พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปัญญาสนิบาตชาดก

๑. นฬินิกาชาดก ราชธิดาทำลายตบะของดาบส


[๑] ชนบทเร่าร้อนอยู่ แม้รัฐก็จะพินาศ ดูกรลูกนฬินิกา มานี่เถิด เจ้าจงไป นำพราหมณ์ผู้นั้นมาให้เรา.
[๒] ข้าแต่พระราชบิดา หม่อมฉันทนความลำบากไม่ได้ ทั้งไม่รู้จักหนทาง จะไปยังป่าที่ช้างอยู่ อาศัยได้อย่างไรเล่า เพคะ.
[๓] ดูกรลูกนฬินิกา เจ้าจงไปอยู่ชนบทที่เจริญด้วยช้าง ด้วยรถ ด้วยยาน ที่ต่อด้วยไม้ เจ้าจงไปด้วยอาการอย่างนี้เถิด ลูกเจ้าจงพากองช้าง กอง ม้า กองรถ กองพลราบไปแล้วจักนำพราหมณ์ผู้นั้นมาสู่อำนาจได้ด้วย ผิวพรรณ และรูปสมบัติของเจ้า.
[๔] อาศรมของอิสิสิงคดาบสนั้น ปรากฏด้วยธง คือ ต้นกล้วยแวดล้อมด้วย ต้นสมอ เป็นที่น่ารื่นรมย์ นั่นคือแสงไฟ นั่นคือควัน เห็นปรากฏอยู่ อิสิสิงคดาบสผู้มีฤทธิ์มากเห็นจะไม่ทำให้ไฟเสื่อม.
[๕] อิสิสิงคดาบสเห็นพระราชธิดา ผู้สวมใส่กุณฑลแก้วมณีเสด็จมาอยู่ กลัว แล้ว เข้าไปสู่อาศรมที่มุงด้วยใบไม้ ส่วนพระราชธิดาแสดงอวัยวะอัน ซ่อนเร้น และอวัยวะที่ปรากฏเล่นลูกข่างอยู่ที่ประตูอาศรมของดาบสนั้น ฝ่ายดาบสผู้อยู่ในบรรณศาลา เห็นพระนางกำลังเล่นลูกข่างอยู่ จึงออก จากอาศรมแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า
[๖] ดูกรท่านผู้เจริญ ต้นไม้ของท่านที่มีผลเป็นไปอย่างนี้ มีชื่อว่าอะไร แม้ ท่านขว้างไปไกลก็กลับมา มิได้ละท่านไป.
[๗] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ต้นไม้ที่มีผลเป็นไปอย่างนี้นั้น มีอยู่มากที่เขา คันธมาทน์ ณ ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ผลไม้นั้นแม้ข้าพเจ้าขว้างไป ไกลก็กลับมา ไม่ละข้าพเจ้าไปเลย.
[๘] เชิญท่านผู้เจริญจงเข้ามาสู่อาศรมนี้ จงบริโภค จงรับน้ำมันและภักษา เราจักให้ นี้อาสนะ เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ เชิญบริโภคเหง้ามันและ ผลไม้แต่ที่นี้เถิด.
[๙] ที่ระหว่างขาอ่อนทั้งสองของท่านนี้เป็นอะไร มีสัณฐานเรียบร้อย ปรากฏ ดุจสีดำ เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า อวัยวะสูงของท่านเข้าไปอยู่ในฝักหรือหนอ.
[๑๐] ข้าพเจ้านี้เที่ยวแสวงหามูลผลาหารในป่า ได้พบหมีมีรูปร่างน่ากลัวยิ่งนัก มันวิ่งไล่ข้าพเจ้ามาโดยเร็ว มาทันเข้าแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าล้มลงแล้ว มัน กัดอวัยวะสูงของข้าพเจ้า แผลนั้นก็เหวอะหวะ และเกิดคันขึ้น ข้าพเจ้า ไม่ได้ความสบายตลอดกาลทั้งปวง ท่านคงสามารถกำจัดความคันนี้ได้ ข้าพเจ้าวิงวอนแล้ว ขอท่านได้โปรดกระทำประโยชน์ให้แก่ข้าพเจ้าผู้เป็น พราหมณ์เถิด.
[๑๑] แผลของท่านลึก มีสีแดง ไม่เน่าเปื่อย มีกลิ่นเหม็น และเป็นแผล ใหญ่ เราจะประกอบกระสายยาหน่อยหนึ่งให้ท่าน ตามที่ท่านจะพึงมี ความสุขอย่างยิ่ง.
[๑๒] ดูกรท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ การประกอบมนต์ก็ดี การประกอบ กระสายยาก็ดี โอสถก็ดี ย่อมแก้ไม่ได้ ขอท่านจงเอาองคชาตอันอ่อน นุ่มของท่านเสียดสีกำจัดความคัน ตามที่ข้าพเจ้าจะพึงมีความสุขอย่างยิ่ง เถิด.
[๑๓] อาศรมของท่านอยู่ทางทิศไหนแต่ที่นี้หนอ ท่านย่อมรื่นรมย์อยู่ในป่าแล หรือ มูลผลาหารของท่านมีเพียงพอแลหรือ สัตว์ร้ายไม่เบียดเบียนท่าน แลหรือ.
[๑๔] แม่น้ำชื่อเขมาย่อมปรากฏแต่ป่าหิมพานต์ ในทิศเหนือตรงไปแต่ที่นี้ อาศรมอันน่ารื่นรมย์ของข้าพเจ้าอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนั้น ท่านควรไปดูอาศรม ของข้าพเจ้าบ้าง ต้นมะม่วง ต้นรัง ต้นหมากเม่า ต้นหว้า ต้นราชพฤกษ์ ต้นแคฝอย มีดอกบานสะพรั่ง ท่านควรไปดูอาศรมของข้าพเจ้า ซึ่งมี กินนรขับร้องอยู่โดยรอบ ต้นตาลมูลมัน ผลไม้ที่อาศรมของเรานั้น มีผล ประกอบด้วยสีและกลิ่น ท่านควรไปดูอาศรมของข้าพเจ้า อันประกอบ ด้วยภูมิภาคสวยงามนั้นบ้าง ผลไม้ เหง้าไม้ ที่อาศรมของข้าพเจ้ามีมาก ประกอบด้วยสี กลิ่น และรส พวกพรานย่อมมาสู่ประเทศนั้น อย่า ได้มาลักมูลผลาหารไปจากอาศรมของข้าพเจ้านั้นเลย.
[๑๕] บิดาของเราแสวงหามูลผลาหาร จะกลับมาในเย็นวันนี้ เราทั้งสองจะไป สู่อาศรมนั้น ต่อเมื่อบิดากลับมาจากการแสวงหามูลผลาหาร.
[๑๖] พราหมณ์ ฤาษี และราชฤาษี ผู้มีรูปสวยเหล่าอื่นเป็นอันมาก ย่อมอยู่ ใกล้ทางโดยลำดับ ท่านพึงถามถึงอาศรมของข้าพเจ้ากะท่านพวกนั้นเถิด ท่านพวกนั้นจะพาท่านไปในสำนักของข้าพเจ้า.
[๑๗] ฟืนเจ้าก็ไม่หัก น้ำเจ้าก็ไม่ตัก แม้ไฟเจ้าก็ไม่ติด เจ้าอ่อนใจ ซบเซา อยู่ทำไมหนอ ดูกรเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อก่อนฟืนเจ้าก็หัก ไฟเจ้าก็ติด แม้ไฟสำหรับผิงเจ้าก็จัดไว้ ตั่งเจ้าก็ตั้ง น้ำเจ้าก็ตักไว้ให้เรา วันอื่นๆ เจ้าเป็นผู้ประเสริฐดีอยู่ วันนี้เจ้าไม่หักฟืน ไม่ตักน้ำ ไม่ติดไฟ ไม่จัดเครื่องบริโภคไว้ ไม่ทักทายเรา ของอะไรของเจ้าหายไปหรือ หรือ ว่าเจ้ามีทุกข์ในใจอะไร.
[๑๘] ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์มาในอาศรมนี้ มีรูปร่างน่าดู น่าชม เอวเล็ก เอวบาง ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก รัศมีสวยงาม มีศรีษะปกคลุมด้วยผมอัน ดำเป็นเงางาม ไม่มีหนวด บวชไม่นาน มีเครื่องประดับเป็นรูปเชิงบาตร อยู่ที่คอ มีปุ่มสองปุ่มงามเปล่งปลั่งดังก้อนทองคำ เกิดดีแล้วที่อก หน้า ของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก มีกันเจียกจอนห้อยอยู่ที่หูทั้งสองข้าง กันเจียก เหล่านั้นย่อมแวววาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมาสายพันชฎาก็งามแพรวพราว เครื่องประดับเหล่าอื่นอีกสี่อย่างของชฎิลนั้น มีสีเขียว เหลือง แดง และขาว เมื่อชฎิลนั้นเดินไปมา เครื่องประดับเหล่านั้นย่อมดังกริ่งกร่าง เหมือนฝูงนกติริฏิร้องในเวลาฝนตก ฉะนั้น ชฎิลนั้นไม่ได้คาดเครื่อง รัดเอวที่ทำด้วยหญ้าปล้อง ไม่ได้นุ่งผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ เหมือนของ พวกเรา ผ้าเหล่านั้นพันอยู่ที่ระหว่างแข้งงามโชติช่วง ปลิวสะบัดดังสาย ฟ้าแลบอยู่ในอากาศ ข้าแต่ท่านพ่อ ชฎิลนั้นมีผลไม้ไม่สุก ไม่มีขั้วติด อยู่ที่สะเอวภายใต้นาภี ไม่กระทบกัน กระดกเล่นอยู่เป็นนิตย์ อนึ่ง ชฎิลนั้นมีชฎาน่าดูยิ่งนัก มีปลายงอนมากกว่าร้อย มีกลิ่นหอม มีศีรษะ อันแบ่งด้วยดีเป็นสองส่วน โอ ขอให้ชฎาของเราจงเป็นเช่นนั้นเถิดหนอ และในคราวใด ชฎิลนั้นขยายชฎาอันประกอบด้วยสี และกลิ่นในคราว นั้น อาศรมก็หอมฟุ้งไปเหมือนดอกอุบลเขียวที่ถูกลมรำเพยพัด ฉะนั้น ผิวพรรณของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ไม่เป็นเช่นกับผิวพรรณที่กายของข้าพเจ้า ผิวกายของชฎิลนั้นถูกลมรำเพยพัดแล้ว ย่อมหอมฟุ้งไป ดุจป่าไม้ อัน มีดอกบานในฤดูร้อน ฉะนั้น ชฎิลนั้นตีผลไม้อันวิจิตรงามน่าดูลงบน พื้นดิน และผลไม้ที่ขว้างไปแล้วย่อมกลับมาสู่มือของเขาอีก ข้าแต่ท่านพ่อ ผลไม้นั้นชื่อผลอะไรหนอ อนึ่ง ฟันของชฎิลนั้นน่าดูยิ่งนัก ขาวสะอาด เรียบเสมอกันดังสังข์อันขัดดีแล้ว เมื่อชฎิลเปิดปากอยู่ย่อมยังใจให้ผ่อง ใส ชฎิลนั้นไม่ได้เคี้ยวผักด้วยฟันเหล่านั้นเป็นแน่ คำพูดของเขาไม่ หยาบคาย ไม่เคลื่อนคลาด ไพเราะ อ่อนหวาน ตรง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คลอน แคลน เสียงของเขาเป็นเครื่องฟูใจจับใจดังเสียงนกการเวก นำใจของ ข้าพเจ้าให้กำหนัดยิ่งนัก เสียงของเขาหยดย้อย เป็นถ้อยคำไม่สะบัด สะบิ้ง ไม่ประกอบด้วยเสียงพึมพำ ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นเขาอีก เพราะชฎิลนั้นเป็นมิตรของข้าพเจ้ามาก่อน แผลที่ต่อสนิทดีเกลี้ยงเกลา ในที่ทั้งปวง ใหญ่ เกิดดีแล้ว คล้ายกับกลีบบัว ชฎิลนั้นให้ข้าพเจ้าคร่อม ตรงแผลนั้น แหวกขาเอาแข้งบีบไว้รัศมีซ่านออกจากกายของชฎิลนั้น ย่อมเปล่งปลั่งสว่างไสวรุ่งเรือง ดังสายฟ้าอันแลบแปลบปลาบอยู่ใน อากาศ ฉะนั้น อนึ่ง แขนทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่ม มีขนเหมือน ขนดอกอัญชัน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ประกอบด้วยนิ้วมืออันเรียว วิจิตรงดงาม ชฎิลนั้นมีอวัยวะไม่ระคาย มีขนไม่ยาว เล็บยาว ปลาย เป็นสีแดง ชฎิลนั้นมีรูปงาม กอดรัดข้าพเจ้าด้วยแขนทั้งสองอันอ่อนนุ่ม บำเรอให้รื่นรมย์ ข้าแต่ท่านพ่อ มือทั้งสองของชฎิลนั้นอ่อนนุ่มคล้าย สำลี งามเปล่งปลั่งพื้นฝ่ามือเกลี้ยงเกลาเหมือนแว่นทอง ชฎิลนั้นกอด รัดข้าพเจ้าด้วยมือทั้งสองนั้นแล้ว ไปจากที่นี้ ย่อมทำให้ข้าพเจ้าเร่าร้อน ด้วยสัมผัสนั้น ชฎิลนั้นมิได้นำหาบมา มิได้หักฟืนเอง มิได้ฟันต้นไม้ ด้วยขวาน แม้มือทั้งสองของชฎิลนั้นก็ไม่มีความกระด้าง หมีได้กัดชฎิล นั้นเป็นแผล เธอจึงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า ขอท่านช่วยทำให้ข้าพเจ้ามี ความสุขเถิด ข้าพเจ้าจึงช่วยทำให้เธอมีความสุข และความสุขก็เกิดมี แก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าแต่ท่านผู้เป็นพรหม เธอได้บอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้า มีความสุขแล้ว ก็ที่อันปูลาดด้วยใบเถาย่างทรายของท่านนี้กระจุยกระจาย แล้ว เพราะข้าพเจ้าและชฎิลนั้น เราทั้งสองเหน็ดเหนื่อยแล้ว ก็รื่นรมย์ กันในน้ำ แล้วเข้าสู่กุฏีอันมุงบังด้วยใบไม้บ่อยๆ ข้าแต่ท่านพ่อ วันนี้ มนต์ทั้งหลายย่อมไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพเจ้าเลย การบูชาไฟข้าพเจ้าไม่ชอบ ใจเลย แม้การบูชายัญ ในที่นั้นข้าพเจ้าก็ไม่ชอบใจ ตราบใดที่ข้าพเจ้า ยังมิได้พบเห็นชฎิล ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ข้าพเจ้าจะไม่บริโภคมูล ผลาหารของท่านพ่อเลย ข้าแต่ท่านพ่อ แม้ท่านพ่อย่อมรู้เป็นแน่แท้ว่า ชฎิลผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ทิศใด ขอท่านพ่อจงพาข้าพเจ้าไปให้ถึงทิศ นั้นโดยเร็วเถิด ข้าพเจ้าอย่าได้ตายเสียในอาศรมของท่านเลย ข้าแต่ ท่านพ่อ ข้าพเจ้าได้ฟังถึงป่าไม้อันวิจิตรมีดอกบาน กึกก้องไปด้วยเสียง นกร้อง มีฝูงนกอาศัยอยู่ ขอท่านพ่อช่วยพาข้าพเจ้าไปให้ถึงป่าไม้นั้นโดย เร็วเถิด ข้าพเจ้าจะต้องละชีวิตเสียก่อนในอาศรมของท่านพ่อเป็นแน่.
[๑๙] เราไม่ควรให้เจ้าผู้ยังเป็นเด็กเช่นนี้ ถึงความกระสันในป่าเป็นโชติรส ที่ หมู่คนธรรพ์และเทพอัปสรส้องเสพเป็นที่อยู่อาศัยแห่งฤาษีทั้งหลาย ใน กาลก่อน พวกมิตรย่อมมีบ้างไม่มีบ้าง ชนทั้งหลายย่อมทำความรักใน พวกญาติและพวกมิตร กุมารใดย่อมไม่รู้ว่า เราเป็นผู้มาแต่ไหน กุมาร นี้เป็นผู้ลามก อยู่ในกลางวันเพราะเหตุอะไร มิตรสหายย่อมสนิทกัน บ่อยๆ เพราะความอยู่ร่วมกัน มิตรนั้นนั่นแหละย่อมเสื่อมไป เพราะ ความไม่อยู่ร่วมของบุรุษที่ไม่สมาคม ถ้าเจ้าได้เห็นพรหมจารีได้พูดกับ พรหมจารี เจ้าจักละคุณคือตปธรรมนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น หากเจ้าได้เห็นพรหมจารีอีก ได้พูดกับ พรหมจารีอีก เจ้าจักละสมณเดชนี้เร็วไว ดุจข้าวกล้าที่สมบูรณ์แล้ว เสียไปเพราะน้ำมาก ฉะนั้น ดูกรลูกรัก พวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปใน มนุษยโลกโดยรูปแปลก ๆ นรชนผู้มีปัญญาไม่พึงคบพวกยักษ์นั้น พรหมจารีย่อมฉิบหายไป เพราะความเกาะเกี่ยวกัน.

จบ นฬินิกาชาดกที่ ๑

๒. อุมมาทันตีชาดก เสนาบดีถวายนางอุมมาทันตีแด่พระราชา


[๒๐] ดูกรนายสุนันทสารถี นี่เรือนของใครหนอล้อมด้วยกำแพงสีเหลือง ใคร หนอปรากฏอยู่ในที่ไกล เหมือนเปลวไฟอันลุกโพลงอยู่บนเวหาส และ เหมือนเปลวไฟบนยอดภูเขา ฉะนั้น ดูกรนายสุนันทสารถี หญิงคนนี้ เป็นธิดาของใครหนอ เป็นลูกสะใภ้หรือเป็นภรรยาของใคร ไม่มีผู้หวง แหนหรือผัวของนางมีหรือไม่ เราถามแล้วขอท่านจงบอกแก่เราโดยเร็ว.
[๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร ก็ข้าพระองค์ย่อมรู้จักหญิงนั้นพร้อม ทั้งมารดา บิดา และสามีของนาง ข้าแต่พระจอมภูมิบาล บุรุษนั้นเป็น ผู้ไม่ประมาทในประโยชน์ของพระองค์ทั้งกลางคืนกลางวัน สามีของนาง เป็นผู้มีอิทธิพลกว้างขวางและมั่งคั่ง ทั้งเป็นอำมาตย์คนหนึ่งของพระองค์ ข้าแต่พระราชา หญิงนั้นเป็นภรรยาของอภิปารกเสนาบดี มีชื่อว่าอุมมา ทันตี พระเจ้าข้า.
[๒๒] ดูกรท่านผู้เจริญๆ ชื่อที่มารดาและบิดาตั้งให้หญิงนี้ เป็นชื่อเหมาะสมดี จริงอย่างนั้นเมื่อนางมองดูเรา ย่อมทำให้เราหลงใหลคล้ายคนบ้า.
[๒๓] ในคืนเดือนเพ็ญ นางผู้มีนัยน์ตาชะม้ายคล้ายเนื้อทราย ร่างกายมีสีเหมือน ดอกปุณฑริกนั่งอยู่ใกล้หน้าต่าง ในคืนนั้น เราได้เห็นนางนุ่งห่มผ้าสีแดง เหมือนเท้านกพิราบ สำคัญว่าพระจันทร์ขึ้นสองดวง คราวใด นางมี หน้ากว้าง ขาวสะอาด ประเล้าประโลมอยู่ด้วยอาการอันงดงาม ชะม้อย ชะม้ายชำเลืองดูเรา ดังจะปล้นเอาดวงใจของเราไปเสียเลย เหมือนนาง กินนรเกิดบนภูเขาในป่า ฉะนั้น ก็คราวนั้นนางผู้พริ้งเพรา มีตัวเป็นสีทอง สวมกุณฑลแก้วมณี ผ้านุ่งผ้าห่มท่อนเดียวชำเลืองดูเราประดุจนางเนื้อ ทรายมองดูนายพราน ฉะนั้น เมื่อไรหนอ นางผู้มีเล็บแดง มีขนงาม มี แขนนุ่มนิ่มลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์ มีนิ้วมือกลมเกลี้ยง มีกระบวนชดช้อย งามตั้งแต่ศีรษะจักได้ยั่วยวนเรา เมื่อไรหนอ ธิดาของท่านเศรษฐีติรีวัจฉะ ผู้มีทับทรวงอันกระทำด้วยข่ายทอง เอวกลมจักกอดรัดเราด้วยแขนทั้ง สองอันนุ่มนิ่ม ประดุจเถาย่านทรายรวบรัดต้นไม้ที่เกิดในป่าใหญ่ ฉะนั้น เมื่อไรหนอ นางผู้มีผิวงามแดงดังน้ำครั่ง มีถันเป็นปริมณฑลดังฟองน้ำ มีอวัยวะฉาบด้วยผิวหนังเปล่งปลั่งดังดอกปุณฑริก จัดจรดปากด้วยปาก กะเรา เหมือนดังนักเลงสุราจรดจอกสุราให้แก่นักเลงสุรา ฉะนั้น ใน กาลใด เราได้เห็นนางผู้มีร่างกายทุกส่วนอันน่ารื่นรมย์ใจยืนอยู่ ในกาล นั้น เราไม่รู้สึกอะไรๆ แก่จิตของตนเลย เราได้เห็นนางอุมมาทันตีผู้ สวมสอดกุณฑลมณีแล้ว นอนไม่หลับทั้งกลางวันและกลางคืน เหมือน แพ้ข้าศึกมาตั้งพันครั้ง ถ้าท้าวสักกะพึงประทานพรให้แก่เรา ขอให้เรา พึงได้พรนั้นเถิด อภิปารกเสนาบดีพึงรื่นรมย์อยู่กับนางอุมมาทันตีคืน หนึ่งหรือสองคืน ต่อจากนั้นพระเจ้าสีวิราชพึงได้รื่นรมย์บ้าง.
[๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภูตบดี เมื่อข้าพระองค์นมัสการเทวดาทั้งหลายอยู่ เทวดามาบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพระองค์ว่า พระทัยของพระราชาใฝ่ฝันใน นางอุมมาทันตี ข้าพระองค์ขอถวายนางแด่พระองค์ ขอพระองค์จงให้ นางบำเรอเถิด ฯ
[๒๕] ก็เราพึงพรากเสียจากบุญและไม่เป็นเทวดา อนึ่ง คนพึงรู้ความชั่วของ เรานี้ และเมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยาที่รักแล้วไม่เห็นนาง ความ แค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน.
[๒๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชานิกร ประชาชนแม้ทั้งสิ้นนอกจากข้าพระ บาทและพระองค์ ไม่พึงรู้กรรมที่ทำกัน ข้าพระบาทยอมถวายนาง อุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์อยู่กับนางเต็มพระหฤทัย ปรารถนาแล้ว จงทรงสลัดเสีย.
[๒๗] มนุษย์ใดผู้กระทำกรรมอันลามก มนุษย์นั้นย่อมสำคัญว่าคนอื่นไม่รู้การ กระทำนี้ เพราะว่านรชนเหล่าใดประกอบแล้วบนพื้นปฐพี นรชน เหล่านั้นย่อมเห็นการกระทำนี้ คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินนี้ทั้งโลกพึงเชื่อ ท่านหรือว่า นางอุมมาทันตีไม่เป็นที่รักแห่งเรา เมื่อท่านให้นางอุมมา ทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่เห็นนางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้าย แรงจะพึงมีแก่ท่าน.
[๒๘] ข้าแต่พระจอมประชาชน นางอุมมาทันตีนั้นเป็นที่รักของข้าพระบาทโดย แท้ ข้าแต่พระภูมิบาล นางไม่เป็นที่รักของข้าพระบาทก็หาไม่ ขอความ เจริญจงมีแด่พระองค์ เชิญพระองค์เสด็จไปหานางอุมมาทันตีเถิด เหมือน ดังราชสีห์เข้าสู่ถ้ำสิลา ฉะนั้น.
[๒๙] นักปราชญ์ทั้งหลายถูกความทุกข์ของตนบีบคั้นแล้ว ย่อมไม่ละกรรมที่มี ผลเป็นสุข แม้จะเป็นผู้หลงมัวเมาด้วยความสุข ก็ย่อมไม่ประพฤติบาป กรรม.
[๓๐] ก็พระองค์เป็นทั้งพระมารดาพระบิดา เป็นผู้เลี้ยงดู เป็นเจ้านาย เป็น ผู้พอกเลี้ยง และเป็นเทวดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พร้อมด้วยบุตร และภรรยาเป็นทาสของพระองค์ ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตามความ สุขเถิด.
[๓๑] ผู้ใดย่อมทำบาปด้วยความสำคัญว่า เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และครั้นกระทำ แล้วก็ไม่สะดุ้งกลัวต่อชนเหล่าอื่น ผู้นั้นย่อมไม่เป็นอยู่ตลอดอายุยืนยาว เพราะกรรมนั้น แม้เทวดาก็มองดูผู้นั้นด้วยนัยน์ตาอันเหยียดหยาม.
[๓๒] ชนเหล่าใดตั้งอยู่ในธรรม ย่อมรับทานที่เป็นของผู้อื่นอันเจ้าของมอบให้ แล้ว ชนเหล่านั้นเป็นผู้รับด้วย เป็นผู้ให้ในทานนั้นด้อย ได้ชื่อว่าทำ กรรมอันมีผลเป็นสุขในเพราะทานนั้นแท้จริง.
[๓๓] คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินทั้งโลก จะพึงเชื่อท่านหรือว่า นางอุมมาทันตี ไม่เป็นที่รักของเรา เมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่ เห็นนางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน.
[๓๔] ข้าแต่พระจอมประชาชน นางอุมมาทันตีนั้นเป็นที่รักของข้าพระบาท โดยแท้ ข้าแต่พระภูมิบาล นางไม่เป็นที่รักของข้าพระบาทก็หาไม่ ข้าพระบาทยอมถวายนางอุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์ อยู่กับนางเต็มพระหฤทัยปรารถนาแล้ว จงทรงสลัดเสีย.
[๓๕] ผู้ใดก่อทุกข์ให้แก่ผู้อื่นด้วยทุกข์ของตน หรือก่อความสุขของตนด้วย ความสุขของผู้อื่น ผู้ใดรู้อย่างนี้ว่า ความสุขและความทุกข์ของเรานี้ก็ เหมือนของผู้อื่น ผู้นั้นชื่อว่ารู้ธรรม ฯ
[๓๖] คนอื่นใครเล่าในแผ่นดินทั้งโลก จะพึงเชื่อท่านหรือว่านางอุมมาทันตี ไม่เป็นที่รักของเรา เมื่อท่านให้นางอุมมาทันตีภรรยายอดรักแล้ว ไม่เห็น นางภายหลัง ความคับแค้นใจอย่างร้ายแรงจะพึงมีแก่ท่าน
[๓๗] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมประชาชน พระองค์ย่อมทรงทราบว่า นางอุมมาทันตี นี้เป็นที่รักของข้าพระบาท ข้าแต่พระจอมภูมิบาล นางนั้นไม่เป็นที่รัก ของข้าพระบาทก็หาไม่ ข้าพระบาทขอถวายสิ่งอันเป็นที่รักแก่พระองค์ ด้วยสิ่งอันเป็นที่รัก ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ผู้ให้สิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมได้สิ่งอันเป็นที่รัก.
[๓๘] เรานั้นจักฆ่าตนอันมีกามเป็นเหตุโดยแท้ เราไม่อาจฆ่าธรรมด้วยอธรรม ได้เลย.
[๓๙] ข้าแต่พระจอมประชาชน ผู้แกล้วกล้ากว่านรชน ผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ ไม่ต้องพระประสงค์นางอุมมาทันตี ผู้เป็นของข้าพระบาทไซร้ ข้าพระบาท จะสละนางในท่ามกลางชนทั้งปวง พระองค์พึงรับสั่งให้นำนางผู้พ้นจาก ข้าพระบาทแล้วมาจากที่นั้นเถิด พระเจ้าข้า.
[๔๐] ดูกรอภิปารกเสนาบดีผู้กระทำประโยชน์ ถ้าท่านจะสละนางอุมมาทันตี ผู้หาประโยชน์มิได้ เพื่อสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน ความค่อนว่า อย่างใหญ่หลวงจะพึงมีแก่ท่าน อนึ่ง แม้การใส่ร้ายในพระนครก็จะพึง มีแก่ท่าน.
[๔๑] ข้าแต่พระจอมภูมิบาล ข้าพระบาทจักอดกลั้นความค่อนว่าคำนินทา คำ สรรเสริญ และคำติเตียนทั้งหมด ความค่อนว่าเป็นต้นนั้นจงตกอยู่แก่ข้า พระบาท ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวสีพี ขอพระองค์ทรงบริโภคกามตาม ความสำราญเถิด ผู้ใดไม่ถือเอาความนินทา ความสรรเสริญ ความ ติเตียน และแม้การบูชา สิริและปัญญาย่อมปราศไปจากผู้นั้น เหมือน ดังน้ำฝนปราศไปจากดอน ฉะนั้น ข้าพระบาทจักยอมรับความทุกข์ความ สุข สิ่งที่ล่วงธรรมดาและความคับแค้นใจทั้งหมดเพราะเหตุแห่งการสละ นี้ด้วยอก เหมือนดังแผ่นดินรองรับสิ่งของทั้งของคนมั่นคงและคนสะดุ้ง ฉะนั้น.
[๔๒] เราไม่ปรารถนาสิ่งที่ล่วงธรรมดา ความคับแค้นใจและความทุกข์ของชน เหล่าอื่น เราแม้ผู้เดียวจักเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่ยังประโยชน์หน่อย หนึ่งให้เสื่อม ข้ามภาระนี้ไป.
[๔๓] ข้าแต่จอมประชาชน บุญกรรมย่อมให้เข้าถึงสวรรค์ พระองค์อย่าได้ทรง ทำอันตรายแก่ข้าพระบาทเสียเลย ข้าพระบาทมีใจเลื่อมใสขอถวายนาง อุมมาทันตีแด่พระองค์ ดังพระราชาทรงประทานทรัพย์สำหรับบูชายัญ แก่พราหมณ์ทั้งหลาย ฉะนั้น.
[๔๔] ท่านเป็นผู้เกื้อกูลแก่เราในการกระทำประโยชน์แน่แท้ นางอุมมาทันตี และท่านเป็นสหายของเรา เทวดาและพรหมทั้งหมดเห็นความชั่วอันเป็น ไปในภายหน้า พึงติเตียนได้
[๔๕] ข้าแต่พระเจ้าสีวิราช ชาวนิคมและชาวชนบททั้งหมด ไม่พึงคัดค้าน กรรมอันเป็นธรรมนั้นเลย ข้าพระบาทขอถวายนางอุมมาทันตีแก่พระองค์ พระองค์จงทรงอภิรมย์อยู่กับนางเต็มพระหฤทัยปรารถนาแล้ว จงทรง สลัดเสีย.
[๔๖] ท่านเป็นผู้เกื้อกูลแก่เราในการทำประโยชน์แน่แท้ นางอุมมาทันตีและ ท่านเป็นสหายของเรา ธรรมของสัตบุรุษที่ประกาศดีแล้ว ยากที่จะละ ได้ เหมือนเขตแดนของสมุทรฉะนั้น.
[๔๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์เป็นผู้ควรของคำนับของข้าพระองค์ เป็นผู้หวัง ประโยชน์เกื้อกูล เป็นผู้ทรงไว้ เป็นผู้ประทานความสุข และทรงรักษา ความปรารถนาไว้ ยัญที่บูชาในพระองค์ย่อมมีผลมาก ขอพระองค์ทรง รับนางอุมมาทันตีตามความปรารถนาของข้าพระองค์เถิด.
[๔๘] ดูกรอภิปรารกเสนาบดีผู้เป็นบุตรแห่งท่านผู้กระทำประโยชน์ ท่านได้ ประพฤติแล้วซึ่งธรรมทั้งปวงแก่เราโดยแท้ นอกจากท่าน มนุษย์อื่นใคร เล่าหนอจักเป็นผู้กระทำความสวัสดีในเวลาอรุณขึ้น ในชีวโลกนี้.
[๔๙] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เยี่ยม พระองค์ทรงดำเนินโดยธรรม ทรง รู้แจ้งธรรม มีพระปัญญาดี ขอพระองค์ผู้อันธรรมคุ้มครองแล้วจงทรง พระชนม์ยั่งยืนนาน ข้าแต่พระองค์ผู้รักษาธรรม ขอพระองค์โปรดแสดง ธรรมแก่ข้าพระองค์เถิด.
[๕๐] ดูกรอภิปารกเสนาบดี เชิญท่านฟังคำของเราเถิด เราจักแสดงธรรมที่ สัตบุรุษส้องเสพแก่ท่าน พระราชาชอบใจธรรมจึงจะดีงาม นรชนผู้มี ความรู้รอบจึงจะดีงาม ความไม่ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นความดี การไม่ กระทำบาปเป็นสุข มนุษย์ทั้งหลายพึงอยู่เป็นสุข ในแว่นแคว้นของพระ ราชาผู้ไม่ทรงกริ้วโกรธ ทรงตั้งอยู่ในธรรม เหมือนเรือนของตนอันมีร่ม เงาเย็นฉะนั้น เราย่อมไม่ชอบใจกรรมที่ทำด้วยความไม่พิจารณาอันเป็น กรรมไม่ดีนั้นเลย แม้พระราชาเหล่าใดทรงทราบแล้วไม่ทรงทำเอง เรา ชอบใจกรรมของพระราชาเหล่านั้น ขอท่านจงฟังอุปมาของเราต่อไปนี้ ถ้า เมื่อฝูงโคว่ายข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงว่ายไปคด โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไป คด ในเมื่อโคนำฝูงว่ายคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับยกย่อง ว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรมจะป่วยกล่าวไปไยถึงประชาชน นอกนี้ รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม เมื่อฝูงโคว่ายข้ามไปอยู่ ถ้าโคผู้นำฝูงว่ายไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ว่ายไป ตรง ในเมื่อโคนำฝูงว่ายไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ผู้ใดได้รับ ยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึง ประชาชนนอกนี้ รัฐทั้งหมดย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงตั้งอยู่ใน ธรรม ดูกรอภิปารกเสนาบดี เราไม่พึงปรารถนาเพื่อความเป็นเทวดา และเพื่อครอบครองแผ่นดินทั้งหมดนี้ โดยอธรรม รัตนะอย่างใดอย่าง หนึ่งคือ โค ทาส เงิน ผ้า และจันทน์เทศ มีอยู่ในมนุษย์นี้ เราจะไม่ ประพฤติผิดธรรมเพราะความปรารถนารัตนะเหล่านั้น บุคคลไม่พึงประ พฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งสมบัตินั้น เป็นต้นว่า ม้า หญิง แก้วมณี หรือแม้พระจันทร์และพระอาทิตย์ที่รักษาอยู่ เราเป็นผู้องอาจ เกิดใน ท่ามกลางแห่งชาวสีพีทั้งหลาย ฉะนั้น เราจะไม่ประพฤติผิดธรรมเพราะ เหตุแห่งสมบัตินั้น เราจะเป็นผู้นำ จะเป็นผู้เกื้อกูล เป็นผู้เฟื่องฟูปกครอง แว่นแคว้น จักเป็นผู้เคารพธรรม ของชาวสีพี จะเป็นผู้คิดค้นซึ่ง ธรรม เพราะฉะนั้น เราจะไม่เป็นไปในอำนาจแห่งจิตของตน
[๕๑] ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงประพฤติธรรมอันไม่มีความฉิบหาย เป็นแดนเกษมอยู่เป็นนิจแน่แท้ พระองค์จักดำรงราชสมบัติอยู่ยั่งยืน นาน เพราะพระปัญญาของพระองค์เป็นเช่นนั้น พระองค์ไม่ทรงประมาท ธรรมใด ข้าพระองค์ขออนุโมทนาธรรมนั้นของพระองค์ กษัตริย์ผู้เป็น อิสระทรงประมาทธรรมแล้ว ย่อมเคลื่อนจากรัฐ ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ขัตติยราช ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในพระชนนีและพระชนก ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ พระองค์จงทรง ประพฤติธรรมในพระราชบุตรและพระมเหสี ครั้นทรงประพฤติธรรม ในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ ขอพระองค์จงทรงประพฤติธรรมในมิตร และอำมาตย์ ... ในราชพาหนะและทะแกล้วทหาร ... ในบ้านและนิคม ... ในแว่นแคว้นและชนบท ... ในสมณะและพราหมณ์ ... ในเนื้อและนก ทั้งหลาย ... ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วจักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงประพฤติธรรมเถิด เพราะว่าธรรม ที่ประพฤติแล้วย่อมนำสุขมาให้ ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลก นี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรง ประพฤติธรรมเถิด ด้วยว่าพระอินทร์ เทวดา พร้อมทั้งพรหม เป็นผู้ ถึงทิพยสถานเพราะธรรมที่ประพฤติแล้ว ข้าแต่พระราชา พระองค์อย่า ทรงประมาทธรรมเลย.

