วิปัสสนูกิเลสคืออะไรบ้าง?                                                                                                               กลับหน้าแรก 
 
 
 
 เนื้อความ : 
1 วิปัสสนูกิเลสคืออะไรบ้าง ? 
2 การเกิดวิปัสสนูกิเลสดีหรือไม่ดีอย่างไร ? 
3 ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต้องผ่านวิปัสสนูกิเลสทุกท่านหรือไม่ ? 
เรียนท่านผู้รู้ผู้มีปัญญา ช่วยกันตอบ เพราะถือว่ามีความสำคัญของการปฏิบัติธรรมจุดหนึ่ง
 จากคุณ : Vicha [ 19 มิ.ย. 2543 / 22:42:00 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.17 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 1 : (ปิ่น) 
สวัสดีครับพอดีมีcopyเก็บไว้น่าจะตอบคำถาม 
ในข้อ 1 ได้นะครับ 
“วิปัสสนูปกิเลสมี 10 ประการ คือ” 

1.โอภาส ได้แก่ วิปัสสโนภาส เห็นแสงสว่าง บางทีเห็นห้องปฏิบัติสว่างไปหมด บางทีเห็นแสงสว่างไปจนสุดสายตา  
2.ญาณ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาในการบำเพ็ญวิปัสสนา กำหนดรูป-นาม ได้คล่องแคล่วว่องไว อย่างประหลาด ผิดกว่าแต่ก่อนที่เคยกำหนดยากลำบาก ถ้ามนสิการไม่ดีอาจคิดว่า กัมมัฏฐานนี้ง่ายไป ถ้าตนเป็นอาจารย์ จะต้องให้กัมมัฏฐานที่รัดกุมกว่านี้ มีการดูถูกอาจารย์เกิดขึ้น เพราะเกิดปัญญามากมาย  
3.ปีติ ได้แก่ วิปัสสนาปีติ มีอยู่ 5 ประการ  
        1.ขุททกาปีติ คือ มีอาการเยือกเย็น ขนลุกซู่ซ่าตามตัว ตามศรีษะ  
        2.ขณิกาปีติ คือ มีอาการคัน เหมือนมดไต่ ไรคลาน ตามหน้า ตามตัว  
        3.โอกกันติกาปีติ คือ มีอาการตัวโยก ตัวโคลงเคลง หมุน คลื่นไส้ อาเจียน  
        4.อุพเภงคาปีติ คือ มีอาการเหมือนจะลอย หรือลอยขึ้นได้จริงๆ ตัวเบา  
        5.ผรณาปีติ คือ มีอาการเย็นซาบซ่า หรือร้อนวูบ เสียวตามร่างกาย  

1.ปัสสัทธิ ได้แก่ วิปัสสนาปัสสัทธิ เกิดความสบายกาย และใจ รู้สึกเย็นไปทั่วร่าง ตัวเบา ไม่หนัก ไม่แข็งกระด้าง 
                 อ่อนสลวย ทุกขเวทนาไม่มีเลย แม้ใจก็เช่นเดียวกัน เป็นจิตสงบ จิตเบา จิตอ่อน และจิตตรง 
                เป็นความสงบอย่างยิ่ง เสวยความยินดีอย่างที่มนุษย์ธรรมดาสามัญไม่เคยพบ  

2.สุข ได้แก่ วิปัสสนาสุข คือ สุขที่เกิดขึ้นในวิปัสสนา สุขชนิดนี้เป็นสุขที่ละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่ง 
                 ซึมซาบไปตลอดทั้วร่างกายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นสุขท่วมท้นหัวใจ เป็นสุขที่ประเสริฐ 
                กว่าความสุขธรรมดาที่มนุษย์พบเห็น  

3.อธิโมกข ได้แก่ ศรัทธา เกิดความศรัทธาขึ้นมากมาย เป็นศรัทธาที่มีกำลังมาก เช่น คิดอยากให้คนที่รัก พ่อ แม่ อาจารย์ 
                 เข้ามาปฏิบัติเหมือนตน แม้กระทั่งคนที่ตายไปยังคิด พอนึกถึงวิปัสสนาจารย์ผู้ให้กัมมัฏฐาน  
                ก็เกิดศรัทธานึกถึงบุญคุณอาจารย์ที่ช่วยสอนกัมมัฏฐาน ถ้าเป็นบรรพชิต ก็คิดวางแผนว่าจะตั้ง 
                สำนักวิปัสสนาขึ้น แล้วตนจะเป็นวิปัสสนาจารย์สั่งสอนให้คนทั่วไปรู้จักวิปัสสนา ทั้งนี้เป็นเพราะ 
                คิดเพลินไป ด้วยศรัทธาอันแรงกล้า ลืมการตั้งสติกำหนด ทำให้ กัมมัฏฐานรั่ว ปล่อยให้มี ตัณหา 
                 มานะ ทิฏฐิ เข้ามาทำให้เกิดความล้าช้าต่อ มรรค ผล แต่ก็ถือว่าเป็นของดี เพราะเป็นศรัทธาที่ 
                เกิดขึ้นในขณะที่จิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งคนธรรมดาจะเกิดศรัทธาขนาดนี้ไม่ได้  

