พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเหล้าเจือยาพิษ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มี คำเริ่มต้นว่า ตเถว ปุณฺณปาติโย ดังนี้.

            สมัยหนึ่ง พวกนักเลงสุราในเมืองสาวัตถี ชุมนุมปรึกษา กันว่า ทุนค่าซื้อสุราของพวกเราหมดแล้ว จักหาที่ไหนได้เล่า ? ขณะนั้น นักเลงกักขฬะคนหนึ่ง กล่าวว่าอย่าไปคิดถึงเลย อุบาย ยังมีอยู่อย่างหนึ่ง. พวกนักเลงพากันถามว่า อุบายอย่างไร ? นักเลงกักขฬะบอกว่า ท่านอนาถบิณฑิกะใส่แหวนหลายวง นุ่งผ้า เนื้อเกลี้ยง ไปเฝ้าในหลวง พวกเราเอายาเบื่อใส่ในไหสุรา พากัน นั่งเตรียมการดื่ม เวลาท่านอนาถบิณฑิกะมา ก็เชิญท่านว่า เชิญ ทางนี้ครับ ท่านมหาเศรษฐี แล้วให้ท่านดื่ม เมื่อสลบแล้ว ก็ริบ แหวนกับผ้านุ่ง ทำทุนซื้อเหล้ากินได้. นักเลงเหล่านั้นรับรองว่า ดีจริง ๆ ชวนกันทำอย่างนั้น

            เวลาท่านเศรษฐีเดินมา ก็เดินสวน ทางไป พลางกล่าวว่า นายขอรับ เชิญมาทางนี้ก่อนเถิดครับ สุราในวงของพวกข้าพเจ้า น่าชื่นใจยิ่งนัก เชิญดื่มสักหน่อย ค่อยไปเถิดครับ. ท่านอนาถบิณฑิกะ เป็นโสดาบันอริยสาวก จักดื่มสุราได้อย่างไร แม้ถึงท่านจะไม่ต้องการ ก็คิดจักจับ ไหวพริบพวกนักเลงเหล่านั้น จึงเดินไปถึงที่ซึ่งจัดเป็นที่ดื่ม ชำเลืองดูกิริยาของพวกนั้น ก็ทราบว่าพวกนี้ปรุงสุรานี้ไว้ด้วย เหตุ ชื่อนี้ แล้วดำริต่อไปว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป ต้องไล่พวกนี้ให้หนีไป จากที่นี้ ดังนี้

            แล้วพูดว่า แนะเฮ้ย เจ้าพวกนักเลงสุราชั่วร้าย พวกเจ้าเอายาเบื่อใส่ในไหเหล้า แล้วคบคิดกัน ให้คนที่มาพากัน ดื่มสลบไสล แล้วก็ปล้นเขาเสียดังนี้ จัดตั้งวงดื่มนั่งรอคุยอวด แต่สุรานี้อย่างเดียว ใคร ๆ แม้สักคนเดียวก็ไม่กล้ายกเหล้านี้ ขึ้นดื่ม ถ้าเหล้านี้ไม่ผสมยาเบื่อแล้วไซร้ พวกเจ้าต้องดื่มกันบ้าง เป็นแน่ ท่านเศรษฐีขู่นักเลงเหล่านั้นให้หนีไปจากที่นั้น แล้วก็ ไปบ้านของตน ได้คิดว่า จักต้องกราบทูลเหตุที่พวกนักเลง กระทำให้พระตถาคตทรงทราบ จึงไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลพระศาสดาให้ทรงทราบ.

            พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อน คฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พวกนักเลงเหล่านั้นประสงค์ จะหลอกลวงเธอ ถึงในครั้งก่อน ก็ได้มีประสงค์จะหลอกลวง บัณฑิตทั้งหลายมาแล้ว ท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา จึงทรง นำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

            ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุง พาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพาราณสีเศรษฐี. แม้ ในครั้งนั้น พวกนักเลงเหล่านั้น ก็ปรึกษากันอย่างนี้แหละปรุง สุราไว้ เวลาท่านพาราณสีเศรษฐีเดินมา ก็เดินสวนทางชวนพูด ทำนองเดียวกันทีเดียว. ท่านเศรษฐีแม้ไม่มีความประสงค์จะดื่ม ก็อยากจะจับเล่ห์เหลี่ยมพวกนั้น จึงไป ครั้นดูกิริยาของพวก นักเลงเหล่านั้นแล้ว ก็คิดว่า พวกนักเลงเหล่านี้ มุ่งจะทำสิ่งนี้ เราต้องไล่มันไปจากที่นี่ แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า พ่อนักเลงผู้เจริญ ทั้งหลาย ธรรมดาการที่จะดื่มสุราแล้วเข้าเฝ้าในหลวงไม่ควร เลย เราไปเฝ้าในหลวงแล้วจะมาใหม่ พวกท่านจงนั่งรออยู่ใน ที่นี้แหละ. ครั้นไปเฝ้าในหลวงแล้วก็กลับมา.

            พวกนักเลงทั้งหลาย พากันกล่าวว่า เชิญทางนี้เถิดครับท่าน. เศรษฐีไปที่นั้นแล้ว มองดูไหเหล้าที่ผสมยา แล้วพูดว่า พ่อนักเลงผู้เจริญทั้งหลาย การกระทำของพวกเจ้าไม่ถูกใจเราเลย ไหเหล้าของพวกเจ้ายัง เต็มอยู่ตามเดิม พวกเจ้าคุยอวดสุราอย่างเดียว แต่ไม่ดื่มกันเลย ถ้าเหล้านี้ชื่นใจจริง ๆ พวกเจ้าก็ต้องดื่มกันบ้าง แต่เหล้านี้พวก เจ้า ต้องผสมยาพิษลงไปเป็นแน่ เมื่อจะทำลายมโนรถ ของพวก นักเลงเหล่านั้น จึงกล่าวคาถานี้ ใจความว่า :- "ไหเหล้าคงเต็มอยู่อย่างนั้นเอง ถ้อยคำ ที่ท่านกล่าว คงเป็นคำหลอกลวง เรารู้ทันว่าสุรา นี้ไม่ดีแน่นอน" ดังนี้.

            บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเถว ความว่า เวลาที่เราไป เห็นไหเหล้าเป็นอย่างใด แม้ในบัดนี้ ไหเหล้านี้ก็คงเต็มเปี่ยม อย่างนั้น. บทว่า อญฺญายํ วตฺตเต วตฺตเต กถา ความว่า ถ้อยคำ สรรเสริญเหล้าของพวกเจ้า เป็นคำหลอกลวง คือเป็นคำไม่จริง ได้แก่เหลวทั้งเรื่อง เพราะถ้าสุรานี้ดีจริง ๆ พวกเจ้าต้องดื่มกัน จะพึงเหลือเพียงค่อนไห แต่พวกเจ้าไม่ได้ดื่มกินแม้แต่คนเดียว. บทว่า อการเกน ชานามิ ความว่า เพราะฉะนั้น เราจึงรู้ ด้วยเหตุนี้. บทว่า เนวายํ ภทฺทกา สุรา ความว่า สุรานี้ไม่ดีแน่นอน ต้องเป็นสุราผสมยาพิษ.

            ท่านเศรษฐี ข่มขู่พวกนักเลง คุกคามไม่ให้คนเหล่านั้น ทำอย่างนี้อีก แล้วปล่อยไป. กระทำบุญมีให้ทานเป็นต้น ตลอด ชีวิต แล้วก็ไปตามยถากรรม. พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสประชุม ชาดกว่า พวกนักเลงในครั้งนั้น ได้มาเป็นพวกนักเลงในครั้งนี้ ส่วนพาราณสีเศรษฐี ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาปุณณปาติชาดกที่ ๓