จูฬโพธิจริยาที่ ๔

(ยกมาจากจริยาปิฏก เล่ม 33/3) ว่าด้วยจริยาวัตรของจูฬโพธิปริพาชก [๑๔] อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นปริพาชกชื่อจูฬโพธิ มีศีลงามเรา เห็นภพโดยเป็นสิ่งน่ากลัว จึงออกบวชเป็นดาบส นางพราหมณีผู้มี ผิวพรรณดังทองคำ ซึ่งเป็นภรรยาของเราแม้นางก็มิได้อาลัยในวัฏฏะ ออกบวชเป็นตาปสินี เราทั้งสองไม่มีความอาลัย ตัดพวกพ้องขาด ไม่ห่วงใยในตระกูลและหมู่ญาติเที่ยวไปยังบ้านและนิคม มาถึงยัง พระนครพาราณสี เราทั้งสองอยู่ ณ ที่นั้น มีปัญญาไม่เกี่ยวข้องใน ตระกูลและคณะ เราทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานอันไม่เกลื่อนกล่น สงัดเสียงพระราชาเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานได้ทอด พระเนตรเห็นนางพราหมณี จึงเสด็จเข้ามาหาเราแล้วตรัสถามว่า นาง พราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาของใครเมื่อพระราชาตรัส ถามอย่างนี้เราได้ทูลแก่พระองค์ดังนี้ว่า นางพราหมณีนี้มิใช่ภริยาของ อาตภาพ เป็นผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นผู้มีคำสอนร่วมกัน พระ- ราชาทรงกำหนัดหนักหน่วงในนางพราหมณีนั้นจึงรับสั่งให้พวกราช- บุรุษจับ ทรงบีบคั้นด้วยกำลังสั่งให้นำเข้าไปยังภายในพระนคร เมื่อ ภริยาเก่าของเราเกิดร่วมกันมีคำสอนร่วมกัน ถูกฉุดคร่าไปความ โกรธพึงเกิดแก่เรา เราระลึกถึงศีลวัตรได้พร้อมกับความโกรธที่เกิดขึ้น เราข่มความโกรธได้ ณ ที่นั้นเอง ไม่ให้มันเจริญขึ้นไปอีก ถ้าใครๆ พึงเอาหอกอันคมกริบแทงนางพราหมณีนั้น เราก็ไม่พึงทำลายศีล ของเราเลย เพราะเหตุแห่งโพธิญาณเท่านั้นเราจักเกลียดนางพราหมณี นั้นก็หามิได้ และเราจะไม่มีกำลังก็หามิได้ เพราะพระสัมพัญญุตญาณ เป็นที่รักของเรา ฉะนั้นเราจึงรักษาศีลไว้ ฉะนี้แล. จบจูฬโพธิจริยาที่

