พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรง ปรารภภิกษุคบพวกผิด ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้น ว่า วณฺณคนฺธรโสเปโต ดังนี้. เรื่องราวข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้ว ในหนหลัง.
            ก็ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการอยู่ร่วมกับอสัตบุรุษ เป็นสิ่งเลวทราม ทำแต่ความ ฉิบหาย. ในการอยู่ร่วมกันนั้น อย่าว่าแต่อยู่ร่วมกับคนชั่วทำ ความฉิบหายให้แก่มนุษย์เลย แม้เมื่อก่อนต้นมะม่วงซึ่งไม่มี จิตใจ มีรสอร่อย เปรียบด้วยรสทิพย์ อาศัยอยู่ร่วมกับต้นสะเดา ที่ไม่น่าพอใจ ไม่มีรสอร่อย ยังขมได้. แล้วทรงนำเรื่องอดีต มาตรัสเล่า.
            ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน กรุงพาราณสี พราหมณ์สี่คนพี่น้องในแคว้นกาสี บวชเป็นฤๅษี สร้างบรรณศาลา อาศัยอยู่ตามลำดับกันไปในหิมวันตประเทศ. พี่ชายใหญ่ของพวกพราหมณ์ถึงแก่กรรมไป เกิดเป็นท้าวสักกะ. ท้าวเธอทราบเหตุการณ์นั้น ล่วงไปเจ็ดแปดวันเป็นลำดับ ๆ จะเสด็จไปดูแลดาบสเหล่านั้น วันหนึ่งเสด็จไปนมัสการดาบส ผู้พี่ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า ท่านต้องการอะไร ดาบสนั้นเป็นโรคผอมเหลือง จึงถวายพระพรว่า อาตมาต้องการ ไฟ. ท้าวสักกะจึงประทานพร้าโต้ให้. พร้าใส่ด้ามใช้ได้ทั้งมีด ทั้งขวาน ชื่อว่าพร้าโต้. พระดาบสถวายพระพรว่า ใครจะใช้ พร้านี้หาฟืนมาให้อาตมาได้เล่า. ท้าวสักกะจึงรับสั่งกะดาบส นั้นว่า หากพระคุณเจ้าต้องการฟืน ก็จงเอามือตบพร้าโต้นี้ แล้วสั่งว่า จงหาฟืนมาก่อไฟให้เรา พร้าโต้นั้นก็จะหาฟืนมา ก่อไฟให้. ครั้นแล้วท้าวสักกะประทานพร้าโต้แก่ดาบสนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาดาบสรูปที่สอง ตรัสถามว่า ท่านต้องการอะไร. ใกล้บรรณศาลาของดาบสนั้น เป็นทางเดินของช้าง. ดาบสถูก ช้างรบกวน จึงถวายพระพรว่า อาตมาลำบากเพราะช้าง ขอให้ ไล่มันไปเสียเถิด. ท้าวสักกะจึงทรงมอบกลองใบหนึ่งให้แก่ ดาบสนั้น แล้วรับสั่งว่า เมื่อพระคุณเจ้าตีกลองด้านนี้ ข้าศึก จะหนีไป ตีด้านนี้ เขาจักมีเมตตาห้อมล้อมท่านด้วยจตุรังคินีเสนา ครั้นประทานกลองใบนั้นแล้ว จึงเสด็จไปยังสำนักของดาบส ผู้น้องแล้วตรัสถามว่า พระคุณเจ้าต้องการอะไร. แม้พระดาบส รูปนั้นก็เป็นโรคผอมเหลือง เพราะฉะนั้น จึงถวายพระพรว่า ต้องการนมส้ม. ท้าวสักกะจึงประทานหม้อนมส้มใบหนึ่งแก่ ดาบสนั้น แล้วมีรับสั่งว่า ถ้าพระคุณเจ้าต้องการก็จงรินหม้อนี้ จะเกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ มีห้วงน้ำใหญ่ไหลไป ทั้งยังสามารถเอา ราชสมบัติให้ท่านได้ ครั้นรับสั่งแล้วก็เสด็จกลับ.
