พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๙

ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เอกกนิบาตชาดก ๑.

อปัณณกวรรค ๑.

อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

[๑] คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่า ไม่ผิด นักเดาทั้งหลายกล่าวฐานะอัน นั้นว่า เป็นที่สอง คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือ เอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.

จบ อ่านอรรถกถาอปัณณกชาดกที่ ๑.

๒. วัณณุปถชาดก ว่าด้วยผู้ไม่เกียจคร้าน

[๒] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางนั้น ณ ที่ราบ ฉันใด มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง เป็นผู้ไม่ เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจ ฉันนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาวัณณุปถชาดกที่ ๒.

๓. เสรีววาณิชชาดก ว่าด้วยเสรีววาณิช

[๓] ถ้าท่านพลาดโสดาปัตติมรรค คือ ความแน่นอนแห่งสัทธรรมในศาสนานี้ ท่านจะต้องเดือดร้อนใจในภายหลังสิ้นกาลนาน ดุจพาณิชชื่อเสรีวะผู้นี้ ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาเสรีววาณิชชาดกที่ ๓.

๔. จุลลกเศรษฐีชาดก ว่าด้วยคนฉลาดตั้งตนได้

[๔] คนมีปัญญาเฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนไว้ด้วยต้นทุนแม้น้อย ดุจคนก่อไฟ น้อยๆ ให้เป็นกองใหญ่ ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาจุลลกเศรษฐีชาดกที่ ๔.

๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ว่าด้วยราคาข้าวสาร

[๕] ข้าวสารทะนานหนึ่งมีราคาเท่าไร พระนครพาราณสีทั้งภายในภายนอก มีราคาเท่าไร ข้าวสารทะนานเดียวมีค่าเท่าม้า ๕๐๐ เทียวหรือ?

จบ อ่านอรรถกถาตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕.

๖. เทวธรรมชาดก ว่าด้วยธรรมของเทวดา

[๖] สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ ตั้งมั่นอยู่ในธรรม อันขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก.

จบ อ่านอรรถกถาเทวธรรมชาดกที่ ๖.

๗. กัฏฐหาริชาดก

[๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ข้าพระบาทเป็นโอรสของพระองค์ ข้าแต่ พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งหมู่ชน ขอพระองค์ได้ทรงโปรดชุบเลี้ยงข้าพระ บาทไว้ แม้คนเหล่าอื่นพระองค์ยังทรงชุบเลี้ยงได้ ไฉนจะไม่ทรงชุบ เลี้ยงโอรสของพระองค์เองเล่า?

จบ อ่านอรรถกถากัฏฐหาริชาดกที่ ๗.

๘. คามนิชาดก ว่าด้วยไม่ใจเร็วด่วนได้

[๘] เออก็ความหวังในผล ย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจเร็วด่วนได้ เรามีพรหมจรรย์ แก่กล้าแล้ว ท่านจงเข้าใจอย่างนี้เถิด พ่อคามนี.

จบ อ่านอรรถกถาคามนิชาดกที่ ๘.

๙. มฆเทวชาดก ว่าด้วยเทวทูต

[๙] ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้ เกิดขึ้นนำเอาวัยไปเสีย เทวทูตปรากฏแล้ว บัดนี้ เป็นสมัยบรรพชาของเรา.

จบ อ่านอรรถกถามฆเทวชาดกที่ ๙.

๑๐. สุขวิหาริชาดก ว่าด้วยการอยู่เป็นสุข

[๑๐] ชนเหล่าอื่นไม่ต้องรักษาผู้ใดด้วย ผู้ใดก็ไม่ต้องรักษาชนเหล่าอื่นด้วย ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรผู้นั้นแล ไม่เยื่อใยในกามทั้งหลาย ย่อมอยู่ เป็นสุข.

จบ อ่านอรรถกถาสุขวิหาริชาดกที่ ๑๐.

จบ อปัณณกวรรคที่ ๑. _______________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. อปัณณกชาดก ๒. วัณณุปถชาดก ๓. เสรีววาณิชชาดก ๔. จุลลกเศรษฐีชาดก ๕. ตัณฑุลนาฬิชาดก ๖. เทวธรรมชาดก ๗. กัฏฐหาริชาดก ๘. คามนิชาดก ๙. มฆเทวชาดก ๑๐. สุขวิหาริชาดก. _________________

๒. สีลวรรค

๑. ลักขณชาดก ว่าด้วยผู้มีศีล

[๑๑] ความเจริญย่อมมีแก่ชนทั้งหลายผู้มีศีล ประพฤติในปฏิสันถาร ท่านจง ดูลูกเนื้อชื่อลักขณะ ผู้อันหมู่แห่งญาติแวดล้อมกลับมาอยู่ อนึ่ง ท่าน จงดูลูกเนื้อชื่อกาฬะนี้ ผู้เสื่อมจากพวกญาติกลับมาแต่ผู้เดียว.

