พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภสิกขาบทที่ทรงบัญญัติด้วยมีกาณมารดาเป็นเหตุ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ยตฺเตโก ลภเต พพฺพุ ดังนี้.
            ความพิสดารว่า อุบาสิกาในพระนครสาวัตถี ปรากฏนาม ตามธิดาว่า กาณมาตา ได้เป็นอริยสาวิกา ผู้โสดาบัน นางได้ยก ลูกสาวชื่อ กาณา ให้แก่ชายผู้มีชาติ คู่ควรกันในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง
            นางกาณาย้อนกลับมาเรือนของมารดาด้วยกรณียกิจบางอย่าง ต่อมา สามีของนางกาณาส่งทูตไปว่า นางกาณาจงกลับมา เรา ต้องการให้นางกาณากลับ นางกาณาฟังคำของทูตแล้ว บอกลา มารดาว่า แม่จ๋า ฉันต้องไปละ มารดากล่าวว่า เจ้าอยู่นานปานนี้ จักไปมือเปล่าอย่างไรกัน แล้วทอดขนม ขณะนั้นเองภิกษุรูปหนึ่ง ผู้มีปกติเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ได้ไปถึงที่อยู่ของนาง อุบาสิกา นิมนต์ท่านให้นั่งแล้วถวายขนมเต็มบาตร ภิกษุนั้นออกไปแล้ว ก็บอกแก่ภิกษุรูปอื่น อุบาสิกาก็ถวายแก่ภิกษุนั้น โดยทำนอง เดียวกันนั่นแหละ แม้รูปนั้นก็กลับออกไป แล้วบอกต่อแก่รูปอื่น อุบาสิกาก็ถวายแก่ภิกษุนั้นเช่นกัน เลยต้องถวายแก่ภิกษุต่อ ๆ กัน อย่างนี้ถึง ๔ รูป ขนมตามที่ตระเตรียมไว้ก็หมดสิ้นไป นางกาณา ก็ยังไม่พร้อมที่จะไปได้
            ครั้งนั้น สามีของนางกาณา ก็ส่งทูต ไปซ้ำเป็นครั้งที่ ๒ พอครั้งที่ ๓ ส่งทูตไปพร้อมกับคำขาดว่า ถ้านางกาณาจักยังไม่ยอมมา เราจักนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา แม้ตลอดวาระทั้ง ๓ นางกาณาก็ไม่พร้อมที่จะไปได้ ด้วยข้อ ขัดข้องนั้นแหละ สามีของนางจึงนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา นางกาณาได้ฟังเรื่องราวข่าวนั้นแล้ว ก็ก่นแต่ร้องไห้.
            พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้น ครั้นรุ่งเช้าทรงครองผ้า ถือบาตร จีวร ไปยังนิเวศน์ของกาณมารดาประทับนั่งเหนือ อาสนะที่จัดถวาย แล้วตรัสถามมารดานางกาณาว่า กาณานี้ ร้องไห้เพราะเหตุไร ?
            ครั้นทรงสดับว่า ด้วยเหตุชื่อนี้ จึงตรัส ปลอบกาณมารดา แสดงธรรมีกถา ลุกจากอาสนะกลับพระวิหาร
            ครั้งนั้น ความที่ภิกษุทั้ง ๔ รูปนั้น รับเอาขนมที่ตระเตรียมไว้ จนเป็นเหตุตัดรอนการไปของนางกาณา ก็ระบือไปในหมู่ภิกษุ ครั้นวันหนึ่ง พวกภิกษุจึงยกเรื่องขึ้นสนทนากันในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ ๔ รูป ฉันขนมที่มารดานางกาณาทอดไว้ ๓ ครั้ง ทำให้นางกาณาไปไม่ได้ เลยถูกผัวทิ้ง ทำความโทมนัส ให้บังเกิดแก่มหาอุบาสิกา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วย เรื่องอะไร ?
            เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ภิกษุทั้ง ๔ เหล่านั้น กินของของกาณมารดา แล้วทำความโทมนัสให้เกิดแก่นาง แม้ ในครั้งก่อนก็เคยทำให้นางเกิดโทมนัสมาแล้ว ทรงนำเอาเรื่อง ในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:-
            ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลช่างสลักหิน เจริญวัยแล้ว ศึกษาศิลปะสำเร็จแล้ว ในนิคมแห่งหนึ่ง ณ แคว้นกาสี ได้มีเศรษฐีมีสมบัติมากอยู่คนหนึ่ง ฝังเงินไว้ ๔๐ โกฏิ. ภรรยาของเขาตายไปแล้ว เพราะความห่วงในทรัพย์ จึงเกิดเป็น หนู อยู่บนกองทรัพย์ ตระกูลนั้นทั้งหมดถึงความย่อยยับไป โดยลำดับด้วยประการฉะนี้ ผู้สืบสายก็ขาดตอน แม้บ้านนั้นก ็ถูกทอดทิ้งไว้จนร้าง ถึงความเป็นบ้านที่หมดบัญญัติ ขาด ความหมาย
            ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ขุดหินในบ้านเก่านั้นมาสลัก. ฝ่ายนางหนูนั้นเที่ยวหากิน เห็นพระโพธิสัตว์บ่อย ๆ ก็ เกิดความรัก คิดว่า ทรัพย์ของเรามากมาย จักฉิบหายเสียโดย ไร้เหตุ เราจักร่วมกับบุรุษนี้ใช้จ่ายทรัพย์นี้
            วันหนึ่ง นางจึง คาบทรัพย์ ๑ กษาปณ์ ไปสู่สำนักพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ เห็นนางแล้ว ก็ปราศรัยด้วยวาจาน่ารัก กล่าวว่า แม่คุณเอ๋ย คาบเอากษาปณ์มาทำไมเล่า ?
            นางตอบว่า พ่อคุณ ท่านจงรับ กษาปณ์นี้ไปใช้ส่วนตนบ้าง นำเนื้อมาเผื่อฉันบ้าง พระโพธิสัตว์ รับคำแล้ว เอากษาปณ์ไปสู่พระนคร ซื้อเนื้อมาสกหนึ่งแล้ว นำมาให้นาง นางรับเอาเนื้อไปสู่ที่อยู่ของตน เคี้ยวกินตาม พอใจ นับแต่นั้นมา หนูก็ให้กษาปณ์แก่พระโพธิสัตว์ทุกวัน โดยทำนองนี้แล แม้พระโพธิสัตว์ก็นำเนื้อมาให้หนูทุกวัน.
            อยู่มาวันหนึ่ง แมวจับนางหนูนั้นได้ ครั้งนั้นนางหนูพูด กับมันอย่างนี้ว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านอย่าฆ่าเราเลยนะ แมวถามว่า เรื่องอะไรเราจะไม่ฆ่า เราหิวอยากกินเนื้อ ไม่อาจจะไว้ชีวิต เจ้าได้ นางหนูถามว่า ก็ท่านอยากจะได้กินเนื้อเพียงวันเดียว เท่านั้น หรืออยากจะได้กินตลอดไป ?
            แมวตอบว่า เมื่อได้ เราก็อยากได้กินตลอดไป นางหนูจึงพูดว่า ถ้าเช่นนั้น เราจักให้ เนื้อท่านตลอดไป ท่านจงปล่อยเราเถิด ทีนั้นแมวก็กำชับหนูว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าอย่าลืมเสียนะ แล้วก็ปล่อยไป ตั้งแต่นั้น นางหนู ก็แบ่งเนื้อที่พระโพธิสัตว์นำมาให้ตนเป็นสองส่วน ให้แมวเสีย ส่วนหนึ่ง กินเองส่วนหนึ่ง
            อยู่มาวันหนึ่ง นางถูกแมวตัวอื่นจับ ได้อีก นางหนูก็ต้องร้องขอให้มันตกลงทำนองเดียวกัน แล้วให้ ปล่อยตน ตั้งแต่นั้น ก็ต้องแบ่งเนื้อออกเป็นสามส่วน
