท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิต ของตนนั่นแล ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้าผู้จะฆ่าท่านในวันนี้.
[๙๙๘] ดูกรปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไปในสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณผู้เป็น อธิบดีของนาคและวิมานของท้าวเธอ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.
[๙๙๙] คนมีปัญญา ไม่ควรจะดูสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้น เลย ดูกรท่านผู้มีปัญญาอันสูงสุด เออก็ เพราะเหตุอะไรหนอ ท่านจึง ปรารถนาจะไปยังที่อยู่ของศัตรูเล่า.
[๑๐๐๐] แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัด ซึ่งข้อที่ผู้มีปัญญาไม่ควรเห็นสิ่งที่ไม่เป็นไป เพื่อ ประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วที่กระทำไว้ ในที่ๆ ไหนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจความตายอันจะมา ถึงตน.
[๑๐๐๑] ดูกรบัณฑิต เชิญเถิด ท่านกับข้าพเจ้ามาไปดูพิภพของพญานาคราช ซึ่งมีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตาม ปรารถนา เหมือนนิฬิญญราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสสุวรรณ ฉะนั้น นาคพิภพนั้น เป็นที่ไปเที่ยวเล่นเป็นหมู่ๆ ของนางนาค กัญญา ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์ มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลาย ชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ เพรียบ พร้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องและการประโคม พร้อมมูลไปด้วยนางนาค กัญญาที่ประดับประดาสวยงาม งามสง่าไปด้วยผ้านุ่ง ผ้าห่มและเครื่อง ประดับ.
[๑๐๐๒] ปุณณกยักษ์นั้น เชิญให้วิธูรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ นั่ง เหนืออาสนะข้างหลัง ได้พาวิธูรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามเข้าไปสู่ภพ ของพญานาคราช วิธูรบัณฑิตได้สถิตอยู่ข้างหลังแห่งปุณณกยักษ์ จน ถึงพิภพของพญานาคซึ่งมีอนุภาพหาที่เปรียบมิได้ ก็พญานาคทอด พระเนตรเห็นลูกเขยผู้มีความจงรักภักดี ได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนที เดียว.
[๑๐๐๓] ท่านได้ไปยังมนุษยโลก เที่ยวแสวงหาดวงหทัยของบัณฑิตกลับมาถึงใน นาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ หรือว่าท่านได้พาเอาบัณฑิตผู้มีปัญญา ไม่ต่ำทรามมาด้วย.
[๑๐๐๔] ท่านผู้นี้แหละ คือวิธูรบัณฑิตที่พระองค์ทรงปรารถนานั้นมาแล้ว พระเจ้า ข้า ท่านวิธูรบัณฑิตผู้รักษาธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทอดพระเนตรวิธูรบัณฑิต ผู้จะแสดง ธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะ เฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้ การสมาคม ด้วยสัปบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้โดยแท้. (นี้) ชื่อว่ากาลาคิรีกัณฑ์
[๑๐๐๕] ท่านเป็นมนุษย์ มาเห็นพิภพของนาคที่ตนไม่เคยเห็นแล้ว เป็นผู้ถูกภัย คือความตายคุกคามแล้ว เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดู เหมือนจะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.
[๑๐๐๖] ข้าแต่พญานาคราช ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัวและไม่เป็นผู้อันภัยคือ ความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือ เพชฌฆาตก็พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะ พึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขาจะพึงให้ บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ ประโยชน์เลย พระเจ้าข้า.
[๑๐๐๗] ดูกรบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่ พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบ ไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไร เล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
[๑๐๐๘] ข้าแต่พญานาคราช วิมานของฝ่าพระบาทนี้เป็นของไม่เที่ยง แต่เป็น เช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอ ทูลถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ทรงได้มาอย่างไรหนอ วิมาน นี้ฝ่าพระบาททรงได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตามฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายแก่พระองค์ ข้าแต่ พญานาคราช ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ ตาม ที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.
[๑๐๐๙] วิมานนี้ เราจะได้มาเพราะอาศัยอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ เรามิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็มิได้ให้ แต่วิมานนี้เราได้มาด้วย บุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
[๑๐๑๐] ข้าแต่พญานาคราช อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็น พรหมจรรย์ของฝ่าพระบาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระ วิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานใหญ่ของฝ่าพระบาท นี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไรอันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว.
[๑๐๑๑] เราและภรรยาเมื่อยังอยู่ในมนุษยโลก เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดี ใน ครั้งนั้น เรือนของเราเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และเรา ได้บำรุงสมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ เราทั้งสองได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องประทีป ที่นอนที่พักอาศัย ผ้า นุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำโดยเคารพ ทานที่ได้ถวายโดยเคารพ นั้นเป็นวัตรของเรา และการสมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของเรา ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมานใหญ่ของเรานี้เป็นวิบากแห่งวัตรและ พรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติดีแล้ว.
[๑๐๑๒] ถ้าวิมานนี้ ฝ่าพระบาททรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาทก็ ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรม ตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไปฉะนั้นเถิด พระ เจ้าข้า.
[๑๐๑๓] ดูกรบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและ น้ำเลย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา ตามที่เราจะพึง ได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.
[๑๐๑๔] ข้าแต่พระยานาคราช ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระชายา ทั้งพระญาติ พระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาท ซึ่งเกิดในนาคพิภพนี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาคมีพระโอรสเป็นต้น เหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาททรงรักษา ความไม่ประทุษร้ายด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาททรง สถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุ แล้วจักเสด็จไปสู่เทวโลกอันสูง กว่านาคพิภพ.
[๑๐๑๕] ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ ประเสริฐสุดพระองค์นั้น พรากจากท่านแล้ว ย่อมจะเศร้าโศกแน่แท้ ทีเดียว คนที่ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคม กับท่านแล้วพึงได้ความสุข.
[๑๐๑๖] ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทตรัสธรรม ของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่งเป็น บทอันแสดงประโยชน์อย่างล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมี ภยันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.
[๑๐๑๗] ขอท่านจงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่าน จงบอกแก่เรา ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสะกาจึงได้ท่านมา ปุณณก ยักษ์นี้กล่าวว่า ได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้ อย่างไร.
[๑๐๑๘] ปุณณกยักษ์นี้ เล่นสะกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดีใน อินทปัตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้นอันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้ทรง พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์เป็นผู้อันปุณณกยักษ์ นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาโดยกรรมอันสาหัสพระเจ้าข้า.
[๑๐๑๙] ในกาลนั้น พระยานาคผู้ประเสริฐ ทรงสดับคำสุภาษิตของวิธูรบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์แล้วทรงชื่นชมโสมนัส มีพระทัยเต็มตื้นด้วยปีติ ทรงจูงมือ วิธูรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทราม เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของพระชายา ตรัสว่า ดูกรพระน้องวิมลา เพราะเหตุใด พระน้องจึงดูผอมเหลืองไป เพราะ เหตุใด พระน้องจึงไม่เสวยกระยาหาร ก็คุณงามความดีของวิธูรบัณฑิต ผู้ที่พระน้องต้องประสงค์ดวงหทัย เป็นผู้บรรเทาความมืดของโลกทั้งปวง เช่นนี้นั้นของเราไม่มี ผู้นี้คือวิธูรบัณฑิตมาถึงแล้วจะทำความสว่างไสวให้ แก่พระน้อง เชิญพระน้องตั้งหทัยฟังถ้อยคำของท่าน การที่จะได้เห็น ท่านอีกเป็นการหาได้ยาก.
[๑๐๒๐] พระนางวิมลา ทอดพระเนตรเห็นวิธูรบัณฑิต ผู้มีปัญญากว้างขวางดัง แผ่นดินนั้นแล้ว มีพระทัยยินดีโสมนัส ทรงยกพระองคุลีทั้ง ๑๐ ขึ้น อัญชลี และตรัสกะวิธูรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ประเสริฐสุดของชาวกุรุ รัฐว่า ท่านเป็นมนุษย์มาเห็นพิภพของนาคที่ตนไม่เคยเห็น เป็นผู้ถูกภัย คือความตายคุกคาม เป็นผู้ไม่กลัว และไม่อภิวาท อาการเช่นนี้ดูเหมือน จะไม่มีแก่ผู้มีปัญญา.
[๑๐๒๑] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่กลัว และไม่เป็นผู้อันภัยคือ ความตายคุกคาม นักโทษประหารไม่พึงไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาต ก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะพึงกราบ ไหว้บุคคล ผู้ที่ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้ บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้ตนอย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จ ประโยชน์พระเจ้าข้า.
[๑๐๒๒] ดูกรบัณฑิต คำนั้นถูกอย่างที่ท่านพูด ท่านพูดจริง นักโทษประหารไม่ พึงกราบไหว้เพชฌฆาต หรือเพชฌฆาตก็ไม่พึงให้นักโทษประหารกราบ ไหว้ตน อย่างไรหนอ นรชนจะพึงกราบไหว้บุคคลผู้ปรารถนาจะฆ่าตน และผู้ปรารถนาจะฆ่าเขา จะพึงให้บุคคลผู้ที่ตนจะฆ่ากราบไหว้อย่างไรเล่า กรรมนั้นย่อมไม่สำเร็จประโยชน์เลย.
[๑๐๒๓] ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา วิมานของพระองค์นี้เป็นของไม่เที่ยง แต่ เป็นเช่นกับของเที่ยง ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระวิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพได้มีแล้วแก่ฝ่าพระบาท ข้าพระองค์ขอทูล ถามเนื้อความนั้นกะฝ่าพระบาท วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มาอย่างไรหนอ วิมานนี้ฝ่าพระบาทได้มาเพราะอาศัยอะไร หรือเป็นของเกิดขึ้นตาม ฤดูกาล ฝ่าพระบาททรงกระทำเอง หรือเทวดาทั้งหลายถวายฝ่าพระบาท ข้าแต่พระนางเจ้านาคกัญญา ขอฝ่าพระบาทตรัสบอกเนื้อความนี้แก่ ข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาทได้วิมานมาเถิด พระเจ้าข้า.
[๑๐๒๔] วิมานนี้ ฉันจะได้มาเพราะอะไรก็หามิได้ เกิดขึ้นตามฤดูกาลก็หามิได้ ฉันมิได้กระทำเอง แม้เทวดาทั้งหลายก็หามิได้ให้ แต่วิมานนี้ฉันได้มา ด้วยบุญกรรมอันไม่ลามกของตนเอง.
[๑๐๒๕] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี อะไรเป็นวัตรของฝ่าพระบาท และอะไรเป็น พรหมจรรย์ของฝ่าพระบาท ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง พระกำลังกาย พระ วิริยภาพ และการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ ทั้งวิมานอันใหญ่ของฝ่าพระบาท นี้ เป็นผลแห่งกรรมอะไร อันฝ่าพระบาททรงประพฤติดีแล้ว พระเจ้าข้า.
[๑๐๒๖] ฉันและพระสวามีของฉัน เป็นผู้มีศรัทธา เป็นทานบดีในครั้งนั้น เรือนของฉันเป็นดังบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย และฉันได้บำรุง สมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ฉันและพระสวามี เมื่อยังอยู่ในมนุษย โลกนั้น ได้ถวายทาน คือ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่อง ประทีป ที่นอน ที่พักอาศัย ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าปูนอน ข้าวและน้ำ โดยเคารพ ทานที่ฉันได้ถวายโดยเคารพนั้น เป็นวัตรของฉัน และการ สมาทานวัตรนั้นเป็นพรหมจรรย์ของฉัน ดูกรท่านผู้เป็นปราชญ์ ฤทธิ์ ความรุ่งเรือง กำลังกาย ความเพียร การเกิดในนาคพิภพ และวิมาน ใหญ่ของเรานี้ เป็นวิบากแห่งวัตรและพรหมจรรย์นั้น อันเราประพฤติ ดีแล้ว.
[๑๐๒๗] ถ้าวิมานนี้ฝ่าพระบาท ทรงได้ด้วยอานุภาพแห่งทานอย่างนี้ ฝ่าพระบาท ก็ชื่อว่าทรงทราบผลแห่งบุญ และทรงทราบการเสด็จอุบัติในนาคพิภพ เพราะผลแห่งบุญ เพราะเหตุนั้นแล ขอพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประมาท ประพฤติธรรมตามที่จะได้ทรงครอบครองวิมานนี้ต่อไปฉะนั้นเถิด พระ เจ้าข้า.
[๑๐๒๘] ดูกรบัณฑิต ในนาคพิภพนี้ ไม่มีสมณพราหมณ์ที่เราจะพึงถวายข้าวและ น้ำเลย ฉันถามแล้วขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ตามที่ฉันจะพึง ได้ครอบครองวิมานต่อไปเถิด.
[๑๐๒๙] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ก็นาคทั้งหลายที่เป็นพระโอรส พระธิดา พระ สวามี ทั้งพระญาติพระมิตร และข้าเฝ้าของฝ่าพระบาทซึ่งเกิดในนาคพิภพ นี้ มีอยู่ ขอฝ่าพระบาททรงเป็นผู้ไม่ประทุษร้ายในนาคมีพระโอรสเป็น ต้นเหล่านั้น ด้วยพระกายและพระวาจาเป็นนิตย์ ฝ่าพระบาทจงทรง รักษาความไม่ประทุษร้ายด้วยพระกายและพระวาจาอย่างนี้ ฝ่าพระบาท ทรงสถิตอยู่ในวิมานนี้ตลอดพระชนมายุแล้ว จักเสด็จไปสู่เทวโลกอัน สูงกว่านาคพิภพนี้ พระเจ้าข้า.
[๑๐๓๐] ท่านเป็นอำมาตย์ของพระราชาผู้ประเสริฐสุดพระองค์ใด พระราชาผู้ประ เสริฐสุดพระองค์นั้น พรากจากท่านแล้ว ย่อมจะทรงเศร้าโศกแน่แท้ ทีเดียว คนผู้ถูกความทุกข์ครอบงำก็ดี คนผู้ป่วยหนักก็ดี ได้สมาคม กับท่านแล้ว พึงได้ความสุข.
[๑๐๓๑] ข้าแต่พระนางเจ้านาคี ฝ่าพระบาทตรัสธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย ซึ่ง เป็นบทอันแสดงประโยชน์ล้ำเลิศ ที่นักปราชญ์ประพฤติดีแล้วโดยแท้ ก็คุณวิเศษของบุคคลผู้มีปัญญาเช่นข้าพระองค์ ย่อมปรากฏในเมื่อมีภัย อันตรายเช่นนี้แหละ พระเจ้าข้า.
[๑๐๓๒] ขอท่านจงบอกแก่ฉัน ปุณณกยักษ์นี้ได้ท่านมาเปล่าๆ หรือ ขอท่านจง บอกแก่ฉัน ปุณณกยักษ์นี้ชนะในการเล่นสะกาจึงได้ท่านมา ปุณณกยักษ์ นี้กล่าวว่าได้มาโดยธรรม ท่านถึงเงื้อมมือของปุณณกยักษ์นี้ได้อย่างไร.
[๑๐๓๓] ปุณณกยักษ์นี้ เล่นสะกาชนะพระราชาของข้าพระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดีใน อินทปัตนครนั้น พระราชาพระองค์นั้นอันปุณณกยักษ์ชนะแล้ว ได้ทรง พระราชทานข้าพระองค์แก่ปุณณกยักษ์นี้ ข้าพระองค์ เป็นผู้อันปุณณก ยักษ์นี้ได้มาแล้วโดยธรรม มิใช่ได้มาด้วยกรรมอันสาหัส พระเจ้าข้า.
[๑๐๓๔] ท้าววรุณนาคราช ตรัสถามปัญหากะวิธูรบัณฑิต ฉันใด แม้พระนาง วิมลานาคกัญญา ก็ตรัสถามปัญหากะวิธูรบัณฑิต ฉันนั้น วิธูรบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์ อันท้าววรุณนาคราชตรัสถามแล้ว ได้พยากรณ์ปัญหาให้ ท้าววรุณนาคราชทรงยินดี ฉันใด วิธูรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ แม้พระ นางวิมลานาคกัญญาตรัสถามแล้ว ก็พยากรณ์ให้พระนางวิมลานาคกัญญา ทรงยินดี ฉันนั้น วิธูรบัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ทราบว่าพระยานาคราชผู้ ประเสริฐ และพระนางนาคกัญญาทั้งสองพระองค์นั้น ทรงมีพระทัย ชื่นชมโสมนัส ไม่ครั่นคร้าม ไม่กลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า ได้กราบ ทูลท้าววรุณนาคราชว่า ข้าแต่พระยานาคราช ฝ่าพระบาทอย่าทรงพระวิตก ว่า ทรงกระทำกรรมของคนผู้ประทุษร้ายมิตร และอย่าทรงพระดำริว่าจัก ฆ่าบัณฑิตนี้ ขอฝ่าพระบาททรงกระทำกิจด้วยเนื้อหทัยของข้าพระองค์ ตามที่ฝ่าพระบาททรงพระประสงค์เถิด ถ้าฝ่าพระบาทไม่ทรงสามารถจะฆ่า ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะทำถวายตามพระอัธยาศัยของฝ่าพระบาทเอง พระเจ้าข้า.
[๑๐๓๕] ปัญญานั่นเอง เป็นหทัยของบัณฑิตทั้งหลาย เราทั้งสองนั้นยินดีด้วย ปัญญาของท่านยิ่งนัก ปุณณกยักษ์จงไปส่งท่านให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ ทีเดียว.
[๑๐๓๖] ปุณณกยักษ์นั้น ได้นางอิรันทดีนาคกัญญาแล้ว มีใจชื่นชมโสมนัส ปีติปราโมทย์ ได้กล่าวกะวิธูรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐว่า ข้าแต่ท่านวิธูรบัณฑิต ท่านได้ทำให้ข้าพเจ้ามีความพร้อมเพรียงกันกับ ภรรยา ข้าพเจ้าจะทำกิจตอบแทนท่าน ข้าพเจ้าจะให้แก้วมณีดวงนี้แก่ ท่าน และจะนำท่านไปส่งให้ถึงแคว้นกุรุรัฐในวันนี้ทีเดียว.
[๑๐๓๗] ดูกรกัจจานะ ท่านจงมีความไมตรีสนิทสนมกับภรรยาที่น่ารัก อันไม่มี ใครทำให้แตกแยกตลอดไป ท่านจงเป็นผู้มีจิตเบิกบาน มีปีติโสมนัส ท่านได้ให้แก้วมณีแก่ข้าพเจ้า ขอจงนำข้าพเจ้าไปยังอินทปัตนครด้วยเถิด.
[๑๐๓๘] ปุณณกยักษ์นั้น เชิญวิธูรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐผู้มีปัญญา ไม่ทราม ให้ขึ้นนั่งบนอาสนะข้างหน้าของตน ขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไป ในอากาศกลางหาว ปุณณกยักษ์นั้นได้นำวิธูรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุด ของชาวกุรุรัฐไปถึงอินทปัตนครเร็วยิ่งกว่าใจของมนุษย์พึงไป.
[๑๐๓๙] อินทปัตนครปรากฏอยู่โน่น และป่ามะม่วงอันน่ารื่นรมย์ก็เห็นอยู่เป็น หย่อมๆ ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงกับภรรยา และท่านก็ได้ถึงที่ อยู่ของตนแล้ว.
[๑๐๔๐] ปุณณกยักษ์ผู้มีวรรณะ วางวิธูรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ ลงใน ท่ามกลางธรรมสภา แล้วขึ้นม้าอาชาไนยเหาะไปในอากาศกลางหาว พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิธูรบัณฑิตนั้น ทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็น อย่างยิ่ง เสด็จลุกขึ้น สวมกอดวิธูรบัณฑิตด้วยพระพาหาทั้งสอง ไม่ ทรงหวั่นไหว ทรงเชื้อเชิญให้นั่งเหนืออาสนะท่ามกลางธรรมสภา ตรง พระพักตร์ของพระองค์.
[๑๐๔๑] ท่านเป็นผู้แนะนำเราทั้งหลาย เหมือนนายสารถีนำเอารถที่หายแล้วกลับ มาได้ ฉะนั้น ชาวกุรุรัฐทั้งหลายย่อมยินดี เพราะได้เห็นท่าน ฉันถาม แล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ฉัน ท่านหลุดพ้นจากมาณพมาได้ อย่างไร.
[๑๐๔๒] ข้าแต่พระองค์จอมประชาชน ผู้ทรงแกล้วกล้า ประเสริฐกว่านรชน บุรุษที่ฝ่าพระบาทตรัสเรียกมาณพนั้น ไม่ใช่มนุษย์ เป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ พระเจ้าข้า ฝ่าพระบาททรงเคยได้ยินชื่อมาแล้ว ก็ปุณณกยักษ์นั้น เป็น อำมาตย์ของท้าวกุเวรุราชพระยานาคทรงนามว่า วรุณผู้ครองนาคพิภพ มี พระกายใหญ่โตสะอาด ทรงสมบูรณ์ด้วยวรรณะและกำลัง ปุณณกยักษ์ รักใคร่นางนาคกัญญานามว่าอิรันทดี พระธิดาของพระยานาคราชนั้น จึง ตกลงใจจะฆ่าข้าพระองค์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทดีผู้มีเอวบางร่างน้อย น่ารักใคร่ แต่ปุณณกยักษ์เป็นผู้พร้อมเพรียงกับภรรยา ส่วนข้าพระองค์ เป็นผู้อันพระยานาคทรงอนุญาตให้มา และปุณณกยักษ์ให้แก้วมณีมาด้วย.
[๑๐๔๓] มีต้นไม้ต้นหนึ่ง เกิดริมประตูวังของเรา ลำต้นประกอบด้วยปัญญา กิ่ง แล้วด้วยศีล ต้นไม้นั้นตั้งอยู่ในอรรถและธรรม มีผลเต็มไปด้วยเบญจ โครส ดารดาษไปด้วยช้าง ม้าและโค เมื่อมหาชนทำการบูชาต้นไม้นั้น เล่นเพลินอยู่ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องและดนตรี มีบุรุษมาให้เสนาที่ยืน แวดล้อมต้นไม้นั้นให้หนีไปแล้วถอนต้นไม้ไป ต้นไม้นั้นกลับมาตั้งอยู่ที่ ประตูวังของเราตามเดิม วิธูรบัณฑิตเช่นกับต้นไม้ใหญ่นี้ กลับมาสู่ที่อยู่ ของตนแล้ว ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธูรบัณฑิตนี้เถิด ขอเชิญอำมาตย์ผู้มีความปลื้มใจ ด้วยยศที่ได้เพราะ อาศัยเราทุกๆ ท่านเทียว จงแสดงจิตของตนให้ปรากฏในวันนี้ ท่าน ทั้งหลายจงกระทำบรรณาการให้มาก จงทำการเคารพนบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธูรบัณฑิตนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถูกผูกไว้และที่ถูกขังไว้ ซึ่ง มีอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงปล่อยไปให้หมด วิธูรบัณฑิตนี้หลุดพ้น จากเครื่องผูก ฉันใด สัตว์เหล่านั้นก็จงหลุดพ้นจากเครื่องผูก ฉันนั้น พวกชาวไร่ชาวนา จงหยุดพักเล่นมหรสพตลอดเดือนหนึ่งนี้ ขอเชิญ พราหมณ์ทั้งหลายมาบริโภคข้าวอันเจือด้วยเนื้อ พวกนักเลงสุราจงเว้น การเที่ยวดื่มสุรา เอาหม้อใส่ให้เต็มปรี่ ไปนั่งดื่มที่ร้านของตนๆ พวก หญิงแพศยาที่อาศัยอยู่ตามถนนใหญ่ จงเล้าโลมชายที่มีความต้องการ เป็นนิตย์ อนึ่ง ราชบุตรทั้งหลายจงจัดการรักษาในแว่นแคว้นให้เข้มแข็ง โดยมิได้เบียดเบียนกันและกันได้ ท่านทั้งหลายจงกระทำการเคารพ นบนอบแก่ต้นไม้ คือ วิธูรบัณฑิตนี้.
[๑๐๔๔] พระสนมกำนัลใน พวกราชกุมาร พวกพ่อค้าชาวนา และพราหมณ์ ทั้งหลาย ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้แก่วิธูรบัณฑิต พวกกองช้าง กองม้า กองรถ และกองเดินเท้าได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้ แก่วิธูรบัณฑิต ชาวชนบท และชาวนิคม พร้อมเพรียงกัน ได้นำเอา ข้าวและน้ำเป็นอันมากมาให้แก่วิธูรบัณฑิต คนเป็นอันมาก เมื่อ วิธูรบัณฑิตมาถึงแล้ว ได้เห็นวิธูรบัณฑิตมาแล้ว ต่างก็มีจิตโสมนัส พากันโบกผ้าขาว โห่ร้องขึ้นเสียงอึงมี่ ด้วยประการฉะนี้แล.

จบ วิธูรชาดกที่

๙ พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี


[๑๐๔๕] ดูกรผุสดีผู้มีรัศมีแห่งผิวพรรณอันประเสริฐ ผู้มีอวัยวะส่วนเบื้องหน้า งาม เธอจงเลือกเอาพร ๑๐ ประการในปฐพีซึ่งเป็นที่รักแห่งหฤทัยของ เธอ.
[๑๐๔๖] ข้าแต่ท้าวเทวราช ข้าพระบาทขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าพระบาทได้ทำ บาปกรรมอะไรไว้หรือ ฝ่าพระบาทจึงให้ข้าพระบาทจุติจากทิพยสถานที่น่า รื่นรมย์ ดุจลมอัดต้นไม้ใหญ่ให้หักไป ฉะนั้น.
[๑๐๔๗] บาปกรรมเธอมิได้ทำไว้เลย และเธอไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่ แต่บุญ ของเธอสิ้นแล้วเหตุนั้น เราจึงกล่าวกะเธออย่างนี้ ความตายใกล้เธอ เธอจักต้องพลัดพรากจากไปจงเลือกรับเอาพร ๑๐ ประการนี้แต่เราผู้จะให้.
[๑๐๔๘] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าสัตว์ทั้งปวง ถ้าฝ่าพระบาทจะประทานพร แก่ข้าพระบาทไซร้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระบาทพึงเกิดใน พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสีวิราช ข้าแต่ท้าวบุรินททะ ขอให้ข้าพระบาท (๑) พึงเป็นผู้มีจักษุดำเหมือนตาลูกมฤคี (มีอายุ ๑ ขวบปี) ซึ่งมีดวงตา ดำ (๒) พึงมีขนคิ้วดำ (๓) พึงเกิดในราชนิเวศน์นั้นมีนามว่าผุสดี (๔) พึงได้พระราชโอรสผู้ให้สิ่งอันประเสริฐ ผู้ประกอบเกื้อกูลในยาจก มิได้ตระหนี่ ผู้อันพระราชาทุกประเทศบูชา มีเกียรติยศ (๕) เมื่อ ข้าพระบาททรงครรภ์ขออย่าให้อุทรนูนขึ้น พึงมีอุทรไม่นูน เสมอดัง คันศรที่นายช่างเหลาเกลี้ยงเกลา (๖) ถันทั้งคู่ของข้าพระบาทอย่าย้อยยาน ข้าแต่ท้าววาสวะ (๗) ผมหงอกก็อย่าได้มี (๘) ธุลีก็อย่าได้ติดในกาย (๙) ข้าพระบาทพึงปล่อยนักโทษที่ถึงประหารได้ (๑๐) ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ขอข้าพระบาทพึงได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระราชาใน แว่นแคว้นสีวี ในพระราชนิเวศน์อันกึกก้องด้วยเสียงร้องของนกยูง และนกกระเรียน พรั่งพร้อมด้วยหมู่วรนารี เกลื่อนกล่นไปด้วยคนเตี้ย และคนค่อม อันพ่อครัวชาวมคธเลี้ยงดูกึกก้องไปด้วยเสียงกลอน และ เสียงบานประตูอันวิจิตร มีคนเชิญให้ดื่มสุราและกินกับแกล้ม.
[๑๐๔๙] ดูกรนางผู้งามทั่วสรรพางค์กาย พร ๑๐ ประการ เหล่าใดที่เราให้แก่เธอ เธอจักได้พร ๑๐ ประการเหล่านั้น ในแว่นแคว้นของพระเจ้าสีวิราช.
[๑๐๕๐] ครั้นท้าววาสวะมฆวาสุชัมบดีเทวราชตรัสอย่างนี้แล้ว ก็โปรดประทานพร แก่พระนางผุสดีเทพอัปสร. (นี้) ชื่อว่าทสพรคาถา
[๑๐๕๑] พระนางผุสดีเทพอัปสรจุติจากดาวดึงสเทวโลกนั้น มาบังเกิดในสกุล กษัตริย์ ได้ทรงอยู่ร่วมกับพระเจ้าสญชัยในพระนครเชตุดร พระนาง ผุสดีทรงครรภ์ถ้วนทสมาส เมื่อทรงทำประทักษิณพระนคร ประสูติเรา ที่ท่ามกลางถนนของพวกพ่อค้า ชื่อของเรามิได้เนื่องแต่พระมารดา และ มิได้เกิดแต่พระบิดา เราเกิดที่ถนนแห่งพ่อค้า เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อ ว่า เวสสันดร เมื่อใด เรายังเป็นทารก มีอายุ ๔ ขวบแต่เกิดมา เมื่อนั้น เรานั่งอยู่ในปราสาทคิดจะบริจาคทานว่า เราจะพึงให้หทัย ดวงตา เนื้อ เลือด และร่างกาย เมื่อใครมาขอเรา เราก็ยินดีให้ เมื่อเราคิดถึงการบริจาคทานอันเป็นความจริง หฤทัยก็ไม่หวั่นไหวมุ่งมั่น อยู่ในกาลนั้น ปฐพีมีสิเนรุบรรพตและหมู่ไม้เป็นเครื่องประดับ ได้หวั่น ไหว.
[๑๐๕๒] พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีขนรักแร้ดกและมีเล็บยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบน ศีรษะ เหยียดแขนข้างขวาจะขออะไรฉันหรือ.
