ประมวลธรรมเรื่องจิต จิตเกิดดับและปฎิจสมุทปบาท.

 

                                                          บทนำ

      ด้วยธรรมนี้ ที่ข้าพเจ้าได้เข้าใจแล้ว จากการที่ได้ปฏิบัติธรรมและศึกษาธรรมตามพระไตรปิฎกและพระอรรถกถา มาอย่างยาวนานทั้งแต่วัยเด็ก จนถึงอายุ 51 ปี

 

                                                           เนื้อเรื่อง

         ชาวพุทธส่วนมาก สนใจเรื่อง จิต เรื่องใจ เป็นสำคัญ เพราะจิตหรือใจนั้นก็คือความรู้สึกนึกคิดของตัวเรา จึงเสมือนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้และแสดงพฤติกรรมเริ่มจากที่จิต จิตจึงมีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่มาก จนบางครั้งมีความคิดเห็นว่า จิต เหนือสิ่งอื่นใดจนเข้าใจคลาดเคลื่อน จนถึงผิดไปจากธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วได้ 

         ดังนั้นมารองศึกษาประมวลธรรม เรื่องจิตเรื่องใจ ตามที่มีในพระไตรปิฎก และตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ว่าเป็นอย่างไร ควรเป็นอย่างไร เพื่อความเข้าใจตรงตามธรรมยิ่งขึ้น.

 

         จากความหมายของจิตในพระไตรปิฎก จากพระไตรปิฎก เล่มที่ 29 ดังนี้
---------------------------------------
       [๓๑๙] ชื่อว่า ใจ ในคำว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
        ความว่า ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น.

         ท่านคิดนึกถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยจิตว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่
เที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เพราะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ.
-------------------------------------------

         จากพระไตรปิฎกส่วนนี้  ทำให้ทราบว่า

        ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ

        ดังนั้น ทุกคำที่กล่าวถึง วิญญาณ วิญญาณขันธ์ หรือ มโนวิญญาณธาตุ  ก็คือหมายถึง จิต เป็นอย่างเดียวกันนั้นเอง.

 

         ต่อไปก็ต้องศึกษาว่า จิต เกิดได้อย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้  ก็จะทำให้เข้าใจได้ชัดแจ้งขึ้น. จากพระไตรปิฎก เล่มที่ 14 เรื่อง มหาปุณณมสูตร

-----------------------------------------------------------

             [๑๒๔]  ภิ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติ

รูปขันธ์  อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์  อะไรหนอแล

เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติ  สัญญาขันธ์อะไรหนอแล  เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่ง

การบัญญัติสังขารขันธ์  อะไรหนอแลเป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ 

            พ.  ดูกรภิกษุ  มหาภูตรูป    เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติรูปขันธ์  ผัสสะ

เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์  ผัสสะเป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติ

สัญญาขันธ์  ผัสสะเป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติสังขารขันธ์  นามรูปเป็นเหตุ  เป็น

ปัจจัย  แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์ 

------------------------------------------------------------

 

       จากพุทธพจน์ส่วนนี้ ก็จะได้ว่า 

        1.มหาภูตรูป  ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เป็นเหตุ  เป็นปัจจัย  แห่งการบัญญัติรูปขันธ์

        2.ผัสสะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติเวทนาขันธ์ แห่งการบัญญัติสัญญาขันธ์ แห่งการบัญญัติสังขารขันธ์

        3.นามรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติวิญญาณขันธ์

 

     ก็จะได้ว่า นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยแห่ง จิต นั้นเอง   ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 19 ดังนี้.

-------------------------------------------------

                                                สมุทยสูตร

                                ว่าด้วยการเกิดดับแห่งสติปัฏฐาน ๔

                [๘๑๙] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่ง

สติปัฏฐาน ๔ เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ความเกิดแห่งกายเป็นอย่างไร? ความเกิดแห่งกายย่อมมี เพราะ

ความเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งกายย่อมมี เพราะความดับแห่งอาหาร ความเกิดแห่งเวทนา

ย่อมมี เพราะความเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งเวทนาย่อมมี เพราะความดับแห่งผัสสะ ความ

เกิดแห่งจิตย่อมมี เพราะความเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่ง

นามรูป ความเกิดแห่งธรรมย่อมมี เพราะความเกิดแห่งมนสิการ ความดับแห่งธรรมย่อมมี

เพราะความดับแห่งมนสิการ.