4.ปัคคหะ ได้แก่ วิริยะ เกิดขยันขึ้นผิดปกติ พยายามในการปฏิบัติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผิดจากแต่ก่อนมาก  

5.อุปัฏฐาน ได้แก่ สติ เกิดมีสติดีขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ ทำให้กำหนดได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งที่เคยกำหนดได้ยาก 
                 หรือต้องขืนใจกำหนด บัดนี้กำหนดอย่างคล่องแคล่ว เพราะว่าสติตั้งมั่น ไม่โยก ไม่คลอน ไม่หวั่นไหว  
                ไม่เผลอ ถ้ามนสิการไม่ดี อาจทำให้คิดว่าตนพบธรรมวิเศษเข้าแล้ว  

6. อุเปกขา ได้แก่ วิปัสสนุเปกขา เกิดความวางเฉยในสังขารอารมณ์ทั้งปวง ไม่ยินดียินร้ายต่อทุกสิ่ง เหมือนคนไม่มีกิเลส  
                ไม่สะดุ้งสะเทือนต่ออารมณ์ทุกชนิด เป็นอุเปกขาที่มีกำลังแรงกล้า แม้จะมีอารมณ์ใดมากระทบก็ไม่หวั่นไหว  
                วางเฉยได้ทุกประการ จนตนเองก็แปลกใจ ถ้ามีมนสิการไม่ดี ก็อาจเข้าใจผิดคิดว่า ตนเป็นอรหันต์แล้ว  
                หมดกิเลสแล้ว ได้มรรคผลนิพพาน รวมความว่า อุเปกขานี้เป็นของดี แต่ถ้ามนสิการไม่ดี มีตัณหา  
                มานะ ทิฏฐิ เข้าแทรก ก็จะกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปเลย  

7. นิกันติ ได้แก่ วิปัสสนานิกันติ คือ ความใคร่ ความต้องการ ยินดี ติดใจ ชอบใจในคุณพิเศษ ทั้ง 9 ประการ  
                คือตั้งแต่ โอภาส จนถึง อุเปกขา  

        วิปัสสนูปกิเลสทั้ง 10 ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่โยคีผู้ปฏิบัติทุกคน เมื่อบรรลุถึงอุทยัพพยญานอย่างอ่อน  
ฉะนั้น พอถึงระยะนี้วิปัสสนาจารย์ พึงคอยตักเตือน คอยให้สติอย่าให้โยคี หลงผิดอยู่ในวิปัสสนูปกิเลสเป็นอันขาด 
มีอีกอย่างหนึ่งคือ วิปัสสนูปกิเลสบางข้อมีสภาวะคล้ายๆ กับโคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ ความคล้ายกันนี้เป็นเหตุ 
ให้เข้าใจผิด ต้องสอบสวนลำดับญาณให้ถูกต้อง ว่าจะต้องผ่านญาณใดก่อน หลัง อย่าด่วนตัดสินใจง่ายๆ 

        รวมความว่าญาณที่ 4 คือ อุทยัพพยญาณ นี้มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นอย่างประหลาดมหัศจรรย์ โยคีมากคน 
ก็พูดมากอย่างตามอาการต่างๆ ของวิปัสสนูปกิเลส แต่ข้อสำคัญต้องให้ได้ลักขณะ คือ รูป-นาม เกิดดับเร็วๆ ก็เป็นอันว่า 
ใช่อุทยัพพยญาณแน่นอน 

วิปัสสนูปกิเลสตั้งแต่ 1-9 เรียกว่า อุปกิเลส เพราะเป็นที่อาศัยของ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทั้ง 9 ประการนี้ ตัวจริงแท้ๆ  
ไม่ได้เป็นอกุศลเลย แต่ตัวสุดท้าย นิกันติ เป็น อุปกิเลสด้วย ทั้งเป็นที่อาศัยของอุปกิเลสด้วย เป็นที่อาศัยของอกุศล 3 ตัว  
คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ รวมกับอุปกิเลส 10 ประการ เป็นทั้งสิ้น 30 ตัว(3x10)  

ตั้งแต่ 1-9 เป็นกุศลแท้ เพราะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ความเพียรปฏิบัติวิปัสสนามาไม่น้อย แต่ที่มามีสภาพเป็นอุปกิเลส  
เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อกุศล 3 ตัวคือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ คอยหาโอกาสแทรกเข้ามาทำให้เป็นของเสีย แต่พอผ่าน 
ญาณนี้ไปแล้ว ตัณหา มานะ ทิฏฐิจากไปแล้วธรรมทั้ง 9 ประการก็จะกลับเป็นของดีตามเดิม และดีวิเศษเสียด้วย 
เพราะเป็น โพชฌงค์ คือ องค์คุณสำคัญ ของเหตุให้ได้ มรรค ผล ส่วนข้อสุดท้าย คือ นิกันติ นั้นเป็นตัวอกุศล  
เป็นอุปกิเลสแท้ อย่างไม่ตัองสงสัย 