            ตั้งแต่นั้นมา พร้าโต้ก็ก่อไฟให้ดาบสผู้พี่. เมื่อดาบส รูปที่สองตีกลอง ช้างก็หนี. ดาบสผู้น้องก็ฉันนมส้ม. ในครั้งนั้น มีสุกรตัวหนึ่ง เที่ยวไปที่บ้านร้างแห่งหนึ่ง ได้พบแก้วมณีที่ทรง อานุภาพ. มันจึงคาบแก้วมณีนั้น แล้วเหาะไปบนอากาศด้วย อานุภาพของแก้วมณี ไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง ท่ามกลางมหาสมุทร คิดว่า เวลานี้เราควรอยู่ที่นี่ แล้วลงพักใต้ต้นมะเดื่อต้นหนึ่ง ใน ที่อันสำราญ. วันหนึ่งมันวางแก้วมณีไว้ข้างหน้าแล้วก็หลับไป ที่โคนต้นไม้นั้น.
            ครั้งนั้นมนุษย์ชาวแคว้นกาสีคนหนึ่ง ถูกมารดาบิดา ไล่ออกจากเรือนด้วยเห็นว่า เด็กคนนี้ไม่ช่วยเหลือเราเลย จึงไป ถึงท่าเรือแห่งหนึ่ง สมัครเป็นกรรมกรของชาวเรือโดยสารเรือ ไป ครั้นเรืออับปางกลางสมุทร จึงนอนบนแผ่นกระดานไปถึง เกาะแห่งหนึ่ง เที่ยวแสวงหาผลไม้ ครั้นเห็นสุกรนั้นนอนหลับ จึงค่อย ๆ ย่องเข้าไปลักเอาแก้วมณี แล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศ ด้วยอานุภาพของแก้วมณีนั้น แล้วกลับมานั่งลงบนต้นมะเดื่อ คิดว่า ชะรอยสุกรนี้จะเที่ยวไปในอากาศด้วยอานุภาพของ แก้วมณีนี้ แล้วมาพักอยู่ที่นี่ เราควรฆ่าสุกรนี้กินเนื้อเสียก่อน แล้วจึงไปในภายหลัง. ชายนั้นจึงหักไม้ท่อนหนึ่งเหวี่ยงลงบนหัว สุกร. สุกรตื่นขึ้นไม่เห็นแก้วมณีจึงกระสับกระส่ายวิ่งพล่าน ไปมา. ชายที่นั่งบนต้นไม้หัวเราะ สุกรเหลือบเห็นเข้าก็เอาหัว ชนต้นไม้นั้นตายทันที. ชายผู้นั้นจึงลงจากต้นไม้ก่อไฟย่างเนื้อ สุกรกิน แล้วเหาะขึ้นไปบนอากาศไปถึงทางสุดของหิมวันต- ประเทศ ครั้นเห็นอาศรมบทแล้วจึงเหาะลงที่อาศรมของดาบส ผู้พี่ ได้อาศัยกระทำวัตรปฏิบัติดาบสอยู่สองสามวัน และได้เห็น อานุภาพของพร้าโต้. ชายผู้นั้นจึงคิดว่า เราควรเอาพร้าเล่มนี้ เสีย จึงอวดอานุภาพแก้วมณีแก่ดาบส แล้วพูดว่า พระคุณเจ้า จงเอาแก้วมณีนี้ แล้วให้พร้าโต้แก่ข้าพเจ้าเถิด. พระดาบสอยาก จะเที่ยวไปบนอากาศบ้าง จึงรับเอาแก้วมณีแล้วให้พร้าโต้แก่ เขา. ชายผู้นั้นครั้นได้พร้าโต้ เดินไปได้สักหน่อยจึงตบพร้าโต้ สั่งว่า ดูก่อนพร้าโต้เจ้าจงตัดศีรษะดาบสเสียแล้วเอาแก้วมณี มาให้เรา. พร้าโต้ก็ไปตัดศีรษะดาบสแล้วนำแก้วมณีมาให้. เขาซ่อนพร้าโต้ไว้ในที่ที่ปกปิด แล้วเดินไปหาดาบสคนกลาง พักอยู่สองสามวันก็ได้เห็นอานุภาพของกลอง จึงให้แก้วมณี แลกกับกลอง แล้วให้พร้าโต้ตัดศีรษะดาบสรูปนั้นเสียเช่นนัย ก่อน แล้วจึงเข้าไปหาดาบสคนสุดท้าย ก็ได้เห็นอานุภาพของ หม้อนมส้ม จึงให้แก้วมณีแลกเอาหม้อนมส้ม แล้วให้ตัดศีรษะ ดาบสนั้นเช่นนัยก่อน ถือเอาแก้วมณี พร้าโต้ กลอง หม้อนมส้ม เหาะไปบนอากาศ แล้วลงพักไม่ไกลกรุงพาราณสี ฝากหนังสือ ไปแก่บุรุษคนหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงพาราณสีจะสู้รบกับเราหรือ จะยอมให้ราชสมบัติแก่เรา. พระราชาทรงสดับสาส์นเท่านั้น ก็เสด็จออกด้วยหมายพระทัยว่าจักจับโจร. ชายผู้นั้นจึงตีกลอง ด้านหนึ่ง จตุรังคินีเสนาก็เข้ามาห้อมล้อม. เขาทราบอย่าง แน่วแน่ว่า พระราชาตกอยู่ในเงื้อมมือของตนแล้ว จึงรินหม้อ นมส้ม. เกิดเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลท่วมท้น. มหาชนจมลงในนมส้ม ไม่สามารถหนีออกไปได้. เขาจึงตบพร้าโต้สั่งว่าเจ้าจงไปตัด ศีรษะพระราชามา. พร้าโต้ก็ไปตัดพระเศียรพระราชามาวาง ไว้แทบเท้าของเขา. นักรบแม้คนเดียวก็ไม่อาจเงื้ออาวุธได้. เขาแวดล้อมด้วยพลนิกายใหญ่ยกเข้าสู่พระนคร ให้จัดทำพิธี ปราบดาภิเษก เป็นพระราชาพระนามว่า ทธิวาหนะ ครอบครอง ราชสมบัติโดยธรรม.
            วันหนึ่งเมื่อพระราชาทธิวาหนะทรงสนานที่แม่น้ำใหญ่ ภายในมีข่ายกั้นเป็นวงล้อม มะม่วงสุกผลหนึ่งเป็นของเทวดา
            ลอยมาติดข่าย. พนักงานทั้งหลายเมื่อยกข่ายขึ้น ก็เห็น มะม่วงนั้นจึงนำไปถวายพระราชา. มะม่วงนั้นเป็นผลกลม ประมาณเท่าหม้อใหญ่ มีสีดุจทองคำ. พระราชาตรัสถาม พรานป่าว่า นี้ผลอะไร ครั้นสดับว่าเป็นผลมะม่วง จึงรับสั่ง ให้ปลูกในพระราชอุทยานของพระองค์ แล้วให้รดด้วยน้ำนม. ต้นไม้ได้เจริญเติบโตให้ผลในปีที่สาม. ต้นมะม่วงได้มีสักการะ เป็นอันมาก. เขารดด้วยน้ำนม เจิมด้วยของหอมห้าชนิด ห้อย พวงมาลัยตามประทีปด้วยน้ำมันหอม กั้นด้วยผ้าม่าน. เป็น ผลไม้มีรสหวาน มีสีเหลืองดังทองคำ.
            พระเจ้าทธิวาหนะจะทรงส่งผลมะม่วงไปถวายพระราชา ือื่น ๆ ใช้เงี่ยงกระเบนแทงหน่อทิ้งออกเสียแล้วส่งไป เพราะ เกรงว่าจะเกิดเป็นต้นขึ้น แล้วทรงส่งไป. เมล็ดมะม่วงที่พระราชา เหล่านั้นเสวยแล้วให้เพาะก็ไม่งอก. เมื่อพระราชาเหล่านั้น สอบถามว่า อะไรหนอเป็นเหตุในเรื่องนี้ ก็หาทราบเหตุนั้นไม่. ครั้นแล้วพระราชาองค์หนึ่งรับสั่งหาคนเฝ้าพระอุทยานมาตรัส ถามว่า เจ้าสามารถจะทำรสผลมะม่วงของพระเจ้าทธิวาหนะ ให้เสียกลายเป็นรสขมได้หรือ เมื่อคนเฝ้าสวนกราบทูลว่า ได้ พระเจ้าข้า จึงรับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้นก็จงไป แล้วพระราชทาน ทรัพย์พันหนึ่งส่งไป. เขาไปถึงกรุงพาราณสีแล้ว ให้กราบทูล พระราชาว่า คนเฝ้าสวนคนหนึ่งมาเฝ้า เมื่อพระองค์รับสั่งว่า ให้มาเฝ้าได้ เขาจึงไปถวายบังคมพระราชา เมื่อรับสั่งถามว่า เจ้าเป็นคนเฝ้าสวนหรือ เขากราบทูลว่าถูกแล้วพระเจ้าข้า แล้ว ก็พรรณนาถึงความสามารถของตน. พระราชารับสั่งว่า จงไป อยู่กับคนเฝ้าสวนของเราเถิด. ตั้งแต่นั้นมาทั้งสองคนก็ช่วยกัน