ราหุล,เอตทัคคมหาสาวกผู้ใคร่ต่อการศึกษา(๒๕,๓๕)

       พระราหุลเป็นราชบุตรของเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า)

และพระนางยโสธรา(พิมพา)  ประสูติเมื่อพระโพธิสัตว์

ได้เสด็จไปยังอุทยานภูมิ  และได้เห็นเทวทูต ๔ รวม ๔ วัน

คือ เห็นคนแก่ในวันที่หนึ่ง  เห็นคนเจ็บในวันที่สอง

เห็นคนตายในวันที่สาม  และเห็นบรรพชิตในวันที่สี่.

       สมัยนั้น  พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับว่า 

มารดาราหุลประสูติพระโอรส  จึงส่งสาสน์ไปว่า 

ท่านทั้งหลายจงบอกความดีใจของเราแก่ลูกของเราด้วย. 

พระโพธิสัตว์ได้ทรงสดับข่าวสาสน์นั้นแล้วตรัสว่า 

ราหุ (ห่วงเกิดแล้ว,เครื่องจองจำเกิดแล้ว,เครื่องผูกเกิดแล้ว)

พระราชาตรัสถามว่า  บุตรของเราได้พูดอะไรบ้าง  ครั้น

ได้สดับคำนั้นแล้วจึงตรัสว่า  ตั้งแต่นี้ไป  หลานของเรา

จงมีชื่อว่า ราหุลกุมาร.

                พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร 

       หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว  ในพรรษาที่ ๑

ซึ่งขณะนั้นพระราหุลมีพระชนม์พรรษา ๗ ปี  ได้เสด็จมา

โปรดพระยูรญาติในกรุงกบิลพัสดุ์  ในวันที่ ๗  พระมารดา

(พิมพา)ของพระราหุล  ก็ทรงแต่งองค์พระกุมาร

ส่งพระราหุลไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า แล้วตรัสว่า 

       นี่แน่ะพ่อ  เจ้าจงดูพระสมณะนั่น  ซึ่งมีวรรณแห่ง

รูปดังรูปพรหม  มีวรรณดังทองคำ  ห้อมล้อมด้วยสมณะ

สองหมื่นรูป  พระสมณะนี้เป็นบิดาของเจ้า  พระสมณะ

นั่นมีขุมทรัพย์ใหญ่  จำเดิมแต่พระสมณะนั้นออกบวชแล้ว 

แม้ไม่เห็นขุมทรัพย์เหล่านั้น เจ้าจงไปขอมรดกกะพระสมณะ

นั้นว่า  ข้าแต่พระบิดา  ข้าพระองค์เป็นกุมาร  ได้รับอภิเษก

แล้วจักได้เป็นจักรพรรดิ  ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์   ขอ

พระองค์จงประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์  เพราะบุตรย่อม

เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของบิดา"  พระกุมารก็ได้ไปยัง

สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล  ได้ความรักใน

ฐานเป็นบิดา  มีจิตใจร่าเริง  กราบทูลว่า

       ข้าแต่พระสมณะ  ร่มเงาของพระองค์เป็นสุข  แล้ว

ได้ยืนตรัสถ้อยคำอื่น ๆ และถ้อยคำอันสมควรแก่ตนเป็น

อันมาก.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้วตรัส

อนุโมทนาเสร็จแล้ว  ทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป.

       ฝ่ายพระกุมารกราบทูลว่า 

       ข้าแต่พระสมณะ  ขอพระองค์จงประทานทรัพย์มรดก

แก่ข้าพระองค์  แล้วติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป. 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ให้พระกุมารกลับ  แม้ปริวารชน

ก็ไม่อาจยังพระกุมารผู้เสด็จไปกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้

กลับได้.  พระกุมารนั้นได้ไปยังพระอารามนั้นแล  พร้อม

กับพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยประการดังนี้.

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า 

       กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา  ซึ่งเป็นไป

ตามวัฏฏะ มีแต่ความคับแค้น เอาเถอะเราจะให้อริยทรัพย์

  ประการ  ซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้  เราจะ

ทำกุมารนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ 

จึงตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า 

       สารีบุตร  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงให้ราหุลกุมารบวช.

       พระเถระให้ราหุลกุมารนั้นบวช  ส่วนพระโมคคัลลาน

เถระเป็นกรรมวาจาจารย์ของพระราหุลนั้น.