-------------------------------------------------------------------------------------------

 จากคุณ : ปิ่น [ 20 มิ.ย. 2543 / 09:36:56 น. ]  
     [ IP Address : 204.160.183.15 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 2 : (ดังตฤณ) 
เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกปรากฏการณ์ทางกายและทางจิต 
เกิดขึ้นระหว่างการทำวิปัสสนา 
ที่ดึงใจผู้ปฏิบัติให้หลงส่งจิตออกจากการรู้ไตรลักษณ์ของรูปนาม 
เบี่ยงเบนทิศทางจากปล่อยวาง เป็นเข้ายึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนครับ 
จาระไนให้ถ้วนคงยาก เพราะขึ้นอยู่กับตัวแปรในผู้ปฏิบัติแต่ละคนเองด้วย
 จากคุณ : ดังตฤณ [ 20 มิ.ย. 2543 / 11:20:02 น. ]  
     [ IP Address : 203.155.33.180 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 3 : (นาย จิบ) 
1.มี 10 อย่างๆคุณปิ่นว่าครับ 
2.เกิดตอนทำวิปัสสนาอย่างคุณดังตฤณว่าไว้ครับ 

ผมคัดจากบางส่วนของหนังสือ หลวงปู่เจือ สุภโร นะครับ 
ถ้าเทียบในวิสุทธิ 7 ประการ  
1.สีลวิสุทธิ เป็นความหมดจดแห่งศีล 
2.จิตตวิสุทธิ เป็นความหมดจดแห่งจิต (สมาธิ) 
ตั้งแต่ 3-7(ทิฏฐิวิสุทธิ,กังขาวิตรณวิสุทธิ,มัคคามัคญานทัสนวิสุทธิ,ปฏิปทาญานทัสนาวิสุทธิ,ญานทัสนวิสุทธิ) เป็นช่วงวิปัสสนา 
….... เมื่อ ศีลบริสุทธิ์ดีแล้ว และ สมาธิมีกำลังพอ นึกทำความสงสัยขึ้นว่านามรูปคือ ขันธ์ 5 นี้เป็นอย่าง 
ไร รูปคือกายนี้ เรารู้อยู่เห็นอยู่ แต่นาม 4 อย่างคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ซึ่งรวมเรียกว่า จิต นั้นเรายังไม่รู้ไม่เห็น ถึงรู้ก็รู้ด้วยสัญญา รู้ตามปริยัติรู้แต่ชื่อเท่านั้น เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นเช่นนี้ และสมาธิมีกำลังพอก็เกิดความเพ่งเข้าไปในกาย ในจิตโดยไม่ต้องตั้งใจ เมื่อความเพ่งเข้าไปในกายในจิตเกิดขึ้นแล้ว นามกับรูปจะปรากฏให้เห็นทันที ทั้งเห็นนามกับรูปไม่ปนกันด้วย นาม 4 อย่าง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จะรวมเป็นก้อนเดียวกันอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ แต่ไม่ปนกับกายเลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต รู้เห็นจิตทำงานทั้ง 4 อย่างทำพร้อมกัน ทำอยู่ที่เดียวกัน ไม่พรากไปจากกัน ทั้งรู้ชัดเห็นชัดจิต 4 อย่างนั้นว่า อย่างนี้เวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้วิญญาณ  รวมเป็นก้อนเดียวกัน อยู่ที่รูปกายนี้ ทั้งนามทั้งรูปนี้ ไม่ใช่ตนไม่ใช่เรา เราเป็นผู้ดูอยู่ เราเป็นผู้เห็นอยู่ ความรู้ความเห็นชัดแจ้งซึ่งขันธ์ 5 ว่าไม่ใช่ตนเช่นนี้แลเรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ 

