พระศาสดาทรงอาศัยพระนครเวสาลี ประทับอยู่ ณ ปาฏิการาม ทรงปรารภท่านพระสุนักขัตตะ ตรัสพระธรรม เทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โสตตฺโต โสสีโต ดังนี้. ความพิสดารว่า
            สมัยหนึ่งท่านพระสุนักขัตตะเป็นผู้ อุปัฏฐากพระศาสดา ถือบาตรจีวรตามเสด็จไป เกิดพอใจธรรม ของโกรักขัตติยปริพาชก ถวายบาตรจีวรคืนพระทศพล ไปอาศัย โกรักขัตติยปริพาชก ในเมื่อโกรักขัตติยปริพาชกนั้นไปเกิดใน กำเนิดอสูรพวกกาลัญชิกะ จึงสึกเป็นคฤหัสถ์เที่ยวกล่าวติโทษ พระศาสดา ตามแนวกำแพงทั้ง ๓ ในพระนครเวสาลีว่า อุตตริมนุษยธรรม คือญาณทัสสนอันวิเศษซึ่งพอแก่ความเป็นพระอริยเจ้า ของพระสมณโคดม ไม่มีดอก พระสมณโคดมแสดงธรรมที่ตน กำหนดนึกเอาเอง ค้นคว้าเอาตามที่สอบสวน เป็นปฏิภาณ ของตนเอง และธรรมที่พระสมณโคดมแสดงนั้นเล่า ก็มิได้ นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้ปฏิบัติตาม
            คราวนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า เที่ยวบิณฑบาต ได้ยินเขากล่าวติโทษ เรื่อยมา กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็กราบทูลข้อความนั้นแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
            ดูก่อนสารีบุตร สุนักขัตตะเป็นคนมักโกรธ เป็นโมฆบุรุษ กล่าวอย่างนี้ด้วย อำนาจความโกรธเท่านั้น กล่าวอยู่ว่า ธรรมนั้นมิได้นำไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ แก่ผู้ปฏิบัติตามนั้น ดังนี้ แม้ต้อง อำนาจแห่งความโกรธมาก เพราะเหตุที่ไม่รู้จริง จึงกล่าวโทษ เราอยู่ตลอดเวลา ก็เขาเป็นโมฆบุรุษ จึงไม่รู้คุณของเรา เลย
            ดูก่อนสารีบุตร ที่แท้คุณพิเศษที่ชื่อว่า อภิญญา ๖ ของ เราก็มี แม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน พล ๑๐ ก็มี เวสารัชชญาณ ๔ ประการก็มี ญาณที่จะ กำหนดรู้กำเนิดทั้ง ๔ ก็มี ญาณที่จะกำหนดรู้คติทั้ง ๕ ก็มี แม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน ก็ผู้ใด กล่าวว่า เราผู้ถึงพร้อมด้วยอุตตริมนุษยธรรมเพียงเท่านี้ อย่างนี้ ว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระสมณโคดมไม่มีดอก ผู้นั้นไม่ละคำ นั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่ถอนคืนความเห็นนั้นย่อมถูกฝังในนรก เหมือนกับถูกจับมาฝัง ฉะนั้น
            ครั้นตรัสพระคุณแห่งอุตตริมนุษยธรรม ที่มีในพระองค์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ได้ยิน ว่า สุนักขัตตะ เลื่อมใสในมิจฉาตบะ ด้วยกิริยาแห่งกรรมอัน บุคคลทำได้ยากของโกรักขัตติยะ เมื่อเลื่อมใสอยู่ ก็ไม่สมควร จะเลื่อมใสในเราทีเดียว ที่จริงในที่สุดแห่งกัป ๙๑ แต่ภัททกัปนี้ เราทดลองมิจฉาตบะของลัทธิภายนอก เพื่อจะรู้ว่าสาระในตบะ นั้นมีจริงหรือไม่ อยู่บำเพ็ญพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ เรากล่าวได้ว่า เป็นผู้เรืองตบะ เรืองตบะอย่างยอดเยี่ยม เป็น ผู้เศร้าหมอง เศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้น่าเกลียด น่าเกลียด อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เงียบ เงียบอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้ อันพระ เถระเจ้ากราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
