ยโสธรา(พระภัททากัจจานาเถรี),เอตทัคคผู้ได้บรรลุอภิญญาใหญ่(๔)

       พระนางยโสธรา(พิมพาหรือยโสธราพิมพา) เกิดในตระกูลศากยะ

แห่งโกลิยวงศ์  เมืองเทวทหะ เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ

และพระมารดามีพระนามว่า พระนางอมิตาเทวี   มีพระเทวทัตเป็น

พระเชษฐา  พระนางยโสธราประสูติวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ

(พระพุทธเจ้า)     ซึ่งพระนางเป็นสหชาติของพระพุทธเจ้า. 

       เมื่อพระนางประสูติแล้วพวกญาติทั้งหลายได้ทรงถวายนามว่า

"ภัททากัจจานา"  เพราะพระสรีระของพระนาง  มีพระฉวีวรรณสี

เหมือนทองคำอันบริสุทธิ์.

       เมื่อพระนางเจริญวัยมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ได้อภิเษกสมรส

กับเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า)   เมื่อมีพระชนม์ ๒๙ พรรษาได้

ประสูติราชโอรส โดยพระเจ้าสุทโธทนะให้พระนามว่า พระราหุล

 

              พระผู้มีพระภาคทรงโปรดพระญาติครั้งแรก

       ในระหว่างพรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๒ แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า  

พระพุทธองค์ได้กลับมาโปรดพระญาติ   ขณะที่ทรงบิณฑบาตอยู่

มหาชนโจษขานกันว่า  ได้ข่าวว่า  สิทธัตถกุมารผู้เป็นเจ้านายเที่ยว

ไปเพื่อก้อนข้าว  พระนางจึงเปิดหน้าต่างในปราสาทชั้น    และ

ชั้น ๓  เป็นต้น  ได้เป็นผู้ขวนขวายเพื่อจะดู.

       ฝ่ายพระเทวีพระมารดาของพระราหุล  ทรงดำริว่า  นัยว่า

พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปในพระนครนี้แหละด้วยวอทอง เป็นต้น  

โดยราชานุภาพยิ่งใหญ่  มาบัดนี้  ปลงปมและหนวด  นุ่งห่มผ้า

กาสายะ  ถือกระเบื้องเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว จะงามหรือหนอ

จึงทรงเปิดพระแกลทอดพระเนตรดู    ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงยังถนนในพระนครให้สว่าง        ด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระ

อันเรืองรองด้วยแสงสีต่าง ๆ    ไพโรจน์งดงามด้วยพุทธสิริอันหา

อุปมามิได้  ประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สดใส

ด้วยพระอนุพยัญชนะ  ๘๐  ประการ  ตามประชิดล้อมรอบด้วย

พระรัศมีด้านละวา  จึงทรงชมเชยตั้งแต่พระอุณหิส  (ได้แก่ส่วน

ที่เลยหน้าผากไป) จนถึงพื้นพระบาท  ด้วยคาถาชื่อว่านรสีหคาถา 

๑๐  คาถามีอาทิอย่างนี้ว่า

              พระผู้นรสีหะ  มีพระเกสาเป็นลอนอ่อนดำสนิท  มีพื้น

       พระนลาตปราศจากมลทินดุจพระอาทิตย์  มีพระนาสิกโค้ง

       อ่อนยาวพอเหมาะ  มีข่ายพระรัศมีแผ่ซ่านไป  ดังนี้.

       แล้วกราบทูลแด่พระราชาว่า  พระโอรสของพระองค์เสด็จ

เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว.  พระเจ้าสุทโธทนะสลดพระทัย        เอา

พระหัตถ์จัดผ้าสาฎกให้เรียบร้อย        พลางรีบด่วนเสด็จออก 

รีบเสด็จดำเนินไป  ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระ

ผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เพราะเหตุไร  พระองค์จึงทรง

กระทำหม่อมฉันให้ได้อาย  เพื่ออะไรจึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อ

ก้อนข้าว  ทำไมพระองค์จึงทรงกระทำความสำคัญว่า  ภิกษุ

มีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร.

       พระศาสดาตรัสว่า 

       มหาบพิตร  นี้เป็นการประพฤติตามวงศ์ของอาตมภาพ.