เมื่อ ทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้น ให้เกิดความรู้ความเห็นเช่นนี้แล้ว ถ้าไม่เพลินไม่หลงความรู้ความเห็นที่เกิดขึ้น 
นั้น จนเป็นเหตุให้ปล่อยวางสมาธิไป คือยังรักษาสมาธิไว้ได้ 
        วิสุทธิข้อที่ ๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ อันเป็น ตัววิปัสสนาขั้นที่ ๒ ก็เกิดติดต่อกันขึ้นมา เพราะทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้นรู้เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่ตนอย่างชัดแจ้ง เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยว่า นามรูปไม่ใช่ตน เหตุใดจึงเกิดมีขึ้นมาได้ ความเพ่งของใจจึงเกิดขึ้น ความรู้จึงเกิดผุดขึ้นจากภายในจิตให้รู้ว่า เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ของเรามีอยู่ นามรูปคือขันธ์ ๕ นี้ จึงเกิดมีขึ้นมาได้ และรู้ว่าแม้ในอดีตที่ล่วงมาแล้วช้านานนับกัปป์นับกัลป์มิได้ ขันธ์ ๕ ของเราก็เกิดๆ ตายๆ มาแล้ว เหมือนที่เกิดอยู่ในบัดนี้ รู้ชัดว่าอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ยังมีอยู่ตราบใด ความเกิดความตาย แห่งขันธ์ ๕ ของเราก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น 
และรู้ว่า อวิชชานั่นเองเป็นประธานแห่งตัณหา อุปาทาน กรรม ถ้าอวิชชาไม่มีในจิต ตัณหา อุปาทาน กรรม ก็ไม่มีในจิต จิตจักเป็นอิสระจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม จักเป็นอิสระจากทุกข์ทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ความรู้ความเห็นเช่นนี้แลเรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ 
        เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว ศรัทธา ความเชื่อในคุณพระพุทธเจ้า๑ คุณพระธรรม ๑ คุณพระสงฆ์ ๑ เชื่อกรรมเชื่อผลของกรรม ๑ เชื่อในตนของตนว่าสามารถบำเพ็ญให้เป็นไปถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ ๑ ศรัทธาเหล่านี้จะมีกำลังมากแต่ยังไม่พ้นอันตรายเพราะวิปัสสนาสองขั้นนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเด็กอ่อนสองระยะ ทิฏฐิวิสุทธิเกิดขึ้นก็เหมือนเด็กคลอดใหม่ แต่เหมือนเด็กอัศจรรย์  พอคลอดออกมาก็โตวูบๆ ขึ้นรวดเร็ว เท่าเด็กธรรมดาอายุ๕-๖ ขวบ ครั้นกังขาวิตรณวิสุทธิเกิดขึ้น ก็เหมือนเด็กนั้นโตวูบขึ้นเท่าเด็ก ๑๑–๑๒ ขวบ แข็งแรงว่องไวมีกำลังเหลือใช้ จึงไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบวิ่งๆ เต้นๆ สนุกสนานร่าเริงเรื่อยๆ ไปฉันนั้น เพราะใคร่ครวญถึงข้อปฏิบัติก็รู้สึกว่ามีความเข้าใจแจ่มแจ้ง โปร่งโล่งตลอดหาที่ขัดข้องสงสัยมิได้ ยิ่งใคร่ครวญกว้างออกไปๆ เท่าใด ก็ยิ่งเกิดความรู้ ความเข้าใจ กว้างออกไปๆ เท่านั้น ซึ่งความจริงบ้างถูกบ้าง บางอย่างก็ถูกดี บางอย่างก็ถูกพลาดๆ เฉียดๆ บางอย่างก็ผิด แต่ก็สำคัญมั่นหมายว่าถูกแท้ทั้งหมด การบำเพ็ญความเพียรก็ขยันขันแข็งแกล้วกล้าอาจหาญนึกถึงสิ่งต่างๆ ทั้งภายในกายภายนอกกาย ก็รู้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และไม่ใช่ตน แต่ไม่เห็นอุปาทาน ถ้ามีความรู้ไม่พอ คือไม่รู้หลักวิปัสสนาก่อนอย่างถูกต้อง มัวหลงเพลิดเพลินนึกคิดไปในอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ประคองสมาธิไว้ให้ดี วัตถุแห่งวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น คือ 
        ๑ โอกาส                แสงสว่าง 
        ๒  ญาณ                  ความรู้ 
        ๓ ปีติ                ความอิ่มใจ 
        ๔ ปัสสัทธิ        ความสงบ 
        ๕ ความสุข 
        ๖ อธิโมกข์        ความน้อมใจเชื่อว่าตนได้บรรลุมรรคผลแล้ว 
        ๗ ปัคคาหะ        ความเพียร 
        ๘ อุปัฏฐาน        คือสติเข้าไปตั่งมั่นอยู่ในกาย 
        ๙ อุเบกขา        ความวางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง 
        ๑๐ นิกันติ        ความพอใจ 
        ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น หากสำคัญผิดคิดว่าตนได้บรรลุมรรคผลแล้ว เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น 
        คำว่า วิปัสสนูปกิเลส แปลว่า ความเศร้าหมองของวิปัสสนา 
        เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นวิปัสสนาก็ชะงักวกวนอยู่ ไม่อาจเจริญถึงที่สุดได้ ถ้าหากสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน ๑๐ อย่างนั้นเกิดขึ้น ไม่สำคัญผิด คิดว่าตนได้บรรลุมรรคผลแล้ว และ กำหนดเพ่งจ้องสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นอยู่เมื่อสิ่งนั้นถูกเพ่งอยู่ ก็จะค่อยเปลี่ยนแปรไปและดับไปในที่สุด 
        วิสุทธิข้อที่ ๕ ชื่อ มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ ก็เกิดขึ้น ให้รู้ให้เห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นให้ใจรู้ใจเห็นอยู่เป็นปัจจุบัน สิ่งนั้น แม้ทั้งหมดเป็นของควรเพ่งควรกำหนดรู้ทั้งนั้น  บุญบาป กุศล อกุศล สุข ทุกข์ ทั้งปวงเป็นของไม่ใช่ตนทั้งสิ้น จึงเป็นของควรเพ่งควรกำหนดรู้ทั้งหมด และรู้ว่าการเพ่งการกำหนดรู้เช่นนั้นจะเป็นเหตุให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ ทั้งรู้เห็นว่าวิธีอย่างอื่นนอกจากวิธีนี้ไม่มี คือไม่มีวิธีอื่นจะให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ มีแต่วิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น ความรู้ความเห็นดังกล่าวนี้แล เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสนวิสุทธิ ….. 
 

