พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันทรงปรารภ พระเทวทัต เอาอย่างพระสุคต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำ เริ่มต้นว่า เอวเมว นูน ราชานํ ดังนี้.
            ความพิสดารมีอยู่ว่า เมื่อพระเทวทัตนอนแสดงท่าทาง อย่างพระสุคตแก่พระอัครสาวกทั้งสองผู้มาสู่คยาสีสประเทศ พระเถระทั้งสองครั้นแสดงธรรมแล้ว ก็พานิสิตของท่านมายัง พระวิหารเวฬุวัน. พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนสาริบุตร เทวทัตเห็นเธอทั้งสองแล้วได้ทำอย่างไร. กราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ พระเทวทัตแสดงท่าทางอย่างพระองค์แล้วถึงความ พินาศใหญ่. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนสาริบุตร เทวทัตทำตาม อย่างเรา ถึงความพินาศใหญ่มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้แต่ก่อนก็ ถึงความพินาศ เมื่อพระเถระกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่อง ในอดีตมาตรัสเล่า
            ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าวิเทหะเสวยราชสมบัติในกรุง มิถิลาแคว้นวิเทหะ พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดในพระครรภ์ของ พระอัครมเหสีของพระเจ้าวิเทหะนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็ทรง ศึกษาศิลปศาสตร์ทุกชนิดในเมืองตักกสิลา เมื่อพระบิดาสวรรคต แล้วจึงทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ.
            ในครั้งนั้น พญาหงส์ทองตัวหนึ่งได้อยู่ร่วมกับนางกา ในบริเวณที่หาอาหาร. นางกาคลอดลูกออกมาเป็นตัวผู้. มันไม่ เหมือนแม่ไม่เหมือนพ่อ. เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงได้ตั้งชื่อว่า วินีลกะ เพราะมันมีสีค่อนข้างคล้ำ. พญาหงส์ไปหาลูกบ่อย ๆ. อนึ่ง พญาหงส์นั้นมีลูกหงส์น้อยอยู่สองตัว. ลูกหงส์น้อยเห็นพ่อมันไป ถิ่นมนุษย์บ่อย ๆ จึงถามว่า พ่อทำไมพ่อจึงไปถิ่นมนุษย์บ่อยนัก. พญาหงส์บอกว่า นี่แน่ะลูก ๆ พ่ออยู่ร่วมกับนางกาตัวหนึ่ง เกิด ลูกด้วยกันหนึ่งตัว ชื่อวินีลกะ พ่อไปเยี่ยมมัน. ลูกหงส์ถามว่า ก็พวกนั้นอยู่ถึงไหนเล่าพ่อ. พญาหงส์บอกว่า มันอยู่เหนือยอดตาล ต้นหนึ่งในที่โน้น ไม่ไกลจากกรุงมิถิลาแคว้นวิเทหะ ลูกหงส์ พูดว่า พวกฉันจักไปพาเขามานะพ่อ. พญาหงส์ห้ามว่า ขึ้นชื่อว่า ถิ่นมนุษย์น่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน ลูกอย่าไปกันเลย พ่อจักไป พามาเอง. ลูกหงส์หาเชื่อฟังคำพ่อไม่ จึงพากันไป ณ ที่นั้น ตามเครื่องหมายที่พ่อบอก ให้วินีลกะจับเหนือคอนไม้อันหนึ่ง แล้วช่วยกันเอาจะงอยปากคาบปลายไม้ บินผ่านมาทางกรุง มิถิลา. ขณะนั้นพระเจ้ากรุงวิเทหะประทับบนราชรถ ซึ่งเทียม ด้วยม้าสินธพขาวสี่ตัว ทรงทำประทักษิณพระนคร. วินีลกะ เห็นดังนั้นนึกในใจว่า เราไม่ต่างอะไรกับพระเจ้าวิเทหะ พระเจ้า วิเทหะ ประทับนั่งบนราชรถอันเทียมด้วยม้าสินธพสี่ตัว เสด็จ เลียบพระนคร เราก็นั่งไปในรถอันเทียมด้วยหงส์. วินีลกะเมื่อ กำลังไปทางอากาศกล่าวคาถาแรกว่า :-
            ม้าอาชาไนยพาพระเจ้าวิเทหะผู้ครอง เมืองมิถิลาให้เสด็จไป เหมือนหงส์สองตัวพาเรา ผู้ชื่อว่าวินีลกะไปฉะนั้น.
            ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวเมว คือเหมือนกันนั่นแหละ. บทว่า นูน เป็นนิบาตลงในปริวิตักกะ ย่อมเป็นไปในส่วนเดียว. บทว่า เวเทหํ คือเป็นใหญ่ในแคว้นวิเทหะ. บทว่า มิถิลคฺคหํ ได้แก่ ครอบครองเรือนมิถิลา คือบ้านมิถิลา. บทว่า อาชญฺญา ได้แก่ ม้าซึ่งรู้เหตุและมิใช่เหตุ. บทว่า ยถา หํสา วินีลกํ ได้แก่ ม้าอาชาไนยพาพระเจ้าวิเทหะไป เหมือนหงส์เหล่านี้พาเรา ผู้ ชื่อวินีลกะไป ฉะนั้น.
            ลูกหงส์น้อยฟังคำของวินีลกะแล้วก็โกรธแม้ตั้งใจว่า จักให้ มันตกไปเสียในที่นี้ ก็เกรงจะถูกตำหนิเอาว่า เมื่อเราทำลงไป อย่างนี้ พ่อของเราจะว่าอย่างไร จึงพามันไปหาพ่อแล้วเล่าให้ ่่พ่อฟังถึงกิริยาที่มันกระทำ. พ่อหงส์โกรธมากตวาดว่า เจ้า วิเศษกว่าลูกเราเทียวหรือ ข่มขี่ลูกเราเปรียบลูกเราเหมือนม้า เทียมรถ เจ้าไม่รู้ประมาณตน ที่นี่ไม่ใช่พื้นเพของเจ้า เจ้าจง ไปหาแม่เจ้าเถิด แล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :-
            แน่เจ้าวินีลกะ เจ้ามาคบมาเสพภูเขาอัน มิใช่ภูมิภาคทำเลของเจ้า เจ้าจงไปเสพอาศัย สถานที่ใกล้บ้านเถิด นั่นเป็นที่อยู่อาศัยของ แม่เจ้า.
            ในบทเหล่านั้น บทว่า วินีลกะ เป็นคำเรียกนกวินีลกะ. บทว่า ทุคฺคํ ภชสิ ได้แก่ ท่านคบแต่ซอกเขาอันเป็นที่อยู่ของนก เหล่านี้. บทว่า อภูมึ ตาต เสวสิ ความว่า เจ้าเสพคือเข้าไปอาศัย ภูเขาอันมิใช่พื้นเพของเจ้าซึ่งชื่อว่าซอกเขา. บทว่า เอตํ มาตาล- ยนฺตุวํ ความว่า ที่ทิ้งหยักเยื่อ และที่ป่าช้าผีดิบชายบ้านนั่น เป็นที่อยู่คือเป็นเรือน เป็นที่พักของแม่เจ้า เจ้าจงไปในที่นั้นเถิด. ครั้นพญาหงส์คุกคามวินีลกะอย่างนี้แล้ว ก็สั่งลูกหงส์ว่า เจ้าจง ไปปล่อยมันไว้ที่พื้นเพหยักเยื่อแห่งกรุงมิถิลา. ลูกหงส์ได้ทำ ตามสั่ง.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุม ชาดก. นกวินีลกะในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในครั้งนี้. ลูกหงส์ สองตัวได้เป็นอัครสาวกทั้งสอง. พ่อหงส์ได้เป็นอานนท์. ส่วน พระเจ้าวิเทหะได้เป็นเราตถาคตนี้แล.
            จบ อรรถกถาวินีลกะชาดกที่ ๑๐
            รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ ๑. ราโชวาทชาดก ๒. สิคาลชาดก ๓. สูกรชาดก ๔. อุรคชาดก ๕. ภัคคชาดก ๖. อลีนจิตตชาดก ๗. คุณชาดก ๘. สุหนุชาดก ๙. โมรชาดก ๑๐. วินีลกชาดก และอรรถกถา.
            จบ ทัฬหวรรคที่ ๑