มหาสุทัสนจริยาที่ ๔

(ยกมาจากจริยาปิฏก) ว่าด้วยพระจริยาวัตรของพระมหาสุทัสนจักรพรรดิ [] ในเมื่อเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่ามหาสุทัสนะ มีพลานุภาพมาก ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เสวยราชสมบัติในพระนคร กุสาวดี ในกาลนั้น เราได้สั่งให้ประกาศทุกๆ วัน วันละ ๓ ครั้งว่า ใครอยากปรารถนาอะไร เราจะให้ทรัพย์อะไรแก่ใคร ใครหิว ใคร กระหาย ใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาด แคลนผ้าสีต่างๆ ก็จงมาถือเอาไปนุ่งห่ม ใครต้องการร่มไปในหนทาง ก็จงมารับเอาไป ใครต้องการรองเท้าอันอ่อนงาม ก็จงมารับเอาไป เราให้ประกาศดังนี้ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทุกวัน ทานนั้นมิใช่เรา ตกแต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง หรือมิใช่ ๑๐๐ แห่งเราตกแต่งทรัพย์ไว้ สำหรับยาจกในที่หลายร้อยแห่ง วณิพกจะมาในเวลากลางวันก็ตาม หรือในเวลากลางคืนก็ตามก็ได้โภคะตามความปรารถนา พอเต็มมือ กลับไป เราได้ให้มหาทานเห็นปานนี้จนตราบเท่าสิ้นชีวิต เราได้ให้ ทรัพย์ที่น่าเกลียดก็หามิได้ และเราไม่มีการสั่งสมก็หามิได้ เปรียบ เหมือนคนไข้กระสับกระส่าย เพื่อจะพ้นจากโรค ต้องการให้หมอ พอใจด้วยทรัพย์จึงหายจากโรคได้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น รู้อยู่ (ว่า ทาน บริจาคเป็นอุบายเครื่องเปลื้องตนและสัตว์โลกทั้งสิ้น ให้พ้นจากโลก คือสังขารทุกข์ทั้งสิ้นได้) จึงบำเพ็ญทานให้บริบูรณ์โดยไม่มีเศษเหลือ เพื่อยังใจที่บกพร่องให้เต็มเราจึงให้ทานแก่วณิพกเรามิได้อาลัย มิได้ หวังอะไร ได้ให้ทานเพื่อบรรลุสัมโพธิญาณ ฉะนี้แล. จบมหาสุทัสนจริยาที่ ๔

อรรถกถามหาสุทัศนจริยาที่

(ยกมาจากอรรถกถา) พึงทราบวินิจฉัยในมหาสุทัศนจริยาที่ ๔ ดังต่อไปนี้. บทว่า กุสาว ติมฺหิ นคเร คือ ในนครชื่อว่ากุสาวดี. ณ ที่นั้น บัดนี้เป็นที่ตั้งเมืองกุสินารา. บทว่า มหีปติ ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน คือเป็นกษัตริย์มีพระนาม ว่า มหาสุทัศนะ. บทว่า จกฺกวตฺติ พระเจ้าจักรพรรดิ คือยังจักรรัตนะ ให้หมุนไป หรือหมุนไปด้วยจักรสมบัติ ๔. ยังจักรอื่นจากจักรสมบัติเหล่านั้น ให้เป็นไป ยังมีความหมุนไปแห่งจักรคืออิริยาบถ เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นอีก เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า จกฺกวตฺติ. หรืออีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า จกฺกวตฺติ เพราะมีความหมุนไปแห่งจักร คือ อาณาเขตอันผู้อื่นครอบงำไม่ได้ ล่วงล้ำ ไม่ได้ ประกอบด้วยสังคหวัตถุอันเป็นอัจฉริยธรรม ๔ ประการ. ชื่อว่า มหพฺพโล มีพลานุภาพมาก เพราะประกอบด้วยหมู่กำลังมาก อันมีปริณายก แก้วเป็นผู้นำ มีช้างแก้วเป็นต้นเป็นประมุข และกำลังพระวรกายอันเกิดด้วย บุญญานุภาพ. พึงทราบการเชื่อม บทว่า ยทา อาสึ เราได้เป็นแล้ว. ใน บทนั้นพึงทราบเรื่องราวเป็นลำดับต่อไปนี้:-

