พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระวิหารเชตวัน  ทรงปรารภ

อำมาตย์ของพระเจ้าโกศลคนหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้  มีคำเริ่มต้นว่า  เสยฺ-

ยํโส  เสยฺยโส  อโหสิ  ดังนี้.

       ได้ยินว่า  อำมาตย์ผู้นั้นมีอุปการะเป็นอันมากแก่พระราชา  ได้

เป็นผู้จัดสรรพกิจทั้งปวงให้สำเร็จ.  พระราชาทรงพระดำริว่า  อำมาตย์

นี้มีอุปการะเป็นอันมากแก่เรา  จึงได้ประทานยศใหญ่โตแก่อำมาตย์นั้น

อำมาตย์พวกอื่นอดทนอำมาตย์นั้นไม่ได้  ก็คอยส่อเสียดยุยงพระราชา

ทำลายอำมาตย์นั้น.  พระราชาทรงเชื่อคำของอำมาตย์เหล่านั้น  มิได้

ทรงพิจารณาโทษ  รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลนั้น  ผู้หาโทษมิได้

ด้วยเครื่องจองจำคือโซ่ตรวนแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ.  อำมาตย์นั้น

ตัวคนเดียวแท้อยู่ในเรือนจำนั้น  อาศัยศีลสมบัติได้เอกัคคตาจิตแน่ว

แน่ในอารมณ์เดียว  พิจารณาสังขารทั้งหลายก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล.

ครั้นในกาลต่อมา  พระราชาทรงทราบว่า  อำมาตย์นั้นไม่มีโทษ

จึงรับสั่งให้ถอดเครื่องพันธนาการคือโซ่ตรวน  แล้วได้พระราชทานยศ

อันยิ่งใหญ่กว่ายศครั้งแรก.  อำมาตย์คิดว่า  จักถวายบังคมพระศาสดา

จึงถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นเป็นอันมาก  ไปยังพระ-

วิหาร  บูชาพระตถาคตถวายบังคมแล้วนั่ง    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาเมื่อจะทรงกระทำปฏิสันถารกับอำมาตย์นั้น  จึงตรัสว่า

เราตถาคตได้ยินว่า  ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้  เกิดขึ้นแก่ท่าน

หรือ.  อำมาตย์กราบทูลว่า  พระเจ้าข้า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ราชทัณฑ์อันหาประโยชน์มิได้  เกิดขึ้นแล้ว  แต่ข้าพระองค์ได้กระทำ

ประโยชน์จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้  นั้น  ข้าพระองค์นั้นนั่งอยู่ใน

เรือนจำแล้วทำโสดาปัตติผลให้เกิดขึ้นแล้ว.  พระศาสดาตรัสว่า  ดูก่อน

อุบาสก  มิใช่ท่านเท่านั้น  ที่นำเอาประโยชน์มาจากสิ่งที่มิใช่ประโยชน์

แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย  ก็นำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาจากสิ่งที่

ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเหมือนกัน  อันอำมาตย์นั้นทูลอาราธนาแล้ว

จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก  ดังต่อไปนี้  :-

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ใน

พระนครพาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัคร-

มเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น  พอเจริญวัยก็เล่าเรียนศิลปะทั้งปวง

ในเมืองตักกศิลา  เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ

มิได้ทรงยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ  ครองราชสมบัติโดยธรรม