อรรถกถาจูฬโพธิจริยาที่ ๔

พึงทราบวินิจฉัยในอรรถกถาจูฬโพธิจริยาที่ ๔ ดังต่อไปนี้. บทว่า จูฬโพธิ ชื่อว่า จูฬโพธิท่านยกขึ้นในจริยานี้ หมายถึงอัตภาพของปริพาชก ชื่อว่ามหาโพธิ. อนึ่ง ในชาดกนี้ไม่พึงเห็นว่า เพราะมีมหาโพธิพี่ชาย เป็นต้นของตน. บทว่า สุสีลวา คือมีศีลด้วยดี อธิบายว่า ถึงพร้อม ด้วยศีล. บทว่า ภวํ ทิสฺวาน ภยโต เห็นภพโดยเป็นของน่ากลัว คือ เห็นภพมีกามภพเป็นต้น โดยความเป็นของพึงกลัว. ในบทว่า เนกฺขมฺมํ นี้ พึงเห็นว่าลบ จ ศัพท์. ด้วยเหตุนั้น ควรยก บทว่า ทิสฺวาน เข้า มาด้วยเป็น เนกฺขมฺมํ ทิสฺวาน คือเห็นเนกขัมมะ ดังนี้. บทนี้ท่าน อธิบายว่า เห็นภพมีกามภพเป็นต้น แม้ทั้งปวงปรากฏโดยเป็นของน่ากลัว ในสังสารวัฏ ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ เหล่านี้ คือ ชาติชราพยาธิมรณะ อบายทุกข์. ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูล ในอนาคต. ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน. และเห็นเนกขัมมะ แม้ ๓ อย่างนี้ คือ นิพพาน ๑ สมถวิปัสสนาอันเป็นอุบายแห่งนิพพาน นั้น ๑ และบรรพชา อันเป็นอุบายแห่งสมถวิปัสสนานั้น ๑ โดยเป็น ปฏิปักษ์ต่อภพนั้นด้วยญาณจักษุอันสำเร็จด้วยการฟังเป็นต้น แล้วจึงออก จากความเป็นคฤหัสถ์อันอากูลด้วยโทษมากมาย ด้วยการบรรพชาเป็นดาบส แล้วจึงไป. บทว่า ทุติยิกา คือภรรยาเก่า ได้แก่ภรรยาครั้งเป็นคฤหัสถ์. บทว่า กนกสนฺนิภา คือมีผิวดังทองคำ. บทว่า วฏฺเฏ อนเปกฺขา คือมิได้อาลัยในสังสารวัฏ บทว่า เนกฺขมฺมํ อภินิกฺขมิ คือออกจาก เรือนเพื่อเนกขัมมะ ได้แก่บวช. บทว่า อาลยํ ชื่อว่า อาลย เพราะ เป็นเหตุให้ข้องคือตัณหา. ชื่อว่า นิราลย เพราะไม่มีตัณหา. ชื่อว่า ฉินฺนพนฺธุ เพราะแต่นั้นก็ตัดความผูกพันคือตัณหาในญาติทั้งหลาย. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงถึงความไม่มีการผูกพันในการครองเรือนอย่างนี้ เเล้ว บัดนี้ เมื่อทรงแสดงถึงความไม่มีแม้การผูกพันไรๆ ของบรรพชิต ทั้งหลาย จึงตรัสว่า อนเปกฺขา กุเล คเณ คือไม่เกี่ยวข้องในตระกูล และคณะ. ในบทเหล่านั้น บทว่า กุเล คือในตระกูลอุปัฏฐาก. บทว่า คเณ คือในคณะดาบส. ท่านกล่าวชนที่เหลือว่าเป็นพรหมจารี. บทว่า อุปาคมุํ คือเราทั้งสองมาถึงกรุงพาราณสี. บทว่า ตตฺถ คือเขตแดนกรุงพาราณสี. บทว่า นิปกา คือมีปัญญา. บทว่า นิรากุเล คือไม่วุ่นวายด้วยชน ทั้งหลาย เพราะปราศจากชนเที่ยวไปมา. บทว่า อปฺปสทฺเท คือสงัด เสียง เพราะปราศจากเสียงสัตว์ร้องโดยเป็นที่อยู่ของเนื้อและนกทั้งหลาย. บทว่า วาชุยฺยาเน วสามุโภ คือในกาลนั้นเราทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้ากรุงพาราณสี. พึงทราบเรื่องราวเป็นลำดับดังต่อไปนี้:-

