กัสสป(ปิปผลิ),เอตทัคคมหาสาวกผู้ทรงธุดงค์(๓,๑๖)
       ปิปผลิมาณพนี้บังเกิดในท้องของพระอัครมเหสี ของ กบิลพราหมณ์ ในมหาติตถพราหมณคาม ในมคธรัฐ ภายหลังจึงเรียกขานว่า กัสสป (ตามชื่อโคตรของท่าน) บิดาท่านชื่อว่า กปิละ เมื่อท่านเหล่านั้นเจริญโดยลำดับ เมื่อปิปผลมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปี นางภัททามีอายุครบ ๑๖ ปี มารดาบิดาแลดูบุตรแล้วคาดคั้นอย่างหนักว่า
      ดูก่อนพ่อ เจ้าเจริญวัยแล้ว ชื่อว่าวงศ์ตระกูลจะต้องดำรงไว้. มาณพกล่าวว่า ท่านอย่ากล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ในคลองแห่งโสตประสาทของฉัน ฉันจักปรนนิบัติท่านตลอดเวลาที่ท่าน ยังมีชีวิตอยู่ โดยกาลล่วงไปแห่งท่าน ฉันจักออกบวช. โดยล่วงไป ๒-๓ วัน ท่านทั้งสองก็กล่าวอีก แม้ท่านก็ปฏิเสธ
เหมือนอย่างนั้นนั่นเอง.
      จำเดิมแต่นั้นมาท่านก็กล่าวอย่างนั้นไม่ขาดระยะเลย. มาณพคิดว่า เราจักให้มารดาของเรายินยอม จึงให้แท่งทองสุกปลั่ง ๑,๐๐๐ แท่ง อันช่างทองทำให้อ่อนตามต้องการทั้งปวงแล้ว สร้างรูปหญิงรูปหนึ่ง ในเวลาสิ้นสุดแห่งกรรม มีการเช็ดและบุ เป็นต้นของแท่งทองนั้น ก็ให้นุ่งผ้าแดง ให้ประดับด้วยดอกไม้ สมบูรณ์ด้วยดี และเครื่องประดับต่าง ๆ ให้เรียกมารดามากล่าวว่า แม่ เมื่อฉันได้อารมณ์เห็นปานนี้ จักอยู่ครองเรือน เมื่อไม่ได้
จักไม่อยู่. นางพราหมณีผู้เป็นบัณฑิตคิดว่า บุตรของเรามีบุญ ได้เคยให้ทาน เคยทำอภินิหารไว้ เมื่อทำบุญ ไม่ได้เป็นผู้ ๆ เดียวกระทำ โดยที่แท้เคยทำบุญร่วมกับเขาไว้ จึงเป็น ผู้มีส่วนเปรียบด้วยรูปทอง ดังนี้แล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน มา ให้อิ่มหนำด้วยกามทั้งปวง ให้ยกรูปทองขึ้นสู่รถส่งไปเพื่อให้รู้ว่า พ่อทั้งหลาย พวกท่านจงไปในตระกูลที่เสมอกันโดยชาติโคตร และโภคะของเรา จงดูนางทาริกาเห็นปานนี้ จงกระทำรูปทองนี้แหละ ให้เป็นเครื่องบรรณาการแล้วจงกลับมา.
       พราหมณ์เหล่านั้น ออกไปด้วยคิดว่า นี้เป็นกรรมชื่อของพวกเรา คิดว่าพวกเราจักไปในที่ไหน จึงคิดว่า ชื่อว่ามัททรัฐ เป็นบ่อเกิดแห่ง หญิง เราจักไปมัททรัฐ ดังนี้แล้ว ได้ไปสาคลนคร ในมัททรัฐ. ได้วางรูปทองนั้นไว้ที่ท่าอาบน้ำในสาคลนครนั้น แล้วได้นั่งที่ควรข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พี่เลี้ยงของนางภัททา ให้นางภัททาอาบน้ำแล้ว แล้ว ประดับให้นั่งในห้องอันประกอบด้วยสิริ ตนเองก็ไปยังท่าน้ำเพื่อ อาบน้ำ ได้เห็นรูปทองนั้นในที่นั้น คิดว่า ธิดานี้ใคร ๆ ไม่ได้นำมา
มาอยู่ในที่นี้ได้อย่างไร ? จึงได้แตะดูข้างหลังรู้ว่ารูปทอง จึงกล่าวว่า เราให้เกิดความสำคัญขึ้นว่านี้ธิดาแม่เจ้าของเรา แต่นี้ไม่เหมือน ธิดาแม่เจ้าของเรา แม้ผู้รับเครื่องนุ่งห่ม.
       ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้น จึงพากันห้อมล้อมรูปนั้นแล้วถามว่า รูปเห็นปานนี้เป็นธิดาของท่านหรือ ? พี่เลี้ยงกล่าวว่า นี้อะไรกัน ธิดาแม่เจ้าของเรา ยังงามกว่ารูปทองเปรียบนี้ตั้ง ๑๐๐ เท่า ๑,๐๐๐ เท่า เมื่อนางนั่งอยู่ในห้องประมาณ ๑๒ ศอก กิจด้วยประทีปย่อมไม่มี แม่เจ้าย่อมกำจัดความมืด โดยแสงสว่างแห่งสรีระนั้นเอง. พวกเขาจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นจงมาเถิด แล้วพาคนค่อมนั้น ยกรูปทองขึ้นบนรถยืนอยู่ที่ประตูเรือนของพราหมณ์โกสิยโคตร จึงได้แจ้งการมาให้ทราบ.
         พราหมณ์ปฏิสันถารแล้วถามว่า พวกท่านมาจากไหน ? พวกพราหมณ์กล่าวว่า มาแต่เรือนของกบิลพราหมณ์ ใน มหาติตถคาม มคธรัฐพราหมณ์ถามว่า มาเพราะเหตุอะไร ? พวกพราหมณ์ตอบว่า เพราะเหตุชื่อนี้ พราหมณ์กล่าวว่า เป็นกรรมดีละพ่อทั้งหลาย พราหมณ์ของพวกเรามีชาติโคตร
และสมบัติเสมอกัน เราจักให้นางทาริกา ดังนี้แล้วรับเอาเครื่อง บรรณาการไว้.
        พวกเขาได้ส่งสาสน์ไปให้แก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้นางทาริกาแล้ว นางจงกระทำสิ่งที่ควรทำ คนทั้งหลายได้ทราบข่าวนั้นแล้ว จึงแจ้งให้กบิลพราหมณ์ทราบว่า ได้ยินว่า ได้นางทาริกาแล้ว. มาณพคิดว่า เราคิดว่าจักไม่ได้ พวกเหล่านี้กล่าวว่าได้แล้ว
เราไม่มีความต้องการ จักส่งหนังสือไป ดังนี้แล้ว ได้อยู่ในที่ลับ เขียนหนังสือส่งไปว่า ขอนางภัททาจงได้ครองเรือน อันสมควร แก่ชาติโคตรและโภคะของตนเถิด เราจักออกบวช อย่าได้มี ความเดือดร้อนในภายหลังเลย.
        ฝ่ายนางภัททาได้สดับว่า บิดาประสงค์จะให้เราแก่ชายโน้น จึงคิดว่า เราจักส่งหนังสือไป ดังนี้แล้ว ได้อยู่ในที่ลับเขียนหนังสือส่งไปว่า พระลูกเจ้า พระลูกเจ้า จงได้ครองเรือนอันสมควรแก่ชาติโคตร และโภคะของตนเถิด ดิฉันจักบวช อย่าได้มีความเดือดร้อนใน ภายหลังเลย หนังสือทั้งสองได้มาประจวบกันในระหว่างทางถามว่า เป็นหนังสือของใคร ? เมื่อได้คำตอบว่า เป็นหนังสือที่ปิปผลิมาณพ ส่งหนังสือถึงนางภัททา ก็เมื่อกล่าวว่า นางภัททาก็ส่งหนังสือถึง ปิปผลิมาณพ. คนทั้งหลายได้อ่านหนังสือทั้งสองฉบับแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงดูกรรมของเด็กทั้งหลาย ดังนี้แล้ว ก็ฉีกทิ้งเสียในป่า จึงเขียนหนังสืออื่นซึ่งเหมือนกับหนังสือนั้น แล้วส่งไปข้างโน้น และข้างนี้. การสมาคมแห่งคนทั้งสองผู้ไม่ปรารถนาอยู่นั่นแหละ เพราะหนังสือที่เหมือนกัน ที่เกื้อกูลแก่ความยินดีทางโลกเท่านั้น ของกุมารกับนางกุมาริกา ได้มีแล้วด้วยประการฉะนี้.