              พระเจ้าสุทโธทนศากยะทูลขอพระพร

       ก็แหละเมื่อพระกุมารบวชแล้ว  ความทุกข์มีประมาณ

ยิ่งเกิดขึ้นแก่พระราชา.  พระองค์เมื่อไม่อาจทรงอดกลั้น

ความทุกข์นั้นได้  จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า 

ตรัสขอพรว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ดังหม่อมฉันขอโอกาส

พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย  ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายัง

ไม่อนุญาต. 

       พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พรแก่ท้าวเธอ  ในวันรุ่งขึ้น

ทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์  เมื่อพระราชาประทับ

นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง  ทูลว่า 

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ในคราวที่พระองค์ทรงทำ

ทุกรกิริยา  เทวดาตนหนึ่งเข้ามาหาหม่อมฉัน  กล่าวว่า

พระโอรสของพระองค์สวรรคตแล้ว  หม่อมฉันไม่เชื่อคำ

ของเทวดานั้น ได้ห้ามเทวดานั้นว่า  บุตรของเรา  ยังไม่

บรรลุพระสัมโพธิญาณจะยังไม่ตาย  ดังนี้  จึงตรัสว่า

บัดนี้  พระองค์จักทรงเชื่อได้อย่างไร  แม้ในกาลก่อน

คนเอากระดูกมาแสดงแล้วกล่าวว่า  บุตรของท่านตายแล้ว 

พระองค์ก็ยังไม่ทรงเชื่อ 

       ดังนี้แล้วตรัส มหาธรรมปาลชาดกเพราะเหตุเกิด

เรื่องนี้ขึ้น  ในเวลาจบพระกถา  พระราชาทรงดำรง

อยู่ในอนาคามิผล.

       หลังจากนั้นทรงทูลว่า

       สุท. หม่อมฉันทูลขอพรที่สมควรและไม่มีโทษ

       พระพุทธเจ้าข้า. 

       ภ. พระองค์โปรดตรัสบอกพรนั้นเถิด โคตมะ.

       สุท. เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงผนวชแล้ว ความทุกข์

ล้นพ้นได้บังเกิดแก่หม่อมฉัน เมื่อ พ่อนันทะบวชก็เช่น

เดียวกัน เมื่อพ่อราหุลบรรพชา ทุกข์ยิ่งมากล้น พระพุทธเจ้าข้า

ความรักบุตรย่อมตัดผิว ครั้นแล้ว ตัดหนัง ตัดเนื้อ ตัดเอ็น

ตัดกระดูก แล้วตั้งอยู่จรดเยื่อในกระดูก  หม่อมฉันขอ

ประทานพระวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตร

ที่บิดามารดายังมิได้อนุญาตพระพุทธเจ้าข้า. 

       ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระเจ้า

สุทโธทนศากยะทรงเห็นแจ้ง ทรงสมาทานทรงอาจหาญ

ทรงร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. เมื่อพระเจ้าสุทโธทนศากยะ

อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ

ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากพระที่ ถวายบังคม

พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ.

       ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะ

เหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรก เกิดนั้น แล้วรับสั่ง

กะภิกษุทั้งหลายว่า

       ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต

ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฏ.

       สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน

กลันทกนิวาปสถาน  เขตพระนครราชคฤห์. 

       ก็สมัยนั้นแล  ท่านพระราหุลอยู่    ปราสาทชื่อว่า

อัมพลัฏฐิกา.  ครั้งนั้นเวลาเย็น  พระผู้มีพระภาคเสด็จ

ออกจากที่เร้นอยู่แล้ว  เสด็จเข้าไปยังอัมพลัฏฐิกาปราสาท

ที่ท่านพระราหุลอยู่.  ท่านพระราหุลได้เห็นพระผู้มีพระภาค

เสด็จมาแต่ไกล  จึงปูลาดอาสนะและตั้งน้ำสำหรับล้าง

พระบาทไว้.  พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้

แล้วทรงล้างพระบาท. ท่านพระราหุลถวายบังคม

พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคเหลือน้ำไว้ในภาชนะน้ำ

หน่อยหนึ่ง  แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า 

       ดูกรราหุล  เธอเห็นน้ำเหลือหน่อยหนึ่งอยู่ในภาชนะน้ำนี้หรือ?

       ท่านพระราหุลกราบทูลว่า  เห็นพระเจ้าข้า.

       ดูกรราหุล  สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายใน

การกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่  ก็มีน้อยเหมือนกันฉะนั้น.

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงเทน้ำที่เหลือหน่อยหนึ่ง

นั้นเสีย  แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า 

       ดูกรราหุล  เธอเห็นน้ำหน่อยหนึ่งที่เราเทเสียแล้วหรือ?

