มัจฉราชจริยาที่ ๑๐

ว่าด้วยจริยาวัตรของพระยาปลา [๓๐] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาปลาอยู่ในสระใหญ่น้ำในสระ แห้งขอด เพราะแสงพระอาทิตย์ในฤดูร้อน ที่นั้นกา แร้ง นกกระสา นกตะกรุมและเหยี่ยว มาคอยจับปลากินทั้งกลางวันกลางคืน ใน กาลนั้น เราคิดอย่างนี้ว่า เรากับหมู่ญาติถูกบีบคั้น จะพึงเปลื้องหมู่ ญาติให้พ้นจากทุกข์ได้ด้วยอุบายอะไรหนอ เราคิดแล้ว ได้เห็น ความสัตย์อันเป็นอรรถเป็นธรรมว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติได้ เราตั้ง อยู่ในความสัตย์แล้ว จะเปลื้องความพินาศใหญ่ของหมู่ญาตินั้นได้ เรานึกถึงธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์ อันยั่งยืน เที่ยงแท้ในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ แล้วได้กระทำสัจจ กิริยาว่า ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงบัดนี้ เรา ไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับความลำบากเลย ด้วยสัจจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ แน่ะเมฆ ท่านจง เปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตกจงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจง ยังกาให้เดือดร้อนด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้น ยังฝนให้ ตกครู่เดียว ก็เต็มเปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ครั้นเราทำความเพียร อย่างสูงสุด อันเป็นความสัตย์อย่างประเสริฐเห็นปานนี้แล้ว อาศัย กำลังอานุภาพความสัตย์ จึงยังให้ฝนตกห่าใหญ่ผู้เสมอด้วยความ สัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเราฉะนี้แล. จบมัจฉราชจริยาที่ ๑๐

อรรถกถามัจฉราชจริยาที่ ๑๐

พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถามัจฉราชจริยาที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้. บทว่า ยทา โหมิ, มจฺฉราชา มหาสเร ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาปลาอยู่ใน สระใหญ่ ความว่า ในอดีตกาล เราเกิดในกำเนิดปลายินดีอยู่ด้วยสังคหวัตถุ ๔ ประการของปลาทั้งหลาย ในสระใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งปกคลุมด้วยเถาวัลย์ อันเป็นสระโบกขรณีใกล้พระเชตวันกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล. ครั้งนั้น เราเป็นพระยาปลาแวดล้อมด้วยหมู่ปลาอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น. บทว่า อุณฺเห คือฤดูร้อน. บทว่า สูริยสนฺตาเป คือเพราะแสงอาทิตย์. บทว่า สเร อุทกํ ขียถ คือน้ำในสระนั้นแห้งขอด. ในแคว้นนั้น ขณะนั้นฝนไม่ตกเลย. ข้าวกล้าเหี่ยวแห้ง. น้ำในบึงเป็นต้นแห้งขอด. ปลาและเต่าพากันเข้าไป อาศัยเปือกตม. แม้ในสระนั้นปลาทั้งหลายก็เข้าไปยังเปือกตม ซ่อนอยู่ใน ที่นั้นๆ. บทว่า ตโต คือภายหลังจากน้ำแห้งนั้น. บทว่า กุลลเสนกา คือนกตะกรุมและเหยี่ยว. ภกฺขยนฺติ ทิวารตฺตึ, มจฺเฉ อุปนิสีทิย ความว่า กาและนกนอกนั้นเข้าไปแอบอยู่บนหลังเปือกตมนั้นๆ เอาจะงอย เช่นกับปลายหอกสั้นจิกกินปลา ซึ่งเข้าไปนอนซ่อนอยู่ที่เปือกตมทั้งๆ ที่ยัง ดิ้นอยู่. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เห็นความพินาศของปลาทั้งหลาย เกิดสงสาร คิดอยู่ว่า นอกจากเราไม่มีผู้อื่นที่สามารถจะปลดเปลื้องญาติทั้งหลายของเรา ให้พ้นจากทุกข์นี้ได้. เราจะปลดเปลื้องปลาเหล่านั้นจากทุกข์นี้ได้ด้วยอุบาย อย่างไรหนอ จึงตัดสินใจว่า ถ้ากระไรเราพึงทำสัจกิริยาอาศัยสัจธรรมที่ ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อน ประพฤติสะสมมา และที่มีอยู่ในตัวเรา ยังฝน ให้ตกและสละชีวิตเป็นทานเพื่อหมู่ญาติของเรา. ด้วยเหตุนั้นเป็นอันเรา ได้ยังมหาอุปการะให้เกิดแก่สัตว์โลก ผู้อาศัยอาหารเลี้ยงชีพ แม้ทั้งสิ้น.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า:- ในกาลนั้นเราคิดอย่างนี้ว่า เรากับหมู่ ญาติถูกบีบคั้น จะพึงเปลื้องหมู่ญาติให้พ้น จากทุกข์ได้ด้วยอุบายอะไรหนอ เราคิดแล้ว ได้เห็นความสัตย์ อันเป็นอรรถเป็นธรรมว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติได้ เราตั้งอยู่ในความ สัตย์แล้ว จะปลดเปลื้องความพินาศใหญ่ของ หมู่ญาตินั้นได้ เรานึกถึงธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์อันยั่งยืนเที่ยงแท้ ในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ แล้วได้ ทำสัจกิริยา.