จบ อุมมาทันตีชาดกที่ ๒

๓. มหาโพธิชาดก ว่าด้วยปฏิปทาของผู้นำ


[๕๒] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงรีบร้อนถือเอาไม้เท้า หนังเสือ ร่ม รองเท้า ไม้ขอ บาตร และผ้าพาด ท่านปรารถนาจะไป ยังทิศไหนหนอ.
[๕๓] ตลอด ๑๒ ปีที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตรนี้ อาตมภาพมิได้รู้ สึกถึงเสียงที่สุนัขเหลืองมันคำรามด้วยหูเลย ดูกรพระองค์ผู้เป็นใหญ่ เพราะมหาบพิตรพร้อมด้วยพระมเหสีปราศจากความเชื่อถือในเขา มาทรง เชื่อฟังอาตมภาพ มันจึงแยกเขี้ยวขาวเห่าอยู่ คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จัก กัน ฉะนั้น.
[๕๔] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โทษที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้น จริงตามที่ท่านกล่าว ข้าพเจ้า นี้ย่อมเลื่อมใสยิ่งนัก ขอท่านจงอยู่เถิด อย่าเพิ่งไปเสียเลย ท่านพราหมณ์.
[๕๕] เมื่อก่อนข้าวสุขขาวล้วน ภายหลังก็มีสิ่งอื่นเจือปน บัดนี้ แดงล้วน เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป อนึ่ง เมื่อก่อนอาสนะมี ในภายใน ต่อมามีในท่ามกลาง ต่อมามีข้างนอก ต่อมาก็จะถูกขับไล่ ออกจากพระราชนิเวศน์ อาตมภาพจะขอไปเสียเองละ บุคคลไม่ควร คบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มีน้ำ ฉะนั้น ถ้าแม้บุคคล จะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม บุคคลควรคบคน ที่เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นคนที่ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้คนที่ เลื่อมใส เหมือนคนผู้ต้องการน้ำเข้าไปหาห้วงน้ำ ฉะนั้น ควรคบคนผู้ คบด้วย ไม่ควรคบคนผู้ไม่คบด้วย ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ผู้นั้นชื่อ ว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ไม่ซ่องเสพคนผู้ซ่อง เสพด้วย ผู้นั้นแล เป็นมนุษย์ชั่วช้าที่สุด เหมือนลิง ฉะนั้น มิตร ทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกันด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ คือ ด้วยการคลุกคลี กันเกินไป ๑ ด้วยการไม่ไปมาหากัน ๑ ด้วยการขอในเวลาไม่สมควร ๑ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรไปมาหากันให้พร่ำเพรื่อนัก ไม่ควรเหิน ห่างไปให้เนิ่นนาน และควรขอสิ่งที่ควรขอตามเหตุกาลที่สมควร ด้วย อาการอย่างนี้ มิตรทั้งหลายจึงจะไม่แหนงหน่ายกัน คนที่รักกันย่อม ไม่เป็นที่รักกันได้เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินควร อาตมภาพมิได้เป็น ที่รักของมหาบพิตรมาก่อน เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขอลาพระองค์ ไปก่อนละ.
[๕๖] ถ้าพระคุณเจ้าไม่รับอัญชลี ของสัตว์ผู้เป็นบริวารมาอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไม่กระทำตามคำขอร้องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระคุณเจ้า ขอ พระคุณเจ้าโปรดกลับมาเยี่ยมอีก.
[๕๗] ดูกรมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ถ้าเมื่อเราทั้งหลายอยู่อย่างนี้ อันตรายจักไม่มี แม้ไฉนเราทั้งหลายพึงเห็นการล่วงไปแห่งวันและคืนของมหาบพิตรและ ของอาตมภาพ.
[๕๘] ถ้าถ้อยคำของท่านเป็นไปตามคติที่ดีและตามสุภาพ สัตว์กระทำกรรมที่ไม่ ควรทำบ้าง ที่ควรทำบ้าง เพราะความไม่ใคร่ในกรรมที่สัตว์กระทำ สัตว์ อะไรในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาปเล่า ถ้าเนื้อความแห่งภาษิตของท่านนั้น เป็นอรรถเป็นธรรมและเป็นถ้อยคำงาม ไม่ชั่วช้า ถ้าถ้อยคำของท่านเป็น ความจริง ลิงก็เป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้าท่านรู้ความผิดแห่งวาทะของตน ก็จะไม่พึงติเตียนเราเลย เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.
[๕๙] ถ้าว่าพระเป็นเจ้าสร้างชีวิต สร้างฤทธิ์ สร้างความพินาศ สร้างกรรมดี และกรรมชั่ว ให้แก่โลกทั้งหมดไซร้ บุรุษผู้กระทำตามคำสั่งของพระ เป็นเจ้าก็ย่อมทำบาปได้ พระเป็นเจ้าย่อมเปื้อนด้วยบาปนั้นเอง ถ้า เนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะท่านเป็น เช่นนั้น.
[๖๐] ถ้าสัตว์ย่อมเข้าถึงสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่กระทำไว้แล้วใน ปางก่อน กรรมเก่าที่กระทำไว้แล้ว เขาย่อมเปลื้องหนี้นั้นได้ ทางพ้นจาก หนี้เก่ามีอยู่ ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้าเนื้อความแห่งภาษิต ของท่าน เป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.
[๖๑] รูปของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเป็นอยู่ได้เพราะอาศัยธาตุ ๔ เท่านั้น ก็รูปเกิด จากสิ่งใด ย่อมเข้าถึงในสิ่งนั้นอย่างเดิม ชีพย่อมเป็นอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ละไปแล้วย่อมพินาศในโลกหน้า โลกนี้ขาดสูญ เมื่อโลกขาดสูญอยู่ อย่างนี้ ชนเหล่าใดทั้งที่เป็นพาลทั้งที่เป็นบัณฑิต ชนเหล่านั้นย่อม ขาดสูญทั้งหมด ใครเล่าในโลกนี้จะเปื้อนด้วยบาป ถ้าเนื้อความแห่ง ภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะว่าวาทะของท่านเป็นเช่นนั้น.
[๖๒] อาจารย์ทั้งหลายผู้มีวาทะว่า การฆ่ามารดาบิดา เป็นกิจที่ควรทำ ได้ กล่าวไว้แล้วในโลก พวกคนพาลผู้สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต พึงฆ่ามารดา บิดา พึงฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าบุตร และภรรยา ถ้าประโยชน์เช่นนั้นพึงมี.
[๖๓] บุคคลพึงนั่งหรือนอนที่ร่มไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษ ร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม ถ้าเมื่อมีความต้องการเกิดขึ้นก็ควรถอนไปแม้ ทั้งราก แม้ประโยชน์ที่จะมีต่อเรามาก วานรเป็นอันเราฆ่าดีแล้ว ถ้า เนื้อความแห่งภาษิตของท่านเป็นอรรถเป็นธรรม ... เพราะวาทะของท่าน เป็นเช่นนั้น.
[๖๔] บุรุษผู้มีวาทะว่าหาเหตุมิได้ ๑ ผู้มีวาทะว่าพระเจ้าสร้างโลก ๑ ผู้มีวาทะ ว่าสุขและทุกข์เกิดเพราะกรรมที่ทำมาก่อน ๑ ผู้มีวาทะว่าขาดสูญ ๑ คนที่มีวาทะว่าฆ่าบิดามารดาเป็นกิจที่ควรทำ ๑ ทั้ง ๕ คนนี้ เป็นอสัต บุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิตในโลก คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร.
[๖๕] ในปางก่อน นกยางตัวหนึ่งมีรูปเหมือนแกะ พวกแกะไม่รังเกียจ เข้า ไปยังฝูงแกะ ฆ่าแกะทั้งตัวเมียตัวผู้ ครั้นฆ่าแล้ว ก็บินหนีไปด้วยอาการ อย่างใด สมณพราหมณ์บางพวกก็มีอาการเหมือนอย่างนั้น กระทำการ ปิดบังตัว เที่ยวหลอกลวงมนุษย์ บางพวกประพฤติไม่กินอาหาร บาง พวกนอนบนแผ่นดิน บางพวกทำกริยาขัดถูธุลีในตัว บางพวกตั้งความ เพียรเดินกระโหย่ง บางพวกงดกินอาหารชั่วคราว บางพวกไม่ดื่มน้ำ เป็นผู้มีอาจาระเลวทราม เที่ยวพูดอวดว่าเป็นพระอรหันต์ คนเหล่านี้ เป็นอสัตบุรุษ เป็นคนพาลแต่มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนผู้อื่นให้กระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนเป็นกำไร พวกคนที่กล่าวว่าความ เพียรไม่มี และพวกที่กล่าวหาเหตุติเตียนการกระทำของผู้อื่นบ้าง กล่าว สรรเสริญการกระทำของตนบ้าง และพูดเปล่าๆ บ้าง คนเหล่านี้เป็น อสัตบุรุษ เป็นคนพาล แต่มีความสำคัญตนว่า เป็นบัณฑิต คนเช่นนั้น พึงกระทำบาปเองก็ได้ พึงชักชวนให้ผู้อื่นกระทำก็ได้ ความคลุกคลีด้วย อสัตบุรุษมีทุกข์เป็นที่สุด มีผลเผ็ดร้อนอันเป็นกำไร ก็ถ้าความเพียรไม่ พึงมี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีไซร้ พระราชาก็จะไม่ทรงชุบเลี้ยงพวกช่างไม้ แม้นายช่างก็ไม่พึงกระทำยนต์ทั้งหลาย แต่เพราะความเพียรมีอยู่ กรรม ดีกรรมชั่วมีอยู่ ฉะนั้น นายช่างพึงกระทำยนต์ทั้งหลาย พระราชาก็ทรง ชุบเลี้ยงนายช่าง ถ้าฝนไม่ตก น้ำค้างไม่ตกตลอดร้อยปี โลกนี้ก็พึงขาด สูญ หมู่สัตว์ก็พึงพินาศ แต่เพราะฝนก็ตกและน้ำค้างก็ยังโปรยอยู่ ฉะนั้น ข้าวกล้าจึงสุกและเลี้ยงชาวเมืองให้ดำรงอยู่ได้นาน ถ้าเมื่อฝูงโค ข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปคด เมื่อมีโคผู้นำฝูงไปคด โคทั้งหมดนี้ก็ย่อม ไปคด ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับยกย่องว่าเป็น ผู้ประเสริฐสุด ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม จะป่วยกล่าวไปไยถึงประ ชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นทุกข์ ถ้าพระราชาไม่ทรงดำรง อยู่ในธรรม ถ้าเมื่อฝูงโคข้ามฟากไปอยู่ โคผู้นำฝูงไปตรง เมื่อมีโคผู้นำฝูง ไปตรง โคทั้งหมดนั้นก็ไปตรง ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด ถ้าแม้ผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ไม่ จำต้องกล่าวถึงประชาชนนอกนี้ ชาวเมืองทั้งปวงย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระ ราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บผลดิบมา ผู้นั้น ย่อมไม่รู้รสแห่งผลไม้นั้น ทั้งพืชพันธุ์ แห่งต้นไม้นั้นก็ย่อมพินาศ รัฐ เปรียบด้วยต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดทรงปกครองโดยไม่เป็นธรรม พระ ราชานั้นย่อมไม่รู้จักรสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ย่อม พินาศ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีผล ผู้ใดเก็บเอาผลสุกๆ มา ผู้นั้นย่อมรู้รส แห่งผลไม้นั้น และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศ รัฐเปรียบด้วย ต้นไม้ใหญ่ พระราชาใดปกครองโดยธรรม พระราชานั้นย่อมทรงทราบ รสแห่งรัฐนั้น และรัฐของพระราชานั้นก็ไม่พินาศ อนึ่ง ขัตติยราช พระองค์ใด ทรงปกครองชนบทโดยไม่เป็นธรรม ขัตติยราชพระองค์นั้น ย่อมคลาดจากโอชะทั้งปวง อนึ่ง พระราชาพระองค์ใด ทรงเบียดเบียน ชาวนิคมผู้ประกอบการซื้อขาย กระทำการถวายโอชะและพลีกรรม พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากส่วนพระราชทรัพย์ พระราชาพระองค์ ใด ทรงเบียดเบียนนายพรานผู้รู้เขตแห่งการประหารอย่างดี และเบียด เบียนทหารผู้กระทำความชอบในสงคราม เบียดเบียนอำมาตย์ผู้รุ่งเรือง พระราชาพระองค์นั้นย่อมคลาดจากพลนิกาย อนึ่ง กษัตริย์ผู้ไม่ประพฤติ ธรรม เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ กษัตริย์พระองค์นั้นย่อมคลาดจากสวรรค์ อนึ่ง พระราชาผู้ไม่ดำรงอยู่ ในธรรม ฆ่าพระชายาผู้ไม่ประทุษร้าย ย่อมได้ประสบเหตุแห่งทุกข์ อย่างหนัก และย่อมผิดพลาดด้วยพระราชบุตรทั้งหลาย พระราชาพึง ประพฤติธรรมในชาวชนบท ชาวนิคม พลนิกาย ไม่พึงเบียดเบียน บรรพชิต พึงประพฤติสม่ำเสมอในพระโอรสและพระชายา พระราชาผู้ เป็นภูมิบดีเช่นนั้น เป็นผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ทรงพิโรธ ย่อมทรงทำ ให้ผู้อยู่ใกล้เคียงหวั่นไหว เหมือนพระอินทร์ผู้เป็นเจ้าแห่งอสูร ฉะนั้น.

จบ มหาโพธิชาดกที่ ๓

_________________ รวมชาดกในปัญญาสนิบาตนั้นมี ๓ ชาดก คือ ๑. นฬินิกาชาดก ๒. อุมมาทันตีชาดก ๓. มหาโพธิชาดก สุภกถาพระชินเจ้าตรัสแล้ว เป็น ๓ ชาดก. จบ ปัญญาสนิบาตชาดก. _______________

สัฏฐินิบาตชาดก

๑. โสณกชาดก เรื่องพระราชาจะพระราชทานรางวัลแก่ผู้พบโสณกกุมาร


[๖๖] เราจะให้ทรัพย์ร้อยหนึ่งแก่ใครๆ ผู้ได้ยินข่าวแล้วมาบอกแก่เราใครพบ โสณกะผู้สหายเคยเล่นมาด้วยกันแล้วบอกแก่เรา เราจะให้ทรัพย์พันหนึ่ง แก่ผู้ที่พบโสณกะนั้น ลำดับนั้น มาณพน้อยมีผมห้าแหยมได้กราบทูลพระ ราชาว่า พระองค์จงทรงประทานทรัพย์ร้อยหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ผู้ได้ยิน ข่าวแล้วมากราบทูล ข้าพระองค์พบโสณกะพระสหายเคยเล่นมาด้วยกัน แล้ว จึงกราบทูลแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงประทานทรัพย์พันหนึ่ง แก่ข้าพระองค์ผู้พบโสณกะ.
[๖๗] โสณกกุมารนั้นอยู่ในชนบท แว่นแคว้นหรือนิคมไหนท่านได้พบโสณก กุมาร ณ ที่ไหน เราถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้นแก่เรา.
[๖๘] ขอเดชะ ต้นรังใหญ่หลายต้นมีลำต้นตรง มีสีเขียวเหมือนเมฆเป็นที่ชอบ ใจน่ารื่นรมย์ อันอาศัยกันและกัน ตั้งอยู่ในภาคพื้นพระราชอุทยานใน แว่นแคว้นของพระองค์นั่นเอง พระโสณกะเมื่อสัตว์โลกมีความยึดมั่น เป็นผู้ไม่ยึดมั่น เมื่อสัตว์โลกถูกไฟเผา เป็นผู้ดับแล้ว เพ่งฌานอยู่ที่โคน แห่งต้นรังเหล่านั้น.
[๖๙] ลำดับนั้นแล พระราชารับสั่งให้ทำทางให้ราบเรียบแล้ว เสด็จไปยังที่อยู่ ของพระโสณกะพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา เมื่อเสด็จประพาสไปในไพร วันก็เสด็จถึงภูมิภาคแห่งอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโสณกะ ผู้ นั่งอยู่เมื่อสัตว์โลกถูกไฟเผาเป็นผู้ดับแล้ว.
[๗๐] ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้าหนอ ศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ไม่มีมารดา ไม่มีบิดา นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ฯ
[๗๑] พระโสณกะได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว จึงได้ทูลว่า ดูกรมหาบพิตรบุคคลผู้ถูก ต้องธรรมด้วยนามกาย ไม่ชื่อว่าเป็นคนกำพร้าผู้ใดในโลกนี้นำเสียซึ่ง ธรรม อนุวัตตามอธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนกำพร้า เป็นคนลามก มีบาป กรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ขอถวายพระพร ฯ
[๗๒] มหาชนรู้จักนามของข้าพเจ้าว่า อรินทมะ และรู้จักข้าพเจ้าว่าพระเจ้ากาสี ดูกรท่านโสณกะ การอยู่เป็นสุข ย่อมมีแก่ท่านผู้อยู่ในที่นี้แลหรือ ฯ
[๗๓] ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือนทุกเมื่อ (คือ) ทรัพย์และ ข้าวเปลือก ย่อมไม่เข้าไปในฉาง ในหม้อและในกระเช้าของภิกษุเหล่า นั้น ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้แสวงหาอาหารอันสำเร็จแล้ว มีวัตรอันงาม เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปด้วยบิณฑบาตนั้น ข้อที่ ๒ ความเจริญย่อมมีแก่ ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุพึงบริโภคบิณฑบาต ที่ไม่มีโทษ และกิเลสอะไรๆ ย่อมไม่ประทุษร้าย ข้อที่ ๓ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุ ผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุบริโภคบิณฑบาตอันดับแล้ว และ กิเลสอะไรย่อมไม่ประทุษร้าย ข้อที่ ๔ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มี ทรัพย์ไม่มีเรือน ผู้หลุดพ้นแล้ว เที่ยวไปในแว่นแคว้น ไม่มีความข้อง ข้อที่ ๕ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อไฟ ไหม้พระนครอยู่ อะไรๆ หน่อยหนึ่งของภิกษุนั้นย่อมไม่ไหม้ ข้อที่ ๖ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) เมื่อโจรปล้น แว่นแคว้นอะไรๆ หน่อยหนึ่งของภิกษุนั้นก็ไม่หาย ข้อที่ ๗ ความ เจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุผู้มีวัตรงามถือ บาตรและจีวร ไปสู่หนทางที่พวกโจรรักษาหรือไปสู่หนทางที่มีอันตราย อื่นๆ ย่อมไปได้โดยสวัสดี ข้อที่ ๘ ความเจริญย่อมมีแก่ภิกษุผู้ไม่ มีทรัพย์ ไม่มีเรือน (คือ) ภิกษุจะหลีกไปยังทิศใดๆ ก็ไม่มีห่วงใยไป ยังทิศนั้นๆ.
[๗๔] ข้าแต่ภิกษุ ท่านสรรเสริญความเจริญเป็นอันมากของภิกษุเหล่านั้น ส่วนข้าพเจ้ายังกำหนัดในกามทั้งหลาย จะกระทำอย่างไร กามทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์เป็นที่รักของข้าพเจ้า เมื่อเป็น เช่นนั้น ข้าพเจ้าจะได้โลกทั้งสองด้วยเหตุไรหนอ.
[๗๕] นรชนผู้กำหนัดในกาม ยินดีในกาม หมกมุ่นอยู่ในกาม กระทำบาป กรรมแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ ส่วนนรชนเหล่าใด ละกามทั้งหลายออกไป แล้ว เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ไหนๆ บรรลุความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเกิดขึ้น นรชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติดูกรพระเจ้าอรินทมะ อาตมภาพจักแสดง อุปมาถวายมหาบพิตรขอมหาบพิตรจงทรงสดับข้ออุปมานั้น บัณฑิตบาง พวกในโลกนี้ย่อมรู้เนื้อความได้ด้วยข้ออุปมา กาตัวหนึ่งเป็นสัตว์มีปัญญา น้อยไม่มีความคิด เห็นซากศพช้างลอยอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ในแม่น้ำคงคา จึงคิดว่า ยานนี้เราได้แล้วหนอ และซากศพช้างนี้จักเป็นอาหารมิใช่น้อย ใจของกาตัวนั้นยินดีแล้วในซากศพช้างนั้น ตลอดคืนและวัน เมื่อกาจิก กินเนื้อช้างดื่มน้ำมีรสเหมาะส่วน เห็นต้นไม้อันใหญ่ในป่า ก็ไม่บินไป แม่น้ำคงคามีปรกติไหลลงสู่มหาสมุทร พัดเอากาตัวนั้นผู้ประมาทยินดี ในซากศพช้างไปสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นที่ไปไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย กานั้น มีอาหารหมดแล้ว ตกลงในน้ำ ไปข้างหลัง ข้างหน้า ข้างเหนือ ข้างใต้ ไม่ได้ ไปไม่ถึงเกาะ สิ้นกำลังจมลงในท่ามกลางสมุทร อันเป็นที่ไป ไม่ได้แห่งนกทั้งหลาย ฝูงปลา จรเข้ มังกร และปลาร้าย ที่เกิดใน มหาสมุทร ก็ข่มเหง ฮุบกินกานั้นผู้มีปีกฉิบหายดิ้นรนอยู่ ดูกรมหา บพิตร ฉันนั้นเหมือนกันแล พระองค์ก็ดี ชนเหล่าอื่นผู้ยังบริโภคกาม ก็ดี ถ้ายังกำหนัดในกามอยู่ ไม่ละทิ้งกามเสีย นักปราชญ์ทั้งหลายรู้ว่า ชนเหล่านั้นมีปัญญาเสมอกับกา ดูกรมหาบพิตร อุปมานี้แสดงอรรถ อย่างชัดแจ้ง อาตมภาพแสดงถวายมหาบพิตรแล้ว จักทรงทำหรือไม่ ก็จะปรากฏด้วยเหตุนั้น.
[๗๖] บุคคลผู้อนุเคราะห์พึงกล่าวคำหนึ่งหรือสองคำไม่พึงกล่าวยิ่งไปกว่านั้น เปรียบเหมือนทาสในสำนักแห่งนาย.
[๗๗] พระโสณกปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีปัญญานับไม่ได้ ครั้นทูลดังนี้แล้วพร่ำสอน บรมกษัตริย์ในอากาศแล้วหลีกไป.
[๗๘] บุคคลผู้อภิเศกท่านผู้สมควรให้เป็นกษัตริย์ เป็นรัชทายาทและบุคคลผู้ ถึงความฉลาด เหล่านี้อยู่ที่ไหน เราจักมอบราชสมบัติ เราไม่ต้องการ ด้วยราชสมบัติ เราจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวัน พรุ่งนี้ เราจะไม่โง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา
[๗๙] พระโอรสหนุ่มของพระองค์ ทรงพระนามว่าทีฆาวุ จะทรงบำรุงรัฐให้ เจริญได้มีอยู่ ขอพระองค์ทรงอภิเศกพระโอรสนั้นในพระราชสมบัติ พระราชโอรสจักเป็นพระราชาของข้าพระบาททั้งหลาย.
[๘๐] ท่านทั้งหลาย จงรีบเชิญทีฆาวุกมารผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเถิดเราจักอภิเศก ในราชสมบัติ เธอจักเป็นพระราชาของท่านทั้งหลาย.
[๘๑] ลำดับนั้น พวกอำมาตย์ได้ไปเชิญทีฆาวุราชกุมารผู้บำรุงรัฐให้เจริญมาเฝ้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นเอกอัครโอรสผู้น่าปลื้มพระทัยนั้น จึงตรัสว่า ลูกรักเอ๋ย คามเขตหกหมื่นบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ลูกจงบำรุงเขา พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่ง กามทั้งหลายเหมือนกา ช้างหกหมื่นเชือก ประดับด้วยเครื่องอลังการ ปวงทั้ง มีสายรัดล้วนทองคำ เป็นช้างใหญ่มีร่างกายปกปิด ด้วยเครื่อง คลุมล้วนทองคำ อันนายควาญช้างผู้ถือโตมรและขอขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงช้างเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้ แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลา ตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา ม้าหกหมื่นตัว ประดับด้วย เครื่องอลังการทั้งปวง เป็นม้าสินธพอาชาไนยโดยกำเนิด เป็นพาหนะ เร็วอันนายสารถีผู้ถือแส้และธนูขึ้นกำกับ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงม้าเหล่า นั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะ พึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจ แห่งกามทั้งหลายเหมือนกา รถหกหมื่นคัน หุ้มเกราะไว้ดีแล้ว มีธงอัน ยกขึ้นแล้ว หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองก็มี หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งก็มี ประดับ ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง อันนายสารถีถือแล่งธนูสวมเกราะขึ้นประจำ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงรถเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจัก บวชในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่เป็น คนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา โคนมหกหมื่นตัว มีสีแดง ประกอบด้วยโคจ่าฝูงตัวประเสริฐ ลูกรักเอ๋ย ลูกจงบำรุงโค เหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวชในวันนี้แหละ ใคร เล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจะไม่ยอมเป็นคนโง่เขลาตกอยู่ใน อำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา สตรีหมื่นหกพันประดับด้วยเครื่อง อลังการทั้งปวง มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมกุณฑลแก้วมณี ลูกรัก เอ๋ย ลูกจงบำรุงสตรีเหล่านั้น พ่อขอมอบราชสมบัติให้ลูก พ่อจักบวช ในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ พ่อจักไม่ยอมเป็น คนโง่เขลาตกอยู่ในอำนาจแห่งกามทั้งหลายเหมือนกา.
[๘๒] ข้าแต่พระบิดา หม่อมฉันได้สดับว่า เมื่อหม่อมฉันเป็นเด็กๆ พระชนนี ทิวงคต หม่อมฉันไม่อาจจะเป็นอยู่ห่างพระบิดาได้ ลูกช้างย่อมติดตาม หลังช้างป่า ผู้เที่ยวอยู่ในที่มีภูเขาเดินลำบาก เสมอบ้างไม่เสมอบ้าง ฉันใด หม่อมฉันจะอุ้มบุตรธิดาติดตามไปข้างหลัง จักเป็นผู้อันพระ บิดาเลี้ยงง่าย จักไม่เป็นผู้อันพระบิดาเลี้ยงยาก ฉันนั้น.
[๘๓] อันตรายทำเรือที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร ของพวกพ่อค้าผู้แสวงหาทรัพย์ ให้จมลงในมหาสมุทรนั้น พวกพ่อค้าพึงถึงความพินาศ ฉันใด ลูกรัก เอ๋ย เจ้านี้เป็นผู้กระทำอันตรายให้แก่พ่อฉันนั้นเหมือนกัน.
[๘๔] ท่านทั้งหลาย จงพาราชกุมารนี้ไปให้ถึงปราสาทอันยังความยินดีให้เจริญ เถิด พวกนางกัญญาผู้มีมือประดับด้วยทองคำจักยังกุมารให้รื่นรมย์ใน ปราสาทนั้น เหมือนนางเทพอัปสรยังท้าวสักกะให้รื่นรมย์ ฉะนั้น และกุมารนี้จักรื่นรมย์ด้วยนางกัญญาเหล่านั้น.
[๘๕] ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญพระราชกุมารไปยังปราสาทอันยังความ ยินดีให้เจริญ พวกนางกัญญาเห็นทีฆาวุกุมารผู้ยังรัฐให้เจริญนั้นแล้ว จึงพากันทูลว่า พระองค์เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือว่าเป็นท้าว สักกปุรินททะ พระองค์เป็นใคร หรือเป็นโอรสของใคร หม่อมฉัน ทั้งหลายจะรู้จักพระองค์ได้อย่างไร.
[๘๖] เราไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกะปุรินททะเราเป็นโอรส ของพระเจ้ากาสี ชื่อทีฆาวุผู้ยังรัฐให้เจริญ เธอทั้งหลายจงบำเรอเรา ขอ ความเจริญจงมีแก่เธอทั้งหลายเราจะเป็นสามีของเธอทั้งหลาย.
[๘๗] พวกนางกัญญาในปราสาทนั้น ได้ทูลถามพระเจ้าทีฆาวุผู้บำรุงรัฐนั้นว่า พระราชาเสด็จไปถึงไหนแล้ว พระราชาเสด็จจากที่นี้ไปไหนแล้ว.
[๘๘] พระราชาทรงก้าวล่วงเสียซึ่งเปือกตม ประดิษฐานอยู่บนบกเสด็จดำเนิน ไปสู่ทางใหญ่อันไม่มีหนาม ไม่มีรกชัฏ ส่วนเราเป็นผู้ดำเนินไปสู่ทางอัน ให้ถึงทุคติ มีหนาม รกชัฏ เป็นเครื่องไปสู่ทุคติ.
[๘๙] ข้าแต่พระราชา พระองค์เสด็จมาดีแล้วเหมือนราชสีห์มาสู่ถ้ำ ฉะนั้น ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงอนุศาสน์พวกหม่อมฉัน ขอ พระองค์ทรงเป็นอิสราธิบดีของพวกหม่อมฉันทั้งปวงเถิด.

จบโสณกชาดกที่ ๑

๒. สังกิจจชาดก สังกิจจฤาษีแสดงธรรมและอธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัตต์


[๙๐] ลำดับนั้น คนเฝ้าสวนเห็นพระเจ้าพรหมทัตต์ จอมทัพ ประทับนั่งอยู่ ได้กราบทูลแด่ท้าวเธอว่า สังกิจจฤาษีที่พระองค์ทรงพระกรุณา ซึ่งยกย่อง กันว่าได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลายมาถึงแล้ว เชิญพระองค์รีบเสด็จออก ไปพบท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่โดยเร็วเถิด ก็ลำดับนั้น พระราชาผู้ จอมทัพอันมิตรและอำมาตย์ล้อมแล้ว เสด็จขึ้นรถอันเทียมด้วยม้า อาชาไนยรีบเสด็จไป พระราชาผู้ทรงบำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ทรงเปลื้องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง คือ พัดวาลวิชนีอุณหิส พระขรรค์ เศวตฉัตรและฉลองพระบาทวางไว้แล้ว เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินเข้า ไปหาสังกิจจฤาษี ผู้นั่งอยู่ในพระราชอุทยานอันมีนามว่านายปัสสะ ครั้น เสด็จเข้าไปหาแล้วก็ทรงบันเทิงอยู่กับฤาษี ครั้นทรงสนทนาปราศรัยพอ ให้ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นประทับนั่ง แล้ว ลำดับนั้นได้ทรงสำคัญกาลอยู่ แต่นั้นทรงปฏิบัติ เพื่อจะตรัสถาม กรรมอันเป็นบาป จึงตรัสว่า ข้าพเจ้าขอถามท่านสังกิจจฤาษีผู้ได้รับ ยกย่องว่า ได้ดีแล้วในหมู่ฤาษีทั้งหลาย อันหมู่ฤาษีทั้งหลายห้อมล้อม นั่งอยู่ ในทายปัสสะอุทยานว่า นรชนผู้ประพฤติล่วงธรรม (เหมือน) ข้าพเจ้าประพฤติล่วงธรรมแล้วไปสู่คติอะไรในปรโลก ข้าพเจ้าถามแล้ว ได้โปรดบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพเจ้า.
[๙๑] สังกิจจฤาษี ได้กล่าวตอบพระราชาผู้บำรุงแคว้นของชาวกาสีให้เจริญ ประทับนั่งอยู่ในทายปัสสะอุทยานว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตร ทรงฟังอาตมภาพ ถ้าเมื่อบุคคลเว้นทางผิด ทำตามคำของบุคคลผู้บอก ทางถูก โจรผู้เป็นเสี้ยนหนามก็ไม่พึงพบหน้าของบุคคลนั้น เมื่อบุคคล ปฏิบัติอธรรม แต่ถ้ากระทำตามคำของบุคคลผู้พร่ำสอนธรรม บุคคลนั้น ไม่พึงไปสู่ทุคติ.
[๙๒] ขอถวายพระพร ธรรมเป็นทางถูก ส่วนอธรรมเป็นทางผิด อธรรม ย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ นรชนผู้ประพฤติอธรรม มีความ เป็นอยู่ไม่สม่ำเสมอ ละโลกนี้แล้วย่อมไปสู่คติใด อาตมภาพจะกล่าว คติ คือ นรกเหล่านั้น ขอพระองค์ทรงสดับอาตมภาพเถิด นรก ๘ ขุมนี้ คือ สัญชีวนรก ๑ กาฬสุตตนรก ๑ สังฆาตนรก ๑ โรรุว นรก ๑ มหาโรรุวนรก ๑ ต่อมาถึงมหาอเวจีนรก ๑ ตาปนนรก ๑ ปตาปนนรก ๑ อันบัณฑิตทั้งหลายกล่าวไว้แล้ว ก้าวล่วงได้ยาก เกลื่อนกล่นไปด้วยเหล่าสัตว์ ผู้มีกรรมหยาบช้าเฉพาะขุมหนึ่งๆ มี อุสสทนรก ๑๖ ขุมเป็นที่ทำบุคคลผู้กระด้างให้เร่าร้อน น่ากลัว มีเปลว เพลิงรุ่งโรจน์ มีภัยใหญ่ขนลุกขนพอง น่าสพึงกลัว มีภัยรอบข้าง เป็น ทุกข์ มี ๔ มุม ๔ ประตู จัดแบ่งไว้เป็นส่วนๆ มีกำแพงเหล็กกั้น โดยรอบมีฝาเหล็กครอบ ภาคพื้นของนรกเหล่านั้นล้วนแต่เหล็กแดงลุก โพลง ประกอบด้วยเปลวไฟ แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ ทุกเมื่อ สัตว์ทั้งหลายมีเท้าในเบื้องบน มีศีรษะในเบื้องต่ำ ตกลงไปใน นรกนั้น สัตว์เหล่าใดกล่าวล่วงเกินฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ สัตว์เหล่านั้นผู้มีความเจริญอันขจัดแล้ว ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรก เหมือนปลาที่ถูกเฉือนให้เป็นส่วนๆ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้มีปรกติ กระทำกรรมอันหยาบช้า มีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างในข้างนอกเป็นนิจ แสวงหาประตูออกจากนรก ก็ไม่พบประตูที่จะออกตลอดปีนับไม่ถ้วน สัตว์เหล่านั้นวิ่งไปทางประตูด้านหน้า จากประตูด้านหน้า วิ่งกลับมา ข้างหลัง วิ่งไปทางประตูด้านซ้าย จากประตูด้านซ้ายวิ่งกลับมาทาง ประตูด้านขวา วิ่งไปถึงประตูใดๆ ประตูนั้นๆ ก็ปิดเสีย สัตว์ทั้งหลายผู้ไปสู่นรก ย่อมประคองแขนคร่ำครวญเสวยทุกข์ มิใช่น้อย นับได้แสนปีเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่ควร รุกรานท่านที่เป็นคนดี ผู้สำรวม มีตบะธรรม ซึ่งเป็นดังอสรพิษมีเดช กำเริบร้ายล่วงได้ยาก ฉะนั้นพระเจ้าอัชชุนะ ผู้เป็นใหญ่ในแคว้นเกตกะ มีพระกายกำยำ เป็นนายขมังธนู มีพระหัตถ์ตั้งพัน มีมูลอันขาดแล้ว เพราะประทุษร้ายพระฤาษีโคตมโคตร พระเจ้าทัณฑกีได้เอาธุลีโปรยรด กีสวัจฉะฤาษี ผู้หาธุลีมิได้ พระราชานั้นถึงแล้วซึ่งความพินาศ ดุจต้น ตาลขาดแล้วจากรากฉะนั้น พระเจ้าเมชฌะคิดประทุษร้ายในมาตังคะฤาษี ผู้เรืองยศรัฐมณฑลของพระเจ้าเมชฌะ พร้อมด้วยบริษัทก็สูญสิ้นไปใน ครั้งนั้น ชาวเมืองอันธกวินทัย ประทุษร้ายกัณหทีปายนฤาษีช่วยกันเอา ไม้พลองรุมตีจนตาย ก็ไปเกิดในยมสาธนนรก ส่วนพระเจ้าเจติยราชนี้ ได้ประทุษร้ายกปิลดาบส แต่ก่อนเคยเหาะเหินเดินอากาศได้ ภายหลัง เสื่อมฤทธิ์ ถูกแผ่นดินสูบถึงมรณกาล เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตทั้งหลาย จึงไม่สรรเสริญการลุอำนาจแห่งฉันทาคติเป็นต้น บุคคลไม่ควรเป็นผู้มี จิตประทุษร้าย พึงกล่าววาจาอันประกอบด้วยสัจจะ ถ้าว่านรชนผู้ใดมีใจ ประทุษร้าย เพ่งเล็งท่านผู้รู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ นรชนผู้นั้นก็ ไปสู่นรกเบื้องต่ำ ชนเหล่าใดพยายามกล่าววาจาหยาบคาย บริภาษบุคคล ผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่านั้นไม่ใช่เหล่ากอไม่ใช่ทายาท เป็นเหมือนต้น ตาลมีรากอันขาดแล้ว อนึ่ง ผู้ใดฆ่าบรรพชิตผู้ทำกิจเสร็จแล้ว ผู้แสวงหา คุณอันยิ่งใหญ่ ผู้นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬสุตตนรกตลอดกาลนาน อนึ่ง พระราชาพระองค์ใดตั้งอยู่ในอธรรม กำจัดชาวแว่นแคว้น ทำชาว ชนบทให้เดือดร้อน สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จะต้องหมกไหม้อยู่ในตาปนนรก ในโลกหน้า และพระราชาพระองค์นั้นจะต้องหมกไหม้อยู่ตลอดแสนปี ทิพย์ อันกองเพลิงห้อมล้อมเสวยทุกขเวทนา เปลวไฟมีรัศมีซ่านออกจาก กายของสัตว์นั้น สรรพางค์กายพร้อมทั้งปลายขนและเล็บ ของสัตว์ผู้มีไฟ เป็นภักษา มีเปลวไฟเป็นอันเดียวกัน สัตว์นรกมีตัวถูกไฟไหม้ทั้งข้างใน ข้างนอกอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้อันทุกข์เบียดเบียนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ เหมือนช้างถูกนายหัตถาจารย์แทงด้วยขอ ฉะนั้น ผู้ใดเป็นคนต่ำช้า ฆ่า บิดาเพราะความโลภหรือเพราะความโกรธ ผู้นั้นต้องหมกไหม้อยู่ในกาฬ สุตตนรกสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ฆ่าบิดาเช่นนั้น ต้องหมกไหม้อยู่ในโลหกุม ภีนรก นายนิริยบาลทั้งหลายเอาหอกแทงสัตว์นรกนั้น ผู้ถูกไฟไหม้อยู่จน จนไม่มีหนัง ทำให้ตาบอดให้กินมูตรกินคูถ กดสัตว์นรกเช่นนั้นให้จม ลงในน้ำแสบ นายนิริยบาลทั้งหลาย ให้สัตว์นรกกินก้อนคูถที่ร้อนจัด และก้อนเหล็กแดงอันลุกโพลงให้ถือผานทั้งยาวทั้งร้อนสิ้นกาลนาน งัด ปากให้อ้าแล้วเอาเชือกผูกไว้ ยัดก้อนเหล็กแดงเข้าไปในปาก ฝูงสุนัข แดง ฝูงสุนัขด่าง ฝูงแร้ง ฝูงกา และฝูงนกตระกรุม ล้วนมีปากเป็น เหล็ก มากลุ้มรุมจิกกัดลิ้นให้ขาดแล้วกินลิ้นอันมีเลือดไหล เหมือนกิน ของอันเป็นเดนเต็มไปด้วยเลือดฉะนั้น นายนิริยบาลเที่ยวเดินทุบตีสัตว์ นรกผู้ฆ่าบิดานั้น ซึ่งมีร่างกายอันแตกไปทั่ว เหมือนผลตาลที่ถูกไฟไหม้ จริงอยู่ ความยินดีของนายนิริยบาลเหล่านั้น เป็นการเล่นสนุก แต่สัตว์ นรกต้องได้รับทุกข์ คนผู้ฆ่าบิดาเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ต้องอยู่ใน นรกเช่นนั้น ก็บุตรฆ่ามารดา จากโลกนี้แล้วต้องไปสู่ที่อยู่แห่งพระยายม ย่อมเข้าถึงความทุกข์อย่างยิ่งด้วยผลแห่งกรรมของตน พวกนายนิริยบาล ที่ร้ายกาจย่อมบีบคั้นสัตว์ผู้ฆ่ามารดา ด้วยผาลเหล็กแดงบ่อยๆ ให้สัตว์ นรกดื่มกินโลหิตที่เกิดแต่ตน อันไหลออกจากกายของตน ร้อนดังหนึ่ง ทองแดงที่ละลายคว้างบนแผ่นดิน สัตว์นรกนั้นลงไปสู่ห้วงน้ำเช่นกับ หนองและเลือด น่าเกลียดดังซากศพเน่ามีกลิ่นเหม็นดุจก้อนคูถ หมู่ หนอนในห้วงน้ำนั้น มีกายใหญ่มีปากเป็นเหล็กแหลม ทำลายผิวหนัง ชอนไชไปในเนื้อและเลือด กัดกินสัตว์นรกนั้น ก็สัตว์นั้นถึงนรกนั้น แล้วจมลงไปประมาณชั่วร้อยบุรุษ ศพเน่าเหม็นฟุ้งไปตลอดร้อยโยชน์ โดยรอบ จริงอยู่ แม้จักษุของตนผู้มีจักษุย่อมคร่ำคร่าเพราะกลิ่นนั้น ดูกรพระเจ้าพรหมทัตต์ บุคคลผู้ฆ่ามารดาย่อมได้รับทุกข์เห็นปานนี้ พวกหญิงรีดลูกย่อมก้าวล่วงลำธารนรกอันขรุขระ ที่ก้าวล่วงได้แสน ยากดุจคมมีดโกน แล้วตกไปสู่แม่น้ำเวตรณีที่ไปได้ยาก ต้นงิ้ว ทั้งหลายล้วนแต่เป็นเหล็กมีหนาม ๑๖ คุลี มีกิ่งห้อยย้อยปกคลุมแม่น้ำ เวตรณีที่ไปได้ยากทั้งสองฟาก สัตว์นรกเหล่านั้นมีตัวสูงโยชน์หนึ่ง ถูกไฟที่เกิดเองแผดเผา มีเปลวรุ่งเรืองยืนอยู่ดุจกองไฟตั้งอยู่ที่ไกล ฉะนั้น หญิงผู้ประพฤตินอกใจสามีก็ดี ชายที่คบหาภรรยาผู้อื่นก็ดี ต้องตกอยู่ในนรกอันเร่าร้อนมีหนามคม สัตว์นรกเหล่านั้น ถูกนาย นิริยบาลทิ่มแทงด้วยอาวุธ กลับเอาศีรษะลงตกลงมานอนอยู่ ถูก ทิ่มแทงด้วยหลาวเป็นอันมากตื่นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ ครั้นพอรุ่งสว่าง นายนิริยบาลให้สัตว์นรกนั้นเข้าไปสู่โลหกุมภีอันใหญ่เปรียบดังภูเขามีน้ำ เสมอด้วยไฟอันร้อน บุคคลผู้ทุศีล ถูกโมหะครอบงำ ย่อมเสวย กรรมของตน ที่ตนกระทำไว้ชั่วปางก่อน ตลอดวันตลอดคืนด้วย ประการฉะนี้ อนึ่ง ภริยาใดที่เขาช่วยมาด้วยทรัพย์ย่อมดูหมิ่นสามี แม่ ผัวพ่อผัว หรือพี่น้องผัว นายนิริยบาลเอาเบ็ดมีสายเกี่ยวปลายลิ้นของ หญิงนั้นคร่ามา สัตว์นรกนั้นเห็นลิ้นของตนยาวประมาณ ๑ วา เต็มไป ด้วยหมู่หนอนไม่อาจอ้อนวอนนายนิริยบาล ตายไปหมกไหม้ในตาปน นรก พวกคนฆ่าแกะ ฆ่าสุกร ฆ่าปลา ดักเนื้อ พวกโจร คนฆ่าโค พวกพราน พวกคนผู้กระทำคุณในเหตุมิใช่คุณ (คนส่อเสียด) ถูกนาย นิริยบาลเบียดเบียนด้วยหอกเหล็ก ฆ้อนเหล็ก ดาบและลูกศร มีหัวลง ตกลงสู่แม่น้ำแสบคนทำคดีโกง ถูกนายนิริยบาลทุบตีด้วยฆ้อนเหล็ก ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าแต่นั้นย่อมกินอาเจียนของสัตว์นรกเหล่าอื่นผู้ได้รับ ความทุกข์ทุกเมื่อ ฝูงกาบ้าน ฝูงสุนัข ฝูงแร้ง ฝูงนกป่าล้วนมีปากเหล็ก รุมกัดกินสัตว์นรก ผู้กระทำกรรมหยาบช้าดิ้นรนอยู่ ชนเหล่าใดเป็น อสัตบุรุษ อันธุลีปกปิด ให้เนื้อชนกันตายก็ดี ให้นกตีกันตายก็ดี ชนเหล่านั้นต้องไปตกอุสสทนรก.
[๙๓] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไปสู่เบื้องบน เพราะกรรมที่ตนประพฤติดีแล้วใน โลกนี้ ขอเชิญพระองค์ทอดพระเนตรผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว เทพเจ้าทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์พระพรหมมีอยู่ ดูกรมหาบพิตรผู้เป็น อธิบดีแห่งรัฐ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพขอทูลมหาบพิตร ขอมหาบพิตร จงทรงประพฤติธรรม ดูกรพระราชา เชิญพระองค์ทรงประพฤติธรรม เหมือนอย่างธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ฉะนั้น.

จบ สังกิจจชาดกที่ ๒

_______________ รวมชาดกในสัฏฐินิบาตนั้น เชิญท่านทั้งหลายฟังภาษิตของข้าพเจ้าในสัฏฐินิบาต (ในนิบาตนี้) มี ๒ ชาดก คือโสณกชาดก ๑ สังกิจจชาดก ๑ ฯ จบ สัฏฐินิบาตชาดก. _______________

สัตตตินิบาตชาดก

๑. กุสชาดก พระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี


[๙๔] รัฏฐะของพระองค์นี้ มีทรัพย์ มียาน มีราชกกุธภัณฑ์สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่ น่าปรารถนาทั้งปวง ข้าแต่พระมารดา ขอพระองค์จงทรงปกครองราช สมบัติของพระองค์นี้ หม่อมฉันจะขอทูลลาไปยังเมืองสาคละ ซึ่งเป็น ที่สถิตแห่งพระนางประภาวดีที่รัก.
[๙๕] พระองค์ทรงนำหาบใหญ่มาด้วยพระทัยอันไม่ซื่อตรง จักต้องทรงเสวย ทุกข์ใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืน ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปยัง กุสาวดีนครเสียโดยเร็วเถิด หม่อมฉันไม่ปรารถนาให้พระองค์ซึ่งมี ผิวพรรณชั่วอยู่ในที่นี้.
[๙๖] ดูกรนางประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอ จึงจะจากที่นี้ไปยังเมือง กุสาวดีไม่ได้ พี่ยินดีในการเห็นเธอ ได้ละทิ้งบ้านเมืองมารื่นรมย์อยู่ใน พระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททราช ดูกรน้องประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอจนลุ่มหลง เที่ยวไปยังพื้นแผ่นดิน พี่ไม่รู้ทิศ ว่าตนมาแล้วจากที่ไหน พี่หลงใหลในตัวเธอผู้มีดวงเนตรอันแจ่มใส เหมือนดวงตามฤค ผู้ทรงผ้ากรองทอง ดูกรพระน้องผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย พี่ปรารถนาแต่ตัวเธอ พี่ไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ.
[๙๗] ดูกรพระเจ้ากุสราช ผู้ใดปรารถนาคนที่เขาไม่ปรารถนาตนผู้นั้นย่อมมี แต่ความไม่เจริญ หม่อมฉันไม่รักพระองค์พระองค์ก็จะให้หม่อมฉันรัก เมื่อเขาไม่รัก พระองค์ก็ยังปรารถนาให้เขารัก.
[๙๘] นรชนใดได้คนที่เขาไม่รักตัว หรือที่รักตัวมาเป็นที่รัก เราสรรเสริญการ ได้ในสิ่งนี้ ความไม่ได้ในสิ่งนั้นเป็นความชั่วช้า.
[๙๙] พระองค์ปรารถนา ซึ่งหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนา เปรียบเหมือนพระองค์ เอาไม้กรรณิการ์มาแคะเอาเพชรในหิน หรือเหมือนเอาข่ายมาดักลม ฉะนั้น.
[๑๐๐] หินคงฝังอยู่ในหฤทัยมีลักษณะอ่อนละมุนละไม ของเธอเป็นแน่ เพราะ ตั้งแต่หม่อมฉันมาจากชนบทภายนอก ยังไม่ได้ความชมชื่นจากเธอเลย พระราชบุตรียังทำหน้านิ่วคิ้วขมวดมองดูหม่อมฉันอยู่ตราบใด หม่อมฉัน ก็คงต้องเป็นพนักงานเครื่องต้นภายในบุรีของพระเจ้ามัททราชอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใดพระราชบุตรียิ้มแย้มแจ่มใสมองดูหม่อมฉัน หม่อมฉันก็จะ เลิกเป็นพนักงานเครื่องต้น กลับเป็นพระเจ้ากุสราชเมื่อนั้น.
[๑๐๑] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรทั้งหลายจักเป็นจริงไซร้ พระองค์คงไม่ใช่พระสวามี ของหม่อมฉันแน่แท้ เขาเหล่านั้นคงจะบั่นเราออกเป็นเจ็ดท่อนแน่.
[๑๐๒] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรเหล่าอื่นหรือของหม่อมฉันจักเป็นจริงไซร้ พระสวามี ของเธอ นอกจากพระเจ้ากุสราชผู้มีพระเสียงดังราชสีห์ จะเป็นคนอื่น ไม่มีเลย.
[๑๐๓] แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่อง ประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำให้พระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงาม ดังงวงช้างแลดูเราได้ ... ถ้าเจ้าทำนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้เจรจาแก่เราได้ ... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้ยิ้มแย้มแก่เราได้ ... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวง ช้างให้หัวเราะร่าเริงแก่เราได้ เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้ นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดี ผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง มาลูบคลำจับตัวเรา ด้วยมือของเธอได้.
[๑๐๔] พระราชบุตรีนี้ คงไม่ได้ประสบแม้ความสำราญในสำนักแห่งพระเจ้า กุสราชเสียเลยเป็นแน่ พระนางจึงไม่ทรงกระทำแม้เพียงการปฏิสันถาร ในบุรุษผู้เป็นพนักงานเครื่องต้น เป็นคนรับใช้ ไม่ต้องการด้วยค่าจ้าง.
[๑๐๕] นางขุชชานี้ เห็นจะไม่ต้องถูกตัดลิ้นด้วยมีดอันคมเป็นแน่ จึงมาพูด คำหยาบช้าอย่างนี้.
[๑๐๖] ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วย พระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชนั้นทรงมีพระอิศริยยศ ใหญ่ แล้วจงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราช ผู้มีความงามอันนี้ ข้าแต่พระนางประภาวดีพระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วยพระ รูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนาง จงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชนั้นทรงมีพระราชทรัพย์เป็น อันมาก ... มีทะแกล้วทหาร ... มีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่ ... เป็น พระมหาราชา ... มีพระสุรเสียงเหมือนเสียงราชสีห์ ... มีพระสุรเสียง ไพเราะ ... มีพระสุรเสียงหยดย้อย ... มีพระสุรเสียงกลมกล่อม ... มี พระสุรเสียงอ่อนหวาน ... ทรงชำนาญศิลป์ตั้งร้อยอย่าง ... เป็นกษัตริย์ ... พระแม่เจ้าประภาวดี พระนางอย่าเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วยพระรูป อันเลอโฉมของนางซิ พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระราชา พระองค์นั้น มีพระนามเหมือนกับหญ้าคาที่ท้าวสักกะทรงประทาน แล้ว จงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราชผู้มีความงามอันนี้.
[๑๐๗] ช้างเหล่านี้ทั้งหมดเป็นผู้แข็งกระด้าง ตั้งอยู่เหมือนจอมปลวกจะพากันพัง กำแพงเข้ามาเสียก่อน ขอพระองค์จงส่งข่าวแก่พระราชาเหล่านั้นว่า เชิญ เสด็จมานำเอานางประภาวดีนี้ไปเถิด.
[๑๐๘] เราจะบั่นนางประภาวดีนี้ออกเป็นเจ็ดท่อน แล้วจักให้แก่กษัตริย์ผู้เสด็จ มา ณ ที่นี้เพื่อจะฆ่าเรา.
[๑๐๙] พระราชบุตรีผู้มีผิวผ่องดังทองคำ ทรงผ้าโกไสยพัสตร์ มีพระเนตรนอง ด้วยน้ำตา อันหมู่ทาสีแวดล้อม เสด็จไปยังห้องพระมารดา.
[๑๑๐] ข้าแต่พระมารดา หน้าของลูกอันผัดแล้วด้วยแป้ง ส่องแล้วที่กระจกเงา งดงาม มีดวงเนตรคมคาย ผุดผ่องเป็นนวลใย จักถูกกษัตริย์ทั้งหลายโยน ทิ้งเสียในป่าเป็นแน่ แล้วฝูงแร้งก็จะพากันเอาเท้ายื้อแย่งผมของลูกอันดำ มีปลายงอนละเอียดอ่อน ลูบไล้ด้วยน้ำมันหอมแก่นจันทน์ ในท่ามกลาง ป่าช้าอันเปรอะเปื้อน เป็นแน่ แขนอ่อนนุ่มทั้งสองของลูกอันมีเล็บแดง มีขนละเอียด ลูบไล้ด้วยจุรณ์จันทน์ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดทิ้งเสียใน ป่า และฝูงกาก็จะโฉบคาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่ สุนัขจิ้งจอก มาเห็นถันทั้งสองของลูกเช่นกับผลตาลอันห้อยอยู่ ซึ่งลูบไล้ด้วย กระแจะจันทน์แคว้นกาสี ก็จะยืนคร่อมที่ถันทั้งสองของลูกเป็นแน่ เหมือนลูกอ่อนที่เกิดแต่ตนของมารดา ตะโพกอันกลมผึ่งผายของลูก ผูก รัดด้วยสร้อยสอิ้งทอง ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดเป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้ง ไปในป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอกก็จะพากันมาฉุดคร่าไปกิน ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นซึ่งมีอยู่ ได้กินนางประภาวดี แล้ว คงไม่รู้จักแก่กันเป็นแน่ ข้าแต่พระมารดา ถ้ากษัตริย์ทั้งหลายผู้มา แต่ที่ไกลได้นำเอาเนื้อของลูกไปหมดแล้ว พระมารดาได้ทรงโปรดขอเอา กระดูกมาเผาเสียในระหว่างทางใหญ่ ขอพระมารดาได้สร้างสวนดอกไม้ แล้ว จงปลูกต้นกรรณิการ์ในสวนเหล่านั้น ข้าแต่พระมารดา ในกาลใด ดอกกรรณิการ์เหล่านั้นบานแล้วในเวลาหิมะตกในฤดูเหมันต์ ในกาลนั้น ขอพระมารดาพึงรำลึกถึงลูกว่า ประภาวดีมีผิวพรรณอย่างนี้.
[๑๑๑] พระมารดาของพระนางประภาวดีเป็นขัตติยานี มีพระฉวีวรรณดังเทพ อัปสรได้ประทับยืนอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นดาบและธนูวางอยู่ตรง พระพักตร์พระเจ้ามัททราช ภายในบุรี.
[๑๑๒] จึงทรงพิลาปรำพันว่า พระองค์จะทรงฆ่าธิดาของหม่อมฉันบั่นให้เป็น ท่อนๆ ด้วยดาบนี้ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แน่หรือเพค๊ะ.
[๑๑๓] ลูกน้อยเอ๋ย พระบิดาไม่ทรงกระทำตามคำของแม่ผู้ใคร่ประโยชน์ เจ้านั้น เปรอะเปื้อนโลหิตไปสู่สำนักพระยายมในวันนี้ ถ้าบุรุษผู้ใดไม่ทำตามคำ ของบิดามารดาผู้เกื้อกูลมองเห็นประโยชน์ บุรุษนั้นย่อมได้รับโทษอย่าง นี้ และจะต้องเข้าถึงโทษที่ลามกกว่า ในวันนี้ถ้าลูกจะทรงไว้ซึ่งกุมาร ทรงโฉมงดงามดังสีทอง เป็นกษัตริย์เกิดกับพระเจ้ากุสราช สวมสร้อย สังวาลย์แก้วมณีแกมทอง อันหมู่พระญาติบูชาแล้วไซร้ ลูกก็จะไม่ต้อง ไปยังสำนักพระยายม ลูกหญิงเอ่ย เสียงกลองชัยเภรีดังอยู่อึงมี่ และ เสียงช้างร้องก้องอยู่ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลายใด ลูกเห็นอะไรเล่า หนอที่มีความสุขยิ่งกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย เสียงม้าศึกคะนองร้อง คำรณอยู่ที่ประตู เสียงกุมารร้องรำทำเพลงอยู่ในตระกูลกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่มีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย ใน ตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีนกยูง นกกระเรียน และนกดุเหว่า ส่งเสียงร้องก้องเสนาะเพราะจับใจ ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่จะมีความ สุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย.
[๑๑๔] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ พึงทรงปลดเปลื้อง เราทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ ไหนหนอ.
[๑๑๕] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ จักทรงกำจัด กษัตริย์เหล่านั้นทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นี่ แหละ เพค๊ะ.
[๑๑๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือจึงได้พูดอย่างนี้ หรือว่าเจ้าเป็นอันธพาลจึงได้พูด อย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชพึงเสด็จมาจริง ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระ องค์เล่า.
[๑๑๗] พระเจ้ากุสราชนั้นทรงปลอมพระองค์เป็นบุรุษพนักงานเครื่องต้น ทรง พระภูษาหยักรั้งมั่นคง กำลังก้มพระองค์ล้างหม้ออยู่ในระหว่างพระ ตำหนักของพระกุมารีทั้งหลายเพค๊ะ.
[๑๑๘] เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาลหรือ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล เจ้าเกิดแล้วในตระกูลพระเจ้ามัททราช เหตุใดจึงกระทำพระสวามีให้ เป็นทาส.
[๑๑๙] หม่อมฉันไม่ได้เป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาล ไม่ใช่เป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล นั่นพระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช ขอความเจริญจงมีแด่ พระมารดา แต่พระมารดาทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส.
[๑๒๐] ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา พระราชาพระองค์ใด ทรงเชื้อเชิญ พราหมณ์สองหมื่นคนให้บริโภคภัตตาหารในกาลทุกเมื่อ พระราชาพระ องค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่พระ มารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส เจ้าพนักงานเตรียมช้างไว้สองหมื่นเชือก ... เตรียมม้าสองหมื่นตัว ... ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงาน รีดนมโคสองหมื่นตัวในกาลทุกเมื่อเพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชา พระองค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่พระ มารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส.
[๑๒๑] ดูกรเจ้าผู้เป็นพาล เจ้ากระทำกรรมอันชั่วร้ายเหลือเกิน ที่เจ้าไม่บอกพ่อ ว่า พระเจ้ากุสราชผู้เป็นกษัตริย์มีทะแกล้วทหารมาก ผู้เป็นพระยาช้าง มาด้วยเพศแห่งกบ.
[๑๒๒] ข้าแต่พระมหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดงดโทษ แก่หม่อมฉัน ที่ไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก ด้วยเถิด.
[๑๒๓] คนเช่นหม่อมฉันมิได้ปกปิดเลย หม่อมฉันนั้นเป็นพนักงานเครื่องต้น พระองค์เท่านั้นทรงเลื่อมใสแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ไม่มีกรรมชั่วช้า ที่หม่อมฉันจะต้องอดโทษ.
[๑๒๔] ดูกรเจ้าคนพาล เจ้าจงไปขอขมาโทษพระเจ้ากุสราชผู้มีกำลังมากเสีย พระเจ้ากุสราชที่เจ้าขอขมาแล้ว จักประทานชีวิตให้เจ้า.
[๑๒๕] พระนางประภาวดีผู้มีผิวพรรณดังเทพธิดา ทรงรับดำรัสของพระบิดาแล้ว ได้ซบพระเศียรลงกอดพระบาทพระเจ้ากุสราชผู้มีพระกำลังมาก.
[๑๒๖] ราตรีเหล่านี้ที่ล่วงไป เว้นจากพระองค์นั้นเพียงใด หม่อมฉันขอถวาย บังคมพระยุคลบาท ของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า เพียงนั้น ขอพระองค์ โปรดอย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันขอตั้งสัตย์ปฏิญาณแก่ พระองค์ โปรดทรงสดับหม่อมฉันเถิด เพค๊ะ หม่อมฉันจะไม่พึงทำความ ชิงชังแก่พระองค์อีกต่อไปละ ถ้าพระองค์จะไม่ทรงโปรดกระทำตามคำ ของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้ พระบิดาคงเข่นฆ่าหม่อมฉันแล้ว ทรงประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้เป็นแน่.
[๑๒๗] เมื่อพระน้องอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จักไม่ทำตามคำของพระน้องเล่า พี่ไม่โกรธพระน้องเลยนะคนงาม อย่ากลัวเลยประภาวดี พี่ขอตั้งสัตย์ ปฏิญาณต่อพระน้อง โปรดขอจงทรงฟังพี่เถิดนะพระราชบุตรี พี่จะไม่ พึงกระทำความเกลียดชังแก่พระน้องนางอีกต่อไปละ ดูกรน้องประภาวดี ผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย พี่สามารถจะทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย แล้วนำพระน้องนางไปได้ แต่เพราะความรักพระน้องนาง พี่จึงสู้ยอมทน ทุกข์มากมายได้.
[๑๒๘] เจ้าพนักงานทั้งหลาย จงตระเตรียมรถและม้า อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการ ต่างๆ ทั้งมั่นคงแข็งแรง ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเรา ผู้กำจัดศัตรูทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไปในบัดนี้ ก็นารีทั้งหลายภายในพระราช วังของพระเจ้ามัททราชนั้น พากันมองดูพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จเยื้องกราย ดุจราชสีห์ ทรงปรบพระหัตถ์เสวยพระกระยาหารถึงสองเท่าพระองค์นั้น.
[๑๒๙] ก็พระเจ้ากุสราช ครั้นเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างสาร โปรดให้นาง ประภาวดีประทับเบื้องหลังแล้ว เสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงบันลือพระ สุรสีหนาท กษัตริย์เจ็ดพระนครทรงสดับพระสุรสีหนาทของพระเจ้า กุสราช ผู้บันลืออยู่ ผู้อันความกลัวแต่เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว พากันแตกหนีไปเหมือนดังฝูงมฤคได้ยินเสียงแห่งราชสีห์ก็พากันหนีไป ฉะนั้น พวกพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ผู้อันความกลัวแต่เสียง พระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว ก็พากันแตกตื่นเหยียบย่ำกันและกัน ท้าว สักกะจอมเทพ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ทรงมีชัยในท่ามกลาง สงครามนั้น มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงพระราชทานแก้วมณีอันรุ่งโรจน์ ดวงหนึ่งแก่พระเจ้ากุสราช พระเจ้ากุสราชทรงชนะสงคราม ได้แก้ว มณีอันรุ่งโรจน์ แล้วเสด็จประทับบนคอช้างสารเสด็จเข้าสู่พระนคร รับ สั่งให้จับกษัตริย์เจ็ดพระนครทั้งเป็น ให้มัดนำเข้าถวายพระสัสสุระ ทูล ว่าขอเดชะ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ ศัตรูทั้งหมดซึ่งคิดจะ กำจัดพระองค์เสียนี้ ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว เชิญทรงกระทำ ตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำกษัตริย์เหล่านั้นให้เป็นทาส แล้ว จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารเสียตามแต่พระทัยเถิด.
[๑๓๐] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ มิได้เป็นศัตรูของหม่อมฉัน ข้าแต่ พระมหาราช พระองค์ (เป็นอิสระ) กว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อยหรือ จะทรงประหารศัตรูเหล่านั้นก็ตามเถิด.
[๑๓๑] พระราชธิดาของพระองค์ ล้วนทรงงดงามดังเทพกัญญามีอยู่ถึง ๗ พระ องค์ ขอพระองค์ทรงโปรดพระราชทานแก่กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นองค์ละองค์ ขอกษัตริย์เหล่านั้นจงเป็นพระชามาตาของพระองค์เถิด.
[๑๓๒] ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นใหญ่กว่าหม่อมฉันทั้งหลาย และกว่า พวกลูกของหม่อมฉันทั้งหมด เชิญพระองค์นั่นแหละทรงพระราชทาน พวกลูกของหม่อมฉันแก่กษัตริย์เหล่านั้น ตามพระราชประสงค์เถิด.
[๑๓๓] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ ได้ทรงยก พระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ประทานให้แก่กษัตริย์ ๗ พระองค์นั้น องค์ละองค์ กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ทรงอิ่มพระทัยด้วยลาภนั้น ทรงขอบ พระคุณพระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ แล้วพากันเสด็จ กลับไปยังนครของตนๆ ในขณะนั้นทีเดียว ฝ่ายพระเจ้ากุสราชผู้มีพระ กำลังมาก ทรงพาพระนางประภาวดีและดวงแก้วมณีอันงามรุ่งโรจน์เสด็จ กลับยังกรุงกุสาวดี เมื่อพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีทั้ง ๒ พระ องค์นั้น ประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกันเสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระ ฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน มิได้ทรงงดงามยิ่งหย่อนกว่า กันเลย พระมารดาของพระมหาสัตว์และพระชยัมบดีราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร แล้วเสด็จกลับพระนคร พร้อมด้วยพระราชโอรส ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชและพระนางประภา วดี ก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดีให้รุ่ง เรืองตลอดมา.

