เทวทัต,ผู้มาสว่างแต่ไปมืด(มิจฉาทิฏฐิ)

       พระเทวทัต  เกิดในตระกูลศากยะ  เป็นราชบุตรของ

พระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นพระเชษฐาของพระนางพิมพาผู้เป็น

พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า) และเป็นพระมารดา

ของพระราหุลเถระ ก็ความย่อในเรื่องพระเทวทัตนี้  ดังต่อไปนี้ :-

       เมื่อพระศาสดา  ทรงอาศัยนิคมชื่ออนุปิยะแห่งมัลลากษัตริย์

ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันนั่นแล,  ในวันรับพระลักษณ์แห่ง

พระตถาคตนั่นเทียว  ตระกูลพระญาติแปดหมื่นมอบพระโอรส

แปดหมื่นให้  ด้วยคำว่า  “ สิทธัตถกุมาร  จงเป็นพระราชาก็ตาม

เป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม,  จักมีกษัติรย์เป็นบริวารเที่ยวไป, ”  เมื่อ

พระโอรสเหล่านั้นผนวชแล้วโดยมาก,  เหล่าพระญาติเห็นศากยะ

  พระองค์นี้  คือ  ภัททิยราชา  อนุรุทธะ  อานันทะ  ภคุ  กิมพิละ

และเทวทัต  ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า 

      “  พวกเรายังให้ลูก ๆ ของตนบวชได้,  ศากยะทั้ง    นี้ 

ชะรอยจงไม่ใช่พระญาติกระมัง ? เพราะฉะนั้น  จึงมิได้ทรงผนวช.”

      ครั้งนั้น  เจ้ามหานามศากยะ  เข้าไปหาเจ้าอนุรุทธะ  ตรัสว่า 

      “ พ่อผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี,  น้องจักบวช 

หรือว่า  พี่จักบวช. ”

      ก็เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น  เป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล  มีโภคะสมบูรณ์ 

แม้คำว่า “ ไม่มี ”  พระองค์ก็ไม่เคยทรงสดับ. 

      จริงอยู่  วันหนึ่งเมื่อกษัตริย์    พระองค์นั้น  ทรงเล่นกีฬา

ลูกขลุบอยู่,  เจ้าอนุรุทธะทรงปราชัยด้วยขนมแล้ว  ส่ง( คน ) 

ไปเพื่อต้องการขนม.  คราวนั้น พระมารดาของท่านทรงจัดขนม

ส่งไป.  กษัตริย์ทั้งหกเสวยแล้วทรงเล่นกันอีก.  เจ้าอนุรุทธะนั้นแล 

เป็นฝ่ายแพ้ร่ำไป.  ส่วนพระมารดา  เมื่อพระองค์ส่งคนไป ๆ  ก็

ส่งขนมไปถึง  ๓ ครั้ง  ในวาระที่    ส่งไปว่า  “ ขนมไม่มี. ” 

พระกุมารทรงสำคัญว่า 

      “ ขนมแม้นี้  จักเป็นขนมประหลาดชนิดหนึ่ง ” 

      เพราะไม่เคยทรงได้ยินคำว่า  “ ไม่มี ”

      จึงส่งคนไปว่า  “ จงนำขนมไม่มีนั่นแลมาเถอะ. ”

      ฝ่ายพระมารดาของท่าน  เมื่อเขาทูลว่า 

      “ ข้าแต่พระเจ้าแม่  ได้ยินว่า  พระองค์จงประทานขนมไม่มี, ” 

      จึงทรงพระดำริว่า  “ ลูกของเราไม่เคยได้ยินบทว่า  ‘ ไม่มี, ’

      แต่เราจักให้รู้ความนั่นด้วยอุบายนี้ ”  จึงทรงปิดถาดทองคำ

เปล่าด้วยถาดทองคำอื่นแล้วส่งไป.

      เหล่าเทวดาที่รักษาพระนครคิดว่า 

      “ เจ้าอนุรุทธศากยะได้ถวายภัตอันเป็นส่วนตัวแด่พระปัจเจก

พุทธเจ้านามว่าอุปริฏฐะ  ในคราวที่ตนเป็นนายอันนภาระ ทรงทำ

ความปรารถนาไว้ว่า  ‘ ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้สดับคำว่า ‘ ไม่มี 

อย่ารู้สถานที่เกิดแห่งโภชนะ, ’  ถ้าว่าเจ้าอนุรุทธะนี้  จักทรงเห็น

ถาดเปล่าไซร้,  พวกเราก็จักไม่ได้เข้าไปสู่เทวสมาคม,  ทั้งศีรษะ

ของพวกเราก็จะพึงแตก    เสี่ยง. ” 

      ทีนั้น  จึงได้ทำถาดนั้นให้เต็มด้วยขนมทิพย์  เมื่อถาดนั้นพอ

เขาวางลงที่สนามเล่นขลุบแล้วเปิดขึ้น,  กลิ่นขนมก็ตั้งตลบไป

ทั่วทั้งพระนคร.  ชิ้นขนม  แต่พอกษัตริย์ทั้งหกหยิบเข้าไปใน

พระโอฐเท่านั้น  ก็แผ่ซ่านไปทั่วประสาทรับรสทั้งเจ็ดพัน.

      พระกุมารนั้นทรงพระดำริว่า 

      “ เราคงจะไม่เป็นที่รักของพระมารดา,  พระมารดาจึงไม่ทรง

ปรุงชื่อขนมไม่มีนี้ประทานเรา  ตลอดเวลาถึงเพียงนี้,  ตั้งแต่นี้ไป 

เราจักไม่กินขนมอื่น  ดังนี้แล้ว 

      เสด็จไปสู่ตำหนัก  ทูลถามพระมารดาว่า 

      “ เจ้าแม่  หม่อมฉันเป็นที่รักของเจ้าแม่หรือไม่เป็นที่รัก ? ”

      ม.  พ่อ  พ่อย่อมเป็นที่รักยิ่งของแม่  เสมือนนัยน์ตาของคนมี

ตาข้างเดียว  และเหมือนดวงใจ  ( ของแม่ )  ฉะนั้น.

      อ.  เมื่อเช่นนั้น  เหตุไร  เจ้าแม่จึงไม่ทรงปรุงขนมไม่มี  ประทาน

แก่หม่อมฉันตลอดเวลาถึงเพียงนี้เล่า  เจ้าแม่.

      พระนางรับสั่งถามมหาดเล็กคนสนิทว่า  “ ขนมอะไร ๆ  มีอยู่ใน

ถาดหรือ  พ่อ. ”  เขาทูลว่า “ ข้าแต่พระแม่เจ้า  ถาดเต็มเปี่ยมด้วยขนม,

ชื่อว่าขนมเห็นปานนี้  กระหม่อมฉันก็ยังไม่เคยเห็นแล้ว.  ” 

      พระนางทรงพระดำริว่า 

      “ บุตรของเราจักเป็นผู้มีบุญ  มีอภินิหารได้ทำไว้แล้ว, 

      เทวดาพระดำริว่า 

      “  บุตรของเราจักเป็นผู้มีบุญ  มีอภินิหารได้ทำไว้แล้ว,  เทวดา

ทั้งหลายจักใส่ขนมให้เต็มถาดส่งไปแล้ว.  

      ลำดับนั้นพระโอรสจึงทูลพระมารดาว่า 

      “  เจ้าแม่  ตั้งแต่นี้ไป  หม่อมฉันจักไม่เสวยขนมอื่น,  ขอเจ้าแม่

พึงปรุงแต่งขนมไม่มีอย่างเดียว. ”  ตั้งแต่นั้นมา  แม้พระนาง  เมื่อ

พระกุมารนั้นทูลว่า  “  หม่อมฉันต้องการเสวยขนม  ”  ก็ทรง

ครอบถาดเปล่านั่นแลด้วยถาดอื่น  ส่งไปประทานพระกุมารนั้น.

      เทวดาทั้งหลายส่งขนมทิพย์ถวายพระกุมารนั้นตลอดเวลา

ที่ท่านเป็นฆราวาส (ประทับอยู่ในท่ามกลางเรือน)

                  เจ้าทั้งสองสนทนากันถึงเรื่องบวชและการงาน

      พระกุมารนั้นเมื่อไม่ทรงทราบแม้คำมีประมาณเท่านี้  จักทรง

ทราบถึงการบวชได้อย่างไร ?  เพราะฉะนั้น  พวกกุมารจึงทูลถาม

พระภาดาว่า  การบวชนี้เป็นอย่างไร ? ”  เมื่อเจ้ามหานามตรัสว่า 

“ ผู้บวช  ต้องโกนผมและหนวด  ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ  ต้องนอน

บนเครื่องลาดด้วยไม้  หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย  เที่ยวบิณฑบาต

อยู่,  นี้ชื่อว่าการบวช.”   จึงทูลว่า

      “ เจ้าพี่  หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ, หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้.”

      เจ้ามหานามตรัสว่า  “ พ่อ  ถ้าอย่างนั้น  พ่อจงเรียนการงานอยู่เป็น

ฆราวาสเถิด,  ก็ในเราทั้งสองจะไม่บวชเลยสักคนไม่ควร. ”

      ขณะนั้น  อนุรุทธกุมารทูลถามเจ้าพี่ว่า  “ ชื่อว่าการงานนี้

อย่างไร ? ”  กุลบุตรผู้ไม่รู้แม้สถานที่เกิดแห่งภัต  จักรู้จักการงานได้

อย่างไร ?