       รา.  เห็น  พระเจ้าข้า.

       พ.  ดูกรราหุล  สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายใน

การกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่  ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกัน. 

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น 

แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า 

       ดูกรราหุลเธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้หรือ? 

       เห็น  พระเจ้าข้า. 

       ดูกรราหุล  สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอาย

ในการกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่  ก็เป็นของที่เขาคว่ำเสียแล้วเหมือน

กันฉะนั้น.

       ลำดับนั้น  พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น 

แล้วตรัสกะท่านพระราหุลว่า 

       ดูกรราหุล  เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้หรือ? 

       เห็น  พระเจ้าข้า. 

       ดูกรราหุล  สมณธรรมของบุคคลผู้ไม่มีความละอายใน

การกล่าวมุสาทั้งรู้อยู่  ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกันฉะนั้น.

       ดูกรราหุล  เรากล่าวว่าบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการ

กล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่  ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่งไม่มี 

ฉันนั้นเหมือนกัน. เพราะเหตุนั้นแหละ ราหุลเธอพึงศึกษาว่า

เราจักไม่กล่าวมุสา  แม้เพราะหัวเราะกันเล่น  ดูกรราหุล 

เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล.

       ดูกรราหุล แว่นมีประโยชน์อย่างไร? 

       มีประโยชน์สำหรับส่องดู  พระเจ้าข้า.

       ฉันนั้นเหมือนกันแล  ราหุล  บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน 

แล้วจึงทำกรรมด้วยกายด้วยวาจา  ด้วยใจ.

              กรรม    คือ การกระทำทางกาย วาจา ใจ

       ดูกรราหุล  เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา

ใจ  เธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า  กาย วาจา ใจ ของเรานี้ 

พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง

เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง  กาย วาจา ใจนี้เป็นอกุศล

มีทุกข์เป็นกำไร  มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ. 

       ดูกรราหุล  ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่  พึงรู้อย่างนี้ว่า 

เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ  พึงเป็นไป

เพื่อเบียดเบียนตน  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  เพื่อเบียดเบียน

ทั้งตนทั้งผู้อื่น  กาย วาจา ใจนี้เป็นอกุศล  มีทุกข์เป็นกำไร

มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้   เธอไม่พึงทำด้วยกายโดยส่วนเดียว

เธอพึงเลิกกาย วาจา ใจ  นั้นเสีย  และเธอพึงแสดง  เปิดเผย

ทำให้ตื้นในพระศาสนา  หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย

ผู้วิญญู  แล้วพึงสำรวมต่อไป.

       แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า  เราปรารถนา

จะทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ  ไม่พึงเป็นไป  เพื่อ

เบียดเบียนตน  เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น  เพื่อเบียดเบียนทั้งตน

ทั้งผู้อื่น  กาย วาจา ใจ นี้เป็นกุศลมีสุขเป็นกำไร  มีสุขเป็น

วิบากดังนี้ไซร้  เธอพึงทำด้วยกาย วาจา ใจ  เธอพึงเพิ่ม

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นั้น.   เธอพึงมีปีติและ

ปราโมทย์  ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน

อยู่ด้วยกายกรรม  นั้นแหละ.

       ดูกรราหุล  สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งใน

อดีตกาล  ได้ชำระกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรมแล้ว 

สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้นพิจารณาๆ  อย่างนี้นั่นเอง

แล้วจึง  ชำระกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม. 

       แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง 

ในอนาคตกาลจักชำระกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม...

       ถึงสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด  เหล่าหนึ่งในปัจจุบัน

กำลังชำระกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรมอยู่  ก็พิจารณาๆ 

อย่างนี้นั่นเอง  แล้วจึงชำระกายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม. 

       เพราะเหตุนั้นแหละ  ราหุล  เธอพึงศึกษาว่า  เราจัก

พิจารณาๆ  แล้วจึงชำระกายกรรม  วจีกรรมมโนกรรม 

       ดูกรราหุล  เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.

       พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนจุฬราหุโลวาทสูตรดังนี้ 

       ในสมัยต่อมา  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนพระราหุล

มีความในมหาราหุโลวาทสูตร(อันเป็นพระสูตรที่สำคัญควร

ศึกษาอย่างยิ่ง  ให้ดูขยายความในคำว่า มหาราหุโลวาทสูตร

ในสารานุกรมนี้  หรืออ่านเพิ่มเติ่มในพระไตรปิฎก ตรัสเรื่อง

       ไตรลักษณ์ (อนิจจัง,ทุกขัง,อนันตา)

       ขันธ์ ๕ (รูป,เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณ)

       ธาตุ ๕ ( ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ,อากาศธาตุ[ช่องว่าง] )

       ภาวนาธรรม ๖ คือ เจริญเมตตา,กรุณา,มุทิตา,อุเบกขา,

                                   อสุภภาวนา,อนิจจสัญญาภาวนา

       และทรงตรัสสอนอานาปานสติภาวนา เป็นที่สุด.

                     พระราหุลบรรลุพระอรหันต์

       ในพรรษาที่ ๑๒ ของพระผู้มีพระภาค  เวลานั้น

สามเณรราหุลมีอายุ ๑๘ พรรษา  ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน 

อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี  เขตพระนครสาวัตถี 

       ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นประทับ

อยู่ในที่รโหฐาน  ได้เกิดพระปริวิตกทางพระหฤทัยขึ้น

อย่างนี้ว่า ราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้วแล  ถ้า

กระไร  เราพึงแนะนำราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด 

       ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต  ภายหลังเวลาพระกระยาหาร

แล้ว  ได้ตรัสกะท่านพระราหุลว่า 

       ดูกรราหุล  เธอจงถือผ้ารองนั่ง  เราจักเข้าไปยังป่าอันธวัน

เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน ท่านพระราหุลถือผ้ารองนั่งติดตาม

พระผู้มีพระภาคไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ 

       ก็สมัยนั้น เทวดาหลายพันตนได้ติดตามพระผู้มีพระภาค

ไปด้วยทราบว่า  วันนี้  พระผู้มีพระภาคจักทรงแนะนำท่าน 

พระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้น 

       ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าถึงป่าอันธวันแล้ว 

จึงประทับนั่ง ณ ควงไม้แห่งหนึ่งแม้ท่านพระราหุลก็ถวาย

อภิวาทพระผู้มีพระภาค  แล้วนั่ง    ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 

       พอนั่งเรียบร้อยแล้ว  พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า 

       ดูกรราหุลเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

       จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง

       จักษุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง   

       จักษุสัมผัสเที่ยงหรือไม่เที่ยง   

       โสตะเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       ฆานะเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       กายเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       ธรรมารมณ์เที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       มโนวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       มโนสัมผัส  เที่ยงหรือไม่เที่ยง   

       เวทนา  สัญญาสังขาร  วิญญาณ  ที่เกิดเพราะ

มโนสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง 

       ร.  ไม่เที่ยง  พระพุทธเจ้าข้า 

       พ.  ก็สิ่งใดไม่เที่ยง  สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข 

       ร.  เป็นทุกข์  พระพุทธเจ้าข้า 

       พ.  ก็สิ่งใดไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  มีความแปรปรวน

เป็นธรรมดา  ควรหรือที่  จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า  นั่นของเรา

นั่นเรา  นั่นอัตตาของเรา 

       ร.  ไม่ควร  พระพุทธเจ้าข้า 

       พ.  ดูกรราหุล  อริยสาวกผู้สดับแล้ว  เห็นอยู่อย่างนี้ 

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป  ย่อม

เบื่อหน่ายแม้ในจักษุวิญญาณ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุสัมผัส

ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ

ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น 

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียง  ...

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่น  ...

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรส  ...

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะ  ... 

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโน  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมารมณ์ 

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ 

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส 

       ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ

ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยนั้น 

       เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด  เพราะคลายกำหนัด 

จึงหลุดพ้น  เมื่อหลุดพ้นแล้ว  ย่อมมีญาณรู้ว่า  หลุดพ้นแล้ว

และทราบชัดว่า  ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว  กิจที่

ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี 

       พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว  ท่านพระ

ราหุลจึงชื่นชม  ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล 

       ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้อยู่ 

จิตของท่านพระราหุลหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย 

เพราะไม่ถือมั่น  และเทวดาหลายพันตนนั้นได้เกิดดวงตา

เห็นธรรมอันปราศจากธุลีหมดมลทินว่า 

       สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา 

       สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา     

                     ยกย่องในตำแหน่งเอตทัคค

       ด้วยพระจริยวัตรของพระราหุลที่เป็นคนว่าง่าย และ

เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา  ต่อมาภายหลังพระศาสดา

ประทับนั่งท่ามกลางพระอริยสงฆ์ ทรงสถาปนาพระเถระ

ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่ากุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา

ในศาสนานี้แล.

