อรรถกถากากาติชาดกที่ 

          พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระวิหารเชตวัน  ทรงปรารภ

ภิกษุผู้กะสันจะสึกรูปหนึ่ง  จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า

วาติ  จายํ  ตโต  คนฺโธ  ดังนี้.

          ได้ยินว่า  ในกาลนั้น  พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า  ดูก่อน

ภิกษุ  ได้ยินว่าเธอเป็นผู้กระสันจะสึกจริงหรือ  ?  เมื่อภิกษุนั้นทูลรับ

จริงพระเจ้าข้า  จึงตรัสว่า  เพราะเหตุไร  เธอจึงกระสันจะสึก.  ภิกษุ

นั้นกราบทูลว่า  เพราะอำนาจกิเลส  พระเจ้าข้า.  พระศาสดาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุ  ธรรมดาว่ามาตุคาม  ใครๆ  รักษาไว้ไม่ได้  ใครๆ  ไม่อาจ

รักษา  ก็โบราณกบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน  แม้จะให้ยกมาตุคามขึ้น

ไว้ในวิมานต้นฉิมพลี  ในท่ามกลางมหาสุมทร  ก็ไม่อาจรักษาไว้ได้

แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก  ดังต่อไปนี้  :-

          ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนคร-

พาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของ

พระเจ้าพรหมทัตนั้น  เจริญวัยแล้ว  เมื่อพระราชบิดาสวรรคต  ก็

ครองราชสมบัติ  พระอัครมเหสีของพระโพธิสัตว์นั้น  พระนามว่า

กากาติ  ได้มีพระรูปโฉมงดงาม  ดุจนางเทพอัปสร.  นี้เป็นเนื้อความ

สังเขปในชาดกนี้  ส่วนเรื่องอดีตโดยพิสดารจักมีแจ้งในกุณาลชาดก.

ก็ในกาลนั้น  พระยาครุฑตนหนึ่งแปลงเพศเป็นมนุษย์มาเล่นสกากับ

พระราชา  มีจิตปฏิพัทธ์ในพระนางกากาติอัครมเหสี  จึงพาพระนาง

ไปยังสุบรรณภพ  แล้วร่วมอภิรมย์อยู่กับพระนางนั้น.  พระราชาเมื่อ

ไม่พบเห็นพระเทวี  จึงตรัสกะคนธรรพ์ชื่อนฏกุเวรว่า  เธอจงค้นหา

พระเทวีนั้นดู.  คนธรรพ์นั้นจึงกำหนดเอาพระยาครุฑนั้นจึงนอนอยู่

ในดงตะไคร้น้ำในสระแห่งหนึ่ง  ในเวลาครุฑนั้นไปจากสระนั้น

ได้เกาะอยู่ในระหว่างปีกไปจนถึงสุบรรณภพ  แล้วออกจากระหว่างปีก

กระทำการเคล้าคลึงด้วยกิเลสกับพระเทวีนั้น  แล้วเกาะอยู่ในระหว่าง

ปีกของพระยาครุฑนั้นนั่นแหละกลับมาอีก  ในเวลาพระยาครุฑเล่น

สกากับพระราชา  จึงถือพิณของตนมายังสนามเล่นสกา  ยืนอยู่ใน

ราชสำนัก  จึงกล่าวคาถาที่    โดยขับเป็นเพลงขับว่า  :-

                   หญิงคนรักของเราอยู่    ที่แห่งใด

          กลิ่นของนางยังหอมฟุ้งมาจากที่แห่งนั้น  ใจ

          ของเรายินดีในนางใดนางนั้นชื่อกากาติ  อยู่

          ไกลจากที่นี้.

          บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  คนฺโธ  ได้แก่  กลิ่นแห่งร่างกาย

ของนางนั้นซึ่งลูบไล้ด้วยกลิ่นทิพย์.  บทว่า  ยตฺถ  เม  ความว่า

หญิงคนรักของเราอยู่ในสุบรรณภพใด  อธิบายว่า  พระนางทำ

การเคล้าคลึงกายกับพระยาครุฑนี้  กลิ่นของนางซึ่งติดมากับร่างกาย

ของพระยาครุฑนี้  จึงชื่อว่าฟุ้งมาจากที่นั้น  บทว่า  ทูเร  อิโต

ได้แก่  ในที่ไกลจากที่นี่.  หิ อักษรเป็นเพียงนิบาต.  บทว่า  กากาติ

ได้แก่  เทวีพระนามว่ากากาติ.  บทว่า  ยตฺถ  เม  ความว่า  ใจของ

เรายินดี  คือกำหนัดแล้วเหนือนางใด.

          พระยาครุฑได้ฟังดังนั้น  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

                   ท่านข้ามทะเลไปได้อย่างไร  ท่านข้าม

          แม่น้ำเกปุกะไปได้อย่างไร  ท่านข้ามทะเล

          ทั้ง    แห่งไปได้อย่างไร  ท่านขึ้นต้นงิ้ว

          ฉิมพลีได้อย่างไร.

          คำที่เป็นคาถานั้นมีใจความว่า  ท่านข้ามทะเลในชมพูทวีปนี้

และแม่น้ำชื่อว่า  เกปุกะซึ่งถัดจากทะเลนั้นไป  และทะเลทั้ง    แห่ง

ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างภูเขาทั้งหลายได้อย่างไร  คือข้ามไปได้ด้วยอุบาย

อะไร  และท่านขึ้นต้นฉิมพลีอันเป็นภพของเราซึ่งตั้งอยู่เลยทะเล

ทั้ง    ได้อย่างไร.

          นฏกุเวรได้ฟังดังนั้น  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

                   เราข้ามทะเลไปได้เพราะท่าน  ข้าม

          แม่น้ำเกปุกะได้เพราะท่าน  ข้ามทะเลทั้ง   

          แห่งได้เพราะท่าน  และขึ้นต้นฉิมพลีได้ก็

          เพราะท่าน.

          บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  ตยา  ความว่า  เราเกาะอยู่ใน

ระหว่างปีกของท่านกระทำกิจทั้งปวงนี้  เพราะท่านเป็นตัวเหตุ.

          ลำดับนั้น  พระยาครุฑ  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

                   น่าติเตียนเราผู้มีกายใหญ่โต  น่าติเตียน

          เราผู้ไม่มีความคิด  เพราะว่าเรานำมาบ้าง  นำ

          ไปบ้างซึ่งชายชู้ของเมีย.

          บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  ธิรตฺถุ  มํ  พระยาครุฑ  เมื่อจะ

ติเตียนตนเอง  จึงกล่าวไว้.  บทว่า  อเจตนํ  ได้แก่  ชื่อว่าผู้ไม่มี

ความคิด  เพราะไม่รู้ความหนักและความเบา  เพราะความเป็นผู้มี

ร่างกายใหญ่โต.  บทว่า  ยตฺถ  แก้เป็น  ยสฺมา  แปลว่า  เพราะ

เหตุใด.  ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ว่า  เพราะเหตุที่เรานำคนธรรพ์นี้

ผู้เป็นชายชู้ของเมียตนซึ่งเกาะอยู่ในระหว่างปีกมา  ชื่อว่านำมา  เมื่อ

นำไปชื่อว่านำไปอยู่  ฉะนั้น  น่าติเตียนตัวเรา.

          พระยาครุฑนั้นได้นำพระนางกากาตินั้นไปถวายพระราชา

แล้วไม่ได้ไปเล่นสกาอีก.

          พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  จึงทรง

ประกาศสัจจะแล้วทรงประชุมชาดกว่า  ในเวลาจบสัจจะ  ภิกษุผู้กะสัน

จะสึกดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.  นฏกุเวรในกาลนั้น  ได้เป็นภิกษุ

ผู้กะสันจะสึกในบัดนี้  ส่วนพระราชาในครั้งนั้น  ได้เป็นเราตถาคต

ฉะนี้แล.

                                      จบ  อรรถกถากากาติชาดกที่