ส่วนหนังสือท่าน Downloadได้ครับที่ 
http://www.fortunecity.co.uk/meltingpot/hickory/655/thamma1.zip

 จากคุณ : นาย จิบ [ 20 มิ.ย. 2543 / 13:46:29 น. ]  
     [ IP Address : 202.6.107.20 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 4 : (tchurit) 
_/l\_ กับทุกท่านครับ 
๑.เห็นด้วยกับคุณดังตฤณครับ 
๒.ถ้าหลงไปตามวิปัสนูกิเลสไม่ดีครับ 
๓.เห็นด้วยกับหลวงปู่ครับว่าผู้ปฏิบัติทุกคนต้องเจอครับ
 จากคุณ : tchurit [ 20 มิ.ย. 2543 / 15:19:17 น. ]  
     [ IP Address : 203.157.0.183 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 5 : (โอ๊ต) 
ผมขอก๊อปปี้ธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่นที่คุณ " สัจจธรรม" ตอบไว้ในกระทู้เก่าที่ 860  เมื่อผมสงสัย ผมลองย้อนไปดูกระทู้เก่าๆแล้วพบกับข้อนี้ เรื่องวิปัสสนูกิเลสเหมือนกันครับ  ผมจึงหายสงสัย และคิดว่าหลวงปู่มั่นท่านวิปัสชนาได้ดีมากจนไกลเกินเอื้อม หวังว่าคุณสัจจธรรมคงไม่ว่าผมนะครับที่ผมจะนำข้อความของหลวงปู่มั่นที่คุณพิมพ์ไว้ในตอนนั้น  ถือว่าช่วยเพื่อนปฎิบัติธรรมด้วยกันนะครับ  ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย 

     ท่านอาจารย์มั่น   ได้เน้นหนักว่า  การแก้ไขสิ่งของที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ลำบากกว่าแก้สิ่งของไม่ดี  เพราะความไม่ดีรู้กันในหมู่ผู้หวังดี  หาทางแก้ไขได้ง่าย   ส่วนความดีที่ต้องติดดีนี่แก้ไขยาก   ผู้ติดดีจึงต้องใช้ความพยายามหลายอย่างเพราะชั้นนี้มันเป็นขั้นปัญญา 

เนื่องจากการเกิดขึ้นภายในนั้นมีพร้อมทั้งเหตุและผล   จนทำให้เชื่อเอาจนได้   จะไปว่าอะไรแต่อย่างอื่นที่ไกลจากอริยสัจธรรม   แม้แต่วิปัสสนาซึ่งก็เป็นทางไปสู่อริยสัจจ์อยู่แล้ว   แต่ผู้ดำเนินไม่มีความรอบรู้พอ   ก็กลับกลายเป็นวิปัสสนูปกิเลสไปได้   การเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้นคือ   โอภาโส  แสงสว่างไม่มีประมาณ   แสงสว่างนี้เกิดจากจิตที่สงบยิ่ง   จนเกิดแสงสว่างขึ้น   เป็นแสงสว่างที่จะหาสิ่งเปรียบเทียบยาก  ผู้บำเพ็ญจิตเบื้องต้น   พอจิตสงบแล้วเกิดนิมิต  เห็นแสงสว่างเท่านี้ไม่จัดเข้าในวิปัสสนู   เพราะแสงสว่างที่จัดเข้าในวิปัสสนูนี้   เป็นแสงที่เกิดจากการเห็นของธรรมชาติ   แม้การเห็นเป็นธรรมชาติ   เป็นของจริงก็ตาม   การที่จะถือจากการเห็นของธรรมชาติ   แม้การเห็นเป็นธรรมชาติ  เป็นของจริงก็ตาม   การที่จะถือเอาของจริงแม้นั้นก็ผิด   เพราะความจริงที่เห็นนี้สำหรับพิจารณาด้วยญาณต่างหาก   ไม่ใช่จะให้ติดข้องพัวพัน   ถ้าติดข้องก็เกิดเป็นกิเลส   ก็เลยยึดเข้าไปหาว่าได้ชั้นนั้นชั้นนี้เลยยิ่งเหลวไปใหญ่   แสงสว่างที่เห็นของจริงนี้ท่านจึงจัดเป็นวิปัสสนู  เพราะไปหลงเข้าแล้วหาว่าดี   แม้เพียงเท่านี้ความจริงมันเป็นเพียงเครื่องมือพิจารณาต่อไปท่านจึงห้ามติด 

