อรรถกถาสัยหชาดกที่  ๑๐

       พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระเชตวันวิหาร  ทรงปรารภ

ภิกษุผู้กระสันจะสึก  จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า

สสมุทฺทปริสาสํ  ดังนี้

       ได้ยินว่า  ภิกษุนั้นเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถี  เห็น

หญิงตกแต่งประดับประดามีรูปร่างงดงามคนหนึ่ง.  เป็นผู้กระสันอยาก

สึก  ไม่ยินดีในพระศาสนา  ลำดับนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  จึงพากันแสดง

ภิกษุนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.  ภิกษุนั้นถูกพระศาสดาตรัสถามว่า

ดูก่อนภิกษุ  ได้ยินว่าเธอเป็นผู้กระสันอยากสึกจริงหรือ.  จึงกราบทูลว่า

จริง  พระเจ้าข้า.  เมื่อพระศาสดาตรัสว่า  ใครทำให้เธอกระสันอยากสึก

จึงกราบทูลเนื้อความนั้น.  พระศาสดาตรัสว่า  เธอบวชในศาสนาอัน

เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้  เพราะเหตุไรจึงกระสันอยากสึก

บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน  แม้จะได้ตำแหน่งปุโรหิต  ก็ยังปฏิเสธ

ตำแหน่งนั้นแล้วไปบวช  ครั้นตรัสแล้วจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมา

สาธก  ดังต่อไปนี้  :-

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนคร

พาราณสี  พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในท้องนางพราหมณีของปุโรหิต

คลอดในวันเดียวกันกับพระโอรสของพระราชา.  พระราชาตรัสถาม

อำมาตย์ทั้งหลายว่า  ใครๆ  ผู้เกิดในวันเดียวกันกับโอรสของเรา  มีอยู่

หรือหนอ  ?  อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า  ข้าแต่มหาราช  มีพระเจ้าข้า

คือบุตรของปุโรหิต.  พระราชาจึงทรงสั่งเอาบุตรของปุโรหิตนั้นมามอบ

ให้แม่นมทั้งหลาย  ให้ประคบประหงมร่วมกันกับพระราชโอรส.  เครื่อง

ประดับและเครื่องดื่ม  เครื่องบริโภคของกุมารแม้ทั้งสอง  ได้เป็นเช่น

เดียวกันทีเดียว.  พระราชกุมารและกุมารเหล่านั้นเจริญวัยแล้วไปเมือง

ตักกศิลาเรียนศิลปะทั้งปวงร่วมกันแล้วกลับมา.  พระราชาได้พระราช-

ทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรส.  พระโพธิสัตว์ได้มียศยิ่งใหญ่  จำเดิม

แต่นั้นมา  พระโพธิสัตว์กับพระราชโอรสก็กินร่วมกัน  ดื่มร่วมกัน

นอนร่วมกัน  ความวิสาสะคุ้นเคยกันและกันได้มั่นคงแน่นแฟ้น  ใน

กาลต่อมา  เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว  พระราชโอรสได้ดำรงอยู่ใน

ราชสมบัติ  ทรงเสวยสมบัติใหญ่.  พระโพธิสัตว์คิดว่า  สหายของเรา

ได้ครองราชย์  ก็ในขณะที่ทรงกำหนดตำแหน่งนั่นแหละ  คงจักพระ-

ราชทานตำแหน่งปุโรหิตแก่เรา  เราจะประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน

เราจักบวชพอกพูนความวิเวก  พระโพธิสัตว์นั้นไหว้บิดามารดาให้

อนุญาตการบรรพชาแล้วสละสมบัติใหญ่  ผู้เดียวเท่านั้น  ออกไป

หิมวันตประเทศ  สร้างบรรณศาลาอยู่ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์  บวช

เป็นฤาษี  ทำอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดแล้วเล่นฌานอยู่.  ในกาลนั้น

พระราชาหวนระลึกถึงพระโพธิสัตว์นั้นจึงถามว่า  สหายของเราไม่

ปรากฎเขาไปไหนเสีย.  อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลถึงความที่พระโพธิ-

สัตว์นั้นบวชแล้วกราบทูลว่า  ได้ยินว่า  สหายของพระองค์อยู่ใน

ไพรสณฑ์อันน่ารื่นรมย์.  พระราชาตรัสถามตำแหน่งแห่งที่อยู่ของ

พระโพธิสัตว์นั้นแล้ว  ตรัสกะสัยหอำมาตย์  ท่านจงมา  จงพาสหาย

ของเรามา  เราจักให้ตำแหน่งปุโรหิตแก่สหายของเรานั้น.  สัยหอำมาตย์

นั้นรับพระดำรัสแล้วออกจากนครพาราณสี  ถึงปัจจันตคามโดยลำดับ

แล้วตั้งค่าย    บ้านปัจจันตคามนั้น  แล้วไปยังสถานที่อยู่ของพระ-

โพธิสัตว์พร้อมกับพวกพรานป่า  เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่ประตูบรรณ

ศาลา  เหมือนรูปทองจึงไหว้แล้วนั่ง    ส่วนข้างหนึ่ง  กระทำปฏิสันถาร

แล้วกล่าวว่า  ท่านผู้เจริญ  พระราชามีพระประสงค์จะพระราชทาน

ตำแหน่งอุปราชแก่ท่าน  ทรงหวังให้ท่านกลับมา.  พระโพธิสัตว์กล่าวว่า

ตำแหน่งปุโรหิตจงพักไว้ก่อน  เราแม้จะได้ราชสมบัติในแคว้นกาสี

โกศล  และชมพูทวีปทั้งสิ้น  หรือเฉพาะสิริแห่งพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม

ก็จักไม่ปรารถนา  ก็บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่กลับ  ถือเอากิเลสทั้งหลาย

ซึ่งละแล้วครั้งเดียวอีก  เพราะสิ่งที่ละทิ้งไปแล้วครั้งเดียว  เป็นเช่น

กับก้อนเขฬะที่ถ่มไปแล้ว  จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า  :-

              บัณฑิตไม่พึงปรารถนาพื้นแผ่นดิน  มี

       สัณฐานดุจกุณฑลท่ามกลางสาคร  มีมหา-

       สมุทรล้อมอยู่โดยรอบ  พร้อมด้วยการนินทา

       ดูก่อนสัยหะอำมาตย์  ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด.

              ดูก่อนพราหมณ์  เราติเตียนการได้ยศ

       การได้ทรัพย์  และการเลี้ยงชีพด้วยการทำตน

       ให้ตกต่ำ  หรือด้วยการประพฤติไม่เป็นธรรม.

              ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิตถือบาตรเที่ยว

       ภิกขาจาร  ความเลี้ยงชีวิตนั้นนั่นแหละประ-

       เสริฐกว่า  การแสวงหาโดยไม่เป็นธรรมจะ

       ประเสริฐกว่าอะไร

              ถึงแม้เราบวชเป็นบรรพชิตถือบาตร

       เที่ยวภิกขาจาร  ไม่เบียดเบียนผู้อื่นในโลก

       นั้นประเสริฐกว่าราชสมบัติเสียอีก.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  สสมุทฺทปริสาสํ  ความว่า  บริวาร

ท่านเรียกว่า  ปริสาสะ.  แม้กับบริวารกล่าวคือสมุทร  พร้อมด้วยภูเขา

จักรวาล  ซึ่งตั้งล้อมสมุทร.  บทว่า  สาครกุณฺฑลํ  ความว่า  เป็นดัง

กุณฑลคือต่างหูของสาครนั้น  เพราะตั้งอยู่โดยเป็นเกาะในท่ามกลาง

สาคร.  บทว่า  นินฺทาย  ได้แก่  ด้วยการนินทาดังนี้ว่า  ละทิ้งการบวช

อันสมบูรณ์ด้วยสุขในฌานแล้วถือเอาอิสริยยศ.  พระโพธิสัตว์เรียก

อำมาตย์นั้นโดยชื่อว่า  สัยหะ  บทว่า  วิชานาหิ  แปลว่า  ท่านจงรู้

ธรรม  บทว่า  ยา  วุตฺติ  วินิปาเตน  ความว่า  การได้ยศ  การได้

ทรัพย์  และการเลี้ยงชีพอันใดที่เราได้ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง  ย่อมมี

ได้ด้วยการทำตนให้ตกต่ำกล่าวคือการยังตนให้ตกไปจากความสุขใน

ฌาน  หรือด้วยการไปจากที่นี้แล้ว  ประพฤติไม่เป็นธรรมแห่งเราผู้

มัวเมาด้วยความมัวเมาในยศ  เราติเตียนความเลี้ยงชีพนั้น.  บทว่า

ปตฺตมาทาย  ได้แก่  ถือภาชนะเพื่อภิกษา.  บทว่า  อนาคาโร  ความว่า

เราเป็นผู้เว้นจากเรือน  เที่ยวไปในตระกูลของคนอื่น.  บทว่า  สาเอว

ชีวิกา  ความว่า  ความเป็นอยู่ของเรานั้นนั่นแหละ  ประเสริฐกว่า

คือเลิศกว่า.  บทว่า  ยา  จาธมฺเมน  ได้แก่  และการแสวงหาโดยไม่เป็น

ธรรมอันใด.  ท่านกล่าวอธิบายว่า  ความเป็นอยู่นี้นั่นแลดีกว่าการ

แสวงหาโดยไม่เป็นธรรมนั้น.  บทว่า  อหึสยํ  แปลว่า  ไม่เบียดเบียน.

บทว่า  อปิ  รชฺเชน  ความว่า  เราถือกระเบื้องสำเร็จการเลี้ยงชีพ

โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างนี้  ประเสริฐคือสูงสุดแม้กว่าความเป็น

พระราชา.

       พระโพธิสัตว์นั้นห้ามปราม  สัยหะอำมาตย์แม้ผู้จะอ้อนวอน

อยู่บ่อยๆ  ด้วยประการฉะนี้.  ฝ่ายสัยหะอำมาตย์ครั้นไม่ได้ความตกลง

ปลงใจของพระโพธิสัตว์  จึงไหว้พระโพธิสัตว์แล้วไปกราบทูลแก่พระ-

ราชาถึงความที่พระโพธิสัตว์นั้นไม่กลับมา.

       พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  จึงทรง

ประกาศสัจจะทั้งหลายแล้วประชุมชาดก.  ในเวลาจบสัจจะ  ภิกษุผู้

กระสันจะสึก  ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล  ชนเป็นอันมากแม้อื่นอีกได้

กระทำให้แจ้งโสดาปัตติผลเป็นต้น.  พระราชาในครั้งนั้น  ได้เป็นพระ-

อานนท์  สัยหะอำมาตย์ในครั้งนั้น  ได้เป็นพระสารีบุตร  ส่วนบุตร

ของปุโรหิตในครั้นั้น  ได้เป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ  อรรถกถาสัยหชาดกที่  ๑๐