จบ กุสชาดกที่ ๑

๒. โสณนันทชาดก เรื่องพระราชาไปขอขมาโทษโสณดาบส


[๑๓๔] พระผู้เป็นเจ้าเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวสักกปุรินททะ หรือว่า เป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ข้าพเจ้าทั้งหลายจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร.
[๑๓๕] อาตมภาพไม่ใช่เป็นเทวดา ไม่ใช่เป็นคนธรรพ์ ไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ อาตมภาพเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์ ดูกรภารถะ มหาบพิตรจงทราบอย่างนี้.
[๑๓๖] ความช่วยเหลืออันมิใช่น้อยนี้ เป็นกิจที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำแล้ว คือ เมื่อฝนตก พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำไม่ให้มีฝน แต่นั้น เมื่อลมจัดและแดด ร้อน พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ทำให้มีเงาบังร่มเย็น แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ ทำการป้องกันลูกศรในท่ามกลางแห่งศัตรู แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำ บ้านเมืองอันรุ่งเรืองและชาวเมืองเหล่านั้นให้ตกอยู่ในอำนาจ ของข้าพเจ้า แต่นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทำกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ให้เป็นผู้ติดตามของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอขอบคุณ พระผู้เป็นเจ้ายิ่งนัก พระผู้เป็นเจ้าจะ ปรารถนาสิ่งที่จะให้จิตชื่นชม คือ ยานอันเทียมด้วยช้าง รถอันเทียม ด้วยม้า และสาวน้อยทั้งหลายที่ประดับประดาแล้ว หรือรมณียสถานอัน เป็นที่อยู่อาศัยอันใด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเลือกเอาสิ่งนั้นตามประสงค์เถิด ข้าพเจ้าขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาแคว้น อังคะหรือแคว้นมคธ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระผู้ เป็นเจ้าปรารถนาแคว้นอัสสกะหรือแคว้นอวันตี ข้าพเจ้าก็มีใจยินดีขอ ถวายแคว้นเหล่านั้นให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือแม้พระผู้เป็นเจ้าปรารถนา ราชสมบัติกึ่งหนึ่งไซร้ ข้าพเจ้าก็ขอถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าพระคุณเจ้า มีความต้องการด้วยราชสมบัติทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ขอถวาย พระคุณเจ้า ปรารถนาสิ่งใด ขอพระคุณเจ้าบอกมาเถิด.
[๑๓๗] อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ บ้านเมือง ทรัพย์หรือแม้ ชนบท อาตมภาพไม่มีความต้องการเลย.
[๑๓๘] ในแว่นแคว้นอาณาเขตของมหาบพิตร มีอาศรมอยู่ในป่า มารดาและบิดา ทั้งสองท่านของอาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพอยู่ในอาศรมนั้น อาตมภาพไม่ได้เพื่อทำบุญ ในท่านทั้งสอง ผู้เป็นบูรพาจารย์นั้น อาตมภาพขอเชิญมหาบพิตรผู้ประเสริฐยิ่ง ไปขอขมาโทษโสณดาบส เพื่อสังวรต่อไป.
[๑๓๙] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะขอทำตามคำที่พระคุณเจ้ากล่าวกะข้าพเจ้า ทุกประการ ก็แต่ว่า บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษมีประมาณเท่าใด ขอ พระคุณเจ้าจงบอกบุคคลมีประมาณเท่านั้น.
[๑๔๐] ชาวชนบทมีประมาณหนึ่งร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลก็เท่ากัน กษัตริย์ผู้ เป็นอภิชาตผู้เรืองยศเหล่านี้ทั้งหมด ทั้งมหาบพิตรซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามโนชะ บุคคลผู้จะอ้อนวอนขอโทษประมาณเท่านี้ก็พอแล้ว ขอ ถวายพระพร.
[๑๔๑] เจ้าพนักงานทั้งหลายจงเตรียมช้าง จงเตรียมม้า นายสารถีท่านจง เตรียมรถ ท่านทั้งหลายจงถือเอาเครื่องผูก จงยกธงชัยขึ้นที่คันธงทั้ง หลาย เราจะไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส.
[๑๔๒] ก็ลำดับนั้น พระราชาพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา ได้เสด็จไปยังอาศรมอัน น่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส.
[๑๔๓] ไม้คานอันทำด้วยไม้กระทุ่มของใคร ผู้ไปเพื่อหาบน้ำ ลอยมายังเวหาส มิได้ถูกบ่า ห่างประมาณ ๔ องคุลี.
[๑๔๔] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพชื่อว่าโสณะ เป็นดาบสมีวัตรอันสมาทานแล้ว มิได้เกียจคร้านเลี้ยงดูมารดาบิดาอยู่ทุกคืนทุกวัน ดูกรมหาบพิตรผู้เป็น เจ้าแห่งทิศ อาตมภาพระลึกถึงอุปการคุณที่ท่านทั้งสองได้กระทำแล้ว ใน กาลก่อน จึงนำผลไม้ป่าและเผือกมันมาเลี้ยงดูมารดาบิดา.
[๑๔๕] ข้าพเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาจะไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส ข้าแต่ท่านโสณะ ขอท่านได้โปรดบอกทางจะไปยังอาศรมนั้นแก่ข้าพเจ้า ทั้งหลายเถิด.
[๑๔๖] ดูกรมหาบพิตร ทางนี้เป็นทางสำหรับเดินคนเดียว ขอเชิญมหาบพิตร เสด็จไปยังป่าอันสะพรั่งไปด้วยต้นทองหลาง มีสีเขียวชะอุ่มดังสีเมฆ โกสิยดาบสอยู่ในป่านั้น.
[๑๔๗] โสณมหาฤาษีครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ได้พร่ำสอนกษัตริย์ทั้งหลาย ณ กลาง หาว แล้วรีบหลีกไปยังสระอโนดาต แล้วกลับมาปัดกวาดอาศรมแต่ง ตั้งอาสนะแล้ว เข้าไปสู่บรรณศาลาแจ้งให้ดาบสผู้เป็นบิดาทราบว่า ข้า แต่ท่านมหาฤาษี พระราชาทั้งหลายผู้อภิชาตเรืองยศเหล่านี้เสด็จมาหา ขอ เชิญบิดาออกไปนั่งนอกอาศรมเถิด มหาฤาษีได้ฟังคำของโสณบัณฑิตนั้น แล้วรีบออกจากอาศรมมานั่งที่ประตูของตน.
[๑๔๘] โกสิยดาบสได้เห็นพระเจ้ามโนชะนั้น ซึ่งมีหมู่กษัตริย์ห้อมล้อมเป็น กองทัพ ประหนึ่งรุ่งเรืองด้วยเดช เสด็จมาอยู่ จึงกล่าวคาถานี้ความว่า กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ และมโหระทึก ยังพระราชาผู้เป็นจอมทัพ ให้ร่าเริงอยู่ดำเนินไปแล้วข้างหน้าของใคร หน้าผากของใครสวมแล้ว ด้วยแผ่นทองอันหนามีสีดุจสายฟ้า ใครกำลังหนุ่มแน่นผูกสอดด้วยกำ ลูกศร รุ่งเรืองด้วยสิริ เดินมาอยู่ อนึ่งหน้าของใครงามผุดผ่อง ดุจ ทองคำอันละลายคว้างที่ปากเบ้ามีสีดังถ่านเพลิง ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริ กำลังเดินมาอยู่ ฉัตรพร้อมด้วยคันหน้ารื่นรมย์ใจ สำหรับกั้นแสงอาทิตย์ อันบุคคลกางแล้วเพื่อใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ ชน ทั้งหลายถือพัดวาลวีชนีเครื่องสูง เดินเคียงองค์ของใคร ผู้มีบุญอัน ประเสริฐมาอยู่โดยคอช้างเศวตรฉัตรม้าอาชาไนย และทหารสวมเกราะ เรียงรายอยู่โดยรอบของใคร ใครหนอรุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศ เป็นอนุยนต์เดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบของใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ จาตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าเดินแวดล้อมตามอยู่ โดยรอบใคร ใครหนอ รุ่งเรืองด้วยสิริกำลังเดินมาอยู่ เสนาหมู่ใหญ่นี้ นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุดดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังห้อมล้อมตามหลัง ใครมา.
[๑๔๙] กษัตริย์ที่กำลังเสด็จมานั้น คือ พระเจ้ามโนราชาธิราชเป็นเพียงดัง พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เข้าถึงความเป็นบริษัทของ นันทดาบส กำลังมาสู่อาศรมอันเป็นที่ประพฤติพรหมจรรย์ เสนาหมู่ใหญ่ นี้นับไม่ถ้วน ไม่มีที่สุด ดุจคลื่นในมหาสมุทร กำลังตามหลังพระเจ้า มโนชะนั้นมา.
[๑๕๐] พระราชาทุกพระองค์ ทรงลูบไล้ด้วยจันทน์หอม ทรงผ้ากาสิกพัสตร์ อย่างดี ทุกพระองค์ทรงประคองอัญชลีเข้าไปยังสำนักของฤาษีทั้งหลาย.
[๑๕๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญไม่มีโรคาพาธหรือ พระคุณเจ้าสุขสำราญดีอยู่หรือ พระคุณเจ้ายังอัตภาพให้เป็นไปสะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหารแล หรือ เหง้ามันและผลไม้มีมากแลหรือ เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลาน มีน้อยแลหรือ ในป่าอันเกลื่อนกล่นไปด้วยพาฬมฤค ไม่มีมาเบียดเบียน บ้างหรือ.
[๑๕๒] ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลายไม่มีโรคาพาธ มีความสุขสำราญดี เยียวยาอัตภาพได้สะดวกด้วยการแสวงหามูลผลาหาร ทั้งมูลมันผลไม้ก็ มีมาก เหลือบ ยุงและสัตว์เลื้อยคลานมีน้อย ในป่าอันเกลื่อนกล่นไป ด้วยพาฬมฤคไม่มีมาเบียดเบียนอาตมภาพ เมื่ออาตมภาพได้อยู่ในอาศรม นี้หลายปีมาแล้ว อาตมภาพไม่รู้สึกอาพาธอันไม่เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจเกิด ขึ้นเลย ดูกรมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว และพระองค์ไม่ได้ เสด็จมาร้าย พระองค์ผู้เป็นอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงตรัสบอกสิ่งที่ ทรงชอบพระหฤทัยซึ่งมีอยู่ ณ ที่นี้เถิด ขอเชิญมหาบพิตรเสวยผล มะพลับ ผลมะหาด ผลมะทรางและผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้มีรส หวานน้อยๆ เชิญเลือกเสวยแต่ผลที่ดีๆ เถิด น้ำนี้เย็นนำมาแต่ ซอกเขา ขอเชิญมหาบพิตรดื่มเถิด ถ้าพระองค์ทรงปรารถนา.
[๑๕๓] สิ่งใดที่พระคุณเจ้าให้ ข้าพเจ้าขอรับสิ่งนั้น พระคุณเจ้ากระทำให้ถึงแก่ ข้าพเจ้าทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงเงี่ยโสตสดับคำของนันทดาบสที่ท่านจะ กล่าวนั้นเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นบริษัทของนันทดาบส มาแล้วสู่สำนัก ของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าโปรดสดับคำของข้าพเจ้า ของนันทดาบส และของบริษัทเถิด.
[๑๕๔] ชาวชนบทร้อยเศษ พราหมณ์มหาศาลประมาณเท่านั้น กษัตริย์อภิชาติผู้ เรืองยศทั้งหมดนี้ และพระเจ้ามโนชะผู้เจริญจงเข้าใจคำของข้าพเจ้า ยักษ์ ทั้งหลายภูตและเทวดาทั้งหลายในป่า เหล่าใด ซึ่งมาประชุมกันอยู่ใน อาศรมนี้ ขอจงฟังคำของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกระทำความนอบน้อมแก่ เทวดาทั้งหลายแล้วจักกล่าวกะฤาษีผู้มีวัตรอันงาม ข้าพเจ้านั้น ชาวโลก สมมติแล้วว่าเป็นชาวโกสิยโคตรร่วมกับท่าน จึงนับว่าเป็นแขนขวาของ ท่าน ข้าแต่ท่านโกสิยะผู้มีความเพียร เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ประสงค์จะเลี้ยง ดูมารดาบิดาของข้าพเจ้า ฐานะนี้ชื่อว่าเป็นบุญ ขอท่านอย่าได้ห้ามข้าพเจ้า เสียเลย จริงอยู่ การบำรุงมารดาบิดานี้ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ขอท่านจงอนุญาตการบำรุงมารดาบิดานี้แก่ข้าพเจ้า ท่านได้กระทำกุศลมา แล้วสิ้นกาลนาน ด้วยการลุกขึ้นทำกิจวัตรและการบีบนวด บัดนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำบุญในมารดาและบิดา ขอท่านจงให้โลกสวรรค์แก่ ข้าพเจ้าเถิด ข้าแต่พระฤาษี มนุษย์ทั้งหลายซึ่งมีอยู่ในบริษัทนี้ ทราบ บทแห่งธรรมในธรรมว่าเป็นทางแห่งโลกสวรรค์ เหมือนดังท่านทราบ ฉะนั้น การบำรุงมารดาบิดาด้วยการอุปัฏฐากและการบีบนวดชื่อว่านำ ความสุขมาให้ ท่านห้ามข้าพเจ้าจากบุญนั้น ชื่อว่าเป็นอันห้ามทางอัน ประเสริฐ.
[๑๕๕] ขอมหาบพิตรผู้เจริญทั้งหลาย ผู้เป็นบริษัทของน้องนันทะ จงสดับถ้อย คำของอาตมภาพ ผู้ใดยังวงศ์ตระกูลแต่เก่าก่อนให้เสื่อม ไม่ประพฤติ ธรรมในบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก ดูกรท่านผู้เป็นใหญ่ ในทิศ ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในธรรมอันเป็นของเก่า และถึง พร้อมด้วยจารีต ชนเหล่านั้นย่อมไม่ไปสู่ทุคติ มารดา บิดา พี่ชาย น้อง ชาย พี่สาว น้องสาว ญาติและเผ่าพันธุ์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็น ภาระของพี่ชายใหญ่ ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด มหาบพิตร ดูกร มหาบพิตรผู้เป็นจอมทัพ ก็อาตมภาพเป็นพี่ชายใหญ่ จึงต้องรับภาระอัน หนัก ทั้งสามารถจะปฏิบัติท่านเหล่านั้นได้เหมือนนายเรือรับภาระอันหนัก สามารถจะนำเรือไปได้โดยสวัสดี ฉะนั้น เหตุนั้น อาตมภาพจึงไม่ละ ลืมธรรม.
[๑๕๖] ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ไปแล้วในความมืด วันนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดความรู้ ขึ้นแล้ว ท่านโกสิยฤาษีได้แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายเหมือนส่อง แสงอันรุ่งเรืองจากไฟ ฉะนั้น พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าแห่งแสง มีรัศมี เจิดจ้า เมื่ออุทัยย่อมแสดงรูปดีและรูปชั่วให้ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันใด ท่านโกสิยฤาษีก็แสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือน กัน.
[๑๕๗] ถ้าพี่จะไม่รับอัญชลีของข้าพเจ้าผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็จักดำเนินไป ตามถ้อยคำของพี่ จักบำรุงบำเรอพี่ผู้อยู่ด้วยความไม่เกียจคร้าน.
[๑๕๘] ดูกรนันทะ เธอรู้แจ้งสัทธรรมที่สัตบุรุษทั้งหลายแสดงแล้วเป็นแน่ เธอ เป็นคนงาม มีมารยาทอันงดงาม พี่ชอบใจเป็นยิ่งนัก พี่จะกล่าวกะ มารดาบิดาว่า ขอท่านทั้งสองจงฟังคำของข้าพเจ้า ภาระนี้หาใช่เป็นภาระ เพียงชั่วครั้งชั่วคราวของข้าพเจ้าไม่ การบำรุงที่ข้าพเจ้าบำรุงแล้วนี้ ย่อม นำความสุขมาให้แก่มารดาบิดาได้ แต่นันทะย่อมกระทำการขอร้อง อ้อนวอนเพื่อบำรุงท่านทั้งสองบ้าง บรรดาท่านทั้งสองผู้สงบระงับ ผู้ ประพฤติพรหมจรรย์ หากว่าท่านใดปรารถนา ข้าพเจ้าจะบอกกะท่านนั้น ขอให้ท่านทั้งสองผู้หนึ่งจงเลือกนันทะตามความปรารถนาเถิด นันทะจะ บำรุงใครในท่านทั้งสอง.
[๑๕๙] ดูกรพ่อโสณะ เราทั้งสองอาศัยเจ้าอยู่ ถ้าเจ้าอนุญาต แม่ก็จะพึงได้ จุมพิตลูกนันทะผู้ประพฤติพรหมจรรย์ที่ศีรษะ.
[๑๖๐] ใบอ่อนของต้นอัสสัตถพฤกษ์ เมื่อลมรำเพยพัดต้องแล้วย่อมหวั่นไหว ไปมา ฉันใด หัวใจของแม่ก็หวั่นไหว เพราะนานๆ จึงได้เห็นลูก นันทะ ฉันนั้น เมื่อใด เมื่อแม่หลับแล้วฝันเห็นลูกนันทะมา แม่ก็ดี ใจอย่างล้นเหลือว่าลูกนันทะของแม่นี้มาแล้ว แต่เมื่อใด ครั้นแม่ตื่น ขึ้นแล้ว ไม่ได้เห็นลูกนันทะของแม่มา ความเศร้าโศกและความเสียใจ มิใช่น้อย ก็ทับถมยิ่งนัก วันนี้ แม่ได้เห็นลูกนันทะผู้จากไปนานกลับ มาแล้ว ขอลูกนันทะจงเป็นที่รักของบิดาเจ้าและของแม่เอง ขอลูกนันทะ จงเข้าไปสู่เรือนของเราเถิด ดูกรพ่อโสณะลูกนันทะเป็นที่แสนรักของ บิดา ลูกนันทะยังไม่ได้เข้าไปสู่เรือนใด ขอให้ลูกนันทะจงได้เรือนนั้น ขอลูกนันทะจงบำรุงแม่เถิด.
[๑๖๑] ดูกรฤาษี มารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ เป็นที่พึ่งและเป็นผู้ให้ขีรรสแก่เราก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า มารดาเป็นผู้ให้ขีรรสก่อน เป็นผู้เลี้ยงดูเรามา เป็นผู้ชักชวนเราในบุญกุศล เป็นทางแห่งโลกสวรรค์ มารดาปรารถนาเจ้า.
[๑๖๒] มารดาหวังผลคือบุตร จึงนอบน้อมแก่เทวดา และไต่ถามถึงฤกษ์ ฤดู และปีทั้งหลาย เมื่อมารดานั้นมีระดู ความก้าวลงแห่งสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ก็ย่อมมี เพราะสัตว์เกิดในครรภ์นั้นมารดาจึงแพ้ท้อง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่าเป็นผู้มีใจดี มารดาบริหารครรภ์อยู่หนึ่งปี หรือหย่อนกว่าปีแล้วจึงคลอด เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ชนยนตีและชเนตตี ผู้ยังบุตรให้เกิด มารดาย่อมปลอบบุตรผู้ร้องไห้อยู่ ให้รื่นเริง ด้วยการให้ดื่มน้ำนมบ้าง ด้วยการขับกล่อมบ้าง ด้วยการอุ้ม แนบไว้กับอกบ้าง เหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า ปลอบบุตร ให้รื่นเริง ต่อแต่นั้น มารดาเห็นบุตรผู้ยังเป็นเด็กอ่อน ไม่รู้จักเดียงสา เล่นอยู่ท่ามกลางสายลมและแสงแดดอันกล้าก็เข้ารับขวัญ เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงเรียกมารดานั้นว่า โปเสนตี ผู้เลี้ยงดูบุตร มารดาย่อม คุ้มครองทรัพย์แม้ทั้งสองฝ่าย คือ ทรัพย์ของมารดาและทรัพย์ของบิดา เพื่อบุตรนั้น ด้วยตั้งใจว่า ทรัพย์ทั้งสองฝ่ายพึงเป็นของบุตรแห่งเรา มารดายังบุตรให้ศึกษาดังนี้ว่า อย่างนี้ซิลูกอย่างโน้นซิลูก ย่อมลำบาก เมื่อบุตรกำลังรุ่นหนุ่มคนอง มารดาย่อมคอยมองดูบุตรผู้หลงเพลิดเพลิน ในภรรยาผู้อื่น จนพลบค่ำก็ยังไม่กลับมา ย่อมเดือดร้อนด้วยประการ ฉะนี้ บุตรผู้อันมารดาเลี้ยงดูมาแล้ว ด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุง มารดา บุตรนั้นชื่อว่าประพฤติผิดในมารดา ย่อมเข้าถึงนรก บุตรผู้ อันบิดาเลี้ยงมาด้วยความลำบากอย่างนี้ ไม่บำรุงบิดา บุตรนั้นชื่อว่า ประพฤติผิดในบิดา ย่อมเข้าถึงนรก เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง มารดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือบุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น เราได้สดับมาว่า เพราะไม่บำรุง บิดา แม้ทรัพย์ที่เกิดแก่บุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาทรัพย์ย่อมฉิบหาย หรือ บุตรนั้นย่อมเข้าถึงความยากแค้น ความรื่นเริง ความบันเทิง และความ หัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงมารดา ความรื่นเริงความบันเทิง และความหัวเราะเล่นหัวกันทุกเมื่อ บัณฑิตผู้ รู้แจ้งพึงได้เพราะการบำรุงบิดา สังคหวัตถุ ๕ ประการนี้คือทาน การให้ ๑ ปิยวาจา เจรจาคำน่ารัก ๑ อัตถจริยา การประพฤติ ประโยชน์ ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ตามสมควร ในที่นั้นๆ ๑ ย่อมมีในโลกนี้ เหมือนเพลารถย่อมมี แก่รถที่กำลังแล่นไป ฉะนั้น ถ้าว่าสังคหวัตถุเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้ มารดา ก็จะไม่พึงได้รับความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร หรือ บิดาก็จะไม่พึงได้ความนับถือหรือการบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร ก็เพราะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมพิจารณาเห็นสังคหวัตถุนี้ ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมถึงความเป็นผู้ประเสริฐ และเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์พึงสรรเสริญ มารดาและบิดาบัณฑิตเรียกว่าเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของ บุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิต พึงนอบน้อมและสักการะมารดา บิดาทั้ง ๒ นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การ ให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้น ด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อม บันเทิงในสวรรค์.

จบ โสณนันทชาดกที่ ๒

_________________ รวมชาดกในสัตตตินิบาตนั้น มี ๒ ชาดก คือ กุสชาดก ๑ โสณนันทชาดก ๑ ชาดกทั้งสองนี้ปรากฏอยู่ในสัตตตินิบาต. จบ สัตตตินิบาตชาดก. _________________

อสีตินิบาตชาดก

๑. จุลลหังสชาดก พระยาหงส์ทรงติดบ่วง


[๑๖๓] ดูกรสุมุขะ ฝูงหงส์พากันบินหนีไปไม่เหลียวหลัง แม้ท่านก็จงไปเสีย เถิด อย่าหวังอยู่ในที่นี้เลย ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี.
[๑๖๔] ข้าพระองค์จะพึงไปหรือไม่พึงไป ความไม่ตาย ก็ไม่พึงมีเพราะการไป หรือการไม่ไปนั้น เมื่อพระองค์มีความสุขจึงอยู่ใกล้ เมื่อพระองค์ได้รับ ทุกข์ จะพึงละไปอย่างไรได้ ความตายพร้อมกับพระองค์ หรือว่าความ เป็นอยู่เว้นจากพระองค์ ความตายนั้นแลประเสริฐกว่า เว้นจากพระองค์ แล้วพึงเป็นอยู่ประเสริฐอะไร ข้าแต่พระมหาราชผู้เป็นจอมหงส์ ข้า พระองค์พึงละทิ้งพระองค์ผู้ทรงถึงทุกข์อย่างนี้ ข้อนี้ไม่เป็นธรรมเลย คติของพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมชอบใจ.
[๑๖๕] คติ ของเราผู้ติดบ่วงจะเป็นอื่นไปอย่างไรเล่า นอกจากเข้าโรงครัวใหญ่ คตินั้นย่อมชอบใจแก่ท่านผู้มีความคิดผู้พ้นแล้วอย่างไร ดูกรหงส์สุมุขะ ท่านจะพึงเห็นประโยชน์อะไรในการสิ้นชีวิตของเราและของท่านทั้งสอง หรือของพวกญาติที่เหลือ ดูกรท่านผู้มีปีกทั้งสองดังสีทอง เมื่อท่าน ยอมสละชีวิตในเพราะคุณอันไม่ประจักษ์ ดังคนตาบอดกระทำแล้วใน ที่มืดจะพึงยังประโยชน์อะไรให้รุ่งเรืองได้.
[๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าฝูงหงส์ทั้งหลาย ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ ทรงรู้อรรถในธรรม ธรรมอันบุคคลเคารพแล้วย่อมแสดงประโยชน์แก่ สัตว์ทั้งหลาย ข้าพระองค์นั้นเพ่งเล็งอยู่ซึ่งธรรมและประโยชน์อันตั้ง ขึ้นจากธรรม ทั้งเห็นพร้อมอยู่ซึ่งความภักดีในพระองค์ จึงมิได้เสียดาย ชีวิต ความที่มิตรเมื่อระลึกถึงธรรมไม่พึงทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้ เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้.
[๑๖๗] ธรรมนี้นั้นท่านประพฤติแล้ว และความภักดีในเราก็ปรากฏแล้ว ท่านจง ทำตามความปรารถนาของเรานี้เถิด ท่านผู้เป็นอันเราอนุมัติแล้ว จงไป เสียเถิด ดูกรท่านผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ก็แลเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ คือ เมื่อเราติดบ่วงอยู่ในที่นี้ ท่านพึงกลับไป ปกครองหมู่ญาติทั้งหลายของ เราให้จงดีเถิด.
[๑๖๘] เมื่อสุวรรณหงส์ผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐกำลังโต้ตอบ กันอยู่ด้วยประการฉะนี้ นายพรานได้ปรากฏแล้วเหมือนดังมัจจุราช ปรากฏแก่บุคคลผู้ป่วยหนัก ฉะนั้น สุวรรณหงส์ทั้งสองผู้เกื้อกูลกันมาสิ้น กาลนานนั้น เห็นศัตรูเดินมาแล้ว ก็นิ่งเฉยมิได้เคลื่อนจากที่ ฝ่ายว่านาย พรานผู้เป็นศัตรูของพวกนก เห็นพระยาหงส์ธตรฐผู้เป็นจอมหงส์กำลัง เดินส่ายไปมาแต่ที่นั้นๆ จึงรีบเดินเข้าไป ก็นายพรานนั้นครั้นรีบเดิน เข้าไปแล้ว เกิดความสงสัยขึ้นว่า หงส์ทั้งสองนั้นติดบ่วงหรือไม่ จึง ค่อยลดความเร็วลง ค่อยๆ เดินเข้าไปให้ใกล้สุวรรณหงส์ทั้งสอง ได้เห็นตัวหนึ่งติดบ่วงอีกตัวหนึ่งไม่ติดบ่วง แต่มายืนอยู่ใกล้ตัวติดบ่วง จึงเพ่งดูตัวที่ติดบ่วงผู้เป็นโทษ ลำดับนั้น นายพรานนั้นเป็นผู้มีความ สงสัยจึงได้กล่าวถามสุมุขหงส์ผู้มีผิวพรรณเหลือง มีร่างกายใหญ่ ผู้เป็น ใหญ่ในหมู่หงส์ ซึ่งยืนอยู่ว่า เพราะเหตุไรหนอพระยาหงส์ตัวที่ติดบ่วง ใหญ่ ย่อมไม่กระทำซึ่งทิศ เมื่อเป็นเช่นนั้นเพราะเหตุไรท่านผู้ไม่ติด บ่วง เป็นผู้มีกำลัง จึงไม่บินหนีไป พระยาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่าน หรือท่านพ้นแล้วทำไมจึงยังเฝ้าหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากัน ละทิ้งหนีไปหมด เพราะเหตุไร ท่านจึงยังอยู่ผู้เดียว.
[๑๖๙] ดูกรนายพรานนก พระยาหงส์นั้นเป็นราชาของเรา ทั้งเป็นเพื่อนเสมอ ด้วยชีวิตของเราด้วย เราจึงไม่ละท่านไป จนกว่าจะถึงที่สุดแห่งกาละ.
[๑๗๐] ก็ไฉนพระยาหงส์นี้จึงไม่เห็นบ่วงที่ดักไว้ ความจริงการรู้อันตรายของตน เป็นเหตุของบุคคลผู้ใหญ่ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ใหญ่เหล่านั้น ควรรู้อันตราย.
[๑๗๑] เมื่อใดมีความเสื่อม เมื่อนั้น สัตว์แม้เข้าใกล้ข่ายหรือบ่วงก็ไม่รู้สึก ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต.
[๑๗๒] ดูกรท่านผู้มีปัญญามาก ก็แลบ่วงทั้งหลายที่เขาดักไว้มีมากอย่าง สัตว์ ทั้งหลายย่อมเข้ามาติดบ่วงที่เขาดักอำพรางไว้ในเมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิต อย่างนี้.
[๑๗๓] เออก็การอยู่ร่วมกันกับท่านนี้ พึงมีสุขเป็นกำไรหนอ และขอท่าน อนุญาตแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเถิด และขอท่านพึงให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าทั้งสอง ด้วยเถิด.
[๑๗๔] เรามิได้ผูกท่านไว้ และไม่ปรารถนาจะว่าท่าน เชิญท่านรีบไปจากที่นี้ตาม ปรารถนา แล้วจงอยู่เป็นสุขตลอดกาลนานเถิด.
[๑๗๕] ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ โดยเว้นจากชีวิตของพระยาหงส์นี้ ถ้า ท่านยินดีเพียงตัวเดียว ขอให้ท่านปล่อยพระยาหงส์นี้ และจงกินข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้เสมอกัน ด้วยรูปทรงสัณฐานและวัย ท่านไม่เสื่อม แล้วจากลาภ ขอท่านจงเปลี่ยนข้าพเจ้ากับพระยาหงส์นี้เถิด เชิญท่าน พิจารณาดูในข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อท่านมีความปรารถนาเฉพาะตัวเดียว จงเอาบ่วงผูกข้าพเจ้าไว้ก่อน จงปล่อยพระยาหงส์ในภายหลัง ถ้าท่าน ทำตามที่ข้าพเจ้าขอร้อง ลาภของท่านก็คงมีประมาณเท่านั้นเหมือนกัน ทั้งท่านจะได้เป็นมิตรกับฝูงหงส์ธตรฐจนตลอดชีวิต
[๑๗๖] มิตร อำมาตย์ ทาส ทาสี บุตร ภรรยา และพวกพ้องหมู่ใหญ่ทั้งหลาย จงดูว่า พระยาหงส์ธตรฐพ้นจากที่นี้ไปได้เพราะท่าน บรรดามิตรทั้งหลาย เป็นอันมาก มิตรเช่นท่านนั้นหามีในโลกนี้ เหมือนท่านผู้เป็นเพื่อนร่วม ชีวิต ของพระยาหงส์ธตรฐไม่ เรายอมปล่อยสหายของท่าน พระยา หงส์จงบินตามท่านไปเถิด ท่านทั้งสองจงรีบไปจากที่นี้ตามความ ปรารถนา จงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ.
[๑๗๗] สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็น นายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าววาจาอันรื่นหูได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิก บานใจในวันนี้เพราะได้เห็นพระยาหงส์พ้นจากบ่วงฉะนั้น.
[๑๗๘] เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่านถึงวิธีที่ท่านจักได้ทรัพย์เป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้ายอะไรๆ ท่านจงรีบไปภายในบุรี จง แสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วงเป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้า ทั้งสองข้าง แก่พระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็น อธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาจอมประชาชนทอด พระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว ก็จะทรงปราบปลื้มพระหฤทัย จักพระ ราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย.
[๑๗๙] นายพรานได้สดับคำของหงส์สุมุขะดังนั้นแล้ว จัดแจงการงานเสร็จแล้ว รีบเข้าไปภายในบุรี แสดงหงส์ทั้งสองผู้มิได้ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่มหาราช หงส์ธตรฐทั้ง สองนี้ เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ตัวนี้เป็นราชาของ หงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี.
[๑๘๐] ก็หงส์ทั้งสองนี้มาอยู่ในเงื้อมมือของท่านได้อย่างไร ท่านเป็นพราน นำ หงส์ผู้เป็นใหญ่ กว่าหงส์ผู้ใหญ่ทั้งหลายมาในที่นี้ได้อย่างไร.
[๑๘๑] ข้าแต่พระจอมประชานิกร ข้าพระองค์ดักบ่วงเหล่านี้ไว้ที่เปือกตม ซึ่ง เป็นที่ๆ ข้าพระองค์เข้าใจว่า จะกระทำความสิ้นชีวิตแก่นกทั้งหลายได้ พระยาหงส์ได้มาติดบ่วงเช่นนั้น ส่วนหงส์ตัวนี้มิได้ติดบ่วงของ ข้าพระองค์ แต่เข้ามาจับอยู่ใกล้ๆ พระยาหงส์นั้น ได้กล่าวกะ ข้าพระองค์ หงส์นี้ประกอบแล้วด้วยธรรม ได้กระทำกรรมอันแสนยาก ที่บุคคลผู้มิใช่พระอริยะจะพึงทำได้ ประกาศภาวะอันสูงสุดของตน พยายามในประโยชน์ของนาย หงส์นี้ควรจะมีชีวิตอยู่ ยอมสละชีวิต ของตน มายืนสรรเสริญคุณของนาย ร้องขอชีวิตของนาย ข้าพระองค์ ได้สดับคำของหงส์นี้แล้ว เกิดความเลื่อมใส จึงปล่อยพระยาหงส์นั้น จากบ่วง และอนุญาตให้กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ผู้มีความเคารพนาย มีความปลื้มใจ เพราะพระยาหงส์ผู้เป็นนายหลุดพ้นจากบ่วง เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู ได้กล่าวว่า ดูกรนายพราน ขอให้ท่านพร้อมด้วยหมู่ญาติ ทั้งปวงจงเบิกบานใจ เหมือนข้าพเจ้าเบิกบานใจในวันนี้ เพราะได้เห็น พระยาหงส์พ้นจากบ่วง ฉะนั้น เชิญท่านมานี่ เราจักบอกท่าน ถึงวิธี ที่ท่านจักได้ทรัพย์อันเป็นลาภของท่าน พระยาหงส์ธตรฐนี้ย่อมไม่มุ่งร้าย อะไรๆ ท่านจงรีบเข้าไปภายในบุรี จงแสดงข้าพเจ้าทั้งสองผู้ไม่ติดบ่วง เป็นอยู่ตามปกติ จับอยู่ที่กระเช้าทั้งสองข้างแก่พระราชาว่า ข้าแต่ มหาราช หงส์ธตรฐทั้งสองนี้เป็นอธิบดีแห่งหงส์ทั้งหลาย เพราะว่าหงส์ ตัวนี้เป็นราชาของหงส์ทั้งหลาย ส่วนหงส์ตัวนี้เป็นอัครมหาเสนาบดี พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน ทอดพระเนตรเห็นพระยาหงส์นี้แล้ว จะทรงปราโมทย์ปลาบปลื้มพระหฤทัย จักพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่ท่านโดยไม่ต้องสงสัย ข้าพระองค์จึงนำหงส์ทั้งสองนี้มา ตามคำ ของหงส์ตัวนี้อย่างนี้ และหงส์ทั้งสองนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ไปยัง เขาจิตรกูฏนั้นแล้ว หงส์ตัวนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ตกอยู่ ในเงื้อมมือของศัตรูอย่างนี้ ได้ทำให้นายพรานเช่นข้าพระองค์เกิดความ เป็นผู้มีใจอ่อนโยน ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์ ไม่เห็น เครื่องบรรณาการอย่างอื่นนอกจากนี้ที่จะนำมาถวายแด่พระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูเครื่องบรร ณาการนั้น ณ บ้านพรานนกทั้งปวง.
[๑๘๒] พระยาหงส์เห็นพระราชาประทับนั่งบนตั่งทองอันงดงาม เมื่อจะกล่าว วาจาอันรื่นหู จึงได้ทูลว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธหรือ ทรงสุขสำราญ ดีอยู่หรือ พระองค์ทรงปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ.
[๑๘๓] ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ เราสุขสำราญดี อนึ่ง เราปกครอง รัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม.
[๑๘๔] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ อำมาตย์ เหล่านั้น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของพระองค์แลหรือ.
[๑๘๕] โทษอะไรๆ ย่อมไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้น ย่อม ไม่ห่วงใยชีวิต เพราะประโยชน์ของเรา.
[๑๘๖] พระอัครมเหสีของพระองค์ เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มี ปกติตรัสวาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรส พระรูปโฉม และอิศริยยศ ทรงคล้อยตามพระราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ.
[๑๘๗] พระอัครมเหสีของเรา เป็นผู้มีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟัง มีปกติตรัส วาจาอันน่ารัก ทรงประกอบด้วยพระโอรสพระรูปโฉมและอิศริยยศ ทรงคล้อยตามอัธยาศัยของเรา.
[๑๘๘] ท่านตกอยู่ในเงื้อมมือของมหาศัตรู ได้รับทุกข์ใหญ่หลวงในเบื้องต้น พึงได้รับทุกข์นั้นบ้างแลหรือ นายพรานวิ่งเข้าไปโบยตีท่านด้วยท่อนไม้ แลหรือ เพราะว่าปกติของคนหยาบช้าเหล่านี้ ย่อมมีเป็นประจำอย่าง นั้น.
[๑๘๙] ข้าแต่พระมหาราช ในยามมีทุกข์อย่างนี้ ย่อมมีความปลอดโปร่งใจ จริง อยู่ นายพรานนี้ มิได้ทำอะไรๆ ในข้าพระองค์ทั้งสองเหมือนศัตรู นาย พรานค่อยๆ เดินเข้าไปและได้ปราศัยขึ้นก่อน ในกาลนั้น สุมุขหงส์ บัณฑิตผู้นี้ได้กล่าวตอบ นายพรานได้ฟังคำของสุมุขหงส์นั้นแล้วก็เกิด ความเลื่อมใส ปล่อยข้าพระองค์จากบ่วงนั้น และอนุญาตให้ข้าพระองค์ กลับได้ตามสบาย สุมุขหงส์ปรารถนาทรัพย์เพื่อนายพรานนี้ จึงคิดชวน กันมาในสำนักของพระองค์เพื่อประโยชน์แก่นายพรานนี้.
[๑๙๐] ก็การที่ท่านทั้งสองมาในที่นี้ เป็นการมาดีแล้ว และเราก็มีความปราโมทย์ เพราะได้เห็นท่านทั้งสอง แม้นายพรานนี้ก็จะได้ทรัพย์อันมากมายตามที่ เขาปรารถนา.
[๑๙๑] พระราชาผู้เป็นจอมมนุษย์ ทรงยังนายพรานให้เอิบอิ่มด้วยโภคสมบัติทั้ง หลาย พระยาหงส์ได้กล่าววาจาอันรื่นหูอนุโมทนา.
[๑๙๒] ได้ยินว่า อำนาจของเราผู้ทรงธรรม ย่อมเป็นไปในที่เท่าใด ที่เท่านั้นมี ประมาณน้อย ความเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงปกครอง ตามปรารถนาเถิด ทานวัตถุก็ดี เครื่องอุปโภคก็ดี และสิ่งอื่นใดที่เข้าไป สำเร็จประโยชน์เราขอยกสิ่งนั้นๆ ซึ่งล้วนเป็นของปลื้มใจให้แก่ท่าน และขอสละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน.
[๑๙๓] ก็ถ้าว่า สุมุขหงส์บัณฑิตนี้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงเจรจาแก่เราตาม ปรารถนา ข้อนั้นพึงเป็นที่รักอย่างยิ่งของเรา.
[๑๙๔] ข้าแต่มหาราช ได้ยินว่า ข้าพระองค์หาอาจจะพูดสอดขึ้นในระหว่าง เหมือนพระยานาคเลื้อยเข้าไปภายในศิลาฉะนั้นไม่ข้อนั้นไม่เป็นวินัยของ ข้าพระองค์ พระยาหงส์ประเสริฐกว่าข้าพระองค์ และพระองค์ก็สูงสุด กว่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นพระเจ้าแผ่นดินจอมมนุษย์ ทั้งสองพระองค์ควร แก่การบูชาด้วยเหตุมากมาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ เมื่อ พระองค์ทั้งสองกำลังตรัสกันอยู่ เมื่อการวินิจฉัยกำลังเป็นไปอยู่ ข้าพระ องค์ผู้เป็นสาวก ไม่พึงพูดสอดขึ้นในระหว่าง.
[๑๙๕] ได้ยินว่า นายพรานกล่าวโดยความจริงว่า สุมุขหงส์เป็นบัณฑิต เพราะ ว่านัยเช่นนี้ไม่พึงมีแก่บุคคลผู้ไม่ได้รับอบรมเลย ความมีปกติอันเลิศ และสัตว์อันอุดมอย่างนี้ มีเพียงเท่าที่เราเห็นแล้ว เราไม่ได้เห็นผู้อื่น เป็นเช่นนี้ เราจึงยินดีด้วยปกติและวาจาอันไพเราะของท่านทั้งสอง ก็การที่เราพึงเห็นท่านทั้งสองได้นานๆ เช่นนี้ เป็นความพอใจของเรา โดยแท้.
[๑๙๖] กิจใดที่บุคคลพึงกระทำในมิตร กิจนั้นพระองค์ทรงกระทำแล้ว ใน ข้าพระองค์ทั้งสอง ข้าพระองค์ทั้งสอง ย่อมเป็นผู้อันพระองค์คงปล่อย ด้วยความภักดีในข้าพระองค์ทั้งสองโดยไม่ต้องสงสัย ก็ความทุกข์คง เกิดขึ้นในหมู่หงส์เป็นอันมากโน้น เพราะมิได้เห็นข้าพระองค์ทั้งสอง ในระหว่างญาติหมู่ใหญ่เป็นแน่ ข้าแต่พระองค์ผู้ปราบปรามศัตรู ข้า พระองค์ทั้งสอง อันพระองค์ทรงอนุญาต กระทำปทักษิณพระองค์แล้ว พึงไปพบญาติทั้งหลาย เพื่อกำจัดความเศร้าโศกของหงส์เหล่านั้น ข้าพระองค์ย่อมจะได้ปีติอันไพบูลย์ เพราะได้มาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงพระ เจริญโดยแท้ การสงเคราะห์ญาตินี้เป็นประโยชน์อันใหญ่หลวงแท้.
[๑๙๗] พระยาหงส์ธตรฐ ครั้นกราบทูลพระเจ้าสาคลราชผู้เป็นจอมประชาชนเช่น นี้แล้ว ได้เข้าไปหาหมู่ญาติ เพราะอาศัยเชาวน์อันสูงสุด หงส์เหล่านั้น เห็นหงส์ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่มิได้ป่วยเจ็บกลับมา ต่างก็ส่งเสียงว่า เกเก เกิดเสียงอื้ออึงไปทั่ว หงส์ผู้เคารพนายได้ที่พึ่งเหล่านั้น ต่างก็โสมนัส ยินดี เพราะนายรอดพ้นภัย พากันห้อมล้อมนายโดยรอบ.
[๑๙๘] ประโยชน์ทั้งปวง ของชนทั้งหลายผู้ถึงพร้อมด้วยกัลยาณมิตร ย่อม สำเร็จผลเป็นสุขเปรียบเหมือนหงส์ธตรฐทั้งสอง ได้กลับมาอยู่ใกล้หมู่ ญาติ ฉะนั้น.