                                              จบ สูตรที่ ๒

-------------------------------------------------

           จากข้อความนี้  “ความดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป” เมื่อประมวลธรรมจากด้านบททั้งหมดแล้ว

            ขันธ์ 4 อันได้แก่ 1.วิญญาณขันธ์หรือจิต  2.สังขารขันธ์ 3.สัญญาขันธ์ 4.เวทนาขันธ์  เริ่มปรากฏชัดอยู่ในช่วงของ  วิญญาณ นามรูป  อายตนะและ ผัสสะ ของปฎิจสมุทปบาท นั้นเอง. 

 

             ซึ่งปฏิสจสมุทปบาทฝ่ายเกิดมีดังนี้

เพราะมีอวิชชา เป็นปัจจัย จึงเกิด สังขาร

เพราะมีสังขาร เป็นปัจจัย จึงเกิด วิญญาณ

เพราะมีวิญญาณ เป็นปัจจัย จึงเกิด นามรูป

เพราะมีนามรูป เป็นปัจจัย   จึงเกิด อายตนะ

เพราะมีอายตนะ เป็นปัจจัย จึงเกิด ผัสสะ

เพราะมีผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิด เวทนา

เพราะมีเวทนา เป็นปัจจัย จึงเกิด ตันหา

เพราะมีตัณหา เป็นปัจจัย จึงเกิด อุปทาน

เพราะมีอุปทาน เป็นปัจจัย จึงเกิด ภพ

เพราะมีภพ เป็นปัจจัย จึงเกิด ชาติ

เพราะมีชาติ เป็นนปัจจัย จึงเกิด ชราและมรณะ

เพราะมีชราและมรณะเป็นปัจจัย จึงเกิด ทุกข์ โสกปริเทวะ.

 

      เมื่ออธิบายถึงตรงนี้ก็จะมีคำถามว่า สัตว์เกิดขึ้นได้อย่างไร   ก็ต้องอาศัยพระพุทธพจน์ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 16 และ 25   ดังนี้.

เล่มที่ 16

------------------------------------------------------- 

                                           ๑. ติณกัฏฐสูตร

               [๔๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกร

ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น

มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ ฯ

                [๔๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้กิ่งไม้ ใบไม้

ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่า

นี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเรา โดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น

ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไป ข้อนั้น

เพราะเหตุไรเพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชา

เป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน

เหมือนฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้ พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง

พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้ ฯ

                                                จบสูตรที่ ๑

 

เล่มที่ 25

                [๓๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง

โดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม ควรตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึง

มีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด

ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชา

นั่นเองดับไปเพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ

ผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์

ต่อไปอีกว่า

                อวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติมรณะและสงสาร

                อันมีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่นบ่อยๆ อวิชชา คือ

                ความหลงใหญ่นี้ เป็นความเที่ยงอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไปด้วย

                วิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่ ฯ

----------------------------------------------------------

      ตอบ  ก็จะได้ว่า อวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย ที่เวียนว่ายตายเกิด หาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์นั้นมีอวิชชาเป็นที่กางกั้น

 

      ถาม อวิชชาตั้งอยู่ที่ไหน?

      ตอบ อวิชชาปรากฏเจริญอยู่ใน ในสังขตธรรม หรือในธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงและปรุงแต่งเป็นทุกขัง เปรียบเสมือนฝั่งนี้

        ดังนั้น อวิชชา ปรากฏดำรงอยู่ได้ทุกที่ ตามเหตุปัยจัย ในฝั่งของ สังขตธรรม ในโลกทั้งสาม คือ 1.มนุษย์ภูมิ 2.สวรรค์ภูมิ(รวมพรหม) 3.อบายภูมิ 

        ส่วนนิพพานนั้นก็คือ อสังขตธรรม หรือธรรมชาติที่สงบสันติไม่เปลี่ยนแปลงไม่ปรุงแต่ง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงเปรียบเสมือนฝั่งโน้น ดังที่มีกล่าวในพระไตรปิฎก .