ในอดีตกาล ในภัทรกัปนี้แหละ พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ มีสมบัติมากตระกูลหนึ่งในกาสิคามแห่งหนึ่ง. ครั้นถึงคราวตั้งชื่อ มารดาบิดาตั้งชื่อว่า โพธิกุมาร. เมื่อโพธิกุมารเจริญวัย เขาไปสู่เมืองตักกสิลา เรียนศิลปะทุกสาขา เมื่อเขากลับมาทั้งๆ ที่เขาไม่ ปรารถนา มารดาบิดาได้นำกุลสตรีที่มีชาติเสมอกันมาให้. แม้กุลสตรีนั้นก็ จุติจากพรหมโลกเหมือนกัน มีรูปงดงาม เปรียบด้วยเทพอัปสร. แม้ทั้งสอง ไม่ปรารถนา มารดาบิดาก็ทำการอาวาหมงคลและวิวาหมงคลให้แก่กันและ กัน ทั้งสองไม่เคยมีกิเลสร่วมกันเลย. แม้มองดูกันด้วยอำนาจราคะก็มิได้มี. ไม่ต้องพูดถึงการร่วมเกี่ยวข้องกันละ. ทั้งสองมีศีลบริสุทธิ์ด้วยประการฉะนี้. ครั้นต่อมา เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรม พระโพธิสัตว์กระทำฌาปนกิจ มารดาบิดาแล้วจึงเรียกภริยามากล่าวว่า นางผู้เจริญ แม่นางจงครองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เลี้ยงชีพให้สบายเถิด. ภริยาถามว่า ท่านผู้เจริญก็ท่านเล่า. พระมหาสัตว์ตอบว่า เราไม่ต้องการทรัพย์ เราจักบวช. นางถามว่า ก็ การบวชไม่สมควรแม้แก่สตรีหรือ. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ควรซิแม่นาง. นางตอบว่า ถ้าเช่นนั้นแม้ฉันก็ไม่ต้องการทรัพย์ ฉันจักบวชบ้าง. ทั้งสอง สละสมบัติทั้งหมดให้ทานเป็นการใหญ่ ออกจากเมืองเข้าป่าแล้วบวช เลี้ยง ตัวด้วยผลาผลที่แสวงหามาได้อยู่ ๑๐ ปี ด้วยความสุขในการบวชนั่นเอง เที่ยวไปตามชนบทเพื่อต้องการเสพของมีรสเค็มและเปรี้ยว ถึงกรุงพาราณสี โดยลำดับ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ราชุยฺยาเน วสามุโภ เราทั้งสองอยู่ในพระราชอุทยาน.