        ในวันนั้นนั่นเอง ปิปผลิมาณพให้ร้อยพวงดอกไม้พวงหนึ่ง แม้ นางภัททาก็ร้อย คนทั้งสองวางพวงดอกไม้ไว้บนท่ามกลางที่นอน บริโภคอาหารเย็นแล้ว คิดว่าเราจักขึ้นสู่ที่นอน,มาณพขึ้นสู่ที่นอน โดยทางข้างขวา, นางภัททาขึ้นทางซ้าย แล้วกล่าวว่า เราจักรู้ว่า ดอกไม้ย่อมเหี่ยว ณ ข้างของผู้ใด ราคะจิตเกิดแล้วแก่ผู้นั้น พวงดอกไม้นี้ไม่พึงเป็นดอกไม้สด. คนทั้งสองนั้นไม่ก้าวล่วงลงสู่ความหลับเลย ปล่อยให้ ๓ ยาม แห่งราตรีล่วงไป เพราะกลัวแต่สัมผัสแห่งร่างกายของกันและกัน, ส่วนในกลางวันแม้เพียงยิ้มแย้มก็มิได้มี คนทั้งสองนั้นไม่ได้คลุกคลี ด้วยโลกามิส ไม่ได้พิจารณาถึงขุมทรัพย์ตลอดเวลาที่มารดาบิดายัง ดำรงชีพอยู่ เมื่อมารดาบิดาทำกาละแล้วจึงพิจารณา. สมบัติของมาณพมีดังต่อไปนี้ :-
       ในวันหนึ่ง ควรได้จุณทองคำที่เขาขัดถูร่างกายแล้ว พึงทิ้งไปประมาณ ๑๒ ทะนานโดยทะนานมคธ, สระใหญ่ ๖๐ สระผูกติดเครื่องยนต์ การงานประมาณ ๑๒ โยชน์, บ้านส่วย ๑๔ ตำบล เท่าเมืองอนุราธบุรี, ยานที่เทียมด้วยช้าง ๑๔, ยานที่เทียมด้วยม้า ๑๔, ยานที่เทียมด้วยรถ ๑๔. วันหนึ่งมาณพนั้นขึ้นม้าที่ประดับแล้ว แวดล้อมไปด้วย มหาชนไปยังที่ทำงาน ยืนอยู่ที่ปลายนา เห็นนกมีกาเป็นต้น จิกสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้นกัดกินจากที่ที่ถูกไถทำลาย จึงถามว่า พ่อทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ชนทั้งหลายกล่าวว่า กินไส้เดือน ผู้เป็นเจ้า. มาณพกล่าวว่าบาปที่สัตว์เหล่านี้ กระทำย่อมมีแก่ใคร. ชนทั้งหลายตอบว่า มีแก่ท่านผู้เป็นเจ้า. เขาคิดว่า ถ้าบาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำมีแก่เราไซร้ ทรัพย์ ๘๗
โกฏิจักกระทำประโยชน์อะไรแก่เรา การงาน ๑๒ โยชน์จะทำอะไร สระที่ผูกติดเครื่องยนต์จะทำอะไร บ้านส่วย ๑๔ ตำบลจะทำอะไร เราจักมอบทรัพย์ทั้งหมดนี้ให้นางภัททกาปิลานี แล้วออกบวช.
         ในขณะนั้น แม้นางภัททกาปิลานี้ ก็ให้ตากหม้อเมล็ดงา ๓ หม้อใน ภายในพื้นที่ นั่งแวดล้อมไปด้วยพี่เลี้ยง เห็นกาทั้งหลายจิกกินสัตว์ที่อยู่ในเมล็ดงา ก็ถามว่า แม่ สัตว์เหล่านี้กินอะไร ? พวกพี่เลี้ยงกล่าวว่า กินสัตว์แม่เจ้า. นางถามว่า อกุศลย่อมมีแก่ใคร ? พวกพี่เลี้ยงกล่าวว่า มีแก่ ท่านแม่เจ้า. นางคิดว่า การที่เราได้ผ้า ๔ ศอก และข้าวสารเพียงทะนาน หนึ่งย่อมควร ก็ถ้าอกุศลที่ชนมีประมาณเท่านี้กระทำ ย่อมมีแก่เราไซร้ เราก็ไม่สามารถเงยศีรษะขึ้นได้จากวัฏฏะแม้ตั้ง ๑,๐๐๐ ภพ พอลูกเจ้ามา ถึงเท่านั้น เราก็จะมอบสมบัติทั้งหมดแก่ลูกเจ้า แล้วจักออกบวช. มาณพมาแล้ว อาบน้ำขึ้นสู่ปราสาท นั่งบนบัลลังก์อันมีค่ามาก.
         ลำดับนั้น ชนทั้งหลายก็จัดแจงโภชนะอันสมควรแก่พระเจ้าจักรพรรดินั้น. เมื่อชนผู้เป็นบริวารออกไปแล้ว ชนทั้งสองบริโภคแล้วอยู่ในที่ลับ นั่งอยู่ ในที่อันผาสุก. ลำดับนั้น มาณพนั้นกล่าวกะนางภัททาว่า นางผู้เจริญ เธอมาสู่เรือนนี้นำทรัพย์มาประมาณเท่าไร ?
นาง. ๕๕,๐๐๐ เล่มเกวียน ลูกเจ้า. มาณพ. ทรัพย์ทั้งหมดคือทรัพย์ ๘๗ โกฏิ และสมบัติต่างโดยสระ ๖๐ ที่ผูกด้วยยนต์ที่มีอยู่ในเรือนนี้ทั้งหมด ฉันมอบให้แก่เธอเท่านั้น.
นาง. ก็ท่านเล่า ลูกเจ้าจะไปไหน ?
มาณพ. เราจักบวช
นาง. ลูกเจ้า แม้ดิฉันก็นั่งรอคอยการมาของท่านอยู่เท่านั้น ดิฉัน
ก็จักบวช.