      เจ้าศากยะทั้ง    สนทนากันถึงที่เกิดแห่งภัต

      ก็วันหนึ่ง  การสนทนาเกิดขึ้นแก่กษัตริย์    องค์ว่า 

      “ ชื่อว่าภัตเกิดขึ้นที่ไหน ? ”  กิมพิลกุมาร  รับสั่งว่า 

      “ เกิดขึ้นในฉาง. ” 

      ครั้งนั้น  ภัททิยกุมาร  ตรัสค้านกิมพิลกุมานนั้นว่า 

      “ ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งภัต, ชื่อว่าภัต ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว.” 

      อนุรุทธะตรัสแย้งว่า

      “ ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ,  ธรรมดาภัต  ย่อมเกิดขึ้น

ในถาดทองคำประมาณศอกกำ. ”

      ได้ยินว่า  บรรดากษัตริย์    องค์นั้น  วันหนึ่ง  กิมพิลกุมาร 

ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง  ก็เข้าพระทัยว่า 

      “  ข้าวเปลือกเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในฉางนั่นเอง.  ”

      ฝ่ายพระภัททิยกุมาร  วันหนึ่ง  ทรงเห็นเขาคดภัตออกจาก

หม้อข้าวก็เข้าพระทัยว่า  “ ภัตเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง. ”

      ส่วนอนุรุทธกุมาร  ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว  คนหุงข้าว

หรือคนคดข้าว,  ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้  เฉพาะ

พระพักตร์เท่านั้น.  ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า 

      “ ภัตเกิดในถาด  ในเวลาที่ต้องการบริโภค. ”

      กษัตริย์ทั้ง    พระองค์นั้น  ย่อมไม่ทรงทราบแม้ที่เกิดแห่งภัต 

ด้วยประการอย่างนี้.  เพราะฉะนั้น  อนุรุทธกุมารนี้จึงทูลถามว่า

      “  ขึ้นชื่อว่าการงานนี้เป็นอย่างไร ?  ครั้นได้ทรงฟังกิจการ

ที่ฆราวาสจะพึงทำประจำปีมีอาทิว่า  “  เบื้องต้นต้องให้ไถนา, ”

จึงตรัสว่า  “ เมื่อไร  ที่สุดแห่งการงานทั้งหลายจักปรากฏ,  เมื่อไร

หม่อมฉันจึงจักมีความขวนขวายน้อย  ใช้สอยโภคะได้เล่า  ” 

      เมื่อเจ้ามหานามตรัสบอกความไม่มีที่สุดแห่งการงาน

ทั้งหลายแล้ว  ทูลว่า  “  ถ้าอย่างนั้นขอเจ้าพี่นั้นแล  ทรงครอง

ฆราวาสเถิด  หม่อมฉันหาต้องการด้วยฆราวาสนั้นไม่ ”  ดังนี้แล้ว

เข้าเฝ้าพระมารดา  กราบทูลว่า

      “ เจ้าแม่  ขอเจ้าแม่อนุญาตหม่อมฉันเถิด,หม่อมฉันจักบวช. ”

      เมื่อพระนางทรงห้ามถึง    ครั้ง  ตรัสว่า

      “ ถ้าพระเจ้าภัททิยะ  พระสหายของลูก  จักบวชไซร้,  ลูกจง

บวชพร้อมด้วยท้าวเธอ. ”

      จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะนั้น  ทูลว่า 

      “ สหาย  การบวชของหม่อมฉัน  เนื่องด้วยพระองค์ดังนี้

แล้วได้ยังพระภัททิยะนั้นให้ทรงยินยอมด้วยประการต่าง ๆ. 

      ในวันที่ ๗  ทรงรับปฏิญญา  เพื่อประโยชน์จะผนวชกับ

ด้วยพระองค์.

                  อุบาลีออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งหก

      แต่นั้น  กษัตริย์ทั้งหกองค์นี้  คือ ภัททิยศากยราช  อนุรุทธะ

อานนท์  ภคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  เป็น  ๗ ทั้งอุบาลีนายภูษามาลา

ทรงเสวยมหาสมบัติตลอด    วัน  ประดุจเทวดาเสวยทิพยสมบัติ, 

แล้วเสด็จออกด้วยจตุรงคินีเสนา  ประหนึ่งว่าเสด็จไปพระอุทยาน

ถึงแดนกษัตริย์พระองค์อื่นแล้ว  ทรงส่งกองทัพทั้งสิ้นให้กลับด้วย

พระราชอาชญาเสด็จย่างเข้าสู่แดนกษัตริย์พระองค์อื่น.

      ใน    คนนั้น  กษัตริย์  ๖ พระองค์ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตน ๆ

ทำเป็นห่อแล้ว  รับสั่งว่า  “ แน่ะนายอุบาลี  เชิญเธอกลับไปเถอะ,

ทรัพย์เท่านี้พอเลี้ยงชีวิตของเธอ ” ดังนี้แล้ว  ประทานแก่เขา. 

      เขากลิ้งเกลือกรำพัน  แทบพระบาทของกษัตริย์    พระองค์นั้น

เมื่อไม่อาจล่วงอาชญาของกษัตริย์เหล่านั้น จึงลุกขึ้น  ถือห่อของ

นั้นกลับไป.  ในกาลแห่งชนเหล่านั้นเกิดเป็น    พวกป่าได้เป็น

ประหนึ่งว่าถึงซึ่งการร้องไห้,  แผ่นดินได้เป็นประหนึ่งว่าถึงซึ่ง

อาการหวั่นไหว.  ฝ่ายอุบาลีภูษามาลาไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับ 

คิดอย่างนี้ว่า

      “ พวกศากยะดุร้ายนัก  จะพึงฆ่าเราเสียด้วยเข้าพระทัยว่า 

      ‘ พระกุมารทั้งหลายถูกเจ้าคนนี้ปลงพระชนม์เสียแล้ว ดังนี้ก็ได้, 

ก็ธรรมดาว่าศากยกุมารเหล่านี้ทรงสละสมบัติเห็นปานนี้  ทิ้งอาภรณ์

อันหาค่ามิได้เหล่านี้เสียดังก้อนเขฬะแล้ว  จักผนวช,  ก็จะป่วย

กล่าวไปไยถึงเราเล่า ? ” 

      ครั้นคิด  ( ดังนี้ )  แล้ว  จึงแก่ห่อของออก  เอาอาภรณ์เหล่านั้น

แขวนไว้บนต้นไม้แล้ว  กล่าวว่า

      “ ผู้มีความต้องการทั้งหลายจงถือเอาเถิด ”  ดังนี้แล้ว  ไปสู่

สำนักของศากยกุมารเหล่านั้น  อันศากยกุมารเหล่านั้นตรัสถามว่า  

      “ เพราะเหตุอะไร ?  เธอจึงกลับมา ”  ก็กราบทูลความนั้นแล้ว.

                  ศากยะทั้งหกบรรพชาแล้วบรรลุคุณพิเศษ

      ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น  ทรงพาเขาไปสู่สำนักพระศาสดา

ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว  กราบทุลว่า 

      “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลาย  ชื่อว่าเป็นพวก

ศากยะ  มีความถือตัวประจำ ( สันดาน ),  ผู้นี้เป็นคนบำเรอของ

พวกข้าพระองค์ ตลอดราตรีนาน,  ขอพระองค์โปรดให้ผู้นี้บวชก่อน,

ข้าพระองค์ทั้งหลาย  จักทำสามีจิกรรมมีการอภิวาทเป็นต้นแก่เขา, 

ความถือตัวของข้าพระองค์  จักสร่างสิ้นไปด้วยอาการอย่างนี้, ” 

ดังนี้แล้ว  ให้อุบาลีนั้นบวชก่อน,  ภายหลังตัวจึงได้ทรงผนวช. 

      บรรดาศากยภิกษุ ๖ รูปนั้นท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหันต์

เตวิชโช(วิชชา ๓ คือ บุปเพนิวาสนานุสสติญาณ    จุตูปปาตญาณ 

อาสวักขยญาณ ๑)  โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง  ท่านพระอนุรุทธะ

เป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์  ภายหลังทรงสดับมหาปุริสวิตักกสูตรได้บรลุ

พระอรหัตแล้ว.  ท่านพระอานนท์  ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. 

พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ  ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุ

พระอรหัต. พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน(โลกียฌาน).

                  พระเทวทัตแสดงฤทธิ์แก่อชาตสัตรูราชกุมาร

      ในกาลต่อมา  เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี,  ลาภและ

สักการะเป็นอันมาก  เกิดขึ้นแด่พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก.

มนุษย์ทั้งหลายในกรุงโกสัมพีนั้น  มีมือถือผ้าและเภสัชเป็นต้น 

เข้าไปสู่วิหารแล้ว  ถามกันว่า “ พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน ? 

พระสารีบุตรเถระอยู่ที่ไหน ?  พระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ที่ไหน ? 

พระอนุรุทธเถระอยู่ที่ไหน ?  พระอานนทเถระอยู่ที่ไหน ? 

พระภคุเถระอยู่ที่ไหน ?  พระกิมพิลเถระอยู่ที่ไหน ? ”  ดังนี้แล้ว 

เที่ยวตรวจดูที่นั่งแห่งอสีติมหาสาวก.   ชื่อว่าผู้ถามว่า 

      “ พระเทวทัตเถระนั่งหรือยืนที่ไหน ? ”  ดังนี้  ย่อมไม่มี.

