อรรถกถาสุชาตาชาดกที่ 

       พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระวิหารเชตวัน  ทรงปรารภ

พระนางมัลลิกาเทวี  จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้  มีคำเริ่มต้นว่า  กึ-

อณฺฑกา  อิเม  เทว  ดังนี้.

       ได้ยินว่า  วันหนึ่ง  พระราชาได้มีการวิวาทโต้เถียงเรื่องสิริกับ

พระนางมัลลิกาเทวี.  บางอาจารย์กล่าวว่า  ทรงทะเลาะเรื่องที่บรรทม

ดังนี้ก็มี.  พระราชาทรงกริ้วถึงกับไม่สนพระทัยกับพระนาง.  ฝ่าย

พระนางมัลลิกาเทวีก็ทรงพระดำริว่า  พระศาสดาเห็นจะไม่ทรงทราบว่า

พระราชาทรงพิโรธเรา.  แม้พระศาสดาก็ทรงทราบ  ทรงดำริว่า

จักกระทำพระราชาและพระเทวีนี้ให้สมัครสมานกัน  ในเวลาเช้าจึง

ทรงนุ่งแล้วถือบาตรและจีวร  มีภิกษุ  ๕๐๐  รูป  เป็นบริวาร  เสด็จเข้า

กรุงสาวัตถีแล้วได้เสด็จไปที่ประตูพระราชนิเวศน์.  พระราชาทรงรับ

บาตรของพระตถาคตแล้วทูลนิมนต์เสด็จเข้าพระนิเวศน์  ให้ประทับนั่ง

บนอาสนะที่ปูลาดแล้ว  ถวายน้ำทักษิโณทกแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธ-

เจ้าเป็นประธาน  แล้วทรงนำข้าวยาคูและของควรเคี้ยวมาถวาย.  พระ-

ศาสดาทรงเอาพระหัตถ์ปิดบาตรแล้วตรัสว่า  มหาบพิตร  พระเทวี

เสด็จไปไหน.  พระราชาทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ประโยชน์

อะไรด้วยพระเทวีนั้นผู้มัวเมาด้วยยศของตน.  พระศาสดาตรัสว่า

ดูก่อนมหาบพิตร  พระองค์ทรงประทานยศยกมาตุคามขึ้นด้วยพระองค์

เอง  แล้วไม่ทรงอดโทษความผิดที่พระเทวีนั้นกระทำ  ดูไม่สมควร.

พระราชาทรงสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว  จึงรับสั่งให้เรียก

พระเทวีมา.  พระเทวีเสด็จมาทรงอังคาสพระศาสดา.  พระศาสดา

ตรัสว่า  ควรที่พระองค์ทั้งสองจะเป็นผู้สามัคคีปรองดองกันและกัน  ได้

ตรัสพรรณนาสามัคคีรสแล้ว  เสด็จหลีกไป.  จำเดิมแต่นั้น  พระราชา

และพระเทวีทั้งสองพระองค์ก็ทรงอยู่ด้วยความสามัคคีปรองดองกัน.

ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า  อาวุโสทั้งหลาย  พระ-

ศาสดาได้ทรงกระทำพระราชาและพระเทวีทั้งสองพระองค์ให้สมัคร-

สมานกัน  ด้วยพระดำรัสข้อเดียวเท่านั้น  พระศาสดาเสด็จมาแล้ว

ตรัสถามว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้  พวกเธอประชุมสนทนากัน

ด้วยเรื่องอะไรหนอ  เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว  จึง

ตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  มิใช่บัดนี้เท่านั้น  แม้ในกาลก่อน  เรา

ตถาคตก็ได้ทำให้ท้าวเธอทั้งสองนี้มีความสามัคคีปรองดองกัน  ด้วย

วาทะข้อเดียวเท่านั้น  แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก  ดังต่อไปนี้  :-