                 ญาณะ   ความรู้ไม่มีประมาณ    ความรู้ที่เกิดในขั้นต้น   เป็นต้นว่ารู้ว่าจิตสงบหรือรู้อยู่เฉพาะหน้าบ้าง   อย่างนี้ไม่จัดเข้าในขั้นนี้   ความรู้ที่จัดเป็นวิปัสสนูนั้น    คือความรู้ที่หยั่งรู้   จิตเรานี้ว่ามีความสว่างจริง   เช่นเห็นธาตุว่าเป็นจริง   ชนิดนี้เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน   แน่ล่ะถ้าจะเป็นของจริงเลยเข้าใจว่ารู้นี้เป็นธรรมแท้   จึงเป็นกิเลส   เป็นเหตุให้ถือตัว   แต่ความจริงแล้วท่านให้ใช้ความรู้นี้พิจารณาให้ยิ่งเท่านั้น   มิใช่ให้ถือเอาความรู้   ก็เท่ากับถือเอาเครื่องมือว่าเป็นของจริง   ท่านจึงห้ามติด 

                  ปีติ     ความอิ่มใจอันแรงกล้า    ความอิ่มใจซาบซ่านในตัวอันเกิดขึ้นแก่ผู้ฝึกสมาธิในขั้นต้น   ไม่จัดเข้าในชั้นนี้    ปีติที่จัดเป็นวิปัสสนูปกิเลสนั้น    คือความเยือกเย็นอันได้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น   เช่นเห็นว่า   ธาตุทั้งหลาย  สักแต่ว่าธาตุ  เป็นธรรมธาตุแห่งสภาพจริง ๆ   ความปีติเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยพบก็จะได้พบ     เมื่อพบเข้าเลยอดความอิ่มใจอย่างแรงกล้า   เข้าใจว่าเป็นของจริงทำให้ติด   เกิดกิเลสเป็นเหตุให้ยึดถือว่า   เป็นธรรมพิเศษหรืออมตธรรม   ก็เลยจะเป็นทางให้ยึดแล้วก็ทำให้เนิ่นช้า   ท่านจึงห้ามติด 

                 ปัสสัทธิ    ความสงบยิ่ง  การทำจิตสงบชั่วครั้งชั่วคราวของผู้เริ่มความเพียรไม่นับเข้าในชั้นนี้   ปัสสัทธิที่จัดเป็นวิปัสสนูนั้น   คือความสงบที่มีกำลังอันอาจจะจำแนกธาตุออกไปได้ว่าธาตุนั้นเป็นดิน   เป็นน้ำเป็นต้น   เพราะสงบจริง   จึงจะเห็นธาตุเป็นธาตุจริง   ซึ่งสามารถจะให้จิตหลง   เพราะความสงบนี้เยือกเย็นมากขึ้นเป็นกำลัง   แม้จะทำให้เกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้    แต่ถ้าไปติดเพียงเท่านี้แล้วก็เข้าใจว่าเป็นของจริง   กลับกลายเป็นกิเลส   ท่านจึงห้ามติด 

                   สุขะ    ความสุขอันลึกซึ้งความสุขเกิดแก่จิตของผู้ฝึกหัดใหม่นั้นแม้ครั้งสองครั้งหรือชั่วคราวไม่จัดเข้าใจชั้นนี้   สุขะที่จัดเป็นวิปัสสนู   นั้นเป็นผลไปจากการเห็นธาตุทั้งหลายว่าเป็นจริง   เกิดความสงบสุขยิ่งขึ้นเป็นบลำดับ   ความสุขนี้จะมีชั้นสูงขึ้นตามลำดับแห่งการเห็นตามเป็นจริงแห่งธรรมธาตุ   ถ้าติดก็เป็นกิเลสเป็นเหตุให้พอใจเพียงแค่นั้น   จะไม่ก้าวหน้าต่อไป  ท่านจึงห้ามติด  