[๑๐๕๓] ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายทูลขอรัตนะเครื่องให้แว่นแคว้น ของชาวสีพีเจริญ ขอได้โปรดพระราชทานช้างตัวประเสริฐ ซึ่งมีงาดุจ งอนไถอันมีกำลังสามารถเถิด พระเจ้าข้า.
[๑๐๕๔] เราจะให้ช้างพลายซับมันตัวประเสริฐ ซึ่งเป็นช้างราชพาหนะอันสูงสุด ที่พราหมณ์ทั้งหลายขอเรา เรามิได้หวั่นไหว.
[๑๐๕๕] พระราชาผู้ผดุงรัฐสีพีให้เจริญรุ่งเรือง มีพระหฤทัยน้อมไปในการบริจาค เสด็จลงจากคอช้างพระราชทานแก่พราหมณ์ทั้งหลาย.
[๑๐๕๖] เมื่อบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐ (แก่พราหมณ์ทั้ง ๘) แล้ว ในกาลนั้น ความน่าสพึงกลัวขนพองสยองเกล้าได้เกิดมี เมทนีดลก็ หวั่นไหว เมื่อบรมกษัตริย์พระราชทานช้างตัวประเสริฐ ในกาลนั้น ได้เกิดมีความน่าสพึงกลัวขนพองสยองเกล้า ชาวพระนครกำเริบ ในเมื่อ พระเวสสันดรผู้ยังแว่นแคว้นของชาวสีพีให้เจริญพระราชทานช้างตัวประ เสริฐ ชาวบุรีก็เกลื่อนกล่น เสียงอันกึกก้องก็แผ่ไปมากมาย.
[๑๐๕๗] ครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึง น่ากลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น ในกาลนั้นชาวนครก็กำเริบ ครั้งนั้น ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญรุ่งเรืองพระราชทาน ช้างตัวประเสริฐแล้ว เสียงอื้ออึงน่ากลัวเป็นอันมากก็เป็นไปในนครนั้น.
[๑๐๕๘] พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร พวกพ่อค้าชาวนา พวกพราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ชาวนิคม ชาวสีพีทั้งสิ้นมาประชุม พร้อมกัน พวกเหล่านั้นเห็นพวกพราหมณ์นำพระยาช้างไป ก็กราบทูล แด่พระเจ้ากรุงสัญชัยว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แว่นแคว้นของ พระองค์ถูกกำจัดแล้ว เหตุไรพระเวสสันดรของพระองค์ จึงพระราชทาน ช้างตัวประเสริฐของชาวเราทั้งหลาย อันชาวแว่นแคว้นสักการะบูชา ไฉนพระเวสสันดรราชโอรสจึงพระราชทานพระยากุญชรของชาวเราทั้ง หลายอันมีงางอนงามแกล้วกล้า สามารถรู้จักเขตแห่งยุทธวิธีทุกอย่าง เป็นช้างเผือกขาวผ่อง ประเสริฐสุด ปกคลุมด้วยผ้ากัมพลเหลือง กำลังซับมัน สามารถย่ำยีศัตรูได้ ฝึกดีแล้ว พร้อมทั้งวาลวิชนีมีสีขาว เช่นดังเขาไกรลาศ ไฉนพระเวสสันดรราชโอรสจึงพระราชทานพระยา ช้างราชพาหนะซึ่งเป็นยานชั้นเลิศ เป็นทรัพย์อย่างประเสริฐ พร้อมทั้ง ฉัตรขาว เครื่องลาด หมอช้าง และคนเลี้ยงช้างแก่พวกพราหมณ์.
[๑๐๕๙] พระเวสสันดรราชโอรสนั้นควรจะพระราชทาน ข้าว น้ำ ผ้านุ่งผ้าห่ม และที่นั่งที่นอน สิ่งของเช่นนี้แลสมควรจะพระราชทาน สมควรแก่ พวกพราหมณ์ ข้าแต่พระเจ้าสัญชัย ไฉนพระเวสสันดรราชโอรส ผู้ เป็นพระราชาโดยสืบพระวงศ์ของพระองค์ ผู้ผดุงสีพีรัฐ จึงทรงพระ ราชทานพระยาคชสารไป ถ้าพระองค์จักไม่ทรงทำตามถ้อยคำของชนชาว สีพี ชนชาวสีพีก็เห็นจักทำพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรสไว้ในเงื้อม มือ.
[๑๐๖๐] ถึงชนบทจะไม่มี และแม้แว่นแคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด เราก็ไม่พึง ขับไล่พระราชบุตรผู้ไม่มีโทษจากแว่นแคว้นของตนตามคำของชาวสีพี เพราะพระราชบุตรเกิดจากอกของเรา ถึงชนบทจะไม่มี และแม้ แว่นแคว้นจะพินาศไปก็ตามเถิด เราก็ไม่พึงขับไล่พระราชบุตรผู้ไม่มีโทษ จากแว่นแคว้นของตน ตามคำของชาวสีพี เพราะพระราชบุตรเกิดแต่ ตัวเรา อนึ่ง เราไม่พึงประทุษร้ายในพระราชบุตรนั้น เพราะเธอมีศีล และวัตรอันประเสริฐ แม้คำติเตียนจะพึงมีแก่เรา และเราจะพึงประสบ บาปเป็นอันมาก เราจะให้ฆ่าพระเวสสันดรบุตรของเราด้วยศาตราอย่างไร ได้.
[๑๐๖๑] พระองค์อย่าได้รับสั่งให้ฆ่าพระเวสสันดรนั้นด้วยท่อนไม้หรือศาตราเลย ทั้งพระเวสสันดรนั้นก็ไม่ควรแก่เครื่องพันธนาการ แต่จงทรงขับไล่ พระเวสสันดรนั้นเสียจากแว่นแคว้น จงไปอยู่ที่เขาวงกตเถิด.
[๑๐๖๒] ถ้าความพอใจของชาวสีพีเช่นนี้ เราก็ไม่ขัด ขอเธอจงได้อยู่และ บริโภคกามทั้งหลาย ตลอดคืนนี้ ต่อเมื่อสิ้นราตรีแล้ว พระอาทิตย์ขึ้น แล้ว ชาวสีพีจงพร้อมเพรียงกันขับไล่เธอเสียจากแว่นแคว้นเถิด.
[๑๐๖๓] ดูกรนายนักการ ท่านจงลุกขึ้น จงรีบไปทูลพระเวสสันดรว่า ขอเดชะ ชาวสีพี ชาวนิคม พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร พ่อค้า ชาวนา พราหมณาจารย์ พากันโกรธเคืองมาประชุมกันอยู่แล้ว กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ทั้งชาวนิคมและชาวสีพีทั้งสิ้นมาประชุมกันแล้ว เมื่อสิ้นราตรีนี้ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวสีพีจะพรักพร้อมกันขับไล่ พระองค์จากแว่นแคว้น.
[๑๐๖๔] นายนักการนั้น เมื่อได้รับพระราชดำรัสสั่ง จึงสวมสอดเครื่องประดับมือ นุ่งห่มเรียบร้อย ประพรมด้วยจุรณจันทน์ ล้างศีรษะในน้ำ สวมกุณฑล แก้วมณีแล้ว รีบเข้าไปยังบุรีอันน่ารื่นรมย์ เป็นที่ประทับอยู่ของพระ เวสสันดร ได้เห็นพระเวสสันดรทรงพระสำราญอยู่ในพระราชวังของ พระองค์อันเกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่อำมาตย์ ปานประหนึ่งท้าววาสวะแห่ง ไตรทศ.
[๑๐๖๕] นายนักการนั้น ครั้นรีบไปในพระราชนิเวสน์นั้นแล้ว ได้กราบทูลพระ เวสสันดรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระบาทจะกราบทูลความ ทุกข์แด่พระองค์ ขออย่าได้ทรงกริ้วข้าพระบาทเลย นายนักการนั้น ถวายบังคมแล้วพลางคร่ำครวญกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ทรงชุบเลี้ยงข้าพระบาท ทรงนำมาซึ่งรสที่น่าใคร่ทุกอย่าง ข้าพระ บาทจะกราบทูลความทุกข์แด่พระองค์ เมื่อข้าพระบาทกราบทูลข่าวสาร เรื่องทุกข์ร้อนนั้นแล้ว ขอพระยุคลบาทจงยังข้าพระบาทให้เบาใจ ขอเดชะ ชาวสีพี ชาวนิคม คนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร พ่อค้า ชาวนา พราหมณาจารย์พากันโกรธเคืองมาประชุมกันอยู่แล้ว กองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ทั้งชาวนิคมและชาวสีพีทั้งสิ้น มาประ ชุมกันอยู่แล้ว เมื่อสิ้นราตรีนี้ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ชาวสีพี จะพรัก พร้อมกันขับไล่พระองค์จากแว่นแคว้นพระเจ้าข้า.
[๑๐๖๖] ดูกรนายนักการ เพราะเหตุไรชาวสีพีจึงโกรธเรา ขอท่านจงบอกความ ชั่วแก่เรา ผู้ไม่เห็นความเดือดร้อนให้แจ้งชัดด้วย เหตุไรเขาจึงขับไล่เรา.
[๑๐๖๗] พวกคนที่มีชื่อเสียง พระราชบุตร พ่อค้า ชาวนา พราหมณาจารย์ พวกกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้าพากันติเตียนเพราะพระ ราชทานพระยาช้างพระที่นั่งต้น เหตุนั้นเขาจึงขับไล่พระองค์ พระเจ้าข้า.
[๑๐๖๘] เราจะให้หทัย ให้จักษุ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์ หรือ แก้วมณี เป็นทรัพย์ภายนอกของเรา จะเป็นอะไรไป เมื่อยาจกมาถึง เราเห็นแล้ว ก็จงให้แขนขวาแขนซ้าย ไม่หวั่นไหวเลย ใจของเรา ยินดีในทาน ชาวสีพีทั้งปวงจงขับไล่ จงฆ่าเราเสีย หรือจะตัดเราให้ เป็นเจ็ดท่อนก็ตามเถิด เราจักไม่งดการให้ทานเลย.
[๑๐๖๙] ชาวสีพีและชาวนิคมประชุมกันกล่าวอย่างนี้ว่า พระเวสสันดรผู้มีวัตรงาม จงเสด็จไปสู่อารัญชรคีรีทางฝั่งแม่น้ำ โกนติมาราตามทางที่พระราชาผู้ถูก ขับไล่เสด็จไปนั้นเถิด.
[๑๐๗๐] เราจักไปตามทางที่พระราชาผู้มีโทษเสด็จไป ขอให้ท่านทั้งหลายจงงดแก่ เราคืนและวันหนึ่งพอให้เราได้ให้ทานก่อนเถิด.
[๑๐๗๑] พระราชาตรัสตักเตือนพระมัทรีผู้มีความงาม ทั่วสรรพางค์ว่าทรัพย์อย่าง ใดอย่างหนึ่งที่พี่ให้แก่พระน้องนาง และสิ่งของที่ควรสงวนอันเป็นของ พระน้องนาง คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา หรือแก้วไพฑูรย์ มีอยู่เป็น อันมาก และทรัพย์ฝ่ายพระบิดา ของพระน้องนาง ควรเก็บไว้ทั้งหมด.
[๑๐๗๒] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์ได้ทูลถาม พระเวสสันดร นั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ หม่อมฉันจะเก็บไว้ที่ไหน หม่อมฉัน ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นเถิด.
[๑๐๗๓] ดูกรพระน้องมัทรี พึงให้ทานในท่านผู้มีศีลตามสมควร เพราะที่พึ่งของ สัตว์ทั้งปวงยิ่งไปกว่าทานไม่มี.
[๑๐๗๔] ดูกรพระน้องมัทรี เธอพึงเอาใจใส่ในลูกทั้งสอง ในพระชนนีและ พระชนกของพี่ อนึ่ง ผู้ใดพึงตกลงปลงใจว่าจะเป็นพระสวามีพระ น้องนางเธอพึงบำรุงผู้นั้นโดยเคารพ ถ้าไม่มีใครมาตกลงปลงใจเป็น พระสวามีพระน้องนาง เพราะพระน้องนางกับพี่จะต้องพลัดพรากจากกัน พระน้องนางจงแสวงหาพระสวามีอื่นเถิด อย่าลำบากเพราะจากพี่เลย.
[๑๐๗๕] เพราะว่าพี่จักต้องไปสู่ป่าที่น่ากลัว อันเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้าย เมื่อพี่คนเดียวอยู่ในป่าใหญ่ ชีวิตก็น่าสงสัย.
[๑๐๗๖] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้มีความงามทั่วสรรพางค์ ได้กราบทูลพระเวสสันดร ว่า ไฉนหนอพระองค์จึงตรัสเรื่องที่ไม่เคยมี ไฉนจึงตรัสเรื่องลามก ข้าแต่พระมหาราช ข้อที่พระองค์จะพึงเสด็จแต่พระองค์เดียวนั้น ไม่ใช่ ธรรมเนียม ข้าแต่พระมหากษัตริย์แม้หม่อมฉันก็จะตามเสด็จไป ตาม ทางที่พระองค์เสด็จ ความตายกับพระองค์หรือเป็นอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายกับพระองค์นั่นแลประเสริฐกว่า เป็นอยู่เว้นจากพระองค์จะ ประเสริฐอะไร ก่อไฟให้ลุกโพลง มีเปลวเป็นอันเดียวกันตั้งอยู่แล้ว ความตายในไฟที่ลุกโพลง มีเปลวเป็นอันเดียวกันนั้นประเสริฐกว่า เป็นอยู่เว้นจากพระองค์จะประเสริฐอะไร นางช้างติดตามพระยาช้างผู้ อยู่ในป่า เที่ยวไป ณ ภูเขาและที่หล่ม ที่เสมอและไม่เสมอ ฉันใด หม่อมฉันจะพาลูกทั้งสองติดตามพระองค์ไปเบื้องหลัง ฉันนั้น หม่อม ฉันจันเป็นผู้อันพระองค์เลี้ยงง่าย จักไม่เป็นผู้อันพระองค์เลี้ยงยาก.
[๑๐๗๗] เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ นี้ ผู้มีเสียงอันไพเราะ พูดจาน่ารัก นั่งอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น พระกุมารทั้ง ๒ นี้ ผู้มีเสียงอันไพเราะ พูดจาน่ารัก เล่นอยู่ที่พุ่มไม้ในป่า จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ นี้ ผู้มีเสียงอันไพเราะพูดจา น่ารัก ณ อาศรมรัมณียสถาน จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อพระ องค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ นี้ ผู้มีเสียงอันไพเราะ พูดจา น่ารัก เล่นอยู่ ณ อาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ นี้ ทรงมาลาประดับ พระองค์ ณ อาศรมรัมณียสถาน ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ นี้ เล่นอยู่ ณ อาศรมอัน เป็นที่รื่นรมย์ ก็จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอด พระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ ทรงมาลา ฟ้อนรำอยู่ ณ อาศรมรัมณียสถาน เมื่อนั้นจักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระ องค์ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้ง ๒ พระองค์ ทรงมาลา ฟ้อนรำเล่น อยู่ ณ อาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นกุญชรชาติมาตังคะ มีวัยล่วง ๖๐ ปี เที่ยวอยู่ในป่าตัวเดียว เมื่อนั้นจักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อ ใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นกุญชรชาติมาตังคะ มีวัยล่วง ๖๐ ปี เที่ยวไปในป่าเวลาเย็น ในเวลาเช้า เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราช สมบัติ เมื่อใด กุญชรชาติมาตังคะ มีวัยล่วง ๖๐ ปี เดินนำหน้าโขลง หมู่ช้างพังไป ส่งเสียงร้องก้องโกญจนาท พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้อง ของช้างที่บันลือก้องอยู่นั้น เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของช้างที่บันลือก้องอยู่นั้น เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็น ลำเนาป่าสองข้างทาง และสิ่งที่ให้ความน่าใคร่ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไป ด้วยเนื้อร้าย เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ ได้ทอดพระเนตรเห็นเนื้ออันเดินมาเป็นหมู่ๆ หมู่ละ ๕ ตัว และได้ ทอดพระเนตรเห็นพวกกินนรที่กำลังฟ้อนอยู่ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึง ราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งแม่น้ำ อันมี น้ำไหลหลั่ง และเสียงเพลงขับของพวกกินนร เมื่อนั้นจักไม่ทรงระลึก ถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทรงสดับเสียงร้องของนกเค้าที่เที่ยว อยู่ตามซอกเขา เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ จักได้ทรงสดับเสียงแห่งสัตว์ร้ายในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง แรด และวัวลาน เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง อันแวดล้อมไปด้วยนางนกยูง รำแพนหาง จับอยู่เป็นกลุ่มบนยอดภูเขา เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูง มีขนปีกงามวิจิตรห้อมล้อม ด้วยนางนกยูงทั้งหลายรำแพนหางอยู่ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราช สมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นนกยูงมีคอเขียว มีหงอน แวดล้อมด้วยนางนกยูงฟ้อนอยู่ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้อันมีดอกบาน มีกลิ่นหอม ฟุ้งไปในฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นแผ่นดินอันเขียวชะอุ่ม ดารดาษไปด้วย แมลงค่อมทองในเดือนฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้อันมีดอกบานสะพรั่ง คือ อัญชันเขียวที่กำลังผลิยอดอ่อน ต้นโลท และบัวบกมีดอกบานสะพรั่ง มีกลิ่นหอมฟุ้งไปในฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรงระลึกถึงราชสมบัติ เมื่อใด พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นหมู่ไม้มีดอกบานสะพรั่ง และ ปทุมชาติอันมีดอกร่วงหล่นในเดือนฤดูเหมันต์ เมื่อนั้น จักไม่ทรง ระลึกถึงราชสมบัติ. จบกัณฑ์หิมพานต์
[๑๐๗๘] สมเด็จพระนางผุสดีราชบุตรีผู้เรืองยศ ได้ทรงสดับคำที่ พระราชโอรส และพระสุณิสาพร่ำสนทนากัน ทรงคร่ำครวญละห้อยไห้ว่า เรากินยาพิษ เสียดีกว่า เราโดดเหวเสียดีกว่า เอาเชือกผูกคอตายเสียดีกว่า เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรักผู้ไม่มีโทษผิด เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรักผู้ไม่มีโทษผิด ผู้เป็นปราชญ์ เปรื่อง เป็นทานบดี ควรแก่การขอ ไม่ตระหนี่ เหตุไฉน ชาวนครสีพี จึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรักผู้ไม่มีโทษผิด อันท้าวพระยาบูชา ผู้มีเกียรติยศ เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรัก ผู้ไม่มีโทษผิด ผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา ประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในราช สกุล เหตุไฉน ชาวนครสีพีจึงจะให้ขับไล่เจ้าเวสสันดรลูกรักผู้ไม่มี โทษผิด ผู้เกื้อกูลแก่พระเจ้าแผ่นดิน แก่เทพเจ้า แก่พระประยูรญาติ และมิตรสหาย ผู้เกื้อกูลทั่วรัฐสีมามณฑล.
[๑๐๗๙] ชาวนครสีพีจะให้ขับพระราชโอรสผู้ไม่มีโทษผิดเสีย รัฐสีมามณฑลของ พระองค์ก็จะเป็นเหมือนรังผึ้งร้าง เหมือนผลมะม่วงหล่นลงบนดิน ฉะนั้น พระองค์อันพวกอำมาตย์ละทิ้งแล้ว จักต้องลำบากอยู่พระองค์ เดียว เหมือนหงส์มีขนปีกหลุดลำบากอยู่ในหนองอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น เกล้ากระหม่อมฉันขอกราบทูลพระองค์ว่า ประโยชน์อย่าได้ล่วงพระองค์ไปเสียเลย ขอพระองค์อย่าทรงขับไล่ พระราชโอรสผู้ไม่มีความผิด เพราะถ้อยคำของชาวนครสีพีเลย.
[๑๐๘๐] เราทำความยำเกรงต่อพระราชประเพณี จึงขับไล่พระราชโอรสผู้เป็นธง ของชาวสีพี เราจำต้องขับไล่ลูกของตน ถึงแม้จะเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิต ของเรา.
[๑๐๘๑] แต่ปางก่อนยอดธงเคยแห่ตามเสด็จพระเวสสันดร ดังดอกกรรณิการ์บาน วันนี้พระเวสสันดรจะเสด็จแต่พระองค์เดียว แต่ปางก่อนยอดธงเคยแห่ ตามเสด็จพระเวสสันดรดังป่ากรรณิการ์ วันนี้พระเวสสันดรจะเสด็จ แต่พระองค์เดียว แต่ปางก่อนกองทหารรักษาพระองค์เคยตามเสด็จพระ เวสสันดรเหมือนดอกกรรณิการ์บาน วันนี้พระเวสสันดรจะเสด็จแต่ พระองค์เดียว แต่ปางก่อนกองทหารรักษาพระองค์เคยตามเสด็จพระ เวสสันดร เหมือนป่ากรรณิการ์ วันนี้พระเวสสันดรจะต้องเสด็จแต่ พระองค์เดียว แต่ปางก่อนกองทหารรักษาพระองค์ใช้ผ้ากัมพลเหลือง เมืองคันธาระ มีสีเหลืองเรืองรองเหมือนหิ่งห้อย เคยตามเสด็จพระ เวสสันดร วันนี้พระเวสสันดรจะเสด็จแต่พระองค์เดียว แต่ปางก่อน พระเวสสันดรเคยเสด็จด้วยช้างพระที่นั่ง วอและรถทรง วันนี้จะเสด็จ ดำเนินด้วยพระบาทอย่างไร แต่ปางก่อนพระเวสสันดรเคยลูบไล้องค์ ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ปลุกปลื้มด้วยการฟ้อนรำขับร้อง วันนี้จักทรงแบก หนังเสืออันหยาบ ขวานและหาบเครื่องบริขารไปได้อย่างไร พระ เวสสันดรเมื่อเข้าไปอยู่ในป่าใหญ่ไฉนจะไม่ต้องขนเอาผ้าย้อมน้ำฝาดและ หนังเสือไปด้วย พระเวสสันดร เมื่อเข้าไปอยู่ป่าใหญ่ ไฉนจะไม่ต้อง ใช้ผ้าคากรอง พวกคนที่เป็นเจ้านายบวช จะทรงผ้าคากรองได้อย่างไร หนอ เจ้ามัทรีจักนุ่งห่มผ้าคากรองได้อย่างไร แต่ปางก่อนเจ้ามัทรีเคยทรง แต่ผ้ากาสิกพัสตร ผ้าโขมพัสตรและผ้าโกทุมพรพัสตร เมื่อต้องทรงผ้า คากรองจักกระทำอย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างสวยงาม แต่ปางก่อน เคยเสด็จด้วยคานหาม วอและรถทรง วันนี้จะเสด็จเดินทางด้วย พระบาทได้อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างสวยงาม มีฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนนุ่ม ไม่เคยทำงานหนักเคยตั้งอยู่ในความสุข วันนี้จะเสด็จเดินทางด้วย พระบาทได้อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างสวยงาม มีฝ่าพระบาทอันอ่อนนุ่ม ไม่เคยเสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ตั้งอยู่ในความสุข ทรงสวม รองเท้าทองเสด็จดำเนิน วันนี้จะเสด็จเดินทางด้วยพระบาทได้อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างอันสวยงาม ทรงศิริ แต่ก่อนเคยเสด็จดำเนินข้างหน้า นางข้าหลวงจำนวนพัน วันนี้จะเสด็จเดินป่าพระองค์เดียวได้อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างอันสวยงาม ขวัญอ่อน พอได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอนก็ สะดุ้ง วันนี้จักเสด็จเดินป่าได้อย่างไร เจ้ามัทรีผู้มีรูปร่างอันสวยงาม ขวัญอ่อน ได้สดับเสียงนกฮูกคำรามร้อง ก็กลัวตัวสั่น เหมือนนางวารุณี วันนี้จะเสด็จเดินป่าได้อย่างไร เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันมาสู่นิเวศน์อัน ว่างเปล่านี้ จักเศร้ากำสรดระทมทุกข์สิ้นกาลนาน ดังแม่นกถูกพรากลูก เห็นแต่รังอันว่างเปล่าฉะนั้น เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งสอง ก็จักซูบผอมเหมือนแม่นกถูกพรากลูกเห็นแต่รังอันว่างเปล่า ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งสอง ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ ดังแม่นกถูกพรากลูกเห็นแต่รังอันว่างเปล่า ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระ หม่อมฉันมาสู่นิเวศน์อันว่างเปล่านี้ จักเศร้ากำสรดระทมทุกข์สิ้นกาล นาน ดังนางนกออกถูกพรากลูกเห็นแต่รังอันว่างเปล่า ฉะนั้น เมื่อ เกล้ากระหม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งสองก็จักซูบผอม ดังนางนกออกถูก พรากลูกเห็นแต่รังอันว่างเปล่า ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไม่เห็น ลูกรักทั้งสอง ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ ดังนางนกออกถูกพรากลูก เห็นแต่รังอันว่างเปล่า ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันมาสู่นิเวศน์อัน ว่างเปล่านี้ ก็จักเศร้ากำสรดระทมทุกข์สิ้นกาลนานเป็นแน่แท้ เหมือน นางนกจากพรากซบเซาอยู่ในหนองอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระ หม่อมฉันไม่เห็นลูกรักทั้งสอง ก็จักซูบผอมเป็นแน่แท้ เหมือนนางนก จากพรากในหนองอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันไม่เห็น ลูกรักทั้งสอง ก็จักวิ่งพล่านไปตามที่นั้นๆ เป็นแน่แท้ เหมือนนางนก จากพรากในหนองอันไม่มีน้ำ ฉะนั้น ก็เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันพร่ำเพ้อ ทูลอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ถ้าพระองค์ยังจะทรงให้ขับไล่พระเวสสันดรเสีย จากแว่นแคว้น เกล้ากระหม่อมฉันเห็นจักต้องสละชีวิตเป็นแน่.
[๑๐๘๒] นางสนมกำนัลในของพระเจ้าสีวิราชทุกถ้วนหน้า ได้ยินคำรำพันของ พระนางผุสดีแล้ว ก็พากันมาประชุมประคองแขนทั้งสองขึ้นร่ำไห้ พระ โอรส พระธิดา และพระชายา ในนิเวศน์ของพระเวสสันดร นอน กอดกันสอื้นไห้ ดังหมู่ไม้รังอันถูกพายุพัดล้มระเนนระนาดแหลกราน ฉะนั้น พวกชาววัง พวกเด็กๆ พ่อค้าและพวกพราหมณ์ ในนิเวศน์ ของพระเวสสันดรต่างก็ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญ พวกกองช้าง กองม้า กองรถและกองเดินเท้า ในนิเวศน์ของพระเวสสันดร ต่างก็ ประคองแขนทั้งสองคร่ำครวญ ครั้นเมื่อสิ้นราตรีนั้น พระอาทิตย์ขึ้น แล้ว พระเวสสันดรเสด็จมาสู่โรงทาน เพื่อทรงทานโดยรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้าแก่ผู้ต้องการ จงให้เหล้าแก่พวกนักเลงเหล้า จงให้ โภชนะแก่ผู้ต้องการโภชนะโดยทั่วถึง และอย่าเบียดเบียนพวกวณิพกผู้ มาในที่นี้อย่างไร จงเลี้ยงดูพวกวณิพกให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ พวก เขาได้รับบูชาแล้วก็จงไป ครั้งนั้น เสียงดังกึกก้องโกลาหลน่าหวาดเสียว เป็นไปในพระนครนั้นว่า ชาวพระนครสีพีจะขับไล่พระเวสสันดร เพราะทรงบริจาคทาน ขอให้พระองค์ได้ทรงบริจาคทานอีกเถิด.
[๑๐๘๓] เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จออก วณิพกเหล่านั้นเป็น ดังคนเมา คนเหน็ดเหนื่อย ลงนั่งปรับทุกข์กันว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรผู้ไม่มีผิดเสียจากแว่นแคว้น ก็ เปรียบเหมือนช่วยกันตัดต้นไม้ที่ให้ผลต่างๆ เสีย ฉะนั้น ท่านผู้ เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรผู้ไม่มีความผิดเสีย จากแว่นแคว้น ก็เปรียบเหมือนช่วยกันตัดต้นไม้อันทรงผลต่างๆ ฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรผู้ไม่มีความ ผิดเสียจากแว่นแคว้น ก็เปรียบเหมือนช่วยกันตัดต้นไม้อันให้สิ่งที่ต้อง การทุกอย่าง ฉะนั้น ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่ พระเวสสันดรผู้ไม่มีความผิดเสียจากแว่นแคว้น ก็เปรียบเหมือนช่วย กันตัดต้นไม้อันนำรสที่ต้องการทุกอย่างมาให้ ฉะนั้น เมื่อพระมหาราชา ผู้ผดุงสีพีรัฐจะเสด็จออกทั้งคนแก่ เด็ก และคนปานกลางต่างพากัน ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐจะ เสด็จออก พวกโหรหลวง พวกขันที มหาดเล็กและเด็กชายต่างก็ ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐจะ เสด็จออก แม้หญิงทั้งหลายที่มีอยู่ในพระนครนั้น ต่างก็ร้องไห้คร่ำครวญ สมณพราหมณ์และวณิพก ต่างก็ประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญว่า ท่าน ผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เป็นการไม่ยุติธรรมเลย เพราะเหตุพระ เวสสันดรทรงบำเพ็ญทานอยู่ในพระราชวังของพระองค์ จำต้องเสด็จออก จากแว่นแคว้นของพระองค์ เพราะถ้อยคำของชาวสีพี พระเวสสันดร ทรงประทานช้างเจ็ดร้อยเชือก ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง อันมี สายรัด มีทั้งกูบและสัปคับทอง มีนายควาญถือหอกซัดและขอขึ้นคอ ประจำ แล้วเสด็จออกจากแว่นแคว้นของพระองค์ พระเวสสันดร พระราชทานม้าเจ็ดร้อยตัว อันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เป็น ม้าสินธพชาติอาชาไนย เป็นม้าฝีเท้าเร็ว มีนายสารถีถือทวนและธนูขึ้น ขี่ประจำ แล้วเสด็จออกจากแว่นแคว้นของพระองค์ พระเวสสันดร พระราชทานรถเจ็ดร้อยคัน อันผูกสอดเครื่องรบปักธงไชยครบครัน หุ้ม ด้วยหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง มีนายสารถีสวมเกราะถือธนูขึ้นขับขี่ แล้วเสด็จออกจากแว่นแคว้นของ พระองค์ พระเวสสันดรพระราชทานสตรีเจ็ดร้อยคน นั่งประจำอยู่ใน รถคันละคน สอดสวมสร้อยสังวาลตบแต่งด้วยเครื่องทอง มีเครื่อง ประดับ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเครื่องอาภรณ์ล้วนแต่สีเหลือง มีดวงตา กว้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม ตะโพกงาม เอวบางร่างน้อย แล้วเสด็จออกจาก แว่นแคว้นของพระองค์ พระเวสสันดรพระราชทานแม่โคนมเจ็ดร้อยตัว พร้อมด้วยภาชนะเงินสำหรับรองน้ำนมทุกๆ ตัว แล้วเสด็จออกจาก แว่นแคว้นของพระองค์ พระเวสสันดรพระราชทานทาสีเจ็ดร้อยและ ทาสเจ็ดร้อย แล้วเสด็จออกจากแว่นแคว้นของพระองค์ พระเวสสันดร พระราชทานช้าง ม้า รถ และนารี อันประดับประดาอย่างสวยงาม แล้วเสด็จออกจากแว่นแคว้นของพระองค์ ในกาลนั้น ได้มีสิ่งที่ น่ากลัวขนพองสยองเกล้า เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานมหาทานแล้ว แผ่นดินก็หวั่นไหว ครั้งนั้นได้มีสิ่งที่น่ากลัว ขนพองสยองเกล้า พระเวสสันดรทรงประคองอัญชลี เสด็จออกจากแว่นแคว้นของพระองค์.