      พระเทวะทัตนั้นจึงคิดว่า  “ เราบวชพร้อมกับด้วยศากยะเหล่านี้

เหมือนกัน.   แม้ศากยะเหล่านี้  เป็นขัตติยบรรพชิต,  แม้เราก็เป็น

ขัตติยบรรพชิต.   พวกมนุษย์มีมือถือลาภและสักการะแสวงหา

ท่านเหล่านี้อยู่,  ผู้เอ่ยถึงชื่อของเราบ้างมิได้มี,  เราจะสมคบกับ

ใครหนอแล  พึงยังใครให้เลื่อมใสแล้ว  ยังลาภและสักการะ

ให้เกิดแก่เราได้.  ”  ทีนั้น  ความตกลงใจนี้มีแก่เธอว่า

      “ พระเจ้าพิมพิสารนี้  พร้อมกับบริวาร  ๑๑  นหุต  ทรงดำรง

อยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว  ด้วยการเห็นครั้งแรกนั่นแล,  เราไม่อาจ

จะสมคบกับพระราชานั้นได้. 

      แม้กับพระเจ้าโกศล  เราก็ไม่สามารถจะสมคบได้,  ส่วน

พระอชาตสัตรูกุมาร  พระโอรสของพระพระเจ้าพิมพิสารผู้ครอง

มคธรัฐ  นี้แล  ยังไม่รู้คุณและโทษของใคร ๆ  เราจักสมคบกับ

กุมารนั่น. ”  พระเทวทัตนั้นออกจากกรุงโกสัมพีไปสู่กรุงราชคฤห์ 

นฤมิตเพศเป็นกุมานน้อย  พันอสรพิษ    ตัวที่มือและเท้าทั้งสี่, 

ตัวหนึ่งที่คอ,  ตัวหนึ่งทำเป็นเทริดบนศีรษะ,  ตัวหนึ่งทำเฉวียงบ่า,

ลงจากอากาศด้วยสังวาลงูนี้  นั่งบนพระเพลาของอชาตสัตรูกุมาร,

      เมื่อพระกุมารนั้นทรงกลัวแล้ว  ตรัสว่า  “ ท่านเป็นใคร ? ”

      จึงถวายพระพรว่า  “ อาตะ  คือเทวทัต, ”  เพื่อจะบรรเทาความ

กลัวของพระกุมาร  จึงกลับอัตภาพนั้น  เป็นภิกษุทรงสังฆาฏิ  บาตร

และจีวรยืนอยู่เบื้องหน้า  ยังพระกุมารนั้นให้ทรงเลื่อมใส  ยังลาภ

และสักการะให้เกิดแล้ว.

      ครั้งนั้น อชาตสัตตุกุมารเลื่อมใสยิ่งนัก ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

นี้ของพระเทวทัต ได้ไปสู่ที่บำรุงทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้า ด้วยรถ

๕๐๐ คัน และนำภัตตาหาร ๕๐๐ สำรับไปด้วย

         ครั้งนั้น พระเทวทัต อันลาภสักการะและความสรรเสริญ

ครอบงำ รึงรัดจิต และเกิดความปราถนาเห็นปานนี้ว่า

      เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ พระเทวทัต ได้เสื่อมจากฤทธิ์นั้น

พร้อมกับจิตตุปบาททีเดียว ฯ

      ครั้งนั้น กักกุธะเทพบุตร (เป็นอุปัฏฐากของพระโมคคัลลานะ

ซึ่งตายจากโลกไม่นาน อุบัติเป็นเทพ) ได้เข้าไปหาท่าน

พระมหาโมคคัลลานะ อภิวาทแล้วยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

      ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า

      ท่านเจ้าข้า พระเทวทัตอันลาภสักการะและความสรรเสริญ

ครอบงำ รึงรัดจิต แล้วได้เกิดความปราถนาเห็นปานนี้ว่า

      เราจักปกครองภิกษุสงฆ์ ท่านเจ้าข้า พระเทวทัตได้เสื่อม

จากฤทธิ์นั้นแล้ว พร้อมกับจิตตุปบาททีเดียว กักกุธะเทพบุตร

ได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงอภิวาทท่านพระมหาโมคคัลลานะ

กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ

      พระโมคคัลลานะได้นำความไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า

      พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

      ดูกรโมคคัลลานะ ก็กักกุธะเทพบุตรอันเธอกำหนดรู้ซึ่ง

จิตด้วยจิต  แล้วหรือว่า กักกุธะเทพบุตรกล่าวคำอย่างหนึ่งอย่างใด

คำนั้นทั้งหมดย่อมเป็น อย่างนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น.

      และได้ตรัสโปรดพระโมคคัลลานะ  เรื่องศาสดา ๕ จำพวก

                        พระเทวทัตได้ลาภสักการะ

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เมืองโกสัมพี ตาม

พุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไป

โดยลำดับถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ที่

เวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขต

กรุงราชคฤห์นั้น ฯ   

      ครั้งนั้น ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวาย

บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

      พระพุทธเจ้าข้า อชาตสัตตุกุมารได้ไปสู่ที่บำรุงของพระเทวทัต

ทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้าด้วยรถ ๕๐๐ คัน แลนำภัตตาหาร ๕๐๐ สำรับ

ไปด้วย    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าพอใจลาภสักการะ และความ

สรรเสริญของเทวทัตเลย อชาตสัตตุกุมาร  จักไปสู่ที่บำรุงของ

เทวทัต ทั้งเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้าด้วยรถ ๕๐๐ คัน แลจักนำภัตตาหาร

๕๐๐ สำรับไปด้วย  สักกี่วัน

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตพึงหวังความเสื่อมในกุศลธรรม

ทั้งหลายถ่ายเดียว  หวังความเจริญไม่ได้

      เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย  พึงทาน้ำดีหมีที่จมูกลูกสุนัขที่ดุร้าย

ลูกสุนัขนั้นจะเป็นสัตว์ดุร้ายขึ้นยิ่งกว่าประมาณ ด้วยอาการอย่างนี้แล

      แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย อชาตสัตตุกุมาร จักไปสู่ที่บำรุง

ของเทวทัต  ทั้งเวลาเย็นทั้งเวลาเช้า ด้วยรถ ๕๐๐ คัน แลจักนำ

ภัตตาหาร ๕๐๐ สำรับไปด้วย สักกี่วัน

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้น

แก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน  ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้น

แก่เทวทัตเพื่อความวอดวาย

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ต้นกล้วยย่อมเผล็ดผลเพื่อฆ่าตน ย่อม

เผล็ดผลเพื่อความวอดวาย ฉันใด ลาภสักการะและความสรรเสริญ

ก็เกิดขึ้นแก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิด

ขึ้นแก่เทวทัตเพื่อความวอดวาย ฉันนั้นเหมือนกันแล

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้ไผ่ย่อมตกขุยเพื่อฆ่าตน ไม้อ้อย่อมตกขุย

เพื่อฆ่าตนย่อมตกขุยเพื่อความวอดวาย แม้ฉันใด

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้น

แก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน  ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้น

แก่เทวทัตเพื่อความวอดวาย  ฉันนั้นเหมือนกันแล

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่ม้าอัสดรย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน ย่อม

ตั้งครรภ์เพื่อความวอดวาย แม้ฉันใด

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้น

แก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้น

แก่เทวทัต เพื่อความวอดวาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ  

      พระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์บาลีนี้แล้ว จึงตรัสคาถา

ประพันธ์ ดังต่อไปนี้:

         ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ 

         ขุยอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ สักการะย่อมฆ่าคนชั่ว   

         เหมือนม้าอัสดรซึ่งเกิดในครรภ์ ย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดร

         ฉะนั้น ฯ

                  พระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์

      พระเทวทัตนั้น  ได้เข้าไปถวายบังคมพระศาสดาซึ่งกำลัง

ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทพร้อมด้วยพระราชา  ในพระเวฬุวันวิหาร

ลุกจากอาสนะแล้วประคองอัญชลี  กราบทูลว่า 

      “พระเจ้าข้า  เวลานี้มีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชราแก่เฒ่าแล้ว, 

ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ขวนขวายน้อยประกอบเนืองๆ 

ซึ่งธรรมเครื่องอยู่สบายในทิฏฐธรรมเถิด, หม่อมฉันจักบริหาร

ภิกษุสงฆ์  ขอพระองค์มอบภิกษุสงฆ์ประทานแก่หม่อมฉันเถิด” 

      แม้ครั้งที่สอง...     แม้ครั้งที่สาม...

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

      ดูกรเทวทัต แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบ

ภิกษุสงฆ์ให้ ไฉนจะพึงมอบให้เธอผู้  เช่นทรากศพ  ผู้บริโภค

ปัจจัย เช่นก้อนเขฬะเล่า.  

      ทีนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงรุกรานเรา

กลางบริษัทพร้อมด้วยพระราชา ด้วยวาทะว่าบริโภคปัจจัย

ดุจก้อนเขฬะ ทรงยกย่องแต่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

ดังนี้ จึงโกรธ น้อยใจ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ

แล้วกลับไป

      นี่แหละ พระเทวทัตได้ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาค

เป็นครั้งแรก ฯ

      ครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  รับสั่งให้ทำปกาสนียกรรม

กรรมอันสงฆ์ควรประกาศ.  ในกรุงราชคฤห์แก่พระเทวทัตแล้ว. 

