พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกผู้ฉลาดดูผลไม้คนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นายํ รุกฺโข ทุรารุโห ดังนี้.

            ได้ยินมาว่า กุฎุมพีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง นิมนต์ ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้นั่งในสวนของตน ถวายข้าวยาคู และของขบฉันแล้ว สั่งคนเฝ้าสวนว่า เจ้าจง เที่ยวไปในสวนกับภิกษุทั้งหลาย ถวายผลไม้ต่าง ๆ มีมะม่วง เป็นต้น แก่พระคุณเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด. คนเฝ้าสวนรับคำแล้ว พาภิกษุสงฆ์เที่ยวไปในสวนดูต้นไม้ รู้จักผลไม้ด้วยความชำนาญ ว่า ผลนั้นดิบ ผลนั้นยังไม่สุกดี ผลนั้นสุกดี เขาพูดอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น. ภิกษุทั้งหลายไปกราบทูลแต่พระตถาคต ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ. คนเฝ้าสวนผู้นี้ฉลาดดูผลไม้ ถึงยืน อยู่ที่แผ่นดิน มองดูผลไม้แล้ว ก็รู้ได้ว่า ผลนั้นดิบ ผลนั้นยังไม่สุก ดี ผลนั้นสุกดี เขาพูดอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้นทั้งนั้น.

            พระศาสดา ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย คนเฝ้าสวนนี้ไม่ใช่เป็นผู้ฉลาดดูผลไม้ เพียงคนเดียวเท่านั้น. ในครั้งก่อนบัณฑิตทั้งหลาย ที่ฉลาดดู ผลไม้ ก็ได้เคยมีมาแล้ว ทรงนำเอาเรื่องอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:-

            ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพ่อค้าเกวียน เจริญวัย แล้วทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม คราวหนึ่งไปถึงดงลึก จึง ตั้งพักอยู่ปากดง เรียกคนทั้งหมดมาประชุม พลางกล่าวว่า ในดงนี้ขึ้นชื่อว่า ต้นไม้ที่มีพิษ ย่อมมีอยู่ มีใบเป็นพิษก็มี มีดอก เป็นพิษก็มี มีผลเป็นพิษก็มี มีรสหวานเป็นพิษก็มี มีอยู่ทั่วไป พวกท่านต้องไม่บริโภคก่อน ยังไม่บอก ใบ ผล ดอกอย่างใด อย่างหนึ่งกะเราแล้วอย่าขบเคี้ยวเป็นอันขาด.

            พวกนั้นรับคำแล้ว พร้อมกันย่างเข้าสู่ดง. ก็ที่ปากดง มีต้นกิงผลพฤกษ์อยู่ที่ประตูบ้าน แห่งหนึ่ง ลำต้น กิ่ง ใบอ่อน ดอกผลทุก ๆ อย่างของต้นกิงผลพฤกษ์ นั้น เช่นเดียวกันกับมะม่วงไม่ผิดเลย ใช่แต่เท่านั้นก็หาไม่ ผลดิบ และผลสุก ยังเหมือนกับมะม่วง ทั้งสีและสัณฐาน ทั้งกลีบ และรส ก็ไม่แผกกันเลย แต่ขบเคี้ยวเข้าแล้ว ก็ทำให้ผู้ขบเคี้ยวถึงสิ้น ชีวิตทันทีทีเดียว เหมือนยาพิษชนิดที่ร้ายแรงฉะนั้น พวกที่ ล่วงหน้าไป บางหมู่เป็นคนโลเล สำคัญว่า นี่ต้นมะม่วง ขบเคี้ยว กินเข้าไป บางหมู่คิดว่า ต้องถามหัวหน้าหมู่ก่อน ถึงจักกิน ก็ถือยืนรอ. พอหัวหน้าหมู่มาถึง ก็พากันถามว่า นาย พวกข้าพเจ้า จะกินผลมะม่วงเหล่านี้.