       พระราชาตรัสว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ชื่อว่าวงศ์ของเรา

ทั้งหลายเป็นวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราช  ก็วงศ์กษัตริย์มหาสมมต

ราชนี้  ย่อมไม่มีกษัตริย์สักพระองค์เดียว  ชื่อว่าผู้เที่ยวไปเพื่อภิกษา.

       พระศาสดาตรัสว่า  มหาบพิตร  ชื่อว่าวงศ์กษัตริย์นี้  เป็นวงศ์

ของพระองค์  ส่วนชื่อว่าพุทธวงศ์นี้  คือพระทีปังกร พระโกณฑัญญะ

ฯลฯ  พระกัสสปเป็นวงศ์ของอาตมภาพ  ก็พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เหล่านี้และอื่น ๆ นับได้หลายพัน  ได้สำเร็จการเลี้ยงพระชนม์ชีพ

ด้วยการเที่ยวภิกขาจารเท่านั้น  ทั้งที่ประทับยืนอยู่ในระหว่างถนน

นั่นแล  ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

              บุคคลไม่ควรประมาทในก้อนข้าวที่ตนพึงลุกขึ้นยืนรับ 

       พึงประพฤติธรรมให้สุจริต  บุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ 

       ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ดังนี้.

       ในเวลาจบพระคาถา  พระราชาทรงดำอยู่ในพระโสดาปัตติผล. 

       ได้ทรงสดับคาถานี้ว่า

              บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต  ให้พึงประพฤติธรรมนั้น

       ให้ทุจริต  ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ  ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้

       และโลกหน้า  ดังนี้.

       ได้ดำรงอยู่ในพระสกทาคามิผล. 

       ทรงสดับมหาธัมมปาลชาดก  ได้ดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล. 

       ก็พระราชานั้น  ครั้นทรงกระทำให้แจ้งพระโสดาปัตติผลแล้วแล

ทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงนำพระผู้มีพระภาคเจ้า

พร้อมทั้งบริษัทขึ้นสู่มหาปราสาท  ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหาร

อันประณีต.  

       ในเวลาเสร็จภัตกิจ  นางสนมทั้งปวงพากันมาถวายบังคม

พระผู้มีพระภาคเจ้า  ยกเว้นพระมารดาพระราหุล.  ก็พระมารดา

พระราหุลนั้น  แม้ปริวารชนจะกราบทูลว่า 

       ขอพระองค์จงเสด็จไปถวายบังคม พระลูกเจ้า  ก็ตรัสว่า

       ถ้าคุณความดีของเรามีอยู่  พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังสำนักของเรา

ด้วยพระองค์เอง  พระองค์เสด็จมานั้นแหละ  เราจึงจะถวายบังคม

ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็มิได้เสด็จไป.

       ก็แลพระศาสดาประทับนั่งในพระนิเวศน์ของพุทธบิดา

ในเวลากำลังเสวย ตรัสมหาธัมมปาลชาดก เสวยเสร็จทรงดำริว่า

เราจักนั่งในนิเวศน์ของมารดาราหุล กล่าวถึงคุณของเธอ แสดง

จันทกินนรชาดก ให้พระราชาทรงถือบาตรเสด็จไปที่ประทับ

แห่งพระมารดาของพระราหุล กับพระอัครสาวกทั้งสอง.

       ครั้งนั้นนางระบำ ๔๐,๐๐๐ ของพระนางพากันอยู่พร้อมหน้า.

บรรดานางทั้งนั้นที่เป็นขัตติยกัญญาถึง ๑,๐๙๐ นาง.

       พระนางทรงทราบว่าพระตถาคตเสด็จมา ตรัสบอกแก่นาง

เหล่านั้นว่า จงพากันนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดทั่วกันทีเดียว.

       นางเหล่านั้นพากันกระทำอย่างนั้น พระศาสดาเสด็จมา

ประทับนั่งเหนือพระแท่นที่เตรียมไว้.

       ครั้งนั้นพวกนางเหล่านั้นทั้งหมด ก็พากันร้องไห้ประดังขึ้น

เป็นเสียงเดียวกันอื้ออึงไป. เสียงร่ำให้ขนาดหนักได้มีแล้ว ฝ่าย

พระมารดาของพระราหุลเล่า ก็ทรงกันแสง  ครั้นทรงบรรเทา

ความโศกได้ ก็ถวายบังคมพระศาสดา    ประทับนั่งด้วยความ

นับถือมาก เป็นไปกับความเคารพอันมีในพระราชา.

