พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการที่พระธรรมเสนาบดีพยากรณ์ปัญหาที่พระองค์ ตรัสถาม โดยย่อได้อย่างพิสดาร ณ ประตูสังกัสนคร ตรัส พระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า เย สญฺญิโน ดังนี้.
            ต่อไปนี้เป็นเรื่องอดีต ในการพยากรณ์ปัญหานั้น. ได้ยินว่า ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ใน พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำลังจะมรณภาพ ที่ชายป่า ถูกพวกอันเตวาสิกถาม ก็กล่าวว่า เนวสัญญีนาสัญญี มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ฯลฯ (เหมือนกับเรื่องใน ปโรสหัสสชาดก) พวกดาบสไม่ยอมเชื่อถ้อยคำของอันเตวาสิก ผู้ใหญ่
            พระโพธิสัตว์จึงมาแต่พรหมชั้นอาภัสสระ ยืนอยู่ในอากาศ กล่าวคาถานี้ ความว่า :- "สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีสัญญา แม้สัตว์ เหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นทุคตะ สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ ไม่มีสัญญา ถึงสัตว์เหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นทุคตะ ท่านจงละเว้นความเป็นสัญญีสัตว์ และอสัญญี- สัตว์ทั้งสองนี้เสีย สุขอันเกิดจากสมาบัตินั้น เป็นสุขที่ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน" ดังนี้.
            ในบรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า เย สญฺญิโน นี้ ท่าน แสดงถึงหมู่สัตว์ที่มีจิตที่เหลือ เว้นท่านผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน. บทว่า เตปิ ทุคฺคตา ความว่า เพราะไม่ได้สมาบัตินั้น แม้ชนเหล่านั้นจึงยังเป็นผู้ชื่อว่า ทุคตะ. ด้วยบทว่า เยปิ อสญฺญิโน นี้ ท่านแสดงถึงอจิตตกสัตว์ ผู้เกิดในอสัญญีภพ. บทว่า เตปิ ทุคฺคตา ความว่า ถึงแม้สัตว์เหล่านั้น ก็ยังคง เป็นทุคตะอยู่เหมือนกัน เพราะยังไม่ได้สมาบัตินี้นั้นแหละ. บทว่า เอตํ อุภยํ วิวชฺชย ความว่า พระโพธิสัตว์ให้โอวาท แก่อันเตวาสิกต่อไปว่า เธอจงเว้นเสีย ละเสีย แม้ทั้งสองอย่างนั้น คือ สัญญีภาวะ และอสัญญีภาวะ. บทว่า ตํ สมาปตฺติสุขํ อนงฺคณํ ความว่า ความสุขในฌาน นั้น คือที่ถึงการนับว่าเป็นสุข โดยเป็นธรรมชาติสงบระงับ ของท่านผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เป็นอนังคณะ คือปราศจากโทษ แม้เพราะความที่แห่งจิตมีอารมณ์แน่วแน่ มีกำลังเป็นสภาพ ความสุขนั้น ก็ชื่อว่า เป็นของไม่มีกิเลสเครื่อง ยียวน.
            พระโพธิสัตว์แสดงธรรมสรรเสริญคุณของอันเตวาสิก ด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ได้กลับคืนไปยังพรหมโลก คราวนั้น ดาบสที่เหลือ ต่างพากันเชื่อฟัง อันเตวาสิกผู้ใหญ่.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประชุม ชาดกว่า อันเตวาสิกผู้ใหญ่ในครั้งนั้นได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนท้าวมหาพรหม๑ ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
            จบ อรรถกถาฌานโสธนชาดกที่ ๔