รักษาพระราชอุทยาน คนเฝ้าสวนคนใหม่มาอยู่ได้ไม่นาน ได้ ทำให้ต้นไม้ออกช่อในเวลามิใช่กาล ให้มีผลในเวลามิใช่ผล ทำให้พระราชอุทยานน่ารื่นรมย์ยิ่งนัก. พระราชาทรงโปรดปราน เขา รับสั่งให้ปลดคนเฝ้าสวนคนเก่าออกเสีย ได้พระราชทาน หน้าที่เฝ้าสวนให้แก่เขาโดยเฉพาะ. เขาตระหนักแน่ว่า พระ- ราชอุทยานอยู่ในเงื้อมมือของตนแล้ว จึงปลูกต้นสะเดา และ เถาบรเพ็ดล้อมต้นมะม่วง. ต้นสะเดางอกงามขึ้นโดยลำดับ. รากต่อรากพันกัน กิ่งต่อกิ่งพาดทับกัน. เพราะความเกี่ยวพัน กันกับไม้ที่ไม่น่ายินดี และปราศจากรสนั้น มะม่วงซึ่งมีผลหวาน มาก่อน ก็กลับเป็นรสขมแล้วจึงหนีไป. พระเจ้าทธิวาหนะเสด็จ ไปพระอุทยานเสวยผลมะม่วง ไม่อาจจะทรงกลืนเยื่อมะม่วง ซึ่งตกถึงพระโอฐได้ คล้ายน้ำฝากสะเดา ต้องทรงขากถ่มทิ้ง. ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้สอนอรรถและธรรมของพระองค์. พระราชาจึงปรึกษากะพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนบัณฑิต ต้นไม้นี้ มิได้บกพร่องต่อการดูแลมาก่อนเลย เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลของ มันก็เกิดขมขึ้นมาได้ อะไรหนอเป็นเหตุ เมื่อจะรับสั่งถาม จึง ตรัสคาถาแรกว่า :-
            แต่ก่อนมามะม่วงต้นนี้บริบูรณ์ด้วยสีลี กลิ่น และรส ได้รับการบำรุงอยู่แต่เดิม เหตุไร จึงมีผลขมไปได้.
            ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะทูลแจ้งเหตุของมะม่วงนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
            ข้าแต่พระเจ้าทธิวาหนะ มะม่วงของ พระองค์ มีต้นสะเดาล้อมอยู่ รากต่อรากเกี่ยว พันกัน กิ่งต่อกิ่งเกี่ยวประสานกัน เหตุที่อยู่ร่วม กันกับต้นสะเดาที่มีรสขม มะม่วงจึงมีรสขม ไปด้วย.
            บทว่า ปุจิมนฺทปริวาโร แปลว่า ล้อมด้วยต้นสะเดา. บทว่า สาขา สาขํ นิเวสเร คือกิ่งสะเดาพาดกิ่งมะม่วง. บทว่า อสาตสนฺนิวาเสน ได้แก่ เพราะพาดกับต้นสะเดาอันมีรสขม. บทว่า เตน อธิบายว่า เพราะเหตุนั้น มะม่วงนี้จึงมีรสเฝื่อน มีรสปร่า มีรสขม.
            พระราชาทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว รับสั่งให้ ตัดต้นสะเดาและเถาบรเพ็ดเสีย ให้ถอนรากขึ้นขนดินที่เสียรส ไปทิ้ง ใส่แต่ดินมีรสดี ให้บำรุงต้นมะม่วงด้วยน้ำนมน้ำตาลกรวด และน้ำหอม. เพราะปนกับรสดี มันจึงกลายเป็นต้นไม้มีรสหวาน อย่างเดิม. พระราชาทรงมอบพระอุทยานแก่คนเฝ้าสวนคนเดิม ทรงดำรงอยู่ตลอดพระชนม์แล้วเสด็จไปตามยถากรรม.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม ชาดก. อำมาตย์บัณฑิตในครั้งนั้น คือเราตถาคตในครั้งนี้แล.
            จบ อรรถกถาทธิวาหนชาดกที่ ๖