จบ อ่านอรรถกถาลักขณชาดกที่ ๑.

๒. นิโครธมิคชาดก ว่าด้วยการเลือกคบ

[๑๒] ท่านหรือคนอื่นก็ตาม พึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในสำนักพระยา เนื้อนิโครธประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในสำนักพระยาเนื้อสาขะจะ ประเสริฐอะไร.

จบ อ่านอรรถกถานิโครธมิคชาดกที่ ๒.

๓. กัณฑินชาดก ว่าด้วยผู้ตกอยู่ในอำนาจหญิง

[๑๓] เราติเตียนบุรุษผู้มีลูกศรเป็นอาวุธ ยิงปล่อยไปเต็มกำลัง เราติเตียน ชนบทที่มีหญิงเป็นผู้นำ อนึ่ง สัตว์เหล่าใด ตกอยู่ในอำนาจของหญิง ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นบัณฑิตติเตียนแล้ว.

จบ อ่านอรรถกถากัณฑินชาดกที่ ๓.

๔. วาตมิคชาดก ว่าด้วยอำนาจของรส

[๑๔] ได้ยินว่า สิ่งอื่นที่จะเลวยิ่งไปกว่ารสทั้งหลายไม่มี รสเป็น สภาพเลวแม้กว่าถิ่นฐาน แม้กว่าความสนิทสนม นายสญชัย อุยยาบาล นำเนื้อสมันซึ่งอาศัยอยู่ในป่าชัฏมาสู่อำนาจของตนได้ด้วยรส ทั้งหลาย.

จบ อ่านอรรถกถาวาตมิคชาดกที่ ๔.

๕. ขราทิยชาดก ว่าด้วยผู้ล่วงเลยโอวาท

[๑๕] ดูกรนางเนื้อขราทิยา ฉันไม่สามารถจะสั่งสอนเนื้อตัวนั้น ผู้มี ๘ กีบ มีเขาคดแต่โคนจนถึงปลายเขา ล่วงเลยโอวาทเสียตั้ง ๗ วัน.

จบ อ่านอรรถกถาขราทิยาชาดกที่ ๕.

๖. ติปัลลัตถมิคชาดก ว่าด้วยเล่ห์กลลวงพราน

[๑๖] ฉันยังเนื้อหลานชายผู้มี ๘ กีบ นอนโดยอาการ ๓ ท่า มีเล่ห์กลมารยา หลายอย่าง ดื่มกินน้ำในเวลาเที่ยงคืน ให้เล่าเรียนมายาของเนื้อดีแล้ว ดูกรน้องหญิง เนื้อหลานชายกลั้นลมหายใจไว้ได้ โดยช่องนาสิก ข้างหนึ่งแนบติดอยู่กับพื้น จะทำเล่ห์กลลวงนายพรานด้วยอุบาย ๖ ประการ.

จบ อ่านอรรถกถาติปัลลัตถมิคชาดกที่ ๖.

๗. มาลุตชาดก ว่าด้วยความหนาวเกิดแก่ลม

[๑๗] ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความ หนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่า ไม่แพ้กัน.

จบ อ่านอรรถกถามาลุตชาดกที่ ๗.

๘. มตกภัตตชาดก ว่าด้วยสัตว์ไม่ควรฆ่าสัตว์

[๑๘] ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้อย่างนี้ว่า ชาติสมภพนี้เป็นทุกข์ สัตว์ไม่ควรฆ่า สัตว์ เพราะว่าผู้มีปกติฆ่าสัตว์ย่อมเศร้าโศก.

จบ อ่านอรรถกถามตกภัตตชาดกที่ ๘.

๙. อายาจิตภัตตชาดก ว่าด้วยการเปลื้องตน

[๑๙] ถ้าท่านปรารถนาจะเปลื้องตนให้พ้น ท่านละโลกนี้ไปแล้วก็จะพ้นได้ ก็ท่านเปลื้องตนอยู่อย่างนี้ กลับจะติดหนักเข้า เพราะนักปราชญ์หาได้ เปลื้องตนด้วยอาการอย่างนี้ไม่ การเปลื้องตนอย่างนี้ เป็นเครื่องติดของ คนพาล.

จบ อ่านอรรถกถาอายาจิตภัตตชาดกที่ ๙.