จบ จุลลหังสชาดกที่ ๑

๒. มหาหังสชาดก หงส์ชื่อสุมุขะ ไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง


[๑๙๙] หงส์เหล่านั้นถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมบินหนีไป ดูกรสุมุขะ ผู้มีขน เหลือง มีผิวพรรณดังทอง ท่านจงบินหนีไปตามความปรารถนาเถิด หมู่ญาติละทิ้งเราซึ่งตกอยู่ในอำนาจบ่วงตัวเดียว บินหนีไปไม่เหลียว หลังเลย ท่านจะอยู่ผู้เดียวทำไม ดูกรสุมุขะผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย ท่านจงกลับไปเสียเถิด ความเป็นสหายในเราผู้ติดบ่วงย่อมไม่มี ท่าน อย่าคลายความเพียรเพื่อความไม่มีทุกข์ จงหนีไปเสียตามความปรารถนา เถิด.
[๒๐๐] ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์แม้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ก็จะ ไม่ละทิ้งพระองค์เลย ความเป็นอยู่หรือความตายของข้าพระองค์จักมี พร้อมกับพระองค์ ข้าแต่พระยาหงส์ธตรฐ ก็ข้าพระองค์ แม้มีความ ทุกข์เป็นเบื้องหน้าก็จะไม่ละทิ้งพระองค์เลย พระองค์ไม่ควรจะชักชวน ข้าพระองค์ให้ประกอบในกรรมอันประกอบด้วยความเป็นคนไม่ประเสริฐ เลย ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์เป็น สหายสหชาติของพระองค์ เป็นผู้ดำรงอยู่ในจิตของพระองค์ ใครๆ ก็รู้ ว่าข้าพระองค์เป็นเสนาบดีของพระองค์ ข้าพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะ กล่าวอวดอ้างในท่ามกลางหมู่ญาติได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ กว่าหงส์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ละทิ้งพระองค์ไปจากที่นี่แล้ว จะกล่าวกะ ฝูงหงส์เหล่านั้นได้อย่างไร ข้าพระองค์จักยอมสละชีวิตไว้ในที่นี้ ไม่ สามารถจะทำกิจของคนผู้ไม่ประเสริฐได้.
[๒๐๑] ดูกรสุมุขะ ท่านไม่อาจจะละทิ้งเราผู้เป็นทั้งนายทั้งสหายชื่อว่าตั้งอยู่ใน ทางอันประเสริฐ นี้แลเป็นธรรมเนียมของโบราณกบัณฑิตทั้งหลาย จริงอยู่ เมื่อเรายังเห็นท่าน ความกลัวย่อมไม่เกิดขึ้นเลย ท่านจักให้เรา ผู้เป็นอยู่อย่างนี้รอดชีวิตได้.
[๒๐๒] เมื่อสุวรรณหงส์ทั้งสองผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ กำลัง โต้ตอบกันด้วยประการฉะนี้ นายพรานถือท่อนไม้กระชับแน่นรีบเดิน เข้ามา สุมุขหงส์เห็นนายพรานนั้นกำลังเดินมา จึงได้ร้องเสียงดังยืนอยู่ ข้างหน้าพระยาหงส์ปลอบพระยาหงส์ผู้หวาดกลัวให้เบาใจด้วยคำว่าข้าแต่ พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าหงส์ทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลย ด้วยว่า บุคคลทั้ง หลายเช่นกับพระองค์ย่อมไม่กลัว ข้าพระองค์จะประกอบความเพียรอัน สมควร ประกอบด้วยธรรม พระองค์จะพ้นจากบ่วงด้วยความเพียรอัน ผ่องแผ้วนั้นได้โดยพลัน.
[๒๐๓] นายพรานได้ฟังคำสุภาษิตของสุมุขหงส์นั้น แล้วขนลุกชูชันนอบน้อม อัญชลีแก่สุมุขหงส์แล้วถามว่า เราไม่เคยได้ฟังหรือไม่เคยได้เห็นนกพูด ภาษามนุษย์ได้ ท่านแม้จะเป็นนกก็พูดภาษาอันประเสริฐ เปล่งวาจา ภาษามนุษย์ได้ พระยาหงส์ตัวนี้เป็นอะไรกับท่านหรือ ท่านพ้นแล้วทำไม จึงเฝ้าหงส์ผู้ติดบ่วงอยู่ หงส์ทั้งหลายพากันละทิ้งไปหมด เพราะเหตุใด ท่านจึงยังอยู่ผู้เดียว.
[๒๐๔] ดูกรนายพรานผู้เป็นศัตรูของนก พระยาหงส์นั้นเป็นราชาของข้าพเจ้า ทรง ตั้งข้าพเจ้าให้เป็นเสนาบดี ข้าพเจ้าไม่สามารถจะละทิ้งพระองค์ผู้เป็น อธิบดีของหงส์ ในคราวมีอันตรายได้ พระยาหงส์นี้เป็นนายของหมู่หงส์ เป็นอันมากและของข้าพเจ้า อย่าให้พระองค์ผู้เดียวพึงถึงความพินาศ เสียเลย ดูกรนายพรานผู้สหาย เพราะเหตุที่พระยาหงส์นี้เป็นนายของ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงยินดีรื่นรมย์อยู่.
[๒๐๕] ดูกรหงส์ ท่านย่อมนอบน้อมก้อนอาหาร ชื่อว่ามีประพฤติธรรมอัน ประเสริฐ ข้าพเจ้าจะปล่อยนายของท่าน ท่านทั้งสองจงไปตามสบายเถิด.
[๒๐๖] ดูกรสหาย ถ้าท่านดักหงส์และนกทั้งหลายด้วยประโยชน์ของตน ข้าพเจ้าจะขอรับทักษิณาอภัยของท่านนี้ ดูกรนายพราน ถ้าท่านไม่ได้ดัก หงส์และนกทั้งหลายด้วยประโยชน์ของตนท่านไม่มีอิสระ ถ้าท่านปล่อย เราทั้งสองเสีย ท่านก็ชื่อว่ากระทำความเป็นขโมย.
[๒๐๗] ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด จงนำข้าพเจ้าไปให้ถึงพระ ราชาพระองค์นั้น ตามปรารถนาเถิด พระเจ้าสัญญมนะจักทรงกระทำตาม พระประสงค์ในพระราชนิเวศน์นั้น.
[๒๐๘] นายพรานอันสุมุขหงส์กล่าวด้วยประการอย่างนี้แล้ว จึงเอามือทั้งสอง ประคองพระยาหงส์ทองผู้มีสีดังทองคำ ค่อยๆ วางลงในกรง นายพราน พาพระยาหงส์ทั้งสองผู้มีผิวพรรณอันผุดผ่อง คือสุมุขหงส์และพระยาหงส์ ธตรฐซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป.
[๒๐๙] พระยาหงส์ธตรฐอันนายพรานนำไปอยู่ได้กล่าวกะสุมุขหงส์ว่าดูกรสุมุขะ เรากลัวนัก ด้วยนางหงส์ผู้มีผิวพรรณดังทองคำมีขาได้ลักษณะ นาง รู้ว่าเราถูกฆ่า ก็จักฆ่าตนเสียโดยแท้ ดูกรสุมุขะ ก็ราชธิดาของพระยา ปากหงส์ นามว่าสุเหมามีผิวงามดังทองคำจักร่ำไห้อยู่ เหมือนนางนก กะเรียนผู้กำพร้าร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทรฉะนั้นเป็นแน่.
[๒๑๐] การที่พระองค์เป็นใหญ่กว่าโลกคือ หงส์ ใครๆ ไม่สามารถจะประมาณ คุณได้ เป็นครูของหมู่คณะใหญ่ พึงตามเศร้าโศกถึงหญิงคนเดียวอย่าง นี้ เหมือนไม่ใช่ของผู้มีปัญญา ลมย่อมพัดพานทั้งกลิ่นหอมและกลิ่น เหม็น เด็กอ่อนย่อมเก็บผลไม้ทั้งดิบทั้งสุก คนตาบอดผู้โลภในรสย่อม ถือเอาอาหาร ฉันใด ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น พระองค์ไม่รู้จักตัดสินในเหตุ ทั้งหลายปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนคนเขลา พระองค์จะถึงมรณกาล แล้ว ยังไม่ทรงทราบกิจที่ควรและไม่ควร พระองค์เห็นจะเป็นกึ่งคนบ้า บ่นเพ้อไปต่างๆ ทรงสำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ แท้จริงหญิงเหล่านี้ เป็นของทั่วไปแก่คนเป็นอันมาก เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไปแก่ พวกนักเลงสุรา ฉะนั้น อนึ่ง หญิงเหล่านี้มีมารยาเหมือนพยับแดด เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก เป็นเหตุเกิดโรคและอันตราย อนึ่ง หญิง เหล่านี้เป็นคนหยาบคาย เป็นเครื่องผูกมัด เป็นบ่วง เป็นถ้ำที่อยู่ของ มัจจุราช บุรุษใดพึงหลงระเริงใจในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นชื่อว่าเป็น คนเลวทรามในหมู่นระ.
[๒๑๑] วัตถุใด อันท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้จักดีแล้ว ใครควรจะติเตียนวัตถุนั้นเล่า ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายมีบุญมาก เกิดแล้วในโลก ความคะนองอันบุคคล ตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น ความยินดีอันบุคคลตั้งเฉพาะไว้แล้วในหญิง เหล่านั้น พืชทั้งหลาย (มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระ อริยสาวกและพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นต้น) ย่อมงอกขึ้นในหญิงเหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นพึงเจริญ บุรุษไรมาเกี่ยวข้องชีวิตหญิงด้วยชีวิตของตนแล้ว พึงเบื่อหน่ายในหญิงเหล่านั้น ดูกรสุมุขะ ท่านนั่นแหละ ไม่ต้องคนอื่น ละก็ประกอบในประโยชน์ของหญิงทั้งหลาย เมื่อภัยเกิดขึ้นแก่ท่านใน วันนี้ความคิดจึงเกิดขึ้นเพราะความกลัว จริงอยู่ บุคคลทั้งปวงผู้ถึงความ สงสัยในชีวิต มีความหวาดกลัว ย่อมอดกลั้นความกลัวไว้ได้ เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันใหญ่ ย่อมประกอบในประโยชน์ อันมากที่จะประกอบได้ พระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงปรารถนาความ กล้าหาญของมนตรีทั้งหลาย เพื่อทรงประสงค์ที่จะได้ความกล้าหาญนั้น ป้องกันอันตรายและสามารถป้องกันพระองค์เองด้วย วันนี้ ท่านจงกระทำ ด้วยประการที่พวกพนักงานเครื่องต้นของพระราชา อย่าเชือดเฉือนเรา ทั้งสองในโรงครัวใหญ่เถิด จริงอย่างนั้น สีแห่งขนปีกทั้งหลายจะฆ่า ท่านเสียเหมือนขุยไม้ไผ่ ฉะนั้น ท่านแม้นายพรานจะปล่อยแล้ว ไม่ปรารถนาจะบินหนีไป ยังเข้ามาใกล้บ่วงเองอีกเล่า วันนี้ ท่านถึงความ สงสัยในชีวิตแล้ว จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่ายื่นปากออกไปเลย.
[๒๑๒] ท่านนั้นจงประกอบความเพียร ที่สมควรอันประกอบด้วยธรรม จง ประพฤติการแสวงหาทางที่จะช่วยให้เรารอดชีวิต ด้วยความเพียรอัน ผ่องแผ้วของท่านเถิด.
[๒๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลยผู้ที่สมบูรณ์ ด้วยญาณวิริยะเช่นพระองค์ย่อมไม่กลัวเลย ข้าพระองค์จักประกอบความ เพียรที่สมควร อันประกอบด้วยธรรม พระองค์จะหลุดพ้นจากบ่วง ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของข้าพระองค์ โดยเร็วพลัน.
[๒๑๔] นายพรานนั้น เข้าไปยังประตูพระราชวังพร้อมด้วยหาบหงส์แล้ว จึงสั่ง นายประตูว่า ท่านจงไปกราบทูลถึงเราแด่พระราชาว่า พระยาหงส์ธตรฐ นี้มาแล้ว.
[๒๑๕] ได้ยินว่า พระเจ้าสัญญมนะทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองทั้งสอง ตัวผู้ รุ่งเรืองด้วยบุญ หมายรู้ด้วยลักษณะ แล้วตรัสรับสั่งกะพวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และเครื่องบริโภค แก่นายพราน เงิน เป็นสิ่งกระทำความปรารถนาแก่เขา เขาปรารถนาประมาณเท่าใด ท่าน ทั้งหลายจงให้แก่เขาประมาณเท่านั้น.
[๒๑๖] พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีความผ่องใส แล้วจึงตรัสว่า ดูกรเขมกะผู้สหาย ก็สระโบกขรณีนี้เต็มไปด้วยฝูงหงส์ ตั้งอยู่ (น้ำ เต็มเปี่ยม) อย่างไรท่านจึงถือบ่วงเดินเข้าไปใกล้พระยาหงส์ผู้อยู่ในท่าม กลางฝูงหงส์ ที่น่าชอบใจเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงหงส์ผู้เป็นญาติ ซึ่งมิใช่ หงส์ชั้นกลางได้และจับเอามาได้อย่างไร.
[๒๑๗] วันนี้ เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท แอบ อยู่ในตุ่ม คอยติดตามรอยเท้าของพระยาหงส์นี้ ซึ่งกำลังเข้าไปยังที่ถือ เอาเหยื่อ ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพระยาหงส์นั้น ผู้ กำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงดักบ่วงลงในที่นั้น ข้าพระองค์จับ พระยาหงส์นั้นมาได้ด้วยอุบายอย่างนี้ พระเจ้าข้า.
[๒๑๘] ดูกรนายพราน หงส์นี้มีอยู่สองตัว ไฉนท่านจึงกล่าวว่ามีตัวเดียว จิต ของท่านวิปริตไปแล้วหรือ หรือว่าท่านคิดจะหาประโยชน์อะไร.
[๒๑๙] หงส์ตัวที่มีพื้นแดง มีสีงดงามดุจทองคำกำลังหลอม รอบๆ คอจรด ทรวงอกนั้น เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์ แต่หงส์ตัวที่ผุดผ่องนี้มิได้ ติดบ่วง เมื่อจะกล่าวถ้อยคำเป็นภาษามนุษย์ ได้ยืนกล่าวถ้อยคำ อันประเสริฐกะพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง ผู้กระสับกระส่ายอยู่
[๒๒๐] ดูกรสุมุขหงส์ เหตุไรหนอท่านจึงยืนขบคางอยู่ในบัดนี้ หรือว่าท่านมาถึง บริษัทของเราแล้วกลัวภัย จึงไม่พูด.
[๒๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชนชาวกาสี ข้าพระองค์เข้ามาสู่บริษัทของ พระองค์แล้ว จะกลัวภัยก็หาไม่ ข้าพระองค์จักไม่พูดเพราะกลัวภัยก็หา ไม่ แต่เมื่อประโยชน์เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ข้าพระองค์จึงจักพูด.
[๒๒๒] เราไม่เห็นบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ พลรถ พลเดินเท้า เกราะ โล่ห์และนาย ขมังธนูผู้สวมเกราะของท่านเลย ดูกรสุมุขหงส์ ท่านอาศัยสิ่งใดหรือว่า เข้าไปในสถานที่ใดแล้วไม่กลัวสิ่งที่จะพึงกลัว เราไม่เห็นสิ่งนั้น หรือ สถานที่นั้นแม้เป็นเงิน ทองหรือนครที่สร้างไว้อย่างดีซึ่งมีคูรายรอบ ยากที่จะไปได้ มีหอรบและเชิงเทินอันมั่นคงเลย.
[๒๒๓] ข้าพระองค์ไม่ต้องการด้วยบริษัทผู้ยิ่งใหญ่หรือนครหรือทรัพย์ เพราะข้า พระองค์ไปสู่ทางโดยสถานที่มิใช่ทาง ข้าพระองค์เป็นผู้เที่ยวไปในอากาศ ก็พระองค์ทรงสดับข่าวว่า ข้าพระองค์เป็นบัณฑิต และเป็นผู้ละเอียดคิด ข้ออรรถ ถ้าพระองค์ทรงดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์ไซร้ ข้าพระองค์จะพึง กล่าววาจาอันมีอรรถ ด้วยว่า คำที่ข้าพระองค์กล่าวแม้จะเป็นสุภาษิต ก็ จักทำอะไรแก่พระองค์ผู้หาความสัตย์มิได้ ผู้ไม่ประเสริฐ มักตรัสคำเท็จ ผู้หยาบช้า.
[๒๒๔] พระองค์ได้รับสั่งให้ขุดสระชื่อว่าเขมะนี้ ตามถ้อยคำของพวกพราหมณ์ และพระองค์รับสั่งให้ประกาศอภัยทั่วสิบทิศ หงส์เหล่านั้นจึงได้พากัน บินลงสู่สระโบกขรณี อันมีน้ำใสสะอาด ในสระโบกขรณีนั้นมีอาหาร อย่างเพียงพอ และไม่มีการเบียดเบียนนกทั้งหลายเลย พวกข้าพระองค์ ได้ยินคำประกาศนี้แล้ว จึงพากันบินมาในสระของพระองค์ พวก ข้าพระองค์นั้นๆ ก็ถูกบ่วงรัดไว้ นี่เป็นคำตรัสเท็จของพระองค์ บุคคล กระทำมุสาวาท และความโลภคือความอยากได้อันลามกเป็นเบื้องหน้า แล้ว ก้าวล่วงปฏิสนธิในเทวโลกและมนุษยโลกทั้งสอง ย่อมเข้าถึง นรกอันไม่น่าเพลิดเพลิน.
[๒๒๕] ดูกรสุมุขหงส์ เรามิได้ทำผิด ทั้งมิได้จับท่านมาด้วยความโลภ ก็เราได้ สดับมาว่า ท่านทั้งหลายเป็นบัณฑิต เป็นผู้ละเอียด และคิดข้ออรรถ ทำไฉนท่านทั้งหลาย จึงจะมากล่าววาจาอันอาศัยอรรถในที่นี้ ดูกร สุมุขหงส์ผู้สหาย นายพรานผู้นี้เราส่งไป จึงไปจับเอาท่านมาด้วยความ ประสงค์นั้น.
[๒๒๖] ข้าแต่พระจอมแห่งชนชาวกาสี เมื่อชีวิตน้อมเข้าไปใกล้ความตายแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงมรณกาลแล้ว จะไม่พึงกล่าววาจาอันมีเหตุเลย ผู้ใดฆ่าเนื้อด้วยเนื้อต่อ ฆ่านกด้วยนกต่อ หรือดักผู้เลื่องลือด้วยเสียงที่ เลื่องลือ จะมีอะไรเป็นความเลวทรามยิ่งกว่าความเลวทรามของผู้นั้น ก็ ผู้ใดพึงกล่าววาจาอันประเสริฐแต่ประพฤติธรรมไม่ประเสริฐ ผู้นั้นย่อม พลาดจากโลกทั้งสองคือ โลกนี้และโลกหน้า บุคคลได้รับยศแล้วไม่พึง มัวเมา ถึงความทุกข์อันเป็นเหตุสงสัยในชีวิตแล้วไม่พึงเดือดร้อน พึง พยายามในกิจทั้งหลายร่ำไป และพึงปิดช่องทั้งหลาย ชนเหล่าใดเป็น ผู้เจริญ ถึงเวลาใกล้ตายไม่ล่วงเลยประโยชน์อย่างยิ่งประพฤติธรรมใน โลกนี้ ชนเหล่านั้นย่อมไปสู่ไตรทิพย์ด้วยประการอย่างนี้ ข้าแต่พระจอม แห่งชนชาวกาสี พระองค์ทรงสดับคำนี้แล้วขอจงทรงรักษาธรรมใน พระองค์ และได้ทรงโปรดปล่อยพระยาหงส์ธตรฐ ผู้ประเสริฐสุดกว่า หงส์ทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า.
[๒๒๗] ชาวพนักงานทั้งหลาย จงนำน้ำ น้ำมันทาเท้าและอาสนะอันมีค่ามากมา เถิด เราจะปล่อยพระยาหงส์ธตรฐ ผู้เรืองยศออกจากกรง และสุมุขหงส์ เสนาบดีผู้มีปัญญา เป็นผู้ละเอียดคิดอรรถที่ยากได้ง่าย ผู้ใดเมื่อพระราชา มีสุขก็สุขด้วย เมื่อพระราชามีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ผู้เช่นนี้แลย่อมสมควร เพื่อจะบริโภคก้อนข้าวของนายได้ เหมือนสุมุขหงส์เป็นราชสหายทั่วไป แก่สัตว์มีชีวิต ฉะนั้น.
[๒๒๘] พระยาหงส์ธตรฐเข้าไปเกาะตั่ง อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำมี ๘ เท้า น่า รื่นรมม์ใจ เกลี้ยงเกลา ลาดด้วยผ้าแคว้นกาสี สุมุขหงส์เข้าไปเกาะ เก้าอี้อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง ในลำดับแห่ง พระยาหงส์ธตรฐ ชนชาวกาสีเป็นอันมาก ต่างถือเอาโภชนะอันเลิศที่เขา ส่งไปถวายพระราชา นำเข้าไปให้แก่พระยาหงส์ทั้งสองนั้น ด้วยภาชนะ ทองคำ.
[๒๒๙] พระยาหงส์ธตรฐผู้ฉลาด เห็นโภชนะอันเลิศที่เขานำมาให้ อันพระเจ้ากาสี ประทานส่งไป จึงได้ถามธรรมเนียมเครื่องปฏิสันถารในกาลเป็นลำดับ นั้นว่า พระองค์ไม่มีโรคาพาธแลหรือ ทรงสำราญดีอยู่หรือ ทรง ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรมหรือ.
[๒๓๐] ดูกรพระยาหงส์ เราไม่มีโรคาพาธ อนึ่ง เรามีความสำราญดี และเราก็ ปกครองรัฐมณฑลอันสมบูรณ์นี้โดยธรรม.
[๒๓๑] โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของพระองค์แลหรือ และอำมาตย์เหล่า นั้น ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์แลหรือ.
[๒๓๒] โทษอะไรๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา และอำมาตย์เหล่านั้นไม่อาลัย ชีวิตในประโยชน์ของเรา.
[๒๓๓] พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรง ประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศ เป็นไปตามพระ ราชอัธยาศัยของพระองค์แลหรือ.
[๒๓๔] พระมเหสีซึ่งมีพระชาติเสมอกัน ทรงเชื่อฟังมีพระเสาวนีย์อันน่ารัก ทรง ประกอบด้วยพระโอรส พระรูป พระโฉมและพระยศเป็นไปตาม อัธยาศัยของเรา.
[๒๓๕] พระองค์มิได้ทรงเบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ทรงปกครองให้ปราศจาก อันตรายแต่ที่ไหนๆ โดยความเกรี้ยวกราดโดยธรรม โดยความ สม่ำเสมอแลหรือ.
[๒๓๖] เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตรายแต่ที่ ไหนๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยความสม่ำเสมอ.
[๒๓๗] พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษแลหรือ พระองค์ไม่ทรง ละทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมแลหรือ.
[๒๓๘] เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ ประพฤติคล้อยตามธรรมละทิ้งอธรรม.
[๒๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นชัดซึ่งพระชนมายุ อันเป็นอนาคตยั่งยืนยาวอยู่หรือ พระองค์ทรงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้ง แห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ.
[๒๔๐] ดูกรพระยาหงส์ เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุอันเป็นอนาคตยังยืนยาวอยู่ เราตั้งอยู่แล้วในธรรม ๑๐ ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก เราเห็นกุศล ธรรมที่ดำรงอยู่ในตนเหล่านี้ คือทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความ อดทนและความไม่พิโรธ แต่นั้นปีติและโสมนัสไม่ใช่น้อย ย่อมเกิด แก่เรา ก็สุมุขหงส์นี้ไม่ทันคิดถึงคุณสมบัติของเรา ไม่ทราบความประทุษ ร้ายแห่งจิต จึงเปล่งวาจาอันหยาบคาย ย่อมกล่าวถึงโทษที่ไม่มีอยู่ในเรา คำของสุมุขหงส์นี้ ย่อมไม่เป็นเหมือนคำของคนมีปัญญา.
[๒๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ ความพลั้งพลาดนั้นมีแก่ข้าพระองค์ โดยความรีบร้อน ก็เมื่อพระยาหงส์ธตรฐติดบ่วง ข้าพระองค์มีความทุกข์ มากมาย ขอพระองค์ได้ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ เหมือนบิดา เป็นที่พึ่งของบุตร และดุจแผ่นดินเป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์ฉะนั้นเถิด ข้า แต่พระองค์ผู้เป็นราชกุญชร ขอพระองค์ได้ทรงโปรดงดโทษแก่ข้าพระองค์ ผู้ถูกความผิดครอบงำเถิด.
[๒๔๒] เราย่อมอนุโมทนาแก่ท่านด้วยอาการอย่างนี้ เพราะท่านไม่ปกปิดความ ในใจ ดูกรหงส์ ท่านเป็นผู้ซื่อตรง จงทำลายความข้องใจเสียเถิด.
[๒๔๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในนิเวศน์ของเรา ผู้เป็น พระเจ้ากาสี คือ เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์อันมากมาย แก้วมณี สังข์ ไข่มุก ผ้า จันทน์แดง และเหล็กอีกมาก เราขอให้ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดนี้แก่ท่าน และขอละความเป็นใหญ่ให้แก่ท่าน.
[๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์ทั้งสองผู้อันพระองค์ทรงยำเกรง และทรงสักการะโดยแท้ ขอพระองค์ทรงเป็น พระอาจารย์ ของข้าพระองค์ ทั้งสอง ผู้ประพฤติอยู่ในธรรมทั้งหลายเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอาจารย์ ผู้ปราบปรามข้าศึก ข้าพระองค์ทั้งสองอันพระองค์ทรงยอมอนุญาตแล้ว จักกระทำประทักษิณพระองค์แล้ว จักกลับไปหาหมู่ญาติ.
[๒๔๕] พระเจ้ากาสีทรงดำริ และทรงปรึกษาข้อความตามที่ได้กล่าวมาตลอดราตรี ทั้งปวง แล้วทรงอนุญาตพระยาหงส์ทั้งสองผู้ประเสริฐสุดกว่าหงส์ทั้ง หลาย.
[๒๔๖] เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคต เมื่อราตรีสว่างจ้า พระยาหงส์ทั้งสองก็พากันบิน ไปจากพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากาสี.
[๒๔๗] หงส์เหล่านั้น เห็นพระยาหงส์ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีโรคกลับมาถึง จึง พากันส่งเสียงว่า เกเก ได้เกิดเสียงอื้ออึงขึ้น หงส์ผู้มีความเคารพนาย เหล่านั้นได้ปัจจัยมีปีติโสมนัส เพราะนายหลุดพ้นกลับมา พากัน กระโดดโลดเต้นเข้าไปห้อมล้อมโดยรอบ.
[๒๔๘] ประโยชน์ทั้งปวง ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยกัลยาณมิตรย่อมให้สำเร็จ ความสุขความเจริญเหมือนพระยาหงส์ธตรฐและสุมุขหงส์ สมบูรณ์ด้วย กัลยาณมิตร เกิดประโยชน์ ให้สำเร็จความเจริญกลับมายังหมู่ญาติ ฉะนั้น.