      ประชาชนในกรุงราชคฤห์นั้นพวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส

ไร้ปัญญา  ต่างกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร

เหล่านี้ เป็นคนริษยา ย่อม  เกียดกันลาภสักการะของพระเทวทัต.

      ส่วนประชาชนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต

มีปัญญาดี กล่าวอย่างนี้ว่า เรื่องนี้คงจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะ

พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประกาศ  พระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ ฯ

                  พระเทวทัตหาพวกทำลายพระศาสดา

      พระเทวทัตคิดว่า  “เดี๋ยวนี้เราถูกพระสมณโคดมกำจัดเสียแล้ว, 

บัดนี้เราจักทำพินาศแก่สมณโคดมนั้น”  ดังนี้แล้วจึงไป

เฝ้าเจ้าอชาตสัตรูกุมาร  ทูลว่า

      “พระกุมาร  เมื่อก่อนแลมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืน,  บัดนี้

มนุษย์ทั้งหลายอายุน้อย,  ก็ข้อที่พระองค์พึงทิวงคตเสียตั้งแต่

ยังเป็นพระกุมารนั่นเป็นฐานะมีอยู่แล,  พระกุมาร  ถ้ากระนั้น

พระองค์จงสำเร็จโทษพระบิดา  เป็นพระราชาเถิด,  อาตมะ

สำเร็จโทษพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักเป็นพระพุทธเจ้า 

      กาลต่อมา พระเจ้าพิมพิสารทราบว่า พระอชาตสัตรูจะปลง

พระชนม์  จึงได้มอบราชสมบัติให้พระอชาตสัตรู 

               พระเทวทัตส่งคนไปปลงพระชนม์พระศาสดา

      ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาอชาตสัตตุกุมาร แล้วถวาย

พระพรว่า ขอมหาบพิตรจงรับสั่งใช้  ราชบุรุษผู้จักปลงพระชนม์

พระสมณโคดม

      ลำดับนั้น อชาตสัตตุกุมาร รับสั่งใช้คนทั้งหลายว่า

      พนาย พระผู้เป็นเจ้าเทวทัตสั่งอย่างใด ท่านทั้งหลายจงทำ

อย่างนั้น   ลำดับนั้น พระเทวทัตจึงสั่งราชบุรุษคนหนึ่งว่า

      เจ้าจงไป พระสมณโคดมประทับอยู่ในโอกาสโน้น จง  

ปลงพระชนม์พระองค์แล้วจงมาทางนี้ ดังนี้ ซุ่มราชบุรุษไว้ ๒ คน

ริมทางนั้นด้วยสั่งว่า

      ราชบุรุษใดมาทางนี้ลำพังผู้เดียว เจ้าทั้งสองจงฆ่าราชบุรุษ

นั้นแล้วมาทางนี้   ได้ซุ่มบุรุษไว้ ๔ คนริมทางนั้นด้วยสั่งว่า

      ราชบุรุษเหล่าใดมาทางนี้ ๒ คน เจ้าทั้ง ๔ คน จงฆ่าราชบุรุษ

๒ คนนั้น แล้วมาทางนี้ ได้ซุ่มบุรุษไว้ ๘ คนริมทางนั้นด้วยสั่งว่า

ราชบุรุษเหล่าใดมาทางนี้ ๔ คน เจ้าทั้ง ๘ คน จงฆ่าราชบุรุษ ๔ คน 

นั้นแล้วมาทางนี้ ได้ซุ่มราชบุรุษไว้ ๑๖ คนริมทางนั้น ด้วยสั่งว่า

ราชบุรุษเหล่าใดมาทางนี้ ๘ คน เจ้าทั้ง ๑๖ คน จงฆ่าราชบุรุษ

๘ คนนั้นแล้วมา ฯ

                  ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้บุรุษนั้นกลับใจ

      ครั้งนั้น บุรุษคนเดียวนั้นถือดาบและโล่ห์ผูกสอดแล่งธนู

แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กลัว หวั่นหวาด สะทกสะท้าน

มีกายแข็ง ได้ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคๆ ได้ทอด

พระเนตรเห็นบุรุษนั้น ผู้กลัว หวั่นหวาด สะทกสะท้าน มีกายแข็ง

ยืนอยู่ ครั้นแล้วได้ตรัสกะบุรุษนั้นว่า

      มาเถิด เจ้า อย่ากลัวเลย จึงบุรุษนั้นวางดาบและโล่ห์ปลด

แล่งธนูวางไว้ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  แล้วเข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาค   ซบศรีษะลงแทบพระบาทยุคลของ

พระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลว่า

      พระพุทธเจ้าข้า โทษมาถึงซึ่งข้าพระพุทธเจ้าตามความโง่

ตามความหลง ตามอกุศล เพราะข้าพระพุทธเจ้ามีจิตคิด

ประทุษร้าย มีจิตคิดจะฆ่า เข้ามาถึงที่นี้ ขอพระผู้มีพระภาค

โปรดรับโทษของข้าพระพุทธเจ้านั้น โดยความเป็นโทษ

เพื่อความสำรวมต่อไป พระพุทธเจ้าข้า 

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาเถอะเจ้า โทษมาถึงเจ้าตาม

ความโง่ ตามความหลง ตามอกุศล เพราะเจ้ามีจิตคิดประทุษร้าย

มีจิตคิดจะฆ่า เข้ามาถึงที่นี้  เมื่อใดเจ้าเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ

แล้วทำคืนตามธรรม เมื่อนั้น เรารับโทษนั้นของเจ้า เพราะผู้ใด

เห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวม

ต่อไป ข้อนั้น เป็นความเจริญในอริยวินัย

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษนั้น

คือทรงแสดงทาน ศีล สวรรค์ และอาทีนพ ความต่ำทราม ความ

เศร้าหมองของกามทั้งหลาย แล้วจึงทรงประกาศอานิสงส์ในการ

ออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า

      บุรุษนั้นมีจิตคล่อง มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตสูงขึ้น 

มีจิตผ่องใส  จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี  ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา

ได้เกิดแก่บุรุษนั้น ณ ที่นั่นนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน

ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น

      ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีธรรมอันเห็นแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว

ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัย

ได้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และ

ภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป   

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกะบุรุษนั้นว่า เจ้าอย่าไป

ทางนี้ จงไปทางนี้ แล้วทรงส่งไปทางอื่น ฯ

      ครั้งนั้น บุรุษสองคนนั้นคิดว่า ทำไมหนอ บุรุษคนเดียวนั้น 

จึงมาช้านัก แล้วเดินสวนทางไป ได้พบพระผู้มีพระภาคประทับ

นั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง  แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวาย

บังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

      พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษ ๒ คนนั้น ...

พวกเขา ... ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล

พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก

ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า ... ขอพระผู้มีพระภาค

จงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ

จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป 

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกะบุรุษทั้งสองนั้นว่า

เจ้าทั้งสองอย่าไปทางนี้ จงไปทางนี้ แล้วทรงส่งไปทางอื่น ฯ

      ครั้งนั้น บุรุษ ๔ คนนั้น ...

      ครั้งนั้น บุรุษ ๘ คนนั้น ...

      ครั้งนั้น บุรุษ ๑๖ คนนั้น คิดว่าทำไมหนอ บุรุษ ๘ คนนั้น

จึงมาช้านักแล้วเดินสวนทางไป  ได้ไปพบพระผู้มีพระภาค

ประทับนั่ง ณ ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง   จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรง

แสดงอนุปุพพิกถาแก่บุรุษ ๑๖ คนนั้น คือ ทรงแสดงทาน ศีล ...

พวกเขา... ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบ

ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์

แจ่มแจ้งนักภาษิตของพระองค์ไพเราะนักพระพุทธเจ้าข้า ...

      ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๖ คนว่า

เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

      ครั้งนั้น บุรุษคนเดียวนั้นได้เข้าไปหาพระเทวทัต แล้วได้

กล่าวว่า   ท่านเจ้าข้า  กระผมไม่สามารถจะปลงพระชนม์

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้เพราะพระองค์มีฤทธิ์มาก

มีอานุภาพมาก

      พระเทวทัตจึงกล่าวว่า อย่าเลยเจ้า อย่าปลงพระชนม์

พระสมณโคดมเลย เรานี้แหละจักปลงพระชนม์พระสมณโคดมฯ   

                        พระเทวทัตทำโลหิตุปบาท

      สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏบรรพต

      ครั้งนั้น พระเทวทัตขึ้นสู่คิชฌกูฏบรรพต  แล้วกลิ้งศิลาก้อน

ใหญ่  ด้วยหมายใจว่า จักปลงพระชนม์พระสมณโคดมด้วยศิลานี้

ยอดบรรพตทั้งสองน้อมมารับศิลานั้นไว้  สะเก็ดกระเด็นจากศิลา

นั้น  ต้องพระบาทของพระผู้มีพระภาค ทำพระโลหิตให้ห้อขึ้นแล้ว

      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแหงนขึ้นไปได้ตรัสกะ

พระเทวทัตว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอสั่งสมบาปมิใช่บุญไว้มากนัก

เพราะมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่ายังโลหิตของตถาคตให้ห้อขึ้น

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้จัดเป็นอนันตริยกรรมข้อที่ ๑ ที่เทวทัต

สั่งสมแล้ว   เพราะเธอมีจิตคิดประทุษร้าย มีจิตคิดฆ่า  ทำโลหิต

ของตถาคตให้ห้อขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้สดับข่าวว่า  พระเทวทัต