บทว่า สห ญาตีหิ ปีฬิโต คือเรากับพวกญาติของเราถูกบีบคั้น ด้วยน้ำแห้งนั้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สห เป็นเพียงนิบาต. คือญาติ ทั้งหลายผู้มีทุกข์เป็นเหตุถูกบีบคั้นด้วยความพินาศนั้น เพราะมีมหากรุณา จึงคิดจะปลดเปลื้อง อธิบายว่า หมู่ญาติได้รับทุกข์. บทว่า ธมฺมตฺถํ คือประโยชน์ที่เป็นธรรม หรือมีอยู่ไม่ปราศจากธรรม ได้แก่อะไร? ได้แก่ สัจจะ. บทว่า อทฺทสปสฺสยํ คือได้เห็นที่พึ่งของเราและของญาติทั้งหลาย บทว่า อติกฺขยํ คือความมหาพินาศ. บทว่า สทฺธมฺมํ คือระลึกถึงธรรม คือความไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ ตัวหนึ่งของสัตบุรุษ คือคนดีมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. บทว่า ปรมตฺถํ วิจินฺตยํ คือเราคิดถึงสัจจะอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้นอันมีสภาพไม่วิปริต. บทว่า ยํ โลเก ธุวสสฺสตํ อันยั่งยืนเที่ยงแท้ในโลก คือการไม่ เบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวก ของพระพุทธเจ้าตลอดกาลใด พึงทราบการเชื่อมความว่า เราได้คิดถึงการ ไม่เบียดเบียนสัตว์อันยั่งยืนเที่ยงแท้โดยความเป็นจริง ตลอดกาลทั้งปวงนั้น ได้กระทำสัจกิริยา.

บัดนี้ พระมหาสัตว์ซึ่งมีร่างเช่นกับสีปุ่มแก่นไม้อัญชัน ประสงค์ จะรับเอาธรรมนั้นซึ่งมีอยู่ในตน แล้วประกอบคำพูดที่เป็นสัตย์ จึงคุ้ย เปือกตมสีดำออกเป็นสองข้าง ลืมตาทั้งสองแหงนมองอากาศ กล่าวคาถา ว่า:- ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมา จนถึงบัดนี้ เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียน สัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับลำบากเลย. ด้วย สัจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกห่าใหญ่. ในบทเหล่านั้น บทว่า ยโต สรามิ อตฺตานํ ความว่า ตั้งแต่ เราระลึก คือความระลึกตนอันได้แก่อัตภาพ. บทว่า ยโต ปตฺโตสฺมิ วิญฺญุตํ คือตั้งแต่เรารู้ความที่วิญญูชนรู้แล้วในสิ่งอันควรทำนั้นๆ ชื่อว่า รู้ความที่วิญญูชนรู้แล้ว เพราะสามารถระลึกถึง กายกรรม วจีกรรม ของ เราจากนี้ไปได้ด้วยการแหงนขึ้นไปในเบื้องบน ในระหว่างนี้แม้เกิดในที่จะ ต้องกินสัตว์ที่มีชาติเสมอกัน เราก็ไม่เคยกินปลาแม้ประมาณเท่ารำข้าวสาร เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์ไรๆ แม้อื่น ไม่ต้องพูดถึงฆ่า. บทว่า เอเตน สจฺจวชฺเชน ความว่า เรากล่าวถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์ไรๆ อันใด หากการไม่เบียดเบียนนั้นเป็นความจริง ไม่วิปริต ด้วยสัจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกเถิด. พระยาปลากล่าวว่า ขอเมฆจงปลดเปลื้องหมู่ ญาติของเราจากทุกข์เถิด แล้วเรียกปัชชุนนเทวราชดุจบังคับคนรับใช้ของ ตนอีกว่า:- แน่ะปัชชุนนะ ท่านจงเปล่งสายฟ้าคำราม ให้ฝนตก จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงยังกาให้เดือดร้อน ด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก. ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิตฺถนย ปชฺชุนฺน ความว่า เมฆท่าน เรียกว่า ปัชชุนนะ ก็พระยาปลานี้เรียกวัสสวลาหกเทวราช ที่ได้ชื่อด้วย อำนาจแห่งเมฆ. บทนั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ธรรมดาฝนไม่คำรามไม่เปล่งสายฟ้า แม้ให้ฝนตกก็ไม่งาม. เพราะฉะนั้น ท่านคำรามเปล่งสายฟ้าให้ฝนตก เถิด. บทว่า นิธึ กากสฺส นาสย จงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป คือกาทั้งหลาย เอาจะงอยจิกปลาที่เข้าไปยังเปือกตมนำออกมากิน. เพราะ ฉะนั้น ปลาทั้งหลายภายในเปือกตม ท่านเรียกว่า นิธิ คือขุมทรัพย์ ของกาเหล่านั้น. ท่านยังฝนให้ตกน้ำท่วมขุมทรัพย์ของฝูงกานั้น. บทว่า กากํ โสกาย รนฺเธหิ ท่านจงยังกาให้เดือดร้อนด้วยความโศก ความว่า ฝูงกาเมื่อไม่ได้ปลาในสระใหญ่นี้ซึ่งมีน้ำเต็มจักเศร้าโศก. ท่านยังเปือกตมนี้ ให้เต็มยังฝูงกานั้นให้เดือดร้อนด้วยความโศก. ท่านจงยังฝนให้ตกเพื่อให้กา เศร้าโศก. อธิบายว่า ท่านจงทำโดยอาการที่ฝูงกาถึงความเศร้าโศกอันมี ลักษณะจ้องดูภายใน. บทว่า มจฺเฉ โสกา ปโมจย จงปลดเปลื้อง ฝูงปลาจากความเศร้าโศก คือท่านจงปลดเปลื้องฝูงปลาทั้งหมดซึ่งเป็นญาติ ของเราให้พ้นจากความเศร้าโศก คือความตายนี้เถิด. อาจารย์บางคนกล่าว ไว้ในชาดกว่า ท่านจงปลดเปลื้องข้าพเจ้าจากความเศร้าโศก. จ อักษรใน บทนั้นเป็นสัมบิณฑนัตถะ ความว่า ท่านจงปลดเปลื้องสัตว์ทั้งปวง คือเรา และญาติของเราให้พ้นจากความโศกคือความตายเถิด. จริงอยู่ปลาทั้งหลาย มีความเศร้าโศกคือความตายอย่างใหญ่หลวงว่า พวกเราจะถึงความเป็น อาหารของศัตรูเพราะไม่มีน้ำ. พึงทราบว่าความเศร้าโศกเกิดขึ้นด้วยความ กรุณาของพระมหาสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยความกรุณา เพราะอาศัยความพินาศย่อย ยับของปลาเหล่านั้น. พระโพธิสัตว์เรียกปัชชุนนะเทพบุตร ดุจบังคับคนรับใช้ของตนให้ ฝนห่าใหญ่ตกทั่วแคว้นโกศล.

ด้วยเดชแห่งศีลของพระมหาสัตว์ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนตลอดกาล ด้วยสัจกิริยานั่นแล. ท้าวสักกะทรงรำพึงว่า อะไรหนอ? ครั้นทรงทราบเหตุนั้นแล้วจึงรับสั่งให้ เรียกวัสสวลาหกเทวราชมามีเทวบัญชาว่า นี่แน่ะเจ้าพระยาปลาผู้เป็นมหาบุรุษปรารถนาให้ฝนตกเพราะความเศร้าโศก คือความตายของญาติทั้งหลาย. เจ้าจงทำเมฆให้เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วให้ฝนตกทั่วแคว้นโกศลเถิด. วัสสวลาหกเทวราชรับเทวบัญชาแล้ว นุ่งวลาหกก้อนหนึ่ง ห่มก้อนหนึ่ง ขับ เพลงขับสายฝน บ่ายหน้าไป มุ่งไปยังโลกทางด้านทิศตะวันออก. ทางด้าน ทิศตะวันออก ก้อนเมฆก้อนหนึ่งประมาณเท่าบริเวณลานได้ตั้งขึ้นร้อยชั้น พันชั้น คำรามเปล่งสายฟ้าไหลลงมาเหมือนหม้อน้ำที่คว่ำ หลั่งน้ำใหญ่ท่วม แคว้นโกศลทั้งสิ้น. ฝนตกอยู่ไม่ขาดสาย ครู่เดียวเท่านั้นสระใหญ่นั้นก็เต็ม. ปลาทั้งหลายก็พ้นจากมรณภัย. กาเป็นต้นได้หมดที่พึ่ง. ไม่เฉพาะปลา อย่างเดียวเท่านั้น แม้มนุษย์ทั้งหลายก็ยังข้าวกล้าหลายอย่างให้งอกงาม แม้สัตว์ ๒ เท้าเป็นต้น ทั้งหมดที่อาศัยฝนเลี้ยงชีวิตก็พ้นจากทุกข์กายและ ทุกข์ใจ.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า:- พร้อมกับเมื่อเราทำสัจกิริยา เมฆส่ง เสียงสนั่นครั่นครื้นยังฝนให้ตกครู่เดียวก็เต็ม เปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม. ครั้นเราทำความ เพียรอย่างสูงสุด อันเป็นความสัตย์อย่าง ประเสริฐเห็นปานนี้แล้ว. อาศัยกำลังอานุภาพ ความสัตย์จึงยังฝนให้ตกห่าใหญ่. ผู้เสมอด้วย ความสัตย์ของเราไม่มี. นี้เป็นสัจบารมีของ เรา ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ขเณน อภิวสฺสถ คือไม่ชักช้าฝนก็ตกโดย ขณะที่ทำสัจกิริยานั้นเอง. บทว่า กตฺวา วีริยมุตฺตมํ ทำความเพียรอย่าง สูงสุด คือเมื่อฝนไม่ตกเราก็ไม่เกียจคร้านมัวคิดว่าควรทำอะไร แล้วทำ ความเพียรอย่างสูงสุด ยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่หมู่สัตว์ใหญ่โดยวิธี บำเพ็ญญาตัตถจริยา. บทว่า สจฺจเตชพลสฺสิโต คืออาศัยกำลังอานุภาพ ความสัตย์ของเรายังฝนห่าใหญ่ให้ตกในกาลนั้น. เพราะเหตุการณ์เป็นอย่าง นั้น ฉะนั้น พระธรรมราชาจึงทรงแสดงถึงความที่สัจบารมีของพระองค์ ไม่ทั่วไปแก่คนอื่นเมื่อครั้งเป็นพระยาปลาใหญ่ว่า สจฺเจน เม สโม นตฺถิ, เอสา เม สจฺจปารมี ผู้เสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี. นี้เป็นสัจจบารมี ของเรา. พระมหาสัตว์มีใจเร่งเร้าด้วยมหากรุณาอย่างนี้ จึงได้ปลดเปลื้อง มหาชนจากมรณทุกข์ด้วยยังฝนห่าใหญ่ให้ตกทั่วแว่นแคว้น เมื่อสิ้นอายุก็ ไปตามยถากรรม.

ปัชชุนนเทวราชในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนทเถระในครั้งนี้. ฝูง ปลาคือพุทธบริษัท. พระยาปลาคือพระโลกนาถ.

พึงเจาะจงกล่าวแม้บารมีที่เหลือ ของพระมหาสัตว์นั้นโดยนัยดังได้ กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพมีอาทิอย่างนี้คือ การเกิดในกำเนิดปลา ในที่ที่จะกินสัตว์ที่มีชาติเสมอกับตนได้แล้วไม่กินสัตว์ไรๆ เช่นปลาแม้เพียง รำข้าวสาร. การไม่กินก็ชั่งเถิดยังไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่ง. การยังฝน ให้ตกด้วยทำสัจจะอย่างนั้น. เมื่อน้ำแห้งด้วยความกล้าไม่คำนึงถึงทุกข์ที่ตน ได้รับด้วยการดำลงไปในเปือกตม เมื่อหมู่ญาติทนไม่ไหว จึงทำทุกข์นั้นไว้ ในใจด้วยตนช่วยเหลือโดยทุกวิธี. และการปฏิบัติด้วยประการนั้น.

จบ อรรถกถามัจฉราชจริยาที่ ๑๐

กลับที่เดิม