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปชมพระราชอุทยาน ครั้นเสด็จถึงที่ ใกล้ดาบสดาบสินี ยังกาลเวลาให้น้อมไปด้วยความสุขในการบรรพชา ณ ข้างหนึ่งแห่งพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นปริพาชิกามีรูปงดงามยิ่งนัก น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง มีพระทัยปฏิพัทธ์ด้วยอำนาจกิเลส ตรัสถามพระโพธิสัตว์ ว่า ปริพาชิกานี้เป็นอะไรกับท่าน. เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลว่า มิได้เป็นอะไรกัน. เป็นบรรพชิต ร่วมบรรพชากันอย่างเดียว. แต่เมื่อเป็นคฤหัสถ์ได้เป็น ภริยาของอาตมา. พระราชาทรงดำริว่า ปริพาชิกานี้มิได้เป็นอะไรกับ พระโพธิสัตว์. แต่เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ได้เป็นภริยา. ถ้ากระไรเราจะนำ ปริพาชิกานี้เข้าไปภายในเมือง. ด้วยเหตุนั้นแหละเราจักรู้การปฏิบัติของ ปริพาชิกานี้ต่อพระโพธิสัตว์. พระราชาเป็นอันธพาล ไม่อาจห้ามจิตปฏิพัทธ์ ของพระองค์ในปริพาชิกานั้นได้ จึงรับสั่งกะราชบุรุษคนหนึ่งว่า จงนำ ปริพาชิกานี้เข้าสู่ราชนิเวศน์. ราชบุรุษรับพระบัญชาของพระราชาแล้ว กล่าวคำมีอาทิว่า อธรรม ย่อมเป็นไปในโลก ได้พาปริพาชิกาซึ่งคร่ำครวญอยู่ไป. พระโพธิสัตว์สดับ เสียงคร่ำครวญของปริพาชิกานั้น แลดูครั้งเดียวก็มิได้แลดูอีก. คิดว่า หากว่าเราจักห้าม. อันตรายจักมีแก่ศีลของเรา เพราะจิตประทุษร้ายต่อคน เหล่านั้น จึงนั่งรำพึงถึงศีลบารมีอย่างเดียว.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า อุยฺยานทสฺสนํ คนฺตฺวา, ราชา อทฺทส พฺราหฺมณึ พระราชา เสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยาน ได้ทรงเห็นนางพราหมณี เป็นอาทิ. ในบทเหล่านั้น บทว่า ตุยฺเหสา กา กสฺส ภริยา คือ พราหมณีคนนี้เป็นอะไรกับท่าน เป็นภริยาหรือ. หรือว่าเป็นน้องสาว หรือเป็นภริยาของใครอื่น. บทว่า น มยฺหํ ภริยา เอสา นางพราหมณี นี้มิใช่ภรรยาของอาตมา คือ พราหมณีนี้ถึงจะเป็นภริยาเมื่อตอนอาตมา เป็นคฤหัสถ์ก็จริง. แต่ตั้งแต่บวชแล้วมิใช่ภริยาของอาตมา. แม้อาตมาก็มิใช่ สามีของนาง. แต่ร่วมธรรม ร่วมคำสอนอันเดียวกันเท่านั้น. แม้อาตมา ก็เป็นปริพาชก แม้หญิงนี้ก็เป็นปริพาชิกา เพราะเหตุนั้น จึงมีธรรม เสมอกัน มีคำสอนร่วมกันด้วยคำสอนของปริพาชก. อธิบายว่า เป็นเพื่อน พรหมจรรย์ด้วยกัน. บทว่า ติสฺสา สารตฺตคธิโต พระราชาทรงกำหนัดหนักหน่วง ในนางพราหมณีนั้น คือทรงปฏิพัทธ์มีความกำหนัดด้วยกามราคะ. บทว่า คาหาเปตฺวาน เจฏเก คือรับสั่งให้ราชบุรุษจับ ทรงบังคับราชบุรุษ ของพระองค์ให้จับปริพาชิกานั้น. บทว่า นิปฺปีฬยนฺโต พลสา ทรงบีบ คั้นด้วยกำลัง คือทรงบีบบังคับปริพาชิกานั้นผู้ไม่ปรารถนาด้วยการฉุดคร่า เป็นต้น. อนึ่ง รับสั่งให้ราชบุรุษจับปริพาชิกาผู้ไม่ไปด้วยพลการ แล้วให้ เข้าไปภายในเมือง. บทว่า โอทปตฺตกิยา คือหญิงที่พราหมณ์ หลั่งน้ำแล้วรับไว้เป็น ภริยา ชื่อว่า โอทปตฺติกา. คำนี้พึงเห็นเพียงเข้าไปกำหนดโดยความเป็น ภริยาเก่า. อนึ่ง หญิงนั้นอันมารดาบิดายกให้แก่ชายด้วยพราหมณวิวาหะ. อนึ่ง บทว่า โอทปตฺตกิยา เป็นสัตตมีวิภัตติ์ลงในภาวลักษณะโดยภาวะ. บทว่า สหชาตา คือเกิดร่วมกันด้วยเกิดในบรรพชา. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า เอกสาสนี คือคำสอนร่วมกัน. อนึ่ง บทว่า เอกสาสนี นี้ เป็นปฐมาวิภัตติ์ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ์ คือในคำสอน อันเดียวกัน. บทว่า นยนฺติยา คือนำเข้าไป. บทว่า โกโป เม อุปฺปชฺชถ ความโกรธเกิดขึ้นแก่เรา คือ พราหมณีนี้เป็นผู้มีศีล เป็นภริยาของท่านเมื่อ ครั้งเป็นคฤหัสถ์. ครั้นบวชแล้วเป็นน้องสาวเกิดร่วมโดยความเป็นเพื่อน พรหมจรรย์. พราหมณีนั้นถูกราชบุรุษฉุดเข้าไปโดยพลการต่อหน้าท่าน. ความโกรธที่นอนเนื่องอยู่ช้านาน ได้ผุดขึ้นด้วยมานะของลูกผู้ชายว่า ดูก่อน โพธิพราหมณ์ ท่านเป็นลูกผู้ชายเสียเปล่า ดังนี้จะพลันเกิดขึ้นจากใจของเรา ดุจอสรพิษถูกบุรุษคนใดคนหนึ่งฉุดครูดออกจากปล่องจอมปลวกแผ่แม่เบี้ย เสียงดัง สุสุ ดังนี้. บทว่า สหโกเป สมุปฺปนฺเน คือพร้อมกับความ โกรธที่เกิดขึ้น. อธิบายว่า ในลำดับของความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเอง. บทว่า สีลพฺพตมนุสฺสรึ เราระลึกถึงศีลวัตร คือระลึกถึงศีลบารมีของตน. บทว่า ตตฺเถว โกปํ นิคฺคณฺหึ เราข่มความโกรธได้ ณ ที่นั้นเอง คือตามที่เรา นั่งบนอาสนะนั้นนั่นเอง เราห้ามความโกรธนั้นได้. บทว่า นาทาสึ วฑฺฒิตูปริ ไม่ให้มันเจริญขึ้นไปอีก คือไม่ให้มันเจริญยิ่งขึ้นไปกว่าที่เกิด ขึ้นครั้งแรกนั้น. บทนี้ท่านอธิบายไว้ว่า เพียงเมื่อความโกรธเกิดขึ้นนั่นเอง เราบริภาษตนว่า ดูก่อนโพธิปริพาชก ท่านบำเพ็ญบารมีทั้งปวงประสงค์ จะรู้แจ้งแทงตลอด พระสัพพัญญุตญาณมิใช่หรือ. อะไรกันนี่แม้เพียงศีล ท่านยังเผลอเรอได้. ความเผลอเรอนี้ย่อมเป็นดุจความที่โคทั้งหลายประสงค์ จะไปยังฝั่งโน้นแห่งมหาสมุทรอันจมอยู่ในน้ำกรดฉะนั้น ในขณะนั้นเอง ข่มความโกรธไว้ได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา ไม่ให้ความโกรธนั้นเจริญ ด้วยการเกิดขึ้นอีก. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ยทิ นํ พราหมณึ เป็นอาทิ. บทนั้นมีเนื้อความดังต่อไปนี้ พระราชาหรือใครๆ อื่นเอาหอกอัน คมคริบแทงนางพราหมณีปริพาชิกานั้น. หากตัดให้เป็นชิ้นๆ แม้เมื่อเป็น อย่างนี้ เราก็ไม่พึงทำลายศีล คือศีลบารมีของตนเลย. เพราะเหตุไร? เพราะเหตุแห่งโพธิญาณเท่านั้น คือสามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วย ศีลไม่ขาดในที่ทั้งปวง มิใช่ด้วยเหตุนอกเหนือจากนี้. บทว่า น เม สา พฺราหฺมณี เทสฺสา เราจะเกลียดนางพราหมณี นั้นก็หามิได้ คือ นางพราหมณีนั้นเป็นที่เกลียดชังของเราก็หามิได้ ไม่เป็น ที่รักของเราก็หามิได้ โดยประการทั้งปวง คือ โดยชาติ ด้วยโคตร โดย ประกาศของตระกูล โดยมารยาท และโดยคุณสมบัติมีบรรพชาเป็นต้นที่ สะสมมานาน. ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราไม่รักนางพราหมณีนี้. บทว่า นปิ เม พลํ น วิชฺชติ เราจะไม่มีกำลังก็หามิได้ คือ กำลังของเราจะไม่มี ก็หามิได้. มีอยู่มากทีเดียว. เรามีกำลังดุจช้างสาร สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง ปรารถนาอยู่สามารถจะลุกขึ้นฉับพลัน แล้วบดขยี้บุรุษที่ฉุดนางพราหมณี นั้น แล้วจับบุรุษนั้นไปยังที่ต้องการจะไปได้ ท่านแสดงไว้ดังนี้. บทว่า สพฺพญฺญุตํ ปิยํ มยฺหํ พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา คือพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น เป็นที่รักของเรายิ่งกว่านางปริพาชิกานั้นร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า. บทว่า ตสฺมา สีลานุรกฺขิสฺสํ คือด้วยเหตุนั้นเรา จึงรักษาศีลไว้.

