พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการประเล้า ประโลมของเด็กหญิงอ้วน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า มา มุณิกสฺส ดังนี้. เรื่องการประเล้าประโลมนั้น จักมีแจ้งในจุลลนารทกัสสปชาดก เตรสนิบาต. ก็พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอ เป็นผู้กระสันจะสึกจริงหรือ ? ภิกษุนั้นทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระศาสดาตรัสถามว่า เพราะอาศัยอะไร ? ภิกษุนั้นกราบทูลว่า เพราะอาศัย การประเล้าประโลมของเด็กหญิงอ้วน พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุ เด็กหญิงอ้วนนั้นกระทำความพินาศแก่เธอในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ ในกาลก่อน ในวันวิวาห์ของเด็กหญิงอ้วนนี้ เธอก็ถึงความสิ้นชีวิต ถึงความ เป็นแกงอ่อมของมหาชน แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดโคในบ้านของกุฏุมพีคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยมีชื่อว่า มหาโลหิต ฝ่ายน้องชายของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นผู้ชื่อว่า จูฬโลหิต ธุระการงานในตระกูลนั้นนั่นแล ย่อมดำเนินไปได้เพราะอาศัยโค ๒ ตัวพี่น้องนั้นนั่นเอง ก็ในตระกูลนั้นมีเด็กหญิงคนหนึ่ง. กุลบุตรชาวเมือง คนหนึ่ง ขอเด็กหญิงนั้นเพื่อบุตรของตน. บิดามารดาของเด็กหญิงนั้นให้ข้าว ยาคูและภัตเลี้ยงดูสุกรชื่อว่า มุณิกะ ด้วยหวังว่าแกงอ่อมจักมีเพื่อแขกทั้งหลาย ผู้มาในวันวิวาห์ของเด็กหญิง โคจูฬโลหิตเห็นดังนั้นจึงถามพี่ชายว่า ธุระการ งานในตระกูลนี้เมื่อจะดำเนินไป ก็อาศัยเราพี่น้องทั้งสองจึงดำเนินไปได้ แต่ คนเหล่านี้ให้เฉพาะแต่หญ้าและใบไม้แก่พวกเรา กลับปรนเปรอสุกรด้วยข้าว ยาคูและภัต ด้วยเหตุไรหนอ สุกรนี้จึงได้ยาคูและภัตนั้น.

ลำดับนั้น โคผู้ พี่จึงกล่าวแก่โคจูฬโลหิตผู้น้องว่า ดูก่อนพ่อจูฬโลหิต เจ้าอย่าริษยาโภชนะ ของสุกรนั้นเลย สุกรนี้กำลังบริโภคภัตเป็นเหตุตาย ในวันวิวาห์ของกุมาริกา สุกรนี้จักเป็นแกงอ่อมสำหรับแขกผู้มา เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านี้จึงเลี้ยงดู สุกรนี้ โดยล่วงไป ๒ - ๓ วันแต่นี้ไปคนทั้งหลายจักพากันมา เมื่อเป็นอย่างนั้น เจ้าจักได้เห็นสุกรนั้นถูกจับที่เท้าทั้งหลายดึงออกมาจากใต้เตียง ถูกเขาฆ่ากระทำ แกงและกับข้าวเพื่อแขกทั้งหลาย แล้วกล่าวคาถานี้ว่า ท่านอย่าริษยาหมูมุณิกะเลย มันกินอาหารอัน เป็นเหตุให้เดือดร้อน ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวาย น้อย กินแต่แกลบเถิด นี่เป็นลักษณะแห่งความเป็น ผู้มีอายุยืน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา มุณิกสฺส ปิหยิ ความว่า ท่าน อย่ายังความริษยาให้เกิดขึ้นในโภชนะของหมูมุณิกะ คืออย่าริษยาต่อหมูมุณิกะ ว่า หมูนี้บริโภคโภชนะดี ได้แก่ อย่าปรารถนาเป็นอย่างหมูมุณิกะว่า เมื่อ ไรหนอ แม้เราก็จะมีความสุขอย่างนี้ เพราะหมูมุณิกะนี้บริโภคอาหารอันเป็น เหตุเดือดร้อน. บทว่า อาตุรนฺนานิ ได้แก่ โภชนะเป็นเหตุให้ตาย. บทว่า อปฺโปสฺสุโก ภุสงฺขาท ความว่า ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยใน โภชนะของหมูมุณิกะนั้น จงบริโภคแกลบที่ตนได้เถิด. บทว่า เอตํ ทีฆายุลกฺขณํ ความว่า นี่เป็นเหตุแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน.

แต่นั้น ไม่นานนัก คนเหล่านั้นก็พากันมา. ฆ่าหมูมุณิกะแล้วแทง โดยประการต่าง ๆ พระโพธิสัตว์กล่าวกะโคจูฬโลหิตว่า พ่อ เจ้าเห็นหมู มุณิกะแล้วหรือ. โคจูฬโลหิตกล่าวว่า ข้าแต่พี่ ผลแห่งการบริโภคของหมู มุณิกะฉันเห็นแล้ว ของสักว่าหญ้า ใบไม้ และแกลบเท่านั้น ของพวกเรา อุดม ไม่มีโทษ และเป็นลักษณะแห่งความเป็นผู้มีอายุยืน กว่าภัตของหมู มุณิกะโดยร้อยเท่าพันเท่า.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อน เธอก็อาศัยกุมาริกา นี้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วถึงความเป็นแกงอ่อมของมหาชน ด้วยประการอย่างนี้ แล. ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันอยากสึก ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แม้ พระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิ แล้วทรงประชุมชาดกว่า มุณิกสุกรในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้กระสันจะสึก กุมาริกานี้แหละ ได้เป็นกุมาริกาอ้วน โคจูฬโลหิต ได้เป็นพระอานนท์ ส่วนโคมหาโลหิต ได้เป็นเราแล.

จบมุณิกาชาดกที่ ๑๐

กลับที่เดิม