พระศาสดาเมื่อประทับอยู่    พระเชตวันวิหาร  ทรงปรารภ

ลิงโลเลตัวหนึ่ง  จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า  กิมตฺถมภิสนฺธาย

ดังนี้.

       ได้ยินว่า  ในกรุงสาวัตถี  มีลิงโลเลที่เขาเลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง  ใน

ตระกูลหนึ่ง  ได้ไปยังโรงช้าง  นั่งบนหลังช้างผู้มีศีลตัวหนึ่งถ่ายอุจจาระ

ปัสสาวะ  และเดินไปเดินมาบนหลัง.  ช้างก็ไม่ทำอะไรเพราะตนมีศีล

ถึงพร้อมด้วยความอดทน.  ครั้นวันหนึ่งลูกช้างดุตัวหนึ่ง  ได้ยืนอยู่

ในที่ของช้างเชือกนั้น.  ลิงได้ขึ้นหลังช้างดุด้วยสำคัญว่า  ช้างนี้ก็คือ

ช้างนั้นนั่นแหละ.  ลำดับนั้น  ลูกช้างดุนั้น  เอางวงจับลิงนั้นไว้ด้วย

ความรวดเร็วแล้วฟาดลงที่พื้นดิน  เอาเท้าเหยียบขยี้ให้แหลกลานไป.

ประพฤติเหตุนั้นได้ปรากฏแก่หมู่ภิกษุสงฆ์.  ครั้นวันหนึ่งภิกษุทั้งหลาย

นั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า  ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย  ได้ยินว่า

ลิงโลเลขึ้นหลังช้างดุ  ด้วยสำคัญว่าเป็นช้างผู้มีศีล  เมื่อเป็นเช่นนั้น

ช้างดุเชือกนั้นก็ทำให้ลิงโลเลตัวนั้นถึงความสิ้นชีวิต.  พระศาสดา

เสด็จมาแล้วตรัสถามว่า  ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้  พวกเธอนั่งประชุมกัน

ด้วยเรื่องอะไร  เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบว่า  ด้วยเรื่อง

ชื่อนี้พระเจ้าข้า  จึงตรัสว่า  ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่บัดนี้เท่านั้นที่ลิงโลเล

ตัวนั้นเป็นผู้มีปกติเป็นอย่างนั้น  ตั้งแต่โบราณกาลมาแล้วก็มีปกติ

เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน  แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก  ดังต่อ

ไปนี้  :-

       ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพรหมทัต  ครองราชสมบัติในกรุง

พาราณสี  พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดกระบืออยู่ในหิมวันตประเทศ

พอเจริญวัยก็สมบูรณ์ด้วยกำลังแรง  มีร่างกายใหญ่  ท่องเที่ยวไปตาม

เชิงเขา  เงื้อมเขา  ซอกเขาและป่าทึบ  เห็นโคนไม้อันผาสุกสำราญ

แห่งหนึ่ง  เที่ยวหากินอิ่มแล้ว  ในตอนกลางวันได้มายืนพักอยู่ที่

โคนไม้นั้น.  ครั้งนั้นมีลิงโลนตัวหนึ่งลงจากต้นไม้  แล้วขึ้นบนหลัง

ของกระบือนั้น  ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด  จับเขาทั้งสองโหนจับหาง

แกว่งไปแกว่งมาเล่น.  พระโพธิสัตว์มิได้ใส่ใจอนาจารนั้น  ของลิงโลน

ตัวนั้น  เพราะประกอบด้วยขันติ  เมตตาและความเอ็นดู.  ลิงกระทำ

อย่างนั้นนั่นแลบ่อยๆ.  ครั้นวันหนึ่ง  เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้นั้น

ยืนอยู่ที่ลำต้นของต้นไม้นั้น  กล่าวกะกระบือโพธิสัตว์นั้นว่า  ดูก่อน

พระยากระบือ  เพราะเหตุไร  ท่านจึงอดกลั้นการดูหมิ่นของลิงชั่ว

ตัวนี้  ท่านจงเกียดกันมันเสีย  เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้นจึงได้กล่าว

  คาถาแรกว่า  :-

              ท่านอาศัยเหตุอะไรจึงอดกลั้นทุกข์นี้

       ต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก  มักประทุษร้ายมิตร

       ประหนึ่งเจ้าของผู้ให้ความใคร่ทั้งปวง.  ท่าน

       จงขวิดมันด้วยเขา  จงเหยียบเสียด้วยเท้า

       ถ้าไม่ห้ามปรามมันเสีย  สัตว์ทั้งหลายที่โง่

       เขลาก็จะเบียดเบียนร่ำไป.