ได้ประกอบการปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค  ก็ภิกษุเหล่านั้น

จงกรมอยู่รอบ ๆ   วิหารของพระผู้มีพระภาค  ทำการสาธยายมี

เสียงสูงเสียงดัง  เพื่อรักษาคุ้มครองป้องกันพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงสาธยาย  มีเสียงเซงแซ่  แล้วรับสั่ง

กะท่านพระอานนท์ว่า

      ดูกรอานนท์ นั่นเสียงสาธยาย มีเสียงเซงแซ่ อะไรกัน

      ท่านอานนท์ทูลตอบว่า พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายได้

สดับข่าวว่า พระเทวทัตได้ประกอบการปลงพระชนม์

พระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุเหล่านั้นจงกรมอยู่รอบ   รอบวิหาร

ของพระผู้มีพระภาคทำการสาธยายมีเสียงเซงแซ่ เพื่อรักษา

คุ้มครองป้องกันพระผู้มีพระภาค เสียงนั้นนั่น เป็นเสียงสาธยาย

มีเสียงเซงแซ่พระพุทธเจ้าข้า 

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้น เธอจงเรียก

ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น  มาตามคำของเราว่า พระศาสดารับสั่งหา

ท่านทั้งหลาย

      ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว เข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อ

ภิกษุเหล่านั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความ

พยายามของผู้อื่นนั่น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพระตถาคต

ทั้งหลายย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น.

                              ปล่อยช้างนาฬาคิรี

      ในกาลต่อมา  ในกรุงราชคฤห์ มีช้างชื่อนาฬาคิรี เป็นสัตว์

ดุร้าย ฆ่ามนุษย์

      ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์แล้วไปยังโรงช้าง

ได้กล่าวกะพวกควาญช้างว่า

      พนาย เราเป็นพระราชญาติ  สามารถจะแต่งตั้งผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง

ต่ำไว้ในตำแหน่งสูงได้   สามารถจะเพิ่มได้ทั้งเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน

      พนาย ถ้ากระนั้นเวลาใดพระสมณโคดมทรงพระดำเนินมา

ตรอกนี้ เวลานั้น พวกท่านจงปล่อยช้างนาฬาคิรีเข้าไปยังตรอกนี้

ควาญช้างเหล่านั้นรับคำพระเทวทัตแล้ว

      ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้วทรง

ถือบาตร จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมกับภิกษุมากรูป

ทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น ควาญช้างเหล่านั้น  ได้แลเห็น

พระผู้มีพระภาคทรงพระดำเนินถึงตรอกนั้น จึงปล่อยช้างนาฬาคิรี

ให้ไปยังตรอกนั้น ช้างนาฬาคิรีได้แลเห็นพระผู้มีพระภาค  ทรง

พระดำเนินมาแต่ไกลเทียว แล้วได้ชูงวง หูชัน หางชี้ วิ่งรี่ไปทาง

พระผู้มีพระภาค  ภิกษุเหล่านั้นได้แลเห็นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาแต่

ไกลเทียว แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

      พระพุทธเจ้าข้า ช้างนาฬาคิรีนี้ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์

เดินเข้ามายังตรอกนี้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จกลับเถิด

ขอพระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า 

      พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวเลย

ข้อที่บุคคลจะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น

นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส    เพราะพระตถาคตทั้งหลายย่อม

ไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น  

      แม้ครั้งที่สอง ภิกษุเหล่านั้น ...

      แม้ครั้งที่สาม ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

      พระพุทธเจ้าข้า... ขอพระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า 

      พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

      มาเถิดภิกษุทั้งหลาย อย่ากลัวเลย ข้อที่บุคคล จะปลงชีวิต

ตถาคต...  ย่อมไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ฯ

      คราวนั้น คนทั้งหลาย หนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนเรือน

โล้นบ้าง บนหลังคาบ้าง บรรดาคนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา

ไม่เลื่อมใส ไร้ปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า

      ชาวเราผู้เจริญ พระมหาสมณโคดม พระรูปงาม จักถูกช้าง

เบียดเบียน 

      ส่วนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส ฉลาด มีปัญญา กล่าวอย่างนี้ว่า

ชาวเราผู้เจริญ ไม่นานเท่าไรนัก พระพุทธนาคจักทรงทำสงคราม

กับช้าง

      เมื่อช้างนั้นกำลังเดินมา,พระอานนทเถระยอมสละชีวิต

ของตนถวายพระศาสดา  ได้ยืนขวางหน้าแล้ว.

      พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงสดับกถาพรรณนาคุณของพระเถระว่า

      “ โอ  ท่านพระอานนท์มีคุณมาก;  เมื่อพระยาช้างเห็นปานนั้น

มาอยู่, ได้ยอมสละชีวิตของตนยืนขวางหน้าพระศาสดา ” 

ดังนี้แล้วตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น;  ถึงในครั้งก่อน

อานนท์นี้  ก็ย่อมสละชีวิตเพื่อประโยชน์แห่งเราแล้วเหมือนกัน” 

อันภิกษุทั้งหลายทูลอ้อนวอนแล้ว  จึงตรัสจุลหังสชาดก อรรถกถา.

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคิรี   

      ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีได้สัมผัสพระเมตตาจิตของ

พระผู้มีพระภาคแล้ว   ลดงวงลงแล้วเข้าไปทางพระผู้มีพระภาค

แล้วได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค 

      ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพอง

ช้างนาฬาคิรีพลางตรัสกะช้างนาฬาคิรี ด้วยพระคาถา ว่าดังนี้:  

      ดูกรกุญชร เจ้าอย่าเข้าไปหาพระพุทธนาค เพราะการเข้าไป

หาพระพุทธนาคด้วยวธกะจิตเป็นเหตุแห่งทุกข์  ผู้ฆ่าพระพุทธนาค  

จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าเมา และอย่าประมาท

เพราะคนเหล่านั้น เป็นผู้ประมาทแล้ว จะไปสู่สุคติไม่ได้ เจ้านี่แหละ

จักทำโดยประการที่จักไปสู่สุคติได้ ฯ   

      ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของ

พระผู้มีพระภาคแล้วพ่นลงบนกระหม่อม ย่อตัวถอยออกไป

ชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาค ไปสู่โรงช้างแล้วได้ยืนอยู่

ณ ที่ของตน.

      ก็แล ช้างนาฬาคิรีเป็นสัตว์อันพระพุทธนาคทรงทรมานแล้ว

ด้วยประการนั้น ฯ  

      สมัยนั้น คนทั้งหลายขับร้องคาถานี้ ว่าดังนี้:  

      คนพวกหนึ่งย่อมฝึกช้างและม้า ด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง

      ใช้ขอบ้าง  ใช้แส้บ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวง

      พระคุณใหญ่ทรงทรมานช้าง โดยมิต้องใช้ท่อนไม้

      มิต้องใช้ศัสตรา

      คนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

      พระเทวทัตนี้เป็นคนมีบาป ไม่มีบุญ เพราะพยายามปลง

พระชนม์พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้

ลาภสักการะของพระเทวทัตเสื่อม ส่วนลาภสักการะของ 

พระผู้มีพระภาคเจริญยิ่งขึ้น ฯ

                              เทวทัตเสื่อมลาภ

      สมัยต่อมา พระเทวทัตเสื่อมลาภสักการะแล้ว พร้อมทั้งบริษัท  

ได้เที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉัน ประชาชนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ

ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงเที่ยว

ขอในสกุลทั้งหลายมาฉันเล่า  ของที่ปรุงเสร็จแล้วใครจะไม่พอใจ

ของที่ดีใครจะไม่ชอบใจ

      ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่

ว่า ไฉนพระเทวทัตพร้อมกับบริษัท จึงเที่ยวขอในสกุลทั้งหลาย

มาฉันเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค 

      พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า เธอพร้อมกับ

บริษัท  เที่ยวขอในสกุลทั้งหลายมาฉัน จริงหรือ  

      พระเทวทัตทูลรับว่า  จริง พระพุทธเจ้าข้า

      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียน ... ครั้นแล้วทรงทำ

ธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติโภชนะ

สำหรับ    คน  ในสกุลแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์

๓ ประการ คือ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่ผาสุกของภิกษุ

ผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่ออนุเคราะห์สกุลด้วยหวังว่า ภิกษุทั้งหลาย

ที่มีความปรารถนาลามกอย่าอาศัยฝักฝ่ายทำลายสงฆ์ ๑

ในการฉันเป็นหมู่ พึงปรับอาบัติตามธรรม ฯ

                  เรื่องวัตถุ ๕ ประการ (เพื่อทำสังฆเภท)

      ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปหาพระโกกาลิกะ พระกตโมรกติสสกะ

พระขัณฑเทวีบุตร พระสมุททัตตะ แล้วได้กล่าวว่า

      มาเถิดท่านทั้งหลาย  พวกเราจักทำสังฆเภท จักรเภท แก่

พระสมณโคดม เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้แล้ว

      พระโกกาลิกะได้กล่าวว่า

      พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก   พวกเราจักทำ

สังฆเภท จักรเภท แก่พระสมณโคดมอย่างไรได้   

      พระเทวทัตกล่าวว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักเข้าไปเฝ้า

พระสมณโคดม แล้วทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า

      พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ

ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สั่งสม

การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕

ประการนี้  ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ

ความขัดเกลา  ความกำจัด  อาการที่น่าเลื่อมใส  การไม่สั่งสม

การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายข้าพระพุทธเจ้า ขอประทาน

พระวโรกาส

      ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต

รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ

      ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต

รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ

      ภิกษุทั้งหลายพึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต

รูปใดยินดีคหบดีจีวร  รูปนั้นพึงต้องโทษ

      ภิกษุทั้งหลายพึงถืออยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต

รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ

      ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ

      พระสมณโคดมจักไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้

แต่พวกเรานั้น  จักให้ประชาชนเชื่อถือวัตถุ ๕ ประการนี้

      พระโกกาลิกะกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราสามารถ

เพื่อทำสังฆเภท  จักรเภท แก่พระสมณโคดมด้วยวัตถุ ๕ ประการ

นี้แน่ เพราะมนุษย์ทั้งหลายเลื่อมใส ในความปฏิบัติเศร้าหมอง ฯ

                        ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ  

      ครั้งนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว

ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

      พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย

ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส

ความไม่สั่งสม  การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย

พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้... รูปใดยินดีคหบดีจีวร...

