พระบรมศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระธรรมเสนาบดี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธิรตฺถุ ตํ วิสํ วนฺตํ ดังนี้.
            ได้ยินว่าในคราวที่พระสารีบุตร์เถระขบฉันของเคี้ยวที่ ทำด้วยแป้ง พวกมนุษย์พากันนำของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็น จำนวนมาก มาสู่วิหารเพื่อพระสงฆ์ ของที่เหลือจากที่ภิกษุสงฆ์ รับเอาไว้ ยังมีมากพวกมนุษย์พากันพูดว่า พระคุณเจ้าทั้งหลาย โปรดรับไว้ เพื่อภิกษุที่ไปในบ้านด้วยเถิด.
            ขณะนั้นภิกษุหนุ่ม สัทธิวิหาริกของพระเถระเจ้าไปในบ้าน พวกภิกษุรับส่วนของ เธอไว้ เมื่อเธอยังไม่มา เห็นว่าเป็นเวลาสายจัด ก็ถวายแด่พระเถระเจ้า. เมื่อท่านฉันแล้ว ภิกษุหนุ่มจึงไปถึง.
            ครั้งนั้นพระเถระ กล่าวกะเธอว่า ผู้มีอายุ ฉันบริโภคของเคี้ยวที่เก็บไว้เพื่อเธอ หมดแล้ว. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ธรรมดาของอร่อย ใครจะไม่ชอบเล่าขอรับ. ความสลดใจ เกิดขึ้นแก่พระมหาเถระเจ้า ท่านเลยอธิษฐานไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ฉันของเคี้ยว ที่ทำด้วยแป้ง.
            ข่าวว่า ตั้งแต่บัดนั้นพระสารีบุตร์เถระเจ้าไม่เคย ฉันของที่ชื่อว่า ของเคี้ยวทำด้วยแป้งเลย. ความที่ท่านไม่ฉัน ของเคี้ยวทำด้วยแป้ง เกิดแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ. ภิกษุทั้งหลาย นั่งในธรรมสภา พูดกันถึงเรื่องนั้น. ครั้งนั้นพระบรมศาสดา เสด็จมา ตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากัน ด้วยเรื่องอะไรเล่า ?เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบ แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรแม้จะเสียชีวิตก็ไม่ ยอมรับสิ่งที่ตนทิ้งเสียครั้งหนึ่งอีกทีเดียว แล้วทรงนำเรื่องราว ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
            ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลหมอรักษาพิษ เลี้ยง ชีวิตด้วยเวชกรรม. ครั้งนั้นงูกัดชาวชนบทคนหนึ่ง พวกญาติ ของเขาไม่ประมาท รีบนำมาหาหมอโดยเร็ว. หมอถามว่า จะ พอกยาถอนพิษก่อน หรือจะให้เรียกงูตัวที่กัดมา แล้วให้มัน นั่นแหละ ดูดพิษออกจากแผลที่มันกัด.
            พวกญาติพากันกล่าวว่า โปรดเรียกงูมาให้มันดูดพิษออกเถิด. หมอจึงเรียกงูมาแล้ว กล่าวว่า เจ้ากัดคนผู้นี้หรือ ? ู งู. ใช่แล้ว เรากัด. หมอ. เจ้านั่นแหละจงเอาปากดูดพิษจากปากแผล ที่เจ้า กัดแล้ว. งู. เราไม่เคยกลับดูดพิษที่เราทิ้งไปครั้งหนึ่งแล้วเลย. เราจักไม่ยอมดูดพิษที่เราคายไปแล้วหมอให้คนหาฟืนมาก่อไฟ พลางบังคับว่า ถ้าเจ้าไม่ดูดคืนพิษของเจ้า ก็จงเข้าไปสู่กองไฟ นี้เถิด. งูกล่าวตอบว่า เราจะขอเข้ากองไฟ แต่ไม่ขอยอมดูดคืน ซึ่งพิษที่ตนปล่อยไปแล้วครั้งหนึ่ง เป็นอันขาด แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :- "พิษที่คายแล้วนั้น น่ารังเกียจนัก การที่ เราต้องดูดพิษที่คายแล้ว เพราะเหตุแห่งความ อยู่รอดนั้น ให้เราตายเสียยังดีกว่า" ดังนี้.
            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธิรตฺถุ เป็นนิบาต ลงในอรรถ ว่า ติเตียน. บทว่า ตํ วิสํ ความว่า พิษที่เราคายแล้ว จักต้องกลับดูดคืน เพราะเหตุแห่งการอยู่รอดนั้นน่าขยะแขยงนัก. บทว่า มตํ เม ชีวิตา วรํ ความว่า การเข้าสู่กองไฟแล้วตาย นั้นประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของเรา เพราะเหตุดูดคืนพิษนั้น มากมาย.
            ก็และครั้นงูกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เลื้อยเข้าไปสู่กองไฟ. ครั้งนั้น หมอจึงห้ามงูนั้นไว้ จัดแจงรักษาบุรุษนั้นให้หายพิษ ให้หายโรค ด้วยโอสถและมนต์ แล้วให้ศีลแก่งู กล่าวว่า จำเดิม แต่นี้ไป เจ้าอย่าเบียดเบียนใคร ๆ ดังนี้แล้วก็ปล่อยไป.
            พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตร แม้จะต้องสละชีวิต ก็ไม่ยอมรับคืนสิ่งที่ตนทิ้งเสียแล้วครั้งหนึ่ง เลย ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิประชุม ชาดกว่า งูในครั้งนั้นได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนหมอได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
            จบ อรรถกถาวิสวันตชาดกที่ ๙