จบ มหาหังสชาดกที่ ๒

๓. สุธาโภชนชาดก ว่าด้วยของกินอันเป็นทิพย์


[๒๔๙] ข้าพเจ้าไม่ซื้อ ไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้าก็ไม่มีในที่นี้ ภัตนี้มีนิดหน่อยทั้งหาได้แสนยาก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้หาพอแก่เราสอง คนไม่.
[๒๕๐] บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วน กลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควร ดูกรโกสิย เศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของ พระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อม ไม่ได้ความสุข.
[๒๕๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมไร้ผล ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางแห่งพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.
[๒๕๒] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้น ย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็มีประโยชน์จริง ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียว ย่อมไม่ได้ความสุข.
[๒๕๓] บุรุษเข้าไปสู่สระแล้ว บูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่า น้ำชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าน้ำชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่มีกระแสเชี่ยวก็ดี การบูชาและความเพียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผล ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว จะกล่าวว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.
[๒๕๔] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว ผู้นั้นเปรียบเหมือนกลืน เบ็ดอันมีสายยาว พร้อมทั้งเหยื่อ ดูกรโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทาน และจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.
[๒๕๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เพราะเหตุไร สุนัขของท่านนี้จึง เปล่งรัศมีสีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ ท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนอ จะบอกแก่ข้าพเจ้าได้.
[๒๕๖] ท่านทั้งสองนี้ คือ จันทเทพบุตรและสุริยเทพบุตร ส่วนผู้นี้ คือ มาตลีเทพสารถี ส่วนเราเป็นท้าวสักกะจอมเทพชาวไตรทศ และสุนัข ตัวนี้เรียกว่า ปัญจสิขเทพบุตร.
[๒๕๗] ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้ว ให้ตื่นและ ตื่นแล้วย่อมเพลิดเพลินใจ.
[๒๕๘] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษสมณ พราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้น ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อตาย แล้วย่อมไปสู่นรก ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง หวังสุคติตั้งอยู่ในธรรม คือ ความสำรวมและการแจกทาน ชนเหล่านั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้ แล้ว เมื่อตายไป ย่อมไปสู่สุคติ.
[๒๕๙] ท่านนั้นชื่อโกสิยเศรษฐี มีความตระหนี่ มีธรรมอันลามกในชาติก่อน เป็นญาติของพวกเรา พวกเรามาแล้วในที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ท่าน เท่านั้น ด้วยคิดว่า โกสิยะนี้ อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย.
[๒๖๐] ก็ท่านเหล่านั้น เป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ เพราะมาพร่ำ สอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักทำตามคำที่ท่านทั้งหลายผู้แสวงหา ประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ ข้าพเจ้านั้นจักของดเว้นจากความเป็น คนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงทำบาปกรรมอะไรๆ ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้อะไรๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้ แล้วจะไม่ขอดื่มน้ำ ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่อย่างนี้ตลอด กาลทั้งปวง แม้โภคสมบัติของข้าพเจ้าจักสิ้นไป แต่นั้น ข้าพเจ้าจักละ กามทั้งหลายตามส่วนที่มีอยู่แล้วจักบวช.
[๒๖๑] เทพธิดาเหล่านั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารักษาแล้ว ย่อม บันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์อันเป็นภูเขาประเสริฐสุด ครั้งนั้น นารท ดาบสผู้ประเสริฐกว่าฤาษี ผู้ไปได้ในโลกทั้งปวง ได้มาถือเอากิ่งไม้อัน ประเสริฐ มีดอกบานดีแล้ว ดอกไม้นั้นสะอาด มีกลิ่นหอม เทพยดา ชาวไตรทศ กระทำสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐ กว่าอมรเทพเสพแล้ว แต่พวกมนุษย์และพวกอสูรไม่ได้ เว้นไว้แต่พวก เทวดา เป็นดอกไม้มีประโยชน์ สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น ลำดับนั้น นางเทพนารี ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณเปรียบด้วยทองคำ เป็นใหญ่กว่านางเทพนารีผู้รื่นเริง ต่าง ลุกขึ้นกล่าวกะนารทมุนี ผู้เป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ท่านมหามุนี ผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตะนี้ พระคุณเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็ขอจงให้ แก่พวกดิฉันเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจง ให้แก่พวกดิฉันเถิด เหมือนท้าววาสวะ ฉะนั้นเถิด นารทดาบสเห็น นางธิดาทั้ง ๔ มาขอดอกไม้ จึงกล่าวว่า ท่านพูดด้วยคำชวนทะเลาะ เราไม่มีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่ง บรรดาเจ้าทั้ง ๔ ผู้ ใดประเสริฐกว่า ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด.
[๒๖๒] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้านั่นแลจงพิจารณาดูพวกดิฉัน พระ คุณเจ้าปรารถนาให้แก่นางใด ก็จงให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกดิฉัน พระคุณเจ้าจักให้แก่นางใด นางนั้นแหละ จักเป็นผู้อันดิฉันทั้งหลาย ยกย่องว่าประเสริฐสุด.
[๒๖๓] ดูกรนางผู้มีตัวงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการ ทะเลาะ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่ง ภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนสูงสุดหรือว่าธรรมสูงสุด.
[๒๖๔] นางเทพธิดาเหล่านั้น อันนารทดาบสกล่าวแล้ว เป็นผู้โกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาในผิวพรรณ พากันไปสู่สำนักของท้าวสหัสสนัยน์ แล้ว ทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า ใครหนอเป็นผู้ประเสริฐ.
[๒๖๕] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลี ทรงเห็น นางเทพธิดาทั้ง ๔ นั้น ผู้มีใจริษยา จึงตรัสว่า ดูกรเจ้าผู้งามเลิศ เจ้าทั้งปวงเป็นเช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ใครเล่าหนอได้กล่าวการ ทะเลาะขึ้น.
[๒๖๖] ท่านนารทมหามุนีใด ผู้เที่ยวไปในโลกทั้งปวง ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีความ บากบั่นอย่างแท้จริง ท่านได้กล่าวกะพวกหม่อมฉัน ณ ภูเขาคันธมาทน์ อันเป็นภูเขาประเสริฐว่า ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอม แห่งภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรม ประเสริฐ.
[๒๖๗] ดูกรเจ้าผู้มีตัวงาม ท่านมหามุนีนามว่าโกสิยะ อยู่ในป่าใหญ่โน้น ท่านไม่ให้ก่อนแล้วย่อมไม่บริโภคภัต ท่านพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ ทาน ถ้าท่านจักให้แก่นางใด นางนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ.
[๒๖๘] ก็ท่านโกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมวันต บรรพตโน้น ท่านหาน้ำและโภชนะได้โดยยาก ดูกรเทพสารถี ท่าน จงนำสุธาโภชน์ไปถวายท่าน.
[๒๖๙] มาตลีเทพสารถีนั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารับสั่งใช้แล้ว ได้ขึ้นรถเทียมด้วยม้าพันตัว เข้าไปยังอาศรมโดยเร็วพลัน เป็นผู้มีกาย ไม่ปรากฏ ได้ถวายสุธาโภชน์แก่มุนี.
[๒๗๐] ก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกเสียได้ อันสูงสุด ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งปวง หรือว่าใครหนอมาวางภัตอันขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาว เปรียบดังสังข์ไม่มีสิ่งอื่นเปรียบปาน น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอมน่ารัก ยังไม่เคยมีเลย เรายังไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองเลย เทวดาองค์ไหน เอา สุธาโภชน์มาวางบนฝ่ามือของเรา.
[๒๗๑] ข้าแต่มหามุนีผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าอันท้าวสักกะผู้เป็นจอม เทพทรงใช้แล้ว จึงได้รีบนำเอาสุธาโภชน์มาถวายพระคุณเจ้า จงรู้จัก ข้าพเจ้าว่ามาตลีเทพสารถี นิมนต์พระคุณเจ้าบริโภคภัตอันอุดม อย่าห้าม เสียเลย ก็สุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ ความไม่ยินดี (กระสัน) ๑ ความกระวนกระวาย ๑ ความเหน็จเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไปผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ๑ ความส่อเสียด ๑ ความ หนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ สุธาโภชน์นี้มีรสสูงสุด.
[๒๗๒] ดูกรมาตลี การที่ยังไม่ให้ก่อนแล้วบริโภค ไม่สมควรแก่เรา วัตรของ เราดังนี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยเจ้าไม่บูชา และบุคคลผู้มิได้แบ่งให้ ย่อมไม่ได้ประสบความสุข.
[๒๗๓] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้าย ต่อมิตร และด่าสมณพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งปวงทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ ๕ เป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น อาตมาไม่ได้ให้ ก่อนแล้วไม่ดื่มแม้กระทั่งน้ำ อาตมาจักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแล้ว แก่หญิงหรือชาย เพราะว่า ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ บัณฑิตยกย่องว่า เป็นผู้สะอาด และ มีความสุขในโลกนี้.
[๒๗๔] ลำดับนั้น นางเทพกัญญา ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณเปรียบดังทองคำ ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่า เทวดาทรงอนุมัติส่งไปแล้ว ได้ไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญาทั้งปวงนั้น ผู้บันเทิงอย่างยิ่ง มี ผิวพรรณงามดังเปลวเพลิง จึงได้กล่าวกะนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ในทิศ ทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีเทพสารถีว่า ดูกรเทวดาในบุรพทิศ ท่านผู้ประดับ ประดาแล้ว งดงามดังดวงดาวประกายพฤกษ์ อันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ท่านมีชื่อว่าอย่างไร จงบอกไป ดูกรเทวดาผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ อาตมาขอถามท่าน ท่านจงบอกแก่อาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร.
[๒๗๕] ดิฉันชื่อว่า สิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ลามก ทุกเมื่อ มาสู่สำนักของพระคุณเจ้า เพราะความทะเลาะกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้าจงแบ่งสุธาโภชน์ นั้นให้ดิฉันบ้าง ข้าแต่ท่านมหามุนีผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ดิฉัน ปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นย่อมบันเทิงด้วยกามคุณารมณ์ ทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิริ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญา อันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.
[๒๗๖] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปะ วิทยา จรณะ ความรู้ และการงาน ของตน มีความเพียร เป็นผู้ที่ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์ อะไร ความขาดแคลนที่ท่านทำแล้วนั้นไม่ดีเลย อาตมาเห็นนรชนผู้เป็น คนเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำ มีรูปแปลก ดูกรนางสิริ บุคคลผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้สอยนรชนที่ท่านตามรักษาไว้ แม้จะสมบูรณ์ด้วยชาติ ให้เป็นเหมือนทาส เพราะฉะนั้น อาตมารู้จัก ท่าน (ว่าเป็น) ผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร แล้วคบคนผู้ สมบูรณ์ด้วยศิลปะเป็นต้น เป็นผู้หลง นำผู้รู้ให้ตกไปตาม นางเทพ กัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะ สมควรเล่า เชิญไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.
[๒๗๗] ใครเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑล มีร่างกายอันวิจิตร ทรงเครื่องประดับ อันเกลี้ยงเกลา ทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ทัดช่อ ดอกไม้สีแดงดังเปลวไฟไหม้หญ้าคา ย่อมงดงาม ท่านเป็นเหมือนนาง เนื้อทรายที่นายพรานยิงผิดแล้ว มองดูอยู่เหมือนดังเขลา ฉะนั้น ดูกร ท่านผู้มีดวงตาอ่อนหวาน ในที่นี้ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่า แต่ผู้เดียว ไม่กลัวหรือ.
[๒๗๘] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส ในที่นี้ ดิฉันไม่มีสหาย ดิฉันเป็นเทวดาชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพ มายังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะหวังจะ ขอสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่ง สุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.
[๒๗๙] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเลด้วยความหวัง พ่อค้าเหล่านั้น ย่อมจมลงในทะเลนั้น ในกาลบางครั้ง เขาสิ้นทรัพย์ ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุนก็สูญหายแล้วกลับมา ชาวนาทั้งหลายย่อมไถนา ด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผล อะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข มุ่งหวังเป็นเบื้องหน้า ย่อมกระทำ การงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้นอันศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ ประโยชน์อะไรๆ ย่อมพากันหนีไปสู่ทิศทั้งหลายก็เพื่อประโยชน์แก่นาย สัตว์ทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข เป็นผู้ใคร่จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติ ทรัพย์และหมู่ญาติแล้ว บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองอยู่ตลอดกาลนาน เดินทางผิด ย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ความหวัง เหล่านี้เขาสมมติว่า ทำให้เคลื่อนคลาดจากความจริง ดูกรนางอาสา ท่าน จงนำความหวังสุธาโภชน์ในตนออกเสียเถิด นางเทพกัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรเล่า เชิญไป เสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.
[๒๘๐] ท่านรุ่งเรืองด้วยยศ มียศ เขาเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด เป็นเจ้าทิศ ดูกรนางผู้มีร่างกายคล้ายทองคำ อาตมาขอถามท่าน ขอท่านจงบอก อาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร.
[๒๘๑] ดิฉันชื่อว่า ศรัทธาเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่คบสัตว์ลามก ทุกเมื่อ มายังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้า โปรดแบ่งสุธา โภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.
[๒๘๒] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายถือเอาทาน การให้บ้าง ทมะ การฝึกฝน บ้าง จาคะ การบริจาคบ้าง สัญญมะ ความสำรวมบ้าง แล้วกระทำด้วย ศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวง บ้าง ส่อเสียดบ้าง ท่านอย่าประกอบต่อไป บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งใน ภรรยาทั้งหลาย ผู้สม่ำเสมอกัน ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติ สามีดี ย่อมนำความพอใจในกุลสตรีออกเสีย กลับไปทำความเชื่อตาม คำของนางกุมภทาสี ดูกรนางศรัทธา ท่านนั่นแล เป็นผู้ให้ชายอื่นคบหา ภรรยาของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศล นางเทพกัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรแก่ท่านเล่า เชิญท่านไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.
[๒๘๓] เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใด เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอัน อุดมปรากฏอยู่ ดูกรเทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูด กะอาตมาหรือ ขอท่านจงบอกกะอาตมา ท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่าน มีชื่อว่าอะไร ยืนอยู่ดังเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน และดังเปลวไฟอันห้อม ล้อมด้วยใบไม้สีแดงถูกลมพัดดูงาม ฉะนั้น ท่านดูเหมือนจะพูด แต่มิได้ เปล่งถ้อยคำออกมา แลดูอยู่ดังนางเนื้อเขลา ฉะนั้น.
[๒๘๔] ดิฉันชื่อว่าหิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ ไม่เสพสัตว์ลามกทุกเมื่อ มา ยังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ดิฉันนั้นไม่ อาจจะขอสุธาโภชน์กับพระคุณเจ้า เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะ เป็นกิริยาที่น่าละอาย.
[๒๘๕] ดูกรท่านผู้มีร่างกายอันงดงาม ท่านจักได้ตามอุบายที่ชอบ นี้เป็นธรรม ทีเดียว ท่านจะได้สุธาโภชน์เพราะการขอก็หาไม่ เพราะฉะนั้น อาตมา พึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุธาโภชน์ใดๆ อาตมาจะให้สุธาโภชน์แม้ นั้นๆ แก่ท่าน ดูกรท่านผู้มีร่างกายอันงดงามคล้ายทองคำ วันนี้ อาตมา ขอเชิญท่านไปในอาศรมของอาตมา อาตมาจะบูชาท่านด้วยรสทุกอย่าง ครั้นบูชาแล้วจึงจักให้บริโภคสุธาโภชน์.
[๒๘๖] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้ไม่คบสัตว์ลามกในกาลทุกเมื่อ อันโกสิยดาบสผู้ มีความรุ่งเรืองอนุมัติแล้ว ได้เข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วย น้ำและผลไม้ อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว ณ ที่ใกล้อาศรมนั้น มี รุกขชาติเป็นอันมาก กำลังผลิดอกออกผล คือ มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท บัวบก การเกต จันทน์กระพ้อ หมาก หอมควาย กำลังออกดอกสะพรั่ง ในที่ใกล้อาศรมนั้นมากไปด้วยต้นไม้ ใหญ่ๆ คือ ต้นสาละ ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะทราง ไม้ยางทราย ราชพฤกษ์ แคฝอย ต้นจิก ต้นลำเจียก มีกิ่งก้านห้อยย้อย ลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมน่ายวนใจ ถั่วแระ อ้อแรม ถั่วป่า ต้นมะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด ข้าวสารที่เกิดเองมีอยู่เป็นอันมากที่อาศรมนั้น มี สระโบกขรณีที่เกิดเอง งดงามไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ น้ำใสจืดสนิท ไม่ มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น มีปลาต่างๆ ชนิด คือ ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายอยู่คลาคล่ำในสระโปกขรณีอันมีขอบคัน เป็นปลาที่ปล่อย มีเหยื่อมากชนิด มีนกต่างๆ ชนิด คือ หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก นกดุเหว่าลาย นกเงือก นกโพระดก มีอยู่ มากมาย มีขนปีกอันวิจิตร พากันจับอยู่อย่างสบาย ปลอดภัย มีอาหาร มาก มีสัตว์และหมู่เนื้อนานาชนิดมากมาย คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือปลา เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ระมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง มีอยู่มาก พื้นดินหินเขา ดาดาษงามวิจิตรด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่ง เสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ปักษี.
[๒๘๗] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดดอกไม้เขียวเดินเข้าไปยัง อาศรม ดังสายฟ้าแลบในก้อนเมฆใหญ่ โกสิยดาบสได้จัดตั่งอันมีพนัก ที่ถักไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วยหญ้าคา สะอาด มีกลิ่นหอม ลาดด้วยหนัง ชะมด เพื่อนางหิริเทพธิดานั้น แล้วได้กล่าวว่า ดูกรนางงาม เชิญนั่ง ที่อาสนะนี้ตามสบายเถิด ในกาลนั้น เมื่อนางหิริเทพธิดานั่งบนตั่งแล้ว โกสิยมหามุนีผู้ทรงชฎาอันรุ่งเรือง ได้รีบนำสุธาโภชน์มาพร้อมกับน้ำ ด้วยใบบัวใหม่ๆ ด้วยตนเอง เพื่อจะให้พอความประสงค์ นางหิริเทพ ธิดามีความปลื้มใจ รับสุธาโภชน์ด้วยมือทั้งสอง แล้วได้กล่าวกะโกสิย ดาบสผู้ทรงชฎาว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ เอาละ ดิฉันเป็นผู้อันพระคุณ เจ้าบูชาแล้ว ได้ชัยชนะแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพย์ในบัดนี้ นางหิริเทพธิดา นั้น เป็นผู้มัวเมาแล้ว ด้วยความเมาในผิวพรรณ อันโกสิยดาบสกล่าว อนุญาตแล้ว ได้กลับไปในสำนักของท้าวสหัสสนัยน์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ นี่สุธาโภชน์ ขอพระองค์จงพระราชทานชัยชนะแก่ หม่อมฉัน แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชานางหิริเทพธิดาในกาลนั้น เทวดา พร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางสุกัญญาผู้อุดม นางหิริเทพธิดา นั้นเข้าไปนั่งบนตั่งใหม่ ในกาลใด ในกาลนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประคองอัญชลีบูชาแล้ว.
[๒๘๘] ท้าวสหัสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งชาวไตรทศ ได้ตรัสกะมาตลีเทพสารถีนั้น ต่อไปว่า ท่านจงไปถามท่านโกสิยดาบสตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่าน โกสิยะ เว้นนางอาสาเทพธิดา นางศรัทธาเทพธิดา และนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียวได้สุธาโภชน์ เพราะเหตุอะไร.
[๒๘๙] มาตลีเทพสารถี ขึ้นรถอันเลื่อนลอยไปตามสบาย รุ่งเรืองเช่นกับเครื่อง ใช้สอย มีงอนอันแล้วไปด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงคล้ายทองคำ ประดับ ประดาแล้ว ประกอบไปด้วยเครื่องลาดทองคำงามวิจิตร ในรถนี้มีรูป ภาพมากมาย คือ รูปพระจันทร์ รูปช้าง รูปโค รูปม้า รูปกินนร รูป เสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทราย ล้วนแล้วไปด้วยทองคำ และ มีรูปนกทั้งหลาย อันล้วนแล้วด้วยรัตนะต่าง ๆ ดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ รูปเนื้อในรถนั้นจัดไว้เป็นหมู่ๆ ล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ เทพบุตรทั้ง หลายเทียมม้าอัศวราชมีสีเหลืองดังทองคำ ประมาณหมื่นตัว คล้ายดัง ช้างหนุ่มมีกำลังประดับประดาแล้ว มีเครื่องทับทรวงด้วยข่ายทองคำ มีภู่ ห้อยหู ไปโดยเสียงปกติไม่ขัดข้อง มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ยานอัน ประเสริฐนั้นแล้ว บันลือแล้วตลอดสิบทิศนี้ ยังท้องฟ้า ภูเขา และต้นไม้ ใหญ่อันเป็นเจ้าไพร พร้อมทั้งสาคร ตลอดทั้งเมทนีดล ให้หวั่นไหว มาตลีเทพสารถีนั้น รีบเข้าไปในอาศรมอย่างนี้แล้ว กระทำผ้าทิพ ประพารเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว กล่าวกะท่านโกสิยดาบส ผู้เป็นพหูสูต ผู้เจริญ มีวัตรอันแนะนำดีแล้ว ผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ ท่านโกสิยดาบส เชิญท่านฟังพระดำรัสของพระอินทร์ ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะตรัสถามท่านว่า ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส เว้นนางอาสา เทพธิดา นางศรัทธาเทพธิดา และนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียว ได้สุธาโภชน์ เพราะเหตุอะไร.
[๒๙๐] ดูกรมาตลีเทพสารถี นางสิริเทพธิดาตอบอาตมาว่า "แน่" ส่วนนาง ศรัทธาเทพธิดาตอบอาตมาว่า "ไม่เที่ยง" นางอาสา อาตมาเข้าใจว่า เป็นผู้กล่าวเคลื่อนคลาดจากความจริง ส่วนนางหิริเทพธิดาตั้งอยู่ในคุณ อันประเสริฐ.
[๒๙๑] นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงหม้ายก็ดี หญิงมีสามีก็ดี รู้ฉันทราคะ ที่เกิดแรงกล้าในบุรุษทั้งหลายแล้ว ห้ามกันจิตของตนได้ ด้วยหิริ เปรียบเหมือนบรรดาพวกนักรบผู้แพ้ในสนามรบ ที่ต่อสู้กันด้วย ลูกศรและหอกแล้วล้มลงและกำลังหนีไป นักรบเหล่าใดยอมสละชีวิต กลับมาได้ด้วยหิริ นักรบเหล่านั้นเป็นคนละอายใจ ย่อมมารับนายอีก ฉะนั้น นางหิริเทพธิดานี้ เป็นผู้ห้ามนรชนเสียจากบาป เปรียบเหมือน ทำนบเป็นที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น ดูกรเทพสารถี เพราะ เหตุนั้น ท่านจงกราบทูลแด่พระอินทร์ว่า นางหิริเทพธิดานั้น อันท่าน ผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวง.
[๒๙๒] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบสผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าว มหินทร์ หรือท้าวปชาบดี ใครเล่าเข้าใจความเห็นนี้ของพระคุณเจ้า นางหิริเทพธิดานี้เป็นธิดาของท้าวมหินทร์ ได้รับยกย่องว่า เป็นผู้ ประเสริฐสุดแม้ในเทวดาทั้งหลาย.
[๒๙๓] ขอเชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถอันเป็นของข้าพเจ้านี้ ไปสู่ไตรทิพย์ ในกาล บัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรง หวังพระคุณเจ้าอยู่ ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ ในวันนี้เถิด.
[๒๙๔] สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่กระทำบาปกรรม ย่อมหมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมไม่เสื่อมสูญสัตว์เหล่าใด เหล่าหนึ่งได้เห็นสุธาโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว ถึงความ เป็นสหายกับพระอินทร์.
[๒๙๕] นางหิริเทพธิดาเป็นนางอุบลวรรณา โกสิยดาบสเป็นภิกษุเจ้าของทาน ปัญจสิขเทพบุตรเป็นพระอนุรุทธ มาตลีเทพสารถีเป็นพระอานนท์ สุริยเทพบุตรเป็นพระกัสสป จันทเทพบุตรเป็นพระโมคคัลลานะ นารท ดาบสเป็นพระสารีบุตร ท้าววาสวะเป็นพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล.

จบ สุธาโภชนชาดกที่ ๓.

๔. กุณาลชาดก ว่าด้วยนางนกดุเหว่า


[๒๙๖] เล่ากันมาอย่างนี้ ได้ยินมาอย่างนี้ ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า ที่ภูเขา หิมพานต์ อันทรงไว้ซึ่งแผ่นดินซึ่งมีโอสถทุกชนิด ดาดาษไปด้วยดอกไม้และของหอมมากมาย หลายพันธุ์ เป็นที่สัญจรไปมาแห่งช้าง โค กระบือ กวางทอง จามรี เนื้อฟาน แรด ระมาด ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาไน เสือดาว นาค ชะมด เสือปลา กระต่าย และ วัวกระทิง เป็นที่อยู่อาศัยแห่งหมู่ช้างใหญ่ ช้างตระกูลอันประเสริฐ เกลื่อนกล่นอยู่ทั่วปริมณฑล อันราบเรียบ มีค่าง ลิง อีเห็น ละมั่ง เนื้อสมัน เนื้อฟาน ม้า และลา กินนร ยักษ์ และรากษส อยู่อาศัย ดาดาษไปด้วยหมู่ไม้นับไม่ถ้วน ทรงไว้ซึ่งดอกตูมและก้าน มีดอกบานตลอดปลาย มี นกเขา นกโพระโดก นกหัสดีลิงค์ นกยูง นกพิราบ นกพริก นกกระจาบ นกยาง นกแขก เต้า และนกการะเวก ส่งเสียงร้องกึกก้องไพเราะ เป็นประเทศที่ประดับไปด้วยแร่ธาตุหลายร้อย ชนิดเป็นต้นว่า อัญชัน มโนศิลา หรดาล มหาหิงค์ ทอง เงินและทองคำ เป็นไพรสัณฑ์อัน น่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าชื่อกุณาละ มีตัว ปีกและขนงดงามยิ่งนัก อาศัยอยู่ และนก ดุเหว่าชื่อกุณาละนั้น มีนางนกดุเหว่าเป็นนางบำเรอประมาณ ๓๕๐๐ ตัว นางนกดุเหว่าสองตัวเอา ปากคาบท่อนไม้ให้นกดุเหว่าชื่อกุณาละนั้น จับตรงกลางแล้วพากันบินไป ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่ากุณาละนั้น อย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อยในหนทางไกลเลย นางนกดุเหว่า ๕๐๐ ตัว บิน ไปเบื้องต่ำด้วยความประสงค์ว่า ถ้านกกุณาละนี้จะตกจากคอน พวกเราจะเอาปีกรับไว้ นางนก ดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไปข้างบนด้วยความประสงค์ว่า แดดอย่าได้ส่งถูกนกกุณาละเลย นาง นกดุเหว่าบินไปโดยข้างทั้งสองข้างละ ๕๐๐ ตัว ด้วยความประสงค์ว่า ความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง ลม หรือน้ำค้าง อย่าได้ถูกนกกุณาละนี้เลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไป ข้างหน้าด้วยความประสงค์ว่า คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำ การงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกกุณาละนั้นด้วยท่อนไม้ กระเบื้อง ก้อนหิน ก้อนดิน กระบอง ศาตรา หรือก้อนกรวดเลย นกกุณาละนี้อย่าได้กระทบด้วยกอไม้ เครือเถา ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน หรือพวกนกที่มีกำลังกว่าเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัวบินไปข้างหลังเจรจาด้วยถ้อยคำอัน เกลี้ยงเกลา อ่อนหวาน ไพเราะจับใจ ด้วยความประสงค์ว่า นกกุณาละนี้ อย่าได้เงียบเหงาอยู่ บนคอนนี้เลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐๐ ตัว บินไปยังทิศานุทิศ นำผลไม้นานาชนิดจากต้นไม้ ต่างๆ มาให้ด้วยความประสงค์ว่า นกกุณาละนี้อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย ได้ยินว่า นาง นกดุเหว่าเหล่านั้นพานกกุณาละนั้นจากป่านี้ไปสู่ป่าโน้น จากสวนนี้ไปสู่สวนโน้น จากท่าน้ำนี้ ไปสู่ท่าน้ำโน้น จากยอดเขานี้ไปสู่ยอดเขาโน้น จากสวนมะม่วงนี้ไปสู่สวนมะม่วงโน้น จาก สวนชมภู่นี้ไปสู่สวนชมภู่โน้น จากสวนขนุนสัมมะลอนี้ไปสู่สวนขนุนสัมมะลอโน้น จาก สวนมะพร้าวนี้ไปสู่สวนมะพร้าวโน้น โดยรวดเร็ว เพื่อต้องการให้ร่าเริง ยินดี นกกุณาละอัน นางนกดุเหว่าเหล่านั้นบำเรออยู่ทุกๆ วันอย่างนี้ ยังรุกรานอย่างนี้ว่า อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อย ละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผลอเรอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณคน อีไปตามใจเหมือนลม.
[๒๙๗] ดูกรท่านผู้เจริญ ได้ยินว่า ณ ด้านทิศบูรพาแห่งขุนเขาหิมพานต์มีแม่น้ำอันไหล มาแต่ซอกเขาอันละเอียดสุขุม มีสีเขียว ณ ภูเขาหิมพานต์อันเป็นประเทศที่น่ารื่นเริงบันเทิงใจ ด้วยกลิ่นหอม อันเกิดเดี๋ยวนั้น จากดอกอุบล ดอกปทุม ดอกโกมุท ดอกบัวขม ดอกบัวผัน ดอกจงกลณี และดอกบัวเผื่อน เป็นป่าทึบมากไปด้วยไม้ต่างๆ ชนิด คือ ไม้โกฏดำ ไม้จิก ไม้เกต ไม้ยางทราย ไม้อ้อยช้าง ต้นบุนนาค ต้นพิกุล ต้นหมากหอม ต้นประยงค์ ต้นขมิ้น ต้นสาละ ต้นสน ต้นจำปา ต้นอโศก ต้นกากะทิง ต้นหงอนไก่ ต้นราชดัด ต้นโลทนง และต้นจันทน์ เป็นราวป่าที่สล้างไปด้วยต้นกฤษณาดำ ต้นปทุม ต้นประยงค์ ต้นเทพทาโร และต้นกล้วย ทรงไว้ ซึ่งต้นรกฟ้า ต้นมวกเหล็ก ต้นปรู ต้นทราก ต้นกัณณิการ์ ต้นชะบา ต้นว่านหางช้าง ต้นทองหลาง ต้นทองกวาว ต้นคัดเค้า ต้นมะลิป่า ต้นแก้ว ต้นซึกและต้นขานางอันงามยิ่งนัก และมีไม้ดอก สำหรับร้อยเป็นพวงมาลัยดาดาษไปด้วยดอกมะลิ ว่านเปราะหอม ต้นคนธา ต้นกำยาน ต้นแฝก หอม ต้นกระเบา และไม้กอ เป็นประเทศอันประดับไปด้วยลดาวัลย์ดาดาษยิ่งนัก มีหมู่หงส์ นก นางนวล นกกาน้ำ และนกเป็ดน้ำ ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่สถิตอยู่แห่งหมู่ฤาษีสิทธิ์วิทยาธร สมณะ และดาบส เป็นประเทศที่ท่องเที่ยวไปแห่งหมู่มนุษย์ เทพยดา ยักษ์ รากษส ทานพ คนธรรพ์ กินนร และพญานาค เป็นไพรสณฑ์ที่น่ารื่นรมย์เห็นปานนี้ มีนกดุเหว่าขาวชื่อ ปุณณมุขะ มีถ้อยคำอันไพเราะยิ่งนัก มีนัยน์ตาแดงดังนัยน์ตาคนเมาสอดส่ายไปมา อาศัยอยู่ ได้ยินว่า พระยา นกปุณณมุขะนี้ มีนางนกดุเหว่าบำเรอ ๓๕๐ ตัว เล่ากันมาว่า นางนกดุเหว่า ๒ ตัว เอาปากคาบ ท่อนไม้ให้พระยานกปุณณมุขะนั้นจับตรงกลางพาบินไป ด้วยความประสงค์ว่า พระยานกปุณณ มุขะนั้นอย่าได้มีความเหน็ดเหนื่อยในหนทางไกลเลย นางนกดุเหว่า ๕๐ ตัว บินไปเบื้องต่ำด้วย ความประสงค์ว่า ถ้าพระยานกปุณณมุขะนี้จักพลาดจากคอน พวกเราจักเอาปีกทั้งสองรับไว้ นาง นกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินขึ้นไปข้างบนด้วยความประสงค์ว่า แสงแดดอย่าได้แผดเผานกดุเหว่าขาว ชื่อปุณณมุขะนั้นเลย นางนกดุเหว่าบินไปโดยข้างทั้งสองข้างละ ๕๐ ตัว ด้วยความประสงค์ว่า ความหนาว ความร้อน หญ้า ธุลี หรือน้ำค้าง อย่าได้ตกต้องนกดุเหว่าขาวชื่อปุณณะมุขะนั้นเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินขึ้นไปข้างหน้าด้วยความประสงค์ว่า คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนเกี่ยวหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า อย่าได้ขว้างปานกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะนั้นด้วย ท่อนไม้ กระเบื้อง ก้อนหิน ก้อนดิน ไม้ฆ้อน ศาตรา หรือก้อนกรวดเลย และนกดุเหว่า ขาวชื่อปุณณมุขะนี้ อย่าได้กระทบกับกอไม้ เถาวัลย์ ต้นไม้ กิ่งไม้ เสา หิน หรือกับนก ที่มีกำลังมากกว่าเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินไปข้างหลังเจรจาด้วยวาจาอันเกลี้ยงเกลา อ่อนหวาน ไพเราะจับใจ ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณะมุขะนี้อย่าเงียบเหงา บนคอนเลย นางนกดุเหว่าอีก ๕๐ ตัว บินไปยังทิศานุทิศ นำเอาผลไม้นานาชนิดจากต้นไม้ ต่างๆ มาให้ด้วยความประสงค์ว่า นกดุเหว่าชื่อปุณณมุขะนี้ อย่าได้ลำบากเพราะความหิวเลย ได้ยินว่า นางนกดุเหว่าเหล่านั้น พานกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะนั้น จากป่านี้ไปสู่ป่าโน้น จาก สวนนี้ไปสู่สวนโน้น จากท่าน้ำนี้ไปสู่ท่าน้ำโน้น จากยอดเขานี้ไปสู่ยอดเขาโน้น จากสวน มะม่วงนี้ไปสู่สวนมะม่วงโน้น จากสวนชมภู่นี้ไปสู่สวนชมภู่โน้น จากสวนขนุนสัมมะลอนี้ ไปสู่สวนขนุนสัมมะลอโน้น จากสวนมะพร้าวนี้ไปสู่สวนมะพร้าวโน้น โดยรวดเร็ว เพื่อต้อง การให้ร่าเริง ได้ยินว่า นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะ อันนางนกดุเหว่าเหล่านั้นบำเรออยู่ทุกวัน ๆ ย่อมสรรเสริญอย่างนี้ว่า ดีละๆ น้องหญิงทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายบำรุงบำเรอสามีอย่างนี้ สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลธิดา.
[๒๙๘] ได้ยินว่า ในกาลต่อมา นกดุเหว่าขาวชื่อปุณณมุขะได้เข้าไปหาพระยานกกุณาละ ถึงที่อยู่ พวกนางนกดุเหว่าบริจาริกาของพระยานกกุณาละ ได้เห็นพระยานกปุณณมุขะนั้นกำลัง บินมาแต่ไกล จึงพากันเข้าไปหา แล้วพูดกะพระยานกปุณณมุขะนั้นว่า ดูกรสหายปุณณมุขะ พระ ยานกกุณาละนี้ เป็นนกหยาบช้า มีวาจาหยาบคายเหลือเกิน แม้ไฉน พวกเราจะพึงได้วาจาอันน่ารัก เพราะอาศัยท่านบ้าง พระยานกปุณณมุขะจึงตอบว่า บางทีจะได้กระมังน้องหญิงทั้งหลาย แล้ว เข้าไปหาพระยานกกุมาละกล่าวสัมโมทนียกถากับพระยานกกุณาละแล้ว สถิตอยู่ ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระยานกปุณณมุขะได้กล่าวกะพระยานกกุณาละว่า ดูกรสหายกุณาละ เพราะ เหตุไร ท่านจึงปฏิบัติผิดต่อนางนกทั้งหลายผู้มีชาติเสมอกัน เป็นลูกของผู้มีสกุล ซึ่งปฏิบัติดีต่อท่าน เล่า ดูกรสหายกุณาละ นางนกทั้งหลายถึงเขาจะไม่พูดไม่ถูกใจ เราก็ควรจะพูดให้ถูกใจ จะป่วย กล่าวไปไยถึงนางนกที่พูดถูกใจเล่า เมื่อพระยานกปุณณมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระยานกกุณาละ ได้รุกรานพระยานกปุณณมุขะอย่างนี้ว่า แนะสหายลามกชั่วถ่อย เจ้าฉิบหาย เจ้าละลาย ใครจะเป็นผู้ฉลาดด้วยการชนะเมียยิ่งไปกว่าเจ้า ก็แหละพระยานกปุณณมุขะถูกรุกรานอย่างนี้แล้ว ก็กลับไปเสียจากที่นั้น.
[๒๙๙] ได้ยินว่า สมัยต่อมา โดยกาลล่วงไปไม่นานนัก อาพาธอันแรงกล้าเกิดขึ้นแก่ พระยานกปุณณมุขะ คือ ลงเป็นโลหิต เกิดเวทนากล้าแข็ง จวนจะตาย ครั้งนั้น พวกนางนก ดุเหว่า ผู้เป็นบริจาริกาของพระยานกปุณณมุขะ เกิดความปริวิตกว่า พระยานกปุณณมุขะนี้ อาพาธ หนักนักแล ไฉนจะพึงหายจากอาพาธนี้หนอ นางนกดุเหว่าเหล่านั้น ละทิ้งพระยานกปุณณ มุขะไว้แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสอง พากันเข้าไปหาพระยานกกุณาละ พระยานกกุณาละได้เห็นนาง นกดุเหว่าเหล่านั้นพากันมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางนกดุเหว่าเหล่านั้นว่า พวกอีถ่อย ผัวของ เจ้าไปไหนเสียเล่า นางนกดุเหว่าเหล่านั้นจึงตอบว่า ท่านสหายกุณาละ พระยานกปุณณมุขะ อาพาธหนักนักแล ไฉนจะพึงหายจากอาพาธหนักนั้น เมื่อนางนกดุเหว่าเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ แล้ว พระยานกกุณาละได้รุกรานนางนกดุเหว่าเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อีถ่อยฉิบหาย อีถ่อยละลาย อีนางโจร อีนางนักเลง อีเผลอเลอ อีใจง่าย อีไม่รู้จักคุณคน อีไปตามใจเหมือนลม ครั้น กล่าวรุกรานแล้ว ได้เข้าไปหาพระยานกปุณณมุขะ แล้วร้องเรียกว่า เฮ้ยสหายปุณณมุขะ พระยานกปุณณมุขะขานรับว่า หาสหายกุณาละ ได้ยินว่า พระยานกกุณาละเข้าไปประคบ ประหงมพระยานกปุณณมุขะด้วยปีกและจะงอยปาก พอให้ลุกขึ้นได้แล้วให้ดื่มยาต่างๆ อาพาธ ของพระยานกปุณณมุขะก็สงบระงับ.
[๓๐๐] ได้ยินว่า พระยานกกุณาละได้กล่าวกะพระยานกปุณณมุขะผู้หายจากไข้ยังไม่ นานนักว่า ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางกัณหาสองพ่อ นางมีผัว ๕ คน ยังมีจิต ปฏิพัทธ์ในบุรุษคนที่ ๖ ซึ่งเป็นคนเปลี้ย เหมือนตัวกระพันธ์. และในเรื่องนี้มีคำเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า ครั้งนั้น นางคนหนึ่งล่วงละเมิดสามี ๕ คน คือ พระเจ้าอัชชุนะ พระเจ้า นกุละ พระเจ้าภีมเสน พระเจ้ายุธิษฐิล และพระเจ้าสหเทพ แล้วได้ กระทำลามกกับบุรุษเปลี้ยแคระ. ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางสมณีชื่อปัญจตปาวี อยู่ในท่ามกลางป่าช้า อดอาหาร ๔ วันจึงบริโภคครั้งหนึ่ง ได้กระทำกรรมอันลามกกับนักเลงสุรา ดูกรสหายปุณณมุขะ เราเห็นมาแล้ว นางเทวีนามว่า กากวดี อยู่ในท่ามกลางสมุทร เป็นภรรยาของพระยาครุฑชื่อว่า ท้าวเวนไตรย ได้กระทำกรรมอันลามกกับกุเวรผู้เจนจบในการฟ้อน ดูกรสหายปุณณมุขะ เรา เห็นมาแล้ว นางขนงามนามว่า กุรุงคเทวี รักใคร่ได้เสียกับเอฬกกุมาร ได้กระทำกรรมอัน ลามกกับฉฬังคกุมารเสนาบดี และธนันเตวาสีผู้เป็นคนใช้ของฉฬังคกุมาร เป็นความจริง เราได้ รู้มาอย่างนี้แล พระมารดาของพระเจ้าพรหมทัตต์ ทรงทอดทิ้งพระเจ้าโกศลราช ได้ทรงกระทำ กรรมอันลามกกับพราหมณ์ชื่อปัญจาลจัณฑะ หญิง ๕ คนนี้ก็ดี หญิงอื่นก็ดี ได้กระทำมาแล้วซึ่งกรรมอันลามก เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสาสะ ไม่สรรเสริญหญิงทั้งหลาย มหาปฐพี อันทรงไว้ซึ่งสรรพสัตว์ ย้อมแล้วเสมอกัน เป็นที่รับรองสิ่งดีและสิ่งชั่ว ทนทานได้หมด ไม่ดิ้นรน ไม่หวั่นไหว ฉันใด หญิงทั้งหลายก็เหมือนกัน นรชนจึงไม่ควรวิสาสะกับหญิงเหล่านี้ ราชสีห์ซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย กิน เนื้อและเลือดเป็นอาหารมีอาวุธ ๕ อย่าง เป็นสัตว์หยาบช้า ยินดีในการ เบียดเบียนสัตว์อื่น ข่มขี่สัตว์ทั้งหลายกิน ฉันใด หญิงทั้งหลายก็ฉันนั้น นรชนจึงไม่ควรวิสาสะกับหญิงเหล่านั้น. ดูกรปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงทั้งหลายไม่ใช่แพศยา ไม่ใช่นางงาม ไม่ใช่หญิงสัญจร ชื่อทั้ง ๓ นี้ ไม่ใช่ชื่อโดยกำเนิด ชื่อโดยกำเนิดว่าแพศยา ว่านางงาม ว่าหญิงสัญจร ก็คือเป็น ผู้ฆ่าหญิงทั้งหลายมุ่นมวยผมเหมือนพวกโจร ประทุษร้ายเป็นพิษเหมือนสุราเจือยาพิษ พูดโอ้อวด เหมือนคนขายของ ตลบตะแลงพลิกแพลงเหมือนเขาเนื้อ สองลิ้นเหมือนงู ปกปิดเหมือน หลุมคูถที่ปิดด้วยกระดาน ให้เต็มได้ยากเหมือนไฟ ให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส นำไปโดย ส่วนเดียวเหมือนพระยายม กินทุกอย่างเหมือนไฟ พัดพาไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตาม ปรารถนาเหมือนลม ไม่ทำอะไรให้วิเศษเหมือนเขาเมรุมาศ ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ. และในเรื่องนี้มีคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า หญิงทั้งหลายมุ่นมวยผมเหมือนโจร ประทุษร้ายเหมือนสุราเจือยาพิษ พูดโอ้อวดเหมือนคนขายของ ตลบตะแลงพลิกแพลงเหมือนเขาเนื้อ สองลิ้นเหมือนงู ปกปิดเหมือนหลุมคูถที่ปิดด้วยกระดาน ให้เต็มได้ยาก เหมือนไฟ ให้ยินดีได้ยากเหมือนรากษส นำไปส่วนเดียวเหมือน พระยายม กินทุกอย่างเหมือนไฟ พัดพาไปทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ ประพฤติตามปรารถนาเหมือนลม ไม่ทำอะไรให้วิเศษเหมือนเขาเมรุมาศ ผลิตผลเป็นนิตย์เหมือนต้นไม้มีพิษ หญิงทั้งหลายเป็นผู้กำสัตว์ไว้ในมือ จนนับไม่ถ้วน ทำโภคสมบัติในเรือนให้พินาศ.
[๓๐๑] ดูกรปุณณมุขะ ทรัพย์ ๔ อย่างนี้ คือ โคผู้ โคนม ยาน ภรรยา ไม่ควร ให้อยู่ในสกุลอื่น บัณฑิตไม่พึงรักษาทรัพย์ ๔ อย่างนี้ให้อยู่พลาดจากเรือน. คนฉลาดย่อมไม่ฝากทรัพย์ ๔ อย่างนี้ คือ โคผู้ ๑ โคนม ๑ ยาน พาหนะ ๑ ภรรยา ๑ ไว้ในตระกูลญาติ เพราะว่า คนที่ไม่มียานพาหนะ ย่อมใช้รถที่ฝากไว้ ย่อมฆ่าโคผู้เสีย เพราะใช้ลากเข็นเกินกำลัง ย่อม ฆ่าลูกโคเพราะรีดนม ภรรยาย่อมประทุษร้ายในตระกูลญาติ.
[๓๐๒] ดูกรสหายปุณณมุขะ สิ่งของ ๖ อย่างนี้ เมื่อกิจธุระเกิดขึ้น ใช้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ คือ ธนูไม่มีสาย ๑ ภรรยาอยู่ในตระกูลญาติ ๑ เรือที่ฝั่งโน้น ๑ ยาน พาหนะที่เพลาหัก ๑ มิตรอยู่ไกล ๑ สหายลามก ๑ สิ่งของทั้ง ๖ นี้ เมื่อกิจธุระเกิดขึ้น ใช้ประโยชน์ไม่ได้.
[๓๐๓] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมดูหมิ่นสามีเพราะเหตุการ ๘ ประการ คือ เพราะสามีเป็นคนจน ๑ เพราะสามีเจ็บกระเสาะกระแสะ ๑ เพราะสามีเป็นคนแก่ ๑ เพราะสามีเป็นนักเลงสุรา ๑ เพราะสามีเป็นคนโง่ ๑ เพราะสามีเป็นคนมัวเมา ๑ เพราะคล้อย ตามในกิจทุกอย่าง ๑ เพราะไม่ก่อให้ทรัพย์ทุกอย่างเกิดขึ้น ๑ ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการนี้. และในเรื่องนี้มีถ้อยคำเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมดูหมิ่นสามีด้วยเหตุ ๘ ประการ คือ ความจน ๑ เจ็บ กระเสาะกระแสะ ๑ เป็นคนแก่ ๑ เป็นนักเลงสุรา ๑ เป็นคนโง่ ๑ เป็นคนมัวเมา ๑ คล้อยตามในกิจทุกอย่าง ๑ ไม่ก่อสิ่งปรารถนาทุกอย่าง ให้เกิดขึ้น ๑.
[๓๐๔] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมาให้สามีด้วยเหตุ ๙ ประการ คือ หญิงเป็นคนมักไปป่า ๑ มักไปสวน ๑ มักไปท่าน้ำ ๑ มักไปหาตระกูลญาติ ๑ มักไปหา ตระกูลอื่น ๑ มักชอบใช้กระจกและชอบประดับประดา ๑ มักดื่มน้ำเมา ๑ มักเยี่ยมมอง หน้าต่าง ๑ มักยืนแอบประตู ๑ ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมา ให้สามีเพราะเหตุ ๙ ประการนี้แล. และในเรื่องนี้มีถ้อยคำกล่าวเป็นคาถาไว้อีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมนำความประทุษร้ายมาให้สามีด้วยเหตุ ๙ ประการนี้ คือ มัก ไปป่า ๑ มักไปสวน ๑ มักไปท่าน้ำ ๑ มักไปหาตระกูลญาติ ๑ มักไปหาตระกูลอื่น ๑ มักชอบใช้กระจกและชอบประดับประดา ๑ มักดื่มน้ำเมา ๑ มักเยี่ยมมองหน้าต่าง ๑ มักยืนแอบประตู ๑
[๓๐๕] ดูกรสหายปุณณมุขะ หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการคือ ดัดกายหนึ่ง ก้มตัว กรีดกราย ทำอาย แกะเล็บ เอาเท้าเหยียบกัน เอาไม้ขีดแผ่นดิน ทำกระโดดเอง ให้เด็กกระโดด เล่นเอง ให้เด็กเล่น จุมพิตเด็ก ให้เด็กจุมพิต กินเอง ให้เด็กกิน ให้ของแก่เด็ก ขอของจากเด็ก ทำตามที่เด็กกระทำ พูดเสียงสูง พูดเสียงต่ำ พูดเปิดเผย พูดกระซิบ ทำซิกซี้ด้วยการฟ้อน การขับ การประโคม ร้องไห้ กรีดกราย ด้วยการแต่งกาย ทำปึ่ง ยักเอว ส่ายผ้าที่ปิดของลับ เลิกขา ปิดขา ให้เห็นนม ให้เห็นรักแร้ ให้เห็น ท้องน้อย หลิ่วตา เลิกคิ้ว เม้มปาก แลบลิ้น ขยายผ้า กลับนุ่งผ้า สยายผม มุ่นผม ดูกรสหายปุณณมุขะ ได้ยินว่า หญิงย่อมยั่วยวนชายด้วยเหตุ ๔๐ ประการนี้แล.
[๓๐๖] ดูกรสหายปุณณมุขะ พึงทราบเถิดว่า หญิงเป็นคนประทุษร้ายสามีด้วยเหตุ ๒๕ ประการ คือ ย่อมพรรณนาการไปแรมคืนของสามี ย่อมไม่ระลึกถึงสามีที่ไปแรมคืน ย่อมไม่ ยินดีกะสามีที่มาแล้ว ย่อมกล่าวโทษสามี ไม่กล่าวคุณแห่งสามี ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็น ประโยชน์แก่สามี ย่อมไม่ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สามี ย่อมกระทำกิจที่ไม่สมควรแก่สามี ย่อมไม่กระทำกิจที่สมควรแก่สามี ย่อมคลุมหัวนอน นอนเบือนหน้าไปทางอื่น ย่อมนอนพลิก กลับไปมา ย่อมทำวุ่นวายนอนถอนหายใจยาว ย่อมทำระทมทุกข์ ย่อมไปอุจจาระ ปัสสาวะบ่อยๆ ย่อมประพฤติตรงกันข้าม ได้ยินเสียงชายอื่นย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมล้างผลาญทรัพย์สมบัติ ย่อมทอด สนิทชิดชอบกับชายผู้คุ้นเคย ย่อมออกนอกบ้านเสมอ ประพฤติผิดจากความดี ย่อมประพฤติ นอกใจไม่เคารพในสามี มีใจประทุษร้าย ย่อมยืนอยู่ที่ประตูเนืองๆ ย่อมทำให้เห็นรักแร้ นม ย่อม ไปเพ่งดูทิศต่างๆ ดูกรสหายปุณณมุขะ พึงทราบเถิดว่า หญิงเป็นคนประทุษร้ายสามีด้วยเหตุ ๒๕ ประการนี้แล. และในเรื่องนี้มีคำกล่าวเป็นคาถาอีกส่วนหนึ่งว่า หญิงย่อมพรรณนาการไปแรมทางไกลของสามี ย่อมไม่เศร้าโศกถึงการไป ของสามี ครั้นเห็นสามีกลับมาก็ไม่แสดงความยินดี ย่อมไม่กล่าวคุณ แห่งสามีในกาลไหนๆ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงผู้ไม่สำรวม ย่อมประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สามี ย่อมทำ ประโยชน์ของสามีให้เสื่อม ย่อมกระทำกิจที่ไม่สมควรแก่สามี ย่อมคลุม หัวนอน นอนเบือนหน้าไปทางอื่น อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิง ผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมนอนพลิกกลับไปมา ย่อมทำวุ่นวาย นอนถอน หายใจยาว ย่อมทำระทมทุกข์ ย่อมไปอุจจาระปัสสาวะบ่อยๆ อาการ เหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมประพฤติตรงกันข้าม ไม่กระทำกิจที่สมควรแก่สามี ย่อมเงี่ยหูฟังเมื่อชายอื่นพูด ล้างผลาญ โภคสมบัติ กระทำความสนิทสนมชมชอบกับชายอื่น อาการเหล่านี้ เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมทำทรัพย์สมบัติที่สามีได้มา โดยความลำบาก หามาได้โดยฝืดเคือง เก็บสะสมไว้ได้ด้วยความยาก แค้นให้พินาศ อนึ่ง ย่อมกระทำความสนิทสนมชมชอบกับชายที่คุ้นเคย กัน อาการเหล่านี้เป็นลักษณะของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงออกนอกบ้าน เสมอ ประพฤติผิดจากความดี มีใจคิดประทุษร้ายในสามีอยู่เป็นนิตย์ เป็นผู้ประพฤตินอกใจ ปราศจากความเคารพ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ของหญิงผู้ประทุษร้าย หญิงย่อมยืนอยู่ที่ใกล้ประตูเนืองๆ แสดงนมบ้าง รักแร้บ้างให้เห็น มีจิตวอกแวกเพ่งดูทิศต่างๆ อาการเหล่านี้เป็นลักษณะ ของหญิงผู้ประทุษร้าย แม่น้ำทั้งปวงมีทางคดเคี้ยว และป่าทั้งปวงรกเรี้ยว ด้วยต้นไม้ ฉันใด หญิงทั้งปวงเมื่อได้ช่อง (ที่ลับ) พึงกระทำกรรมอัน ลามกฉันนั้น ถ้าว่าพึงได้โอกาส ที่ลับ หรือพึงได้ช่องเช่นนั้น หญิง ทั้งปวงพึงกระทำกรรมอันลามกเป็นแน่ ไม่ได้ชายที่สมบูรณ์อื่น ก็ย่อม ทำกับคนเปลี้ย ในพวกนารีที่หลายใจ เป็นผู้กระทำความยั่วยวนแก่ชาย ทั้งหลาย ไม่มีใครข่มขี่ได้ ถ้านารีเหล่าใดแม้จะทำให้พอใจโดยประการ ทั้งปวง ก็ไม่ควรวางใจในนารีเหล่านั้น เพราะว่า นารีเหล่านั้นเสมอด้วย ท่าน้ำ.
[๓๐๗] บัณฑิตได้เห็นเรื่องอย่างไร ของพระเจ้ากินนรและพระนางกินนรีเทวี แล้วพึงรู้เถิดว่า หญิงทั้งปวงย่อมไม่ยินดีในเรือนของตน พระนาง กินนรีเทวีทรงเห็นบุรุษอื่น แม้จะเป็นคนง่อยเปลี้ย ยังละทิ้งพระราช สวามีเช่นพระเจ้ากินนร ไปทำกรรมอันลามกกับบุรุษเปลี้ยนั้นได้.
[๓๐๘] พระเจ้าพกะและพระเจ้าพาวรีย์ ทรงหมกมุ่นอยู่ในกามเกินส่วน พระ มเหษียังประพฤติอนาจารกับคนรับใช้ใกล้ชิด ซ้ำตกอยู่ในอำนาจ พึงมีหรือที่ หญิงจะไม่ประพฤติล่วงชายอื่น นอกจากคนนั้น.
[๓๐๙] พระนางปิงคิยานีพระนางมเหษีที่รักของพระเจ้าพรหมทัตผู้เป็นใหญ่ในโลก ทั้งปวง ได้ประพฤติอนาจารกับคนเลี้ยงม้าผู้ใกล้ชิดและเป็นไปในอำนาจ พระนางปิงคิยานีผู้ใคร่กามนั้น ไม่ได้ประสบความใคร่ทั้งสองราย.
[๓๑๐] บุรุษผู้ไม่ถูกผีสิง ไม่ควรเชื่อหญิงทั้งหลายผู้หยาบช้า ใจเบา อกตัญญู ประทุษร้ายมิตร หญิงเหล่านั้นไม่รู้จักสิ่งที่กระทำแล้ว สิ่งที่ควรกระทำ ไม่รู้จักมารดาบิดาหรือพี่น้อง ไม่มีละอาย ล่วงเสียซึ่งธรรม ย่อมเป็น ไปตามอำนาจจิตของตนเมื่อมีอันตราย และเมื่อกิจเกิดขึ้น ย่อมละทิ้ง สามีแม้จะอยู่ด้วยกันมานาน เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่อนุเคราะห์ แม้เสมอกับชีวิต เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย จริง อยู่ จิตของหญิงเหมือนจิตของวานร ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนเงาไม้ หัวใจของหญิงไหวไปไหวมา เหมือนล้อรถที่กำลังหมุน เมื่อใด หญิง ทั้งหลายผู้มุ่งหวัง เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรจะถือเอาได้ เมื่อนั้น ก็ใช้ วาจาอ่อนหวานชักนำบุรุษไปได้ เหมือนชาวกัมโพชลวงม้าด้วยสาหร่าย ฉะนั้น เมื่อใด หญิงทั้งหลายผู้มุ่งหวัง ไม่เห็นทรัพย์ของบุรุษที่ควรถือ เอาได้ เมื่อนั้น ย่อมละทิ้งบุรุษนั้นไป เหมือนคนข้ามฟากถึงฝั่งโน้นแล้ว ละทิ้งแพไป ฉะนั้น หญิงทั้งหลายเปรียบด้วยเครื่องผูกรัด กินทุกอย่าง เหมือนเปลวไฟ มีมายากล้าแข็ง เหมือนแม่น้ำมีกระแสเชี่ยว ย่อมคบ บุรุษได้ ทั้งที่น่ารัก ทั้งที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดไม่เลือกฝั่งนี้ฝั่งโน้น ฉะนั้น หญิงทั้งหลายไม่ใช่ของบุรุษคนเดียวหรือสองคน ย่อมรับรองทั่ว ไปเหมือนร้านตลาด ผู้ใดสำคัญมั่นหมายหญิงเหล่านั้นว่าของเรา ก็ เท่ากับดักลมด้วยตาข่าย แม่น้ำ หนทาง ร้านเหล้า สภาและบ่อน้ำ ฉันใด หญิงในโลกก็ฉันนั้น เขตแดนของหญิงเหล่านั้นไม่มี หญิงทั้ง หลายเสมอด้วยไฟกินเปรียง เปรียบด้วยงูเห่า ย่อมเลือกคบแต่บุรุษที่ มีทรัพย์ เหมือนโคเลือกกินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก ฉะนั้น ไฟกิน เปรียง ๑ ช้างสาร ๑ งูเห่า ๑ พระราชาผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๑ หญิง ทั้งปวง ๑ สิ่งทั้ง ๕ นี้ นรชนพึงคบด้วยความระวังเป็นนิตย์ เพราะ สิ่งทั้ง ๕ นี้ มีความแน่นอนที่รู้ได้ยากแท้ หญิงที่งามเกินไป ๑ หญิง ที่คนหมู่มากไม่รักใคร่ ๑ หญิงที่เหมือนมือขวา ๑ หญิงที่เป็นภรรยาคน อื่น ๑ หญิงที่คบหาด้วยเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ๑ หญิง ๕ จำพวกนี้ ไม่ ควรคบ.
[๓๑๑] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พญาแร้งชื่ออานนท์ รู้แจ้งซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของพญานกกุณาละแล้ว ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า ถ้าบุรุษจะพึงให้แผ่นดินอันเต็มด้วยทรัพย์นี้ แก่หญิงที่ตนนับถือไซร้ หญิงนั้นได้โอกาสก็จะพึงดูหมิ่นบุรุษนั้น เราจึงไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจ ของพวกหญิงเผลอเรอ เมื่อมีอันตรายและเมื่อกิจธุระเกิดขึ้น หญิงย่อม ละทิ้งผัวหนุ่มผู้หมั่นขยัน มีความประพฤติไม่เหลาะแหละ เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่วิสาสะกับหญิงทั้งหลาย บุรุษไม่ ควรวางใจว่า หญิงคนนี้ปรารถนาเรา ไม่ควรวางใจว่า หญิงคนนี้ร้องไห้ กระซิกกระซี้เรา เพราะว่า หญิงทั้งหลายย่อมคบได้ทั้งบุรุษที่น่ารัก ทั้ง บุรุษที่ไม่น่ารัก เหมือนเรือจอดได้ทั้งฝั่งโน้นฝั่งนี้ ฉะนั้น ไม่ควรวิสาสะ กะใบไม้ลาดที่เก่า ไม่ควรวิสาสะกะมิตรเก่าที่เป็นโจร ไม่ควรวิสาสะกะ พระราชาว่า เป็นเพื่อนของเรา ไม่ควรวิสาสะกะหญิงแม้จะมีลูก ๑๐ คน แล้ว ไม่ควรวิสาสะในหญิงที่กระทำความยินดีให้ เป็นผู้ล่วงศีล ไม่ สำรวม ถึงแม้ภรรยาจะพึงเป็นผู้มีความรักแน่นแฟ้น ก็ไม่ควรวางใจ เพราะว่าหญิงทั้งหลายเสมอกับท่าน้ำ หญิงทั้งหลายพึงฆ่าชายก็ได้ พึงตัด เองก็ได้ พึงใช้ให้ผู้อื่นตัดก็ได้ พึงตัดคอแล้วดื่มเลือดกินก็ได้ อย่าพึง กระทำความสิเนหาในหญิงผู้มีความรักใคร่อันเลวทราม ผู้ไม่สำรวม ผู้ เปรียบเทียบด้วยท่าน้ำ คำเท็จของหญิงเหมือนคำจริง คำจริงของหญิง เหมือนคำเท็จ หญิงทั้งหลายย่อมเลือกคบแต่ชายที่มีทรัพย์ ดังโคเลือก กินหญ้าที่ดีๆ ในภายนอก หญิงทั้งหลายย่อมประเล้าประโลมชายด้วย การเดิน การจ้องดู ยิ้มแย้ม นุ่งผ้าหลุดๆ ลุ่ยๆ และพูดเพราะ หญิง ทั้งหลายเป็นโจร หัวใจแข็ง ดุร้าย เป็นน้ำตาลกรวด ย่อมไม่รู้อะไรๆ ว่าเป็นเครื่องล่อลวงในมนุษย์ธรรมดาหญิงในโลกเป็นคนลามก ไม่มีเขต แดน กำหนัดนักทุกเมื่อ และคะนอง กินไม่ควร เหมือนเปลวไฟ ไหม้เชื้อทุกอย่าง บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รักก็ไม่มี เพราะหญิงทั้งหลาย ย่อมคบบุรุษได้ทั้งที่รักทั้งที่ไม่รัก เหมือนเรือจอด ได้ทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น บุรุษชื่อว่าเป็นที่รักของหญิงไม่มี ไม่เป็นที่รัก ก็ไม่มี หญิง ย่อมผูกพันชายเพราะต้องการทรัพย์เหมือนเถาวัลย์พันไม้ หญิงทั้งหลาย ย่อมติดตามชายที่มีทรัพย์ ถึงจะเป็นคนเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงโค คนจัณฑาล สัปเหร่อ คนเทหยากเยื่อ ก็ช่าง หญิงทั้งหลาย ย่อมละทิ้งชายผู้มีตระกูล แต่ไม่มีอะไร เหมือนซากศพ แต่ติดตามชายเช่นนั้นได้เพราะเหตุแห่งทรัพย์.
[๓๑๒] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ประเสริฐชื่อนารทะ รู้ชัดซึ่งคาถาทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดของพญาแร้งอานนท์แล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า ดูกรพญานก ท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าว มหาสมุทร ๑ พราหมณ์ ๑ พระราชา ๑ หญิง ๑ สี่อย่างนี้ ย่อมไม่ เต็มแม่น้ำสายใด สายหนึ่งอาศัย แผ่นดิน ไหลไปสู่มหาสมุทร แม่น้ำเหล่านั้นก็ยังมหาสมุทรให้เต็มไม่ได้ เพราะฉะนั้นมหาสมุทรชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง ส่วนพราหมณ์เรียน เวทอันมีการบอกเป็นที่ห้าได้แล้ว ยังปรารถนาการเรียนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง พระราชาทรง ชนะแผ่นดินทั้งหมด อันบริบูรณ์ด้วยรัตนะนับไม่ถ้วน พร้อมทั้ง มหาสมุทรและภูเขา ครอบครองอยู่ ก็ยังปรารถนามหาสมุทรฝั่งโน้นอีก เพราะฉะนั้น พระราชาจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง หญิงคนหนึ่งๆ มีสามีคนละ ๘ คน สามีล้วนเป็นคนแกล้วกล้า มีกำลังสามารถนำมาซึ่ง กามรสทุกอย่าง หญิงยังกระทำความพอใจในชายคนที่ ๙ อีก เพราะฉะนั้น หญิงจึงชื่อว่าไม่เต็ม เพราะยังพร่อง หญิงทุกคนกินทุกอย่างเหมือน เปลวไฟ พาไปได้ทุกอย่างเหมือนแม่น้ำ เหมือนกิ่งไม้มีหนาม ย่อมละ ชายไปเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ชายใดพึงวางความรักทั้งหมดในหญิง ชาย นั้นเหมือนดักลมด้วยตาข่าย เหมือนตักน้ำใส่มหาสมุทรด้วยมือข้างเดียว จะพึงได้ยินแต่เสียงมือของตน ภาวะของหญิงที่เป็นโจร รู้มาก หาความ จริงได้ยาก เป็นอาการที่ใครๆ รู้ได้ยาก เหมือนรอยทางปลาในน้ำฉะนั้น หญิงไม่มีความพอ อ่อนโยน พูดเพราะ ให้เต็มได้ยาก เสมอแม่น้ำ ทำ ให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล หญิงเป็นเหมือน น้ำวน มีมายามาก ทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ทำให้ล่มจม บุคคลรู้ดังนี้ แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เมื่อหญิงคบบุรุษใด เพราะความพอใจ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์ ย่อมเผาบุรุษนั้นโดยพลัน เหมือนไฟป่าเผา สถานที่เกิดของตน ฉะนั้น.
[๓๑๓] ได้ยินว่า ในครั้งนั้น พญานกกุณาละรู้แจ้งแล้ว ซึ่งเบื้องต้นท่ามกลาง และที่สุดแห่งคาถา ของนารทพราหมณ์ผู้ประเสริฐ จึงได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ในเวลานั้นว่า บัณฑิตพึงเจรจากับบุรุษผู้ถือดาบอย่างคมกล้า พึงเจรจากับปีศาจผู้ดุร้าย แม้จะพึงเข้าไปนั่งใกล้งูพิษร้าย แต่ไม่ควรเจรจากับหญิงตัวต่อตัว เพราะ ว่าหญิงเป็นผู้ย่ำยีจิตของโลก ถืออาวุธ คือ การฟ้อนรำ ขับร้องและการ เจรจา ย่อมเบียดเบียนบุรุษผู้ไม่ตั้งสติไว้ เหมือนหมู่รากษสที่เกาะเบียด เบียนพวกพ่อค้าฉะนั้น หญิงไม่มีวินัย ไม่มีสังวร ยินดีในน้ำเมาและ เนื้อสัตว์ ไม่สำรวม ผลาญทรัพย์ที่บุรุษหามาได้โดยยากให้ฉิบหาย เหมือนปลาติมิงคละกลืนกินมังกรในทะเล ฉะนั้น หญิงมีกามคุณ ๕ อัน น่ายินดี เป็นทำเลหากิน เป็นคนหยิ่ง จิตไม่เที่ยงตรง ไม่สำรวม ย่อม เข้าไปหาชายผู้ประมาทเหมือนแม่น้ำทั้งหลาย อันไหลไปสู่มหาสมุทร ฉะนั้น หญิงได้ชื่อว่าฆ่าชายด้วยราคะ และโทสะ เข้าไปหาชายคนใด เพราะความพอใจ เพราะความกำหนัด หรือเพราะต้องการทรัพย์ ย่อม เผาชายเช่นนั้นเสีย เช่นดังเปลวไฟ หญิงรู้ว่าชายมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ย่อมเข้าไปหาชาย ยอมให้ทั้งทรัพย์และตนเอง ย่อมเกาะชายที่มีจิตถูก ราคะย้อม เหมือนเถาย่านทรายเกาะไม้สาละในป่า ฉะนั้น หญิงประดับ ร่างกายหน้าตาให้สวย เข้าไปหาชายด้วยความพอใจมีประการต่างๆ ทำ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ใช้มารยาตั้งร้อย เหมือนดังคนเล่นกลและอสุรินทรราหู หญิงประดับประดาด้วยทอง แก้วมณีและมุกดา ถึงจะมีคนสักการะและ รักษาไว้ในตระกูลสามี ก็ยังประพฤตินอกใจสามี ดังหญิงที่อยู่ใน ทรวงอก ประพฤตินอกใจทานพ ฉะนั้น จริงอยู่ นรชนผู้มีปัญญาเครื่อง พิจารณา แม้จะมีเดช มีมหาชนสักการะบูชา ถ้าตกอยู่ในอำนาจของ หญิงแล้ว ย่อมไม่รุ่งเรือง เหมือนพระจันทร์ ถูกราหูจับฉะนั้น โจรผู้มี จิตโกรธ คิดประทุษร้าย พึงกระทำแก่โจรอื่นซึ่งเป็นข้าศึกที่มาประจัญ หน้า ส่วนผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง ไม่มีอุเบกขา ย่อมเข้าถึงความ พินาศยิ่งกว่านั้นอีก หญิงถึงจะถูกชายฉุดกระชากลากผมและหยิกข่วน ด้วยเล็บ คุกคามทุบตีด้วยเท้า ด้วยมือและท่อนไม้ ก็กลับวิ่งเข้าหา เหมือนหมู่แมลงวันที่ซากศพ ฉะนั้น บุรุษผู้มีจักษุ คือปัญญา ปรารถนา ความสุขแก่ตน พึงเว้นหญิงเสียเหมือนกับบ่วงและข่ายที่ดักไว้ในสกุล ในถนนสายหนึ่ง ในราชธานี หรือในนิคม ผู้ใดสละเสียแล้วซึ่งตบะคุณ อันเป็นกุศล ประพฤติจริตอันมิใช่ของพระอริยะ ผู้นั้นต้องกลับจาก เทวโลกไปคลุกเคล้าอยู่กับนรก เหมือนพ่อค้าซื้อหม้อแตก ฉะนั้น บุรุษ ผู้ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ย่อมถูกติเตียนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า กรรมของตนกระทบแล้ว เป็นคนโง่เขลา ย่อมไปพลั้งๆ พลาดๆ โดย ไม่แน่นอน เหมือนรถที่เทียมด้วยลาโกง ย่อมไปผิดทาง ฉะนั้น ผู้ตกอยู่ ในอำนาจของหญิง ย่อมเข้าถึงนรกเป็นที่เผาสัตว์ให้รุ่มร้อน และนรกอัน มีป่าไม้งิ้ว มีหนามแหลมดังหอกเหล็ก แล้วมาในกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน ย่อมไม่พ้นจากวิสัยเปรตและอสุรกาย หญิงย่อมทำลายความ เล่นหัว ความยินดี ความเพลิดเพลินอันเป็นทิพย์ และจักรพรรดิสมบัติ ในมนุษย์ของชายผู้ประมาทให้พินาศ และยังทำชายนั้นให้ถึงทุคติอีกด้วย ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้ การเล่นหัว ความยินดีอันเป็นทิพย์ จักรพรรดิสมบัติในมนุษย์ และนาง เทพอัปสรอันอยู่ในวิมานทอง โดยไม่ยากเลย ชายเหล่าใดไม่ต้องการ หญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชายเหล่านั้นพึงได้คติที่ก้าวล่วงเสียซึ่ง กามธาตุ รูปธาตุ สมภพ และคติที่เข้าถึงวิสัยความปราศจากราคะ โดยไม่ยากเลย ชายเหล่าใดไม่ต้องการหญิง ประพฤติพรหมจรรย์ ชาย เหล่านั้นเป็นผู้ดับแล้ว สะอาด พึงได้นิพพานอันเกษม อันก้าวล่วงเสีย ซึ่งทุกข์ทั้งปวง ล่วงส่วน ไม่หวั่นไหว ไม่มีอะไรปรุงแต่ง โดยไม่ยาก เลย.
[๓๑๔] พญานกกุณาละในครั้งนั้นเป็นเรา พญานกดุเหว่าขาวเป็นพระอุทายี พญา แร้งเป็นพระอานนท์ นารทฤาษีเป็นพระสารีบุตร บริษัททั้งหลายเป็น พุทธบริษัท เธอทั้งหลายจงทรงจำกุณาลชาดกไว้อย่างนี้แล.