รูปนั้นพึงต้องโทษ

      พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุใดปรารถนา

ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน.

รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา

จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

รูปใดปรารถนา จงยินดีคหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็น

เสนาสนะ ๘ เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดย

ส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ  

      ครั้งนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต

วัตถุ ๕ ประการนี้  จึงร่าเริงดีใจพร้อมกับบริษัทลุกจากอาสนะ

ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วกลับไป ฯ 

                        โฆษณาวัตถุ ๕ ประการ

      สมัยต่อมา พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์

แล้วประกาศให้ประชาชนเข้าใจวัตถุ ๕ ประการว่า

      ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาเข้าไป เฝ้าพระสมณโคดมทูลขอ

วัตถุ ๕ ประการว่า

      พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็น

ผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า

วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ... การปรารภ

ความเพียร โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส

ภิกษุทั้งหลายพึงถืออยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่

รูปนั้นพึงต้องโทษ ... ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต

รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ วัตถุ ๕ ประการนี้

พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาต แต่พวกอาตมาสมาทานประพฤติ

ตาม  วัตถุ ๕ ประการนี้ ฯ

      บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส

ไร้ปัญญา  กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้

เป็นผู้กำจัด มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณโคดมประพฤติ

มักมาก ย่อมคิดเพื่อความมักมาก   

      ส่วนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ย่อมเพ่งโทษ

ติเตียน  โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์

เพื่อทำลายจักรเล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน

โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน

โพนทะนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์

เพื่อทำลายจักร แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  

      พระผู้มีพระภาค ... ทรงสอบถามว่า ดูกรเทวทัต ข่าวว่า

เธอพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร จริงหรือ

      พระเทวทัตทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลย เทวทัต เธออย่าชอบใจการ

ทำลายสงฆ์  เพราะการทำลายสงฆ์มีโทษหนักนัก ผู้ใดทำลาย

สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันย่อมประสพโทษตั้งกัป  ย่อมไหม้ในนรก

ตลอดกัป  ส่วนผู้ใดสมานสงฆ์ผู้แตกกันแล้วให้พร้อมเพรียงกัน

ย่อมประสพบุญอันประเสริฐ ย่อมบรรเทิงในสวรรค์ตลอดกัป

อย่าเลย  เทวทัต เธออย่าชอบใจการทำลายสงฆ์เลย เพราะการ

ทำลายสงฆ์มีโทษหนักนัก ฯ

      ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งอันตรวาสก ถือบาตร 

จีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตได้พบท่าน

พระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไปหา

ท่านพระอานนท์ แล้วได้กล่าวว่า

      ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจักทำอุโบสถ จักทำ

สังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์

      ครั้นท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว

เวลาปัจฉาภัตร กลับจากบิณฑบาตเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ถวายบังคม นั่ง ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว

จึงกราบทูลว่า

      พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเช้านี้ ข้าพระพุทธเจ้า  เข้าไปบิณฑบาต

ยังกรุงราชคฤห์  พระเทวทัตพบข้าพระพุทธเจ้ากำลังเที่ยวบิณฑบาต

ในกรุงราชคฤห์ แล้วเข้ามาหาข้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้วกล่าวว่า

      ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจักทำอุโบสถ จักทำ

สังฆกรรม แยกจากพระผู้มีพระภาค  แยกจากภิกษุสงฆ์ วันนี้

พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์  พระพุทธเจ้าข้า  

      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว

ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้น ว่าดังนี้:  

      ความดี คนดีทำง่าย ความดี คนชั่วทำยาก

      ความชั่ว  คนชั่วทำง่าย แต่อารยชน ทำความชั่วได้ยาก ฯ 

                              พระเทวทัตหาพรรคพวก

      ครั้งนั้น ถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตลุกจากอาสนะ ประกาศให้

ภิกษุทั้งหลายจับสลากว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราเข้าไปเฝ้า

พระสมณโคดมแล้ว  ทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า

      พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้

มักน้อย ... การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย วัตถุ ๕ ประการ

นี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ... การปรารภความเพียร

โดยอเนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส

ภิกษุทั้งหลายพึงถืออยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใด  อาศัยบ้านอยู่

รูปนั้นพึงต้องโทษ ... ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอด

ชีวิต รูปใดพึงฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ วัตถุ ๕ ประการ

นี้ พระสมณโคดม ไม่ทรงอนุญาต แต่พวกเรานั้นย่อมสมาทาน

ประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการนี้ วัตถุ  ๕ ประการนี้ ชอบแก่ท่าน

ผู้ใด ท่านผู้นั้นจงจับสลาก ฯ   

      ดังนี้แล้ว  พูดว่า  “ ผู้มีอายุ  คำพูดของใครจะงาม ของ

พระตถาคตหรือของข้าพระองค์ ? 

      ก็เรา สามารถปฏิบัติอย่างอุกฤกฎ์อย่างนี้ว่า

      ‘ พระเจ้าข้า  ดังข้าพระองค์ขอประทานโอกาส  ขอภิกษุทั้งหลาย

จงเป็นผู้อยู่ป่า  เที่ยวบิณฑบาต  ทรงผ้าบังสุกุล  อยู่โคนไม้  อย่าพึง

ฉันปลาและเนื้อจนตลอดชีวิต, ”  แล้วกล่าวว่า

      “ ผู้ใดใคร่จะพ้นจากทุกข์,  ผู้นั้นจงมากับเรา ”  ดังนี้แล้วหลีกไป. 

      ภิกษุบางพวกบวชใหม่  มีความรู้น้อย  ได้สดับถ้อยคำของ

พระเทวทัตนั้นแล้วชักชวนกันว่า

      “ พระเทวทัตพูดถูก  พวกเราจักเที่ยวไปกับพระเทวทัตนั้น ”

      สมัยนั้น พระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป

เป็นพระบวชใหม่  และรู้พระธรรมวินัยน้อย  พวกเธอจับสลาก

ด้วยเข้าใจว่า  นี้ธรรม  นี้วินัย  นี้สัตถุศาสน์ ดังนี้แล้ว  ได้สมคบ

กับเธอ.

      ลำดับนั้น พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ 

๕๐๐ รูป หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ ฯ

      ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาค  ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลว่า

      พระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ

๕๐๐ รูป  หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ 

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร โมคคัลลานะ พวกเธอ

จักมีความการุญในภิกษุใหม่เหล่านั้นมิใช่หรือ พวกเธอจงรีบไป

ภิกษุเหล่านั้นกำลังจะถึงความย่อยยับ  

      พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว

ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค   ทำประทักษิณแล้วเดิน

ทางไปคยาสีสะประเทศ ฯ

                        เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง

      สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยืนร้องไห้อยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

จึงพระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุนั้นว่า

      ดูกรภิกษุ เธอร้องไห้ทำไม

      ภิกษุนั้นกราบทูลว่า

      พระพุทธเจ้าข้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวก

ของพระผู้มีพระภาค ไปในสำนักพระเทวทัต คงจะชอบใจธรรม

ของพระเทวทัต

      พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ข้อที่สารีบุตรโมคคัลลานะ

จะพึงชอบใจธรรมของเทวทัต นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่เธอ

ทั้งสองไปเพื่อซ้อมความเข้าใจกะภิกษุ ฯ

                        พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ กลับ   

      สมัยนั้น พระเทวทัตอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม แล้วนั่งแสดง  

ธรรมอยู่ เธอได้เห็นพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มาแต่ไกล

จึงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เห็นไหม ธรรมเรากล่าวดีแล้ว พระสารีบุตร

โมคคัลลานะอัครสาวกของพระสมณโคดม พากันมาสู่สำนักเรา

ต้องชอบใจธรรมของเรา เมื่อพระเทวทัตกล่าวอย่างนี้แล้ว

      พระโกกาลิกะ ได้กล่าวกะพระเทวทัตว่า

      ท่านเทวทัต ท่านอย่าไว้วางใจพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

เพราะเธอทั้งสองมีความปรารถนาลามก  ลุอำนาจแก่ความปรารถนา

ลามก พระเทวทัตกล่าวว่า  อย่าเลย คุณ ท่านทั้งสองมาดี เพราะ

ชอบใจธรรมของเรา

      ลำดับนั้น ท่านพระเทวทัตนิมนต์ท่านพระสารีบุตรด้วยอาสนะ

กึ่งหนึ่งว่า  มาเถิด ท่านสารีบุตร นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้ ท่าน