       ครั้งนั้นพระราชาทรงพระปรารภคุณกถาของพระนาง

ได้ตรัสเล่าพรรณนาคุณของพระนางด้วยประการต่าง ๆ เช่น

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สะใภ้ของโยม  ฟังว่า พระองค์ทรงนุ่ง

กาสาวพัสตร์ นางก็นุ่งกาสาวพัสตร์เหมือนกัน ฟังว่าพระองค์เลิก

ทรงมาลาเป็นต้น ก็เลิกทรงมาลาเป็นต้น ฟังว่าทรงเลิกบรรทมเหนือ

พระยี่ภอันสูงอันใหญ่  ก็บรรเทาเหนือพื้นเหมือนกัน  ในระยะกาล

ที่พระองค์ทรงผนวชแล้ว   นางยอมเป็นหญิงหม้าย มิได้รับ

บรรณาการที่พระราชาอื่น ๆ ส่งมาให้เลย นางมีจิตมิได้เปลี่ยน

แปลงในพระองค์ถึงเพียงนี้. พระศาสดาตรัสว่า

       มหาบพิตร ไม่น่าอัศจรรย์เลย ที่นางมีความรักไม่เปลี่ยนแปลง

ในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย  ในอัตภาพสุดท้ายของ

อาตมภาพครั้งนี้ แม้บังเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน ก็ยังได้มีจิตไม่

เปลี่ยนแปลงในอาตมภาพอย่างไม่ไยดีในผู้อื่นเลย แล้วทรงรับ

อาราธนานำอดีตนิทานมาดังต่อไปนี้.

       ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในพระนคร

พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกินนร ในหิมวันตประเทศ.

ภรรยาของเธอนามว่า จันทา ทั้งคู่เล่าก็อยู่ที่ภูเขาเงินชื่อว่า จันทบรรพต

       ครั้งนั้น  พระเจ้าพาราณสีมอบราชสมบัติแก่หมู่อำมาตย์

ทรงผ้าย้อมฝาดสองผืน ทรงสอดพระเบญจาวุธ เข้าสู่ป่าหิมพานต์

ลำพังพระองคืเดียวเท่านั้น. ท้าวเธอเสวยเนื้อที่ทรงล่าได้เป็น

กระยาหาร เสด็จท่องเที่ยวไปถึงลำน้ำน้อย ๆ สายหนึ่งโดยลำดับ

ก็เสด็จขึ้นไปถึงต้นสาย ฝูงกินนรที่อยู่ ณ จันทบรรพต เวลาฤดูฝน

ก็ไม่ลงมา พากันอยู่ที่ภูเขานั่นแหละ ถึงฤดูแล้งจึงพากันลงมา.

       ครั้งนันจันทกินนรลงมากับภรรยาของตน เที่ยวเก็บเล็มของ

หอมในที่นั้น ๆ กินเกษรดอกไม้ นุ่งห่มด้วยสาหร่ายดอกไม้

เหนี่ยวเถาชิงช้า เป็นต้น เล่นพลางขับร้องไปพลาง ด้วยเสียง

จะแจ้วเจื้อยจนถึงลำน้ำน้อยสายนั้น หยุดลงตรงที่เป็นคุ้งแห่งหนึ่ง

โปรยปรายดอกไม้ลงในน้ำ ลงเล่นน้ำแล้วนุ่งห่มสาหร่ายดอกไม้

จัดแจงแต่งที่นอนด้วยดอกไม้ เหนือหาดทรายซึ่งมีสีเพียงแผ่นเงิน

       ต่อจากนั้น จันทกินนรก็เป่าขลุ่ยขับร้องด้วยเสียงอันหวานฉ่ำ

จันทกินรีก็ฟ้อนหัตถ์อันอ่อนยืนอยู่ในที่ใกล้สามีฟ้อนไปบ้าง

ขับร้องไปบ้าง.