ลำดับนั้น พระราชาไม่ทรงทำให้ชักช้าในพระราชอุทยานรีบเสด็จไป โดยเร็วเท่าที่จะเร็วได้ ตรัสให้เรียกนางปริพาชิกานั้นมาแล้วทรงมอบยศให้ เป็นอันมาก. นางปริพาชิกานั้นกล่าวถึงโทษของยศ คุณของบรรพชา และ ความที่ตนและพระโพธิสัตว์ละกองโภคสมบัติอันมหาศาล แล้วบวชด้วยความ สังเวช. พระราชา เมื่อไม่ทรงได้นางนั้นสมพระทัยโดยอุบายใดๆ จึงทรง ดำริว่า ปริพาชิกาผู้นี้ มีศีล มีกัลยาณธรรม แม้ปริพาชกนั้น เมื่อปริพาชิกา นี้ถูกฉุดนำมาก็หามิได้แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใดเลย. ไม่คำนึงถึงอะไร ทั้งหมด. การทำสิ่งผิดปกติในผู้มีคุณธรรมเห็นปานนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย. เอาเถิดเราจะพาปริพาชิกานี้ไปยังอุทยานแล้วขอขมาปริพาชิกานี้และปริพาชกนั้น. ครั้นพระราชาทรงดำริอย่างนี้แล้วรับสั่งกะราชบุรุษว่า พวกเจ้า จงนำปริพาชิกานี้มายังอุทยาน พระองค์เองเสด็จไปก่อน ทรงเข้าไปหา พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้านำปริพาชิกา นั้นไปพระคุณท่านโกรธหรือเปล่า.