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนคร

พาราณสี  พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ผู้สั่งสอนอรรถธรรมแก่พระ-

เจ้าพรหมทัตนั้น  อยู่มาวันหนึ่ง  พระราชาทรงเปิดบานพระแกรใหญ่

ได้ประทับทอดพระเนตรพระลานหลวง.  ขณะนั้น  ธิดาคนเก็บผัก

คนหนึ่ง  มีรูปสวย  ตั้งอยู่ในประถมวัย  เทินกระเช้าพุทราไว้บนศีรษะ

เดินร้องขายไปทางหน้าพระลานหลวงว่า  ซื้อพุทราเจ้าข้า  ซื้อพุทรา

เจ้าข้า.  พระราชาได้ทรงสดับเสียงของนางนั้นแล้วทรงมีจิตปฏิพัทธ์

รักใคร่  ทรงทราบว่านางยังไม่มีสามี.  จึงรับสั่งให้เรียกมาแล้วทรง

ตั้งนางนั้นไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี  แล้วได้ประทานยศอันยิ่งใหญ่แก่

นาง.  นางนั้นได้เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระราชา.  อยู่มาวันหนึ่ง

พระราชาประทับนั่งหยิบผลพุทราในจานทองเสวยอยู่  พระสุชาดา-

เทวีได้ทรงเห็นพระราชาเสวยผลพุทรา  เมื่อจะทูลถามว่า  ข้าแต่มหา-

ราช  นี่คือผลอะไร  พระองค์ทรงเสวยอยู่  จึงตรัสคาถาที่    ว่า  :-

              ข้าแต่พระราชสวามีผู้ประเสริฐ  ไข่ที่

       เก็บไว้ในจานทองนี้  เป็นไข่อะไร  ลูกกลม

       เกลี้ยงมีสีแดง  หม่อมฉันทูลถามพระองค์

       ถึงสิ่งนั้น  ขอพระองค์ตรัสบอกด้วย.

       ด้วยบทว่า  กิอณฺฑกา  นี้  ในคาถานั้น  พระนางสุชาดาเทวี

ทูลว่า  นี่ชื่อผลอะไร  แต่เป็นดุจไข่  โดยมันกลม.  บทว่า  กํสมลฺลเก

ได้แก่  ในจานทองคำ.  บทว่า  อุปโลหิตกา  แปลว่า  มีสีแดง  บทว่า

วคฺคู  ได้แก่  งาม  คือไม่มีมลทิน.

       พระราชาทรงกริ้วตรัสว่า  นางแม่ค้าพุทราสุก   ลูกสาวคนเก็บ

ผัก  ช่างไม่รู้จัก  แม้ผลพุทราอันเป็นของประจำตระกูลของตน  แล้ว

ได้ตรัสคาถา    คาถาว่า  :-

              ดูก่อนพระเทวี  เมื่อก่อนเธอเป็นหญิง

       หัวโล้นนุ่งผ้าท่อนเก่า ๆ  จับห่อพก  เลือก

       เก็บผลไม้ใดอยู่  สิ่งที่ฉันรับประทานอยู่ 

       บัดนี้  เป็นผลไม้นั้น  เป็นผลไม้ประจำตระกูล

       ของเธอ. 

              หญิงทรามเมื่ออยู่ในราชตระกูลนี้  ย่อม

       ร้อนรนไม่รื่นรมย์  โภคทรัพย์ทั้งหลายย่อมละ

       เขาไปเสียสิ้น  หญิงนี้จักเลือกเก็บผลไม้

       ประจำตระกูลได้ในที่ใด  ท่านทั้งหลายจง

       ช่วยนำหญิงนั้นคืนไปไว้ในที่นั้นนั่นเถิด.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  ภณฺฑุ  แปลว่า  เป็นผู้มีศีรษะโล้น