[๑๐๘๔] ครั้งนั้น เสียงดังกึกก้องโกลาหลน่าหวาดเสียวเป็นไปในพระนครนั้นว่า ชาวนครสีพีขับไล่พระเวสสันดร เพราะบริจาคทาน ขอให้พระองค์ทรง บริจาคทานอีกเถิด.
[๑๐๘๕] เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จออก วณิพกเหล่านั้นเป็น ดังคนเมา คนเหน็ดเหนื่อย นั่งลงปรับทุกข์กัน.
[๑๐๘๖] พระเวสสันดร กราบทูลพระเจ้าสัญชัยผู้ประเสริฐธรรมิกราชว่า ขอเดชะ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเนรเทศข้าพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะ ไปยังภูเขาวงกต ข้าแต่พระมหาราช สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีมาแล้ว ที่จะมีมา และที่มีอยู่ ยังไม่อิ่มด้วยกามเลย ก็ต้องไปสู่สำนักของ พญายม ข้าพระองค์บำเพ็ญทานอยู่ในปราสาทของตน ยังชื่อว่าเบียด เบียนชาวนครของตน จะต้องออกจากแว่นแคว้นของตน เพราะถ้อย คำของชาวสีพี ข้าพระองค์จักต้องได้เสวยความลำบากนั้นๆ ในป่าอัน เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค เป็นที่อยู่อาศัยของแรด และเสือเหลือง ข้าพระองค์จะทำบุญทั้งหลาย เชิญพระองค์ประทับจมอยู่ในเปือกตมเถิด พระเจ้าข้า.
[๑๐๘๗] ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอได้ทรงโปรดอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอบวช ข้าพระองค์บำเพ็ญทานอยู่ในปราสาทของตน ยังชื่อว่าเบียดเบียนชาว นครของตน จะต้องออกจากแว่นแคว้นของตน เพราะถ้อยคำของชาว สีพี จักต้องได้เสวยความลำบากนั้นๆ ในป่าอันเกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค เป็นที่อาศัยของแรดและเสือเหลือง ข้าพระองค์จะกระทำบุญทั้งหลาย จะไปสู่เขาวงกต.
[๑๐๘๘] ลูกเอ๋ย แม่อนุญาตให้ลูก การบวชของลูกจงสำเร็จ ส่วนแม่มัทรีผู้มี ความงาม ตะโพกผึ่งผาย เอวบางร่างน้อย จงอยู่กับลูกๆ เถิด จักทำ อะไรในป่าได้.
[๑๐๘๙] ข้าพระองค์ไม่พยายามจะนำแม้ซึ่งนางทาสีไปสู่ป่า โดยเขาไม่ปรารถนา ถ้าเขาปรารถนาจะตามไป (ก็ตามใจ) ถ้าเขาไม่ปรารถนา ก็จงอยู่.
[๑๐๙๐] ลำดับนั้น พระมหาราชาเสด็จดำเนินไปทรงวิงวอนพระสุณิสาว่า ดูกร แม่มัทรี ผู้มีร่างกายอันชะโลมจันทน์ เจ้าอย่างได้ทรงธุลีละอองเลย แม่มัทรีเคยทรงผ้ากาสี อย่าได้ทรงผ้าคากรองเลย การอยู่ในป่าเป็นความ ลำบาก ดูกรแม่มัทรี ผู้มีลักขณาอันงาม เจ้าอย่าไปเลยนะ.
[๑๐๙๑] พระนางมัทรีราชบุตรีผู้งามทั่วพระวรกาย ได้กราบทูลพระสัสสุระนั้นว่า ความสุขอันใดจะพึงมีแก่เกล้ากระหม่อมฉัน โดยว่างเว้นพระเวสสันดร เกล้ากระหม่อมฉันไม่พึงปรารถนาความสุขอันนั้น.
[๑๐๙๒] พระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐ ได้ตรัสกะพระนางมัทรีนั้นว่า เชิญฟังก่อน แม่มัทรี สัตว์อันจะรบกวนยากที่จะอดทนได้ มีอยู่ในป่าเป็นอันมาก คือ เหลือบ ตั๊กแตน ยุง และผึ้งมันจะพึงเบียดเบียนเธอในป่านั้น ความทุกข์อย่างยิ่งนั้นจะพึงมีแก่เธอ เธอจะต้องได้พบสัตว์ที่น่ากลัวอื่นๆ ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ เช่นงูเหลือมเป็นสัตว์ไม่มีพิษ แต่มันมีกำลังมาก มันรัดมนุษย์ หรือแม้เนื้อที่มาใกล้ๆ ด้วยลำตัว เอามาไว้ในขนดหางของ มัน เนื้อร้ายอย่างอื่นๆ เช่นหมีมีขนดำ คนที่มันพบเห็นแล้ว หนีขึ้น ต้นไม้ก็ไม่พ้น ควายเปลี่ยวขวิดเฝืออยู่ เขาทั้งคู่ปลายคมกริบ เที่ยวอยู่ ในถิ่นนี้ ใกล้ฝั่งแม่น้ำโสตุมพะ ดูกรแม่มัทรี เธอเปรียบเหมือนแม่โค รักลูก เห็นฝูงเนื้อและโคถึกอันท่องเที่ยวอยู่ในป่า จักทำอย่างไร ดูกร แม่มัทรี เธอได้เห็นทะโมนไพรอันน่ากลัวที่ประจวบเข้าในหนทางที่ เดินได้ยาก ความพรั่นพรึงจักต้องมีแก่เธอ เพราะไม่รู้จักเขต เมื่อ เธออยู่ในพระนคร ได้ยินเสียงสุนัขเห่าหอน ย่อมสะดุ้งตกใจ เธอไป ถึงเขาวงกตจักทำอย่างไร เมื่อฝูงนกพากันจับเจ่าในเวลาเที่ยง ป่าใหญ่ เหมือนส่งเสียงกระหึ่ม เธอปรารถนาจะไปในป่าใหญ่นั้นทำไม.
[๑๐๙๓] พระนางมัทรีราชบุตรี ผู้มีความสวยงามทั่วพระวรกาย ได้กราบทูลพระ เจ้าสัญชัยนั้นว่า พระองค์ทรงพระกรุณาตรัสบอกสิ่งที่น่ากลัว อันมีอยู่ใน ป่า แก่เกล้ากระหม่อมฉัน เกล้ากระหม่อมฉันจักยอมทนต่อสู้สิ่งน่ากลัว ทั้งปวงนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไปแน่ นอน เกล้ากระหม่อมฉันจักแหวกต้นเป้ง คา หญ้าคมบาง แฝก หญ้าปล้อง หญ้ามุงกระต่าย ไปด้วยอก เกล้ากระหม่อมฉันจักไม่เป็น ผู้อันพระเวสสันดรนำไปได้ยาก อันว่ากุมารีย่อมได้สามีด้วยวัตรจริยา เป็นอันมาก คือ ด้วยการอดอาหาร ตรากตรำท้อง ด้วยการผูกคาดไม้ คางโค ด้วยการบำเรอไฟ และด้วยการดำน้ำ ความเป็นหม้าย เป็น ความเผ็ดร้อนในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉัน จักไปแน่นอน ชายใดจับมือหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนาฉุดคร่าไป ชายนั้น เป็นผู้ไม่ควรบริโภคของที่เป็นเดนของหญิงหม้ายนั้นโดยแท้ ความเป็น หม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้า กระหม่อมฉันจักไปแน่นอน ชายอื่นให้ทุกข์มากมายมิใช่น้อย ด้วยการ จับผมเตะถีบจนล้มลงที่พื้นดิน แล้วไม่หลีกหนี ความเป็นหม้ายเป็นความ เผ็ดร้อนในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไป แน่นอน พวกเจ้าชู้ผู้ต้องการหญิงหม้ายที่มีผิวพรรณผุดผ่อง ให้ของเล็ก น้อยแล้ว สำคัญตัวว่าเป็นผู้มีโชคดี ย่อมฉุดคร่าหญิงหม้ายผู้ไม่ปรารถนา ไป ดังฝูงกากลุ้มรุมนกเค้าแมว ฉะนั้น ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อน ในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไปแน่นอน อันว่าหญิงหม้ายแม้จะอยู่ในตระกูลญาติ อันเจริญรุ่งเรืองไปด้วยเครื่อง ทอง จะไม่ได้รับคำติเตียน ล่วงเกินจากพี่น้องและเพื่อนฝูงก็หาไม่ ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไปแน่นอน แม่น้ำไม่มีน้ำก็เปล่าดาย แว่นแคว้น ไม่มีพระราชาก็เปล่าดาย แม้หญิงเป็นหม้ายก็เปล่าดาย ถึงแม้หญิงนั้น จะมีพี่น้องตั้งสิบคน ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อนในโลก ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไปแน่นอน อันว่าธงเป็น เครื่องหมายแห่งรถ ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ พระราชาเป็นสง่า ของแคว้น ภัสดาเป็นสง่าของหญิง ความเป็นหม้ายเป็นความเผ็ดร้อน ในโลก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เกล้ากระหม่อมฉันจักไปแน่นอน หญิงจนผู้ทรงเกียรติย่อมร่วมสุขทุกข์ของสามีที่จน หญิงมั่งคั่งผู้ทรงเกียรติ ย่อมร่วมสุขทุกข์ของสามีที่มั่งคั่ง เทพเจ้าย่อมสรรเสริญหญิงนั้นแล เพราะเจ้าหล่อนทำกิจที่ทำได้ยาก เกล้ากระหม่อมฉันจักบวชติดตามพระ สวามีไปทุกเมื่อ แม้เมื่อแผ่นดินยังไม่ทำลาย ความเป็นหม้ายเป็นความ เผ็ดร้อนของหญิง เกล้ากระหม่อมฉันว่างเว้นพระเวสสันดรเสียแล้ว ไม่พึงปรารถนาแม้แผ่นดินอันมีสาครเป็นขอบเขต ทรงไว้ซึ่งเครื่องปลื้มใจ เป็นอันมาก บริบูรณ์ด้วยรัตนะต่างๆ เมื่อสามีตกทุกข์แล้ว หญิงเหล่าใด ย่อมหวังสุขเพื่อตน หญิงเหล่านั้นเลวทรามหนอ หัวใจของหญิงเหล่านั้น เป็นอย่างไรหนอ เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐเสด็จออกแล้ว เกล้า กระหม่อมฉันจักขอติดตามพระองค์ไป เพราะพระองค์ทรงประทานสิ่งที่ น่าปรารถนาทั้งปวงแก่เกล้ากระหม่อมฉัน.
[๑๐๙๔] พระมหาราชาได้ตรัสกะพระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วพระวรกายว่า ดูกร แม่มัทรีผู้มีศุภลักษณ์ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาลูกรักทั้งสองของเธอนี้ ยังเป็นเด็ก เจ้าจงละไปไว้เถิด พ่อจะรับเลี้ยงดูเด็กทั้งสองนั้นไว้เอง.
[๑๐๙๕] พระนางมัทรีราชบุตรี ผู้มีความงามทั่วพระวรกาย ได้กราบทูลพระเจ้า สญชัยนั้นว่า เทวะพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาทั้งสอง เป็นลูกสุดที่รัก ของเกล้ากระหม่อมฉัน ลูกทั้งสองนั้น จักยังหัวใจของเกล้ากระหม่อม ฉันผู้มีชีวิตอันเศร้าโศกให้รื่นรมย์ในป่านั้น.
[๑๐๙๖] พระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ได้ตรัสกะพระนางมัทรีนั้นว่า เด็ก ทั้งสองเคยเสวยข้าวสาลีอันปรุงด้วยเนื้อสะอาด เมื่อต้องเสวยผลไม้ จักทำอย่างไร เด็กทั้งสองเคยเสวยในถาดทองหนักร้อยปละ อันเป็น ของประจำราชสกุล เมื่อต้องเสวยในใบไม้ จักทำอย่างไร เด็กทั้งสอง เคยทรงภูษาแคว้นกาสี ภูษาโขมรัฐและภูษาโกทุมพรรัฐ เมื่อต้องทรงผ้า คากรอง จักทำอย่างไร เด็กทั้งสองเคยไปด้วยคานหาม วอและรถ เมื่อต้องเดินด้วยเท้าเปล่า จักทำอย่างไร เด็กทั้งสองเคยบรรทมในเรือน ยอดมีบานหน้าต่างปิดสนิท ไม่มีลม เมื่อต้องบรรทมที่โคนไม้ จักทำ อย่างไร เด็กทั้งสองเคยบรรทมบนพรหมอันปูลาดไว้อย่างวิจิตรบนบัลลังก์ เมื่อต้องบรรทมเครื่องลาดหญ้า จักทำอย่างไร เด็กทั้งสองเคยลูบไล้ด้วย กฤษณา และจันทน์หอม เมื่อต้องทรงละอองธุลี จักทำอย่างไร เด็ก ทั้งสองเคยตั้งอยู่ในความสุข มีผู้พัดวีให้ด้วยแส้จามรีและหางนกยูง ต้องถูกเหลือบและยุงกัด จักทำอย่างไร.
[๑๐๙๗] พระนางมัทรีราชบุตรี ผู้มีความงามทั่วพระวรกาย ได้กราบทูลพระเจ้า สญชัยนั้นว่า เทวะพระองค์อย่าได้ทรงปริเวทนา และอย่าได้ทรงเสีย พระทัยเลย เกล้ากระหม่อมฉันทั้งสองจักเป็นอย่างไร เด็กทั้งสองก็จัก เป็นอย่างนั้น พระนางมัทรีผู้มีความงามทั่วพระวรกาย ครั้นกราบทูลคำนี้ แล้วเสด็จหลีกไป พระนางผู้ทรงศุภลักษณ์ ทรงพาพระโอรสและพระ ธิดาเสด็จไปตามทางที่พระเจ้าสีพีเคยเสด็จ.
[๑๐๙๘] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติราช ครั้นพระราชทานทานแล้ว ทรง ถวายบังคมพระราชบิดาพระราชมารดา และทรงกระทำประทักษิณแล้ว เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งอันเทียมด้วยม้าสินธพ ๔ ตัว ทรงพาพระโอรส พระธิดาและพระชายาเสด็จไปสู่ภูเขาวงกต.
[๑๐๙๙] ลำดับนั้น พระเวสสันดรราช เสด็จเข้าไปที่หมู่ชนเป็นอันมาก ตรัส บอกลาว่า เราขอไปละนะ ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีโรคเถิด.
[๑๑๐๐] เมื่อพระเวสสันดรเสด็จออกจากพระนคร ทรงเหลียวมาทอดพระเนตร แม้ครั้งนั้น แผ่นดินอันมีขุนเขาสิเนรุและราวป่าเป็นเครื่องประดับก็ หวั่นไหว.
[๑๑๐๑] เชิญดูเถิดมัทรี ที่ประทับของพระเจ้าสีพีราชปรากฏเป็นรูปอันน่ารื่นรมย์ ส่วนมณเฑียรของเราเป็นดังเรือนเปรต.
[๑๑๐๒] พราหมณ์ทั้งหลายได้ตามพระเวสสันดรนั้นไป เขาได้ขอม้ากะพระองค์ พระองค์อันพราหมณ์ทั้งหลายทูลขอแล้ว ทรงมอบม้า ๔ ตัว ให้แก่ พราหมณ์ ๔ คน.
[๑๑๐๓] เชิญเถิดมัทรี ละมั่งทองร่างงดงาม ใครๆ ไม่เห็น เป็นดังม้าที่ชำนาญนำ เราไป.
[๑๑๐๔] ต่อมาพราหมณ์ คนที่ห้าในที่นั้นได้มาขอราชรถกะพระองค์ พระองค์ทรง มอบรถให้แก่เขา และพระทัยของพระองค์มิได้ย่อท้อเลย.
[๑๑๐๕] ลำดับนั้น พระเวสสันดรราชให้คนของพระองค์ลงแล้ว ทรงปลอบให้ ปลงพระทัยมอบรถม้าให้แก่พราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์.
[๑๑๐๖] ดูกรมัทรี เธอจงอุ้มกัณหานี้ผู้เป็นน้องจะเบากว่า พี่จักอุ้มชาลี เพราะ ชาลีเป็นพี่คงจะหนัก.
[๑๑๐๗] พระราชาทรงอุ้มพระโอรส ส่วนพระราชบุตรีทรงอุ้มพระธิดา ทรงยินดี ร่วมกันดำเนิน ตรัสปราศรัยด้วยน้ำคำอันน่ารักกะกันและกัน. (นี้) ชื่อทานกัณฑ์
[๑๑๐๘] ถ้ามนุษย์บางพวกเดินมาตามทางหรือเดินสวนทางมา เราจะถามมรรคา กะพวกเขาว่า ภูเขาวงกตอยู่ที่ไหน พวกเขาเห็นเราในระหว่างมรรคานั้น จะพากันคร่ำครวญด้วยความกรุณา ระทมทุกข์ ตอบเราว่า เขาวงกตยัง อยู่อีกไกล.
[๑๑๐๙] ครั้งนั้น พระกุมารทั้งสองทอดพระเนตรเห็นต้นไม้อันมีผลในป่าใหญ่ ทรงพระกรรแสงเหตุประสงค์ผลไม้เหล่านั้น หมู่ไม้สูงใหญ่ดังจะเห็น พระกุมารทั้งสองทรงพระกรรแสง จึงน้อมกิ่งลงมาเองจนใกล้จะถึงพระ กุมารทั้งสอง พระนางมัทรีผู้งดงามทั่วพระวรกาย ทอดพระเนตรเห็น เหตุอัศจรรย์ไม่เคยมี น่าขนพองสยองเกล้านี้ จึงซ้องสาธุการว่า น่า อัศจรรย์ ขนลุกขนพองไม่เคยมีในโลกหนอ ด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร ต้นไม้น้อมกิ่งลงมาเองได้.
[๑๑๑๐] เทพเจ้าทั้งหลายมาช่วยย่นมรรคาให้กษัตริย์ทั้ง ๔ เสด็จถึงเจตรัฐ โดยวันที่ เสด็จออกนั่นเอง เพื่ออนุเคราะห์พระกุมารทั้งสอง.
[๑๑๑๑] กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์นั้น ทรงดำเนินสิ้นมรรคายืดยาว เสด็จถึงเจตรัฐ อันเป็นชนบทเจริญมั่งคั่ง มีมังสะและข้าวดีๆ เป็นอันมาก.
[๑๑๑๒] สตรีชาวนครเจตรัฐ เห็นพระนางมัทรีผู้มีศุภลักษณ์เสด็จมา ก็พากันห้อม ล้อมกล่าวกันว่า พระแม่เจ้านี้เป็นสุขุมาลชาติหนอ มาเสด็จดำเนิน พระบาทเปล่า เคยทรงคานหามสีวิกามาศ และราชรถแห่ห้อม วันนี้ พระนางเจ้ามัทรีต้องเสด็จดำเนินในป่าด้วยพระบาท.
[๑๑๑๓] พระยาเจตราชทั้งหลายได้ทัศนาเห็นพระเวสสันดร ต่างก็ทรงกรรแสง เข้าไปเฝ้า กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ทรงพระ สำราญไม่มีโรคาพาธแลหรือ พระองค์ไม่มีความทุกข์แลหรือ พระราชบิดา ของพระองค์หาพระโรคาพาธมิได้แลหรือ ชาวนครสีพีก็ไม่มีทุกข์หรือ ข้าแต่พระมหาราชา พลนิกายของพระองค์อยู่ ณ ที่ไหน กระบวนรถ ของพระองค์อยู่ ณ ที่ไหน พระองค์ไม่มีม้าทรง ไม่มีรถทรง เสด็จ ดำเนินมาสิ้นทางไกล พวกอมิตรมาย่ำยีหรือจึงเสด็จมาถึงทิศนี้.
[๑๑๑๔] สหายทั้งหลายเอ๋ย ข้าพเจ้ามีความสุข ไม่มีโรคาพาธ ข้าพเจ้าไม่มีความ ทุกข์ อนึ่ง พระราชบิดาของเราก็ทรงปราศจากพระโรคาพาธ และ ชาวสีพีก็สุขสำราญดี เพราะข้าพเจ้าได้ให้พระยาเศวตกุญชรคชาธารอัน ประเสริฐสุด มีงางอนงามดังงอนไถ มีกำลังแกล้วกล้าสามารถ รู้เขต ชัยภูมิแห่งสงครามทั้งปวง อันลาดด้วยผ้ากัมพลเหลือง เป็นช้างซับมัน อาจย่ำยีศัตรูได้ มีงางาม พร้อมทั้งพัดวาลวิชนี เป็นช้างเผือกขาวผ่อง ดังเขาไกรลาส พร้อมทั้งเศวตฉัตรและเครื่องปูลาด ทั้งหมอช้างและ ควาญช้าง เป็นยานอันเลิศ เป็นราชพาหนะ เราได้ให้แก่พราหมณ์ เพราะเหตุนั้น ชาวนครสีพีพากันโกรธเคืองข้าพเจ้า ทั้งพระราชบิดาก็ ทรงกริ้วขับไล่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปเขาวงกต สหายทั้งหลาย ขอท่าน ทั้งหลาย จงให้ข้าพเจ้าทราบโอกาสอันเป็นที่อยู่ในป่าเถิด.
[๑๑๑๕] ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เสด็จมาดีแล้ว พระองค์มิได้เสด็จมาร้ายเลย พระองค์ผู้เป็นอิสราธิบดีเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงตรัสบอกพระประสงค์สิ่ง ซึ่งมีอยู่ในพระนครนี้ ข้าแต่พระมหาราช ขอเชิญเสวยสุธาโภชนาหาร ข้าวสาลี ผักดอง เหง้ามัน น้ำผึ้ง และเนื้อ พระองค์เสด็จมาถึง เป็นแขกที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสมควรจะต้อนรับ.
[๑๑๑๖] สิ่งใดอันท่านทั้งหลายให้แล้ว สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว บรรณาการเป็นอันท่านทั้งหลายกระทำแล้วทุกอย่าง พระราชาทรงพิโรธ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไปยังเขาวงกต ดูกรสหายทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงให้ข้าพเจ้าทราบโอกาสอันเป็นที่อยู่ในป่านั้นเถิด.
[๑๑๑๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เชิญเสด็จประทับ ณ เจตรัฐนี้ก่อนเถิด จนกว่าชาวเจตรัฐจักไปเฝ้าพระเจ้าสีพีราช เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรง ทราบว่า พระมหาราชาผู้ผดุงสีพีราชไม่มีโทษ ชาวเจตรัฐทั้งหลายได้ที่ พึ่งแล้ว มีความปรีดาจะพากันแห่ห้อมแวดล้อมพระองค์ไป ข้าแต่บรม กษัตริย์ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด.
[๑๑๑๘] การไปเฝ้าพระเจ้าสีพีราช เพื่อทูลขอให้พระองค์ทรงทราบว่า เราไม่มีโทษ ท่านทั้งหลายอย่าชอบใจเลย ในเรื่องนั้นแม้พระราชาก็ไม่ทรงเป็นอิสระ เพราะถ้าชาวนครสีพีทั้งพลนิกาย และชาวนิคมโกรธเคืองแล้ว ก็ ปรารถนาจะกำจัดพระราชาเสีย เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้า
[๑๑๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ผดุงรัฐ ถ้าพฤติการณ์นั้นเป็นไปในรัฐนี้ ชาวเจตรัฐขอ ถวายตัวเป็นบริวาร เชิญเสด็จครองราชสมบัติในเจตรัฐนี้ทีเดียว รัฐนี้ ก็มั่งคั่งสมบูรณ์ ชนบทก็เพียบพูนกว้างใหญ่ ข้าแต่สมมติเทพ ขอ พระองค์ทรงปลงพระทัยปกครองราชสมบัติเถิด พระเจ้าข้า.
[๑๑๒๐] ข้าพเจ้าไม่มีความพอใจ ไม่ตกลงใจ เพื่อจะปกครองราชสมบัติ ท่าน เจตบุตรทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ผู้ถูกขับไล่จากแว่นแคว้น ชาวพระนครสีพี ทั้งพลนิกาย และชาวนิคม คงไม่ยินดีว่า ชาวเจตรัฐ ราชาภิเษกข้าพเจ้า ผู้ถูกขับไปจากแว่นแคว้น แม้ความไม่เบิกบานใจ พึงมีแก่ท่านทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าเป็นแน่ อนึ่ง ความบาด หมางและความทะเลาะกับชาวสีพี ข้าพเจ้าไม่ชอบใจ ใช่แต่เท่านั้น ความบาดหมางพึงรุนแรงขึ้น สงครามอันร้ายกาจก็อาจมีได้ คนเป็นอัน มากพึงฆ่าฟันกันเอง เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าผู้เดียว สิ่งใดอันท่าน ทั้งหลายให้แล้ว สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นอันข้าพเจ้ารับไว้แล้ว บรรณาการเป็น อันท่านทั้งหลายกระทำแล้วทุกอย่าง พระราชาทรงพิโรธข้าพเจ้า ข้าพเจ้า จะไปยังเขาวงกต ขอท่านทั้งหลายจงให้ข้าพเจ้าทราบโอกาสเป็นที่อยู่ใน ป่านั้นเถิด.
[๑๑๒๑] เชิญเถิด ราชฤาษีทั้งหลายผู้ทรงบูชาไฟ มีพระทัยตั้งมั่นประทับอยู่ ณ ประเทศใด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจักกราบทูลประเทศนั้นให้ทรงทราบ เหมือนอย่างผู้ฉลาดในหนทาง ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชา โน่นภูเขา ศิลาชื่อว่าคันธมาทน์ อันเป็นสถานที่ที่พระองค์พร้อมด้วยพระโอรส พระธิดาและพระชายาสมควรจักประทับอยู่ พระเจ้าข้า.