ได้ยินว่าในอดีตกาล พระมหาบุรุษบังเกิดในตระกูลคฤหบดีในอัตภาพที่ ๓ จากอัตภาพที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมหาสุทัศนะเข้าไปยังป่า ด้วย การงานของตนเห็นพระเถระรูปหนึ่ง ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ดำรง พระชนม์อยู่ อาศัยอยู่ในป่า นั่งอยู่ ณ โคนต้นไม้ คิดว่าเราควรจะสร้าง บรรณศาลาให้แก่พระคุณเจ้าในป่านี้แล้ว ละการงานของตนตัดเครื่องก่อ สร้างปลูกบรรณศาลาให้เป็นที่สมควรจะอยู่ประกอบประตู กระทำเครื่อง ปูลาดด้วยไม้ คิดว่าพระเถระจักใช้หรือไม่ใช้หนอ แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระเถระมาจากภายในบ้านเข้าไปยังบรรณศาลา นั่ง ณ ที่ปูลาดด้วยไม้. แม้ พระมหาสัตว์ก็เข้าไปหาพระเถระนั้นแล้วถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า บรรณ- ศาลาเป็นที่ผาสุขอยู่หรือ. พระเถระตอบว่า ท่านผู้มีหน้างาม เป็นที่ผาสุขดี สมควรแก่สมณะ. ข้าแต่พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจักอยู่ ณ ที่นี้หรือ. ถูกแล้ว อุบาสก. มหาบุรุษทราบว่าพระเถระจักอยู่ โดยอาการแห่งการรับนิมนต์ จึง ขอให้พระเถระรับปฏิญญาว่า จะมายังประตูเรือนของเราตลอดไป แล้วสละ ภัตตาหารในเรือนของตนเป็นนิจ. มหาบุรุษปูเสื่อลำแพนในบรรณศาลา แล้วตั้งเตียงและตั่งไว้. วางแท่นพิงไว้. ตั้งไม้เช็ดเท้าไว้. ขุดสระโบกขรณี ทำที่จงกรมเกลี่ยทราย. ล้อมบรรณศาลาด้วยรั้วหนามเพื่อป้องกันอันตราย. โบกขรณีและที่จงกรมก็ล้อมเหมือนกัน. ที่สุดภายในรั้วแห่งสถานที่เหล่านั้น ปลูกต้นตาลไว้เป็นแถว. ครั้นให้ที่อยู่สำเร็จลงด้วยวิธีอย่างนี้แล้ว จึงได้ถวาย สมณบริขารทั้งหมดมีไตรจีวรเป็นต้นแก่พระเถระ. จริงอยู่ในกาลนั้นเครื่อง ใช้สอยของบรรพชิตมีอาทิ ไตรจีวร บิณฑบาต ถลกบาตร หม้อกรองน้ำ ภาชนะใส่ของบริโภค ร่ม รองเท้า หม้อน้ำ เข็ม กรรไกร ไม้เท้า สว่าน ดีปลี มีดตัดเล็บ ประทีป ชื่อว่า พระโพธิสัตว์มิได้ถวายแก่พระเถระมิได้ มีเลย. พระโพธิสัตว์รักษาศีล ๕ รักษาศีลอุโบสถ บำรุงพระเถระตลอดชีวิต. พระเถระอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นได้บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพาน. แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทำบุญตราบเท่าอายุไปบังเกิดในเทวโลก