       บรรดาบทเหล่านั้น  บทว่า  กิมตฺถมภิสนฺธาย  ได้แก่  อาศัย

เหตุอะไรหนอ  คือเห็นอะไรอยู่.  บทว่า  ทุพฺภิโน  แปลว่า  ผู้มัก

ประทุษร้ายมิตร.  บทว่า  สพฺพกามทุหสฺเสว  ได้แก่  ดุจเป็นเจ้าของ

ผู้ให้สิ่งที่น่าใคร่ทั้งปวง.  บทว่า  ติติกฺขสิ  แปลว่า  อดกลั้น.  บทว่า

ปทสาว  อธิฏฺ€  ความว่า  ท่านจงเหยียบมันด้วยเท้า  และขวิด

มันด้วยปลายเขาอันคมกริบ  โดยประการที่มันจะตายอยู่ในที่นี้ทีเดียว

ด้วยบทว่า  ภิยฺโย  พาลา  นี้  ท่านแสดงว่า  ก็ถ้าท่านจะไม่ห้าม

ปรามมัน  สัตว์ที่โง่เขลา  คือสัตว์ที่ไม่รู้จะพึงข่มขี่  ย่ำยี  เบียดเบียน

บ่อยๆ.

       พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า  ท่านรุกขเทวดา  ถ้าเรา

เป็นผู้ยิ่งกว่าลิงตัวนี้  โดยชาติ  โคตร  และวัสสายุกาลเป็นต้น  จักไม่

อดกลั้นโทษของลิงตัวนี้ไซร้  มโนรถความปรารถนาของเรา  จักถึง

ความสำเร็จได้อย่างไร  ก็ลิงตัวนี้เมื่อสำคัญแม้ผู้อื่นว่าเหมือนดังเรา

จักกระทำอนาจารอย่างนี้  แต่นั้น  มันจักกระทำอย่างนี้แก่กระบือ

ดุร้ายเหล่าใด  กระบือดุร้ายเหล่านั้นแหละจักฆ่ามันเสีย  การที่กระบือ

ตัวอื่นฆ่าลิงตัวนี้นั้น  เราก็จักพ้นจากทุกข์และปาณาติบาต  แล้ว

จึงกล่าวคาถาที่    ว่า  :-

              เมื่อลิงตัวนี้สำคัญกระบือตัวอื่นเป็นดุจ

       ข้าพเจ้าจักกระทำอนาจารอย่างนี้แก่กระบือ

       ตัวอื่น  กระบือเหล่านั้นจักฆ่ามันเสียในที่นั้น

       อันนั้นความหลุดพ้นจักมีแก่ข้าพเจ้า.

       ก็ต่อเมื่อล่วงไป  ๒-๓  วัน  พระโพธิสัตว์ได้ไปอยู่ในที่อื่น.

กระบือดุตัวหนึ่งได้มายืนอยู่ที่โคนไม้ต้นนั้น.  ลิงชั่วจึงขึ้นหลังกระบือดุ

ตัวนั้นด้วยสำคัญว่า  กระบือตัวนี้  ก็คือกระบือตัวนั้นแหละ  แล้ว

กระทำอนาจารอย่างนั้นนั่นแหละ.  ลำดับนั้น  กระบือดุตัวนั้นสลัด

ลิงนั้นให้ตกลงบนพื้นดิน  เอาเขาขวิดที่หัวใจเอาเท้าทั้ง    เหยียบ

ให้ละเอียดเป็นจุรณวิจุรณ.

       พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ทรงประกาศ

สัจจะทั้งหลายแล้วทรงประชุมชาดกว่า  กระบือดุร้ายในครั้งนั้น  ได้

เป็นช้างดุร้ายตัวนี้ในบัดนี้  ลิงชั่วช้าในครั้งนั้น  ได้เป็นลิงตัวนี้

ในบัดนี้  ส่วนพระยากระบือในครั้งนั้นคือเราตถาคต  ฉะนี้แล.

                           จบ  อรรถกถามหิสชาดกที่