[๑๑๒๒] พระยาเจตราชทั้งหลายก็ทรงกรรแสง พระเนตรนองด้วยอัสสุชล กราบ ทูลพระเวสสันดรให้ทรงสดับว่า ข้าแต่พระมหาราชา จากนี้ไป ขอ เชิญพระองค์ทรงบ่ายพระพักตรไปทางทิศอุดร เสด็จสัญจรตรงไปยัง สถานที่ที่มีภูเขานั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ลำดับนั้นพระองค์ จักทรงเห็นภูเขาเวปุลบรรพต อันดาดาษไปด้วยหมู่ไม้นานาพรรณ มีเงา ร่มเย็น เป็นที่รื่นรมย์ใจ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ พระองค์เสด็จ ล่วงเลยเวปุลบรรพตนั้นแล้ว ถัดนั้นไป จักได้ทรงเห็นแม่น้ำอันมีนาม ว่าเกตุมดีเป็นแม่น้ำลึก ไหลมาจากซอกเขา เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงปลา หลากหลาย มีท่าน้ำราบเรียบดี มีน้ำมาก พระองค์จะได้สรงสนาน แลเสวยในแม่น้ำนั้น ปลุกปลอบพระราชโอรส และพระราชธิดา ให้ สำราญพระทัย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดนั้นไป พระองค์จะ ได้ทรงเห็นต้นไทรอันมีผลหวานฉ่ำ อยู่บนยอดเขาอันเป็นที่รื่นรมย์ มี เงาร่มเย็น เป็นที่เบิกบานใจ ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระเจริญ ถัดนั้นไป พระองค์จะได้ทรงเห็นภูเขาศิลาชื่อว่านาลิกบรรพต อันเกลื่อนกล่นไป ด้วยฝูงนกนานาชนิด เป็นที่ชุมนุมแห่งหมู่กินนร ทางทิศอีสาณแห่ง นาลิกบรรพตนั้น มีสระน้ำชื่อว่ามุจลินท์ดาดาษไปด้วยบุณฑริกบัวขาว และดอกไม้มีกลิ่นหอมหวน เชิญพระองค์ผู้เป็นดังพระยาราชสีห์มีความ จำนงเหยื่อ เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์วนสถาน อันเป็นภูมิภาคเขียวชอุ่ม ดังเมฆอยู่เป็นนิตย์ สะพรั่งไปด้วยไม้มีดอกและไม้มีผลทั้งสองอย่างใน ไพรสณฑ์นั้น มีฝูงวิหคมากมายต่างๆ สี มีเสียงเสนาะกลมกล่อม ต่างส่งเสียงประสานกันอยู่บนต้นไม้อันเผล็ดดอกตามฤดูกาล พระองค์ เสด็จถึงซอกเขาอันเป็นทางเดินลำบาก เป็นแดนเกิดแห่งแม่น้ำทั้งหลาย จะได้ทอดพระเนตรเห็นสระโบกขรณี อันดาดาษไปด้วยสลอดและกุ่มน้ำ มีหมู่ปลาหลากหลายเกลื่อนกล่น มีท่าราบเรียบ มีน้ำมากเปี่ยมอยู่เสมอ เป็นสระสี่เหลี่ยม มีน้ำจืดดีปราศจากกลิ่นเหม็น พระองค์ควรทรงสร้าง บรรณศาลาทางทิศอีสาณ แห่งสระโปกขรณีนั้น ครั้นทรงสร้างบรรณ- ศาลาสำเร็จแล้ว ควรทรงบำเพ็ญเพียรเลี้ยงพระชนม์ชีพ ด้วยการเที่ยว แสวงหามูลผลาหาร. (นี้) ชื่อวนปเวสนกัณฑ์
[๑๑๒๓] พราหมณ์ ชื่อว่าชูชกอยู่ในเมืองกลิงครัฐ ภรรยาของพราหมณ์นั้นเป็นสาว มีชื่อว่าอมิตตตาปนา ถูกพวกผู้หญิงในบ้านนั้น ซึ่งพากันไปตักน้ำที่ท่า น้ำมารุมกันด่าว่าอย่างอึงมี่ว่า มารดาของเจ้าคงเป็นศัตรูแน่ และบิดาของ เจ้าก็คงเป็นศัตรูแน่นอน จึงได้ยกเจ้าซึ่งยังเป็นสาวรุ่นดรุณี ให้แก่ พราหมณ์ชราเห็นปานนี้ ไม่เกื้อกูลเลยหนอ พวกญาติของเจ้าแอบปรึกษา กันยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวรุ่นๆ ให้แก่พราหมณ์เฒ่าเห็นปานนี้ เป็นความ ชั่วหนอ ที่พวกญาติของเจ้าแอบปรึกษากัน ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวรุ่นๆ ให้แก่พราหมณ์เฒ่าเห็นปานนี้ เป็นความลามกมากหนอ ที่พวกญาติ ของเจ้าแอบปรึกษากัน ยกเจ้าผู้ยังเป็นสาวรุ่นๆ ให้แก่พราหมณ์เฒ่าเห็น ปานนี้หนอ ไม่น่าพอใจเลยหนอ ที่พวกญาติของเจ้าแอบปรึกษากัน ยกเจ้าซึ่งเป็นสาวรุ่นๆ ให้แก่พราหมณ์เฒ่าเห็นปานนี้ เจ้าคงไม่พอใจอยู่ กับผัวแก่ การที่เจ้าอยู่ในเรือนของพราหมณ์เฒ่า เจ้าตายเสียดีกว่าอยู่ ดูกรแม่คนงามคนสวย มารดาและบิดาของเจ้าคงหาชายอื่นให้เป็นผัว ไม่ได้แน่ จึงยกเจ้าซึ่งยังเป็นสาวรุ่นๆ ให้แก่พราหมณ์เฒ่าเห็นปานนี้ เจ้าคงจักบูชายัญไว้ไม่ดีในดิถีที่ ๙ คงจักไม่ได้ทำการบูชาไฟไว้ เจ้าคง จักด่าสมณพราหมณ์ผู้มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า ผู้มีศีล เป็นพหูสูต ในโลกเป็นแน่ เจ้าจึงได้มาอยู่ในเรือนของพราหมณ์แก่แต่ยังสาวรุ่นๆ อย่างนี้ การที่ถูกงูกัดก็ไม่เป็นทุกข์ การที่ถูกแทงด้วยหอกก็ไม่เป็นทุกข์ การที่ได้เห็นผัวแก่นั้นแลพึงเป็นทุกข์ด้วย เป็นความร้ายกาจด้วย การ เล่นหัวย่อมไม่มีกับผัวแก่ การรื่นรมย์ย่อมไม่มีกับผัวแก่ การเจรจา ปราศรัยย่อมไม่มีกับผัวแก่ แม้การกระซิกกระซี้ก็ไม่งาม แต่เมื่อใด ผัวหนุ่มเมียสาวเย้าหยอกกันอยู่ในที่ลับ เมื่อนั้น ความเศร้าทุกอย่างที่ เสียดแทงหทัยอยู่ย่อมพินาศไปสิ้น เจ้ายังเป็นสาวรูปสวย พวกชายหนุ่ม ปรารถนายิ่งนัก เจ้าจงไปอยู่เสียที่ตระกูลญาติเถิด พราหมณ์แก่จักให้ เจ้ารื่นรมย์ได้อย่างไร.
[๑๑๒๔] ดูกรท่านพราหมณ์ ฉันจักไม่ไปตักน้ำที่แม่น้ำเพื่อท่านอีกต่อไป เพราะ พวกหญิงชาวบ้านมันรุมด่าฉัน เหตุที่ท่านเป็นคนแก่.
[๑๑๒๕] เธออย่าได้ทำการงานเพื่อฉันเลย อย่าได้ตักน้ำมาเพื่อฉันเลย ฉันจัก ตักน้ำเอง เธออย่าโกรธเลย.
[๑๑๒๖] ฉันไม่ได้เกิดในสกุลที่ใช้สามีให้ตักน้ำ ท่านพราหมณ์ขอจงรู้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของท่าน ถ้าท่านจักไม่นำทาสหรือทาสีมาให้ฉัน ท่านพราหมณ์จงทราบอย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในสำนักของท่าน.
[๑๑๒๗] ดูกรพราหมณี ศิลปกรรมหรือทรัพย์และข้าวเปลือกของฉันไม่มี ฉัน จักนำทาสหรือทาสีมาให้เธอแต่ที่ไหน ฉันจักบำรุงเธอ เธออย่าโกรธเลย.
[๑๑๒๘] มานี่เถิด ฉันจักบอกให้แก่ท่านตามคำที่ฉันได้ฟังมา พระเวสสันดรราช ฤาษีประทับอยู่ ณ เขาวงกต ท่านพราหมณ์จงไปทูลขอทาสและทาสีกะ พระองค์เถิด เมื่อท่านทูลขอแล้ว พระองค์จักพระราชทานทาสและทาสี แก่ท่าน.
[๑๑๒๙] ฉันเป็นคนชราทุพลภาพ ทั้งหนทางก็ไกลเดินไปได้ยาก เธออย่ารำพัน ไปเลย อย่าเสียใจเลย ฉันจักบำรุงเธอ เธออย่าโกรธเลย.
[๑๑๓๐] คนขลาดยังไม่ทันถึงสนามรบ ไม่ทันได้รบก็ยอมแพ้ ฉันใด ท่าน พราหมณ์ยังไม่ทันได้ไปก็ยอมแพ้ ฉันนั้น ถ้าท่านพราหมณ์จักไม่นำทาส หรือทาสีมาให้ฉัน ขอท่านจงทราบไว้อย่างนี้ว่า ฉันจักไม่อยู่ในเรือนของ ท่าน ฉันจักกระทำอาการไม่พอใจให้แก่ท่าน ข้อนั้นจักเป็นความทุกข์ ของท่าน ในคราวมหรสพซึ่งมีในต้น ฤดูนักขัตฤกษ์ ท่านจักได้เห็นฉัน ผู้แต่งตัวสวยงาม รื่นรมย์อยู่กับชายอื่นๆ ข้อนั้นจักเป็นทุกข์ของท่าน ดูกรท่านพราหมณ์ เมื่อท่านซึ่งเป็นคนแก่รำพันอยู่ เพราะไม่เห็นฉัน ร่างกายที่งอก็จักงอยิ่งขึ้น ผมที่หงอกก็จักหงอกมากขึ้น.
[๑๑๓๑] ลำดับนั้น พราหมณ์ตกใจกลัว ตกอยู่ในอำนาจของนางพราหมณี ถูก กามราคะบีบคั้น ได้กล่าวกะนางพราหมณีว่า ดูกรนางพราหมณี เธอจง ทำเสบียงเดินทางให้ฉัน ทั้งขนมงา ขนมเทียน สตูก้อน สตูผง และข้าวผอก เธอจงจัดให้ดีๆ ฉันจักนำพระพี่น้องสองกุมารมาให้เป็น ทาส พระกุมารทั้งสองนั้นเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน จักบำเรอเธอทั้งกลางคืน กลางวัน.
[๑๑๓๒] พราหมณ์ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม สวมรองเท้าแล้วพร่ำสั่งเสียต่อ ไป กระทำประทักษิณภรรยา สมาทานวัตร มีหน้านองด้วยน้ำตา หลีกไปสู่นครอันเจริญรุ่งเรืองของชาวสีพี เที่ยวแสวงหาทาสทาสี.
[๑๑๓๓] พราหมณ์ชูชกไปในนครนั้นแล้ว ได้ถามประชาชนที่มาประชุมกันอยู่ ในที่นั้นๆ ว่า พระเวสสันดรราชประทับอยู่ ณ ที่ไหน เราทั้งหลาย จะไปเฝ้าพระองค์ผู้บรมกษัตริย์ ณ ที่ไหน ชนทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นได้ตอบพราหมณ์นั้นว่า ดูกรท่านพราหมณ์ พระเวสสันดรบรม กษัตริย์ ถูกพวกท่านเบียดเบียน เพราะทรงให้ทานมากไป ต้องทรงพา พระราชโอรสพระราชธิดา และพระอัครมเหสีไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต.
[๑๑๓๔] พราหมณ์นั้นผู้มีความติดใจในกาม ถูกนางพราหมณีตักเตือน ได้เสวย ทุกข์เป็นอันมากในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้าย เป็นที่เสพอาศัยแห่ง แรดและเสือเหลือง แกถือไม้เท้าสีเหมือนผลมะตูม อีกทั้งเครื่องบูชาไฟ และเต้าน้ำ เข้าไปสู่ป่าใหญ่ โดยทางที่ได้ทราบข่าวซึ่งพระหน่อกษัตริย์ ผู้ประทานตามประสงค์ เมื่อพราหมณ์นั้นเข้าไปสู่ป่าใหญ่ถูกสุนัขล้อมไล่ ตาแกร้องเสียงขรม เดินหลงทางห่างออกไปไกล ลำดับนั้น พราหมณ์ ผู้โลภในโภคะ ไม่มีความสำรวม (ถูกสุนัขล้อมไล่) หลงทางที่จะไปสู่ เขาวงกต (และนั่งอยู่บนต้นไม้) ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า.
[๑๑๓๕] ใครเล่าหนอจะพึงบอกพระราชบุตรพระนามว่า เวสสันดรผู้ประเสริฐ ทรงชำนะความตระหนี่อันใครให้แพ้ไม่ได้ ทรงให้ความปลอดภัยในเวลา มีภัยแก่เราได้ พระองค์เป็นที่พึ่งของพวกยาจก ดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ ทั้งหลายฉะนั้น ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดรมหาราชผู้เปรียบเหมือน แม่ธรณีแก่เราได้ พระองค์เป็นที่ไปเฝ้าของพวกยาจก ดังสาครเป็นที่ ไหลไปรวมแห่งแม่น้ำทั้งหลายฉะนั้น ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดร มหาราช ผู้เปรียบเหมือนสาครแก่เราได้ พระองค์เป็นดังสระน้ำ มีท่า อันงามราบเรียบ ลงดื่มได้ง่าย มีน้ำเย็นเป็นที่รื่นรมย์ใจ ดาดาษไปด้วย บุณฑริกบัวขาบ สะพรั่งด้วยเกสรบัว ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดร มหาราชผู้เปรียบเหมือนสระน้ำแก่เราได้ ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดร มหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นโพธิ์ใบที่เกิดอยู่ใกล้ทาง มีเงาร่มเย็นน่า รื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาใน เวลาร้อน แก่เราได้ ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบ เหมือนต้นไทรที่เกิดอยู่ใกล้ทาง มีเงาร่มเย็นน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พัก อาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยในเวลาร้อน แก่เราได้ ใครจะพึงบอกพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นมะม่วงที่เกิดอยู่ ใกล้ทาง มีเงาร่มเย็นน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อย ล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน แก่เราได้ ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดร มหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นรังที่เกิดอยู่ใกล้ทาง มีเงาร่มเย็นน่ารื่นรมย์ ใจ เป็นที่พักอาศัยของคนเดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน แก่เราได้ ใครจะพึงบอกซึ่งพระเวสสันดรมหาราช ผู้เปรียบเหมือนต้นไม้ ใหญ่ที่เกิดอยู่ใกล้ทาง มีเงาร่มเย็นน่ารื่นรมย์ใจ เป็นที่พักอาศัยของคน เดินทาง ผู้เมื่อยล้าเหน็ดเหนื่อยมาในเวลาร้อน แก่เราได้ ก็เมื่อเราเข้า ไปในป่าใหญ่ เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้ ผู้ใดจะพึงบอกว่า เรารู้ ผู้นั้นยัง ความยินดีให้เกิดแก่เรา เมื่อเราเข้าไปในป่าใหญ่เพ้อรำพันอยู่อย่างนี้ ผู้ใดพึงบอกที่ประทับของพระเวสสันดรว่า เรารู้จัก ผู้นั้นประสบบุญ เป็นอันมาก ด้วยวาจาคำเดียวนั้น.
[๑๑๓๖] นายเจตบุตรเป็นพรานเที่ยวอยู่ในป่า ได้ตอบแก่ชูชกนั้นว่า ดูกรพราหมณ์ พระหน่อกษัตริย์ ถูกพวกท่านรบกวน เพราะทรงบำเพ็ญทานอย่างยิ่ง จึงถูกเนรเทศจากแคว้นของพระองค์มาประทับอยู่ ณ เขาวงกต ดูกร พราหมณ์ พระหน่อกษัตริย์ถูกพวกท่านรบกวน เพราะทรงบำเพ็ญทาน อย่างยิ่ง ต้องทรงพาพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีมาประทับอยู่ ณ เขา วงกต ท่านผู้มีปัญญาทราม ทำแต่กิจที่ไม่ควรทำ ยังออกจากแว่นแคว้น ตามมาถึงป่าใหญ่ เที่ยวแสวงหาพระราชบุตรดุจนกยางเที่ยวหาปลาอยู่ใน น้ำฉะนั้น แน่ะพราหมณ์ เราจักไม่ให้ชีวิตแก่เจ้าในที่นี้ ลูกศรที่เราจะยิง นี้แหละ จักดื่มเลือดเจ้า ดูกรพราหมณ์ เราจักตัดหัวของเจ้า เชือด เอาหัวใจพร้อมทั้งไส้พุง แล้วจักบูชาปันถสกุณยัญพร้อมด้วยเนื้อของเจ้า ดูกรพราหมณ์ เราจักเชือดหัวใจของเจ้า ยกขึ้นเป็นเครื่องเซ่นสรวง พร้อมด้วยเนื้อ มันข้น และมันในสมองของเจ้า ดูกรพราหมณ์ ข้อนั้น จักเป็นยัญที่เราบูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว ด้วยเนื้อของเจ้า เจ้าจักนำ พระมเหสีและพระโอรสพระธิดาของพระราชบุตรไปไม่ได้.
[๑๑๓๗] ดูกรเจตบุตร จงฟังเราก่อน พราหมณ์ผู้เป็นทูต เป็นคนหาโทษมิได้ เพราะเหตุนั้นแล คนทั้งหลายย่อมไม่ฆ่าทูต นี้เป็นธรรมเนียมสืบเนื่อง มาแต่โบราณ ชาวสีพีทุกคนยินยอมแล้ว พระบิดาก็ทรงปรารถนาจะพบ พระราชบุตรและพระมารดาของพระราชบุตรนั้น ทรงทุพพลภาพ พระเนตร ทั้งสองของพระมารดานั้นจักขุ่นมัวในไม่ช้า เราเป็นทูตที่ชาวสีพีเหล่านั้น ส่งมา ดูกรเจตบุตร จงฟังเราก่อน เราจักนำพระราชบุตรเสด็จกลับ ถ้าเจ้ารู้ จงบอกหนทางแก่เรา.
[๑๑๓๘] ดูกรพราหมณ์ ท่านเป็นทูตที่รักของพระเวสสันดรผู้เป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะให้เต้าน้ำผึ้ง และขาเนื้อย่างเป็นบรรณาการแก่ท่าน และ จักบอกประเทศที่พระเวสสันดรหน่อกษัตริย์ผู้ให้สำเร็จความประสงค์ประ ทับอยู่แก่ท่าน. (นี้) ชื่อชูชกบรรพ
[๑๑๓๙] ดูกรมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์อันล้วนแล้วด้วยหิน พระ เวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสีทรงเพศนัก บวชอันประเสริฐ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟ ประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าเดินทางไปทางทิศอุดร จะได้เห็นอาศรม นั้น นั่นหมู่ไม้เขียวชะอุ่ม ทรงผลต่างๆ ย่อมปรากฏ ดังภูเขาอัญชน บรรพตเขียวชะอุ่ม มียอดสูงตระหง่าน คือ ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้ตะคร้อ ไม้ยางทราย ย่อมหวั่นไหวไปตามลม ดังมาณพดื่มสุราคราวเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่ฉะนั้น ท่านได้ฟังเสียงฝูง นกอันจับอยู่บนกิ่งไม้ปานดังเสียงเพลงขับทิพย์ คือ นกโพรดก นก ดุเหว่า นกกระจง พลางส่งเสียงร้องบินจากต้นไม้โน้นมาสู่ต้นไม้นี้ ทั้งหมู่ไม้ที่ต้องลมพัดสะบัดกิ่งและใบเสียดสีกันคล้ายกับจะเรียกคนผู้ กำลังเดินไปให้หยุด และเหมือนดังชักชวนคนผู้จะผ่านไปให้ยินดีชื่นชม พักผ่อน พระเวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี ทรงเพศเป็นพราหมณ์ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟ ประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าเดินไปทางทิศอุดรจะได้เห็นอาศรมนั้น.
[๑๑๔๐] ในบริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้มะม่วง มะขวิด ขนุน ไม้รัง ไม้หว้า สมอ พิเภก สมอไทย มะขามป้อม ไม้โพธิ์ ไม้พุทรา มะพลับทอง ต้นไทร และมะสัง มะซางหวาน และมะเดื่อ มีผลสุกแดงเรื่อๆ อยู่ในที่ต่ำๆ คล้ายงาช้าง กล้วยหอม ผลจันทน์ มีรสหวานเหมือนน้ำผึ้ง รวงผึ้งไม่ มีตัว มีในที่นั้น คนเอื้อมมือปลิดมาบริโภคได้เอง ในบริเวณอาศรมนั้น มีต้นมะม่วง บางต้นออกช่อแย้มบาน บางต้นมีดอกและใบร่วงหล่น ผลิผลดาษดื่น บางอย่างยังดิบ บางอย่างสุกแล้ว ผลมะม่วงดิบและสุก ทั้งสองอย่างนั้น มีสีดังหลังกบ อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น บุรุษยืน อยู่ในภายใต้ก็เก็บมะม่วงสุกกินได้ ผลมะม่วงดิบและสุกทั้งหลายมีสี สวย กลิ่นหอมและรสอร่อยที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่น่าอัศจรรย์ แก่ข้าพเจ้าเหลือเกิน ถึงกับข้าพเจ้าออกอุทานว่า อือๆ ที่ประทับอยู่ ของพระเวสสันดรนั้น เป็นดังที่ประทับอยู่ของทวยเทพ ย่อมงดงาม ปานด้วยนันทวัน ต้นตาล ต้นมะพร้าว และอินทผลัม ที่มีอยู่ในป่า ใหญ่มีดอกเรียงรายกันอยู่ เหมือนพวงมาลัยเขาร้อยไว้ หมู่ไม้เหล่านั้น ย่อมปรากฏดังยอดธงชัย ในบริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้ต่างๆ พันธุ์ คือ ไม้มูกมัน โกฐ สะค้าน แคฝอย ไม้บุนนาค บุนนาคเขา และไม้ ทรึก มีดอกบานสะพรั่งสีต่างๆ กัน เหมือนหมู่ดาวเรื่อเรืองอยู่บน นภากาศฉะนั้น อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะเกลือ กฤษณา รักดำ ต้นไทรใหญ่ ไม้รังไก่ ไม้ประดู่ มีดอกบานสะพรั่ง ในบริเวณอาศรมนั้นมีไม้มูกหลวง ไม้สน ไม้กะทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก นางรัง ล้วนมีดอกเป็นพุ่มพวงดังลอมฝาง บานในที่ไม่ไกลต่ออาศรมนั้น มีสระโบกขรณี ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมชาติ และอุบล ดังสระโบกขรณีในสวนนันทวันของทวยเทพฉะนั้น อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงไพเราะ จับใจ ทำป่านั้นให้ดังอึกทึกกึกก้อง ในเมื่อคราวหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบาน ตามฤดูกาลรสหวานดังน้ำผึ้งร่วงหล่นจากเกสรดอกไม้มาค้างอยู่บนใบบัว ย่อมชื่อว่าน้ำผึ้งใบบัว (ขัณฑสกร) อนึ่ง ลมทางทิศทักษิณและทางทิศ ประจิมย่อมพัดมาที่อาศรมนั้น อาศรมเป็นสถานที่เกลื่อนกล่นไปด้วย ละอองเกสรปทุมชาติ ในสระโบกขรณีนั้น มีกระจับขนาดใหญ่ๆ ทั้ง ข้าวสาลีอ่อน บ้างแก่บ้างล้มดาษอยู่บนภาคพื้น และในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา เต่าและปูเป็นอันมาก สัญจรไปมาเป็นหมู่ๆ รสหวานปานน้ำผึ้งย่อมไหลออกจากเหง้าบัว รสมันปานนมสดและเนยใส ย่อมไหลออกจากสายบัว ป่านั้นมีกลิ่นหอมต่างๆ ที่ลมรำเพยพัดมา ย่อมหอมฟุ้งตระหลบไป ป่านั้นเหมือนดังจะชวนเชิญคนที่มาถึงแล้วให้ เบิกบาน ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้ที่มีกลิ่นหอม แมลงภู่ทั้งหลายต่างก็บิน ว่อนวู่บันลือเสียงอยู่โดยรอบ ด้วยกลิ่นดอกไม้ อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนั้น ฝูงวิหคเป็นอันมากมีสีต่างๆ กัน บันเทิงอยู่กับคู่ของตนๆ ร่ำร้องขาน ขันแก่กันและกัน มีฝูงนกอีกสี่หมู่ทำรังอยู่ใกล้สระโบกขรณี คือ หมู่ ที่ ๑ ชื่อว่านันทิกา ย่อมร้องทูลเชิญพระเวสสันดรเจ้า ให้ชื่นชมยินดี อยู่ในป่านี้ หมู่ที่ ๒ ชื่อว่า ชีวปุตตา ย่อมร่ำร้องถวายพระพรให้ พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระราชธิดาและพระอัครมเหสี จงมีพระชนม์ ยืนนานด้วยความสุขสำราญ หมู่ที่ ๓ ชื่อว่าชีวปุตตาปิยาจโน ย่อมร่ำร้อง ถวายพระพรให้พระเวสสันดรพร้อมทั้งพระราชโอรสพระราชธิดาและ พระอัครมเหสี ผู้เป็นที่รักของพระองค์จงทรงพระสำราญ มีพระชนมายุ ยืนนาน ไม่มีข้าศึกศัตรู หมู่ที่ ๔ ชื่อว่า ปิยาปุตตาปิยานันทา ย่อมร่ำร้อง ถวายพระพรให้พระราชโอรสพระราชธิดาและพระอัครมเหสี จงเป็นที่รัก ของพระองค์ ขอพระองค์จงเป็นที่รักของพระราชโอรสพระราชธิดาและ พระอัครมเหสี ทรงชื่นชมโสมนัสต่อกันและกัน ดอกไม้ทั้งหลายย่อมตั้ง เรียงรายกันอยู่ เหมือนพวงมาลัยที่เขาร้อยไว้ หมู่ไม้เหล่านั้นย่อม ปรากฏดังยอดธงชัยมีดอกสีต่างๆ กัน ดังนายช่างผู้ฉลาดเก็บมาร้อยกรอง ไว้ พระเวสสันดรเจ้า พร้อมด้วยพระราชโอรสพระธิดาและพระมเหสี ทรงเพศเป็นพราหมณ์ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชะฎา ทรงนุ่งห่มหนังสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าไปทางทิศอุดร จะได้เห็นอาศรมนั้น.
[๑๑๔๑] เออ ก็ข้าวสตูผงอันระคนด้วยน้ำผึ้ง และข้าวสตูก้อนมีรสหวานอร่อยของ ลุงนี้ อันนางอมิตตดาจัดแจงให้แล้ว ลุงจะแบ่งให้แก่เจ้า.
[๑๑๔๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ จงเอาไว้เป็นสะเบียงทางของท่านเถิด ข้าพเจ้าไม่ ปรารถนาสะเบียงทาง ขอเชิญท่านจงรับน้ำผึ้งกับขาเนื้อย่างจากสำนักของ ข้าพเจ้านี้ เอาไปเป็นสะเบียงทางอีกด้วย และขอท่านจงไปตามสบายเถิด หนทางนี้เป็นทางเดินได้คนเดียว ตรงลิ่วไปถึงอาศรมของอจุตฤาษี แม้ อจุตฤาษีอยู่ในอาศรมนั้นฟันเขลอะ มีผมเกลือกกลั้วด้วยธุลี ทรงเพศ เป็นพราหมณ์ มีขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชะฎา นุ่งห่ม หนังเสือ นอนเหนือแผ่นดิน บูชาไฟ ลุงไปถึงแล้ว เชิญถามท่านเถิด ท่านจักบอกหนทางให้แก่ลุง
[๑๑๔๓] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ได้ฟังคำของเจตบุตรดังนี้แล้ว มีจิต ยินดีเป็นอย่างยิ่ง กระทำประทักษิณเจตบุตรแล้ว ได้เดินทางตรงไป ณ สถานที่อันอจุตฤาษีสถิตอยู่. จบ จุลวนวรรณนา
[๑๑๔๔] ชูชกพราหมณ์ภารทวาชโคตรนั้น เมื่อเดินไปตามทางที่เจตบุตรพรานป่า แนะให้ ก็ได้พบอจุตฤาษี ครั้นแล้วได้เจรจาปราศรัยกับอจุตฤาษี ไต่ถาม ถึงทุกข์สุขว่า พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธเบียดเบียนหรือ เป็นสุขสบาย ดีหรือ เยียวยาอัตภาพด้วยการแสวงหาผลไม้สะดวกหรือ มูลมันผลไม้ มีมากหรือ เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานทีจะมีน้อยกระมัง ในป่า อันเกลื่อนกล่นไปด้วยเนื้อร้าย ไม่มีกล้ำกลายเข้ามารบกวนแหละหรือ.
[๑๑๔๕] ดูกรพราหมณ์ เราไม่มีโรคาพาธเบียดเบียน เราเป็นสุขสบายดี เยียวยา อัตภาพด้วยการแสวงหาผลไม้สะดวกดี มูลมันผลไม้ก็มีมาก อนึ่ง เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลานก็น้อย ในป่าอันเกลื่อนกลาดไปด้วย เนื้อร้าย ไม่มีกล้ำกลายมารบกวนเราเลย เมื่อเรามาอยู่ในอาศรมสิ้น จำนวนปีเป็นอันมาก เราไม่รู้สึกถึงความอาพาธอันไม่เป็นที่รื่นรมย์ใจ เกิดขึ้นเลย ดูกรมหาพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว อนึ่ง ท่านมิได้มาร้าย ดูกรท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้าไปภายใน เชิญล้างเท้าทั้งสองของท่าน ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง ผลหมากเม่า มีรสหวานคล้ายน้ำผึ้ง เชิญท่านเลือกบริโภคแต่ผลที่ดีๆ แม้น้ำฉันก็เย็นสนิทเรานำมาจาก ซอกเขา ดูกรมหาพราหมณ์ ถ้าท่านจำนงหวัง ก็เชิญดื่มตามสบายเถิด.
[๑๑๔๖] สิ่งใดอันพระคุณเจ้าให้แล้ว สิ่งนั้นทั้งหมดข้าพเจ้ารับไว้แล้ว บรรณาการ อันพระคุณเจ้ากระทำแล้วทุกอย่าง ข้าพเจ้ามาแล้ว เพื่อจะเยี่ยมเยียน พระเวสสันดรราชฤาษี ราชโอรสของพระเจ้ากรุงสัญชัย ซึ่งพลัดพราก จากชาวสีพีมาช้านาน ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถานที่ประทับ โปรดแจ้งแก่ ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
[๑๑๔๗] ท่านมานี่เพื่อเป็นศรีสวัสดิ์ เพื่อมาเยี่ยมเยียนพระเวสสันดรเจ้าก็หาไม่ เราเข้าใจว่าท่านปรารถนา (จะมาขอ) พระอัครมเหสีผู้เคารพนบนอบ พระราชสวามีไปเป็นภรรยา หรือมิฉะนั้นท่านก็ปรารถนา (จะมาขอ) พระกัณหาชินาราชกุมารีและพระชาลีราชกุมารไปเป็นทาสทาสี หรือไม่ก็ มาเพื่อจะนำเอาพระมารดาและพระราชกุมารกุมารีทั้งสามพระองค์ไปจาก ป่า ดูกรพราหมณ์ โภคสมบัติทรัพย์และข้าวเปลือกของพระองค์มิได้มี.
[๑๑๔๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านยังไม่สมควรจะโกรธเคือง เพราะข้าพเจ้ามิได้มาเพื่อ ขอทาน การพบเห็นอริยชนเป็นความดี การอยู่ร่วมกับอริยชนเป็นสุขทุก เมื่อ พระเวสสันดรสีพีราชเสด็จพลัดพรากจากชาวสีพีมา ข้าพเจ้ายังมิได้ เห็นเลย ข้าพเจ้ามาเพื่อจะเยี่ยมเยียนพระองค์ ถ้าพระคุณเจ้าทราบสถาน ที่ประทับ โปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด.