จุติจาก เทวโลกนั้นมาสู่มนุษยโลก บังเกิดในราชธานีกุสาวดี ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า มหาสุทัศนะราชา. อานุภาพแห่งความเป็นใหญ่ของพระราชามหาสุทัศนะนั้น มาแล้วในสูตรโดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนอานนท์เรื่องเคย มีมาแล้ว พระราชามหาสุทัศนะได้เป็นกษัตริย์ พุทธาภิเษก. นัยว่าพระราชามหาสุทัศนะนั้น มีเมืองประเทศราช ๘๔,๐๐๐ อันมีเมืองกุสาวดีราชธานี เป็นประมุข. มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ มีธรรมปราสาทเป็นประมุข. มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ มีเรือนยอดหมู่ใหญ่เป็นประมุข. ทั้งหมดเหล่านั้นเกิดด้วยอานิสงส์ แห่งบรรณศาลาหลังหนึ่งซึ่งพระองค์สร้างถวายแก่พระเถระนั้น. บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ช้าง ๑,๐๐๐ ม้า ๑,๐๐๐ รถ ๑,๐๐๐ เกิดด้วยอานิสงส์แห่งเตียง และตั่งที่พระองค์ถวายแก่พระเถระนั้น. แก้วมณี ๘๔,๐๐๐ เกิดด้วยอานิสงส์ แห่งประทีปที่พระองค์ถวายแก่พระเถระ. สระโบกขรณี ๘๔,๐๐๐ เกิดด้วย อานิสงส์ แห่งสระโบกขรณีสระหนึ่ง. สตรี ๘๔,๐๐๐ บุตร ๑,๐๐๐ และ คฤหบดี ๑,๐๐๐ เกิดด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเครื่องบริขารของบรรพชิต อันสมควรแก่สมณบริโภคมีถลกบาตรเป็นต้น. แม้โคนม ๘๔,๐๐๐ เกิดด้วย อานิสงส์แห่งการถวายเบญจโครส. คลังผ้า ๘๔,๐๐๐ เกิดด้วยอานิสงส์แห่ง การถวายเครื่องนุ่งห่ม. หม้อหุงข้าว ๘๔,๐๐๐ เกิดด้วยอานิสงส์แห่งการ ถวายโภชนะ. พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาธิราชประกอบด้วย รตนะ ๗ และ ฤทธิ์ ๔ ทรงชนะครอบครองปฐพีมณฑลมีสาครเป็นที่สุดทั้งสิ้นโดยธรรม ทรงสร้างโรงทานในที่หลายร้อยที่ตั้งมหาทาน. ทรงให้ราชบุรุษตีกลองป่าว ประกาศในพระนคร วันละ ๓ ครั้ง ว่า ผู้ใดปรารถนาสิ่งใด ผู้นั้นจงมาที่ โรงทานรับเอาสิ่งนั้นเถิด.

ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ตตฺถาหํ ทิวิเส ติกฺขตฺตุํ, โฆสาเปมิ ตหึ ตหึ เราให้ประกาศทุกๆวัน วันละ ๓ ครั้ง. ในบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ คือในพระนครนั้น. ปาฐะว่า ตทาหํ ก็มี อธิบายว่า ในครั้งนั้น คือ ในครั้งที่เราเป็นพระราชามหาสุทัศนะ. บทว่า ตหึ ตหึ คือในที่นั้นๆ อธิบายว่า ทั้งภายในและภายนอกแห่ง กำแพงนั้นๆ. บทว่า โก กึ อิจฺฉติ ใครปรารถนาอะไร คือบรรดา พราหมณ์เป็นต้น ผู้ใดปรารถนาอะไรในบรรดาไทยธรรม มีข้าวเป็นต้น. บทว่า ปตฺเถติ เป็นไวพจน์ของบทว่า อิจฺฉติ นั้น. บทว่า กสฺส กึ ทิยฺยตู ธนํ เราจะให้ทรัพย์อะไรแก่ใคร คือ ท่านกล่าว เพื่อแสดงความที่การโฆษณา ทานเป็นไปแล้ว โดยปริยายหลายครั้ง. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง แสดง สรุปด้วยทานบารมี. จริงอยู่ทานบารมีของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เว้น จากการกำหนดไทยธรรมและปฏิคคาหก. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรง แสดงสรรเสริญบุคคลผู้สมควรแก่ไทยธรรมนั้นด้วยการโฆษณาทาน จึงตรัส พระดำรัสมีอาทิว่า โก ฉาตโก ใครหิว ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ฉาตโก คืออยาก. บทว่า ตสิโต คือ กระหาย. พึงนำบทว่า อิจฺฉติ มาประกอบบทว่า โก มาลํ โก วิเลปนํ ความว่า ใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการร่มดังนี้. บทว่า นคฺโค ขาด แคลนผ้า อธิบายว่า มีความต้องการผ้า. บทว่า ปริทหิสฺสติ คือ นุ่งห่ม. บทว่า โก ปเถ ฉตฺตมาเทติ ความว่า ใครเดินทางต้องการร่ม เพื่อป้องกันฝน ลมและแดด ของตนในหนทาง อธิบายว่า มีความต้องการ ด้วยร่ม. บทว่า โก ปาหนา มุทู สุภา ใครต้องการรองเท้าอันอ่อนงาม คือ รองเท้า ชื่อว่า งาม เพราะน่าดู ชื่อว่าอ่อน เพราะมีสัมผัสสบาย เพื่อป้องกันเท้าและนัยน์ตาของตน. บทว่า โก อาเทติ ความว่า ใครมี ความต้องการรองเท้าเหล่านั้น. พึงนำบทว่า มชฺฌนฺติเก จ และเวลา เที่ยงมาประกอบด้วย จ ศัพท์ในบทนี้ว่า สายญฺจ ปาโตจ ทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาเที่ยง. ท่านกล่าวว่าให้ประกาศวันละ ๓ ครั้ง. บทว่า น ตํ ทสสุ ฐาเนสุ โยชนาแก้ไว้ว่า ทานนั้นมิใช่เราตก แต่งไว้ในที่ ๑๐ แห่ง. หรือมิใช่ ๑๐๐ แห่ง ที่แท้เราตกแต่งไว้ในที่หลาย ร้อยแห่ง. บทว่า ยาจเก ธนํ คือ เราตกแต่ง คือ เตรียมไว้สำหรับผู้ขอ ทั้งหลาย. เพราะในนครยาว ๗ โยชน์ กว้าง ๗ โยชน์ ล้อมไปด้วยแนวต้น- ตาล ๗ แถว. ณ แนวต้นตาลเหล่านั้น มีสระโบกขรณี ๘๔,๐๐๐ สระ เราตั้ง มหาทานไว้ที่ฝั่งสระโบกขรณี เฉพาะสระหนึ่งๆ. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า:- ดูก่อนอานนท์ พระราชามหาสุทัศนะ ทรงตั้งทานเห็นปานนี้ไว้ ณ ฝั่งสระโบกขรณี เหล่านั้น คือ ตั้งข้าวไว้สำหรับผู้ต้องการข้าว ตั้งน้ำไว้สำหรับผู้ต้องการน้ำ ตั้งผ้าไว้สำหรับผู้ ต้องการผ้า ตั้งยานไว้สำหรับผู้ต้องการยาน ตั้ง ที่นอนไว้สำหรับผู้ต้องการที่นอน ตั้งสตรีไว้ สำหรับผู้ต้องการสตรี ตั้งเงินไว้สำหรับผู้ต้อง การเงิน ตั้งทองไว้สำหรับผู้ต้องการทอง. พึงทราบความในบทนั้นดังนี้

จริงอยู่มหาบุรุษปรารถนาแต่จะให้ทาน จึงสร้างเครื่องประดับอันสมควรแก่สตรีและบุรุษ ตั้งสตรีไว้เพื่อให้รับใช้ใน ที่นั้น และตั้งทานทั้งหมดนั้นไว้เพื่อบริจาค จึงให้ตีกลองป่าวร้องว่า พระราชามหาสุทัศนะพระราชทานทาน พวกท่านจงบริโภคทานนั้นตามสบาย เถิด. มหาชนไปยังฝั่งสระโบกขรณีอาบน้ำ นุ่งห่มผ้าเป็นต้นแล้ว เสวย มหาสมบัติ ผู้ใดมีสมบัติเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นก็ละไป ผู้ใดไม่มี ผู้นั้นก็ถือเอา ไป. ผู้ใดนั่งบนยานช้างเป็นต้นก็ดี เที่ยวไปตามสบาย นอนบนที่นอนอัน ประเสริฐก็ดี ก็เอาสมบัติไปเสวยความสุขกับสตรีบ้าง ประดับเครื่องประดับ ล้วนแก้ว ๗ ประการก็เอาสมบัติไป ถือเอาสมบัติจากสำนักที่ได้เอาไป เมื่อ ไม่ต้องการก็ละไป. พระราชามหาสุทัศนะทรงกระวีกระวาดบริจาคทานแม้ ทุกๆ วัน. ในครั้งนั้นชาวชมพูทวีปไม่มีการงานอย่างอื่น. บริโภคทาน เสวย สมบัติเที่ยวเตร่กันไป. ทานนั้นมิได้มีกำหนดแล. ผู้มีความต้องการจะมา เมื่อใดทั้งกลางคืนทั้งกลางวัน ก็พระราชทานเมื่อนั้น. ด้วยประการฉะนี้ มหาบุรุษทรงทำชมพูทวีปทั้งสิ้นให้สนุกสนานรื่นเริง ยังมหาทานให้เป็นไป ตลอดพระชนมายุ.

ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทิวา วา ยทิ วา รตฺตึ ยทิ เอติ วณิพฺพโก วณิพกจะมาในเวลากลางวันก็ตาม หรือในเวลากลางคืนก็ตาม เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทานตามกาลของมหาบุรุษนั้นด้วยบทนี้ ว่า ทิวา วา ยทิ วา รตฺตึ ยทิ เอติ. จริงอยู่กาลเวลาที่ผู้ขอเข้าไปเพื่อ หวังลาภ ชื่อว่าเป็นกาลเวลาแห่งทานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย. บทว่า วณิพฺพโก คือผู้ขอ. ด้วยบทนี้ว่า ลทฺธา ยทิจฺฉกํ โภคํ ได้โภคะตาม ความปรารถนา ท่านกล่าวถึงทานตามความชอบใจ. เพราะว่าผู้ขอคนใด ปรารถนาไทยธรรมใดๆ พระโพธิสัตว์ทรงให้ทานนั้นๆ แก่ผู้ขอคนนั้น. พระโพธิสัตว์มิได้ทรงคิดถึงความที่ไทยธรรมนั้นมีค่ามากหาได้ยากอันเป็น การกีดขวางพระองค์เลย. ด้วยบทนี้ว่า ปูรหตฺโถว คจฺฉติ เต็มมือกลับไป แสดงถึงทานตามความปรารถนา. เพราะว่าผู้ขอทั้งหลายปรารถนาเท่าใด พระมหาสัตว์ทรงให้เท่านั้นไม่ลดหย่อน เพราะมีพระอัธยาศัยกว้างขวาง และเพราะมีอำนาจมาก. ด้วยบทว่า ยาวชีวิกํ ตลอดชีวิตนี้ แสดงถึงความไม่มีสิ้นสุดของ ทาน. เพราะว่าตั้งแต่สมาทาน พระมหาสัตว์ทั้งหลายมิได้ทรงกำหนดกาล เวลาในท่ามกลางจนกว่าจะบริบูรณ์. การไม่เข้าไปตัดรอนแม้ด้วยความตาย จากการไม่ถึงที่สุดในระหว่างๆ เพราะไม่มีความเบื่อหน่ายในการสะสมโพธิสมภาร. แม้อื่นจากนั้น เพราะการปฏิบัติอย่างนั้นท่านจึงกล่าวด้วยอำนาจ แห่งความประพฤติของพระราชามหาสุทัศนะว่า ยาวชีวิกํ จนตลอดชีวิต ดังนี้. บทว่า นปาหํ เทสฺสํ ธนํ ทมฺมิ เราได้ให้ทรัพย์ที่น่าเกลียดก็ หามิได้ คือ ทรัพย์ของเรานี้น่าเกลียดไม่น่าพอใจก็หามิได้ เพราะเหตุนั้นเรา เมื่อให้มหาทานเห็นปานนี้ จึงให้นำทรัพย์ออกจากเรือน. บทว่า นปิ นตฺถิ นิจโย มยิ เราไม่มีการสะสมก็หามิได้ คือ การสะสมทรัพย์ การสงเคราะห์ ด้วยทรัพย์ในที่ใกล้ไม่มีแก่เราก็หามิได้. อธิบายว่า แม้การไม่สงเคราะห์ ดุจสมณะผู้ประพฤติขัดเกลากิเลสก็ไม่มี. มหาทานนี้ของพระมหาสัตว์นั้น เป็นไปแล้วด้วยอัธยาศัยใด เพื่อแสดงถึงอัธยาศัยนั้นท่านจึงกล่าวไว้. บัดนี้เพื่อแสดงความนั้นโดยอุปมาจึงกล่าวว่า ยถาปิ อาตุโร นาม เหมือนคนไข้กระสับกระส่าย ดังนี้เป็นต้น.