                     จริยาวัตรของพระราหุล

              ๑. สามเณรราหุลเป็นผู้ว่าง่าย

       ในสมัยหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายได้กล่าวคำนี้กะท่านสามเณร

ราหุลว่า อาวุโสราหุล พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท

ไว้ว่า ภิกษุไม่พึงสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน อาวุโส

ราหุล ท่านจงรู้  สถานที่ควรนอน.

       วันนั้น ท่านสามเณรราหุลหาที่นอนไม่ได้ จึงสำเร็จ

การนอนในวัจจกุฎี (ห้องส้วม) 

       ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคทรงตื่น

บรรทมแล้ว ได้เสด็จไปวัจจกุฎี,  ครั้นถึงจึงทรงพระกาสะ(ไอ)

แม้ท่านราหุลก็กระแอมรับ.

       พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ใครอยู่ในวัจจกุฎีนี้.

       ท่านสามเณรราหุลทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าราหุล พระพุทธเจ้าข้า.

       พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรราหุล เหตุไรเธอจึงนอน

ณ ที่นี้ จึงท่านสามเณรราหุล กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ.

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำธรรมีกถา ใน

เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่ง

กะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สำเร็จ

การนอน ร่วมกับอนุปสัมบันได้ ๒-๓ คืน ...  ก็แลพวกเธอ

พึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้: 

       ภิกษุใดสำเร็จการนอนร่วมกับอนุปสัมบัน ยิ่งกว่า

๒-๓ คืน,  เป็นปาจิตตีย์.

       ๒. มีความกตัญญู  สมัยหนึ่ง  ราหุลสามเณรได้มาเยี่ยม

พระชนนี  ในวันนั้น  ลมในพระอุทรของพระเถรีกำเริบขึ้น.

เมื่อพระโอรสเสด็จมาเพื่อจะเยี่ยมเยียน  พระเถรีนั้นไม่

สามารถจะออกมาพบได้  ภิกษุณีอื่นๆ  จึงมาบอกว่า 

       พระเถรีไม่สบาย.  ราหุลสามเณรนั้นจึงไปยังสำนัก

ของพระมารดา  แล้วทูลถามว่า  พระองค์ควรจะได้ยาอะไร? 

พระเถรีผู้ชนนีตรัสว่า  ดูก่อนพ่อ  ในคราวยังครองเรือน

มารดาดื่มรสมะม่วงที่เขาปรุงประกอยด้วยน้ำตาลกรวดเป็นต้น

โรคลมในท้องก็สงบระงับไป  แต่บัดนี้  พวกเราเที่ยว

บิณฑบาติเลี้ยงชีพจักได้รสมะม่วงนั้นมาจากไหน.

       ราหุลสามเณรทูลว่า  เมื่อหม่อมฉันได้จักนำมา  แล้ว

ก็ออกไป.  ก็ท่านผู้มีอายุนั้นมีสมบัติมากมาย  คือ  มี

พระธรรมเสนาบดีเป็นอุปัชฌาย์  มีพระมหาโมคคัลลานะ

เป็นอาจารย์  มีพระอานันทเถระเป็นอาว์  มีพระสัมมา

สัมพุทธเจ้าเป็นบิดา.  แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น  ท่านก็ไม่ไป

ยังสำนักอื่น  ได้ไปยังสำนักของอุปัชฌาย์ไหว้แล้ว  ได้ยืน

มีอาการหน้าเศร้าอยู่. 

       ลำดับนั้น  พระเถระจึงกล่าวกะราหุลสามเณรนั้นว่า 

       ดูก่อนราหุล  เหตุไรหนอ  เธอจึงมีหน้าระทมทุกข์อยู่. 

       ราหุลสามเณรกล่าวว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  โรคลมใน

ท้องแห่งพระเถรีผู้เป็นมารดาของกระผม  กำเริบขึ้น. 

       พระสารีบุตรเถระถามว่า  ได้อะไรจึงจะควร  ? 

       ราหุลสามเณรเรียกว่า  พระมารดาเล่าให้ฟังว่า  มีความ

ผาสุกได้ด้วยรสมะม่วงที่ปรุงประกอบด้วยน้ำตาลกรวด.  

       พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า  ช่างเถอะ  เราจักได้มา 

เธออย่าคิดไปเลย. 

       ในวันรุ่งขึ้นพระเถระพาราหุลสามเณรนั้นเข้าไปใน

เมืองสาวัตถี  ให้สามเณรนั่งที่โรงฉันแล้วได้ไปยังประตู

พระราชวัง.  พระเจ้าโกศลเห็นพระเถระจึงนิมนต์ให้นั่ง. 

       ในขณะนั้นเอง  นายอุยยานบาลนำเอามะม่วงหวาน

ที่สุกทั้งพวง  จำนวนห่อหนึ่งมาถวาย.  พระราชาทรงปอก

เปลือกมะม่วงแล้วใส่น้ำตาลกรวดลงไป  ขยำด้วย

พระองค์เองแล้วได้ถวายพระเถระจนเต็มบาตร. 

       พระสารีบุตรเถระออกจากพระราชนิเวศน์ ไปยังโรงฉัน

แล้วได้ให้แก่สามเณรโดยกล่าวว่า  เธอจงนำรสมะม่วง

นั้นไปให้มารดาของเธอ. 

       ราหุลสามเณรนั้นได้นำไปถวายแล้ว.  พอพระเถรี

บริโภคแล้วเท่านั้น  โรคลมในท้องก็สงบ. 

       ฝ่ายพระราชาทรงส่งคนไปด้วยดำรัสสั่งว่า 

       พระเถระไม่นั่งฉันรสมะม่วงในที่นี้  เธอจงไปดูให้รู้ว่า

พระเถระให้ใคร.  ราชบุรุษคนนั้นจึงไปพร้อมกับพระเถระ

ทราบเหตุนั้นแล้วจึงมากราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. 

พระราชาทรงพระดำริว่า  ถ้าพระศาสดาจักอยู่ครองเรือน

จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  ราหุลสามเณรจักได้เป็นขุนพลแก้ว

พระเถรีจักได้เป็นนางแก้ว  ราชสมบัติในสกลจักวาฬจักเป็น

ของท่านเหล่านี้ทีเดียว  ควรที่เราจะพึงอุปฏฐากบำรุงท่าน

เหล่านี้  บัดนี้.  เราไม่ควรประมาทในท่านเหล่านี้  ผู้บวช

แล้วเข้ามาอาศัยเราอยู่.  จำเดิมแต่นั้น  พระเจ้าโกศลรับสั่ง

ให้ถวายรสมะม่วงแก่พระเถรีเป็นประจำ. 

                     พระราหุลปรินิพพาน

       ไม่มีรายละเอียดว่า ท่านปรินิพพานอย่างไร  ทราบเพียง

ว่า ท่านปรินิพพานก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง  และก่อน

พระพุทธเจ้า  โดยการทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานที่

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์.

                     บุพกรรมในอดีตชาติ

       ได้ยินมาว่า ในอดีตกาล ครั้งพระปทุมุตตรพระพุทธเจ้า      

พระเถระทั้ง ๒ นี้ คือ พระราหุล และรัฏฐปาล บังเกิดใน

ครอบครัวคฤหบดีมหาศาลในกรุงหงสวดี ในเวลาที่ท่าน

ยังเป็นเด็กไม่มีใครพูดถึงชื่อและโคตร แต่พอท่านเจริญวัย

แล้ว ดำรงอยู่ในฆราวาส เมื่อบิดาของแต่ละคนล่วงไปแล้ว 

ท่านทั้ง ๒  จึงเรียกคนจัดการคลังรัตนะของตน ๆ มาแล้ว 

เห็นทรัพย์หาประมาณมิได้  คิดว่าชนทั้งหลายมีปู่ และปู่ทวด

เป็นต้น  พาเอากองทรัพย์มีประมาณเท่านี้ไปกับตนไม่ได้

บัดนี้ เราควรจะถือเอาทรัพย์นี้ไปโดยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังนี้คนทั้ง ๒ นั้นจึงเริ่มให้มหาทานแก่คนกำพร้า และคนเดิน

ทางเป็นต้น ในสถานที่ ๔ แห่ง คนหนึ่งสอบถามคนที่มาแล้ว

มาอีกในโรงทานของตน  ผู้ใดชอบใจสิ่งใดเป็นต้นว่า

ข้าวยาคูและของเคี้ยวก็ให้สิ่งนั้นแก่ผู้นั้น  เพราะเหตุนั้นแล 

เขาจึงมีชื่อว่า ผู้กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว อีกคนหนึ่งไม่ถามเลย 

เอาภาชนะที่เขาถือมาแล้ว ๆ ใส่ให้เต็มๆ แล้วจึงให้   ด้วย

เหตุนั้นแหละ เขาจึงมีชื่อว่า ไม่กล่าวกะผู้ที่มาแล้ว  อธิบายว่า

ถามด้วยความไม่ประมาท  วันหนึ่งชนทั้ง ๒ นั้นออกไป

นอกบ้าน  เพื่อล้างปากแต่เช้าตรู่.