[๑๑๔๙] ดูกรมหาพราหมณ์ นั่นภูเขาคันธมาทน์อันล้วนแล้วด้วยหิน พระเวสสัน ดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี ทรงเพศนักบวช อันประเสริฐ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชะฎา ทรง นุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟ ประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าเดินไปทางทิศอุดร จะได้เห็นอาศรมนั้น นั่นหมู่ไม้เขียวชะอุ่ม ทรงผลต่างๆ ปรากฏดังภูเขาอัญชนบรรพตเขียว ชะอุ่ม มียอดสูงตระหง่าน คือ ไม้ตะแบก หูกวาง ไม้ตะเคียน ไม้รัง ไม้ตระคร้อ ไม้ยางทรายย่อมหวั่นไหวไปตามลม ดังมาณพดื่ม สุราคราวเดียวก็ซวนเซไปมาอยู่ ฉะนั้น ท่านจะได้ฟังเสียงฝูงนกอันจับ อยู่บนกิ่งไม้ ปานดังเสียงเพลงทิพย์ คือ นกโพรดก นกดุเหว่า นกกระจง ส่งเสียงร้องบินจากต้นไม้โน้นมาสู่ต้นไม้นี้ ทั้งหมู่ไม้ที่ต้อง ลมพัดสะบัดกิ่งและใบเสียดสีกัน คล้ายกับจะเรียกคนผู้กำลังเดินทางไป ให้หยุด และเหมือนดังชักชวนผู้จะผ่านให้ยินดีชื่นชมพักผ่อน พระเวส สันดรเจ้า พร้อมด้วยพระโอรสพระธิดาและพระมเหสี ทรงเพศเป็น นักบวชอันประเสริฐ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและใส่ชะฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟ ประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าเดินทางไปทางทิศอุดรจะได้เห็นอาศรมนั้น ที่ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ มีดอกกุ่มตกอยู่เรี่ยราด พื้นแผ่นดินเขียวชะอุ่ม ไปด้วยหญ้าแพรก ณ ที่นั้นไม่มีธุลีฟุ้งขึ้นเลย หญ้านั้นมีสีเขียวคล้ายขน คอนกยูงเปรียบด้วยสัมผัสแห่งสำลี หญ้าทั้งหลายโดยรอบ ยาวไม่เกิน ๔ องคุลี ต้นมะม่วง ต้นชมพู่ ต้นมะขวิดและมะเดื่อ มีผลสุก อยู่ ในที่ต่ำๆ ป่าไม้นั้นเป็นที่ให้เจริญความยินดี เพราะมีหมู่ไม้ผลบริโภค ได้เป็นอันมาก น้ำใสสะอาดกลิ่นหอมดี สีดังแก้วไพฑูรย์ เป็นที่อยู่ ของฝูงปลา ไหลหลั่งมาในป่านั้น ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ ในที่ไม่ไกล อาศรมนั้น มีสระโบกขรณีดารดาษไปด้วยปทุมชาติและอุบล เหมือน ดังที่มีอยู่ในนันทวันของทวยเทพ ดูกรพราหมณ์ในสระนั้นมีอุบลชาติ สามชนิด คือ เขียว ขาวและแดง งามวิจิตรมากมาย.
[๑๑๕๐] ในสระนั้นมีปทุมชาติดาษดื่น สีขาวดังผ้าโขมพัสตร์ สระนั้นชื่อว่า มุจลินท์ ดารดาษไปด้วยอุบลขาว จงกลณี และผักทอดยอด อนึ่งเล่า ปทุมชาติในสระนั้นมีดอกบานสะพรั่งปรากฏหากำหนดประมาณมิได้ บ้าง ก็บานในคิมหันตฤดู บ้างก็บานในเหมันตฤดูปรากฏเหมือนตั้งอยู่ใน น้ำลึกประมาณเพียงเข่า ปทุมชาติอันงามวิจิตรชูดอกสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอม ฟุ้งตระหลบไป หมู่ภมรโผผินบินว่อนเสียงวู่ๆ อยู่โดยรอบเพราะกลิ่น หอมแห่งบุปผชาติ.
[๑๑๕๑] ดูกรพราหมณ์ อนึ่งเล่า ที่ใกล้ขอบสระนั้นมีต้นไม้หลากหลายขึ้นออก สะพรั่ง คือ ต้นกระทุ่ม ต้นแคฝอย และต้นทองหลาง ผลิดอกออก สะพรั่ง ไม้ปรู ไม้ทราก ต้นปาริชาตก์ ดอกบานสะพรั่ง ต้นกากะทิง ต้นไม้เหล่านี้มีอยู่ที่สองฟาก ปากสระมุจลินท์ ต้นซึก ต้นแคขาว บัวบก ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไป ต้นคณฑีสอ ต้นคณฑีเขมา และต้นประดู่ มีอยู่ ณ ที่ใกล้สระนั้น ดอกสะพรั่ง ต้นมะคำไก่ ไม้มะทราง ต้นแก้ว ต้นมะรุม การเกต กรรณิการ์ และชะบา ไม้รกฟ้า ไม้อินทนิล ไม้สะท้อน และทองกวาวมีดอกแย้มบานผลิดอกออกยอดพร้อมๆ กัน รุ่งเรืองงาม ไม้มะรื่น ไม้ตีนเป็ด กล้วย ต้นคำฝอย นมแมว คนทา ประดู่ลาย ต้นสลอด มีดอกบานสะพรั่ง ต้นมะไฟ ต้นงิ้ว ไม้ช้างน้าว พุดขาว กฤษณา โกฐเขมา โกฐสอ มีดอกบานสะพรั่ง ต้นไม้ในบริเวณสระนั้นมีทั้งอ่อนและแก่ ต้นตรงไม่คดงอดอกบานตั้ง อยู่สองข้างอาศรมโดยรอบเรือนไฟ.
[๑๑๕๒] อนึ่ง พรรณไม้เป็นอันมาก เกิดขึ้นใกล้ขอบสระนั้น คือ ตระไคร้ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส สาหร่าย สันตะวา น้ำในสระนั้นถูกลมรำเพยพัด เกิดเป็นละลอกกระทบฝั่ง มีหมู่แมลงบินวู่ว่อนเคล้าเอาเกสรดอกไม้ที่ แย้มบาน สีเสียดเทศ เต่าร้าง ผักบุ้งร้วม มีมากในที่ต่างๆ ดูกร พราหมณ์ ต้นไม้ทั้งหลายดารดาษไปด้วยกล้วยไม้ กลิ่นแห่งบุปผชาติ ดังกล่าวแล้วนั้น หอมตระหลบอยู่ ๗ วัน ไม่พลันหาย บุปผชาติ เกิดอยู่เรียงรายสองฝั่งสระมุจลินท์ ป่านั้นดารดาษไปด้วยต้นราชพฤกษ์ ย่อมงดงาม กลีบดอกราชพฤกษ์นั้นหอมตระหลบอยู่กึ่งเดือนไม่เลือน หาย คัญชันเขียว อัญชันขาว กุ่มแดง ดอกบานสะพรั่ง ป่านั้น ดารดาษไปด้วยอบเชยและแมงรักเหมือนดังจะให้คนเบิกบานใจ ด้วย ดอกไม้และกิ่งไม้อันมีกลิ่นหอม เหล่าภมรโผผินบินว่อนเสียงวู่ๆ อยู่ โดยรอบ เพราะกลิ่นหอมแห่งบุปผชาติ ดูกรพราหมณ์ ณ ที่ใกล้สระนั้น มีฟักแฟง แตงน้ำเต้า ๓ ชนิด ชนิดหนึ่งผลโตเท่าหม้อ อีกสองชนิด ผลโตเท่าตะโพน.
[๑๑๕๓] อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้นมีผักกาด กระเทียม หอม เป็นอันมาก ต้นเต่ารั้ง ตั้งอยู่สล้างดังต้นตาล อุบลเขียวมีเป็นอันมาก ขึ้นอยู่ริมน้ำพอเอื้อม เด็ดได้ มลิวัน มนตำเลีย หญ้านาง อบเชย อโศก เทียนป่า ดอกเข็ม หางช้าง อังกาบ กากะทิง กะลำพัก ทองเครือ ดอก แย้มบานสะพรั่งขึ้นขนาน ต้นชุมแสงขึ้นแซงแซกคัดเค้าและชะเอม มะลิซ้อน หงอนไก่ เทพทาโร แคฝอย ฝ้ายทะเล กรรณิการ์ ดอก เบ่งบานงาม ปรากฏดังตาข่ายทองเปรียบด้วยเปลวไฟ บุปผชาติที่เกิด บนบกและที่เกิดในน้ำ ปรากฏมีในสระนั้นทุกอย่าง สระมุจลินท์มีน้ำมาก เป็นที่รื่นรมย์ ด้วยประการฉะนี้.
[๑๑๕๔] อนึ่ง ในสระนั้นมีปลาซึ่งว่ายอยู่ในน้ำมากมาย คือ ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลาดุก จระเข้ ปลาฉลาม ณ ที่ใกล้สระนั้น มีชะเอมต้น ชะเอมเครือ กำยาน ประยงค์ เนรภูสี แห้วหมู่ สัตตบุษ สมุลแว้ง พิมเสน สามสิบ และกฤษณา เถากะไดลิง มีมากมาย บัวบก โกฐขาว กระทุ่มเลือด ต้นหนาด ขมิ้น แก้วหอม หรดาล คำคูน สมอพิเภก ไคร้เครือ พิมเสน และรางแดง.
[๑๑๕๕] อนึ่ง ในป่านั้นมีสัตว์หลายจำพวก คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ยักษิณี หน้าฬา ช้างพัง ช้างพลาย เนื้อทราย เนื้อฟาน ละมั่ง นางเห็น หมาจิ้งจอก หมาไน บ่าง กระรอก จามรี ชะนี ลิงลม ค่าง ลิง ลิงจุ่น กวาง กระทิง หมี วัวเถื่อน มีมากมาย แรด หมู พังพอน งูเห่า มีอยู่ที่ใกล้สระนั้น เป็นอันมาก กระบือ หมาไน หมาจิ้งจอก กิ้งก่า จะกวด เหี้ย เสือดาว เสือเหลือง มีอยู่โดยรอบ กระต่าย แร้ง ราชสีห์ และเสือปลา มีอยู่มากหลาย มีสกุณชาติมากมาย คือ นกกวัก นกยูง หงส์ขาว ไก่ฟ้า ไก่ป่า ไก่เถื่อน นกหัสดีลิงค์ ร่ำร้องหากันและกัน นกยางโทน นกยางกรอก นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกกะเรียน เหยี่ยวดำ เหยี่ยวแดง นกช้อนหอย นกพริก นกคับแค นกแขวก นกกด นกกระเต็นใหญ่ นกนางแอ่น นกคุ่ม นกกะทา นกกระทุง นกกระจอก นกกระจาบ นกกระเต็นน้อย นกกางเขน นกการเวก นกแอ่นลม นกเงือก นกออก สระมุจลินท์ เกลื่อนกล่น ไปด้วยฝูงนกนานาชนิด กึกก้องไปด้วยเสียงสัตว์ต่างๆ.
[๑๑๕๖] อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้น มีนกมากมาย มีขนปีกงามวิจิตร มีเสียงไพเราะ เสนาะโสต ย่อมปราโมทย์อยู่กับคู่เคียงส่งเสียงกู่ก้องร้องหากันและกัน อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้น มีฝูงสกุณาทิชาชาติส่งเสียงร้องไพเราะไม่ขาดสาย มีตางามประกอบด้วยเบ้าตาขาว มีขนปีกขนหางงามวิจิตร อนึ่ง ที่ใกล้ สระนั้นมีฝูงนกยูง ส่งเสียงร้องไพเราะไม่ขาดสาย มีสร้อยคอเขียว ส่งเสียงร้องหากันและกัน ไก่เถื่อน ไก่ฟ้า นกเปล้า นกนางนวล เหยี่ยวดำ เหยี่ยวนกเขา นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกสาลิกา อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้น มีนกเป็นอันมาก เป็นพวกๆ คือ เหลือง แดง ขาว นกหัสดีลิงค์ พระยาหงส์ทอง นกกาน้ำ นกแขกเต้า นกดุเหว่า นกออก หงส์ขาว นกช้อนหอย นกเค้าแมว ห่าน นกยาง นกโพระดก นกต้อยตีวิด นกพิราบ หงส์แดง นกจากพราก นกเป็ดน้ำ นกหัสดีลิงค์ ส่งเสียงร้องน่ารื่นรมย์ใจ เหล่าสกุณาทิชาชาติ ดังกล่าวแล้ว ต่างก็ส่งเสียงร้องกู่ก้องหากันทั้งเช้าและเย็นเป็นนิรันดร์ อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้นมีสกุณาทิชาชาติมากมายสีต่างๆ กัน ย่อมบันเทิง อยู่กับคู่เคียง ส่งเสียงกู่ก้องร้องเข้าหากันและกัน อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้น มีสกุณาทิชาชาติ มากมายสีต่างๆ กัน ทุกๆ ตัวต่างส่งเสียงอันไพเราะ ระงมไพร ที่ใกล้สองฝั่งสระมุจลินท์ อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้นมีสกุณาทิชาชาติ ชื่อว่าการเวกมากมาย ย่อมปราโมทย์อยู่กับคู่เคียง ส่งเสียงกู่ก้องร้องหา กันและกัน อนึ่ง ที่ใกล้สระนั้นมีสกุณาทิชาชาติชื่อว่าการเวก ทุกๆ ตัวต่างส่งเสียงอันไพเราะระงมไพร อยู่ที่สองฝั่งสระมุจลินท์ ป่านั้น เกลื่อนกลาดไปด้วยเนื้อทรายและเนื้อฟาน เป็นสถานที่เสพอาศัยของ ช้างพลายและช้างพัง ดาษดื่นไปด้วยเถาวัลย์นานาชนิด และเป็นที่ อาศัยของฝูงชมด อนึ่ง ที่ป่านั้น มีธัญญาชาติมากมาย คือ หญ้ากับแก้ ลูกเดือย ข้าวสาลี อ้อย มิใช่น้อยเกิดเองในที่ไม่ได้ไถ ทางนี้เป็น ทางเดินได้คนเดียว เป็นทางตรงไปจนถึงอาศรม คนผุ้ไปถึงอาศรมของ พระเวสสันดรนั้นแล้ว ย่อมไม่มีความหิวกระหายหรือความไม่ยินดี พระเวสสันดรเจ้าพร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา และมเหสี ทรงเพศนัก บวชอันประเสริฐ ทรงขอสำหรับสอยผลไม้ เครื่องบูชาไฟและชะฎา ทรงนุ่งห่มหนังเสือ บรรทมเหนือแผ่นดิน ทรงบูชาไฟ ประทับอยู่ ณ อาศรมใด เมื่อท่านบ่ายหน้าไปทางทิศอุดรจะได้เห็นอาศรมนั้น.
[๑๑๕๗] ชูชกผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ ครั้นได้สดับถ้อยคำของอจุตฤาษี กระทำประทักษิณ มีจิตชื่นชมโสมนัส อำลามุ่งหน้าไปยังสถานที่ประ ทับของพระเวสสันดร. จบ มหาวนวรรณนา
[๑๑๕๘] ดูกรพ่อชาลี เจ้าจงลุกขึ้นยืนเถิด การมาของพวกยาจกในวันนี้ปรากฏ เหมือนการมาของพวกยาจกครั้งก่อนๆ พ่อเห็นเหมือนดังพราหมณ์ ความชื่นชมยินดีทำให้พ่อเกษมศานติ์.
[๑๑๕๙] ข้าแต่พระชนกนาถ แม้เกล้ากระหม่อมฉันก็เห็นผู้นั้นปรากฏเหมือน พราหมณ์ ดูเหมือนเป็นคนเดินทาง จักเป็นแขกของเราทั้งหลาย.
[๑๑๖๐] พระองค์ไม่มีโรคาพาธหรือหนอ พระองค์ทรงพระสำราญดีหรือ ทรง เยียวยาอัตภาพด้วยการแสวงหาผลาหารสะดวกหรือ ทั้งมูลมันผลไม้มี มากหรือ เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน มีน้อยแลหรือ ในป่า อันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาลมฤค ไม่มีมาเบียดเบียนแลหรือ.
[๑๑๖๑] ดูกรพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคาพาธเบียดเบียน อนึ่ง เราทั้งหลาย เป็นสุขสำราญดี เราเยียวยาอัตภาพด้วยการหาผลหารสะดวกดี ทั้งมูล มันผลไม้ก็มีมาก ทั้งเหลือบยุงและสัตว์เลื้อยคลานก็มีน้อย อนึ่ง ใน ป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาลมฤค ก็ไม่มีมาเบียดเบียนแก่เรา เมื่อพวก เรามาอยู่ในป่ามีชีวิตอันตรมเกรียมมาตลอด ๗ เดือน เราเพิ่งเห็นท่าน ผู้เป็นพราหมณ์บูชาไฟ ทรงเพศอันประเสริฐ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูม และลักจั่นน้ำนี้เป็นคนแรก ดูกรพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว อนึ่ง ท่าน มิได้มาร้าย ดูกรท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้ามาภายในเถิด เชิญท่านล้าง เท้าของท่านเถิด ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง ผลหมากเม่า มีรสหวานปานน้ำผึ้ง เชิญเลือกฉันแต่ผลที่ดีๆ เถิดท่านพราหมณ์ แม้ น้ำฉันนี้ ก็เย็นสนิท เรานำมาแต่ซอกเขา ดูกรพราหมณ์ ก็ท่าน จำนงหวัง ก็เชิญดื่มตามสบายเถิด ดังเราขอถาม ท่านมาถึง ป่าใหญ่ เพราะเหตุการณ์อะไรหนอ เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกความนั้นแก่เรา เถิด.
[๑๑๖๒] ห้วงน้ำ (ในปัญจมหานที) เต็มเปี่ยมตลอดเวลาไม่เหือดแห้ง ฉันใด พระองค์มีพระหฤทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา ฉันนั้น เกล้ากระหม่อมฉัน กราบทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานสองปิโยรสแก่ ข้าพระองค์เถิด.
[๑๑๖๓] ดูกรพราหมณ์ เรายอมให้ มิได้หวั่นไหว ท่านจงเป็นใหญ่พาเอาลูก ทั้งสองของเราไปเถิด พระราชบุตรีมารดาของลูกทั้งสองนี้ เสด็จไปป่า แต่เช้าเพื่อแสวงหาผลไม้ จักกลับจากการแสวงหาผลไม้ในเวลาเย็น ดูกรพราหมณ์ เชิญท่านพักอยู่ราตรีหนึ่ง แล้วจึงไปในเวลาเช้า ดูกร พราหมณ์ ท่านจงพาเอาลูกรักทั้งสอง อันประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ ตกแต่งด้วยของหอมนานา พร้อมด้วยมูลมันและผลไม้หลายชนิดไปเถิด.
[๑๑๖๔] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมทัพ ข้าพระองค์ไม่ชอบใจการพักอยู่ ข้าพระองค์ ยินดีจะไป แม้อันตรายจะพึงมีแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอทูลลาไป ทีเดียว เพราะว่าธรรมดาสตรีเหล่านี้ เป็นผู้ไม่สมควรแก่การขอ ย่อม ทำอันตรายต่อบุญของทายก และลาภของยาจก ย่อมรู้มารยา ย่อมรับ สิ่งทั้งปวงโดยข้างซ้าย เมื่อฝ่าพระบาททรงบำเพ็ญทานด้วยพระราชศรัทธา ฝ่าพระบาท อย่าได้ทรงเห็นพระมารดาของ พระปิโยรสทั้งสองเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระมารดาของพระปิโยรสนั้นพึงกระทำ แม้อันตรายได้ ข้าพระองค์ขอทูลลาไปทีเดียว ขอพระองค์จงตรัสเรียก พระลูกแก้วทั้งสองนั้นมา อย่าให้พระลูกแก้วทั้งสองได้ทันเห็นพระชนนี เลย เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทานด้วยพระราชศรัทธา บุญย่อมเจริญด้วย อาการอย่างนี้ ขอพระองค์ตรัสเรียกพระลูกแก้วทั้งสองนั้นมาอย่าให้ พระลูกแก้วทั้งสองได้ทันเห็นพระชนนีเลย ข้าแต่พระราชา พระองค์ ทรงประทานทรัพย์ คือพระโอรสพระธิดาแก่ยาจกเช่นข้าพระองค์แล้ว จักเสด็จไปสวรรค์.
[๑๑๖๕] ถ้าท่านไม่ปรารถนาจะเห็นภริยาของเราผู้มีวัตรอันงาม ท่านก็จงทูลถวาย ชาลีกัณหาชินาทั้งสองนี้ แก่พระเจ้าสัญชัยมหาราชผู้พระอัยยกา ท้าวเธอ ทอดพระเนตรเห็นพระกุมารทั้งสองนี้ ผู้มีเสียงไพเราะ กล่าววาจาน่ารัก จะทรงปลื้มพระหฤทัยปรีดาปราโมทย์ จักพระราชทานทรัพย์แก่ท่านเป็น อันมาก.
[๑๑๖๖] ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์ทรงฟังข้าพระองค์ ข้าพระองค์กลัวต่อ การที่จะถูกหาว่าฉกชิงเอาไป สมเด็จพระเจ้าสญชัยมหาราชจะลงพระ ราชอาชญาข้าพระองค์ คือ จะพึงทรงขายหรือให้ประหารชีวิต ข้าพระ องค์จะขาดทั้งทรัพย์ทั้งทาสและจะพึงถูกนางพราหมณี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พราหมณ์ติเตียนได้.
[๑๑๖๗] พระมหาราชทรงสถิตในธรรม ทรงผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ได้ทอดพระเนตร เห็นสองพระกุมารนี้ผู้มีเสียงไพเราะ กล่าววาจาน่ารัก ได้พระปีติโสมนัส แล้ว จักพระราชทานทรัพย์ แก่ท่านเป็นอันมาก.
[๑๑๖๘] พระองค์ทรงพร่ำสอนข้าพระองค์ สิ่งใดๆ ข้าพระองค์จักทำสิ่งนั้นๆ ไม่ได้ ข้าพระองค์จักนำสองพระกุมารไปเป็นทาสรับใช้ของนางพราหมณี.
[๑๑๖๙] ลำดับนั้น พระกุมารทั้งสอง คือ พระชาลี และพระกัณหาชินา ได้ สดับคำของชูชก ผู้หยาบช้า ตกพระทัยกลัว จึงพากันเสด็จวิ่งหนีไป ในที่นั้นๆ.
[๑๑๗๐] ดูกรพ่อชาลีลูกรัก มานี่เถิด ลูกทั้งสองจงยังบารมีของพ่อให้เต็ม จง ช่วยโสรจสรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ จงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสอง จงเป็นดังยานนาวาของพ่อ อันไม่หวั่นไหวในสาครคือภพ พ่อจักข้าม ซึ่งฝั่งคือชาติ จักยังสัตว์โลกพร้อมทั้งทวยเทพให้ข้ามด้วย ดูกรลูกกัณหา มานี่เถิด เจ้าเป็นธิดาที่รัก ทานบารมีก็เป็นที่รักของพ่อ จงช่วยโสรจ ทรงหทัยของพ่อให้เย็นฉ่ำ ขอจงทำตามคำของพ่อ ขอเจ้าทั้งสองจงเป็น ยานนาวาของพ่อ อันไม่หวั่นไหวในสาครคือภพ พ่อจักข้ามซึ่งฝั่ง คือ ชาติจักช่วยสัตวโลกพร้อมทั้งทวยเทพใช้ข้ามด้วย.
[๑๑๗๑] ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ทรงพาพระกุมารทั้งสอง คือ พระชาลีและพระกัณหาชินา มาพระราชทานให้เป็นปุตตกทานแก่ พราหมณ์ ลำดับนั้น พระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ทรงพาพระ กุมารทั้งสอง คือ พระชาลี และพระกัณหาชินา มาพระราชทานให้ แก่พราหมณ์ มีพระหฤทัยชื่นบานในปุตตกทานอันอุดม ในครั้งนั้น เมื่อพระเวสสันดรราชฤาษี พระราชทานพระกุมารทั้งสอง ก็บังเกิดมี ความบันลือลั่นน่าสพึงกลัว ขนพองสยองเกล้า เมทนีดลก็หวั่นไหว พระเวสสันดรเจ้าผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ทรงประคองอัญชลี พระราชทาน สองพระกุมารผู้เจริญด้วยความสุขให้เป็นทานแก่พราหมณ์ ก็บังเกิดมี ความบรรลือลั่น น่าสพึงกลัวขนพองสยองเกล้า.
[๑๑๗๒] ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้หยาบช้านั้น เอาฟันกัดเถาวัลย์ให้ขาดแล้ว เอา มาผูกพระหัตถ์ พระกุมารทั้งสองฉุดกระชากลากมา แต่นั้นพราหมณ์ นั้นจับเถาวัลย์ถือไม้เท้าทุบตีพระกุมารทั้งสองนำไป เมื่อพระเวสสันดร สีพีราช กำลังทอดพระเนตรอยู่.
[๑๑๗๓] ลำดับนั้น สองพระกุมารพอหลุดพ้นจากพราหมณ์ก็รีบวิ่งหนีไป พระ เนตรทั้งสองนองไปด้วยน้ำอัสสุชล พระชาลี ชะเง้อมองดูพระบิดา ทรงถวายบังคมพระยุคลบาทของพระบิดา พระวรกายสั่นระริกดังใบโพธิ์ ทรงถวายบังคมพระยุคลบาท พระบิดาแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระ ชนกนาถ ก็พระมารดาเสด็จออกไปป่า และพระบิดาทอดพระเนตร เห็นแต่กระหม่อมฉัน ข้าแต่พระชนกนาถ ขอพระองค์ทรงทอด พระเนตรเกล้ากระหม่อมฉันทั้งสองอยู่ก่อน จนกว่าเกล้ากระหม่อมฉัน ทั้งสองได้เห็นพระมารดา ข้าแต่พระชนกนาถ พระมารดาเสด็จออกไป ป่า ขอพระบิดาทอดพระเนตรเห็นกระหม่อมฉันทั้งสองอยู่ก่อน ข้าแต่ พระชนกนารถ ขอพระองค์อย่าเพิ่งพระราชทานเกล้ากระหม่อมฉันทั้ง สอง จนกว่าพระชนนีของเกล้ากระหม่อมฉันจะเสด็จกลับมา เมื่อนั้น พราหมณ์นี้ จักขายหรือจักฆ่าก็ตามปรารถนา พราหมณ์ผู้หยาบช้านี้ ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือมีเท้าคดทู่ตะแคง ๑ เล็บเน่า ๑ ปลีน่องย้อยยาน ๑ ริมฝีปากบนยาว ๑ น้ำลายไหลยืด ๑ เขี้ยวงอก ออกเหมือนเขี้ยวหมู ๑ จมูกหักฟุบ ๑ ท้องพลุ้ยดังหม้อ ๑ หลังค่อม ๑ ตาข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ ๑ หนวดแดง ๑ ผมบางเหลือง ๑ หนัง ย่นเป็นเกลียว ตัวตกกระ ๑ ตาเหลือง ๑ คดสามแห่ง คือ ที่สะเอว หลังและคอ ๑ ขากาง ๑ เดินดังกฏะกฏะ ๑ ขนตามตัวยาวและหยาบ ๑ นุ่งห่มหนังเสือเป็นอมนุษย์น่ากลัวเหลือเกิน เป็นมนุษย์หรือยักษ์มีเนื้อ และเลือดเป็นเครื่องบริโภค ออกจากบ้านมาสู่ป่า มาขอทรัพย์คือบุตร กะพระองค์ ลูกทั้งสองกำลังถูกพราหมณ์ปีศาจนำไป ข้าแต่พระชนกนาถ กระไรหนอฝ่าพระบาททรงนิ่งเฉยอยู่ได้ พระหฤทัยของพระชนกนาถ ปานดังหนึ่งหิน หรือดังว่ายึดมั่นด้วยพืดเหล็ก พระองค์ช่างไม่ทรงรู้สึก ถึงลูกทั้งสอง ซึ่งถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์หยาบคาย ผูกมัด แก เฆี่ยนตีลูกทั้งสอง เหมือนนายโคบาลตีโคฉะนั้น ขอให้น้องกัณหาจง อยู่ ณ ที่นี้แหละ เธอไม่รู้จักความทุกข์อะไรๆ เมื่อเธอไม่เห็นพระ มารดาก็จะคร่ำครวญหาเหมือนลูกเนื้อที่ยังดื่มนมพลัดจากฝูง ไม่เห็นแม่ ก็จะร่ำไห้คร่ำครวญ ฉะนั้น.
[๑๑๗๔] ทุกข์นี้ไม่ใช่ทุกข์ที่แท้จริงของลูก เพราะทุกข์เช่นนี้อันลูกผู้ชายพึงได้รับ ส่วนทุกข์อันใดที่ลูกจักไม่ได้เห็นพระมารดา ทุกข์นั้นของลูกเป็นทุกข์ยิ่ง กว่าทุกข์ ที่ถูกตาพราหมณ์เฆี่ยนตีทุกข์นี้ไม่ใช่ทุกข์ที่แท้จริงของลูก เพราะทุกข์เช่นนี้อันลูกผู้ชายพึงได้รับ ส่วนทุกข์อันใดที่ลูกจักไม่ได้เห็น พระบิดา ทุกข์นั้นของลูกเป็นทุกข์ยิ่งกว่าทุกข์ที่ถูกตาพราหมณ์เฆี่ยนตี พระมารดาจักเป็นกำพร้าเสียแน่แท้ เมื่อไม่ได้ทรงเห็นกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงตางาม ก็จักทรงกรรแสงไห้หาตลอดราตรีนาน พระบิดาจักเป็น กำพร้าเสียเป็นแน่แท้เมื่อไม่ได้ทรงเห็นกัณหาชินากุมารีผู้มีดวงตางาม ก็ จักกรรแสงไห้หาตลอดราตรีนาน พระมารดาจักเป็นกำพร้าเสียแน่แท้ เมื่อไม่ได้ทรงเห็นกัณหาชินากุมารี ผู้มีดวงตางาม ก็จักทรงกรรแสงไห้ อยู่ในอาศรมช้านาน พระบิดาจักเป็นกำพร้าเสียแน่แท้ เมื่อไม่ได้ทรง เห็นกัณหาชินากุมารีผู้มีดวงตางาม ก็จักทรงกรรแสงไห้อยู่ในอาศรม ช้านาน พระมารดาจักเป็นกำพร้าเสียแน่แท้ จักทรงกรรแสงไห้อยู่ ตลอดราตรีนาน ทรงระลึกถึงเราทั้งสอง ตลอดครึ่งคืนหรือตลอดคืน จักทรงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป ฉะนั้น พระบิดาจักเป็นกำพร้าเสียแน่แท้ ทรงกรรแสงไห้อยู่ตลอด ราตรีนาน ทรงระลึกถึงเราทั้งสองตลอดครึ่งคืนหรือตลอดคืน ก็จักทรง ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูแล้งเหือดแห้งไป ฉะนั้น รุกขชาติเหล่านี้มีต่างๆ พันธุ์ คือ ต้นหว้า ต้นยางทราย กิ่งห้อยย้อย เราเคยเล่นมาแต่กาลก่อน วันนี้เราทั้งสองจะต้องละรุกขชาติเหล่านั้น ซึ่งเราเคยเก็บดอกและผลเล่นมาช้านาน รุกขชาติที่มีผลต่างๆ ชนิด คือ โพธิ์ใบ ขนุน ไทร และมะขวิด ที่เราเคยเล่นมาในกาลก่อน วันนี้ เราทั้งสองจะต้องละรุกขชาติที่เราเคยเก็บผลกินมาช้านาน นี่สวน นี่ สระน้ำเย็นใส เราเคยเที่ยวเล่นเคยลงทรงสนานมาแต่กาลก่อน วันนี้ เราทั้งสองจะต้องละสวนและสระนั้นไป บุปผชาติต่างๆ ชนิดบนภู เขาโน้น เราเคยเก็บมาทัดทรงในกาลก่อน วันนี้เราจะต้องละบุปผชาติ เหล่านั้นไป นี่ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว พระบิดาทรงปั้นเพื่อให้ เราทั้งสองเล่น เราเคยเล่นมาในกาลก่อน วันนี้เราทั้งสองจะต้องละ ตุ๊กตาเหล่านั้นไป.
[๑๑๗๕] สองพระกุมารอันชูชกกำลังพาไป ได้กราบทูลสั่งพระบิดาดังนี้ว่า ข้าแต่ พระชนกนาถ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาตรัสบอกพระมารดาว่า ลูก ทั้งสองไม่มีโรค และขอพระองค์จงทรงพระสำราญ ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว เหล่านี้ของกระหม่อมฉัน ขอพระองค์โปรดประทานแก่พระเจ้า แม่ ความโศกเศร้าจะพินาศเพราะตุ๊กตาเหล่านั้น และพระมารดาได้ ทอดพระเนตรเห็นตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า และตุ๊กตาวัว ของลูกเหล่านั้น จักห้ำหั่นความโศกให้เสื่อมหาย.
[๑๑๗๖] ลำดับนั้น พระเวสสันดรขัตติยราช ครั้นทรงบำเพ็ญทานแล้ว เสด็จ เข้าบรรณศาลาทรงกรรแสงพิลาปว่า วันนี้ลูกน้อยทั้งสองจะหิวข้าวอยาก น้ำอย่างไรหนอ จะต้องเดินทางไกล ร้องไห้สะอึกสะอื้น เวลาเย็น บริโภคอาหาร ใครจะให้อาหารแก่ลูกทั้งสองนั้น วันนี้ลูกน้อยทั้งสอง จะหิวข้าวอยากน้ำอย่างไรหนอ จะต้องเดินทางไกลร้องไห้สะอึกสะอื้น เวลาเย็นเป็นเวลาบริโภคอาหาร ลูกทั้งสองเคยอ้อนกะมัทรีผู้มารดาว่า ข้าแต่พระเจ้าแม่ ลูกทั้งสองหิวแล้ว ขอพระเจ้าแม่จงประทานแก่ลูกทั้ง สอง ลูกทั้งสองไม่มีรองเท้า จะเดินทางเท้าเปล่าอย่างไรได้ ลูกทั้งสอง จะเมื่อยล้า มีบาทาฟกบวม ใครจะจูงมือลูกทั้งสองเดินทาง อย่างไรหนอ พราหมณ์นั้นช่างร้ายกาจไม่ละอาย เฆี่ยนตีลูกทั้งสองผู้ไม่ประทุษร้ายต่อ หน้าเรา แม้ตกเป็นทาสีเป็นทาสของเรา หรือคนรับใช้ใครที่มีความ ละอายจักเฆี่ยนตีคนที่ต่ำทรามแม้เช่นนั้นได้ พราหมณ์ช่างด่าช่างตีลูกรัก ทั้งสองของเราผู้มองเห็นอยู่ซึ่งเป็นเหมือนดังปลาติดอยู่ที่ปากลอบปากไซ ฉะนั้น.
[๑๑๗๗] เราจักถือธนูด้วยมือขวา หรือจักเหน็บพระขรรค์ไว้ข้างซ้ายไปนำเอาลูก ทั้งสองของเรามา เพราะลูกทั้งสองถูกเฆี่ยนตีเป็นทุกข์หนัก การที่ลูก น้อยทั้งสองต้องเดือดร้อนเป็นทุกข์แสนสาหัสไม่ใช่ฐานะ ก็ใครเล่ารู้ ธรรมของสัตบุรุษแล้วให้ทาน ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
[๑๑๗๘] ได้ยินว่า นรชนบางพวกในโลกนี้ พูดความจริงไว้อย่างนี้ว่า ลูกคนใด ไม่มีมารดาของตน ลูกคนนั้นเป็นเหมือนไม่มีบิดา น้องกัณหามานี่เถิด เราทั้งสองจักตายด้วยกัน เราทั้งสองจะเป็นอยู่ทำไมไม่มีประโยชน์ พระ บิดาผู้เป็นจอมประชานิกร ประทานเราทั้งสองแก่พราหมณ์ ผู้แสวงหา ทรัพย์ เป็นคนร้ายกาจเหลือเกิน แกเฆี่ยนตีเราทั้งสอง เสมือนนาย โคบาลประหารโค ฉะนั้น รุกขชาติเหล่านี้มีต่างๆ พันธุ์ คือ ต้นหว้า ต้นยางทราย กิ่งห้อยย้อย เราเคยเล่นมาแต่กาลก่อน วันนี้เราทั้งสอง จะต้องละรุกขชาติเหล่านั้น ซึ่งเคยเก็บดอกและผลเล่นมาช้านาน รุกข ชาติที่มีผลต่างๆ ชนิด คือ โพธิ์ใบ ขนุนไทร และขวิด ที่เราเคยเล่น ในกาลก่อน วันนี้เราทั้งสองจะต้องละรุกขชาติที่เราเคยเก็บผลกินมาช้า นาน นี่สวน นี่สระน้ำเย็นใส เราเคยเที่ยวเล่นเคยลงสรงสนานมาแต่ กาลก่อน วันนี้เราทั้งสองจะต้องละสวนและสระเหล่านั้นไป บุปผชาติ ต่างๆ ชนิด บนภูเขาโน้น เราเคยเก็บมาทัดทรงในกาลก่อน วันนี้เรา จะต้องละบุปผชาติเหล่านั้นไป นี้ตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว พระ บิดาทรงปั้น เพื่อให้เราทั้งสองเล่น เราเคยเล่นในกาลก่อน วันนี้เรา ทั้งสองจะต้องละตุ๊กตาเหล่านั้นไป.
[๑๑๗๙] พระกุมารทั้งสอง คือ พระชาลีและกัณหาชินา อันชูชกพราหมณ์นำไป พอหลุดพ้นจากมือพราหมณ์ ต่างก็รีบวิ่งหนีไปในสถานที่นั้นๆ.
[๑๑๘๐] ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นจับเถาวัลย์ถือไม้เท้า ทุบตีพระกุมารทั้งสองนำไป เมื่อพระเวสสันดร สีพีราชกำลังทอดพระเนตรเห็นอยู่.
[๑๑๘๑] พระกัณหาชินาได้กราบทูลพระบิดาว่า ข้าแต่พระบิดา พราหมณ์นี้ทุบตี ลูกด้วยไม้เท้า ดังว่าทุบตีทาสีผู้เกิดในเรือนเบี้ย ข้าแต่พระบิดา ก็ พราหมณ์นี้คงไม่ใช่พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คงเป็นยักษ์แปลง เพศเป็นพราหมณ์ นำเอาลูกทั้งสองไปเพื่อจะกินเป็นอาหาร ลูกทั้งสอง ถูกพราหมณ์ปีศาจกำลังนำไป ข้าแต่พระบิดา ช่างกระไรเลย พระองค์ ทรงนิ่งเฉยอยู่ได้.
[๑๑๘๒] เท้าของเราทั้งสองนี้เล็กเป็นทุกข์ ทั้งหนทางก็ไกลยากที่จะเดินไปได้ เมื่อพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ พราหมณ์เล่าก็เร่งเราทั้งสองให้รีบเดิน ข้าพเจ้าทั้งสอง ขอคร่ำครวญกราบไหว้เทพเจ้าทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่ ณ ภูเขาลำเนาไพร ในสระน้ำ และบ่อน้ำอันมีท่าราบเรียบด้วยเศียรเกล้า ขอเทพเจ้าผู้สถิตอยู่ ณ ป่าหญ้าลดาวัลย์ และต้นไม้ที่เป็นโอสถ บน ภูเขา ที่ป่าไม้ จงช่วยกราบทูลพระชนนีว่า ข้าน้อยทั้งสองนี้ไม่มีโรค พราหมณ์นี้นำเอาข้าทั้งสองไป อนึ่ง ขอท่านทั้งหลายจงกราบทูลพระเจ้า แม่มัทรีชนนีของข้าน้อยทั้งสองว่า ถ้าพระแม่เจ้าปรารถนาจะเสด็จ ติดตามมา ก็พึงรีบเสด็จติดตามข้าน้อยทั้งสองมาเร็วพลัน ทางนี้เป็นทาง เดินคนเดียวตัดตรงไปยังอาศรม พระมารดาพึงเสด็จไปตามทางนั้นก็จะ ทันได้เห็นลูกทั้งสองโดยเร็วพลัน โอ้หนอ พระเจ้าแม่ผู้ทรงเพศตาปสินี ทรงนำมูลผลาหารมาจากป่า ได้ทรงเห็นอาศรมอันว่างเปล่า ก็จักทรงมี ทุกข์ พระมารดาเที่ยวแสวงหามูลผลาหารจนล่วงเวลา คงได้มาไม่น้อย คงไม่ทรงทราบว่า ลูกทั้งสองถูกพราหมณ์ผู้แสวงหาทรัพย์หยาบช้าร้าย กาจผูกมัดเฆี่ยนตีดังหนึ่งนายโคบาลทุบตีโค ฉะนั้น เออก็วันนี้ลูกทั้งสอง พึงได้เห็นพระมารดาเสด็จกลับมาจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็น พระมารดาพึงประทานผลไม้อันเจือด้วยน้ำผึ้งแก่พราหมณ์ ในกาลนั้น พราหมณ์นี้หิวกระหาย ไม่พึงเร่งให้เราทั้งสองเดินนัก เท้าทั้งสองของเรา ฟกบวมหนอ พราหมณ์ก็เร่งให้เรารีบเดิน พระกุมารทั้งสองทรงรักใคร่ ในพระมารดา ทรงกรรแสงพิลาปอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยประการดังนี้. (นี้) ชื่อทารกบรรพ.
[๑๑๘๓] เทวดาเหล่านั้นได้ฟังสองพระกุมารทรงพิลาปร่ำรำพันแล้ว จึงได้กล่าวกะ เทพบุตรทั้ง ๓ ว่า ท่านทั้ง ๓ จงแปลงเพศเป็นสัตว์ดุร้ายในป่า คือ เป็นราชสีห์ ๑ เสือโคร่ง ๑ เสือเหลือง ๑ อย่าให้พระราชบุตรีเสด็จ กลับจากการแสวงหามูลผลาหารในเวลาเย็นได้ ท่านทั้งหลายอย่าให้สัตว์ ร้ายในป่าอันเป็นแว่นแคว้นของพวกเรา เบียดเบียนพระราชบุตรีได้ ถ้า ราชสีห์ เสือโคร่งและเสือเหลือง พึงเบียดเบียนพระนาง ผู้ทรง ศุภลักษณ์ พระชาลีกุมารก็ไม่พึงมี พระกัณหาชินากุมารีจะพึงมีแต่ที่ไหน พระนางผู้สมบูรณ์ด้วยลักขณาจะพึงเสื่อมเสียโดยส่วนทั้งสอง คือ พระ ภัศดาและพระลูกรัก เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงกระทำอารักขาให้ดี.
[๑๑๘๔] เสียมของเราหล่นลงแล้ว และตาเบื้องขวาของเราก็เขม่นอยู่ริกๆ ต้นไม้ ทั้งหลายที่เคยมีผล ก็กลายเป็นไม่มีผล ทิศทั้งปวงก็ทำให้เราฟั่นเฟือน ลุ่มหลง เมื่อเรากลับบ่ายหน้ามาสู่อาศรมในเวลาเย็น เมื่อพระอาทิตย์จะ อัศดงคต ๓ สัตว์ร้ายก็ปรากฏยืนขวางทาง พระอาทิตย์ก็คล้อยลงต่ำ และอาศรมก็ยังอยู่ไกลหนอ ก็มูลผลาผลอันใดที่เราจักนำไปแต่ป่านี้ พระเวสสันดรและลูกน้อยทั้งสองพึงเสวยมูลผลาผลนั้น โภชนะอื่นไม่มี พระจอมกษัตริย์นั้นจักประทับอยู่ในบรรณศาลาพระองค์เดียว คงทรง ปลอบประโลมให้ลูกน้อยทั้งสองผู้กระหายหิวให้ยินดี คอยทอดพระเนตร ดูเราผู้ยังไม่มาถึงเป็นแน่แท้ ลูกน้อยทั้งสองของเราผู้กำพร้ายากไร้ ใน เวลาเย็นอันเป็นเวลาดื่มนม จักคอยดื่มน้ำนม ดังลูกเนื้อที่กำลังดื่มนม ฉะนั้น เป็นแน่แท้ ลูกน้อยทั้งสองของเราผู้กำพร้ายากไร้ ในเวลาเย็น อันเป็นเวลาดื่มน้ำ ก็จักคอยดื่มน้ำ ดังลูกเนื้อที่กำลังกระหายน้ำ ฉะนั้น เป็นแน่แท้ ลูกน้อยทั้งสองของเราผู้กำพร้ายากไร้ คงจะยืนคอยต้อนรับ เรา เหมือนหนึ่งลูกโคอ่อนคอยชะแง้หาแม่ ฉะนั้น เป็นแน่แท้ ลูก น้อยทั้งสองของเราผู้ยากไร้ คงจะยืนคอยต้อนรับเราเสมือนหนึ่งหงส์ซึ่ง ตกอยู่ในเปือกตม ฉะนั้น เป็นแน่ ลูกน้อยทั้งสองของเราผู้ยากไร้ คง จะคอยต้อนรับเราอยู่ในที่ใกล้ๆ อาศรม หนทางที่จะไปก็มีอยู่ทางเดียว ทั้งเป็นทางเดินไปได้คนเดียว โดยข้างหนึ่งมีสระ อีกข้างหนึ่งมีบึง เรา ไม่เห็นทางอื่นซึ่งเป็นทางไปยังอาศรมได้ ข้าแต่พระยามฤคราชผู้มีกำลัง มากในป่าใหญ่ ดิฉันขอนอบน้อมต่อท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็น พี่น้องของดิฉันโดยธรรม ดิฉันขออ้อนวอน ขอท่านทั้งหลายจงให้ หนทางแก่ดิฉันเถิด ดิฉันเป็นภรรยาของพระราชบุตรผู้มีสิริ ผู้ถูกขับไล่ จากสีพีรัฐ ดิฉันมิได้ดูหมิ่นพระราชสวามีพระองค์นั้นเลย เหมือนดัง นางสีดาคอยอนุวัตรตามพระรามราชสวามี ฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายจง หลีกทางให้ดิฉัน แล้วกลับไปพบลูกน้อยของท่านในเวลาออกหาอาหาร ในเวลาเย็น ส่วนดิฉันก็จะพึงได้กลับไปพบเห็นลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา อนึ่ง มูลมันผลไม้นี้ก็มีอยู่มาก และที่เป็น ภักษาก็มีไม่น้อย ดิฉันขอแบ่งให้ท่านทั้งหลายกึ่งหนึ่ง ดิฉันอ้อนวอน แล้ว ขอท่านทั้งหลายจงให้ทางแก่ดิฉันเถิด พระมารดาของเราทั้งหลาย เป็นพระราชบุตรี และพระบิดาของเราทั้งหลายก็เป็นพระราชบุตร ท่าน ทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นพี่น้องของดิฉันโดยธรรม ดิฉันอ้อนวอนแล้ว ขอ ท่านทั้งหลายจงหลีกทางให้ดิฉันเถิด.
[๑๑๘๕] เทพเจ้าทั้งหลายผู้แปลงกายเป็นพาลมฤค ได้ฟังพระวาจาอันไพเราะ น่า กรุณาเป็นอันมาก ของพระนางผู้รำพันวิงวอนอยู่ ได้พากันหลีกจากทาง ไป.
[๑๑๘๖] พระลูกน้อยทั้งสองพระขมุกขมอมไปด้วยฝุ่น เคยยืนคอยต้อนรับแม่อยู่ ที่ตรงนี้ ดังหนึ่งลูกโคอ่อนยืนคอยชะแง้หาแม่ ฉะนั้น พระลูกน้อยทั้ง สองขมุกขมอมไปด้วยฝุ่น เคยยืนคอยต้อนรับแม่อยู่ตรงนี้ เหมือนดัง หงส์ติดอยู่ในเปือกตม ฉะนั้น พระลูกน้อยทั้งสองขมุกขมอมไปด้วยฝุ่น เคยยืนคอยต้อนรับแม่อยู่ใกล้ๆ อาศรมที่ตรงนี้ พระลูกน้อยทั้งสองเคย ร่าเริงหรรษาวิ่งมาต้อนรับแม่ ราวกับจะทำให้หทัยของแม่หวั่นไหว เหมือนลูกเนื้อเห็นแม่แล้วยกหูชูคอวิ่งเข้าไปหาแม่ร่าเริงหรรษาวิ่งไปมา รอบๆ ฉะนั้น วันนี้แม่มิได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีแม่ กัณหาชินานั้นเหมือนอย่างเคย แม่ละลูกน้อยทั้งสองไว้ออกไปหาผลไม้ ดังแม่แพะและแม่เนื้อละลูกน้อยๆ ไปหากิน ดังปักษีละทิ้งลูกน้อยไป จากรัง หรือดังนางราชสีห์ผู้ต้องการอาหาร ละลูกน้อยไว้ออกไปหากิน ฉะนั้น วันนี้แม่ไม่เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีและแม่กัณหา ชินาเหมือนอย่างเคย นี้เป็นรอยเท้าวิ่งไปมาของพระลูกน้อยทั้งสอง ดุจ รอยเท้าของช้างทั้งหลายที่เชิงเขา นี่กองทรายที่ลูกน้อยทั้งสองขนมากอง เล่น เรี่ยรายอยู่ ณ ที่ใกล้ๆ อาศรม วันนี้แม่ไม่เห็นลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินาเหมือนอย่างเคย พระลูกน้อยทั้งสองเคย ขมุกขมอมด้วยทรายและฝุ่นวิ่งเข้ามาล้อมแม่อยู่รอบข้าง วันนี้แม่มิได้ เห็นพระลูกน้อยทั้งสองนั้น เมื่อก่อนพระลูกน้อยทั้งสองเคยต้อนรับแม่ ผู้กลับมาจากป่าแต่ไกล วันนี้แม่ไม่เห็นลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีแม่ กัณหาชินาเหมือนอย่างเคยวันก่อนๆ พระลูกน้อยทั้งสองคอยแลดูแม่ อยู่แต่ไกล เหมือนลูกแพะหรือลูกเนื้อทรายคอยชะแง้หาแม่ ฉะนั้น วันนี้ แม่ไม่ได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสองนั้นเลย เออก็นี่ผลมะตูมสุกสีดังทอง เป็นเครื่องเล่นของลูกน้อยทั้งสอง (ไฉน) จึงมาตกกลิ้งอยู่ที่นี่ วันนี้แม่ มิได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีแม่กัณหาชินาเหมือนอย่างเคย ก็ถันทั้งสองของแม่นี้เต็มไปด้วยน้ำนม และอุระประเทศของแม่ดังหนึ่ง ว่าจะแตกทำลาย วันนี้แม่ไม่ได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือพ่อชาลี แม่กัณหาชินาเหมือนอย่างเคย ใครเล่าจะค้นชายพกแม่ ใครเล่าจะ เหนี่ยวถันทั้งสองของแม่ วันนี้แม่ไม่ได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีแม่กัณหาชินาเหมือนอย่างเคย เวลาเย็นพระลูกน้อยทั้งสอง ขมุกขมอมไปด้วยฝุ่น เคยวิ่งเข้ามาเกาะที่ชายพกแม่ วันนี้แม่ไม่ได้เห็น พระลูกน้อยทั้งสอง เมื่อก่อนอาศรมนี้ปรากฏแก่เราดังว่ามีมหรสพ วันนี้ เมื่อแม่มิได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสองนั้น อาศรมเหมือนดังจะหมุนเวียน นี่อย่างไรอาศรมจึงปรากฏแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ ส่งเสียงร้อง ลูกน้อยทั้งสองของแม่ จักตายเสียแล้วเป็นแน่แท้ นี่ อย่างไรอาศรมจึงปรากฏแก่เราดูเงียบสงัดจริงหนอ แม้ฝูงนกก็มิได้ส่ง เสียงร้อง พระลูกน้อยทั้งสองของแม่ จักตายเสียแล้วเป็นแน่แท้.
[๑๑๘๗] นี่อย่างไรฝ่าพระบาทจึงทรงนิ่งอยู่ เออก็ใจของหม่อมฉันเหมือนดังฝัน เห็นสุบินในเวลาราตรี แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ส่งเสียงร้อง พระลูกน้อยทั้ง สองของหม่อมฉันคงจักตายเสียแล้วเป็นแน่แท้ นี่อย่างไรฝ่าบาทจึงทรง นิ่งอยู่ แม้ฝูงนกก็มิได้ส่งเสียงร้อง พระลูกน้อยทั้งสองของหม่อมฉัน คงจักตายเสียแล้วเป็นแน่แท้ ข้าแต่พระลูกเจ้า เหล่าเนื้อร้ายในป่าหรือ ในทุ่งกว้าง มาเคี้ยวกินพระลูกน้อยทั้งสองของหม่อมฉันเสียแล้วหรือ ไฉน หรือว่าใครมานำเอาพระลูกน้อยทั้งสองของหม่อมฉันไป หรือ ฝ่าพระบาททรงส่งพระลูกน้อยทั้งสองซึ่งกำลังช่างพูดจาน่ารักใคร่ไปเป็น ทูต หรือว่าเข้าไปหลับอยู่ในบรรณศาลา หรือพระลูกน้อยทั้งสองของ เรานั้นเที่ยวเล่นคะนองออกไปในภายนอก เส้นพระเกศาพระหัตถ์และ พระบาทซึ่งมีลายตาข่ายของพระลูกน้อยทั้งสองนั้น มิได้ปรากฏเลย หรือ ว่านกทั้งหลายมาโฉบเฉี่ยวเอาไป หรือว่าใครนำเอาพระลูกน้อยทั้งสอง ของหม่อมฉันไป.
[๑๑๘๘] ความทุกข์ที่หม่อมฉันมิได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ ชาลีและกัณหา ชินาในวันนี้นั้น เป็นทุกข์ยิ่งกว่าการถูกขับไล่จากแว่นแคว้น เปรียบ เหมือนแผลที่ถูกแทงด้วยลูกศร ฉะนั้น ก็การที่หม่อมฉันมิได้เห็นพระ ลูกน้อยทั้งสอง ทั้งฝ่าพระบาทก็มิได้ตรัสกับหม่อมฉันนี้ เป็นลูกศร เสียบแทงหฤทัยของหม่อมฉันซ้ำสอง หฤทัยของหม่อมฉันหวั่นไหว ข้าแต่พระราชบุตร ถ้าคืนวันนี้ฝ่าพระบาทมิได้ตรัสกับหม่อมฉัน พรุ่งนี้ เช้าฝ่าพระบาทก็น่าจะได้ทอดพระเนตรหม่อมฉัน ผู้ปราศจากชีวิตตาย เสียเป็นแน่.
[๑๑๘๙] เจ้ามัทรีมีรูปงามอุดม เป็นราชบุตรีผู้มียศ ไปแสวงหามูลผลาหารตั้งแต่ เช้า ไฉนหนอ จึงกลับมาจนเวลาเย็น.
[๑๑๙๐] ฝ่าพระบาทได้ทรงสดับมิใช่หรือ ซึ่งเสียงบันลือแห่งราชสีห์ และเสือ โคร่ง ทั้งเสียงสัตว์จตุบาทและฝูงนก ส่งเสียงคำรามร้องสนั่นเป็นอัน เดียวกัน ต่างก็มุ่งมาเพื่อจะดื่มน้ำยังสระนี้ บุพพนิมิตได้เกิดมีแก่ หม่อมฉันผู้กำลังเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่ เสียมพลัดตกจากมือของหม่อมฉัน และกระเช้าที่หาบอยู่ก็พลัดตกจากบ่า ทีนั้นหม่อมฉันก็หวาดกลัวเป็น กำลัง จึงกระทำอัญชลีนอบน้อมทิศทั่วทุกแห่ง ขอความสวัสดีพึงมีแต่ ที่นี้ ขอพระลูกเจ้าของเราทั้งหลาย อย่าได้ถูกราชสีห์หรือเสือเหลือง เบียดเบียนเลย หมี สุนัขป่า หรือเสือดาว อย่ามากล้ำกรายพระลูกน้อย ทั้งสองของข้าเลย ๓ สัตว์ร้ายในป่า คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง และเสือ เหลืองยืนขวางทางหม่อมฉันเสีย เหตุนั้น หม่อมฉันจึงกลับมาจนพลบค่ำ.
[๑๑๙๑] ตัวเราเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นปฏิบัติพระสวามีบำรุงพระลูกน้อยทั้งสอง ทุกวันคืน ดังอันเตวาสิกปฏิบัติอาจารย์ ฉะนั้น ตัวเรามุ่นชฎาเป็น พรหมจาริณี นุ่งห่มหนังอชินะ เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่าทุกวันคืน เพราะความรักพระลูกทั้งสองเทียวนะพระลูก นี่ขมิ้นสีดังทอง ที่แม่หา มาบดไว้สำหรับใช้เพื่อเจ้าทั้งสองอาบน้ำ นี่ผลมะตูมสุกสีเหลือง แม่หา มาให้เพื่อลูกทั้งสองเล่น อนึ่ง แม่ได้สรรหาผลไม้สุกอื่นๆ ที่น่าพอใจ มาเพื่อให้ลูกทั้งสองเล่น นี้เป็นของเล่นของลูกรักทั้งสอง ข้าแต่พระ จอมกษัตริย์ นี่เหง้าบัวพร้อมทั้งฝักและหน่อแห่งอุบลและกระจับอัน คลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้ง เชิญพระองค์ทรงเสวยพร้อมพระโอรสพระธิดาเถิด ขอพระองค์ทรงโปรดประทานดอกปทุมแก่พ่อชาลี ส่วนดอกโกมุทขอ ได้โปรดประทานแก่กัณหากุมารี พระองค์จะได้ทอดพระเนตรพระกุมาร ประดับประดาด้วยดอกไม้ฟ้อนรำอยู่ ขอได้โปรดตรัสเรียกสองพระราช บุตรมาเถิด แม่กัณหาชินาจะได้มานี่ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ขอ พระองค์ทรงสดับพระสุรเสียงอันไพเราะอ่อนหวานของแม่กัณหาชินา ขณะเข้าสู่อาศรม เราทั้งสองถูกเนรเทศจากแว่นแคว้น เป็นผู้มีสุขและ ทุกข์เสมอกัน เออก็พระองค์ได้ทรงเห็นพระราชบุตรทั้งสอง คือ พ่อ ชาลีแม่กัณหาชินาบ้างหรือ ชรอยว่าหม่อมฉันได้สาปแช่ง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล เป็นพหูสูต ในโลก วันนี้หม่อมฉันจึงไม่ ได้เห็นพระลูกน้อยทั้งสอง คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา.
[๑๑๙๒] หมู่นี้นี่ก็ต้นหว้า นี่ต้นยางทรายที่ทอดกิ่งค้อมลงมา เป็นรุกขชาติต่างๆ พันธุ์ ที่สองพระกุมารเคยวิ่งเล่น แม่มิได้เห็นสองพระกุมารนั้น หมู่นี้ นี่ก็โพธิ์ใบ ต้นขนุน ต้นไทร ต้นมะขวิด เป็นไม้มีผลนานาชนิดที่ พระกุมารทั้งสองเคยมาวิ่งเล่น แม่มิได้เห็นสองพระกุมารนั้น หมู่ไม้ เหล่านี้ตั้งอยู่ดุจอุทยาน นี่ก็เป็นแม่น้ำเย็นซึ่งสองพระกุมารเคยมาเล่น แม่มิได้เห็นสองพระกุมารนั้น รุกขชาติที่ทรงดอกต่างๆ มีอยู่บนภูเขานี้ ที่สองพระกุมารเคยทัดทรงเล่น แม่มิได้เห็นสองพระกุมารนั้น รุกขชาติ ที่ทรงผลต่างๆ มีอยู่บนภูเขานี้ ที่สองพระกุมารเคยมาเสวย แม่มิได้ เห็นสองพระกุมารนั้น เหล่านี้เป็นตุ๊กตาช้าง ตุ๊กตาม้า ตุ๊กตาวัว ที่ พระกุมารทั้งสองเคยมาเล่น แม่มิได้เห็นสองพระกุมารนั้น.
