อรรถกถาอรัญญชาดกที่ 

       พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระวิหารเชตวัน  ทรงปรารภ

การประเล้าประโลมของกุมาริกาอ้วนคนหนึ่ง  จึงตรัสพระธรรม-

เทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า  อรญฺ  คามมาคมฺม  ดังนี้.

       เรื่องปัจจุบันจักมีแจ้งในจุลลนารทกัสสปชาดก.  ส่วนเรื่องใน

อดีตมีดังต่อไปนี้.

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร-

พาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์  เจริญวัยแล้ว

เรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกศิลาแล้ว  เมื่อภรรยาถึงแก่กรรมแล้ว

ได้พาบุตรไปบวชเป็นฤาษีอยู่ในหิมวันตประเทศ  ให้บุตรอยู่ใน

อาศรมบท.  ส่วนตนไปเพื่อต้องการผลาผล.  ครั้งนั้น  เมื่อพวก

โจรปล้นปัจจันตคามแล้วพาพวกเชลยไป  กุมาริกาคนหนึ่งหนีไปถึง

อาศรมบทนั้น  ประเล้าประโลมดาบสกุมารให้ถึงศีลวินาศแล้วกล่าวว่า

มาเถิด  พวกเราพากันไป.  ดาบสกุมารกล่าวว่า  จงรอให้บิดาของเรา

มาก่อน  เราพบบิดาแล้วจักไป.  กุมาริกากล่าวว่าถ้าอย่างนั้น  ท่าน

พบบิดาแล้วจงมา  แล้วได้ออกไปนั่งอยู่ที่ระหว่างทาง.  เมื่อบิดามาแล้ว

ดาบสกุมาร  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

              ข้าแต่พ่อ  ฉันออกจากป่าไปสู่บ้านแล้ว

       จะพึงคบคนที่มีศีลอย่างไร  มีวัตรอย่างไร

       ฉันถามแล้ว  ขอท่านจงบอกข้อนั้นแก่ฉันด้วย.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  อรญฺ  คามมาคมฺม  ความว่า

ข้าแต่พ่อ  ฉันจากป่านี้ไปยังถิ่นมนุษย์  เพื่อจะอยู่  ถึงบ้านที่อยู่แล้ว

จะกระทำอะไร.

       ลำดับนั้น  บิดาเมื่อจะให้โอวาทแก่บุตรนั้น  จึงกล่าวคาถา

  คาถาว่า  :-

              ลูกเอ๋ย  ผู้ใดพึงคุ้นเคยกะเจ้าก็ดี  พึง

       อดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ก็ดี  เชื่อถือ

       คำพูดของเจ้าก็ดี  งดโทษให้เจ้าก็ดี  เจ้าไป

       จากที่นี้แล้วจึงคบหาผู้นั้นเถิด.

              ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย  วาจาและ

       ใจ  เจ้าไปจากที่นี้แล้วจงคบหาผู้นั้น  ทำตน

       ให้เหมือนบุตรผู้เกิดจากอกของผู้นั้นเถิด.

        ลูกเอ๋ย  คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น

       มีจิตกลับกลอก  รักง่ายหน่ายเร็ว  เจ้าอย่า

       คบหาคนเช่นนั้นเลย  ถึงหากว่าพื้นชมพูทวีป

       ทั้งสิ้นจะไม่มีมนุษย์ก็ตาม.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  โย  ตํ  วิสฺสาสเย  ความว่า

บุรุษใดพึงคุ้นเคย  คือ  ไม่รังเกียจเจ้า.  บทว่า  วิสฺสาสญฺจ  ขเมยฺย  เต

ความว่า  อนึ่ง  บุคคลใดพึงคุ้นเคยแก่เจ้าซึ่งเจ้ากระทำตน  ไม่

รังเกียจ  อดทนความคุ้นเคยนั้นได้.  บทว่า  สุสฺสูสี  ความว่า  อนึ่ง

บุคคลใดต้องการฟังคำกล่าวด้วยความคุ้นเคยของเจ้า.  บทว่า  ติติกฺขี

ความว่า  อนึ่ง  บุคคลใดอดกลั้นความผิดที่เจ้ากระทำได้.  บทว่า

ตํ  ภเชหิ  ความว่า  เจ้าพึงคบคือพึงเข้าไปนั่งใกล้บุรุษนั้น.  บทว่า

โอรสีว  ปติฏฺ€าย  ความว่า  บุตรผู้เกิดแต่อกเจริญเติบโตอยู่ใน

อ้อมอกของบุคคลนั้น  ฉันใดเจ้าพึงเป็นเสมือนบุตรผู้ตั้งอยู่ในอ้อมอก

เช่นนั้น  พึงคบหาบุรุษเห็นปานนั้น  ฉันนั้น.  บทว่า  หลิทฺทราคํ

ได้แก่  ผู้มีจิตไม่มั่นคงดุจย้อมด้วยขมิ้น.  บทว่า  กปิจิตฺตํ  ได้แก่

ชื่อว่ามีจิตเหมือนลิง  เพราะเปลี่ยนแปลงเร็ว.  บทว่า  ราควิราคินํ

ได้แก่  มีสภาพรักและหน่ายโดยชั่วครู่เท่านั้น.  บทว่า  นิมฺมนุสฺสมฺปิ

เจ  สิยา  ความว่า  พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น  ชื่อว่าพึงปราศจากมนุษย์

เพราะไม่มีมนุษย์ผู้เว้นจากกายทุจริตเป็นต้น  แม้ถึงเช่นนั้น  เจ้าอย่า

ได้ซ่องเสพคนผู้มีจิตใจเบาเช่นนั้นเลย  จงค้นหาถิ่นมนุษย์แม้ทั่ว ๆ ไป

แล้วซ่องเสพคนผู้สมบูรณ์ด้วยคุณดังกล่าวในหนหลังเถิด.

       ดาบสกุมารได้ฟังดังนั้น  จึงกล่าวว่า  ข้าแต่บิดา  ฉันจักได้

บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเหล่านี้    ที่ไหน  ?  ฉันจะไม่ไป  จักอยู่ใน

สำนักของท่านบิดาเท่านั้น  ครั้นกล่าวแล้วก็หวนกลับมา.  ลำดับนั้น

บิดาจึงได้บอกกสิณบริกรรมแก่ดาบสกุมารนั้น.  ดาบสทั้งสอง  มีฌาน

ไม่เสื่อมได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

       พระศาสดา  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  จึงทรง

ประชุมชาดกว่า  บุตรและกุมาริกาในครั้งนั้นได้เป็นคนเหล่านี้  ส่วน

ดาบสผู้บิดาในครั้งนั้น  ได้เป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ  อรรถกถาอรัญญชาดกที่