 

       ถาม อวิชชาตั้งอยู่ที่จิตใช่ไหม?

       ตอบ อวิชชา เป็นเหตุเป็นปัจจัยจึง เกิดมีจิตภายหลัง ในเมื่อจิต คือ วิญญาณ หรือ วิญญาณขันธ์ จึงจะกล่าวอวิชชาตั้งอยู่ที่จิตก็ไม่ควร  เมื่อถือตามพระไตรปิฎกควรกล่าวว่า “เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น”  ก็จะได้คำตอบที่เหมาะสมคือ อวิชชา เป็นปัจจัยเกิดจิต  ดังนั้นจิตย่อมผูกพันกับอวิชชาเพราะจิตอาศัยอวิชชาเกิด นั้นเอง

 

       ถาม ก็ดังนั้นเมื่ออวิชชาดับ  จิตก็ดับหมดสิ้นไปด้วย หรือ ชีวิตก็ต้องหมดสิ้นไปด้วยสิ.?

       ตอบ ชีวิต หรือบุคคลประกอบไปด้วย ธาตุ 6 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ช่องว่าง และวิญญาณธาตุ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องดำรงตามเหตุปัจจัย คือ มีอายุ อาหาร ไออุ่น และอุตุ ตามธรรมชาติของฝ่าย สังขตธรรม จึงไม่จำเป็นว่า เมื่ออวิชชาหมดสิ้นแล้ว ต้องสิ้นชีวิตขันธ์แตกดับตายไปในทันที

 

         ก็จะได้คำถามที่สำคัญ

         ถาม อวิชชา ดำรงได้ด้วยมีอะไรเป็นปัจจัย? 

         ตอบ. เหตุเกิดแห่งอวิชชา ย่อมมีเพราะอาสวะเป็นเหตุให้เกิด  เหตุเกิดแห่งอาสวะย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด    จึงเปรียบเสมือนงูกินหาง หรือวัฏจักรที่เป็นวงจร ต่อเนื่องด้วยตัวมันเอง หมุนเวียนอยู่อย่างนั้น เมื่อไม่สามารถดับอวิชชา พ้นจากฝั่ง สังขตธรรม ข้ามไปยัง อสังขตธรรมได้. เป็นข้อมูลจาก พระไตรปิฎกเล่มที่ เล่ม 12 ได้เน้นข้อความให้ชัดเจน ดังนี้
-----------------------
                             อวิชชาวาร
      [๑๒๘] ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือ ปริยายแม้อย่างอื่น ... ท่านพระสารีบุตรตอบว่า
พึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา
และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ...
มาสู่พระสัทธรรมนี้ ก็อวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา และปฏิปทาที่จะให้ถึงความ
ดับอวิชชา เป็นไฉน?
ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ในความดับทุกข์ ในปฏิปทาที่จะให้ถึง
ความดับทุกข์ อันนี้เรียกว่าอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ย่อมมีเพราะอาสวะเป็นเหตุให้เกิด
ความดับอวิชชา ย่อมมีเพราะอาสวะดับ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ
ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอวิชชา ดูกรท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวก
รู้ชัดซึ่งอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับอวิชชา ทางที่จะให้ถึงความดับอวิชชาอย่างนี้ๆ เมื่อ
นั้น ท่านละราคานุสัย ... แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนิน
ไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
      [๑๒๙] ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า สาธุ ท่านผู้มีอายุ
แล้วได้ถามปัญหากะท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ จะพึงมีอยู่หรือปริยายแม้อย่างอื่น
ที่อริยสาวกซึ่งชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.