[๑๑๙๓] เหล่านี้เป็นตุ๊กตาเนื้อทรายทองตัวเล็กๆ ตุ๊กตากระต่าย ตุ๊กตานกเค้า ตุ๊กตาชะมด เป็นอันมากที่พระกุมารทั้งสองเคยเล่น แม่มิได้เห็นพระ กุมารทั้งสองนั้น เหล่านี้ตุ๊กตาหงส์ เหล่านี้ตุ๊กตานกกะเรียน ตุ๊กตา นกยูงมีแววหางงามวิจิตร ที่สองพระกุมารเคยมาเล่น แม่มิได้เห็นพระ กุมารทั้งสองเลย.
[๑๑๙๔] พุ่มไม้เหล่านี้มีดอกบานทุกฤดูกาล ที่สองพระกุมารเคยมาเล่น แม่มิได้ เห็นพระกุมารทั้งสองนั้น สระโบกขรณีนี้น่ารื่นรมย์ เพรียกไปด้วย เสียงนกจากพรากมาคูขัน ดาดาษไปด้วยมณฑา ปทุมและอุบล ที่สอง พระกุมารเคยมาเล่น แม่มิได้เห็นพระกุมารทั้งสองนั้น.
[๑๑๙๕] ฟืนฝ่าพระบาทก็มิได้หัก น้ำก็มิได้ตัก แม้ไฟก็มิได้ติด เพราะเหตุไร หนอ พระองค์จึงทรงหงอยเหงาซบเซาอยู่ ที่รักกับที่รักประชุมพร้อมกัน อยู่ย่อมหายความทุกข์ร้อน แต่วันนี้หม่อมฉันมิได้เห็นพระกุมารทั้งสอง คือ พ่อชาลีและแม่กัณหาชินา.
[๑๑๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นพระลูกรักทั้งสองของเรา ผู้ใดมานำเอาพระลูกรักทั้งสองนั้นไป หรือว่าพระลูกรักทั้งสองนั้นตาย เสียแล้ว แม้ฝูงกาป่าก็มิได้ขานขัน พระลูกน้อยทั้งสองของหม่อมฉัน ตายเสียแล้วเป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็น พระลูกรักทั้งสองของเรา ผู้ใดมานำเอาพระลูกรักทั้งสองนั้นไป หรือว่า พระลูกรักทั้งสองนั้นตายเสียแล้ว แม้ฝูงนกก็มิได้ขานขัน พระลูกน้อย ทั้งสองของหม่อมฉันตายเสียแล้วเป็นแน่.
[๑๑๙๗] พระนางมัทรีทรงปริเทวนา พลางเที่ยววิ่งค้นหาตลอดซอกบรรพตและ ป่าชัฏ ในบริเวณเขาวงกตนั้น แล้วเสด็จกลับมายังพระอาศรม ทรง กรรแสงอยู่ในสำนักของพระราชสวามี ทูลคร่ำครวญว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นพระลูกรักทั้งสองของเรา ผู้ใดมานำเอา พระลูกรักทั้งสองนั้นไป หรือว่าพระลูกรักทั้งสองนั้นตายเสียแล้ว แม้ ฝูงกาป่าก็มิได้ขานขัน พระลูกน้อยทั้งสองของหม่อมฉันตายเสียแล้ว เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ หม่อมฉันมิได้เห็นพระลูกรักทั้ง สองของเรา ผู้ใดมานำเอาพระลูกทั้งสองนั้นไป หรือว่าพระลูกรักทั้งสอง นั้นตายเสียแล้ว แม้ฝูงนกก็มิได้ขานขัน พระลูกน้อยทั้งสองของ หม่อมฉันตายเสียแล้วเป็นแน่ พระนางมัทรีผู้ทรงพระรูปพระโฉมอัน อุดม เป็นพระราชบุตรีผู้มียศเที่ยวไปที่โคนต้นไม้ ที่บริเวณภูเขา และ ในถ้ำมิได้ทรงพบเห็นสองพระกุมาร จึงทรงประคองพระพาหากรรแสง ร่ำไห้คร่ำครวญ ล้มสลบลงที่พื้นพสุธา ณ ที่ใกล้บาทมูลของพระเวสสันดร นั้นแล.
[๑๑๙๘] พระเวสสันดรราชฤาษี ทรงวักน้ำประพรมพระนางมัทรีราชบุตรี ผู้ล้มสลบ ลง ณ ที่ใกล้บาทมูลของพระองค์นั้น ครั้นทรงทราบว่า พระนางฟื้น พระองค์ดีแล้ว จึงได้ตรัสบอกเนื้อความนี้ กะพระนางในภายหลังว่า ดูกรมัทรีฉันไม่ปรารถนาจะแจ้งความทุกข์แก่เธอแต่แรกก่อน พราหมณ์ แก่เป็นยาจกผู้ยากจนมาสู่ที่อยู่ของฉัน ฉันได้ให้ลูกทั้งสองแก่พราหมณ์ นั้นไป ดูกรมัทรี เธออย่ากลัวเลย จงดีใจเถิด ดูกรมัทรี เธอจงดู ฉันเถิด จงอย่าดูลูกทั้งสองเลย อย่ากรรแสงไห้ไปนักเลย เราเป็นผู้ ไม่มีโรค ยังมีชีวิตอยู่ คงจักได้พบเห็นลูกทั้งสองที่พราหมณ์นำไปเป็น แน่แท้ สัปบุรุษเห็นยาจกมาถึงแล้วพึงให้บุตร ปศุสัตว์ ธัญชาติ และทรัพย์อย่างอื่นในเรือนเป็นทานได้ ดูกรมัทรี ขอเธอจงอนุโมทนา ปุตตทานอันสูงสุดของเรา.
[๑๑๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขออนุโมทนาปุตตทานอันอุดมของ ฝ่าพระบาท ฝ่าพระบาททรงพระราชทานปุตตทาน อันอุดมแล้ว จงยัง พระหฤทัยให้เลื่อมใส ขอจงทรงบำเพ็ญทานยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นใหญ่ของประชุมชนในหมู่มนุษย์ ซึ่งมักเป็นคนตระหนี่ เหนียว ฝ่าพระบาทพระองค์เดียวผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ ได้ทรงบำเพ็ญ ปิยปุตตทานแก่พราหมณ์แล้ว.
[๑๒๐๐] ปฐพีก็บันลือลั่นเสียงสนั่นบันลือไปถึงไตรทิพย์สายฟ้าแลบอยู่แปลบ ปลาบโดยรอบ เสียงสะท้านปรากฏ ดังหนึ่งว่าเสียงภูเขาถล่มทลาย.
[๑๒๐๑] เทพเจ้าสองหมู่ ผู้สิงสถิตอยู่ที่นารทบรรพต ถวายอนุโมทนาแก่ พระหน่อทศพลเวสสันดรนั้นว่า พระอินทร์ พระพรหมทั้งท้าวเวสสวัณ มหาราช และเทพเจ้าชาวดาวดึงส์สวรรค์ พร้อมด้วยพระอินทร์ทุก ถ้วนหน้า ย่อมถวายอนุโมทนาพระนางเจ้ามัทรีผู้ทรงพระรูปพระโฉมอัน อุดม เป็นพระราชบุตรีผู้มียศทรงถวายอนุโมทนาปุตตทาน อันอุดมของ พระเวสสันดร ของพระเวสสันดรราชฤาษี ด้วยประการฉะนี้แล. (นี้) ชื่อมัทรีบรรพ
[๑๒๐๒] ลำดับนั้น เมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา เวลาเช้าท้าว สักกเทวราชทรงแปลงเพศเป็นอย่างพราหมณ์ ได้ปรากฏแก่สองกษัตริย์ นั้น.
[๑๒๐๓] พระคุณเจ้าไม่มีโรคาพาธหรือหนอ พระคุณเจ้าทรงพระสำราญดีหรือ ทั้งมูลมันผลไม้มีมากหรือ เหลือบยุงและสัตว์เสือกคลานมีน้อยแล หรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาลมฤคไม่มีมาเบียดเบียนแลหรือ.
[๑๒๐๔] ดูกรพราหมณ์ เราทั้งหลายไม่มีโรคาพาธเบียดเบียน อนึ่งเราทั้งหลาย เป็นสุขสำราญดี เราเยียวยาอัตภาพด้วยการหาผลาหารสะดวกดีทั้งมูลมัน ผลไม้ก็มีมาก เหลือบ ยุง สัตว์เสือกคลานก็มีน้อย อนึ่ง ในป่าอัน เกลื่อนกล่นไปด้วยพาลมฤค ก็ไม่มีมาเบียดเบียนแก่เราเมื่อพวกเรามา อยู่ในป่า มีชีวิตอันตรมเตรียมมาตลอด ๗ เดือน เราพึงเห็นท่านผู้เป็น พราหมณ์บูชาไฟ ทรงเพศอันประเสริฐ ถือไม้เท้าสีดังผลมะตูม และ ลักจั่นน้ำนี้เป็นคนที่สอง ดูกรพราหมณ์ ท่านมาดีแล้ว อนึ่งท่านมิใช่ มาร้าย ดูกรท่านผู้เจริญ เชิญท่านเข้าไปภายในเถิด เชิญล้างเท้าของ ท่านเถิด ผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะทราง ผลหมากเม่า มีรส หวานปานน้ำผึ้ง เชิญเลือกฉันแต่ผลที่ดีๆ เถิดท่านพราหมณ์ แม้น้ำ ฉันนี้ก็เย็นสนิท เรานำมาแต่ซอกเขา ดูกรพราหมณ์ ถ้าท่านจำนงหวัง ก็เชิญดื่มตามสบายเถิด ดังเราขอถามท่านมาถึงป่าใหญ่เพราะเหตุการณ์ อะไรหนอ เราถามแล้วขอท่านจงบอกความนั้นแก่เราเถิด.
[๑๒๐๕] ห้วงน้ำ (ในปัญจมหานที) เต็มเปี่ยม ไม่มีเวลาเหือดแห้งฉันใด พระองค์มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยศรัทธา ฉันนั้น เกล้ากระหม่อมฉัน กราบทูลขอแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระมเหสี แก่ เกล้ากระหม่อมฉันเถิด.
[๑๒๐๖] ดูกรพราหมณ์ เราย่อมให้มิได้หวั่นไหว ท่านขอสิ่งใดเราก็จะให้สิ่งนั้น เราไม่ซ่อนเร้นสิ่งที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน.
[๑๒๐๗] พระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐ ทรงกุมหัตถ์พระนางมัทรี จับเต้าน้ำหลั่ง อุทกวารีพระราชทานพระนาง ให้เป็นทานแก่พราหมณ์ ขณะนั้น เมื่อพระมหาสัตว์ทรงบริจาคพระนางมัทรีให้เป็นทานเกิดความอัศจรรย์น่า สยดสยองโลมชาติก็ชูชัน เมทนีดลก็กัมปนาทหวั่นไหว พระนางเจ้า มัทรีมิได้มีพระพักตร์เง้างอด มิได้ทรงขวยเขิน และมิได้ทรงกรรแสง ทรงเพ่งดูพระราชสวามีโดยดุษณีภาพ โดยทรงเคารพเชื่อถือว่า ท้าวเธอ ทรงทราบซึ่งสิ่งอันประเสริฐ.
[๑๒๐๘] เมื่อตถาคตเป็นพระเวสสันดร บริจาคชาลีกัณหาชินาซึ่งเป็นธิดาและ พระมัทรีเทวี ผู้เคารพยำเกรงในพระราชสวามี มิได้คิดเสียดายเลย เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น บุตรทั้งสองเป็นที่เกลียดชังของเราก็ หามิได้ พระมัทรีเทวีไม่เป็นที่รักของเราก็หามิได้ แต่สัพพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา ฉะนั้นเราจึงได้ให้ของอันเป็นที่รัก.
[๑๒๐๙] ข้าพระบาทเป็นพระมเหสีของพระองค์ ตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว พระองค์ ก็เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในข้าพระบาท พระองค์ปรารถนาจะพระราชทานข้า พระบาทแก่ผู้ใด ก็พึงพระราชทานได้ทรงปรารถนาจะขายหรือจะฆ่า ก็ พึงทรงขายทรงฆ่าได้.
[๑๒๑๐] ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงทราบชัดซึ่งความทรงดำริของสองกษัตริย์แล้ว จึงตรัสชมดังนี้ว่าอันว่าข้าศึกทั้งมวลล้วนเป็นของทิพย์ (อันห้ามเสียซึ่ง ทิพสมบัติ) และเป็นของมนุษย์ (อันห้ามเสียซึ่งมนุษย์สมบัติ) พระ องค์ทรงชนะได้แล้วปฐพีก็บันลือลั่น เสียงสนั่นบันลือไปถึงไตรทิพย์ สายฟ้าแลบอยู่แปลบปลาบโดยรอบ เสียงสะท้านปรากฏดังหนึ่งว่าเสียง ภูเขาถล่มทลาย เทพเจ้าสองหมู่ผู้สิงสถิตอยู่ที่นารทบรรพตถวาย อนุโมทนาแก่พระหน่อทศพลเวสสันดรนั้นว่า พระอินทร์ พระพรหม ท้าวประชาบดี จันทเทพบุตร พระยม ทั้งท้าวเวสสวัณมหาราช และ เทพเจ้าทั้งปวงย่อมถวายอนุโมทนาว่า พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ทรง กระทำกรรมที่ทำได้ยาก เมื่อคนดีทั้งหลายให้สิ่งที่ให้ได้ยาก กระทำ กรรมที่ทำได้ยาก คนไม่ดีย่อมทำตามไม่ได้ เพราะว่าธรรมของสัตบุรุษ ทั้งหลายอันอสัตบุรุษตามได้โดยยาก เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ คติของ สัตบุรุษและของอสัตบุรุษ ย่อมต่างกัน อสัตบุรุษ ย่อมไปนรก สัตบุรุษมีสวรรค์เป็นที่ไป การที่พระองค์เสด็จมาอยู่ในป่า ได้พระราช ทานสองพระราชกุมารและพระมเหสีให้เป็นทานนี้ ชื่อว่าเป็นยานอัน ประเสริฐ ไม่เป็นยานก้าวลงสู่อบายภูมิ ขอปุตตทารมหาทานของพระ องค์นั้น จงเผล็ดผลในสรวงสวรรค์.
[๑๒๑๑] ข้าพเจ้าขอถวายพระนางเจ้ามัทรีพระมเหสี ผู้งามทั่วสรรพางค์ คืนให้ พระคุณเจ้า พระองค์เท่านั้นเป็นผู้สมควรแก่พระมัทรี และพระมัทรีก็ คู่ควรกับพระราชสวามี น้ำนมและสังข์ทั้งสองนี้มีสีเสมอกัน ฉันใด พระองค์และพระมัทรีก็มีพระหฤทัยเสมอกัน ฉันนั้น ทั้งสองพระองค์ เป็นกษัตริย์สมบูรณ์ด้วยพระโคตร เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายพระชนนี และชนกทรงถูกขับไล่จากแว่นแคว้น มาอยู่ในอาศรมราวป่า บุญทั้งหลาย ที่พระองค์กระทำมาแล้วฉันใด ขอพระองค์ทรงให้ทานกระทำบุญอยู่ร่ำไป ฉันนั้น.
[๑๒๑๒] ข้าแต่พระราชฤาษี หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาในสำนักของ พระองค์ ขอพระองค์จงทรงเลือกเอาพร หม่อมฉันขอถวายพร ๘ ประ การแก่พระองค์.
[๑๒๑๓] ข้าแต่ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งสรรพสัตว์ ถ้าพระองค์จะประสาทพระ พรแก่หม่อมฉันไซร้ ขอให้พระบิดาจงมารับหม่อมฉัน ขอพระบิดาพึง ทรงต้อนรับหม่อมฉันผู้ออกจากป่านี้ ไปถึงเรือนของตนด้วยราชอาสน์ พรนี้เป็นที่ ๑ เป็นพรที่หม่อมฉันปรารถนา อนึ่ง ขอให้หม่อมฉันไม่ พึงพอใจซึ่งการฆ่าคน แม้ผู้นั้นจะเป็นนักโทษถึงประหารชีวิตกระทำผิด อย่างร้ายกาจ ขอให้หม่อมฉันพึงปล่อยให้พ้นจากการถูกประหารชีวิต พรนี้เป็นที่ ๒ เป็นพรที่หม่อมฉันปรารถนา อนึ่ง ขอให้ประชาชนทั้งปวง ทั้งแก่เฒ่า เด็ก และปานกลาง พึงเข้ามาอาศัยหม่อมฉันเลี้ยงชีวิต พรนี้เป็นที่ ๓ เป็นพรที่หม่อมฉันไม่พึงคบหาภรรยาผู้อื่น พึงพอใจแต่ ในภรรยาของตน ไม่พึงลุอำนาจแห่งหญิงทั้งหลาย พรนี้เป็นที่ ๔ เป็น พรที่หม่อมฉันปรารถนา อนึ่ง ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้บุตรของหม่อม ฉัน ผู้พลัดพรากไปนั้น พึงมีอายุยืนนาน พึงครองซึ่งแผ่นดินโดย ธรรมเถิด พรนี้เป็นที่ ๕ เป็นพรที่หม่อมฉันปรารถนา อนึ่ง ตั้งแต่ วันที่หม่อมฉันกลับคืนถึงพระนครเมื่อราตรีสิ้นไป พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา แล้ว ขอให้อาหารอันเป็นทิพย์พึงปรากฏ พรนี้เป็นที่ ๖ เป็นพรที่หม่อม ฉันปรารถนา อนึ่งเมื่อหม่อมฉันให้ทานอยู่ ขอไทยธรรมอย่าได้หมดสิ้น ไป เมื่อกำลังให้ ขอให้หม่อมฉันทำจิตให้ผ่องใส ครั้นให้แล้วขอให้ หม่อมฉันไม่พึงเดือดร้อนใจในภายหลัง พรนี้เป็นที่ ๗ เป็นพรที่หม่อมฉัน ปรารถนา อนึ่ง เมื่อล่วงพ้นจากอัตภาพนี้ไป ขอให้หม่อมฉันครรไลยัง โลกสวรรค์ ให้ได้ไปถึงชั้นดุสิต อันเป็นชั้นวิเศษ ครั้นจุติจากชั้นดุสิต นั้นแล้ว พึงมาสู่ความ เป็นมนุษย์ แล้วไม่พึงเกิดต่อไป พรนี้เป็นที่ ๘ เป็นพรที่หม่อมฉันปรารถนา.
[๑๒๑๔] ครั้นท้าวสักกะจอมเทพทรงสดับพระดำรัสของ พระมหาสัตว์ เวสสันดร นั้นแล้ว ได้ตรัสดังนี้ว่าไม่นานนักดอก สมเด็จพระบิดาบังเกิดเกล้าของ พระองค์ จักเสด็จมาทรงเยี่ยมพระองค์ ครั้นตรัสพระดำรัสเท่านี้แล้ว ท้าวสุชัมบดีมฆวาฬเทวราช ทรงพระราชทานพรแก่พระเวสสันดรแล้ว ได้เสด็จกลับไปยังหมู่สวรรค์. (นี้) ชื่อสักกบรรพ
[๑๒๑๕] นั่นหน้าของใครหนองามยิ่งนัก ดังทองคำอันนายช่างหลอมด้วยไฟสุกใส หรือดังแท่งทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้า ฉะนั้นเด็กทั้งสองคนนี้มี อวัยวะคล้ายคลึงกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกันคนหนึ่งคล้ายคลึงพ่อชาลี คนหนึ่งเหมือนแม่กัณหาชินา ทั้งสองคนมีรูปเสมอกัน ดังราชสีห์ออก จากถ้ำทอง ฉะนั้นเด็กสองคนนี้ปรากฏเหมือนดังหล่อด้วยทองคำเทียว.
[๑๒๑๖] ดูกรภารทวาชพราหมณ์ ท่านนำเด็กสองคนนี้มาจากไหนหนอ ท่านมา จากไหน ลุถึงแว่นแคว้นของเราในวันนี้.
[๑๒๑๗] ข้าแต่พระเจ้าสญชัยสมมติเทพ กุมารทั้งสองนี้มีผู้ให้แก่ข้าพระองค์ด้วย ความพอใจ ตั้งแต่วันที่ข้าพระองค์ได้สองกุมารนี้มา คืนวันนี้เป็นคืนที่ ๑๕
[๑๒๑๘] ท่านมีถ้อยคำดูดดื่มเพียงไร จึงได้เด็กสองคนนี้มา ท่านควรทำให้เรา เชื่อโดยเหตุที่ชอบใครให้ลูกน้อยทั้งหลาย อันเป็นอุดมทาน ให้ทานนั้น แก่ท่าน.
[๑๒๑๙] พระองค์ใดเป็นที่พึ่งของเหล่ายาจกผู้มาขอ ดังธรณีเป็นที่พึ่งของสัตว์ ทั้งหลาย พระองค์นั้น คือ พระเวสสันดรราช ซึ่งเสด็จไปอยู่ป่า ได้ พระราชทานพระราชโอรส และพระราชธิดาแก่ข้าพระองค์ พระองค์ได้ เป็นที่รับรองของเหล่ายาจกผู้มาขอ เหมือนสาครเป็นที่รับรองแห่งแม่น้ำ ทั้งหลาย ซึ่งไหลลงไป ฉะนั้น พระองค์นั้น คือ พระเวสสันดรราช ซึ่งเสด็จไปอยู่ป่าได้พระราชทานพระราชโอรส และพระราชธิดาแก่ข้า พระองค์.
[๑๒๒๐] ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระราชาผู้ยังทรงครองเรือนอยู่ เป็นผู้มีศรัทธา ทรงกระทำกรรมไม่สมควรหนอ พระเวสสันดรถูกขับไล่ออกไปอยู่ป่า พึงพระราชทานพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างไรหนอ ท่านผู้เจริญ ทั้งหลายมีประมาณเท่าใด ซึ่งมาประชุมกันอยู่ในสมาคมนี้ จงพิจารณา เรื่องนี้ พระเวสสันดรราชประทับอยู่ในป่า อย่างไรจะพระราชทาน พระราชโอรส และพระราชธิดาเล่า พระองค์ควรจะพระราชทานทาส ทาสี ม้า แม่ม้าอัศดร รถ ช้างกุญชร ทำไมจึงพระราชทานพระราชกุมาร ทั้งสองเล่า.
[๑๒๒๑] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา ทาส ม้า แม่ม้าอัศดร รถ และช้างกุญชรตัว ประเสริฐ ในเรือนของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นจะพึงให้อะไร พระเจ้าข้า.
[๑๒๒๒] ดูกรพระหลานน้อย ปู่สรรเสริญทานแห่งบิดาของเจ้านั้น ปู่ไม่ได้ติเตียน เลย หฤทัยแห่งบิดาของเจ้าเป็นอย่างไรหนอ เพราะให้เจ้าทั้งสองแก่ พราหมณ์แล้ว.
[๑๒๒๓] ข้าแต่พระอัยกามหาราช พระบิดาของเกล้ากระหม่อม พระราชทานเกล้า กระหม่อมทั้งสองแก่พราหมณ์แล้ว ได้ทรงสดับถ้อยคำร่ำพิลาป ที่พระ น้องกัณหาได้กล่าวแล้ว.
[๑๒๒๔] ทรงมีพระหฤทัยเป็นทุกข์และเร่าร้อน มีดวงพระเนตรแดงดังหนึ่งดาว โรหิณี และมีพระอัสสุชลหลั่งไหล.
[๑๒๒๕] พระน้องกัณหาชินาได้กราบทูลสมเด็จพระบิดาดังนี้ว่า ข้าแต่พระบิดา เจ้าขา พราหมณ์นี้เฆี่ยนตีเกล้ากระหม่อมฉันด้วยไม้เท้า ดังเฆี่ยนตีหญิง ทาสีอันเกิดในเรือนเบี้ย พระบิดาเจ้าขา ผู้นี้ไม่ใช่พราหมณ์เป็นแน่ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในธรรม ยักษ์แปลงเพศเป็นพราหมณ์มานำ เอาเกล้ากระหม่อมฉันทั้งสองไปเพื่อจะกิน พระบิดาเจ้าขา เกล้ากระ หม่อมฉันทั้งสองถูกปีศาจนำไป ไฉนพระบิดาจึงทรงนิ่งดูดายเสียเล่าหนอ เพคะ.
[๑๒๒๖] มารดาของเจ้าทั้งสองเป็นพระราชบุตรี และบิดาของเจ้าทั้งสองเป็น ราชบุตร แต่ก่อนเจ้าทั้งสองเคยขึ้นตักของปู่ บัดนี้เหตุไร จึงยืนอยู่ ห่างไกลเล่าหนอ.
[๑๒๒๗] พระมารดาของเกล้ากระหม่อมทั้งสองเป็นพระราชบุตรี และพระบิดาของ เกล้ากระหม่อมทั้งสองเป็นพระราชบุตร แต่บัดนี้เกล้ากระหม่อมทั้งสอง เป็นทาสของพราหมณ์ เพราะฉะนั้น เกล้ากระหม่อมทั้งสองจึงยืนอยู่ ห่างไกล พระเจ้าข้า.
[๑๒๒๘] หลานทั้งสองอย่าได้ชอบกล่าวอย่างนั้นเลย หทัยของปู่กำลังเร่าร้อน กายของปู่เหมือนดังถูกยกขึ้นไว้บนจิตกาธาน หลานรักทั้งสองยังความ เศร้าโศกให้แก่ปู่ยิ่งนัก ปู่จักถ่ายหลานทั้งสองด้วยทรัพย์ หลานทั้งสอง จักไม่ต้องเป็นทาส ดูกรพ่อชาลี บิดาของเจ้าทั้งสองได้ตีราคาเจ้าทั้งสอง ไว้เท่าไรให้แก่พราหมณ์ หลานทั้งสองจงบอกแก่ปู่ตามจริงเถิด พนักงาน ทั้งหลายจงให้พราหมณ์รับเอาทรัพย์ไปเถิด.
[๑๒๒๙] ข้าแต่สมเด็จพระอัยกา พระบิดาทรงตีราคาเกล้ากระหม่อมฉันมีค่าทองคำ พันแท่ง ทรงตีราคาพระน้องกัณหาชินาผู้มีพระพักตร์อันผ่องใส ด้วย สัตว์พาหนะมีช้างเป็นต้นอย่างละร้อยๆ แล้วได้พระราชทานแก่พราหมณ์.
[๑๒๓๐] เหวยพนักงาน เองจงลุกขึ้นรีบไปนำทาส ทาสี ช้าง โค และโค อุสภราช อย่างละร้อยๆ กับทองคำพันแท่ง เอามาให้แก่พราหมณ์เป็น ค่าถ่ายพระหลานรักทั้งสอง.
[๑๒๓๑] ลำดับนั้น พนักงานรีบไปนำทาส ทาสี ช้าง โค และโคอุสภราช อย่างละร้อยๆ กับทองคำพันแท่งเอามาให้แก่พราหมณ์ เป็นค่าถ่าย สองพระกุมาร.
[๑๒๓๒] พนักงานได้ให้ทาส ทาสี ช้าง โค และโคอุสภราช แม้ม้าอัศดร รถ และเครื่องใช้สอยทุกอย่างๆ ละร้อยๆ กับทองคำพันแท่ง แก่พราหมณ์ ผู้แสวงหาทรัพย์ ผู้ขอเกินประมาณ หยาบช้า เป็นค่าถ่ายพระกุมาร ทั้งสอง.
[๑๒๓๓] กษัตริย์ทั้งสอง คือ พระเจ้าสญชัยและพระราชเทวี ทรงถ่ายพระกุมาร ทั้งสองแล้ว รับสั่งให้พนักงานสรงสนานและให้พระกุมารทั้งสองเสวย เสร็จแล้ว ทรงประดับประดาด้วยอาภรณ์ทั้งหลาย แล้วทรงอุ้มขึ้นให้ ประทับบนพระเพลา พระกุมารทั้งสองทรงสรงสนานพระเศียรแล้วทรง พระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยสรรพาภรณ์ พระราชาผู้พระอัยกา ทรง อุ้มพระชาลีขึ้นประทับบนพระเพลา แล้วตรัสถาม พระกุมารทั้งสอง ทรงประดับกุณฑล อันมีเสียงดังก้อง น่าเพลิดเพลินใจ ทรงประดับ พวงมาลัยและสรรพาลังการแล้ว พระราชาทรงอุ้มพระชาลีขึ้นประทับบน พระเพลา แล้วได้ตรัสถามว่า ดูกรพ่อชาลี พระชนกชนนีทั้งสองของ หลานรัก ไม่มีโรคดอกหรือ แสวงหาผลาหารเลี้ยงชนมชีพสะดวก แหละหรือ มูลผลาหารมีมากแหละหรือ เหลือบ ยุงและสัตว์เสือกคลานมี น้อยแหละหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่มีมาเบียดเบียน แหละหรือ.
[๑๒๓๔] ขอเดชะ พระชนกชนนีของเกล้ากระหม่อมทั้งสองพระองค์ นั้นไม่มีโรค อนึ่ง ทรงแสวงหามูลผลาหารเลี้ยงพระชนมชีพได้สะดวก มูลผลาหารมี มาก เหลือบ ยุง และสัตว์เสือกคลานก็มีน้อย ในป่าอันเกลื่อนกล่น ไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่มีมาเบียดเบียนพระชนกชนนีทั้งสอง พระชนนีของ เกล้ากระหม่อมฉัน ทรงขุดรากบัว เง่าบัว มันอ่อน ทรงสอย ผลพุทรา ผลรกฟ้า มะตูม นำมาเลี้ยงพระชนกและเกล้ากระหม่อมฉันทั้งสอง พระชนนีทรงนำเอาเง่าไม้และผลไม้ใดๆ มาจากป่า พระชนกและ เกล้ากระหม่อมฉันทั้งสองมารวมพร้อมกันเสวยเง่าไม้ และผลไม้นั้นๆ ในเวลากลางคืน ไม่ได้เสวยในเวลากลางวันเลย พระชนนีของเกล้า กระหม่อมทั้งสองผู้เป็นสุขุมาลชาติ ต้องเที่ยวแสวงหาผลไม้ มีพระ ฉวีวรรณผอมเหลือง เพราะลมและแดด เหมือนดอกปทุม อันถูกขยำ ด้วยมือ ฉะนั้น เมื่อพระชนนีเสด็จเที่ยวไปในป่าใหญ่ ซึ่งเป็นป่า อันเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ร้าย เป็นที่อาศัยแห่งแรดและเสือเหลือง พระเกสาของพระองค์อันมีสีดังปีกแมลงภู่ ถูกกิ่งไม้เป็นต้นเกี่ยวให้ กระจุยกระจาย พระชนนีทรงขมวดมุ่นพระเมาลี ทรงไว้ซึ่งเหงื่อไคลที่ พระกัจฉะประเทศ (ทรงเพศเป็นดาปสินีอันประเสริฐ ทรงถือไม้ขอ ทรงเครื่องบูชาไฟ และมุ่นพระเมาลี) ทรงพระภูษาหนังสัตว์ บรรทม เหนือปถพี ทรงบูชาไฟ.