บทนี้แสดงเนื้อความพร้อมด้วยการเปรียบเทียบโดยอุปมา เหมือน บุรุษถูกโรคครอบงำกระสับกระส่าย ประสงค์จะให้ตนพ้นจากโรค ต้องการ ให้หมอผู้เยี่ยวยาพอใจ คือยินดีด้วยทรัพย์มีเงินและทองเป็นต้น แล้วปฏิบัติ ตามวิธี ก็พ้นจากโรคนั้นฉันใด แม้เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ประสงค์จะ เปลื้องสัตว์โลกทั้งสิ้น อันได้รับทุกข์จากโรคคือกิเลส และจากโรคคือทุกข์ ในสงสารทั้งสิ้น รู้อยู่ว่าการบริจาคสมบัติทั้งปวงนี้ เป็นทานบารมี เป็นอุบาย แห่งการปลดเปลื้องจากโลกนั้น เพื่อยังอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลายให้บริบูรณ์ ด้วยอำนาจแห่งผู้รับไทยธรรมโดยไม่มีเศษเหลือ และด้วยอำนาจแห่งมหาทานโดยไม่มีเศษเหลือ อนึ่ง ทานบารมีของเรายังไม่บริบูรณ์แก่ตน เพราะ ฉะนั้น เพื่อยังใจที่บกพร่องอันเป็นไปในบทว่า อูนมนํ ใจบกพร่องให้ เต็ม จึงได้ให้ทานนั้นแก่วณิพก คือผู้ขอ เราให้มหาทานเห็นปานนี้ เรา มิได้อาลัยมิได้หวังอะไรในการให้ทานนั้นและในผลของการให้นั้น ให้เพื่อ บรรลุพระสัมโพธิญาณ คือ เพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณอย่างเดียว. พระมหาสัตว์ยังมหาทานให้เป็นไปอย่างนี้ เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท อันเกิดด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ ทำลายกามวิตกเป็นต้น ณ ประตูเรือน ยอดหมู่ใหญ่นั่นเอง ประทับนั่งเหนือราชบัลลังก์ทำด้วยทองคำ ณ ประตู เรือนยอดนั้นยังฌานและอภิญญาให้เกิด เสด็จออกจากที่นั้น เสด็จเข้าไปยัง เรือนยอดสำเร็จด้วยทอง ประทับนั่งเหนือบัลลังก์สำเร็จด้วยเงิน ณ เรือน ยอดนั้นทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ ยังกาลเวลาให้น้อมล่วงไปด้วยฌานและ สมาบัติตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงให้โอวาทแก่นางสนมกำนัลใน ๘๔,๐๐๐ คน มี พระนางสุภัททาเทวีเป็นหัวหน้า และอำมาตย์กับสมาชิกที่ประชุมกันเป็นต้น ซึ่งเข้าไปเพื่อเฝ้าในมรณสมัยด้วยคาถานี้ว่า:- สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิด ขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สังขาร ทั้งหลาย ครั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเข้าไป สงบสังขารเหล่านั้นเป็นสุข. เมื่อสิ้นสุดพระชนมายุ ก็ได้เสด็จสู่พรหมโลก.

พระนางสุภัททาเทวีในครั้งนั้น ได้เป็นพระมารดาพระราหุลในครั้ง นี้. ปริณายกแก้ว คือ พระราหุล. บริษัทที่เหลือ คือ พุทธบริษัท. ส่วน พระราชามหาสุทัศนะ คือ พระโลกนาถ.

แม้ในจริยานี้เป็นอันได้บารมี ๑๐ โดยสรุป. ทานบารมีเท่านั้นมาใน บาลี เพราะอัธยาศัยในการให้กว้างขวางมาก. ธรรมที่เหลือมีนัยดังกล่าว แล้วในหนหลังนั่นแล. อนึ่ง พึงเจาะจงลงไปถึงคุณานุภาพมีอาทิอย่างนี้ว่า แม้ดำรงอยู่ใน ความเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ อันรุ่งเรืองด้วยรตนะ ๗ อย่างมากมาย ก็ไม่พอ ใจโภคสุขเช่นนั้น ข่มกามวิตกเป็นต้นแต่ไกล ยังกาลเวลาให้น้อมไปด้วย สมาบัติตลอด ๘๔,๐๐๐ ปี ของผู้ประพฤติในมหาทานเห็นปานนั้น แม้ กระทำธรรมกถาปฏิสังยุตด้วยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น ก็ไม่ทอดทิ้ง ความขวนขวายในวิปัสสนาในที่ทั้งปวง.

จบ อรรถกถามหาสุทัศนจริยาที่ ๔

กลับที่เดิม