                     อาสววาร
      [๑๓๐] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า พึงมี ท่านผู้มีอายุ เมื่อใดแล อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาสวะ
อาสวสมุทัย อาสวนิโรธ อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่า
เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม
มาสู่พระสัทธรรมนี้ ก็อาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับอาสวะ ทางที่จะให้ถึงความดับอาสวะ
เป็นไฉน?
ได้แก่ อาสวะ ๓ เหล่านี้ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะย่อมมี

เพราะอวิชชาเป็นเหตุให้เกิด ความดับอาสวะ ย่อมมีเพราะอวิชชาดับ อริยมรรคประกอบ
ด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ
พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับอาสวะ ดูกรท่านผู้มีอายุ
เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัดซึ่งอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับอาสวะ ปฏิปทาที่จะให้ถึงความ
ดับอาสวะ อย่างนี้ๆ เมื่อนั้นท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และ
มานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบัน
เทียว แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.
     ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวคำนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชม ยินดีภาษิตของท่านพระสารี
บุตรแล้วแล.
----------------------------------------------

 

      สุดท้ายมาถึงปัญหา ที่มีการถกกัน

      ถาม จิต นั้นเกิดดับหรือไม่?

      ตอบ  จิตนั้นเกิดดับ จาก สมุทยสูตร ที่นำเสนออยู่ด้านบน ในเรื่องของจิตกล่าวว่า

                  “ความดับแห่งจิตย่อมมี เพราะความดับแห่งนามรูป”

และจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 35

-------------------------------------------------

              อสังขตธาตุ เป็นไฉน

              ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า อสังขตธาตุ

              สภาวธรรมนี้เรียกว่า ธรรมธาตุ

 

              มโนวิญญาณธาตุ เป็นไฉน

              มโนธาตุเกิดในลำดับแห่งการเกิดดับของจักขุวิญญาณธาตุ จิต มโนมานัส ฯลฯ มโน

วิญญาณธาตุที่สมกัน เกิดในลำดับแห่งการเกิดดับแม้ของมโนธาตุอีกชั้นหนึ่ง มโนธาตุ เกิดใน

ลำดับแห่งการเกิดดับของโสตวิญญาณธาตุฯลฯ มโนธาตุ เกิดในลำดับแห่งการเกิดดับของฆาน

วิญญาณธาตุ ฯลฯ มโนธาตุเกิดในลำดับแห่งการเกิดดับของชิวหาวิญญาณธาตุ ฯลฯ มโนธาตุ เกิด

ในลำดับแห่งการเกิดดับของกายวิญญาณธาตุ จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน

เกิดในลำดับแห่งการเกิดดับแม้ของมโนธาตุอีกชั้นหนึ่ง จิต มโนมานัส หทัย ปัณฑร มโน

มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์มโนวิญญาณธาตุที่สมกัน อาศัยมโนและธรรมารมณ์

เกิดขึ้น นี้เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ

----------------------------------------------------       

               สรุป ก็จะได้ จิต หรือ มโนธาตุ หรือวิญญาณธาตุ เกิดดับ อยู่ตลอดนั้นเอง.

 

              เมื่อเป็นดังนี้ ก็อาจจะมีบางท่าน ไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่า เรายอมลำบากอยู่ในศีลในธรรมและปฏิบัติธรรม มากมายและยาวนานไปทำไม เพราะสุดท้ายแล้วแม้แต่จิตใจเราเองก็จะดับหมดสิ้น และไม่มีอะไรเลย ซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง  เพราะเมื่อดับอวิชชา ด้วยอริยสัจสี มรรคมีองค์แปด ฯลฯ หรือโพธิปักขิยธรรม 37 ประการนั้นเอง ย่อมบรรลุถึงอีกฝั่งหนึ่งของธรรม นั้นคือ อสังขตธรรม ถึงอสังขตธาตุ หรือธรรมธาตุ ดังพระไตรปิฎกด้านบนกล่าวไว้ว่า.