       พระราชานั้นทรงสดับเสียงของกินนรกินรีนั้น ก็ทรงย่อง

เข้าไปค่อย ๆ ยืนแอบในที่กำบัง ทรงทอดพระเนตรกินนรเหล่านั้น

ก็ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ในกินรีทรงดำริว่า จักยิงกินนรนั้นเสียให้ถึง

สิ้นชีวิต ถึงสำเร็จการอยู่ร่วมกินรีนี้แล้วทรงยิงจันทกินนร.

       พระมหาสัตว์คร่ำครวญ นอนเหนือที่นอนดอกไม้นั่นเอง

ชักดิ้นสิ้นสติ.  ฝ่ายพระราชายังคงยืนอยู่.

       จันทากินรีเมื่อพระมหาสัตว์รำพัน กำลังเพลิดเพลินเสียด้วย

ความรื่นเริงของตน มิได้รู้ว่าเธอถูกยิง แต่ครั้นเห็นเธอไร้สัญญา

นอนดิ้นไป ก็ใคร่ครวญว่า ทุกข์ของสามีเราเป็นอย่างไรหนอ

พอเห็นเลือดไหลออกจากปากแผล ก็ไม่อาจสะกดกลั้นความโศก

อันมีกำลังที่เกิดขึ้นในสามีที่รักไว้ได้ ร่ำไห้ด้วยเสียงดัง.

       พระราชทรงดำริว่า กินนรคงตายแล้ว ปรากฏพระองค์ออกมา.

       จันทาเห็นท้าวเธอหวั่นใจว่า โจรผู้นี้คงยิงสามีที่รักของเรา

จึงหนีไปอยู่บนยอดเขา พลางบริภาษพระราชา

       พระราชาเมื่อจะตรัสปลอบนาง  ผู้ยืนร่ำไห้เหนือยอดภูเขา

ด้วย ๕ คาถาจึงตรัสคาถาว่า

              ดูก่อนนางจันทา  ผู้มีนัยน์ตาเบิกบานดังดอกไม้

       ในป่า  เธออย่าร้องไห้ไปเลย  เธอจักได้เป็นอัครมเหสี

       ของฉันมีเหล่านารีในราชสกุลบูชา.

       นางจันทากินรี  ฟังคำของท้าวเธอแล้วกล่าวว่า

       ท่านพูดอะไร เมื่อจะบันลือสีหนาทจึงกล่าวคาถาต่อไปว่า

              ถึงแม้ว่าเราจักต้องตาย  แต่เราจักไม่ขอยอมเป็น

       ของท่าน  ผู้ฆ่ากินนรสามีของเรา  ผู้มิได้ประทุษร้าย

       เพราะความรักใคร่ในเรา.

       ท้าวเธอฟังคำของนางแล้วหมดความรักใคร่ ตรัสคาถาต่อไปว่า

              แน่ะนางกินรีผู้ขี้ขลาด  มีความรักใคร่ต่อชีวิต

       เจ้าจงไปสู่ป่าหิมพานต์เถิด  มฤคอื่น ๆ ที่บริโภค

       กฤษณาและกระลำพัก  จักยังรักใคร่ยินดีต่อเจ้า.

       ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้วก็เสด็จหลีกไปอย่างหมดเยื่อใย

นางทราบว่า  ท้าวเธอไปแล้วก็ลงมากอดพระมหาสัตว์ อุ้มขึ้น

สู่ยอดภูเขา ให้นอนเหนือยอดภูเขา ยกศีรษะวางไว้เหนือขา

ของตน พลางพร่ำไห้เป็นกำลัง  วางมือลงตรงอุระพระมหาสัตว์

รู้ว่ายังอุ่นอยู่ ก็คิดว่า พี่จันท์ ยังมีชีวิตเป็นแน่ เราต้องกระทำการ

เพ่งโทษเทวดา ให้ชีวิตของเธอคืนมาเถิด.

       แล้วได้กระทำการเพ่งโทษเทวดาว่า  เทพเจ้าที่ได้นามว่า

ท้าวโลกบาลน่ะ ไม่มีเสียหรือไรเล่า หรือหลบไปเสียหมดแล้ว

หรือตายหมดแล้ว ช่างไม่ดูแลผัวรักของข้าเสียเลย.

       ด้วยแรงโศกของนาง พิภพท้าวสักกะเกิดร้อน.