            ครั้นถูก แมวอื่นจับได้อีก ก็คงขอร้องให้ปล่อยตน ด้วยวิธีนั้นแหละ จำเดิม แต่นั้น ก็ต้องแบ่งเนื้อออกเป็น ๔ ส่วน ต่อมาถูกแมวอื่นจับได ้อีก ก็ขอร้องให้ปล่อยตนด้วยวิธีนั้นอีก นับแต่นั้นมา ก็ต้องแบ่ง กินกันถึง ๕ ส่วน นางหนูกินส่วนที่ ๕
            เพราะมีอาหารน้อย จึงลำบาก ซูบผอม มีเนื้อและเลือดน้อย. พระโพธิสัตว์เห็นนางหนูนั้นแล้ว กล่าวว่า แม่คุณเอ๋ย ทำไมจึงซูบเซียวเหี่ยวแห้งไปเล่า ? ครั้นนางหนูบอกเหตุแล้ว ก็กล่าวว่า ทำไมไม่บอกฉัน จนป่านนี้ ฉันจักช่วยทำกิจในเรื่องนี้ เอง ทำให้นางหนูเบาใจแล้ว กระทำรูถ้ำด้วยแก้วผลึกใส นำมา มอบให้ สั่งว่า แม่คุณ เจ้าจงเข้าไปสู่ถ้ำนี้ นอนเสียแล้วตวาดแมว ที่พากันมา ด้วยวาจาที่หยาบคาย นางแมวก็เข้าถ้ำนอน
            ครั้นแมว ตัวที่หนึ่งมาหานางว่า เจ้าจงให้เนื้อแก่เรา นางหนูก็ตวาดมันว่า ไอ้แมวชั่วตัวร้าย กูเป็นขี้ข้าหาเนื้อให้มึงหรือ จงไปกินเนื้อลูก ๆ ของมึงเถิด แมวไม่รู้ว่า นางนอนในถ้ำแก้วผลึก ด้วยอำนาจ ความโกรธ จึงไปโดยเร็วด้วยหมายจักจับหนูให้ได้ เลยเอาทรวงอก กระแทกเข้ากับถ้ำแก้วผลึก หัวใจของมันแตกทันที ตาทั้งคู่ถลน ออกมา มันสิ้นชีวิตตรงนั้นเอง แล้วล่วงไปในที่รก ๆ ข้างหนึ่ง
            ด้วยอุบายนี้ แมวทั้ง ๔ แม้แต่ละตัว ๆ ต่างก็พากันสิ้นชีวิต หมด นับแต่นั้นมาหนูก็ปลอดภัย ให้กษาปณ์ ๒-๓ กษาปณ์แก่ พระโพธิสัตว์ทุก ๆ วัน ต่อมาก็ได้มอบทรัพย์ทั้งหมดให้แก่ พระโพธิสัตว์เพียงผู้เดียว ด้วยอุบายอย่างนี้ ทั้งคู่มิได้ทำลาย ไมตรีกันจนสิ้นชีวิต แล้วต่างก็ไปตามยถากรรม.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ครั้นตรัสรู้ แล้ว ตรัสพระคาถานี้ ความว่า :- "แมวตัวหนึ่งได้หนูหรือเนื้อในที่ใด แมว ตัวที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็เกิดขึ้นในที่นั้น แมว เหล่านั้นทั้งหมด ได้พากันเอาอกฟาดแก้วผลึกนี้ แล้วถึงความสิ้นชีวิต" ดังนี้.
            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยตฺถ แปลว่า ในที่ใด. บทว่า พพฺพุ แปลว่า แมว. บทว่า ทุติโย ตตฺถ ชายติ ความว่า แมวตัวที่หนึ่งได้หนู หรือเนื้อในที่ใด แม้ตัวที่สองก็เกิดในที่นั้นได้ ตัวที่สาม ที่สี่ ก็เกิดตาม ๆ กันมาทำนองนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ แมวเหล่านั้น ในครั้งนั้นจึงรวมเป็น ๔ ตัว ก็แลรวมกันแล้ว ก็กินเนื้อทุกวัน แมวเหล่านั้น เอาอกกระแทกถ้ำทำด้วยแก้วผลึกนี้ ถึงความ สิ้นชีวิตไปหมดแล้ว.
            พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา แล้วทรงประชุม ชาดกว่า แมวทั้ง ๔ ในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุทั้ง ๔ นางหนูได้มา เป็นมารดานางกาณา ส่วนช่างแก้วผู้สลักหินได้มาเป็นเรา ตถาคต ฉะนี้แล.
            จบ อรรถกถาพัพพุชาดกที่ ๗