พระสารีบุตรห้ามว่า  อย่าเลยท่านแล้วถืออาสนะแห่งหนึ่งนั่ง ณ

ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ถืออาสนะ

แห่งหนึ่งนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระเทวทัตแสดง

ธรรมกถาให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง

หลายราตรี แล้วเชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรว่า 

      ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถา

ของภิกษุทั้งหลายจงแจ่มแจ้งกะท่าน   เราเมื่อยหลังจักเอน

ท่านพระสารีบุตรรับคำ พระเทวทัตแล้ว

      ลำดับนั้น พระเทวทัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วจำวัตรโดย

ข้างเบื้องขวา เธอเหน็ดเหนื่อยหมดสติสัมปชัญญะ ครู่เดียวเท่านั้น

ก็หลับไป ฯ

      ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุทั้งหลาย   

ด้วยธรรมีกถาอันเป็นอนุศาสนีเจือด้วยอาเทสนาปาฏิหาริย์  ท่าน

พระมหาโมคคัลลานะ กล่าวสอน พร่ำสอน ภิกษุทั้งหลายด้วย

ธรรมีกถาอันเป็นอนุศาสนีเจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

ดวงตาเห็นธรรมที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นว่า

      สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด

มีความดับเป็นธรรมดา ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุ

ทั้งหลายมาว่า ท่านทั้งหลาย เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ผู้ใดชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ผู้นั้นจงมา 

      ครั้งนั้น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ พาภิกษุ

๕๐๐ รูปนั้นเข้า ไปทางพระเวฬุวัน   ได้พามาทางอากาศ. 

      ครั้งนั้น พระโกกาลิกะปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้นด้วยคำว่า

      ท่านเทวทัต ลุกขึ้นเถิด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ

พาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้ว มิใช่หรือว่า

      อย่าไว้วางใจพระสารีบุตรพระโมคคัลลานะ เพราะเธอ

ทั้งสองมีความปรารถนาลามก ถึงอำนาจความปรารถนาลามก.

      ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัต ในที่นั้นเอง ฯ

      ครั้งนั้น พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระสารีบุตรนั่ง

เรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

      พระพุทธเจ้าข้า  ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลาย

ผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลาย พึงอุปสมบทใหม่  

      พ. อย่าเลย สารีบุตร เธออย่าพอใจการอุปสมบทใหม่ของ

พวกภิกษุผู้ประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายเลย

      ดูกรสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พวกภิกษุผู้ประพฤติตาม

ภิกษุผู้ทำลายแสดงอาบัติถุลลัจจัย.

      ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีสระใหญ่อยู่ในราวป่า

ช้างทั้งหลายอาศัยสระนั้นอยู่    และพวกมันพากันลงสระนั้น

เอางวงถอนเง่าและรากบัวล้างให้สะอาดจนไม่มีตม  แล้วเคี้ยว

กลืนกินเง่าและรากบัวนั้น เง่าและรากบัวนั้น ย่อมบำรุงวรรณะ

และกำลังของช้างเหล่านั้น และช้างเหล่านั้นก็ไม่เข้าถึงความตาย

หรือความทุกข์ปางตาย  มีข้อนั้นเป็นเหตุ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนลูกช้างตัวเล็กๆ เอาอย่างช้างใหญ่

เหล่านั้น และพากันลงสระนั้น  เอางวงถอนเง่าและรากบัวแล้ว

ไม่ล้างให้สะอาดเคี้ยวกลืนกินทั้งที่มีตม  เง่าและรากบัวนั้น

ย่อมไม่บำรุงวรรณะและกำลังของลูกช้างเหล่านั้น  และพวก

มันย่อมเข้าถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีข้อนั้นเป็นเหตุ 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตเลียนแบบเราจักตายอย่างคน

กำพร้า อย่างนั้นเหมือนกัน ฯ  

                                    องค์แห่งทูต 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำ

หน้าที่ทูตองค์ ๘ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

      ๑.  รับฟัง

      ๒. ให้ผู้อื่นฟัง  

      ๓. กำหนด

      ๔. ทรงจำ

      ๕. เข้าใจความ

      ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ

      ๗. ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

      ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล

ควรทำหน้าที่ทูต ฯ  

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘

ควรทำหน้าที่ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ:

      ๑. สารีบุตรเป็นผู้รับฟัง

      ๒. ให้ผู้อื่นฟัง  

      ๓. กำหนด

      ๔. ทรงจำ

      ๕. เข้าใจความ

      ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ

      ๗. ฉลาดต่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

      ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล

ควรทำหน้าที่ทูต.

      พระผู้มีพระภาคตรัสประพันธคาถา ว่าดังนี้:  

      ภิกษุใด เข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบก็ไม่สะทกสะท้าน  

      ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาส์นพูดจนหมด

      ความสงสัย  และถูกถามก็ไม่โกรธ ภิกษุผู้เช่นนั้นแล

      ย่อมควรทำหน้าที่ทูต ฯ

                        พระเทวทัตจักเกิดในอบาย 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ   

ครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรกชั่วกัปช่วยเหลือไม่ได้

อสัทธรรม  ๘ ประการ เป็นไฉน คือ   

      ๑. เทวทัตมีจิตอันลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย

ตกนรก  ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ 

      ๒. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...   

      ๓. เทวทัตมีจิตอันยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...

      ๔. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...

      ๕. เทวทัตมีจิตอันสักการะครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...

      ๖. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมสักการะครอบงำ ย่ำยีแล้ว ...

      ๗. เทวทัตมีจิตอันความปรารถนาลามกครอบงำ ย่ำยีแล้ว ... 

      ๘. เทวทัตมีจิตอันความเป็นมิตรชั่วครอบงำ ย่ำยีแล้ว

จักเกิดในอบาย  ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ 

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการนี้แล

ครอบงำย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป

ช่วยเหลือไม่ได้  

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการ   

ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือ

ไม่ได้  อสัทธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน คือ:  

      ๑. ความปรารถนาลามก.

      ๒. ความมีมิตรชั่ว. 

      ๓. พอบรรลุคุณวิเศษเพียงคั่นต่ำ ก็เลิกเสีย ในระหว่าง.  

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล

ครอบงำย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป ช่วยเหลือไม่ได้ 

                        บุรพกรรมของพระเทวทัต

      พระศาสดา  ตรัสว่า  “ ภิกษุทั้งหลาย  มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น. 

แม้ครั้งก่อนเทวทัตก็เสื่อมแล้วเหมือนกัน ”  ดังนี้แล้ว 

ตรัสชาดกทั้งหลายเป็นต้นว่า อภโตภัฏฐชาดกและอื่นๆมากมาย.”

                  พระเทวทัตให้สาวกนำไปเฝ้าพระศาสดา

      ฝ่ายพระเทวทัตแล  เป็นไข้ถึง    เดือน, 

      ในกาลสุดท้าย  ใคร่จะเฝ้าพระศาสสดา  จึงบอกพวกสาวก

ของตนว่า  “  เราใคร่จะเฝ้าพระศาสดา,  ท่านทั้งหลายจงแสดง

พระศาสดานั้นแก่เราเถิด. ”  เมื่อสาวกเหล่านั้นตอบว่า 

      “ ท่านในเวลาที่ยังสามารถ  ได้ประพฤติเป็นคนมีเวรกับ

พระศาสดา,  ข้าพเจ้าทั้งหลายจักนำท่านไปในที่พระศาสดา

ประทับอยู่ไม่ได้.”  

      จึงกล่าวว่า  “ ท่านทั้งหลายอย่าให้ข้าพเจ้าฉิบหายเลย 

ข้าพเจ้าทำอาฆาตในพระศาสดา,  แต่สำหรับพระศาสดาหามี

ความอาฆาตในข้าพเจ้าแม้ประมาณเท่าปลายผมไม่, ” 

      จริงอยู่  พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงมีพระทัยสม่ำเสมอใน

บุคคลทั่วไป  คือในนายขมังธนู  ในพระเทวทัต  ในโจรองคุลิมาล 

ในช้างธนบาล  และในพระราหุล.

      เพราะฉะนั้น  พระเทวทัตจึงอ้อนวอนแล้ว ๆ  เล่า ๆ  ว่า

      “ ขอท่านทั้งหลาย  จงแสดงพระผู้มีพรภาคเจ้าแก่ข้าพเจ้า. ” 

      ทีนั้น  สาวกเหล่านั้นจึงพาพระเทวทัตนั้นออกไปด้วยเตียงน้อย 

ภิกษุทั้งหลายได้ข่าวการมาของพระเทวทัตนั้น  จึงกราบทูล

พระศาสดาว่า 

      “  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข่าวว่า  พระเทวทัตมาเพื่อประโยชน์

จะเฝ้าพระองค์. ”  พระศาสดาตรัสว่า

      “ ภิกษุทั้งหลาย  เทวทัตนั้นจักไม่ได้เห็นเราด้วยอัตภาพนั้น. ”

      นัยว่า  พวกภิกษุย่อมไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก  จำเดิมแต่กาล

ที่ขอวัตถุ    ประการ, ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมดา,  พวกภิกษุกราบทูลว่า 

      “ พระเทวทัตมาถึงที่โน้นและที่โน้นแล้ว  พระเจ้าข้า. ”

      ศ.  เทวทัตจงทำสิ่งที่ตนปรารถนาเถอะ,  ( แต่อย่างไรเสีย )

เธอก็จักไม่ได้เห็นเรา.