         ภพ ๓ ได้ปรากฏแก่คนทั้งสองนั้น เหมือนกุฏีที่มุงด้วยใบไม้ ถูกไฟไหม้ฉะนั้น คนเหล่านั้น ให้นำผ้าที่ย้อมน้ำฝาดและบาตรดินมา จากร้านตลาด ให้ปลงผมกันและกันแล้วกล่าวว่า พระอรหันต์เหล่าใด มีอยู่ในโลก เราทั้งหลายจงบวชอุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น ดังนี้แล้วบวช ใส่บาตรเข้าในถุงคล้องไว้ที่ไหล่ ลงจากปราสาท. ใคร ๆ ในบรรดาทาส หรือกรรมกรในเรือน จำไม่ได้.
         ลำดับนั้น ชาวบ้านทาสคามจำคนทั้งสองนั้นผู้ออกจากพราหมณคาม ไปทางประตูทาสคามได้ ด้วยสามารถอากัปกิริยา. คนเหล่านั้นร้องไห้ หมอบที่เท้า กล่าวว่า ผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พวกท่านทำพวกข้าพเจ้า ไม่ให้มีที่พึ่งหรือ ? คนทั้งสองนั้นกล่าวว่า พวกเรากล่าวว่า พนาย ภพทั้ง ๓ ปรากฏเหมือนบรรณศาลาที่ถูกไฟไหม้ จึงได้บวช ถ้าเราทำแต่ ละคนในบรรดาท่านให้เป็นไทไซร้ แม้ตั้ง ๑๐๐ ปีก็ไม่พอ พวกท่าน นั้นแหละจงชำระศีรษะของท่านจงเป็นไทเถิด ดังนี้ เมื่อคนเหล่านั้น กำลังร้องไห้อยู่นั้นเองได้หลีกไปแล้ว. พระเถระไปข้างหน้ากลับเหลียวมาดูคิดว่า นางภัททกาปิลานีนี้ เป็น หญิงมีค่าในชมพูทวีปทั้งสิ้นมาข้างหลังเรา ข้อที่ใคร ๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า คนทั้งสองนี้ แม้บวชแล้วไม่อาจพรากจากกันได้ กระทำไม่สมควร ข้อ นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เกิดความคิดขึ้นว่า ใคร ๆ พึงคิดประทุษร้ายด้วยความชั่ว พึงเป็นผู้แออัดในอบาย การที่เราละผู้นี้ไปจึงควร. ท่านไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง ได้หยุดอยู่ในที่สุดแห่งทางนั้น. ฝ่ายนางภัททามาไหว้แล้วได้ยืนอยู่แล้ว.
         ลำดับนั้น ท่านกล่าวกะทางภัททาว่า แน่ะนางผู้เจริญ มหาชนเห็นหญิงเช่นนั้นเดิมมาตามเราแล้วคิดว่า คนเหล่านี้ แม้บวชแล้ว ก็ไม่อาจจากกันได้ พึงมีจิตคิดประทุษร้ายในเรา พึงเป็นผู้ แออัดในอบาย ท่านจึงกล่าวว่า ในทาง ๒ แพร่งนี้ เจ้าจงถือเอาทางหนึ่ง เราจักไปโดยทางหนึ่ง. นางภัททากล่าวว่า อย่างนั้นพระผู้เป็นเจ้า มาตุคามเป็นเครื่องกังวลของบรรพชิตทั้งหลาย คนทั้งหลายจักแสดง โทษของพวกเราว่า คนเหล่านี้แม้บวชแล้ว ก็ไม่พรากจากกันได้
ท่านจงถือเอาทางหนึ่ง พวกเราจักแยกจากกัน ดังนี้แล้วกระทำ ประทักษิณ ๓ รอบ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในฐานะทั้ง ๔ ประคองอัญชลีแล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมกันโดยฐานมิตร ที่ทำไว้ ในกาลนานประมาณแสนปี ย่อมทำลายลงในวันนี้ แล้วกล่าวว่า ท่านชื่อว่าเป็นชาติขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน เราชื่อว่าเป็น มาตุคามเป็นชาติซ้าย ทางฝ่ายซ้ายควรแก่เราดังนี้ ไหว้แล้วเดินทางไป.