๑๐. นฬปานชาดก ว่าด้วยการพิจารณา

[๒๐] พระยากระบี่ไม่เห็นรอยเท้าขึ้น เห็นแต่รอยเท้าลง จึงกล่าวว่า เราจัก ดื่มน้ำด้วยไม้อ้อ ท่านก็จักฆ่าเราไม่ได้.

จบ อ่านอรรถกถานฬปานชาดกที่ ๑๐.

จบ สีลวรรคที่ ๒. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ลักขณชาดก ๒. นิโครธมิคชาดก ๓. กัณฑินชาดก ๔. วาตมิคชาดก ๕. ขราทิยชาดก ๖. ติปัลลัตถมิคชาดก ๗. มาลุตชาดก ๘. มตกภัตตชาดก ๙. อายาจิตภัตตชาดก ๑๐. นฬปานชาดก. _________________

๓. กุรุงควรรค

๑. กุรุงคมิคชาดก ว่าด้วยกวางกุรุงคะ

[๒๑] ดูกรไม้มะรื่น การที่ท่านปล่อยผลให้ตกกลิ้งมานั้น เราผู้เป็นกวางรู้แล้ว เราจะไปสู่ไม้มะรื่นต้นอื่น เพราะเราไม่ชอบใจผลของท่าน.

จบ อ่านอรรถกถากุรุงคมิคชาดกที่ ๑.

๒. กุกกุรชาดก ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า

[๒๒] สุนัขเหล่าใดอันบุคคลเลี้ยงไว้ในราชสกุล เกิดในราชสกุล สมบูรณ์ด้วย สีสรรและกำลัง สุนัขเหล่านี้นั้นไม่ถูกฆ่า พวกเรากลับถูกฆ่า เมื่อเป็น เช่นนี้ นี้ชื่อว่าการฆ่าโดยไม่แปลกกันก็หาไม่ กลับชื่อว่าฆ่าแต่สุนัข ทั้งหลายที่ทุรพล.

จบ อ่านอรรถกถากุกกุรชาดกที่ ๒.

๓. โภชาชานียชาดก ว่าด้วยม้าสินธพอาชาไนย

[๒๓] ดูกรนายสารถี ม้าสินธพอาชาไนยถูกลูกศรแทงแล้ว แม้นอนตะแคง อยู่ข้างเดียวก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก ท่านจงประกอบฉันออกรบอีก เถิด.

จบ อ่านอรรถกถาโภชาชานียชาดกที่ ๓.

๔. อาชัญญชาดก ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก

[๒๔] ไม่ว่าเมื่อใด ในขณะใด ณ ที่ไหนๆ ณ สถานที่ใดๆ ม้าอาชาไนยใช้ กำลังรบ ม้ากระจอกย่อมถอยหนี.

จบ อ่านอรรถกถาอาชัญญชาดกที่ ๔.

๕. ติตถชาดก ว่าด้วยการเบื่อเพราะซ้ำซาก

[๒๕] ดูกรนายสารถี ท่านจงยังม้าให้อาบและดื่มน้ำที่ท่าโน้นบ้าง ท่านี้ บ้าง แม้ข้าวปายาสที่บริโภคบ่อยครั้ง คนก็ยังเบื่อได้.

จบ อ่านอรรถกถาติตเถชาดกที่ ๕.

๖. มหิฬามุขชาดก ว่าด้วยการเสี้ยมสอน

[๒๖] พระยาช้างชื่อมหิฬามุข ได้เที่ยวทุบตีคน เพราะได้พึงฟังคำของพวก โจรมาก่อน พระยาช้างผู้เชือกอุดมตั้งอยู่ในคุณทั้งปวง ก็เพราะได้ฟังคำ ของท่านผู้สำรวมดีแล้ว.

จบ อ่านอรรถกถามหิฬามุขชาดกที่ ๖.

๗. อภิณหชาดก ว่าด้วยการเห็นกันบ่อยๆ

[๒๗] พระยาช้างไม่สามารถจะรับเอาคำข้าว ไม่สามารถจะรับเอาก้อนข้าว ไม่ สามารถจะรับเอาหญ้าทั้งหลาย ไม่สามารถจะขัดสีกาย ข้าพระบาทมา สำคัญว่า พระยาช้างตัวเชือกประเสริฐ ได้ทำความรักใคร่ในสุนัข เพราะได้เห็นกันเนืองๆ.

จบ อ่านอรรถกถาอภิณหชาดกที่ ๗.

