อรรถกถาตัณฑุลนาฬิชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ พระโลฬุทายีเถระ จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กิมคฺฆตี ตณฺฑุลนาฬิกา จ ดังนี้.

สมัยนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตร ได้เป็นพระภัตตุเทสก์ของสงฆ์ เมื่อพระทัพพมัลลบุตรนั้นแสดงสลากภัตเป็นต้น แต่เช้าตรู่ บางคราวภัตดีก็ ถึงแก่พระอุทายีเถระ บางคราวภัตเลว. ในวันที่ได้ภัตเลว พระอุทายีเถระนั้น ก็กระทำโรงสลากให้อากูลวุ่นวาย กล่าวว่า พระทัพพะเท่านั้นรู้เพื่อให้สลาก หรือ พวกเราไม่รู้หรือ. เมื่อพระอุทายีนั้นทำโรงสลากให้วุ่นวายอยู่ ภิกษุ ทั้งหลายได้ให้กระเช้าสลากด้วยคำว่า เอาเถอะท่านนั่นแหละจงให้สลากเดี๋ยวนี้.

จำเดิมแต่นั้น พระอุทายีนั้นได้ให้สลากแก่สงฆ์. ก็แหละเมื่อจะให้ ย่อมไม่รู้ ว่า นี้ ภัตดีหรือภัตเลว หรือว่า ย่อมไม่รู้ว่า ภัตดีตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ภัต เลวตั้งไว้ที่โรงโน้น ? ย่อมไม่กำหนดว่า บัญชีแสดงยอดจำนวนอยู่ในโรงโน้น ? ในเวลาที่ภิกษุทั้งหลายยืน ก็ขีดเส้นที่พื้น หรือที่ข้างฝา มีอันให้รู้ว่า ในที่นี้ บัญชีที่ตั้งลำดับนี้ยืน ในที่นี้ บัญชีที่ตั้งลำดับนี้ยืน. วันรุ่งขึ้น ในโรงสลาก มีภิกษุน้อยกว่าบ้าง มากกว่าบ้าง เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นน้อยกว่า รอยขีด ก็อยู่ตํ่า เมื่อภิกษุทั้งหลายมากกว่า รอยขีดก็อยู่สูง. พระอุทายีนั้นเมื่อไม่รู้ บัญชีที่ตั้งลำดับ จึงให้สลากไปตามหมายรอยขีด.

ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะพระอุทายีนั้นว่า ดูก่อนอาวุโส อุทายี ธรรมดารอยขีดจะอยู่ตํ่าหรืออยู่สูงก็ตามเถอะ แต่ภัตดีตั้งอยู่ที่โรงโน้น ภัตเลวตั้งอยู่ที่โรงโน้น. พระอุทายีเมื่อจะโต้ตอบภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า ถ้า เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร รอยขีดนี้จึงตั้งอยู่อย่างนี้ เราจะเชื่อพวกท่าน ได้อย่างไร เราเชื่อตามรอยขีดนี้.

ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรทั้งหลาย จึงกล่าวกะพระอุทายีนั้นว่า ดูก่อนอาวุโสอุทายี เมื่อท่านให้สลากอยู่ ภิกษุ ทั้งหลายพากันเสื่อมลาภ ท่านไม่สมควรให้สลาก จงออกไปจากโรงสลาก แล้วฉุดคร่าออกจากโรงสลาก.

ขณะนั้น ในโรงสลาก ได้มีความวุ่นวายมาก. พระศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสถามพระอานนท์เถระว่า อานนท์ ในโรงสลากมีความวุ่นวายมาก นั่นชื่อว่าเสียงอะไร. พระเถระได้กราบทูล เรื่องนั้นแด่พระตถาคต. พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ อุทายีกระทำความเสื่อม ลาภแก่คนอื่น เพราะความที่ตนเป็นคนโง่ มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ก็ได้กระทำแล้วเหมือนกัน.

พระเถระทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อ ตรัสเรื่องนั้นให้แจ่มแจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำเหตุอันระหว่างภพ ปกปิดไว้ ให้ปรากฏ ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต อยู่ในพระนคร พาราณสี แคว้นกาสี. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายได้เป็นพนักงาน ตีราคาของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ได้ตีราคาช้างและม้าเป็นต้น และแก้วมณีกับ ทองเป็นต้น ครั้นตีราคาแล้วให้มูลค่าอันสมควรแก่ภัณฑะนั่นแหละ แก่เจ้า ของภัณฑะทั้งหลาย

แต่พระราชาทรงเป็นคนโลภ เพราะความเป็นผู้มักโลภ พระราชานั้นจึงทรงดำริอย่างนี้ว่า พนักงานตีราคาคนนี้ เมื่อตีราคาอยู่อย่างนี้ ไม่นานนัก ทรัพย์ในวังของเราจักถึงความหมดสิ้นไป เราจักตั้งคนอื่นให้เป็น พนักงานตีราคา พระราชานั้นทรงให้เปิดสีหบัญชรทอดพระเนตรดูพระลานหลวง

ทรงเห็นบุรุษชาวบ้านคนหนึ่งผู้ทั้งเหลวไหลและโง่เขลา จึงทรงพระดำริว่า ผู้นี้จักอาจกระทำงานในตำแหน่งพนักงานตีราคาของเราได้ จึงรับสั่ง ให้เรียกเขามา แล้วตรัสว่า พนาย เธอจักอาจทำงานในตำแหน่งพนักงานตี ราคาของเราได้ไหม. บุรุษนั้นทูลว่า อาจ พะย่ะค่ะ พระราชาจึงทรงตั้งบุรุษ เขลาคนนั้นไว้ในงานของผู้ตีราคา เพื่อต้องการรักษาทรัพย์ของพระองค์.

ตั้ง แต่นั้น บุรุษผู้โง่เขลานั้น เมื่อจะตีราคาช้างและม้าเป็นต้น กล่าวตีราคาเอา ตามความชอบใจ ทำให้เสียราคา. เพราะเขาดำรงอยู่ในตำแหน่ง เขากล่าว คำใด คำนั้นนั่นแลเป็นราคา. ครั้งนั้น พ่อค้าม้าคนหนึ่ง นำม้า ๕๐๐ ตัว มาจากแคว้นอุตตราปถะ พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษนั้นมาให้ตีราคาม้า บุรุษ นั้นได้ตั้งราคาม้า ๕๐๐ตัว ด้วยข้าวสารทะนานเดียว ก็แหละครั้นตีราคาแล้ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้ข้าวสารหนึ่งทะนานแก่พ่อค้าม้า แล้วให้พัก ม้าไว้ในโรงม้า.

พ่อค้าม้าจึงไปยังสำนักของพนักงานตีราคาคนเก่า บอกเรื่องราวนั้น แล้วถามว่า บัดนี้ ควรจะทำอย่างไร ? พนักงานตีราคาคนเก่านั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้สินบนแก่บุรุษนั้นแล้วถามอย่างนี้ว่า ม้าทั้งหลายของพวก ข้าพเจ้ามีราคาข้าวสารทะนานเดียวก่อน ข้อนี้รู้กันแล้ว แต่ข้าพเจ้าประสงค์ จะรู้ราคาของข้าวสารทะนานเดียว เพราะอาศัยท่าน ท่านจักอาจเพื่อยืนอยู่ใน สำนักของพระราชาแล้วพูดว่า ข้าวสารหนึ่งทะนานนี้มีราคาชื่อนี้ ถ้าเขาพูดว่า จักอาจ พวกท่านจงพาเขาไปยังสำนักของพระราชา แม้เราก็จักไปในที่นั้น. พ่อค้ารับคำพระโพธิสัตว์แล้วให้สินบนแก่นักตีราคา แล้วบอกเนื้อความนั้น. นักตีราคานั้นพอได้สินบนเท่านั้นก็กล่าวว่า เราจักอาจตีราคาข้าวสารหนึ่ง ทะนานได้.

