อรรถกถากุฏิทูสกชาดกที่ 

       พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระวิหารเชตวัน  ทรงปรารภ

ภิกษุหนุ่มผู้เผาบรรณศาลาของพระมหากัสสปเถระ  จึงตรัสพระธรรม-

เทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า  มนุสฺสสฺเสว  เต  สีสํ  ดังนี้.

       เรื่องตั้งขึ้นในนครราชคฤห์.  ได้ยินว่า  ในกาลนั้น  พระเถระ

อาศัยนครราชคฤห์อยู่ในอรัญญกุฎี  ภิกษุหนุ่ม    รูป  กระทำการ

อุปัฏฐากพระเถระ  ในภิกษุหนุ่ม    รูปนั้น  รูปหนึ่งเป็นผู้มีอุปการะ

แก่พระเถระ  ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นผู้ว่ายาก  กระทำกิจวัตรที่ภิกษุนอกนี้

กระทำ  ให้เป็นเสมือนตนกระทำ  เมื่อภิกษุนั้นตั้งน้ำบ้วนปากเป็นต้น

ตนเองไปยังสำนักของพระเถระ  ไหว้แล้วกล่าวว่า  ท่านขอรับ  น้ำ

กระผมตั้งไว้แล้ว  ขอท่านจงล้างหน้าเถิดขอรับ  เมื่อบริเวณกุฏิอันภิกษุ

นั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปัดกวาดไว้แล้ว  ในเวลาพระเถระออกมา  ตนเอง

บริหารข้างโน้นข้างนี้  กระทำบริเวณทั้งสิ้นให้เป็นเสมือนตนปัดกวาด

ไว้.  ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรคิดว่า  พระหัวดื้อรูปนี้  กระทำกิจวัตร

ที่เรากระทำให้เป็นเสมือนตนกระทำ  เราจักกระทำกรรมของพระ

หัวดื้อนี้ให้ปรากฏ.  เมื่อภิกษุหัวดื้อนั้นฉันในภายในบ้านแล้วมานอน

บนเตียงของตนเองนั่นแหละ  ผู้ภิกษุสมบูรณ์ด้วยวัตรจึงต้มน้ำสำหรับ

อาบให้ร้อนแล้ววางไว้หลังซุ้ม.  แล้วตั้งน้ำอื่นประมาณกึ่งทะนานไว้

บนเตา.  ภิกษุหัวดื้อนอกนี้ตื่นนอนแล้วมา  เห็นไอน้ำพลุ่งขึ้นจึงคิดว่า

ภิกษุนั้นจักต้มน้ำให้เดือดแล้วตั้งไว้ในซุ้ม  จึงไปยังสำนักของพระเถระ

แล้วกล่าวว่า  ท่านขอรับกระผมตั้งน้ำไว้ในซุ้มสำหรับอาบแล้ว  ขอ

นิมนต์อาบเถิด.  พระเถระกล่าวว่า  จักอาบ  แล้วมาพร้อมกับภิกษุ

หัวดื้อนั้น  ไม่เห็นน้ำในซุ้มจึงถามว่า  น้ำอยู่ที่ไหน  น้ำอยู่ที่ไหน  ?

ภิกษุนั้นจึงรีบไปยังโรงไฟ  หย่อนกระบวยลงในภาชนะเปล่า  กระบวย

กระทบพื้นภาชนะเปล่งเสียงดังฆระ  ตั้งแต่นั้นมาภิกษุนั้นจึงมีชื่อว่า

อุฬุงกสัททกะ.  ขณะนั้น  ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงนำน้ำมาจาก

หลังซุ้มแล้วกล่าวว่า  อาบเถิด  ท่านขอรับ.  พระเถระอาบน้ำแล้ว

รำพึงอยู่  ได้รู้ว่าพระอุฬุงกสัททกะเป็นคนหัวดื้อ  จึงโอวาท

พระอุฬุงกสัททกะนั้นผู้มายังเถระอุปัฏฐากในตอนเย็นว่า  ผู้มีอายุ

ธรรมดาสมณะกล่าวสิ่งที่ตนทำเท่านั้นว่าเราทำ  จึงควร  กล่าวโดย

ประการอื่นไป  ย่อมเป็นสัมปชานมุสาวาท  กล่าวเท็จทั้งๆ  ที่รู้

ตั้งแต่นี้ไปเธออย่าได้กระทำกรรมเห็นปานนี้.  พระอุฬุงกสัททกะนั้น

โกรธพระเถระ.  วันรุ่งขึ้น  จึงไม่เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตกับพระเถระ

พระเถระจึงเข้าไปบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุนอกนี้.  ฝ่ายอุฬุงก-

สัททกะได้ไปยังตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ  เมื่อเขากล่าวว่า

พระเถระไปไหนขอรับ  จึงกล่าวว่า  พระเถระนั่งอยู่ในวิหาร

นั่นแหละ  เพราะไม่ผาสุก  เมื่อเขากล่าวว่า  ได้อะไรจึงจะควรขอรับ

จึงกล่าวว่า  ท่านจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้  แล้วถือเอาไปยังที่ชอบใจของตน

ฉันแล้วจึงได้ไปยังวิหาร.  วันรุ่งขึ้น  พระเถระไปยังตระกูลนั้นแล้วนั่ง.