๘. นันทิวิสาลชาดก ว่าด้วยการพูดดี

[๒๘] บุคคลพึงกล่าวแต่คำที่ไพเราะเท่านั้น ไม่พึงกล่าวคำที่ไม่ไพเราะในกาล ไหนๆ เมื่อพราหมณ์กล่าวคำไพเราะ โคนันทิวิสาลได้ลากเอาภาระอัน หนักไปได้ ทำพราหมณ์ผู้นั้นให้ได้ทรัพย์ด้วย ตนเองก็เป็นผู้ปลื้มใจ เพราะการช่วยเหลือนั้นด้วย.

จบ อ่านอรรถกถานันทิวิสาลชาดกที่ ๘.

๙. กัณหชาดก ว่าด้วยผู้เอาการเอางาน

[๒๙] ในที่ใดๆ มีธุระหนัก ในที่ใดมีร่องน้ำลึก ชนทั้งหลายก็เทียมโคดำใน กาลนั้นทีเดียว โคดำนั้นก็นำเอาธุระนั้นไปได้โดยแท้.

จบ อ่านอรรถกถากัณหชาดกที่ ๙.

๑๐. มุณิกชาดก ว่าด้วยลักษณะของผู้มีอายุยืน

[๓๐] ท่านอย่าริษยาหมู่มุณิกะเลย มันกินอาหารอันเป็นเหตุให้เดือดร้อน ท่าน จงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย กินแต่แกลบเถิด นี่เป็นลักษณะแห่ง ความเป็นผู้มีอายุยืน.

จบ อ่านอรรถกถามุณิกชาดกที่ ๑๐.

จบ กุรุงควรรคที่ ๓. _________________ รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. กุรุงคมิคชาดก ๒. กุกกุรชาดก ๓. โภชาชานียชาดก ๔. อาชัญญชาดก ๕. ติตถชาดก๖. มหิฬามุขชาดก ๗. อภิณหชาดก ๘. นันทิวิสาลชาดก ๙. กัณหชาดก ๑๐. มุณิกชาดก. _________________

๔. กุลาวกวรรค

๑. กุลาวกชาดก ว่าด้วยการเสียสละ

[๓๑] ดูกรมาตลีเทพบุตร ที่ต้นงิ้วมีลูกนกครุฑจับอยู่ ท่านจงหันหน้ารถกลับ เรายอมสละชีวิตให้พวกอสูร ลูกนกครุฑเหล่านี้อย่าได้แหลกราน เสียเลย.

จบ อ่านอรรถกถากุลาวกชาดกที่ ๑.

๒. นัจจชาดก เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว [๓๒]

เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้ว ไพฑูรย์ และหางของท่านก็ยาวตั้งวา เราจะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน ด้วยการรำแพนหาง.

จบ อ่านอรรถกถานัจจชาดกที่ ๒.

๓. สัมโมทมานชาดก ว่าด้วยพินาศเพราะทะเลาะกัน

[๓๓] นกทั้งหลายพร้อมเพรียงกันพากันเอาข่ายไป เมื่อใด พวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในอำนาจของเรา.

จบ อ่านอรรถกถาสัมโมทมานชาดกที่ ๓.

๔. มัจฉชาดก ว่าด้วยความหึงหวง

[๓๔] ความเย็น ความร้อน และการติดอยู่ในแห ไม่ได้เบียดเบียนเราให้ได้ รับทุกข์เลย แต่ข้อที่นางปลาสำคัญว่า เราไปหลงนางปลาตัวอื่นนั่นแหละ เบียดเบียนเราให้ได้รับทุกข์.

จบ อ่านอรรถกถามัจฉาชาดกที่ ๔.

๕. วัฏฏกชาดก ว่าด้วยความจริง

[๓๕] ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเราก็มีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูกรไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย.

จบ อ่านอรรถกถาวัฏฏกชาดกที่ ๕.

๖. สกุณชาดก ว่าด้วยที่พึ่งให้โทษ

[๓๖] นกทั้งหลายอาศัยต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นย่อมทิ้งเอาไฟลงมา นกทั้งหลายจง พากันหนีไปอยู่เสียที่อื่นเถิด ภัยเกิดจากที่พึ่งของพวกเราแล้ว.

จบ อ่านอรรถกถาสกุณชาดกที่ ๖.

๗. ติตติรชาดก ว่าด้วยผู้มีความอ่อนน้อม

[๓๗] นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม ย่อมนอบน้อมคนผู้เจริญ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญในปัจจุบันนี้ และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

จบ อ่านอรรถกถาติตติรชาดกที่ ๗.

๘. พกชาดก ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

[๓๘] บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์ เพราะผู้ ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้ เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาพกชาดกที่ ๘.

๙. นันทชาดก ว่าด้วยการกล่าวคำหยาบ

[๓๙] ทาสชื่อนันทกะเป็นบุตรของนางทาสี ยืนกล่าวคำหยาบคายในที่ใด เรารู้ ว่ากองแห่งรัตนะทั้งหลาย และดอกไม้ทองมีอยู่ในที่นั้น.