         ในกาลที่คนทั้งสองแยกทางกัน มหาปฐพีนี้ร้องไห้หวั่นไหว เหมือนกล่าวอยู่ว่า เราสามารถจะทรงไว้ซึ่งขุนเขาจักรวาลและ ขุนเขาสิเนรุได้ แต่ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านได้ เป็นไปเหมือน เสียงอสนีบาตในอากาศ ขุนเขาจักรวาลและสิเนรุบันลือลั่น. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งที่พระคันธกุฏีในพระเชตวันมหาวิหาร สดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงรำพึงว่า แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงพระดำริว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททกาปิลานี ละสมบัติอันหา ประมาณมิได้บวชอุทิศเรา แผ่นดินไหวนี้เกิดเพราะกำลังคุณของคน ทั้งสอง ในฐานะที่คนทั้งสองแยกจากกัน แม้เราควรกระทำการ สงเคราะห์แก่คนทั้งสองนั้น ดังนี้แล้วออกจากพระคันธกุฏี ถือบาตร
และจีวรด้วยพระองค์เองไม่ปรึกษากะใคร ๆ ในบรรดาพระอสีติมหาเถระ กระทำหนทาง ๓ คาวุต ให้เป็นที่ต้อนรับ ทรงนั่งคู้บัลลังก์ ณ โคนต้น พหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา และเมื่อนั่ง ไม่ทรงนั่งเหมือนภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปใดรูปหนึ่ง ทรงถือเอาเพศ แห่งพระพุทธเจ้า ประทับนั่งฉายพระพุทธรัศมีเป็นแท่งทึบประมาณ ๘ ศอก.
         ดังนั้นใน ขณะนั้น พระพุทธรัศมี ซึ่งมีประมาณเท่าฉัตร ใบไม้ ล้อเกวียนและเรือนยอดเป็นต้น แผ่ซ่านวิ่งไปข้างโน้มข้างนี้ กระทำเหมือนเวลาที่ขึ้นไปแห่งพระจันทร์ ๑,๐๐๐ ดวง และ พระอาทิตย์ ๑,๐๐๐ ดวง กระทำที่สุดป่านั้นให้มีแสงเป็นอันเดียวกัน. เหมือนท้องฟ้าที่รุ่งโรจน์ด้วยหมู่ดาว ที่รุ่งโรจน์ด้วยสิริแห่ง มหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหมือนน้ำรุ่งเรืองด้วยดอกกมลและ ดอกบัวอันบานสะพรั่ง ทำที่สุดป่าให้รุ่งโรจน์ ลำต้นแห่งต้นไม้ชื่อ นิโครธย่อมขาว ใบเขียว สุกปลั่ง. ก็ในวันนั้น ต้นนิโครธทั้ง ๑๐๐ กิ่ง ได้มีสีเหมือนสีทองคำ.
         พระมหากัสสปเถระคิดว่า ผู้นี้ชะรอยจักเป็นพระศาสดาของพวกเรา เราบวชอุทิศท่านผู้นี้ จึงน้อมลง น้อมลง จำเดิมแต่ที่ที่ ตนเห็นแล้วไปถวายบังคมในฐานะทั้ง ๓ กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเป็นศาสดาของ ข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงเป็นศาสดาของข้าพระองค์.
        ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า กัสสปะ ถ้าเธอพึง กระทำการนอบน้อมนี้ แก่แผ่นดินใหญ่ แม้แผ่นดินก็ไม่สามารถ ทรงอยู่ได้ แผ่นดินใหญ่นี้รู้ความที่ตถาคตมีคุณมากถึงอย่างนี้ การกระทำการนอบน้อมที่ท่านกระทำแล้ว ไม่อาจให้แม้ขนของเราไหว ได้ นั่งเถิดกัสสปะเราจะให้มรดกแก่เธอ. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงประทานอุปสมบทแก่ท่าน ด้วยโอวาท ๓ ข้อ ที่ชื่อว่า โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา ได้แก่อุปสัมปทาที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปเถระ ด้วยการรับ โอวาทนี้ว่า
       ๑. เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า.
       ๒. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล, เราเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ.
       ๓. ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย คือจะพิจารณากายคตาสติ.
      ครั้นประทานแล้วจึงออกจากโคนต้นพหุปุตตกนิโครธ กระทำพระเถระให้เป็นปัจฉาสมณะ แล้วทรงดำเนินไป. พระสรีระของพระศาสดา วิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปะ ประดับด้วยมหาปุริสลักขณะ ๗ ประการ ท่านติดตามพระบาทพระศาสดา เหมือนมหานาวาทองที่ติดตามข้างหลัง. พระศาสดาเสด็จไปหน่อยหนึ่งแล้วเสด็จลงจากทาง แสดงอาการ ประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. พระเถระรู้ว่า พระศาสดาจะประทับนั่ง จึงปูสังฆาฏิด้วย แผ่นผ้าเก่าที่ตนห่ม กระทำให้เป็น ๔ ชั้นถวาย. พระศาสดาประทับนั่งบนที่นั้น เอาพระหัตถ์ลูบคลำจีวร จึงตรัสว่า กัสสปะ สังฆาฎิที่เป็นแผ่นผ้าเก่าของเธอนี้อ่อนนุ่ม. พระเถระทราบว่า พระศาสดาตรัสว่า สังฆาฏิของเรานี้อ่อนนุ่ม.
ทรงพระประสงค์จะห่ม จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงห่มสังฆาฏิเถิด.
พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ ท่านจักห่มอะไร.
พระมหากัสสปเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ได้ผ้านุ่งของพระองค์ก็จักห่ม.
พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธออาจจะทรงผ้าบังสุกุลอันใช้คร่ำคร่านี้หรือ ? จริงอยู่ ในวันที่เราถือเอาผ้าบังสุกุลนี้ แผ่นดินไหวจนถึงน้ำรอง แผ่นดิน, ชื่อจีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยคร่ำคร่านี้ เราไม่สามารถจะทรงได้โดยคุณแห่งพระปริตร, การที่ผู้ทรงผ้าบังสุกุลตามกำเนิด ทรงผ้านี้ตามความสามารถ คือด้วยความสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ จึงจะควร ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ.
      ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการเปลี่ยนจีวรอย่างนี้ แล้วทรงห่มจีวรที่พระเถระห่มแล้ว. พระเถระก็ห่มจีวรของพระศาสดา. ในสมัยนั้น แผ่นดินนี้แม้ไม่มีเจตนา ก็หวั่นไหวจนถึงน้ำรอง แผ่นดิน เหมือนจะกล่าวอยู่ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้กระทำกรรมที่ทำได้ยาก จีวรที่ตนห่ม ชื่อว่าเคยให้แก่พระสาวกย่อมไม่มี เราไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งหลายได้.
      ฝ่ายพระเถระคิดว่า บัดนี้เราได้จีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยแล้ว บัดนี้สิ่งที่เราควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้มีอยู่หรือ ดังนี้จึงไม่กระทำการบันลือ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนัก พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นแล ได้เป็นปุถุชนเพียง ๗ วัน ในวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
      ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ เป็นนาถะของโลก นิพพาน แล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา หมู่ชนมีจิตร่าเริงเบิกบานบันเทิง เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความสังเวช ปีติย่อมเกิดขึ้นแก่เรา เราประชุมญาติและมิตรแล้วได้ กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว เชิญเรามาทำการ
บูชากันเถิด พวกเขารับคำว่า สาธุ แล้วทำความร่าเริง ให้เกิดแก่เราอย่างยิ่งว่า พวกเราทำการก่อสร้างบุญ ใน พระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก เราได้สร้างเจดีย์อันมี ค่าทำอย่างเรียบร้อย สูงร้อยศอก สร้างปราสาทสูงร้อยห้าสิบศอก สูงจดท้องฟ้า ครั้นสร้างเจดีย์อันมีค่างดงาม ด้วยระเบียบอันดีไว้ที่นั้นแล้ว ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันอุดม ปราสาทย่อมรุ่งเรือง ดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ เช่นพญารังกำลังดอกบาน ย่อมสว่างจ้าทั่วสี่ทิศ เหมือนสายฟ้าในอากาศ เรายังจิตให้เสื่อมใส ในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึก ถึงกรรมเก่าแล้ว ได้เข้าถึงไตรทศ เราอยู่บนยานทิพย์ อันเทียมด้วยม้าสินธพพันตัว วิมานของเราสูงตระหง่าน สูงสุดเจ็ดชั้น กูฏาคาร (ปราสาท) พันหนึ่ง สำเร็จด้วยทองคำล้วน ย่อมรุ่งเรือง ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ด้วยเดชของตน ในกาลนั้น ศาลาหน้ามุขแม้เหล่าอื่นอันสำเร็จ ด้วยแก้วมณีมีอยู่ แม้ศาลาหน้ามุขเหล่านั้นก็โชติช่วง ด้วยรัศมีทั่ว ๔ ทิศ โดยรอบกูฏาคารอันบังเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม อันบุญกรรมเนรมิตไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วย แก้วมณีโชติช่วง ทั่วทิศน้อยทิศใหญ่โดยรอบ โอภาส แห่งกูฏาคารอันโชติช่วงอยู่เหล่านั้นเป็นสิ่งไพบูลย์ เราย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองแผ่นดิน มีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เราเกิดเป็นกษัตริย์ นามว่า อุพพิทธะ ชนะประเทศในที่สุดทิศทั้งสี่ ครอบครองแผ่นดินอยู่ใน กัปที่หกหมื่น ในภัทรกัปนี้ เราได้เป็นเหมือนอย่างนั้น ๓๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก ยินดีใน กรรมของตน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ ในทวีปทั้ง ๔ ในครั้งนั้นปราสาทของเราสว่างไสวดังสายฟ้า ด้านยาว ๒๔ โยชน์ ด้านกว้าง ๑๒ โยชน์ พระนครชื่อรัมมณะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง ด้านยาว ๕๐๐ โยชน์ ด้านกว้าง ๒๕๐ โยชน์ คับคั่งด้วยหมู่ชน เหมือนเทพนครของชาวไตรทศ เข็ม ๒๕ เล่มเขาใส่ไว้ในกล่องเข็ม ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ ฉันใด แม้นครของเราก็ฉันนั้น เกลื่อนด้วยช้าง ม้าและรถ คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ น่ารื่นรมย์ เป็นนครอุดม เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้น แล้วไปเกิดเป็นเทวดาอีก ในภพที่สุด กุศลสมบัติได้มีแล้วแก่เรา เราสมภพในสกถลพราหมณ์ สั่งสมรัตนะมาก ละเงินประมาณ ๘๐ โกฏิเสียแล้วออกบวช คุณวิเศษเหล่านี้คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
          ลำดับนั้น พระศาสดาทรงสรรเสริญพระกัสสปเถระนั้น โดยนัยมีอาทิว่า
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล ภายหลังนั่งในท่ามกลางแห่งหมู่พระอริยะ. ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศ แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้ถือธุดงค์ มหากัสสปะเป็นเลิศ.