คนทั้งหลายจึงกล่าวว่า  ท่านผู้เจริญ  พระผู้เป็นเจ้าไม่มีความผาสุกหรือ

ได้ยินว่า  เมื่อวานท่านนั่งอยู่แต่ในวิหารเท่านั้น  พวกกระผมส่งอาหาร

ไปถวายกะมือภิกษุหนุ่มชื่อโน้น  พระผู้เป็นเจ้าบริโภคอาหารแล้วหรือ.

พระเถระได้นิ่งเสีย  กระทำภิตกิจแล้วไปยังวิหาร  เรียกพระอุฬุงก-

สัททกะผู้มาในเวลาบำรุงพระเถระในเวลาเย็นแล้วกล่าวว่า  อาวุโส

ได้ยินว่า  เธอขอในตระกูลชื่อโน้นในบ้านชื่อโน้นว่า  การได้สิ่งนี้

และสิ่งนี้  ย่อมควรแก่พระเถระแล้วบริโภคเสียเอง  แล้วกล่าวว่า

ขึ้นชื่อว่าการขอย่อมไม่ควร  เธออย่าประพฤติอนาจารเห็นปานนี้อีก.

พระอุฬุงกสัททกะผูกความอาฆาตในพระเถระ  ด้วยเหตุมีประมาณ

เท่านี้  คิดว่า  แม้เมื่อวานนี้  พระเถระนี้ก็กระทำความทะเลาะกับเรา

เพราะอาศัยเหตุสักว่าน้ำ  มาบัดนี้ท่านอดกลั้นไม่ได้ว่า  เราบริโภคภัต

กำมือหนึ่งในเรือนของพวกอุปัฏฐากของท่าน  จึงกระทำการทะเลาะอีก

เราจักรู้กิจที่ควรทำแก่พระเถระนี้  วันรุ่งขึ้น  เมื่อพระเถระเข้าไป

บิณฑบาต  จึงถือไม้ฆ้อนทุบภาชนะเครื่องใช้ทั้งหลาย  เผาบรรณศาลา

แล้วหลบหนีไป.  พระอุฬุงกสัททกะนั้น  ยังมีชีวิตอยู่แล  เป็นมนุษย์

เพียงดังเปรต  ผอมโซ  กระทำกาละแล้วได้บังเกิดในอเวจีมหานรก.

อนาจารนั้นที่พระอุฬุงกสัททกะนั้นกระทำได้ปรากฏไปในท่ามกลาง

มหาชน.  ครั้งนั้น  ภิกษุพวกหนึ่งจากกรุงราชคฤห์มานครสาวัตถี

เก็บบาตรจีวรไว้ในที่ที่เป็นสภาคกัน    ที่ที่มาถึง  แล้วไปยังสำนัก

ของพระศาสดา  ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่.  พระศาสดาทรงกระทำ

ปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า  พวกเธอมาแต่ไหน  ?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  มาจากกรุงราชคฤห์  พระเจ้าข้า.  พระ-

ศาสดาตรัสถามว่า  ใครเป็นอาจารย์ให้โอวาทในที่นั้น.  ภิกษุเหล่านั้น

กราบทูลว่า  พระมหากัสสปเถระ  พระเจ้าข้า.  พระศาสดาตรัสถามว่า

กัสสปเป็นสุขสบายดีหรือ.  ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  พระเจ้าข้า

พระเถระเป็นสุขสบายดี  แต่สัทธิวิหาริกของท่านโกรธในโอวาทที่

ท่านให้  แม้เมื่อพระเถระเข้าไปเพื่อบิณฑบาต  ก็ถือไม้ฆ้อนทุบภาชนะ

เครื่องใช้ทั้งหลายเผาบรรณศาลาของพระเถระ  แล้วหลบหนีไป.

พระศาสดาได้ทรงสดับดังนั้นจึงตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  การเที่ยวไป

ผู้เดียวเท่านั้นแห่งกัสสป  ประเสริฐกว่าการเที่ยวไปกับคนพาลเห็น

ปานนี้  แล้วตรัสพระคาถาในพระธรรมบทนี้ว่า  :-

              บุคคลเมื่อจะเที่ยวไป  ถ้าไม่ประสบคน

       ที่ดีกว่า  หรือคนเช่นกับตน  พึงทำการเที่ยว

       ไปผู้เดียวให้มั่นไว้  เพราะความเป็นสหายใน

       คนพาลย่อมไม่มี.

       ก็แหละ  ครั้นตรัสคาถานี้แล้ว  จึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย

เหล่านั้นมาตรัสอีกว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุนี้เป็นผู้ประทุษร้าย

กุฎีในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  ก็ได้เป็นผู้ประทุษร้าย

กุฎีมาแล้วเหมือนกัน  และย่อมโกรธผู้ให้โอวาทแต่ในบัดนี้เท่านั้น

ก็หามิได้  แม้ในกาลก่อน  ก็โกรธแล้วเหมือนกัน  อันภิกษุเหล่านั้น

ทูลอาราธนาแล้ว  จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก  ดังต่อไปนี้.