จบ อ่านอรรถกถานันทชาดกที่ ๙.

๑๐. ขทิรังคารชาดก ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง

[๔๐] เราจะตกนรกมีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม เราจักไม่ทำ กรรมอันไม่ประเสริฐ ขอเชิญท่านจงรับก้อนข้าวเถิด.

จบ อ่านอรรถกถาขทิรังคารชาดกที่ ๑๐.

จบ กุลาวกวรรคที่ ๔. รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก ๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก ๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก ๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก. _________________

๕. อัตถกามวรรค

๑. โลสกชาดก ว่าด้วยคนที่ต้องเศร้าโศก

[๔๑] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมเศร้าโศก เหมือนนาย มิตกะจับเท้าแพะเศร้าโศกอยู่ ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาโลสกชาดกที่ ๑.

๒. กโปตกชาดก ว่าด้วยคนที่ต้องฉิบหาย

[๔๒] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้ อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความฉิบหาย เศร้าโศกอยู่ เหมือนกาไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถากโปตกชาดกที่ ๒.

๓. เวฬุกชาดก ว่าด้วยคนที่นอนตาย

[๔๓] ผู้ใดบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมนอนตายอยู่ เหมือนดาบส ผู้เป็นบิดาของลูกงูชื่อเวฬุกะ ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาเวฬุกชาดกที่ ๓.

๔. มกสชาดก มีศัตรูผู้มีปัญญาดีกว่ามีมิตรโง่

[๔๔] ศัตรูผู้ประกอบด้วยปัญญายังดีกว่า มิตรผู้ไม่มีปัญญาจะดีอะไร เหมือน บุตรของช่างไม้ผู้โง่เขลา คิดว่าจะตียุง ได้ตีศีรษะของบิดาแตกสองเสี่ยง ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถามกสชาดกที่ ๔.

๕. โรหิณีชาดก ผู้อนุเคราะห์ที่โง่เขลาไม่ดี

[๔๕] ศัตรูผู้เป็นนักปราชญ์ยังดีกว่า คนโง่เขลาถึงเป็นผู้อนุเคราะห์จะดีอะไร ท่านจงดูนางโรหิณีผู้โง่เขลา ฆ่ามารดาแล้วเศร้าโศกอยู่.

จบ อ่านอรรถกถาโรหิณีชาดกที่ ๕.

๖. อารามทูสกชาดก ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข

[๔๖] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับลิง ผู้รักษาสวน ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาอารามทูสกชาดกที่ ๖.

๗. วารุณิทูสกชาดก ผู้มีปัญญาทรามทำให้เสียประโยชน์

[๔๗] ผู้ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญ ก็ไม่สามารถจะนำ ความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสีย เหมือนกับ โกณทัญญบุรุษทำสุราให้เสีย ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาวารุณิทูสกชาดกที่ ๗.

๘. เวทัพพชาดก ผู้ปรารถนาประโยชน์โดยไม่แยบคายย่อมเดือดร้อน

[๔๘] ผู้ใดปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบคาย ผู้นั้นย่อมเดือดร้อน เหมือนพวกโจรชาวเจติรัฐฆ่าเวทัพพพราหมณ์ แล้วพากันถึงความพินาศ หมดสิ้น ฉะนั้น.

จบ อ่านอรรถกถาเวทัพพชาดกที่ ๘.

๙. นักขัตตชาดก ว่าด้วยประโยชน์คือฤกษ์

[๔๙] ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาผู้มัวคอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของ ประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้.

จบ อ่านอรรถกถานักขัตตชาดกที่ ๙.

๑๐. ทุมเมธชาดก คนโง่ถูกบูชายัญเพราะคนอธรรม

[๕๐] เราได้บนไว้ต่อเทวดา ด้วยคนโง่เขลาหนึ่งพันคน บัดนี้ เราจักต้องบูชา ยัญ เพราะคนอธรรมมีมาก.

จบ อ่านอรรถกถาทุมเมธชาดกที่ ๑๐.

จบ อัตถกามวรรคที่ ๕. จบ ปฐมปัณณาสก์. รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. โลสกชาดก๒. กโปตกชาดก ๓. เวฬุกชาดก๔. มกสชาดก ๕. โรหิณีชาดก๖. อารามทูสกชาดก ๗. วารุณิทูสกชาดก ๘. เวทัพพชาดก ๙. นักขัตตชาดก๑๐. ทุมเมธชาดก. _________________

กลับหน้าเดิม