              อสังขตธาตุ เป็นไฉน

              ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า อสังขตธาตุ

              สภาวธรรมนี้เรียกว่า ธรรมธาตุ

            หรือเรียกว่า นิพพาน หรือนิพพานธาตุ นั้นเอง

 

           ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ อาจจะมีบางท่านยังคลางแคลงอยู่ว่า จิตต้องเที่ยง เป็นอัตตาถาวร เพราะยกพุทธพจน์เพียงส่วนคำว่า "จิตหลุดพ้น" แล้วเข้าใจไปว่า "จิตหลุดพ้น" คือหลุดพ้นจากความเป็นไตรลักษณ์หลุดพ้นจากขันธ์ 5  ดังนั้น จิต จึงเที่ยง โดยยกพุทธพจน์มาเพียงส่วนเดียว.ดังนี้

------------------------------------------------------------
      ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่าย  แม้ในรูป  แม้ในเวทนา  แม้ในสัญญา  แม้ในสังขาร  แม้ในวิญญาณ  เมื่อเบื่อหน่าย
ย่อมคลายกำหนัด  เพราะคลายกำหนัด  จิตย่อมหลุดพ้น  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ย่อมมีญาณรู้ว่า
หลุดพ้นแล้วรู้ชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำ  ได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี  ฯ
--------------------------------------------------------------

        จึงกลายเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนหรือผิด ไปเสีย เพราะหลงประเด็น คำว่า "จิตหลุดพ้น" โดยไม่โยนิโสมนสิการให้รอบคอบในธรรมส่วนอื่นๆ  ถึงความหมายที่แท้จริง ในความหมายของ คำว่า "จิตหลุดพ้น"

     ซึ่งความหมายของ "จิตหลุดพ้น" อยู่ในพุทธพจน์ส่วนนี้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 14  (และความจริงก็ยังมีอีกหลายๆ ที่ในพระไตรปิฎกนั้น).

----------------------------------------------
         [๒๖]  เธอ  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  บริสุทธิ์ผุดผ่อง  ไม่มีกิเลสเครื่องยียวนปราศจาก
อุปกิเลส  เป็นจิตอ่อนโยน  ควรแก่การงาน  ตั้งมั่น  ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว  ย่อมน้อม
จิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ  รู้ชัดตามเป็นจริงว่า  นี้ทุกข์นี้เหตุให้เกิดทุกข์  นี้ที่ดับทุกข์  นี้ปฏิปทา
ให้ถึงที่ดับทุกข์  รู้ชัดตามเป็นจริงว่าเหล่านี้อาสวะ  นี้เหตุให้เกิดอาสวะ  นี้ที่ดับอาสวะ
นี้ปฏิปทาให้ถึงที่ดับอาสวะเมื่อเธอรู้อย่างนี้  เห็นอย่างนี้  จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ  แม้จาก
ภวาสวะแม้จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
 รู้ชัดว่าชาติสิ้น
แล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย  อย่างนี้แล  ความพยายามจึงมีผล  ความเพียรจึงมีผล  ฯ
----------------------------------------------

      ซึ่งหมายความว่า จิตหลุดพ้น จากอวิชชาที่เป็นที่กางกั้น ไม่ได้มีความหมายความว่า จิตหลุดพ้นจากการเป็นไตรลักษณ์ หรือจากขันธ์ 5 แต่อย่างไดเลย. ดังนั้นพุทธพจน์ด้านบน และประเด็นสำคัญคือส่วนนี้.

จิตก็หลุดพ้นแม้จากกามาสวะ  แม้จากภวาสวะแม้จากอวิชชาสวะ  เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว  ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

   หมายความว่า จิตพระอรหันต์ที่ทรงสังขารอยู่นั้น หลุดพ้นจากอาวสวะกิเลสทั้งหลาย หรือ อิสระจากกิเลสทั้งหลาย จากที่เคยผูกพันและสัมพันธ์กับอวิชชามาตลอดหาเบื้องต้นไม่ได้  แต่จิตนั้นก็ยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ และ จิต ก็ยังเป็น วิญญาณ หรือ วิญญาณขันธ์นั้นเอง แต่บริสุทธ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย  และย่อมดับสิ้นไปเมื่อ กายแตกดับขันธ์นิพพาน(ธรรมธาตุหรือนิพพานธาตุ) ที่ไม่มีอุปธิ(ในสังขตธรรม)เหลืออยู่อีกเลย.

 

                              จบบริบูรณ์.(11/11/53)