[๑๒๓๕] บุตรทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ในโลก พระอัยกา ของเราไม่ทรงเกิดพระสิเนหาในพระโอรสเสียเลยเป็นแน่.
[๑๒๓๖] ดูกรพระหลานน้อย จริงทีเดียว การที่ปู่ให้ขับไล่พระบิดาของเจ้าผู้ไม่มี โทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีทั้งหลายนั้น ชื่อว่าปู่ได้ทำกรรมอันชั่วช้า และชื่อว่าทำกรรมเครื่องทำลายความเจริญ สิ่งใดๆ ของปู่มีอยู่ในนคร นี้ก็ดี ทรัพย์และธัญชาติที่มีอยู่ก็ดี ปู่ขอยกให้แก่พระบิดาของเจ้าทั้งสิ้น ขอให้เวสสันดรจงมาเป็นพระราชาปกครองในสีพีรัฐเถิด.
[๑๒๓๗] ขอเดชะ สมเด็จพระชนกของเกล้ากระหม่อมฉัน คงจักไม่เสด็จมาเป็น พระราชาของชาวสีพี เพราะถ้อยคำของเกล้ากระหม่อมฉัน ขอให้ สมเด็จพระอัยกาเสด็จไป ทรงอภิเษกพระบิดาของเกล้ากระหม่อมฉัน ด้วยราชูปโภค เองเถิดพระเจ้าข้า.
[๑๒๓๘] ลำดับนั้น พระเจ้าสญชัยได้ดำรัสสั่งเสนาบดีว่า กองทัพ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า จงผูกสอดอาวุธ (จงเตรียมให้พร้อมสรรพ) ชาวนิคม พราหมณ์และปุโรหิตทั้งหลาย จงตามเราไป ถัดจากนั้น พวกโยธีหกหมื่นผู้มีสง่างาม พร้อมสรรพด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ประดับด้วยผ้าสีต่างๆ กัน จงตามมาเร็วพลัน พวกโยธีผู้พร้อมสรรพ ด้วยเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ประดับด้วยผ้าสีต่างๆ กัน คือ พวกหนึ่ง แต่งผ้าสีเขียว พวกหนึ่งแต่งผ้าสีเหลือง พวกหนึ่งแต่งผ้าสีแดง พวก หนึ่งแต่งผ้าสีขาว จงตามมาเร็วพลัน ภูเขาคันธมาทน์อันมีในป่าหิมพานต์ สะพรั่งไปด้วยคันธชาติ ดารดาษด้วยพฤกษานานาชนิด เป็นที่อาศัยอยู่ แห่งหมู่สัตว์ใหญ่ๆ และมีต้นไม้เป็นทิพยโอสถ ย่อมสว่างไสวและ หอมไปทั่วทิศ ฉันใด เหล่าโยธีทั้งหลาย ผู้พร้อมสรรพด้วยเครื่อง อาวุธยุทธภัณฑ์ จงตามมาเร็วพลัน ก็จงรุ่งเรืองและมีเกียรติฟุ้งขจรไป ฉันนั้น ถัดจากนั้น จงจัดช้างที่สูงใหญ่หมื่นสี่พัน มีสายรัดประคนทอง มีเครื่องประดับและเครื่องปกคลุมศีรษะอันขจิตด้วยทอง มีนายควาญช้าง ถือโตมร และขอขึ้นขี่คอประจำเตรียมพร้อมสรรพ ประดับประดาอย่าง สวยงาม จงตามมาเร็วพลัน ถัดจากนั้น จงจัดม้าสินธพชาติอาชาไนย อันมีฝีเท้าจัดหมื่นสี่พัน พร้อมด้วยนายควาญม้าประดับประดาด้วย อลังการ ถือแส้และเกาทัณฑ์ ผูกสอดเครื่องรบขึ้นประจำหลัง จงตาม มาเร็วพลัน ถัดจากนั้นจงจัดกระบวนรถรบหมื่นสี่พัน มีกำกงอันหุ้ม ด้วยเหล็กเรือนรถวิจิตรด้วย และจงยกธงขึ้นปักบนรถนั้นๆ พวก นายขมังธนูผู้ยิงได้แม่นยำ เป็นคนคล่องแคล่วในรถทั้งหลายจงเตรียม โล่ห์ เกราะและเกาทัณฑ์ไว้ให้เสร็จ พลโยธีเหล่านี้ จงตระเตรียมให้ พร้อมรีบตามมา.
[๑๒๓๙] เวสสันดรโอรสของเรา จักเสด็จมาโดยมรรคาใดๆ ตามมรรคานั้นๆ จงให้โปรยข้าวตอก ดอกไม้ มาลัย ของหอมและเครื่องลูบไล้ และ จงให้ตั้งเครื่องบูชาอันมีค่ารับเสด็จ ในบ้านหนึ่งๆ จงให้ตั้งหม้อสุราเมรัย รับไว้ บ้านละร้อยๆ รายไปตามมรรคาที่เวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จ มา จงให้ตั้งมังสาหารและขนม เช่น ขนมแตกงา ขนมกุมมาส อัน ปรุงด้วยเนื้อปลา รายไปตามมรรคาที่เวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา จงให้ตั้งเนยใส น้ำมัน นมส้ม นมสด ขนมที่ทำด้วยข้าวฟ่างและ สุราเป็นอันมาก รายไปตามมรรคาที่เวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา ให้มีพนักงานวิเศษทั้งครัวหวานและครัวคาว จัดตั้งไว้เลี้ยงประชาชนทั่ว ไป ให้มีมหรสพฟ้อนรำขับร้องทุกๆ อย่าง เพลงปรบมือ กลองยาว ช่างขับเสภาอันบรรเทาความเศร้าโศก พวกมโหรีจงเล่นดนตรีดีดพิณ พร้อมทั้งกลองน้อยกลองใหญ่ เป่าสังข์ ตีกลองหน้าเดียว ตะโพน บัณเฑาะว์ สังข์ จะเข้ กลองใหญ่ กลองเล็ก รายไปตามมรรคาที่ เวสสันดรโอรสของเราจักเสด็จมา.
[๑๒๔๐] กองทัพของสีพีรัฐเป็นกองทัพใหญ่ อันจัดเป็นกระบวนตั้งไว้เสร็จแล้ว นั้น มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต ช้างกุญชร ตัวประเสริฐมีอายุ ๖๐ ปี มีสายรัดประคนทอง ผูกตกแต่งไว้ บันลือ ก้องโกญจนาทกระหึ่มอยู่ เหล่าม้าอาชาไนยย่อมแผดเสียงดังสนั่น เสียง กงรถดังกึกก้อง ธุลีละอองฟุ้งตระหลบนภากาศ กองทัพของสีพีรัฐอัน จัดเป็นกระบวนยาตราไปเป็นกองทัพใหญ่ สามารถจะทำลายล้างราช ดัสกรได้ มีพระชาลีราชกุมารเป็นผู้นำทาง ได้ยาตราไปยังเขาวงกต พระเจ้าสญชัยพร้อมด้วยราชบริพารเหล่านั้นเสด็จเข้าป่าใหญ่ ซึ่งมีต้นไม้ มีกิ่งก้านมาก มีน้ำมาก ดารดาษไปด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง ในป่าใหญ่นั้น ฝูงวิหคเป็นอันมากหลากๆ สี มีเสียงกลมกล่อมหวาน ไพเราะเกาะอยู่บนต้นไม้อันเผล็ดดอกตามฤดูกาล ร้องประสานเสียง เสียงระเบงเป็นคู่ๆ พระเจ้าสญชัยพร้อมทั้งราชบริพารเหล่านั้น เสด็จ ไประยะทางไกลล่วงหลายวันหลายคืน จึงบรรลุถึงประเทศที่พระเวส - สันดรประทับอยู่. (นี้) ชื่อมหาราชบรรพ.
[๑๒๔๑] พระเวสสันดรได้ทรงสดับเสียงกึกก้องแห่งกองพลเหล่านั้น ก็ตกพระทัย กลัวเสด็จขึ้นภูเขา ทรงหวาดกลัวทอดพระเนตรดูกองพลเสนา ตรัสว่า ดูกรมัทรี เชิญมาดูซิ เสียงอันกึกก้องเช่นใดในป่า ม้าอาชาไนยส่งเสียง ร้องกึกก้อง เห็นปลายธงปลิวไสว นายพรานไพรทั้งหลายขึงข่ายล้อม ฝูงเนื้อในป่า ไล่ต้อนให้ตกลงในหลุม แล้วไล่ทิ่มแทงด้วยหอก เลือก เอาแต่ตัวพีๆ ฉันใด เราทั้งสองก็ฉันนั้น เป็นผู้ไม่มีโทษผิด ถูกขับไล่ จากแว่นแคว้นมาอยู่ในป่า ย่อมเป็นผู้ต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของพวก อมิตรเป็นแน่ ดูเอาเถิดซึ่งบุคคลผู้ประหารคนไม่มีกำลัง.
[๑๒๔๒] พวกอมิตรไม่พึงย่ำยีพระองค์ เปรียบเหมือนไฟในห้วงน้ำ ฉะนั้น ขอ พระองค์จงระลึกถึงข้อนั้นแหละ แต่นี้ไปจะพึงมีแต่ความสวัสดีโดยแท้.
[๑๒๔๓] ลำดับนั้น พระเวสสันดรราชเสด็จลงจากภูเขาแล้วประทับนั่งในบรรณ ศาลา ทรงทำพระมนัสให้มั่นคง.
[๑๒๔๔] พระบิดาดำรัสสั่งให้กลับรถ ให้ประเทียบกระบวนทัพไว้แล้วเสด็จเข้าไป หาพระราชโอรสผู้ประทับอยู่ในป่าเดียวดาย เสด็จลงจากคอช้างพระที่นั่ง ต้น ทรงเฉวียงพระอังสาประนมพระหัตถ์ แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จเข้าไปเพื่อทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ ที่นั้น ท้าวเธอได้ทอดพระ เนตรเห็นพระราชโอรสทรงเพศบรรพชิต นั่งเข้าฌานอยู่ในบรรณศาลา ไม่หวั่นไหวแน่วแน่ ไม่มีภัยแต่ไหน.
[๑๒๔๕] ก็พระเวสสันดรและพระนางเจ้ามัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระบิดาผู้มี ความรักในบุตรกำลังเสด็จมา ทรงต้อนรับถวายอภิวาท ฝ่ายพระนางเจ้า มัทรี ทรงซบพระเศียรอภิวาทแทบพระบาทพระสัสสุระกราบทูลว่า ข้าแต่ พระสมมติเทพ เกล้ากระหม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ของพระองค์ ขอถวาย บังคม ณ พระยุคลบาทของพระองค์ พระเจ้าสญชัยทรงสวมกอดสอง กษัตริย์ประทับทรวง ฝ่าพระหัตถ์ลูบพระปฤษฎางค์อยู่ไปมา ณ อาศรมนั้น.
[๑๒๔๖] ดูกรพระลูกรัก ลูกทั้งสองไม่มีโรคาพาธหรือหนอ ลูกทั้งสองสำราญดี หรือ ทั้งมูลมันผลไม้มีมากหรือ เหลือบ ยุง และสัตว์เสือกคลานมี น้อยแลหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาลมฤค ไม่มีมาเบียดเบียน แลหรือ.
[๑๒๔๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ชีวิตของข้าพระบาททั้งสองย่อมเป็นไปตามมี ตามได้ ข้าพระบาททั้งสองเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยการ เที่ยวแสวงหามูลผลาผล ข้าแต่พระมหาราช นายสารถีทรมานม้าให้หมด ฤทธิ์ ฉันใด ข้าพระบาททั้งสองย่อมเป็นผู้ถูกทรมานให้หมดฤทธิ์ ฉันนั้น ความสิ้นฤทธิ์ย่อมทรมานข้าพระบาททั้งสอง ข้าแต่พระมหาราช เมื่อ ข้าพระบาททั้งสองผู้ถูกเนรเทศโศกเศร้าอยู่ในป่าเนืองนิตย์ เนื้อหนังก็ ซูบซีด เพราะมิได้เห็นพระชนกชนนี.
[๑๒๔๘] ทายาทผู้มีมโนรถยังไม่สำเร็จของฝ่าพระบาทผู้จอมสีพีรัฐ คือ ชาลีและ กัณหาชินา ทั้งสองตกอยู่ในอำนาจของพราหมณ์ผู้มุทะลุหยาบช้า มัน ต้อนตีเอาชาลีกัณหาชินาทั้งสองนั้นเหมือนดังโค ถ้าพระองค์ทรงทราบ หรือทรงได้สดับข่าวลูกทั้งสองของพระราชบุตรีนั้น ขอได้ทรงพระกรุณา ตรัสบอกแก่ข้าพระบาทโดยเร็วพลัน ดังหมอรีบพยาบาลคนที่ถูกงูกัด ฉะนั้นเถิด.
[๑๒๔๙] กุมารทั้งสองนั้น คือ ชาลีและกัณหาชินา พ่อได้ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์ ถ่ายมาแล้ว ดูกรลูกรัก อย่ากลัวไปเลย จงเบาใจเถิด.
[๑๒๕๐] ข้าแต่สมเด็จพระบิดา ฝ่าพระบาทไม่มีโรคาพาธหรือหนอ ทรงพระสำราญ ดีหรือ พระจักษุแห่งพระชนกชนนีของข้าพระบาท ยังไม่เสื่อมเสีย แหละหรือ.
[๑๒๕๑] ดูกรลูกรัก พ่อไม่มีโรคาพาธ และสบายดี อนึ่ง จักษุแห่งมารดาของ เจ้าก็ไม่เสื่อมเสีย.
[๑๒๕๒] ยวดยานของฝ่าพระบาทไม่ทรุดโทรมหรือ พลพาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่ว หรือ ชนบทเจริญดีอยู่หรือ ฝนไม่แล้งหรือ พระเจ้าข้า.
[๑๒๕๓] ยวดยานของเราไม่ทรุดโทรม พลพาหนะยังใช้ได้คล่องแคล่ว ชนบท เจริญดี และฝนไม่แล้ง.
[๑๒๕๔] เมื่อสามกษัตริย์ทรงสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระมารดาผู้เป็นราชบุตรี ไม่ ทรงฉลองพระบาท เสด็จดำเนินไปปรากฏที่ปากทวารเขา ก็พระเวสสันดร และพระมัทรี ทอดพระเนตรเห็นพระมารดาผู้มีความรักในบุตรกำลัง เสด็จมา ทรงต้อนรับถวายอภิวาท ฝ่ายพระนางเจ้ามัทรี ทรงซบเศียร เกล้าอภิวาทแทบพระบาท พระสัสสุกราบทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เกล้ากระหม่อมฉันมัทรีผู้สะใภ้ ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระแม่ เจ้า.
[๑๒๕๕] ก็พระโอรสทั้งสองผู้เสด็จมาโดยสวัสดีแต่ที่ไกล ทอดพระเนตรเห็น พระนางเจ้ามัทรี ก็คร่ำครวญวิ่งเข้าไปหา ดังหนึ่งลูกโคน้อยวิ่งเข้าหาแม่ ฉะนั้น ส่วนพระนางเจ้ามัทรีพอทอดพระเนตรเห็นพระโอรสทั้งสองผู้ เสด็จมาโดยสวัสดี แต่ที่ไกล ทรงสั่นระรัวไปทั่วพระกาย เหมือน แม่มดที่ผีสิง ฉะนั้น น้ำนมก็ไหลออกจากพระถันทั้งคู่.
[๑๒๕๖] เมื่อพระญาติทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว ขณะนั้นได้เกิดเสียงสนั่นกึกก้อง ภูเขาทั้งหลายสั่นสะท้าน แผ่นดินไหวสะเทือน ฝนตกลงเป็นท่อธาร ครั้งนั้น พระเวสสันดรราชได้สมาคมร่วมด้วยพระญาติ คือ พระราชา พระเทวี พระโอรส พระสุณิสา และพระราชนัดดาทั้งสองพระองค์ พระญาติทั้งหลายมาประชุมพรักพร้อมกันแล้ว ณ กาลใด ในกาลนั้น ได้เกิดความอัศจรรย์น่าขนพองสยองเกล้า ประชาราษฎร์ทั้งปวงพร้อมใจ กัน ประนมอัญชลีถวายบังคมพระมหาสัตว์ คร่ำครวญวิงวอนพระเวส สันดรและพระนางเจ้ามัทรี ในป่าอันน่าหวาดกลัวว่า พระองค์เป็น พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งข้าพระบาททั้งหลาย ขอทั้งสองพระองค์ทรง พระกรุณาโปรดรับเสวยราชสมบัติเป็นพระราชาแห่งข้าพระบาททั้งหลาย เทอญ. (นี้) ชื่อฉขัตติยบรรพ.
[๑๒๕๗] ฝ่าพระบาท ชาวชนบทและชาวนิคม พร้อมใจกันเนรเทศข้าพระบาท ผู้ครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม จากแว่นแคว้น.
[๑๒๕๘] ดูกรพระลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษผิดออกไปจาก แว่นแคว้น เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมอันชั่วช้า และชื่อว่าพ่อได้ทำกรรมเครื่องทำลายความเจริญ.
[๑๒๕๙] ขึ้นชื่อว่าบุตร ควรช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ของมารดาบิดาและพี่น้อง ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน (ข้าแต่ พระมหาราชา เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่จะสรงสนาน ขอเชิญทรงชำระ พระสรีระมลทินเถิด พระเจ้าข้า).
[๑๒๖๐] ลำดับนั้น พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ทรงชำระพระสรีระมลทิน ครั้น แล้วไม่ทรงเพศดาบส.
[๑๒๖๑] พระเวสสันดรบรมกษัตริย์ สระพระเกศาแล้ว ทรงเศวตพัสตร์อัน สะอาด ทรงประดับด้วยเครื่องราชปิลันทนาภรณ์ทุกอย่าง ทรงสอด พระแสงขรรค์อันทำให้ราชปัจจามิตรเกรงขาม เสด็จขึ้นทรงพระยา ปัจจยนาคเป็นพระคชาธาร ครั้งนั้น เหล่าสหชาติโยธาหาญทั้งหกหมื่น สวมสอดสรรพาวุธและประดับสรรพาภรณ์ล้วนด้วยทอง เป็นสง่างาม น่าดู ต่างชื่นชมยินดี แวดล้อมพระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพ ลำดับนั้น เหล่าพระสนมกำนัลของพระเจ้าสีพีมาประชุมพร้อมกัน เชิญพระมัทรี ให้โสรจสรงด้วยสุคนธวารี แล้วทูลถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดร จงทรงอภิบาลรักษาพระแม่เจ้าของพระชาลี และพระกัณหาชินาทั้งสอง พระองค์จงทรงบำรุงรักษาพระแม่เจ้าต่อไป อนึ่ง ขอพระเจ้าสญชัย มหาราช จงทรงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้ายิ่งขึ้นไป เทอญ.
[๑๒๖๒] ก็พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระมัทรี กลับมาได้ดำรงในสิริราช สมบัตินี้ตามเดิมแล้ว ทรงระลึกถึงความลำบากขณะที่เสด็จไปประทับอยู่ ในป่าในกาลก่อน จึงรับสั่งให้นำกลองนันทเภรีไปตีประกาศที่เวิ้งว้าง หว่างเขาวงกต อันเป็นรัมณียสถาน ก็พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และ พระมัทรี กลับมาได้ดำรงในสิริราชสมบัตินี้ตามเดิมแล้ว พระมัทรี ผู้สมบูรณ์ด้วยลักขณา ทรงระลึกถึงความลำบากขณะที่เสด็จไปประทับ อยู่ในป่าในกาลก่อน ครั้นได้ทรงประสบพระโอรสพระธิดา ก็มีพระทัย ปราโมทย์ เกิดโสมนัส ก็พระเวสสันดรบรมกษัตริย์และพระมัทรีผู้มี ลักขณา กลับมาได้ดำรงในสิริราชสมบัตินี้ตามเดิมแล้ว ทรงระลึกถึง ความลำบากขณะที่เสด็จไปประทับอยู่ในป่าในกาลก่อน และได้มาอยู่ร่วม กับพระโอรสและพระธิดา จึงมีพระหฤทัยชื่นชมยินดีปิติโสมนัส.
[๑๒๖๓] ดูกรลูกรักทั้งสอง ในกาลก่อน คือ เมื่อพราหมณ์นำลูกทั้งสองไป แม่ มีความปรารถนาลูกทั้งสอง แม่จึงได้บำเพ็ญวัตรนี้ คือ แม่บริโภค อาหารวันละครั้ง นอนเหนือพื้นแผ่นดินเป็นนิตย์ วัตรของแม่นั้นสำเร็จ แล้วในวันนี้ เพราะได้พบพระลูกทั้งสองแล้ว ดูกรลูกรักทั้งสอง ขอ ความโสมนัสอันเกิดจากแม่และแม้ที่เกิดจากพระบิดา จงคุ้มครองลูก อนึ่งเล่า ขอพระเจ้าสญชัยมหาราช จงทรงอภิบาลรักษาลูก บุญกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แม่ก็ดี พระบิดาของลูกก็ดี กระทำแล้วมีอยู่ ด้วย บุญกุศลทั้งหมดนั้น ขอให้ลูกจงเป็นผู้ไม่แก่ตาย.
[๑๒๖๔] พระนางมัทรีจะทรงงดงามด้วยพระภูษาอย่างใด สมเด็จพระผุสดีสัสสุ ราชเทวีก็ทรงจัดพระภูษาอย่างนั้น คือ พระภูษากัปปาสิกพัตร โกสัย พัตร โขมพัตร และโกทุมพรพัตร ส่งไปประทานแก่พระมัทรีราชสุณิสา พระนางมัทรีจะทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระสัสสุผุสดี ราชเทวี ก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระธำมรงค์สุวรรณรัตน์ สร้อยพระศอนพรัตน์ ส่งไปประทานแก่พระมัทรีราชสุณิสา พระนาง มัทรีจะทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระผุสดีสัสสุราชเทวีก็ทรง จัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ พระวลัยสำหรับประดับต้นพระพาหา พระกุณฑลสำหรับประดับพระกรรณ สายรัดพระองค์ฝังแก้วมณีตาบ เพชร ไปประทานแก่พระมัทรีราชสุณิสา พระนางมัทรีจะทรงงดงามด้วย เครื่องประดับอย่างใด พระผุสดีสัสสุราชเทวีก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่าง นั้น คือ ดอกไม้กรองเครื่องประดับพระเมาฬี เครื่องประดับพระนลาต และเครื่องประดับฝังแก้วมณีสีต่างๆ กัน ไปประทานแก่พระมัทรีราช สุณิสา พระนางมัทรีจะทรงงดงามด้วยเครื่องประดับอย่างใด พระผุสดี สัสสุราชเทวี ก็ทรงจัดเครื่องประดับอย่างนั้น คือ เครื่องประดับพระถัน เครื่องประดับพระอังษา สอิ้งเพชร ฉลองพระบาทส่งไปประทานแก่ พระมัทรีราชสุณิสา เครื่องประดับที่สมเด็จพระนางผุสดีส่งไปประทาน นั้นมีทั้งที่ต้องร้อยด้วยเชือก ทั้งที่ไม่ต้องร้อยด้วยเชือก สมเด็จพระ ผุสดีทรงตรวจดูเครื่องประดับพระนางมัทรี ทรงเห็นที่ใดยังบกพร่องก็ รับสั่งให้นำมาประดับเพิ่มเติมจนเต็ม พระนางมัทรีราชบุตรีทรงงดงาม ยิ่งนัก ดังนางเทพกัญญาในนันทวัน พระนางมัทรีราชบุตรีสระพระเกศา แล้วทรงเศวตพัสตร์ ประดับด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ทรงงดงามยิ่งนัก ดัง นางเทพอัปสรในดาวดึงส์ วันนั้น พระนางมัทรีราชบุตรีทรงงดงามน่า พิศวง ดังต้นกล้วยอันเกิดในสวนจิตตลดาถูกลมรำเพยพัดไหวไปมา ฉะนั้น พระนางมัทรีราชบุตรี ทรงมีไรพระทนต์แดงดังผลตำลึงสุกงาม ยิ่งนัก มีพระโอษฐ์แดงดังผลไทรสุก งดงามยิ่งนัก ปานดังกินรีมีขน ปีกงามวิจิตร บินร่อนอยู่ในอากาศ ฉะนั้น.
[๑๒๖๕] เหล่าพนักงานตกแต่งตรุณหัตถี มีวัยปานกลาง อันเป็นช้างพระที่นั่ง ต้นตัวประเสริฐอดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงางอนงามดังงอนรถ มี กำลังกล้าหาญ เสร็จแล้วให้นำมาประเทียบเกยคอยรับเสด็จ สมเด็จ พระมัทรี เสด็จขึ้นประทับบนหลังตรุณหัตถี อันมีวัยปานกลาง เป็น ช้างพระที่นั่งต้นตัวประเสริฐ อดทนต่อหอกซัดและลูกศร มีงางอนงาม ดังงอนรถ มีกำลังกล้าหาญ.
[๑๒๖๖] เนื้อประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น เนื้อประมาณ เท่านั้น ไม่เบียดเบียนกันและกันด้วยเดชของพระเวสสันดร นก ประมาณเท่าใดที่มีอยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น นกประมาณเท่านั้น ไม่เบียดเบียนกันและกันด้วยเดชของพระเวสสันดร เนื้อประมาณเท่าใด ที่มีอยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น มาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อ พระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จกลับ นกประมาณเท่าใดที่มี อยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น มาประชุมในที่เดียวกัน ในเมื่อ พระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จกลับ เนื้อประมาณเท่าใด ที่มีอยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น เนื้อประมาณเท่านั้นต่างพากันมีทุกข์ เพราะจะต้องพลัดพรากจากพระเวสสันดร มิได้ส่งเสียงร้องอันไพเราะ เหมือนกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญจะเสด็จกลับ นกประมาณเท่าใด ที่มีอยู่ในป่าทั้งปวง ณ เขาวงกตนั้น นกประมาณ เท่านั้น ต่างพากันมีทุกข์ เพราะจะต้องพลัดพรากจากพระเวสสันดร มิได้ส่งเสียงอันไพเราะเหมือนในกาลก่อน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุง สีพีรัฐให้เจริญ จะเสด็จกลับ.
[๑๒๖๗] ราชวิถีที่จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาราษฎร์ช่วยกันตกแต่งราบรื่น งามวิจิตร ลาดด้วยดอกไม้ ตั้งแต่เขาวงกตที่พระเวสสันดรราชประทับ อยู่ ตราบเท่าถึงพระนครเชตุดร ลำดับนั้น เหล่าอำมาตย์สหชาติโยธา หาญทั้งหกหมื่น แต่งเครื่องพร้อมสรรพงามสง่าน่าดู พากันตามเสด็จ แวดล้อมโดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จกลับ พระนคร พระสนมกำนัลใน พระกุมารที่เป็นพระประยูรญาติ และบุตร อำมาตย์ พวกพ่อค้าและพราหมณ์ทั้งหลาย พากันตามเสด็จแวดล้อม โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จกลับพระนคร กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลเดินเท้า พากันตามเสด็จ แวดล้อมโดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จกลับ พระนคร ชาวชนบทและชาวนิคม พร้อมใจกันมาประชุมแวดล้อมอยู่ โดยรอบ ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จกลับพระนคร เหล่าโยธาสวมหมวกแดง สวมเกราะหนัง ถือธนู ถือโล่ห์ดั้ง เดิน นำหน้า ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จกลับพระนคร.
[๑๒๖๘] กษัตริย์ทั้งหกพระองค์นั้น เสด็จเข้าสู่พระนครอันน่ารื่นรมย์ มีป้อม ปราการและทวารเป็นอันมาก บริบูรณ์ด้วยข้าวน้ำ บริบูรณ์ด้วยการ ฟ้อนรำขับร้องทั้งสองอย่าง ชาวชนบทและชาวนิคมต่างชื่นชมยินดี มา ประชุมพร้อมกัน ในเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญเสด็จมาถึง เมื่อพระมหาสัตว์ผู้พระราชทานทรัพย์เสด็จมาถึงแล้ว ชาวชนบทและ ชาวนิคมต่างเปลื้องผ้าโพกออกโบกสะบัดอยู่ไปมา พระองค์รับสั่งให้นำ กลองนันทเภรีไปตีประกาศในพระนคร รับสั่งให้ประกาศปลดปล่อย สัตว์ทั้งหลายจากเครื่องจองจำ.
[๑๒๖๙] ขณะเมื่อพระเวสสันดรผู้ผดุงสีพีรัฐให้เจริญ เสด็จเข้าพระนครแล้ว ท้าว สักกเทวราชทรงบรรดาลฝนเงินให้ตกลงในขณะนั้น ลำดับนั้น พระ เวสสันดรบรมกษัตริย์ผู้มีพระปัญญา ทรงบำเพ็ญทานแล้ว ครั้นสวรรคต พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าถึงสวรรค์ ฉะนี้แล. (นี้) ชื่อนครกัณฑ์.

จบ มหาเวสสันตรชาดกที่ ๑๐.

จบ มหานิบาตชาดก.

จบชาดก _______________

กลับที่เดิม