      ภ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระเทวทัตมาถึงที่ประมาณโยชน์หนึ่ง

แต่ที่นี้แล้ว,  ( และทูลต่อ ๆ ไปอีกว่า )  มาถึงกึ่งโยชน์แล้ว,  คาพยุต

หนึ่งแล้ว,  มาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีแล้ว  พระเจ้าข้า.

      ศ.  แม้หากเทวทัตจะเข้ามาถวายในพระเชตวัน, 

ก็จักไม่ได้เห็นเราเป็นแท้.

                        พระเทวทัตถูกธรณีสูบ

      พวกสาวกพาพระเทวทัตมา  วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณี

ใกล้พระเชตวันแล้ว  ต่างก็ลงไปเพื่อจะอาบน้ำในสระโบกขรณี.

      แม้พระเทวทัตแล  ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน

เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง.  เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียงข้อเท้า,

เพียงเข่า,  เพียงเอว,  เพียงนม,  จนถึงคอ,  ในเวลาที่กระดูกคางจดถึง

พื้นดิน  ได้กล่าวคาถานี้ว่า

            “  ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น 

      ผู้เป็นบุคคลเลิศ  เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ  เป็นสารถี

      ฝึกนรชน  มีพระจักษุรอบคอบ  มีพระลักษณะ 

      ( แต่ละอย่าง )  เกิดด้วยบุญตั้งร้อย ว่าเป็นที่พึ่ง

      ด้วยกระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ. ”

      นัยว่า  “ พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้  จึงโปรดให้พระเทวทัต

บวช.  ก็ถ้าพระเทวทัตนั้น  จักไม่ได้บวชไซร้,  เป็นคฤหัสถ์  จักได้

ทำกรรมหนัก,  จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป, 

      ก็แลครั้นบวชแล้วจักทำกรรมหนักก็จริง,  ( ถึงกระนั้น )

ก็จะสามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้ ”  เพราะฉะนั้น  พระศาสดา

จึงโปรดให้เธอบวชแล้ว.

      จริงอยู่  พระเทวทัตนั้น  จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  นามว่า

อัฏฐิสสระ  ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้.

            พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรังด้วยหลาวเหล็ก

ี้      พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้วเกิดในอเวจี.  และเธอเป็น

ผู้ไหวติงไม่ได้  ถูกไฟไหม้อยู่  เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้า

ผู้ไม่หวั่นไหว.  สรีระของเธอสูงประมาณ  ๑๐๐  โยชน์  เกิดใน

ก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ  ๓๐๐  โยชน์,  ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็ก

ในเบื้องบน  จนถึงหมวกหู,  เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไป

ข้างล่างจนถึงข้อเท้า,  หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ 

ออกจากฝาด้านหลัง  แทงกลางหลังทะลุหน้าอก  ปักฝาด้านหน้า,

อีกหลาวหนึ่งออกจากฝาด้านขวา  แทงสีข้างเบื้องขวา  ทะลุออก

สีข้างเบื้องซ้าย  ปักฝาด้านซ้าย,  อีกหลาวหนึ่ง  ออกจากแผ่นข้างบน

แทงกระหม่อมทะลุออกส่วนเบื้องต่ำ  ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก, 

พระเทวทัตนั้น  เป็นผู้ไหวติงไม่ได้อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น 

ด้วยประการอย่างนี้.

            เมื่อก่อนพระเทวทัตก็ประพฤติผิดในพระศาสดา

      ภิกษุทั้งหลาย  สนทนากันว่า “ พระเทวทัตถึงฐานะประมาณ

เท่านี้ ไม่ทันได้เฝ้าพระศาสดา  จมลงสู่แผ่นดินแล้ว. ” 

      พระศาสดาตรัสว่า

      “ ภิกษุทั้งหลาย  เทวทัตประพฤติผิดในเรา  จมดินลงไปใน

บัดนี้เท่านั้นหามิได้,  แม้ครั้งก่อน  เธอก็จมลงแล้วเหมือนกัน, ” 

เพื่อจะทรงแสดงความที่บุรุษหลงทาง  อันพระองค์ปลอบโยนแล้ว

ยกขึ้นหลังของตนแล้วให้ถึงที่อันเกษมแล้ว  กลับมาตัดงาทั้งหลาย

อีกถึง    ครั้ง  อย่างนี้คือที่ปลาย  ที่ท่ามกลาง ที่โคน ในวาระที่ ๓ 

เมื่อก้าวล่วงคลองจักษุแห่งมหาบุรุษแล้ว  ก็จมแผ่นดิน  ในกาล

ที่พระองค์เป็นพระยาช้าง  จึงตรัส สีลวนาคชาดก. เพื่อทรง

แสดงความที่พระเทวทัตนั้น  ครั้งเป็นพระเจ้ากลาพุประพฤติผิด

ในพระองค์  ผู้เป็นขันติวาที่ดาบส  แล้วจมลงสู่แผ่นดิน  แล้ว

จุลลธรรมปาลชาดกเพื่อทรงแสดง  ความที่พระเทวทัตนั้น 

ครั้งเป็นพระเจ้ามหาปตาปะประพฤติผิดในพระองค์ผู้เป็น

จุลลธรรมปาละแล้วจมลงสู่แผ่นดิน.

      ก็ครั้นเมื่อพระเทวทัตจมดินไปแล้ว,  มหาชนร่าเริงยินดี 

ให้ยกธงชัยธงปฏากและต้นกล้วย  ตั้งหม้อน้ำอันเต็มแล้ว 

เล่นมหรสพใหญ่  ด้วยปรารภว่า  “  เป็นลาภของพวกเราหนอ. ” 

พวกภิกษุกราบทูลข้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า 

      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า 

      “  ภิกษุทั้งหลายเมื่อพระเทวทัตตายแล้ว  มหาชนยินดีมิใช่

แต่บัดนี้เท่านั้น,  แม้ครั้งก่อนก็ยินดีแล้วเหมือนกัน, ” 

                  ผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

      ภิกษุทั้งหลาย  ทูลถามพระศาสดาว่า  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

บัดนี้  พระเทวทัตเกิดแล้ว    ที่ไหน ? ”  พระศาสดาตรัสว่า 

“ ในอเวจีมหานรก  ภิกษุทั้งหลาย ”  ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า 

      “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระเทวทัตประพฤติเดือดร้อน

ในโลกนี้แล้ว  ไปเกิดในสถานที่เดือดร้อนนั่นแลอีกหรือ ? ”

      พระศาสดา  ตรัสว่า  “ อย่างนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  ชนทั้งหลาย

จะเป็นบรรพชิตก็ตาม  เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม,  มีปกติอยู่ด้วย

ความประมาท  ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสองทีเดียว ”  ดังนี้แล้ว 

ตรัสพระคาถานี้ว่า

      “  ผู้มีปกติทำบาป  ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้  ละ

ไปแล้วย่อมเดือดร้อน  เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง, 

เขาย่อมเดือดร้อนว่า  ‘ กรรมชั่วเราทำแล้ว, ’  ไปสู่ทุคติ 

ย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น. ”

      ในกาลจบคาถา  ชนเป็นอันมาก  ได้เป็นพระอริยบุคคล 

มีพระโสดาบันเป็นต้นแล้ว.  เทศนาเป็นประโยชนืแก่มหาชน  

ดังนี้แล.

                                    นิคมคาถา

            ใครๆ จงอย่าเกิดเป็นคนปรารถนาลามกในโลก

      ท่านทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตนั้นตามเหตุแม้นี้ว่า

      มีคติเหมือนคติของคนปรารถนาลามก เทวทัตปรากฏว่า

      เป็นบัณฑิต รู้กันว่าเป็นผู้อบรมตนแล้ว  เราก็ได้ทราบว่า

      เทวทัตตั้งอยู่ดุจผู้รุ่งเรืองด้วยยศ  เธอสั่งสมความประมาท

      เบียดเบียนตถาคตนั้น จึงตกนรกอเวจี มีประตูถึง ๔ ประตู

      อันน่ากลัว ก็ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่ทำ

      บาปกรรม บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้น ผู้มีจิตประทุษร้าย

      ไม่เอื้อเฟื้อผู้ใดตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร ด้วยยาพิษเป็น

      หม้อๆ  ผู้นั้นไม่ควรประทุษร้ายด้วยยาพิษนั้น         เพราะ

      มหาสมุทรเป็นสิ่งที่น่ากลัว  ฉันใด ผู้ใดเบียดเบียนตถาคต

      ผู้เสด็จไปดีแล้ว มีพระทัยสงบด้วยกล่าวติเตียน การกล่าว

      ติเตียนในตถาคตนั้นฟังไม่ขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน  ภิกษุผู้

      ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้า         หรือสาวกของ

      พระพุทธเจ้าพระองค์ใด พึงถึงความสิ้นทุกข์ บัณฑิตพึง

      กระทำพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นนั้น

      ให้เป็นมิตร และพึงคบหาท่าน ฯ   

#ธ.อ. ๑/๒/๑/๑๘๑-๒๐๒; สํ.นิ. ๑๖/๕๘๒-๕๙๔;

วินย. ๗/๓๔๑-๓๔๔,๓๔๙,๓๕๘-๔๐๒; องฺ. ฉกฺก. ๒๒/๓๓