สม่ำเสมอ  บำเพ็ญทาน  รักษาศีล    รักษาอุโบสถกรรม

ลำดับนั้น  อำมาตย์ผู้หนึ่งของพระองค์ก่อการประทุษร้ายขึ้นภายใน

พระราชวัง.  ข้าราชบริพารที่เป็นบาทบริจาริกาเป็นต้น  จึงกราบทูล

แก่พระราชาว่า  อำมาตย์ผู้โน้นก่อประทุษร้ายในภายในพระราชวัง

พระราชาทรงสืบสวนแล้วทรงทราบได้ตามสภาพ  จึงรับสั่งให้พา

อำมาตย์นั้นมาเฝ้าแล้วตรัสว่า  จำเดิมแต่นี้ไป  เจ้าอย่าได้มาอุปัฏฐาก

เราเลย  แล้วทรงถอดยศเสีย.  อำมาตย์นั้นไปอุปัฏฐากพระเจ้าสามันต-

ราชองค์อื่น.  เรื่องทั้งปวงได้กล่าวไว้ในมหาสีลวชาดกในหนหลัง

นั่นแหละ  แม้ในชาดกนี้  พระราชานั้นทรงทดลองถึง    ครั้ง

จึงเชื่อคำของอำมาตย์นั้น  ทรงดำริว่า  จักยึดราชสมบัติในเมือง

พาราณสี  จึงพร้อมด้วยบริวารอันใหญ่หลวงประชิดราชอาณาเขต

ของพระเจ้าพาราณสี.  นายทหารผู้ใหญ่ของพระเจ้าพาราณสี

ประมาณ  ๗๐๐  นาย  รู้ประพฤติเหตุนั้นแล้วกราบทูลว่า  ข้าแต่สมมุติ-

เทพ  ได้ยินว่า  พระราชาองค์โน้นคิดว่าจักยึดราชสมบัติในเมือง

พาราณสี  จึงตีชนบทเข้ามา  พวกข้าพระองค์จักไปในชนบทนั้นนั่น

แหละ  แล้วจักจับพระราชาองค์โน้นมา.  พระเจ้าพาราณสีตรัสว่า  เรา

ไม่มีการกระทำกรรมด้วยราชสมบัติที่ได้ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น  พวก

ท่านอย่ากระทำอะไรๆ  เขา.  พระราชาโจรเสด็จมาล้อมพระนครไว้.

อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชาอีกทราบทูลว่า  ข้าแต่สมมติเทพ

ขอพระองค์อย่าทรงกระทำอย่างนี้  พวกข้าพระองค์จะจับพระราชาโจร

นั้น.  พระราชาตรัสว่า  อย่าได้กระทำอะไรๆ  พวกท่านจงเปิดประตู

เมืองทุกประตู  พระองค์เองทรงแวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์  ประทับนั่ง

บนบัลลังก์ในท้องพระโรง.  พระราชาโจรโบยตีพวกมนุษย์ที่ประตู

ทั้ง    เข้าเมืองได้แล้วขึ้นยังปราสาทให้จับพระราชาผู้แวดล้อมด้วย

อำมาตย์  ๑๐๐  คน  จองจำด้วยโซ่ตรวนทั้งหลายแล้วให้ขังไว้ใน

เรือนจำ.  พระราชาประทับนั่งในเรือนจำนั่นแล  ทรงแผ่เมตตาไปยัง

พระราชาโจร  ทรงยังฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น.  ด้วย

อานุภาพแห่งเมตตาของพระเจ้าพาราณสีนั้น  ความเร่าร้อนจึงเกิดขึ้น

ในกายของพระราชาโจร.  พระสรีระกายทั้งสิ้นของพระราชาโจรนั้น

เป็นประหนึ่งถูกคบเพลิงในยมโลกลวกลน.  พระราชาโจรนั้นถูก

มหันตทุกข์ครอบงำจึงตรัสถามว่า  มีเหตุอะไรหนอ.  อำมาตย์ทั้งหลาย

กราบทูลว่า  พระองค์ให้จำขังพระราชาผู้มีศีลไว้ในเรือนจำ  ด้วย

เหตุนั้น  ทุกข์อันนี้จักเกิดขึ้นแก่พระองค์.  ราชาโจรนั้นจึงเสด็จไป

ขอขมาพระโพธิสัตว์  ตรัสว่า  ราชสมบัติของพระองค์  จงเป็นของ

พระองค์เถิด  แล้วทรงมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าพาราณสีนั้นแล  แล้ว

ทูลว่า  ตั้งแต่นี้ไปข้าศึกของพระองค์จงเป็นภาระของหม่อมฉัน  ให้ลง

อาญาแก่อำมาตย์ผู้ประทุษร้ายแล้วเสด็จไปยังพระนครของพระองค์เอง

พระโพธิสัตว์ประทับนั่งบนบัลลังก์ซึ่งยกเศวตรฉัตรขึ้นแล้วในท้อง

พระโรงอันอลงกต  เมื่อจะทรงปราศัยกับหมู่อำมาตย์ที่นั่งห้อมล้อมอยู่

จึงได้ตรัสคาถา    คาถาแรกว่า  :-

              ผู้ใดคบหากับบุคคลผู้ประเสริฐ  ผู้นั้น

       ชื่อว่าเป็นส่วนอันประเสริฐด้วย  เราสมาน-

       ไมตรีกับพระยาโจรคนเดียว  ก็ปลดเปลื้อง

       ท่านทั้งหลายผู้ต้องโทษได้ตั้งร้อยคน.