         พระมหากัสสปเถระ โดยปกติท่านจะมีบุคคลิกเคร่งขรึม มีระเบียบถือพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะธุดงค์ ๑๓ อย่าง หายากที่ท่านจะยิ้มแย้ม จะมีก็ตอนที่ท่านได้เห็นพระสารีบุตรครั้งแรก. พระมหากัสสปเถระในช่วงที่พระพุทธองค์ยังไม่ปรินิพพาน ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงงานของท่านเท่าไรนัก เพราะท่านถือธุดงค์ ๑๓ และเคร่งครัดในหลัก ๓ ข้อ คือ ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร๑ แม้นจะอยู่ในสถานที่ใกล้กับพระพุทธเจ้า ดังความตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระมหากัสสปเถระท่านเคร่งครัดในธุดงค์วัตร
อย่างไร ดังความว่า.
         สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ฯลฯ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัสสปเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ เมื่อพระมหากัสสปนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า กัสสป บัดนี้เธอชราแล้ว ผ้าป่านบังสุกุลเหล่านี้ของเธอหนัก ไม่น่านุ่งห่ม เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงคฤหบดีจีวร จงบริโภค โภชนะที่เขานิมนต์แลจงอยู่ในสำนักของเราเถิด ฯ ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานมาแล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรและกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร เป็นผู้มีความมักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสันโดษ
เป็นผู้สงัดจากหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความสงัดจากหมู่ เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ และกล่าวสรรเสริญคุณ แห่งความไม่คลุกคลี เป็นผู้ปรารภ ความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ
        พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรกัสสป ก็เธอเล็งเห็นอำนาจ ประโยชน์อย่างไร จึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร สิ้นกาลนาน ฯ [เปยยาลอย่างเดียวกัน] เป็นผู้เที่ยวไปบิณฑบาตเป็นวัตร... เป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้มักน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... เป็นผู้ปรารภความเพียร  และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร ดังนี้ ฯ
          ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง ความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ...เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความปรารภความเพียรเล็งเห็นการอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม และอนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังว่า ทำไฉน ประชุมชนในภายหลังพึงถึงทิฏฐานุคติว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ที่ได้มีมาแล้ว ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตรสิ้นกาลนาน ฯลฯเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร... เป็นผู้มักน้อย... เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ...เป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร มาแล้วสิ้นกาลนาน ท่านเหล่านั้นจักปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ข้อปฏิบัติของท่านเหล่านั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข สิ้นกาลนานดังนี้
            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เล็งเห็นอำนาจประโยชน์ ๒ ประการเหล่านี้ จึงอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็น วัตร ... ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มีความปรารถนาน้อย ...เป็นผู้สันโดษ ... เป็นผู้สงัดจากหมู่ ... เป็นผู้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ... ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการปรารภความเพียร สิ้นกาลนาน ฯ
            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ กัสสป ได้ยินว่า เธอปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อ อนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดูกรกัสสป เพราะเหตุนั้นแล เธอจงทรงผ้าป่านบังสุกุลอันไม่น่านุ่งห่ม จงเทียวบิณฑบาต และจงอยู่ในป่าเถิด ฉะนี้ ฯ
            พระมหากัสสปเถระปรินิพพาน
       พระมหากัสสปเถระส่วนใหญ่ช่วงหลัง พำนักอยู่ ณ เวฬุวันตลอดมา ต่อมาท่านได้พิจารณาว่า ชีวิตจะยืนยาวไปอีกเท่าใด ทราบว่า จักปรินิพพานในวันรุ่งขึ้น จึงตั้งใจไปนิพพานที่ เขากุกกุฏสัมปาตะ (เขา ๓ ลูก) ใกล้กรุงราชคฤห์ รวมศิริอายุของพระมหาเถระทั้งสิ้น ๑๒๐ ปี. จริยวัตรและผลงานที่โดดเด่น พระมหาสาวกกัสสป นอกจากจริยวัตรที่ท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิตแล้ว ผลงานที่ท่านทำคุณอันยิ่งใหญ่ไว้กับชาวโลกก็คือ