พระมหาสัตว์ถวายพระพรว่า:- ความโกรธเกิดแก่อาตมาแต่ไม่ปล่อย ออก อาตมาจะไม่ปล่อยออกตราบเท่าชีวิต อาตมาจะห้ามทันที เหมือนฝนตกหนักห้าม เสียซึ่งธุลีฉะนั้นดังนี้.

พระราชาครั้นสดับดังนั้นแล้วทรงดำริว่า ปริพาชกนี้กล่าวหมายถึง ความโกรธอย่างเดียว หรืออะไรอื่นมีศิลปะเป็นต้น จึงตรัสถามต่อไปว่า:- อะไรเกิดแก่พระคุณท่าน พระคุณท่าน ไม่ปล่อย พระคุณท่านไม่ปล่อยอะไรตลอด ชีวิต พระคุณท่านห้ามความโกรธนั้นอย่างไร ดุจฝนตกหนักห้ามธุลีฉะนั้นดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปฺปชฺชิ เกิดขึ้นแล้ว คือ ความโกรธ เกิดขึ้นครั้งเดียว ไม่เกิดอีก. บทว่า น มุจฺจิตฺถ ไม่ปล่อย คือไม่ปล่อย ออกด้วยให้เกิดกายวิการและวจีวิการ. อธิบายว่า ไม่ปล่อยความโกรธนั้น ให้เป็นไปในภายนอก. บทว่า รชํว วิปุลา วุฏฺฐิ ความว่า อาตมาระงับ ความโกรธนั้น ห้ามไว้ เหมือนสายฝนในมิใช่ฤดูกาลตกอย่างหนักขจัดธุลี อันเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของฤดูร้อนเป็นปกติ ฉะนั้น.