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ใน

พระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกขมิ้น  เจริญวัย

แล้ว  กระทำรังฝนรั่วรดไม่ได้เป็นที่ชอบใจของตน  อยู่ในหิมวันต-

ประเทศ  ครั้งนั้น  ลิงตัวหนึ่ง  เมื่อฝนตกไม่ขาดเม็ดในฤดูฝน  ถูก

ความหนาวบีบคั้น  นั่งกัดฟันอยู่ในที่ไม่ไกลพระโพธิสัตว์.  พระโพธิ-

สัตว์เห็นลิงนั้นลำบากอยู่อย่างนั้น  เมื่อจะเจรจากับลิงนั้น  จึงกล่าว

คาถาที่    ว่า  :-

              ดูก่อนวานร  ศีรษะ  มือ  และเท้าของ

       ท่านเหมือนของมนุษย์  เมื่อเป็นเช่นนั้น

       เพราะเหตุไรหนอ  เรือนของท่านจึงไม่มี.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  วณฺเณน  แปลว่า  เพราะเหตุ.

ด้วยบทว่า  อคารํ  นี้  นกขมิ้นถามว่า  เพราะเหตุไร  เรือนเป็นที่อยู่

อาศัยของท่านจึงไม่มี.

       วานรได้ฟังดังนั้น  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

              ดูก่อนนกขมิ้น  ศีรษะ  มือและเท้า

       ของเราเหมือนของมนุษย์ก็จริง  แต่ปัญญาที่

       บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ของ

       เราไม่มี.

       ในคาถานั้น  ลิงเรียกนกนั้นโดยชื่อว่า  สิงคิละ.  บทว่า

ยาหุ  เสฏฺ€  มนุสฺเสสุ  ความว่า  วิจารณปัญญาของเรา  ที่บัณฑิต

ทั้งหลายกล่าวว่าประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์ย่อมไม่มี  ศีรษะ  มือ  เท้า

และกำลังกายเป็นต้น  ไม่เป็นประมาณในโลก  วิจารณปัญญาเท่านั้น

ประเสริฐสุด  วิจารณปัญญานั้น  ไม่มีแก่เรา  เพราะฉะนั้น  เรือน

ของเราจึงไม่มี. 

       พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น  จึงกล่าว    คาถานอกนี้ว่า  :-

              ผู้มีจิตไม่มั่นคง  มีจิตกลับกลอกมัก

       ประทุษร้ายมิตร  มีปกติไม่ยั่งยืนเป็นนิจ

       ย่อมไม่มีความสบาย.

              ท่านจงสร้างอานุภาพขึ้นเถิด  จงเปลี่ยน

       ปกติเดิมเสียเถิด  ดูก่อนกระบี่  ท่านจงสร้าง

       กระท่อมไว้ป้องกันความหนาวและลมเถิด.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  อนวฏฺ€ิตจิตฺตสฺส  ได้แก่

ผู้มีจิตไม่ตั้งอยู่เฉพาะแล้ว.  บทว่า  ทุพฺภิโน  แปลว่า  ผู้มีปกติ

ประทุษร้ายมิตร.  บทว่า  อทฺธุวสีลสฺส  ได้แก่  ผู้รักษาปกติไว้

ตลอดทุกกาลไม่ได้.  บทว่า  โส  กรสฺสานุภาวํ  ตฺวํ  ความว่า

ดูก่อนลิงผู้สหาย  ท่านนั้นจงอาศัยอานุภาพ  คือกำลังสร้างขึ้น  เพื่อ

ทำปัญญาให้เกิดขึ้น.  บทว่า  วีติวตฺตสฺสุ  สีลิยํ  ความว่า  ท่านจง

ก้าวล่วงความปกติ  คือ  ความเป็นผู้ทุศีลเสีย  จงเป็นผู้มีศีล.  บทว่า

กุฏิกํ  ความว่า  ท่านจงกระทำกระท่อมคือรัง  ได้แก่เรือนเป็นที่อยู่

หลังหนึ่งของตน  อันสามารถป้องกันความหนาวและลม.

       ลิงคิดว่า  อันดับแรก  เจ้านกนี้บริภาษเรา  เพราะความที่ตน

จับอยู่ในที่ที่ฝนไม่รั่วรด  เราจักไม่ให้มันจับอยู่ในรังนี้  ลำดับนั้น

มันมีความประสงค์จะจับพระโพธิสัตว์  จึงโลดแล่นมา.  พระโพธิสัตว์

จึงบินไปในที่อื่น  ลิงจึงทำลายรังกระทำให้ละเอียดเป็นจุรณวิจุรณ

แล้วหลีกไป.

          พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  จึงทรง

ประชุมชาดกว่า  ลิงในครั้งนั้น  ได้เป็นภิกษุผู้เผากุฎีในครั้งนี้  ส่วน

นกขมิ้นในครั้งนั้น  ได้เป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ   อรรถกถากุฏิทูสกชาดกที่