            ในอดีตกาลที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ พระโพธิสัตว์ดำริว่า เรา จักทดลองตบะของพวกนอกลู่นอกทางดู จึงบวชเป็นอาชีวก ไม่ นุ่งผ้า คลุกเคล้าด้วยธุลี เงียบฉี่อยู่คนเดียว เห็นพวกมนุษย์แล้ว ต้องวิ่งหนี เหมือนมฤคมีมหาวิกัติเป็นโภชนะ บริโภคโคมัยแห่ง ลูกโคเป็นต้น เพื่อจะอยู่ด้วยความไม่ประมาท จึงอยู่ในไพรสณฑ์ เปลี่ยวตำบลหนึ่งในราวไพร
            เมื่ออยู่ในถิ่นนั้น เวลาหิมะตกตอน กลางคืน ออกจากไพรสณฑ์ อยู่กลางแจ้ง ชุ่มโชกด้วยน้ำหิมะ เวลากลางวันก็ทำนองเดียวกัน ให้ตนชุ่มโชกด้วยหยาดน้ำที่ไหล จากไพรสณฑ์ เสวยทุกข์แต่ความหนาว ทั้งกลางวันกลางคืน อยู่อย่างนี้ อนึ่งในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ตอนกลางวันก็ถึงความ รุ่มร้อนด้วยแสงแดด ณ ที่โล่ง กลางคืนก็อย่างนั้นเหมือนกับถึง ความรุ่มร้อนอยู่ในไพรสณฑ์ที่ปราศจากลม หยาดเหงื่อไหลออก จากสรีระ ครั้งนั้น คาถานี้ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ได้ปรากฏ แจ่มแจ้งว่า :-
            "เราเร่าร้อนแล้ว หนาวเหน็บแล้ว อยู่ ผู้เดียวในป่าอันน่าสพึงกลัว เป็นคนเปลือย ไม่ได้ ผิงไฟ เป็นมุนีขวนขวายแล้ว ในการแสวงบุญ" ดังนี้.
            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสตตฺโต ความว่า เราเร่าร้อน ด้วยความแผดเผาจากดวงอาทิตย์. บทว่า โสสีโต ความว่า เราหนาวเหน็บ คือชุ่มโชกด้วย น้ำหิมะ. ด้วยบทว่า เอโก ภึสนเก วเน นี้ ท่านแสดงความว่า เรา อยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนเลย ในป่าชัฎอันน่าสพึงกลัวถึงกับทำให้ ผู้ที่เข้าไปแล้วต้องขนลุกขนพองโดยมาก. ด้วยบทว่า นคฺโค น จคฺคิมาสีโน นี้ท่านแสดงว่า เรา เป็นคนเปลือย ทั้งไม่ได้ผิงไฟ คือแม้จะถูกลมหนาวเบียดเบียน ก็มิได้อาศัยผ้านุ่งผ้าห่มเป็นต้น และไม่ได้ผิงไฟอีกด้วย. ด้วยบทว่า เอสนาปสุโต นี้ท่านแสดงว่า แม้ในอพรหมจรรย์ ก็มีความมั่นหมายว่า เป็นพรหมจรรย์ในความเพียรนั้น คือเป็น ผู้ขวนขวายพากเพียร ถึงความมั่นหมายในการแสวงหาพรหมจรรย์นั้นอย่างนี้ว่า ก็แลข้อนี้เป็นพรหมจรรย์แท้ การแสวงหา และการค้นหาเป็นอุบายแห่งพรหมโลก. ด้วยบทว่า มุนี นี้ ท่านแสดงว่า ได้เป็นผู้อันชาวโลก ยกย่องอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ ปฏิบัติเพื่อต้องการญาณเป็นเครื่องร ู้เป็นมุนีแล.
            ก็พระโพธิสัตว์ประพฤติพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ เล็งเห็นลางนรกปรากฏชัดขึ้นในเวลารุ่งอรุณ ก็ทราบว่า การสมาทานวัตรนี้ไร้ประโยชน์ จึงทำลายลัทธินั้นเสียในขณะ นั้นเอง กลับถือสัมมาทิฏฐิ เกิดในเทวโลกแล้ว.
            พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า สมัยนั้นเราตถาคตได้เป็นอาชีวกนั้นแล.
            จบ อรรถกถาโลมหังสชาดกที่ ๔