ลำดับนั้น พระมหาบุรุษเมื่อจะประกาศโทษของความโกรธ โดย ประการต่างๆ แด่พระราชานั้น จึงแสดงธรรมด้วยคาถาเหล่านี้ว่า:- เมื่อความโกรธใดเกิดขึ้น ย่อมไม่เห็น ประโยชน์ เมื่อความโกรธไม่เกิดย่อมเห็น เป็นอย่างดี. ความโกรธนั้นเป็นโคจรของคน ไร้ปัญญา เกิดขึ้นแก่อาตมา อาตมาใช่ปล่อย ออก. เหล่าอมิตรผู้แสวงหาทุกข์ ย่อมยินดี ด้วยความโกรธใดที่เกิดแล้ว ความโกรธนั้น เป็นโคจรของคนไร้ปัญญา เกิดขึ้นแล้วแก่ อาตมา อาตมาไม่ปล่อยออก. อนึ่ง เมื่อ ความโกรธใดเกิดขึ้นบุคคลย่อมไม่รู้สึกถึง ประโยชน์ตน ความโกรธนั้นเป็นโคจรของ คนไร้ปัญญา เกิดขึ้นแก่อาตมา อาตมาไม่ ปล่อยออก. บุคคลถูกความโกรธใดครอบงำ ย่อม ละกุสลธรรมกำจัดประโยชน์แม้ในมูลออกไป เสีย. มหาบพิตรความโกรธนั้น เป็นเสนาของ ความน่ากลัว มีกำลังย่ำยีสัตว์ อาตมาไม่ ปล่อยออกไป. เมื่อไม้ถูกสี ไฟย่อมเกิด. ไฟย่อมเผา ไม้นั้น. เพราะไฟเกิดแต่ไม้. เมื่อคนปัญญา อ่อน โง่ เซ่อ ความโกรธย่อมเกิดเพราะความ ฉุนเฉียว คนพาลแม้นั้นก็ย่อมถูกความโกรธ นั้นเผาผลาญ ความโกรธย่อมเจริญแก่ผู้ใด เหมือนไฟที่หญ้าและไม้ ยศของผู้นั้นย่อม เสื่อมเหมือนดวงจันทร์ในวันข้างแรม ฉะนั้น. ความโกรธของผู้ใดสงบ เหมือนไฟไม่ มีเชื้อ ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยมเหมือน ดวงจันทร์ในวันข้างขึ้น. ในบทเหล่านั้น

บทว่า น ปสฺสติ คือแม้ประโยชน์ตนก็ไม่เห็น ไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ผู้อื่นละ. บทว่า สาธุ ปสฺสติ คือย่อมเห็นทั้ง ประโยชน์ตน ทั้งประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งสอง โดยชอบนั่นเอง. บทว่า ทุมฺเมธโคจโร คือเป็นวิสัยของคนไร้ปัญญา หรือเป็นโคจรที่ไร้ ปัญญา หรือมีเชื้อไฟเป็นอาหาร เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า ทุมฺเมธโคจโร. บทว่า ทุกฺขเมสิโน คือปรารถนาทุกข์. บทว่า สทตฺถํ คือความเจริญ อันเป็นประโยชน์ของตน. บทว่า ปรกฺกเร คือพึงนำออกไป ทำให้หมด ไป. บทว่า ส ภีมเสโน ความโกรธนั้นเป็นเสนาของความน่ากลัว คือ ความโกรธนั้นประกอบด้วยเสนาของกิเลสใหญ่ให้เกิดความน่ากลัว. บทว่า ปมทฺที คือมีปกติย่ำยีสัตว์ทั้งหลายด้วยความมีกำลัง. บทว่า น เม อมุจฺจถ คือความโกรธนั้นไม่ได้ซึ่งความพ้นไปจากสำนักของเรา. เราทรมานไว้ ในภายในนั่นเอง. อธิบายว่า ทำให้หมดพยศ. หรือว่าตั้งใจด้วยความ เป็นนมส้มครู่หนึ่งดุจน้ำนม ฉะนั้น. บทว่า มนฺถมานสฺมึ คือสีไม้เอาไฟ. ปาฐะว่า มถมานสฺมึ บ้าง. บทว่า ยสฺมา คือแต่ไม้ใด. บทว่า คินิ คือไฟ. บทว่า พาลสฺส อวิชานโต คือคนพาล คนโง่. บทว่า สารมฺภา ชายเต เกิดเพราะ ความฉุนเฉียว คือความโกรธย่อมเกิดเพราะความฉุนเฉียว อันมีลักษณะ ทำมากเกินไป เหมือนไฟเกิดเพราะไม้สีไฟฉะนั้น. บทว่า สปิ เตเนว คือคนพาลแม้นั้นย่อมถูกความโกรธเผา เหมือนไม้ถูกไฟฉะนั้น. บทว่า อนินฺโธ ธูมเกตุว คือดุจไฟไม่มีเชื้อฉะนั้น. บทว่า ตสฺส คือยศ ที่ได้ แล้วย่อมเพิ่มพูนต่อๆ ไปแก่บุคคลผู้ประกอบแล้วด้วยความอดกลั้นนั้น.