                       อธิโมกข์   ความน้อมใจเชื่อ    ของจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่   เป็นฐิติธรรมอาศัย   อวิชชาเป็นเครื่องปิดบังจึงไม่สามารถจะเข้าถึงได้     แต่เมื่อพบแก่ความต้องการแล้วก็เป็นอันว่าถึงได้แน่นอน   เมื่อทำไม่พอแก่ความต้องการแล้วก็ถึงไม่ได้    เหมือนกับคนทั้งหลาย   จะพากันเดินทางจากต่างจังหวัดเข้าสู่   “กรุงเทพฯ”   เช่นเขาทั้งหลายอยู่เชียงใหม่   แต่กรุงเทพฯ    เขาเหล่านั้นก็ลงรถไฟโดยถือเอาลำปางเป็นกรุงเทพฯ   เมื่อน้อมใจเชื่อเช่นนี้เป็นอันถึงกรุงเทพฯไม่ได้    กรุงเทพฯ  มีจริงแต่ต้องขึ้นรถไฟรถยนต์จากเชียงใหม่ไปให้พอแก่ความต้องการ    ก็จะต้องถึงจนได้    อันการบำเพ็ญจิตยิ่งบำเพ็ญยิ่งละเอียดขึ้นเป็นอันดับน่าทึ่งน่าอัศจรรย์มากมายเหลือจะนับประมาณมีสิ่งประหลาดมากมายทีเดียว   จึงเป็นสิ่งที่คล้ายกับธรรมชั้นสูง   โดยเหมือนกับมีธรรมผุดขึ้นมาบอกว่า  ถึงธรรมชั้นนั้นชั้นนี้บ้าง   โดยเห็นอริยสัจจ์บ้าง   ได้เห็นจะบรรลุบ้าง   อะไรมากมายที่จะเกิดขึ้นน้อมใจเชื่อมั่นแล้ว   เป็นกิเลสตัวใหญ่กางกั้นความดีที่กำลังจะก้าวหน้าไปอย่างน่าเสียดาย 

                        ปัคคาหะ    ความเพียรอาจหาญ    การบำเพ็ญจิตจนเกิดความดี    ความงามความที่ละเอียดอ่อน   โดยอาศัยพลังงานแห่งจิต   โดยที่ต้องการให้ถึงเร็วเป็นการเร่งเกินแก่ความพอดี    อย่างไม่คำนึงถึงร่างกายมันจะเป็นอย่างไรเอาใจเป็นใหญ่    หักโหมความเพียรอย่างไม่ปรานีปราศรัย   นี่ก็เป็นทางเสียหายเพราะเหตุใด   ท่านจึงจัดเป็นอุปกิเลส   แห่งวิปัสสนาด้วยเล่า   ก็เพราะว่าในที่นี้นับว่าเป็นความปรารถนาอย่างรุงแรงของใจ   จนอาจจะเป็นอันตรายได้โดยขาดมัตตัญญู   ความเป็นผู้รู้จักประมาณไป   จึงกลายตัวมาเป็นอุปกิเลส   ซึ่งทำให้เกิดความมัวหมองถึงกับกางกั้นความเจริญชั้นสูงต่อไป    แต่การจะถือเอาวิปัสสนูข้อนี้มาทำให้เกิดหย่อนความเพียรเรื่องก็ยิ่งเสียหายกันไปใหญ่อีก    ในที่นี้ท่านต้องการความพอดี   เหมือนกับการรับประทานอาหาร   “ความอิ่ม”   นี่คือความพอดี   ถ้าเรารับประทานอาหารไม่อิ่มแต่เราถือว่า  “อิ่ม”  นี่คือไม่พอดี   ถ้าเรารับประทาน  “อิ่ม”   ยิ่งเติมเข้าไปก็เกินความพอดี   เราจะต้องทราบความละเอียดที่เกิดผลตามสมควร   จึงจะชื่อว่าพอดี   ไม่หักโหมเกินไปจนเป็นเหตุให้ถือเอาความเพียรข่มผู้อื่นอันจะกลับกลายเป็นกิเลสไป 

                        อุปฐานะ     สติกล้า    สตินี้ไม่น่าจะเป็นอุปกิเลส   เพราะสตินี้เองสามารถดำเนินจิตให้ตั้งเที่ยงอยู่ได้    แต่ว่าไม่ว่าอะไรทุกสิ่งทุกอย่างจะดีสักเท่าไรก็ตาม   ถ้าเกินไปก็ใช้ไม่ได้   แม้สติกำหนดเพ่งกันเกินไป   กำหนดอยู่ในกายานุปัสสนา   ไม่รู้จักพักผ่อนเกินแก่ความต้องการไม่ช้าก็ต้อเลอะเลือนธรรมดา  การใช้สติกำหนดต้องรู้พักตามสมควร    เพราะถ้าไม่รู้จักพักแล้วเมื่อมันเกิดความเลอะเลือนขึ้น   ความสงสัยก็ตามมา   ก็จะกลับกลายเป็นอุปกิเลสไป 

                        อุเบกขา     ความวางเฉย    การจัดอุเบกขาเป็นวัปัสสนูฯ    นั่นคือการไปเข้าใจเอาเองว่า   นี่เป็นวิมุตติธรรม   หรือความละเอียดแห่งจิต   เท่านี้ถือว่าเป็นการบรรลุธรรมชั้นสูงเลยวางเฉยถือว่าเป็นสิ่งแน่นอน    ยังไม่ถึงอริยสัจจ์เต็มที่   มาวางเฉยเสียก่อนเป็นการคำนึงเอง   หรือเป็นการ   “ชิงสุกก่อนห่าม”    ท่านจึงจัดว่าเป็นเครื่องเศร้าหมอง   นักปฏิบัติควรระวังเป็นพิเศษในข้อนี้   อย่าไปวางเฉยเอาง่าย  ๆ   ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน 