พ่อค้าม้ากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเราจงพากันไปยังราชสกุล แล้วได้พานักตีราคานั้นไปยังสำนักของพระราชา. พระโพธิสัตว์ก็ดี อำมาตย์ เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นก็ดี ได้พากันไปแล้ว พ่อค้าม้าถวายบังคมพระราชา แล้วทูลถามว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ได้ทราบว่าม้า ๕๐๐ ตัวมีราคา เท่าข้าวสารหนึ่งทะนาน แต่ข้าวสารหนึ่งทะนานนี้มีราคาเท่าไร ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดถามพนักงานตีราคา พระเจ้าข้า. พระราชาไม่ทราบ ความเป็นไปนั้นจึงตรัสถามว่า ท่านนักตีราคาผู้เจริญ ม้า ๕๐๐ ตัวมีราคา เท่าไร ? พนักงานตีราคากราบทูลว่า มีราคาข้าวสารหนึ่งทะนานพระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า ช่างเถิด พนาย ม้าทั้งหลายมีราคาข้าวสารหนึ่งทะนาน ก่อน แต่ข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น มีราคาเท่าไร ? บุรุษโง่ผู้นั้นกราบทูลว่า ข้าวสารหนึ่งทะนานย่อมถึงค่าเมืองพาราณสี ทั้งภายในและภายนอก พะย่ะค่ะ.

ได้ยินว่า ในกาลก่อน บุรุษโง่นั้นอนุวรรตตามพระราชา จึงได้ตี ราคาม้าทั้งหลายด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง ได้สินบนจากมือของพ่อค้า กลับตีราคา เมืองพาราณสีทั้งภายในและภายนอก ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนานนั้น. ก็ในกาล นั้น เมืองพาราณสีได้ล้อมกำแพงประมาณ ๑๒ โยชน์ แคว้นทั้งภายในและ ภายนอกเมืองพาราณสีนี้ประมาณ ๓๐๐ โยชน์. บุรุษโง่นั้นได้ตีราคาเมือง พาราณสีทั้งภายในและภายนอกอันใหญ่โตอย่างนี้ ด้วยข้าวสารหนึ่งทะนาน ฉะนี้.

พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถานี้ว่า ข้าวสารหนึ่งทะนานมีราคาเท่าไร พระนคร พาราณสีทั้งภายในภายนอกมีราคาเท่าไร ข้าวสารทะนานเดียว มีราคาเท่าม้า ๕๐๐ ตัวเทียวหรือ. อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงพากันตบมือหัวเราะทำการเยาะเย้ยว่า เมื่อก่อน พวกเราได้มีความสำคัญว่า แผ่นดินและราชสมบัติ หาค่ามิได้ นัย ว่าราชสมบัติในเมืองพาราณสีพร้อมทั้งพระราชาอันใหญ่โตอย่างนี้ มีค่าเพียง ข้าวสารทะนานเดียว โอ ! ความเพียบพร้อมของพนักงานตีราคา ท่านเป็น พนักงานตีราคา ดำรงอยู่ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ณ ที่ไหนกัน ท่านเหมาะสม แก่พระราชาของพวกเราทีเดียว.

ครั้งนั้น พระราชาทรงละอาย ให้ฉุดคร่า บุรุษโง่นั้นออกไป แล้วได้พระราชทานตำแหน่งพนักงานตีราคาแก่พระโพธิสัตว์ตามเดิม. พระโพธิสัตว์ได้ไปตามยถากรรม.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสเรื่อง ๒ เรื่อง สืบอนุสนธิต่อกันไป แล้วทรงประชุมชาดกว่า พนักงานตีราคาผู้เป็นชาวบ้าน โง่เขลาในกาลนั้น ได้เป็นพระโลฬุทายีในบัดนี้ พนักงานตีราคาผู้เป็นบัณฑิต ในกาลนั้น ได้เป็นเราเอง.

จบตัณฑุลนาฬิชาดกที่ ๕

กลับที่เดิม