       ท้าวสักกะทรงดำริทราบเหตุนั้น แปลงเป็นพราหมณ์ถือ

กุณฑีน้ำมาหลั่งรดพระมหาสัตว์. ทันเองพิษก็หายสิ้น. แผลก็เต็ม

แม้แต่รอยที่ว่าถูกยิงตรงนี้ก็มิได้ปรากฏ.

       พระมหาสัตว์สบายลุกขึ้นได้ จันทาเห็นสามีที่รักหายโรค

แสนจะดีใจ ไหว้แทบเท้าของท้าวสักกะ กล่าวคาถาเป็นลำดับว่า

              ข้าแต่ท่านพราหมณ์ผู้เป็นเจ้า  ฉันขอไหว้เท้า

       ทั้งสองของท่านผู้มีความเห็นดู  มารดาสามีผู้ที่ดิฉัน

       ซึ่งเป็นกำพร้าปรารถนายิ่งนักด้วยน้ำอมฤต ดิฉันได้

       ชื่อว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยสามีผู้เป็นที่รักยิ่งแล้ว.

       ท้าวสักกะได้ประทานโอวาทแก่กินนรทั้งคู่นั้นว่า

       ตั้งแต่บัดนี้เธอทั้งสองอย่าลงจากจันทบรรพตไปสู่ถิ่นมนุษย์

เลย จงพากันอยู่ที่นี้เท่านั้นนะ

       ครั้นแล้วก็เสด็จไปสู่สถานที่ของท้าวเธอ.

       ฝ่ายจันทากินรีก็กล่าวว่า พี่เจ้าเอ๋ย เราจะต้องการอะไร

ด้วยสถานที่อันมีภัยรอบด้านนี้เล่า มาเถิดค่ะ เราพากันไปสู่

จันทบรรพตเลยเถิดคะ

       พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น  แม้ในครั้งก่อน

นางก็ไม่ได้เอาใจออกห่างเรา   มิใช่หญิงที่ผู้อื่นจะนำไปได้

เหมือนกัน  ทรงประชุมชาดกว่า  พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็น

เทวทัต  ท้าวสักกะได้มาเป็นอนุรุทธะ  จันทากินรี ได้มาเป็น

มารดาเจ้าราหุล(ยโสธรา)  ส่วนจันทกินนรได้มาเป็นเราตถาคตแล.

       ก็ในวันรุ่งขึ้น  เมื่องานวิวาหมงคลเนื่องในการเสด็จเข้า

พระตำหนักอภิเษกของนันทราชกุมารกำลังเป็นไปอยู่  พระศาสดา

เสด็จไปยังตำหนักของนันทราชกุมารนั้น ทรงให้พระกุมารถือบาตร

มีพระประสงค์จะให้บวช  นันทกุมารไม่ปรารถนาเลย 

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้บวชแล้ว. 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์  ทรงให้นันทะ

บวชในวันที่    ด้วยประการฉะนี้.

       ในวันที่    แม้พระนางยโสธราพิมพา   ก็ทรงแต่องค์

พระกุมาร  แล้วส่งไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า 

       นี่แน่ะพ่อ  เจ้าจงดูพระสมณะนั่น ซึ่งมีวรรณแห่งรูปดังรูปพรหม 

มีวรรณดังทองคำ  ห้อมล้อมด้วยสมณะสองหมื่นรูป  พระสมณะนี้

เป็นบิดาของเจ้า  พระสมณะนั่นมีขุมทรัพย์ใหญ่ 

       จำเดิมแต่พระสมณะนั้นออกบวชแล้ว  แม้ไม่เห็นขุมทรัพย์

เหล่านั้น  เจ้าจงไปขอมรดกกะพระสมณะนั้นว่า 

       ข้าแต่พระบิดา  ข้าพระองค์เป็นกุมาร  ได้รับอภิเษกแล้วจักได้

เป็นจักรพรรดิ  ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์  ขอพระองค์จงประทาน

ทรัพย์แก่ข้าพระองค์  เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของบิดา

และพระกุมารก็ได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล 

ได้ความรักในฐานเป็นบิดา  มีจิตใจร่าเริง  กราบทูลว่า 

       ข้าแต่พระสมณะ  ร่มเงาของพระองค์เป็นสุข  แล้วได้ยืน

ตรัสถ้อยคำอื่น ๆ และถ้อยคำอันสมควรแก่ตนเป็นอันมาก. 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสอนุโมทนาเสร็จแล้ว 

ทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป.  ฝ่ายพระกุมารกราบทูลว่า 

       ข้าแต่พระสมณะ   ขอพระองค์จงประทานทรัพย์มรดกแก่

ข้าพระองค์...  แล้วติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป.

       พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ให้พระกุมารกลับ  แม้ปริวารชนก็ไม่

อาจยังพระกุมารผู้เสด็จไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้กลับได้.

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า

       กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา  ซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ

มีแต่ความคับแค้น  เอาเถอะเราจะให้อริยทรัพย์    ประการ 

ซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้  เราจะทำกุมารนั้นให้เป็น

เจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ  จึงตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร

มาว่า  สารีบุตร  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงให้ราหุลกุมารบวช  ซึ่ง

พระราหุลก็ได้เป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา.

 

                     พระนางยโสธราพิมพาออกบวช

       หลังจากนั้น  ประมาณพรรษาที่ ๕ แห่งพระผู้มีพระภาค  ต่อมา

เมื่อพระเจ้าสุทโธทนมหาราชปรินิพพานแล้ว  พระนางมหาปชาบดี

โคตมีพร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นาง   ขอบรรพชาในสำนักของ

พระศาสดา.  ส่วนทางพระนครกบิลพัสดุ์  หมู่อำมาตย์ได้ทำพิธี

ราชาภิเษกให้เจ้าชายมหานามะ  ขึ้นครองราชสมบัติแทน.

       พระนางยโสธราพิมพา พร้อมบริวาร ๑,๑๐๐ คน ก็พากันไป

ยังสำนักของพระเถรี   ได้รับคุรุธรรม ๘ บวชแล้ว  ขณะนั้น

พระนางมีพระชนมายุ ๔๐ พรรษา 

       ภายหลัง นางจำเดิมแต่บวชแล้วได้ปรากฏชื่อว่า ภัททากัจจานาเถรี.

       พระนางมีพระนามว่า  ภัททากัจจานา.  ก็เพราะผิวพรรณแห่ง

สรีระของพระนางนั้นเป็นผิวพรรณเหมือนผิวของทองคำชั้นดีที่สุด.

              พระภัททากัจจานาเถรี (ยโสธา) ทรงพระประชวร

       สมัยหนึ่ง  ราหุลสามเณรได้มาเยี่ยมพระชนนี 

       ในวันนั้น  ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น.

เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน  พระเถรีนั้นไม่

สามารถจะออกมาพบได้  ภิกษุณีอื่นๆ  จึงมาบอกว่า 

       พระเถรีไม่สบาย. 

       ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนักของพระมารดา แล้วทูลถามว่า 

       พระองค์ควรจะได้ยาอะไร? 

       พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า  ดูก่อนพ่อ  ในคราวยังครองเรือน

มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอยด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น

โรคลมในท้องก็สงบระงับไป  แต่บัดนี้  พวกเราเที่ยวบิณฑบาติ

เลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน.

       ราหุลสามเณรทูลว่า  เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา  แล้วก็ออกไป.

       ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย  คือ  มีพระธรรมเสนาบดี

เป็นอุปัชฌาย์  มีพระมหาโมคคัลลานะเป็นอาจารย์  มีพระอานันท

เถระเป็นอา  มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบิดา. 

       แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น  ท่านก็ไม่ไปยังสำนักอื่น  ได้ไปยังสำนัก

ของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว  ได้ยืนมีอาการหน้าเศร้าอยู่. 

       ลำดับนั้น  พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า 

       ดูก่อนราหุล  เหตุไรหนอ  เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่. 

       ราหุลสามเณรกล่าวว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  โรคลมในท้อง

แห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม  กำเริบขึ้น. 

       พระสารีบุตรเถระถามว่า  ได้อะไรจึงจะควร  ? 

       ราหุลสามเณรเรียกว่า  พระมารดาเล่าให้ฟังว่า  มีความ

ผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด. 

       พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า  ช่างเถอะ  เราจักได้มา 

เธออย่าคิดไปเลย. 

       ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปใน

เมืองสาวัตถี  ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตู

พระราชวัง.  พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง. 