                              นิกันติ    ความพอใจ    ความพอใจแม้จะเป็นธรรมชั้นละเอียดก็ยังใช้ไม่ได้   เพราะจะเป็นการพอใจอยู่เพียงหนทาง   ไม่เชื่อว่าพอใจในสถานที่ต้องการเพราะการถึงสถานที่ที่ต้องการนั้น   มิใช่เป็นความพอใจ    แต่เป็นความจริง   และของจริงนั้น   เมื่อเป็นขึ้น  ย่อมเป็นสิ่งล่วงพ้นจากความพอใจที่จะพึงกำหนดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ   ถ้าทำความพอใจในธรรมละเอียดไม่ดี    จะกลายเป็นอัตถวาทุปาทานไปเสีย   จะเสียงานใหญ่ในการที่จะบำเพ็ญให้ก้าวหน้าต่อไป

 จากคุณ : โอ๊ต [ 20 มิ.ย. 2543 / 16:36:29 น. ]  
     [ IP Address : 203.155.33.12 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 6 : (Vicha) 
สาธุ ในธรรมที่แสดงให้ปรากฏ
 จากคุณ : Vicha [ 20 มิ.ย. 2543 / 20:46:38 น. ]  
     [ IP Address : 203.151.36.18 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 7 : (tchurit) 
_/l\_ครับคุณโอ๊ต
 จากคุณ : tchurit [ 21 มิ.ย. 2543 / 08:11:47 น. ]  
     [ IP Address : 203.157.0.183 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 8 : (คนหาแก่นธรรม) 
1.วิปัสสนูกิเลส -  

คืออาการผิดธรรมดาบางประการ ที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองของปัญญา รวมความว่าคือความคิดที่ว่า 

"เราเก่ง เราดี เรามีบุญ เราได้........(ทุกๆอย่างที่กิเลสจะเติมลงไปในช่องว่างที่ต่อจากคำว่า "เรา") จนกระทั่งเลยเถิดไปถึงว่า "เราบรรลุอรหัตผลแล้วเว้ย" 

2.ดีไหม?/อย่างไร? 

ไม่ดีเลย เพราะมันเป็นยางเหนียวก่อให้เกิด "อัตตา" ขึ้นอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นๆๆๆๆๆ จนกระทั่งเชื่อมั่นเกินเหตุ ไม่ยอมฟังใคร คิดอะไรก็ว่าตนถูก เป็นธรรม แน่นอน บริสุทธิ์ ใครที่มีความเห็นแตกต่างจากตนก็กลายเป็น ผู้ไม่ดีเสียทั้งหมด ไม่เปิดใจยอมรับเหตุผลใดๆในโลกนี้อีกเลย 

3. ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต้องผ่านวิปัสสนูกิเลสทุกท่านหรือไม่ ? 

ไม่น่าจะนะครับครับ เพราะบางท่านฟังธรรมครั้งเดียวก็ปล่อยวางอัตตาจนหมดสิ้นได้เลย 

เรื่องนี้มันสำคัญที่ตรงมี "ตัวเรา" หรือไม่ 
มีเมื่อไหร่ ก็ได้เรื่องแหละครับ

 จากคุณ : คนหาแก่นธรรม [ 21 มิ.ย. 2543 / 13:47:45 น. ]  
     [ IP Address : 202.44.210.16 ] 
 
 
 ความคิดเห็นที่ 9 : (หลังเขา) 
เคยอ่านมาว่าวิปัสสนูกิเลสนั้นจะเริ่มเกิดกะผู้ปฏิบัติถึง ตรุณวิปัสสนาเป็นต้นไป 
(ตรุณวิปัสสนาหมายถึงถึงวิปัสสนาอย่างอ่อนๆ) 
ดังนั้นผู้ที่ยังไม่เคยได้วิปัสสนูกิเลสก็อาจจะหมายถึงยังเพียรน้อยไปคือยังไม่ถึงวิปัสสนาแท้ๆเลย 
หรือไม่ก็อย่างที่คุณคนหาแก่นธรรมว่า 
คือไม่แน่ว่าจะเกิดกับทุกคน 
หมายถึงคนที่รู้ตัวว่าอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเป็นวิปัสสนูกิเลสแล้วดูมันไปเฉยๆ 
โดยไม่ไปใส่ใจกับมัน มันก็ย่อมหายไปเองตามกฏไตรลักษณ์(เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นที่สุด)ให้เราเห็นก็จะไม่ต้องไปติดกับวิปัสสนูกิเลส 
(เกิดวิปัสสนูกิเลสแล้ว รู้แล้ว และละไปแล้ว) 
สำรวจตัวเองกันหน่อยดีไหมครับว่าเราเป็นประเภทขาดความเพียรหรือผ่านวิปัสสนูกิเลสมาได้แล้ว
 จากคุณ : หลังเขา [ 21 มิ.ย. 2543 / 13:56:49 น. ]  
     [ IP Address : 203.148.205.3 ] 
 

จบกระทู้บริบูรณ์

 กลับหน้าแรก