พระราชาครั้นทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ทรงขอขมา พระมหาบุรุษ แม้นางปริพาชิกา ผู้มาจากพระราชวัง ตรัสว่าขอพระคุณ ท่านทั้งสองเสวยสุขในการบรรพชาอยู่ในอุทยานนี้เถิด. ข้าพเจ้าจักทำการ รักษา ป้องกัน คุ้มครองอันเป็นธรรมแก่พระคุณท่านทั้งสอง นมัสการ แล้วเสด็จกลับ. ปริพาชกและปริพาชิกาทั้งสองอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน นั้นเอง. ต่อมานางปริพาชิกาได้ถึงแก่กรรม. พระโพธิสัตว์เข้าไปยังป่า หิมพานต์ ยังฌานและอภิญญาให้เกิด เมื่อสิ้นอายุก็ได้ไปสู่พรหมโลก.

นางปริพาชิกาในครั้งนั้นได้เป็นมารดาพระราหุลในครั้งนี้. พระราชา คือพระอานนทเถระ. โพธิปริพาชก คือพระโลกนาถ.

แม้ในจูฬโพธิจริยานี้ พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือของพระโพธิสัตว์ตามสมควร. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพแห่งพระมหาบุรุษไว้ใน ที่นี้มีอาทิอย่างนี้คือ การละกองโภคะใหญ่ และวงศ์ญาติใหญ่ ออกจาก เรือน เช่นเดียวกับออกมหาภิเนษกรมณ์. การออกไปอย่างนั้นแล้วตั้งใจ เป็นบรรพชิตที่ชนเป็นอันมากสมมติ ไม่เกี่ยวข้องในตระกูลในคณะ เพราะ เป็นผู้มักน้อยเป็นอย่างยิ่ง. ความยินดียิ่งในความสงัด เพราะรังเกียจลาภ และสักการะ โดยส่วนเดียวเท่านั้น. การประพฤติขัดเกลากิเลสอัน เป็นความดียอดยิ่ง. การนึกถึงศีลบารมีไม่แสดงความโกรธเคืองเมื่อนาง ปริพาชิกา ผู้มีกัลยาณธรรมมีศีลถึงปานนั้นถูกราชบุรุษจับไปโดยพลการ ต่อหน้าตนซึ่งไม่ได้อนุญาต. และเมื่อพระราชาทรงรู้พระองค์ว่า ทรงทำผิด จึงเสด็จเข้าไปหา การตั้งจิตบำเพ็ญประโยชน์และถวายคำสั่งสอน ด้วย ประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในภพหน้า.

ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ว่า:- เอวํ อจฺฉริยา เหเต ฯลฯ ธมฺมสฺส อนุธมฺมโต มีใจความดังได้กล่าวแล้วข้างต้น.

จบ อรรถกถาจูฬโพธิจริยาที่ ๔

กลับที่เดิม