       ในขณะนั้นเอง  นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวาน

ที่สุกทั้งพวง  จำนวนห่อหนึ่งมาถวาย.  พระราชาทรงปอก

เปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป  ขยำด้วย

พระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร. 

       พระสารีบุตรเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน

แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า  เธอจงนำรสมะม่วง

นั้นไปให้มารดาของเธอ. 

       ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว.  พอพระเถรี

บริโภคแล้วเท่านั้น  โรคลมในท้องก็สงบ. 

       ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า 

       พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้  เธอจงไปดูให้รู้ว่า

พระเถระให้ใคร.  ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ

ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. 

       พระราชาทรงพระดำริว่า  ถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน

จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว

พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว  ราชสมบัติในสกลจักวาฬจักเป็น

ของท่านเหล่านี้ทีเดียว  ควรที่เราจะพึงอุปฏฐากบำรุงท่าน

เหล่านี้  บัดนี้.  เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้  ผู้บวช

แล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่.  จำเดิมแต่นั้น  พระเจ้าโกศลรับสั่ง

ให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ. 

 

              พระภัททากัจจานาเถรี (ยโสธา) บรรลุอรหัต

       ต่อมา  พระภัททากัจจานาเถรี  รับกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า

และเจริญวิปัสสนายังไม่ทันถึง ๑๕ วัน  ก็บรรลุพระอรหัต

       พระภัททากัจจานาเถรี  เป็นผู้ช่ำชองชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย

นั่งขัดสมาธิครั้งเดียว.  ระลึกชาติได้ถึงอสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป

โดยการระลึกถึงเพียงครั้งเดียว 

       ความจริง สำหรับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง  มีผู้ที่สำเร็จอภิญญา

ใหญ่ได้ ๔ ท่าน  สาวกที่เหลือหาสำเร็จไม่.  เพราะสาวกที่เหลือ

ย่อมสามารถระลึกชาติได้ตลอดแสนกัปเท่านั้น  ยิ่งขึ้นไปกว่า

นั้นระลึกไม่ได้.  แต่ท่านผู้บรรลุอภิญญาใหญ่ย่อมระลึกชาติได้

อสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป.  ในศาสนาของพระศาสดาแม้

ของพวกเราชน    ท่านเหล่านี้คือ   พระอัครสาวก ๒  รูป 

พระพากุลเถระ  พระนางภัททากัจจานาเถรี  สามารถระลึกชาติ

ได้ประมาณเท่านี้. 

       เพราะฉะนั้น  เมื่อคุณความดีนั้นของนางปรากฏชัดแล้ว 

พระศาสดาประทับนั่งในพระเชตวัน  เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณี

ทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะต่าง ๆ ตามลำดับ  จึงทรง

สถาปนาพระเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่า

ภิกษุณีสาวิกาผู้บรรลุอภิญญาใหญ่  แล.

                     พระนางภัททากัจจานาเถรีนิพพาน

       ในพรรษาที่ ๔๓ แห่งพระผู้มีพระภาค  เวลานั้นพระนาง

ภัททากัจจานาเถรี  มีพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษา ได้เข้าไปกราบ

ทูลลาพระผู้มีพระภาคเพื่อปรินิพพาน ดังความย่อในอปทานว่า

       ดิฉันมีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก มีภิกษุณี ๑,๑๐๐ องค์ เป็นบริวาร

เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ถวายอภิวาทแล้วเห็นลายลักษณ์กงจักร

ของพระศาสดา แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ได้กราบทูลว่า

       หม่อมฉันมีอายุ ๗๘ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ถึงความเป็น

ผู้มีกายเงื้อมลงแล้ว   ขอกราบทูลลาพระมหามุนี  หม่อมฉันมี

วัยแก่ มีชีวิตน้อย  จักละพระองค์ไป มีที่พึ่งของตนได้ทำแล้ว

มีมรณะใกล้เข้ามา  ในวัยหลัง ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉัน

จักถึงความดับในคืนวันนี้

# อป.อ. ๘/๑/๑๗๕-๑๘๐; ชา.อ. ๓/๖/๓๖๔-๓๗๒;

องฺ.อ. ๑/๒/๔๘-๔๙; อป.อ. ๙/๖๔๐-๖๕๒; ชา.อ. ๓/๔/๒๓๙-๒๔๑