จบ กุณาลชาดกที่ ๔

๕. มหาสุตโสมชาดก พระเจ้าสุตโสมเว้นบาปเพราะฟังธรรมของกาฬหัตถี


[๓๑๕] ดูกรพ่อครัว เพราะเหตุไรจึงทำกรรมอันร้ายกาจเช่นนี้ ท่านเป็นคนหลง ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งเนื้อ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์.
[๓๑๖] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน ทรัพย์ ลูกเมียสหายและ ญาติ แต่พระจอมภูมิบาลผู้เป็นนายข้าพเจ้าพระองค์เสวยมังสะเช่นนี้.
[๓๑๗] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย ทำกรรมอันร้ายกาจเช่นนี้เวลาเช้าท่าน เข้าไปถึงภายในพระราชวังแล้ว พึงแถลงเหตุนั้นแก่เราเฉพาะพระพักตร พระราชา.
[๓๑๘] ข้าแต่ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง เวลาเช้าข้าพเจ้าเข้า ไปถึงภายในพระราชวังแล้ว จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านเฉพาะพระพักตร พระราชา.
[๓๑๙] ครั้นราตรีสว่างแล้ว พระอาทิตย์อุทัย กาฬหัตถีเสนาบดีได้พาคนทำเครื่อง ต้นเข้าเฝ้าพระราชาแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้ทราบด้วย เกล้าว่า พระองค์ทรงใช้พนักงานวิเสทให้ฆ่าหญิงและชาย พระองค์เสวย เนื้อมนุษย์เป็นความจริงหรือพระเจ้าข้า.
[๓๒๐] จริงอย่างนั้นแหละ ท่านกาฬหัตถี เราใช้พนักงานวิเสท เมื่อเขาทำกิจเพื่อ เรา ท่านบริภาษเขาทำไม.
[๓๒๑] ปลาอานนท์ผู้ติดอยู่ในรสของปลาทุกชนิด กินปลาจนหมดเมื่อบริษัท หมดไป กินตัวเองตาย พระองค์เป็นผู้ประมาทแล้วยินดีหนักในรส ถ้า ยังเป็นพาลไม่ทรงรู้สึกต่อไป จำจะต้องละทิ้งพระโอรส พระมเหษี และ พระประยูรญาติ กับเสวยพระองค์เอง เหมือนปลาอานนท์ฉะนั้น เพราะ ได้ทรงสดับเรื่องนี้ ขอความพอพระทัยของพระองค์จงคลายไป ข้าแต่พระ ราชาผู้เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ อย่าได้โปรดเสวยเนื้อมนุษย์เลย อย่าได้ทรง ทำแว่นแคว้นนี้ให้ว่างเปล่าเหมือนปลาฉะนั้นเลย.
[๓๒๒] กุฎุมภีนามว่าสุชาติ โอรสผู้เกิดแต่ตนของเขาไม่ได้ชิ้นชมพู่ เขา ตายเพราะชิ้นชมพู่สิ้นไปฉันใด ดูกรท่านกาฬหัตถี เราก็ฉันนั้น ได้ บริโภคอาหารอันมีรสสูงสุดแล้ว ไม่ได้เนื้อมนุษย์ เห็นจักต้องละชีวิต ไปเป็นแน่.
[๓๒๓] ดูกรมาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม เกิดในตระกูลพราหมณ์โสตถิยะ เจ้า ไม่ควรกินสิ่งที่ไม่ควรกินนะพ่อ.
[๓๒๔] บรรดารสทั้งหลาย ปาณะนี้ก็เป็นรสอย่างหนึ่ง เพราะเหตุไร คุณพ่อ จึงห้ามผม ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้ ผมจักออกไป จัก ไม่อยู่ในสำนักของคุณพ่อ เพราะผมเป็นผู้ที่คุณพ่อไม่ยินดีจะเห็นหน้า.
[๓๒๕] ดูกรมาณพ ข้าจักได้บุตรที่เป็นทายาทแม้เหล่าอื่นเป็นแน่ แน่ะเจ้าคน ต่ำทรามเจ้าจงพินาศ เจ้าจงไปเสียในสถานที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ยิน.
[๓๒๖] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ก็เหมือนกัน ขอเชิญสดับ ถ้อยคำของข้าพระองค์ เขาจักเนรเทศพระองค์เสียจากแว่นแคว้นเหมือน อย่างมาณพนักดื่มสุราฉะนั้น.
[๓๒๗] สาวกของพวกฤาษีผู้มีตนอันอบรมแล้ว นามว่าสุชาติ เขาปรารถนานาง อัปสรจนไม่กินไม่ดื่มกามของมนุษย์ในสำนักกามอันเป็นทิพย์ เท่ากับ เอาปลายหญ้าคาจุ่มน้ำมาเทียบกับน้ำในมหาสมุทร ดูกรท่านกาฬหัตถี เราได้บริโภคของกินที่มีรสอย่างสูงสุดแล้ว ไม่ได้เนื้อมนุษย์ เห็นจัก ต้องละทิ้งชีวิตไปฉะนั้น.
[๓๒๘] เปรียบเหมือนพวกหงส์ธตรฐสัญจรไปทางอากาศ ถึงความตายทั้งหมด เพราะบริโภคอาหารที่ไม่ควร ฉันใด ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ก็ฉันนั้นแลโปรดทรงสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ พระองค์เสวย มังสะที่ไม่ควร เหตุนั้นเขาจักเนรเทศพระองค์.
[๓๒๙] ท่านอันเราห้ามว่าจงหยุด ก็เดินไม่เหลียวหลัง ดูกรท่านผู้ประพฤติ พรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด แต่กล่าวว่าหยุด ดูกรสมณะ นี้ควรแก่ท่าน หรือ ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ.
[๓๓๐] ดูกรพระราชา อาตมาเป็นผู้หยุดแล้วในธรรมของตน ไม่ได้เปลี่ยนนาม และโคตร ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่าไม่หยุดในโลกเคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ต้องเกิดในอบายหรือนรก ดูกรพระราชาถ้ามหาบพิตรทรงเชื่ออาตมา มหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์ มหาบพิตรทรงบูชายัญด้วย พระเจ้าสุตโสมนั้นจักเสด็จไปสวรรค์ ด้วยประการอย่างนี้.
[๓๓๑] ชาติภูมิของท่านอยู่ถึงในแคว้นไหน ท่านมาถึงในพระนครนี้ด้วย ประโยชน์อะไร ดูกรท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นั้นแก่ ข้าพเจ้า ท่านปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านปรารถนาในวันนี้.
[๓๓๒] ข้าแต่พระจอมธรณี คาถา ๔ คาถา มีอรรถอันลึกประเสริฐนัก เปรียบ ด้วยสาคร หม่อมฉันมาในพระนครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ขอ พระองค์โปรดทรงสดับคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์อย่างเยี่ยมเถิด.
[๓๓๓] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่า นั้นย่อมไม่ร้องไห้ การที่บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกผู้อื่น ได้นี่แหละ เป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของนรชน ดูกรท่านสุตโสมพระองค์ ทรงเศร้าโศกถึงอะไร พระองค์เอง พระประยูรญาติ พระโอรส พระ มเหษี ข้าวเปลือก ทรัพย์ หรือเงินทอง ดูกรท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ สุด หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์.
[๓๓๔] หม่อมฉันมิได้เศร้าโศกถึงตน โอรส มเหษี ทรัพย์และแว่นแคว้น แต่ธรรมของสัตบุรุษที่ประพฤติมาแต่เก่าก่อน หม่อมฉันผัดเพี้ยนไว้ต่อ พราหมณ์ หม่อมฉันเศร้าโศกถึงการผัดเพี้ยนนั้น หม่อมฉันดำรงอยู่ใน ความเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นของตน ได้ทำการผัดเพี้ยนไว้กับพราหมณ์ (ถ้าพระองค์ทรงปล่อยหม่อมฉันไป หม่อมฉันได้ฟังธรรมนั้นแล้ว) จัก เป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.
[๓๓๕] คนมีความสุขหลุดพ้นจากปากของมฤตยูแล้ว จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือ ของศัตรูอีก ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ดูกรท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด พระองค์จะไม่เสด็จเข้าใกล้หม่อมฉันละซิ พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือ ของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์แล้ว จะมัวทรง เพลิดเพลินกามคุณารมณ์ ทรงได้พระชนมชีพอันเป็นที่รักแสนหวาน ที่ไหนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า.
[๓๓๖] ผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียน ไม่พึงปรารถนาชีวิต นรชนใดพึงกล่าวเท็จ เพราะเหตุเพื่อประโยชน์แก่ ตนใด เหตุเพื่อประโยชน์แก่ตนนั้น ย่อมไม่รักษานรชนนั้นจากทุคติได้ เลย ถ้าแม้ลมจะพึงพัดเอาภูเขามาได้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึง ตกลงมา ณ แผ่นดินได้ และแม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสได้ ถึงอย่างนั้น หม่อมฉันก็ไม่พึงพูดเท็จเลยพระราชา.
[๓๓๗] ฟ้าพึงแตกได้ ทะเลพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูติพึงพลิกได้ เมรุ บรรพตจะพึงเพิกถอนได้พร้อมทั้งราก ถึงอย่างนั้น หม่อมฉันก็จะไม่ กล่าวเท็จเลย.
[๓๓๘] ดูกรพระสหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอกจะทำแม้การสาบานแก่ พระองค์ก็ได้ หม่อมฉันอันพระองค์ทรงปล่อยแล้วเป็นผู้ใช้หนี้หมดแล้ว จักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.
[๓๓๙] การผัดเพี้ยนอันใด อันพระองค์ทรงดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่น แคว้นของพระองค์ ทรงทำไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ ผู้ประเสริฐ พระองค์จงทรงรักษาความสัตย์เสด็จกลับมา.
[๓๔๐] การผัดเพี้ยนอันใด อันหม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่น แคว้นของตน ได้ทำไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ผู้ ประเสริฐ หม่อมฉันจักรักษาความสัตย์กลับมา
[๓๔๑] ก็พระเจ้าสุตโสมนั้น ทรงพ้นจากเงื้อมมือของเจ้าโปริสาทแล้ว ได้เสด็จ ไปตรัสกะพราหมณ์นั้นว่า ดูกรท่านพราหมณ์ข้าพเจ้าขอฟังสตารหาคาถา ซึ่งได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้า.
[๓๔๒] ข้าแต่ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้นั้นไว้ การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็รักษาไม่ได้ พึง อยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ ทั่วถึงสัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ราชรถ อันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วน ธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้น รู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทรเขากล่าวกัน ว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ นัก ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าไกลยิ่งกว่านั้น.
[๓๔๓] คาถาเหล่านี้ชื่อสาหัสสิยา ควรพัน มิใช่ชื่อสตารหา ควรร้อย ดูกร พราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์สี่พันเถิด.
[๓๔๔] คาถาควรแปดสิบและควรเก้าสิบ แม้ควรร้อยก็มี ดูกรพ่อสุตโสม พ่อ จงรู้ด้วยตนเอง คาถาชื่อสาหัสสิยา ควรพันมีที่ไหน.
[๓๔๕] หม่อมฉันปรารถนาความเจริญทางศึกษาของตน สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบ พึงคบหาหม่อมฉัน ข้าแต่ทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต เหมือนดังมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำฉะนั้น ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ สุด ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม และสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลาย ฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้ว ย่อมไม่อิ่ม ด้วยสุภาษิต ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอมประชาชน เมื่อใดหม่อมฉัน ฟังคาถาที่มีประโยชน์ต่อทาสของตน เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟัง คาถานั้นโดยเคารพ ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่มีความอิ่ม ในธรรมเลย.
[๓๔๖] รัฐมณฑลของทูลกระหม่อมนี้ บริบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง พร้อมทั้งทรัพย์ ยวดยาน และพระธำมรงค์ ทูลกระหม่อม ทรงบริภาษ หม่อมฉัน เพราะเหตุแห่งกามทำไม หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนัก โปริสาท ณ บัดนี้.
[๓๔๗] กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ และกองราบ ล้วนแต่เชี่ยวชาญ การธนูพอที่จะรักษาตัวได้ เราจะยกทัพไปจับศัตรูฆ่าเสีย.
[๓๔๘] โปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา หม่อมฉันระลึกถึงบุรพกิจเช่นนั้นอยู่ ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอม ประชาชน หม่อมฉันจะประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร.
[๓๔๙] พระเจ้าสุตโสมถวายบังคมพระราชบิดา และพระราชมารดา ทรงอนุศาสน์ พร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกรแล้ว เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ ทรงรักษาความสัตย์ ได้เสด็จไปในสำนักของโปริสาท
[๓๕๐] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแว่นแคว้นของตนได้ทำการผัด เพี้ยนไว้กับพราหมณ์ การผัดเพี้ยนนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ หม่อมฉัน เป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมาแล้ว ดูกรท่านโปริสาท เชิญท่านบูชายัญ กินเราเถิด.
[๓๕๑] การกินของหม่อมฉันย่อมไม่หายไปในภายหลัง จิตกาธารนี้ก็ยังมีควันอยู่ เนื้อที่สุกบนถ่านอันไม่มีควัน ชื่อว่าสุกดีแล้ว หม่อมฉันจะขอฟัง สตารหาคาถาเสียก่อน.
[๓๕๒] ดูกรท่านโปริสาท พระองค์เป็นผู้ทรงประพฤติไม่ชอบธรรม ต้องพลัดพราก จากรัฐมณฑลเพราะเหตุแห่งท้อง ส่วนคาถานี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม ธรรมและอธรรมจะลงรอยกันได้ที่ไหน คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า มีฝ่ามือชุ่มด้วยเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ ธรรมจักมีแต่ ที่ไหน พระองค์จักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับเล่า.
[๓๕๓] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อเพราะเหตุแห่งมังสะ หรือผู้ใดฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน แม้คนทั้งสองนั้นย่อมเสมอกันในโลกเบื้องหน้า เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงประณามเฉพาะหม่อมฉันว่า ประพฤติไม่ชอบธรรม.
[๓๕๔] เนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิด อันกษัตริย์ผู้รู้ขัตติยธรรมไม่ควรเสวย ดูกรพระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นเนื้อที่ไม่ควรเสวย เพราะฉะนั้น พระองค์ จึงชื่อว่าประพฤติไม่ชอบธรรม.
[๓๕๕] พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของ พระองค์แล้ว ทรงเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ยังเสด็จกลับมาสู่เงื้อมมือ ของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก พระองค์เป็นผู้ไม่ฉลาดในขัตติยธรรมเลยนะ พระราชา.
[๓๕๖] ชนเหล่าใดเป็นผู้ฉลาดในขัตติยธรรม ชนเหล่านั้นต้องตกนรกโดยมาก เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละขัตติยธรรมเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด.
[๓๕๗] ปราสาทราชมณเฑียร แผ่นดิน โค ม้า หญิงที่น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์ พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งทุกอย่างในพระนครนั้น เพราะ พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์.
[๓๕๘] รสเหล่าใดมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเป็นรสที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารส เหล่านั้น เพราะว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะย่อมข้ามพ้นฝั่งแห่งชาติ และมรณะได้.
[๓๕๙] พระองค์พ้นจากเงื้อมมือของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของ พระองค์แล้ว ทรงเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ ยังเสด็จกลับมาสู่เงื้อมมือ ของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก ข้าแต่พระจอมประชาชน พระองค์ไม่ทรงกลัว ความตายแน่ละหรือ พระองค์ผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้ละหรือ.
[๓๖๐] หม่อมฉันได้ทำกัลยาณธรรมหลายอย่าง ได้บูชายัญอันไพบูลย์ที่บัณฑิต สรรเสริญ ได้ชำระทางปรโลกบริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่า จะกลัวตาย หม่อมฉันได้ทำกัลยาณธรรมหลายอย่าง ได้บูชายัญอันไพบูลย์ ที่บัณฑิตสรรเสริญ หม่อมฉันไม่เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่าน โปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้บำรุง พระชนกและพระชนนีแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมได้ชำระทาง ปรโลกบริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันได้ บำรุงพระชนกและพระชนนีแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม จึงไม่ เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญ เสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้กระทำอุปการกิจในพระประยูรญาติและ มิตร แล้วได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม ได้ชำระทางปรโลกบริสุทธิ์ แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันกระทำอุปการกิจ ในพระประยูรญาติและมิตรแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม จึงไม่ เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรท่านโปริสาท เชิญพระองค์บูชายัญ เสวยหม่อมฉันเถิด หม่อมฉันได้ให้ทานโดยอาการเป็นมาก แก่ชนเป็น อันมาก ได้อุปถัมภ์สมณพราหมณ์ให้อิ่มหนำสำราญ ได้ชำระทางปรโลก ให้บริสุทธิ์ ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย หม่อมฉันได้ให้ ทานโดยอาการเป็นอันมาก แก่ชนเป็นอันมาก ได้อุปถัมภ์สมณพราหมณ์ ให้อิ่มหนำสำราญจึงไม่เดือดร้อนที่จักไปยังปรโลก ดูกรโปริสาท เชิญ พระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด.
[๓๖๑] บุรุษรู้อยู่จะพึงกินยาพิษ หรือจับอสรพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงมีเดชกล้าได้หรือ ผู้ใดพึงกินคน ผู้กล่าวคำสัตย์เช่นพระองค์ ศีรษะของผู้นั้นพึง แตก ๗ เสี่ยง.
[๓๖๒] นรชนได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้แจ้งบุญและบาป ใจของหม่อมฉันจะยินดี ในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้างกระมัง.
[๓๖๓] ดูกรมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษแม้คราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้นั้นไว้ การสมาคมกับอสัตบุรุษ แม้มากครั้ง ก็รักษาไม่ได้ พึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ทั่วถึง สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ราชรถ อันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วน ธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่า ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้น.
[๓๖๔] ดูกรพระสหายผู้จอมประชาชน คาถาเหล่านี้มีอรรถมีพยัญชนะดี พระองค์ ตรัสไพเราะ หม่อมฉันได้สดับแล้ว เพลิดเพลิน ปลื้มใจ ชื่นใจ อิ่มใจ หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแก่พระองค์.
[๓๖๕] ดูกรท่านผู้มีธรรมอันลามก พระองค์ไม่รู้สึกความตายของพระองค์ ไม่รู้สึก ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ นรกและสวรรค์ เป็นผู้ติดในรส ตั้งมั่น ในทุจริต จะให้พรอะไร หม่อมฉันพึงทูลพระองค์ว่า ขอให้ทรงประทาน พร แม้พระองค์ประทานแล้ว จะกลับไม่ประทานก็ได้ ความทะเลาะ วิวาทนี้ อันพระองค์จะพึงเห็นเอง ใครจะเข้ามาเป็นบัณฑิตวินิจฉัย ความทะเลาะวิวาทนี้.
[๓๖๖] คนเราให้พรใดแล้วจะกลับไม่ให้ ย่อมไม่ควรให้พรนั้น ดูกรพระสหาย ขอพระองค์จงทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตหม่อมฉันก็จะสละ ถวายได้.
[๓๖๗] ศักดิ์ของพระอริยะ ย่อมเสมอกับศักดิ์พระอริยะ ศักดิ์ของผู้มีปัญญา ย่อมเสมอกับศักดิ์ผู้มีปัญญา หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้หาโรคมิได้ ตลอด ๑๐๐ ปี นี้เป็นพรข้อที่ ๑ หม่อมฉันปรารถนา.
[๓๖๘] ศักดิ์ของพระอริยะ ย่อมเสมอกับศักดิ์พระอริยะ ศักดิ์ของผู้มีปัญญา ย่อมเสมอกับศักดิ์ผู้มีปัญญา พระองค์พึงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ ตลอด ๑๐๐ ปี นี้เป็นพรที่ ๑ หม่อมฉันขอถวาย.
[๓๖๙] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่ามูรธาภิสิต เหล่าใด ใน ชมพูทวีปนี้ พระองค์อย่าได้เสวยพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี้เป็นพร ข้อที่ ๒ หม่อมฉันปรารถนา.
[๓๗๐] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่ามูรธาภิสิต เหล่าใด ใน ชมพูทวีปนี้ หม่อมฉันจะไม่กินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี้เป็นพร ข้อที่ ๒ หม่อมฉันขอถวาย.
[๓๗๑] กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ ที่พระองค์ทรงจับร้อยพระหัตถ์ไว้ ทรงกรรแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์ เหล่านั้น ให้กลับไปในแคว้นของตนๆ นี้เป็นพรข้อที่ ๓ หม่อมฉัน ปรารถนา.
[๓๗๒] กษัตริย์ร้อยเอ็ดพระองค์ ที่หม่อมฉันจับร้อยพระหัตถ์ไว้ ทรงกรรแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยอัสสุชล หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น ให้กลับ ไปยังแว่นแคว้นของตนๆ นี้เป็นพรข้อที่ ๓ หม่อมฉันขอถวาย.
[๓๗๓] รัฐมณฑลของพระองค์เป็นช่อง เพราะนรชนเป็นอันมาก หวาดเสียว เพราะความกลัว หนีเข้าหาที่ซ่อนเร้น ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อ มนุษย์เถิดพระราชา นี้เป็นพรข้อที่ ๔ หม่อมฉันปรารถนา.
[๓๗๔] นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานแล้ว หม่อมฉันเข้าป่าก็ เพราะเหตุแห่งอาหารนี้ หม่อมฉันจะพึงงดอาหารนี้ได้อย่างไร ขอ พระองค์ทรงเลือกพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด.
[๓๗๕] ดูกรพระจอมประชาชน คนเช่นพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า นี้เป็นที่รักของ เรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี ย่อมไม่ได้ประสบสิ่งที่รักทั้งหลาย ตนแลประเสริฐที่สุด ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยม ด้วยว่าผู้มีตนอันอบรม แล้วจะพึงได้สิ่งที่รักในภายหลัง.
[๓๗๖] เนื้อมนุษย์เป็นที่รักของหม่อมฉัน ดูกรพระเจ้าสุตโสม โปรดทรงทราบ อย่างนี้ หม่อมฉันไม่สามารถจะงดเว้นได้ เชิญพระองค์ทรงเลือกพร อย่างอื่นเถิดพระสหาย.
[๓๗๗] ผู้ใดแล มัวรักษาของรักว่า นี่เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่าง จากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษ ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์ในโลกหน้า เพราะกรรมอันลามกนั้น ส่วน ผู้ใดในโลกนี้ พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยา ฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุข ในโลกหน้า เพราะกัลยาณกรรมนั้น.
[๓๗๘] หม่อมฉันสู้ละทิ้งพระชนกและพระผู้ชนนี ตลอดทั้งเบญจกามคุณที่น่า เพลิดเพลินเจริญใจ เข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์ หม่อมฉันจะ ถวายพรข้อนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร.
[๓๗๙] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็นสอง สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิภาณ เป็นสัตย์โดยแท้ พระองค์ได้ตรัสกะหม่อมฉันว่า เชิญรับพรเถิดพระ สหาย พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัส ย่อมไม่สมกัน.
[๓๘๐] หม่อมฉันเข้าถึงการได้บาป ความเสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันจะพึง ถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร.
[๓๘๑] คนเราให้พรใดแล้ว จะกลับไม่ให้ ย่อมไม่ควรให้พรนั้น ดูกรพระสหาย ขอพระองค์ทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็ยอมสละ ถวายได้.
[๓๘๒] การสละชีวิตได้นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญาณ เป็นสัจจะโดยแท้ พรที่พระองค์ได้ประทานไว้แล้วขอได้โปรดประทาน เสียโดยพลันเถิด ดูกรพระราชาผู้ประเสริฐสุด พระองค์จงทรงสมบูรณ์ ด้วยธรรมข้อนั้นเถิด นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะอัน ประเสริฐ เมื่อจะรักษาชีวิตไว้ พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม พึง สละทั้งอวัยวะ ทั้งทรัพย์ และแม้ชีวิตทั้งหมด.
[๓๘๓] บุรุษพึงรู้แจ้งธรรมจากผู้ใด และชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษกำจัดความ สงสัยของบุรุษนั้นได้ ข้อนั้นเป็นที่พึ่งที่พำนักของบุรุษนั้น ผู้มีปัญญา ไม่พึงทำลายไมตรีจากบุคคลนั้น.
[๓๘๔] นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานแล้ว หม่อมฉันเข้าป่าก็เพราะ เหตุแห่งอาหารนี้ ดูกรพระสหาย ถ้าแหละพระองค์ตรัสขอเรื่องนี้ กะหม่อมฉัน หม่อมฉันยอมถวายพรข้อนี้แด่พระองค์.
[๓๘๕] พระองค์เป็นศาสดาของหม่อมฉัน และเป็นพระสหายของหม่อมฉันด้วย ดูกรพระสหาย หม่อมฉันได้กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ แม้ พระองค์ก็ขอได้ทรงโปรดกระทำตามคำของหม่อมฉัน เราทั้งสองจะได้ ปลดปล่อยด้วยกัน.
[๓๘๖] หม่อมฉันเป็นศาสดาของพระองค์ และเป็นพระสหายของพระองค์ด้วย ดูกรพระสหาย พระองค์ได้ทรงกระทำตามคำของหม่อมฉัน แม้หม่อมฉัน ก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์ เราทั้งสองจะได้ปลดปล่อยด้วยกัน.
[๓๘๗] พระองค์ทั้งหลาย ไม่พึงประทุษร้ายแก่พระราชานี้ด้วยความแค้นว่า เรา ทั้งหลายเป็นผู้ถูกเจ้ากัมมาสบาท (คนตีนแดง) เบียดเบียน ถูกร้อย ฝ่ามือร้องไห้หน้าชุ่มด้วยน้ำตา ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัจจปฏิญาณ ต่อหม่อมฉัน.
[๓๘๘] หม่อมฉันทั้งหลายจะไม่ประทุษร้ายแก่พระราชานี้ ด้วยความแค้นว่า เรา ทั้งหลายเป็นผู้ถูกเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน ถูกร้อยฝ่ามือร้องไห้หน้าชุ่ม ด้วยน้ำตา หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญาณต่อพระองค์.
[๓๘๙] บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีความกรุณา ปรารถนาประโยชน์แก่บุตรฉันใด แม้ พระราชาพระองค์นี้ก็จงเป็นเหมือนพระชนกชนนีของท่านทั้งหลาย และ ท่านทั้งหลายก็จงเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น.
[๓๙๐] บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีความกรุณา ปรารถนาประโยชน์แก่บุตรฉันใด แม้พระราชาพระองค์นี้ ขอจงเป็นเหมือนพระชนกชนนีของหม่อมฉัน ทั้งหลาย แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรส ฉันนั้น.
[๓๙๑] พระองค์เคยเสวยกระยาหารอันโอชารส ล้วนแต่เนื้อสัตว์ ๔ เท้าและนก ที่พวกวิเสทปรุงให้สำเร็จเป็นอย่างดี ดังท้าวสักกรินท์เทวราชเสวยสุธา โภชน์ฉะนั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างเล็กสะโอดสะองประดับประดา แล้ว แวดล้อมบำเรอพระองค์ให้เบิกบานพระทัย ดังเทพอัปสรแวดล้อม พระอินทร์ในทิพยสถานฉะนั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์ เดียวเล่า พระแท่นบรรทมพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ล้วนลาดด้วยเครื่องลาดอันงดงามประดับด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตร พระองค์เคยทรงบรรทมสำราญพระทัยบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่น นั้น ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า เวลาพลบค่ำมีการ ฟ้อนรำส่งสำเนียงเสียงตะโพนสำทับดนตรี รับประสานเสียงล้วนแต่ สตรีไม่มีบุรุษเจือปน การขับและการประโคมก็ล้วนแต่ไพเราะ ไฉน จะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียวเล่า พระราชอุทยานนามว่า มิคชินวัน บริบูรณ์ด้วยบุบผชาติเป็นอันมาก พระนครของพระองค์ ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ทั้งสมบูรณ์ ด้วยม้า รถและคชสาร ไฉนจะทรงละไปยินดีอยู่ในป่าแต่พระองค์ เดียวเล่า.
[๓๙๒] ในกาฬปักษ์ พระจันทร์ย่อมเสื่อมลงทุกวันๆ ฉันใด ดูกรพระราชา การคบอสัตบุรุษย่อมเปรียบเหมือนกาฬปักษ์ ฉะนั้น หม่อมฉันก็เหมือน กัน อาศัยคนครัวเครื่องต้นเป็นคนชั่วเลวทราม ได้ทำบาปกรรมอันเป็น เหตุให้ไปสู่ทุคติ ในสุกรปักษ์ พระจันทร์ย่อมเจริญขึ้นทุกวันๆ ฉันใด การคบสัตบุรุษย่อมเปรียบเหมือนสุกรปักษ์ฉะนั้น ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอจงทรงทราบว่า หม่อมฉันก็เหมือนกัน อาศัยพระองค์จักกระทำกุศล กรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ ข้าแต่พระจอมประชาชน น้ำฝนตกลงใน ที่ดอนย่อมไม่คงที่ ไม่ขังอยู่ได้นาน ฉันใด แม้การคบอสัตบุรุษของ หม่อมฉันก็ย่อมไม่คงที่ เหมือนน้ำในที่ดอนฉันนั้น ข้าแต่พระจอม ประชาชน ผู้เป็นนระผู้กล้าหาญอย่างประเสริฐสุด น้ำฝนตกลงในสระย่อม ขังอยู่ได้นาน ฉันใด แม้การสมาคมกับสัตบุรุษของหม่อมฉัน ก็ย่อม ตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ ฉันนั้น การสมาคมกับสัตบุรุษย่อมไม่ รู้จักเสื่อม ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังตั้งอยู่ ส่วนการ สมาคมกับอสัตบุรุษย่อมเสื่อมเร็ว เพราะเหตุนั้น ธรรมดาของสัตบุรุษ ย่อมไกลจากอสัตบุรุษ.
[๓๙๓] พระราชาใดชนะคนที่ไม่ควรชนะ พระราชานั้นไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา ผู้ใดเอาชนะเพื่อน ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ภรรยาใดย่อมไม่กลัวเกรง สามี ภรรยานั้นไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรเหล่าใด ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ผู้แก่แล้ว บุตรเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุตร ในที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา ชนเหล่าใดไม่พูดเป็นธรรม ชนเหล่านั้นไม่ ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนผู้ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว พูดเป็นธรรม นั่นแล ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล เมื่อไม่พูด ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต แต่ว่าบัณฑิตเมื่อพูดแสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤาษี ฤาษีทั้งหลาย มีคำสุภาษิตเป็นธง ธรรมแล เป็นธงของฤาษีทั้งหลาย.

จบ มหาสุตโสมชาดกที่ ๕

________________ รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ ๑. จุลลหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก ๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก ๕. มหาสุตโสมชาดก. จบ อสีตินิบาตชาดก. _________________

กลับที่เดิม