       สมัยนั้น ดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูป เหาะมาแต่ป่าหิมพานต์    

เพื่อภิกขาจร ลงไม่ไกลสหายทั้ง ๒ นั้น ยืนในที่ข้างหนึ่งด้วย

คิดว่า ชนทั้ง ๒ นั้น เมื่อดาบสทั้ง ๒ นั้น จัดแจงบริขารมี

ภาชนะน้ำเต้า เป็นต้น เดินมุ่งไปภายในบ้าน จึงมาไหว้ใกล้ ๆ

       ครั้งนั้นดาบสกล่าวกะชนทั้ง ๒ นั้นว่า ท่านผู้มีบุญใหญ่

ท่านมาในเวลาไร ชนทั้ง ๒ นั้นตอบว่า มาเดี๋ยวนี้ขอรับ

แล้วรับภาชนะน้ำเต้าจากมือของดาบสทั้ง ๒ นั้น นำไปเรือน

ของตน ๆ ในเวลาเสร็จภัตรกิจจึงของให้รับปากว่า จะมารับ

ภิกษาเป็นประจำ.

       ในดาบสทั้งสองนั้น รูปหนึ่งเป็นคนมักร้อน จึงแหวกน้ำ

ในมหาสุมทรออกเป็น ๒ ส่วนด้วยอานุภาพของตน แล้วไป

ยังภพของปฐวินทรนาคราชนั่งพักกลางวัน. 

       ดาบสถือเอาฤดูพอสบายแล้ว  จึงกลับมา เมื่อจะกระทำ

อนุโมทนาภัตรในเรือนแห่งอุปัฎฐากของตน ก็กล่าวว่า

       ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราช.

       ต่อมาวันหนึ่ง อุปัฎฐากถามดาบสนั้นว่า

       ท่านผู้เจริญ ท่านกระทำอนุโมทนาว่า จงสำเร็จเหมือน

ภพปฐวินทรนาคราช โปรดบอกข้อความ พวกข้าพเจ้าไม่

ทราบความที่ท่านกล่าวนี้ว่า คำนี้ท่านหมายความว่าอะไร,

ดาบสกล่าวว่า จริงซิ  กุฎุมพี เรากล่าววาสมบัติของท่านจง

เป็นเหมือนสมบัติของพระยานาคชื่อว่า ปฐวินทร, ตั้งแต่นั้น

มา กุมฎุมพีก็ตั้งจิตไว้ในภพของพระยานาคชื่อว่า ปฐวินทร.

       ดาบสอีกรูปหนึ่งไปยังภพดาวดึงส์ กระทำการพัก

กลางวัน  ในเสริสกวิมานที่ว่างเปล่า ดาบสนั้นเที่ยวไป

เที่ยวมาเห็นสมบัติของท้าวสักกเทวราช เมื่อจะกระทำ

อนุโมทนาแก่อุปัฎฐากของตน  ก็กล่าวว่า สมบัติของ

ท่านจงเป็นเหมือนสักกวิมาน.  ครั้งนั้น กุฎุมพี ก็แม้นั้น

ก็ถามดาบสนั้นเหมือนอย่างสหายอีกคนหนึ่งถามดาบสนั้น 

กุฎุมพีก็ฟังคำของดาบสนั้นจึงตั้งจิตไว้ในภพของท่าวสักกะ. 

ชนทั้งสองนั้นจึงบังเกิดในที่ที่ตนปรารถนาแล้วนั้นแล.

       ผู้ที่เกิดในภพของปฏวินทรนาคราช ก็มีชื่อว่า

ปฐวินทรนาคราชา พระราชานั้นในขณะที่ตนเกิดแล้ว

เห็นอัตภาพของตนมีความร้อนใจว่า

       ดาบสผู้เข้าสู่สกุลสรรเสริญคุณแห่งฐานะของเราไม่

น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ดาบสนั้น

ไม่รู้ที่อื่น ๆ แน่แท้   ในขณะนั้นนั่นแล เหล่านาคผู้ฟ้อนรำ

แต่งตัวแล้ว  ได้ประคองเครื่องดนตรีในทุกทิศแก่

พระยานาคนั้น ในขณะนั้นนั่นแหละพระยานาคนั้น 

ก็ละอัตภาพนั้นกลายเพศเป็นมาณพน้อย ท้าวมหาราชทั้ง ๔    

เข้าเฝ้าท้าวสักกะทุกกึ่งเดือน เพราะฉะนั้นแม้พระยานาคนั้น

ก็ต้องไปเฝ้าท้าวสักกะพร้อมกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์ด้วย 