            พระโพธิสัตว์รู้ว่า นี่ไม่ใช่ต้นมะม่วง ก็ห้ามว่า ต้นไม้นี้ชื่อว่าต้นกิงผลพฤกษ์ ไม่ใช่ต้นมะม่วง พวกท่าน อย่ากิน พวกที่กินเข้าไปแล้ว ก็จัดการให้อาเจียนออกมา และ ให้ดื่มของหวาน ๔ ชนิด ทำให้ปราศจากโรคไปได้. ก็ในครั้ง ก่อน พวกมนุษย์พากันหยุดพักที่โคนต้นไม้นี้ ขบเคี้ยวผลอันเป็น พิษทั้งนี้เข้าไป ด้วยสำคัญว่า เป็นผลมะม่วง พากันถึงความ สิ้นชีวิต. รุ่งขึ้น พวกชาวบ้านก็พากันออกมา เห็นคนตายก็ช่วย ฉุดเท้าเอาไปทิ้งในที่รก ๆ แล้วก็ยึดเอาเข้าของ ๆ พวกนั้น พร้อมทั้งเกวียน ทั้งนั้น พากันไป. ถึงแม้ในวันนั้น พอรุ่งอรุณ เท่านั้นเอง พวกชาวบ้านเหล่านั้น ก็พูดกันว่า โคต้องเป็นของเรา เกวียนต้องเป็นของเรา ภัณฑะต้องเป็นของเรา พากันวิ่งไปสู่ โคนต้นไม้นั้น

            ครั้นเห็นคนทั้งหลายปลอดภัย ต่างก็ถามว่า พวก ท่านรู้ได้อย่างไรว่า ต้นไม้นี้ไม่ใช่ต้นมะม่วง ? คนเหล่านั้น ก็ตอบว่า พวกเราไม่รู้ดอก หัวหน้าหมู่ของเราท่านรู้. พวก มนุษย์จึงถามพระโพธิสัตว์ว่า พ่อบัณฑิตท่านทำอย่างไร จึง รู้ว่าต้นไม้นี้ไม่ใช่ต้นมะม่วง ? พระโพธิสัตว์บอกว่า เรารู้ด้วย เหตุ ๒ ประการ แล้วกล่าวคาถานี้ ความว่า :- "ต้นไม้นี้ คนขึ้นไม่ยาก ทั้งไม่ไกลจาก หมู่บ้าน เป็นสิ่งบอกเหตุให้เรารู้ว่า ต้นไม้นี้ มิใช่ต้นไม้มีผลดี"

            ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นายํ รุกฺโข ทุรารุโห ความว่า พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ต้นไม้มีพิษนี้ขึ้นไม่ยาก ใคร ๆ ก็อาจ ขึ้นได้ง่าย ๆ เหมือนมีคนยกพะองขึ้นพาดไว้. บทว่า นปิ คามโต อารกา ความว่า พระโพธิสัตว์แสดงว่า ทั้งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้าน คือตั้งอยู่ใกล้ประตูบ้านทีเดียว. บทว่า อาการเกน ชานามิ ความว่า ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ เราจึงรู้จักต้นไม้นี้. รู้จักอย่างไร ? รู้จักว่า ต้นไม้นี้มิใช่ต้นไม้มีผลดี อธิบายว่า ถ้าต้นไม้นี้ มีผลอร่อยเป็นต้นมะม่วงแล้วไซร้ ในเมื่อมันขึ้นได้ง่าย แล้วก็ ตั้งอยู่ไม่ไกลอย่างนี้ ผลของมันจะไม่เหลือเลยแม้สักผลเดียว ต้องถูกมนุษย์ที่กินผลไม้ รุมกันเก็บเสมอทีเดียว เรากำหนด ด้วยความรู้ของตนอย่างนี้ จึงรู้ได้ถึงความที่ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ มีพิษ.

           พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนแล้ว ก็ไปโดยสวัสดี. แม้พระบรมศาสดา ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ใน ครั้งก่อน บัณฑิตทั้งหลาย ก็ได้เคยเป็นผู้ฉลาดดูผลไม้มาแล้ว อย่างนี้ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วอย่างนี้ ทรงสืบ อนุสนธิประชุมชาดกว่า บริษัทในครั้งนั้นได้มาเป็นพุทธบริษัท ส่วนพ่อค้าเกวียน ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาผลชาดกที่ ๔