              เพราะฉะนั้น  บุคคลคนเดียวสมาน

       ไมตรีกับโลกทั้งมวล  สิ้นชีพแล้วก็พึงเข้าถึง

       สวรรค์  ท่านชาวกาสิกรัฐทั้งหลายจงฟังคำ

       ของเราเถิด.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  เสยฺยํโส  เสยฺยโส  โหติ  โย

เสยฺยมุปเสวติ  ความว่า  บุคคลชื่อว่าผู้มีส่วนอันประเสริฐ  เพราะ

มีส่วน  คือโกฏฐาสอันประเสริฐกล่าวคือธรรมสูงสุดอันหาโทษมิได้

ได้แก่  บุคคลผู้อาศัยกุศลธรรม.  บุคคลใดเข้าเสพกุศลธรรมภาวนา

อันประเสริฐนั้น  หรือบุคคลผู้สูงสุดผู้ยินดียิ่งในกุศลธรรมอันประเสริฐ

นั้นบ่อยๆ  บุคคลนั้นเป็นผู้มีส่วนอันประเสริฐ  คือเป็นผู้น่าสรรเสริญ

กว่าและเป็นผู้ยิ่งกว่า.  ก็ด้วยบทว่า  เอเกน  สนฺธึ  กตฺวาน  สตํ

วชฺเฌ  อโมจยึ  แม้นี้  พึงทราบดังนี้ว่า  ก็เมื่อเราซ่องเสพเมตตา

ภาวนาอันประเสริฐ  ได้กระทำการติดต่อคือสืบต่อเมตตาภาวนากับ

พระยาโจรคนเดียว  ด้วยเมตตาภาวนานั้น  ได้ปลดเปลื้องท่านทั้งหลาย

ผู้จะถูกฆ่าได้ตั้งร้อยคน.  ในคาถาที่    มีเนื้อความต่อไปนี้.  เพราะ

เหตุที่เรากระทำการติดต่อด้วยเมตตาภาวนา  โดยความเป็นอันหนึ่ง

อันเดียวกันกับพระยาโจรคนเดียว  จึงปลดเปลื้องท่านทั้งหลายผู้จะ

ถูกฆ่าได้ตั้งร้อยคน  เพราะฉะนั้น  พึงทราบข้อนั้นว่าเพราะบุคคล

ผู้เดียวกระทำการติดต่อกับโลกทั้งปวง  ด้วยเมตตาภาวนา  ละไปแล้ว

จะเข้าถึงสวรรค์ในโลกหน้า.  เพราะเมตตาภาวนาอันเป็นอุปจารฌาน

ให้ปฏิสนธิ ในกามาวจรภพ  เมตตาภาวนาอันเป็นอัปปนาฌาน  ย่อม

ให้ปฏิสนธิในพรหมโลก  ท่านแม้ทั้งปวงผู้เป็นชาวกาสิกรัฐ  จงฟังคำ

ของเรานี้ไว้.

       พระมหาสัตว์พรรณนาคุณของภาวนา  อันประกอบด้วย

เมตตา  แก่มหาชนอย่างนี้แล้วทรงสละเศวตรฉัตรในพระนครพาราณสี

อันกว้างใหญ่ถึง  ๑๒  โยชน์  แล้วเสด็จเข้าป่าหิมพานต์บวชเป็นฤาษี.

       พระศาสดาทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว  ทรงตรัสพระคาถาที่    ว่า  :-

              พระเจ้ากังสมหาราช  ครอบครอง

       ราชสมบัติเมืองพาราณสี  ได้ตรัสพระดำรัส

       นี้แล้ว  ก็ทรงสละทิ้งธนูและลูกศรเสีย  เข้า

       ถึงความสำรวม.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  มหาราชา  แปลว่า  พระราชา

ผู้ใหญ่.  คำว่า  กงฺโส  เป็นพระนามของพระราชาผู้ใหญ่นั้น.  บทว่า

พาราณสิคฺคโห  ได้แก่  ผู้ยึดครองพระนครพาราณสี  เพราะยึด

พระนครพาราณสีครอบครองอยู่.  พระราชานั้น  ตรัสพระดำรัสนี้

แล้ว  ทรงวางคือละทิ้งธนู  และลูกธนูกล่าวคือลูกศร.  เข้าถึงความ

สำรวมในศีล  คือบวช  ก็แหละครั้นบวชแล้วก็ยังฌานให้เกิดขึ้น

เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมจึงได้เกิดขึ้นในพรหมโลก.

       พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ทรงประชุม

ชาดกว่า  พระราชาผู้เป็นโจรในครั้งนั้น   ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้

ส่วนพระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น  ได้เป็นเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ  อรรถกถาเสยยชาดกที่