การทำสังคายนาครั้งแรก เพื่อรักษาพระธรรมวินัย จนสืบต่อมา ถึงปัจจุบัน ความพิสดารย่อว่า
           ครั้งหนึ่ง เราออกจากเมืองปาวาเดินทางไกล ไปเมืองกุสินารากับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป ครั้งนั้น เราแวะจากทาง นั่งพักอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง. อาชีวกผู้หนึ่ง ถือดอกมณฑารพในเมืองกุสินาราเดินทางไกล มาสู่เมืองปาวา เราได้เห็นอาชีวกนั้นเดินมาแต่ไกลเทียว. ครั้นแล้วได้ถามอาชีวกนั้นว่า ท่านทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างหรือ
อาชีวกตอบว่า ท่านขอรับ ผมทราบ พระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วัน ทั้งวันนี้แล้ว ดอกมณฑารพนี้ผมถือมาจากที่ปรินิพพานนั้น
     บรรดาภิกษุเหล่านั้น ท่านที่ยังไม่ปราศจากราคะ บางพวกประคองแขนคร่ำครวญ ดุจมีเท้าขาดล้มลงกลิ้งเกลือกไปมารำพันว่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก ดวงตาหายไปจากโลกเร็วนัก ส่วนพวกที่ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ย่อมอดกลั้นได้ ด้วยคิดว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงนั้น จะได้ในสังขารนี้ แต่ไหนเล่า ท่านทั้งหลาย
     ครั้งนั้น เราได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเลย ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรเลย ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่างความเว้น ความเป็นอย่างอื่น จากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวงทีเดียวย่อมมี สิ่งที่เที่ยงนั้นจะได้ในสังขารนั้นแต่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายเป็นธรรมดา.
           เหตุเตือนพระศาสนาจะเสื่อมศรัทธาในอนาคต
       ครั้งนั้น พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต นั่งอยู่ในบริษัทนั้น เธอได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า พอเถิด ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย พวกเราพ้นไป ดีแล้วจากพระมหาสมณะนั้น ด้วยว่าพวกเราถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนาจักทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น
           พระมหากัสสปเถระทำปฐมสังคายนา
         พระมหากัสสปเถระ ได้เล็งเห็นว่า ในเวลานี้แม้พระพุทธเจ้าพึ่งปรินิพพาน ยังมีวาทะจาบจ้วงถึงเพียงนี้ เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด เผื่อกันไว้ว่าในภายหน้าสภาวะ มิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ภายหน้าอธรรมวาทีบุคคล จะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมี กำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง ฯ พระมหาเถระได้เลือกเอาเฉพาะพระภิกษุขีณาสพเท่านั้น มีจำนวน ๕๐๐ รูป ผู้ทรงไว้ซึ่งประเภทแห่งสรรพปริยัติ คือ พระไตรปิฏก ได้บรรลุปฏิสัมภิทามีอานุภาพมาก แตกฉานในไตรวิชชาเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นสู่เอตทัคคะโดยมาก เช่น พระอุบาลี พระอานนท์ เป็นต้น ฯลฯ          การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททวุฑฒบรรพชิตภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารภที่จะ ทำให้ธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไปพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนา พระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม (ในตอนแรกพระมหากัสสปะไม่ได้เลือกพระอานนท์ เหตุเพราะพระอานนท์ยังไม่สำเร็จพระอรหันต์ และกันข้อครหาว่าลำเอียงเราจักรับเอาพระอานนท์เข้าด้วย ตามอนุมัติของภิกษุทั้งหลายเท่านั้นจึงมิได้เลือกพระอานนท์นั้นเข้าด้วย.) ประชุมสังคายนา
ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ วันที่ปรารภเรื่องนี้ขึ้นมาครั้งแรก หลังจากพระพุทธเจ้า ปรินิพพานได้ ๒๑ วัน คือ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ปฐมสังคายนาเริ่มวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ที่ประชุมมีมติว่าจะไม่มีการแก้ในคำพระพุทธพจน์ใดๆ ทั้งสิ้นในพระธรรมวินัยนี้ โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภ์ ปฏิสังขรณ์มหาวิหารทั้ง ๑๘ ตำบลและทรงอุปถัมภ์กิจสงฆ์ทุกอย่าง. สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ พระมหากัสสปเถระ ทำพระศาสนาของพระทศพลนี้ ให้สามารถเป็นไปได้ตลอดกาลประมาณ ๕,๐๐๐ พระวรรษา
#เถร.อ. ๒/๓/๔/๓๕๓-๓๗๐. วิ.มหาวิ. ๑/๑/๗๗๑;
องฺ.เอก. ๑/๑/๒๗๕-๓๐๔; อป.อ. ๘/๑/ ๕๑๔-๕๔๕;
สํ.นิ. ๑๖/๔๗๘-๔๘๒; วินย. ๑/๖๑๔;วิ.มหาวิ. ๑/๑/๒๖-๖๒