บทว่า  นนฺตกวาสินี  ได้แก่  ผู้นุ่งผ้าท่อนเก่า.  บทว่า  อจฺฉงฺคหตฺถา

ปจินาสิ  ความว่า  เธอเข้าดงเอาขอเหนี่ยวกิ่งลงมา  เอามือหยิบผล

ที่เลือกเก็บแล้วเป็นผู้จับห่อพก  โดยใส่เข้าไปในพกเลือกคัดเก็บ

เอาไป.  บทว่า  ตสฺสา  เต  โกลิยํ  ผลํ  ความว่า  เมื่อเธอนั้น

เลือกเก็บอยู่อย่างนี้  บัดนี้  เรากินผลไม้ใด  ผลไม้นี้เป็นผลไม้ประจำ

ตระกูล  คือเป็นผลไม้ที่ตระกูลให้เธอ.  บทว่า  อุทยฺหเต    รมติ

ความว่า  หญิงลามกนี้เมื่ออยู่ในราชตระกูลนี้  ย่อมร้อนรนไม่รื่นรมย์

เหมือนโยนลงในโลหกุมภีนรก.  บทว่า  โภคา  ได้แก่  ราชโภคทรัพย์

ย่อมละหญิงนี้ผู้ไม่มีบุญ.  ด้วยบทว่า  ยตฺถ  โลกํ  ปจิสฺสติ  นี้

พระราชาตรัสว่า  หญิงนี้ไปในที่ใด  แล้วเลือกเก็บพุทรานั่นแหละ

ค้าขายเลี้ยงชีวิตได้อีก  ท่านทั้งหลายจงนำหญิงนั้นไปในที่นั้นนั่น

แหละ.

       พระโพธิสัตว์คิดว่า  เว้นเราเสีย  คนอื่นจักไม่สามารถทำท้าว

เธอทั้งสองนี้ให้สามัคคีปรองดองกัน  เราจักทูลให้พระราชาทรงยิน-

ยอมแล้วกระทำมิให้ขับไล่พระเทวีนี้ไป  จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

              ข้าแต่มหาราช  โทษผิดเหล่านี้  ย่อมมี

       แก่นารีผู้ได้รับยศ  ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ

       พระองค์โปรดอดโทษแก่พระนางสุชาดา  ข้า

       แต่พระองค์ผู้ประเสริฐ  ขอพระองค์อย่าได้

       ทรงพระพิโรธแก่พระนางสุชาดานี้เลย.

       คาถานั้นมีอธิบายว่า  ข้าแต่มหาราช  โทษเพราะความประมาท

เหล่านี้  คือเห็นปานนี้  ย่อมมีเฉพาะแก่นารีผู้ได้รับยศ  การแต่งตั้ง

พระนางไว้ในตำแหน่งสูงเห็นปานนี้  แล้วไม่ทรงอดโทษผิดมีประมาณ

เท่านี้    บัดนี้  ดูจะไม่สมควรแก่พระองค์  ข้าแต่สมมติเทพ  เพราะ

ฉะนั้น  ขอพระองค์ได้โปรดอดโทษ  ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ  คือ

ผู้เป็นใหญ่ในพลรถ  ขอพระองค์โปรดอย่าได้ทรงพิโรธแก่พระนาง-

สุชาดานี้.

       พระราชาทรงอดกลั้นความผิดนั้นแก่พระเทวี  เพราะถ้อยคำ

ของพระโพธิสัตว์นั้น  จึงทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเดิมนั่นเอง.  ตั้ง

แต่นั้นมา  พระราชาและพระเทวีทั้งสองพระองค์ทรงอยู่ด้วยความ

สมัครสมานปรองดองกันแล.

       พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  จึงทรง

ประชุมชาดกว่า  พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น  ได้มาเป็นพระเจ้าโกศล

พระนางสุชาดาในครั้งนั้น  ได้มาเป็นพระนางมัลลิกา  ส่วนอำมาตย์

ในครั้งนั้น  ได้เป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ  อรรถกถาสุชาตาชาดกที่