ท้าวสักกะเห็นพระยานาคนั้นมาแต่ไกลก็จำได้

       ทีนั้นท้าวสักกะจึงถามพระยานาคนั้นในเวลายืนอยู่ใน

ที่ใกล้ว่า สหาย ท่านไปเกิดที่ไหน พระยานาค กล่าวว่า

       ท่านมหาราช อย่างถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้อง    

เลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้มิตรที่ดีแล้ว ท่านสักกะตรัสว่า

สหายท่านอย่าวิตกเลยว่าเกิดในที่ไม่สมควร พระทศพล

พระนามว่า ปทุมุตตระทรงบังเกิดในโลกแล้ว ท่านจง

กระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้นแล้ว  ปรารถนาฐานะ

นี้เถิด เราทั้ง ๒ จักอยู่ร่วมกันเป็นสุข. 

       พระยานาคนั้นกล่าวว่า เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น

ไปนิมนต์พระปทุมุตตระทศพล จัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะ 

ตลอดคืนยันรุ่ง กับนาคบริษัทในภพนาคของตน

       วันรุ่งขึ้น เมื่อรุ่งอรุณ พระศาสดาตรัสเรียกพระสุมนเถระ      

ผู้อุปัฎฐากของพระองค์ว่า สุมนะ วันนี้ตถาคตจักไปภิกษาจาร

ณ ที่ไกล ภิกษุปุถุชนจงอย่ามา, จงมาแต่พระผู้บรรลุปฏิสัมภิทา

ผู้ทรงพระไตรปิฎก ผู้มีอภิญญา ๖ พระเถระสดับพระดำรัสของ             

พระศาสดาแล้ว แจ้งแก่ภิกษุทั้งปวง ภิกษุประมาณแสนหนึ่ง

เหาะไปพร้อมกับพระศาสดา พระยานาคปฐวินทรกับนาค

บริษัทมารับเสด็จพระทศพลแลดูพระภิกษุสงฆ์ที่ล้อม

พระศาสดาซึ่งกำลังเหยียบคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณีบนยอดเคลื่น

แลเห็นพระศาสดาอยู่เบื้องต้น  พระสงฆ์นวกะจนถึงสามเณร

ชื่ออุปเรวตะผู้เป็นโอรสของพระตถาคตอยู่ท้าย จังเกิดปีติ

ปราโมทย์ว่า พุทธานุภาพเห็นปานนี้ ของพระสาวกที่เหลือ

ไม่น่าอัศจรรย์ แต่พระพุทธานุภาพแห่งทารกเล็กนี้ช่างน่า  

อัศจรรย์เหลือเกินดังนี้.

       ครั้งนั้น เมื่อพระทศพลประทับนั่งที่ภพของพระยานาค

นั้นแล้ว เมื่อภิกษุนอกนี้นั่งจำเดิมแต่ที่สุดจนมาถึงอาสนะ

ของสามเณรอุปเรวตะในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา

พระยานาคเมื่อถวายข้าวยาคูก็ดี เมื่อถวายของเคี้ยวก็ดี แลดู

พระทศพลที่หนึ่ง   ดูสามเณรอุปเรวตะทีหนึ่ง นัยว่ามหา

ปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ  ในสรีระของสามเณรนั้นย่อม

ปรากฏเสมือนพระพุทธเจ้า เป็นอะไรกันหนอ ดังนี้จึงถาม

ภิกษุรูปหนึ่งผู้นั่งไม่ไกลว่า ท่านเจ้าข้า สามเณร รูปนี้เป็น

อะไรกับพระทศพล ภิกษุนั้นตอบว่า เป็นโอรสมหาบพิธ.

       พระองค์จึงดำริว่า ภิกษุรูปนี้ใหญ่หนอ จึงได้ความเป็น

โอรสของพระตถาคตผู้สง่างามเห็นปานนี้ แม้สรีระของท่าน

ก็ปรากฏเสมือนพระสรีระของพระพุทธเจ้าโดยส่วนเดียว

แม้ตัวเราก็ควรเป็นอย่างนี้ในอนาคตกาล จึงถวายมหาทาน

๗ วัน แล้วกระทำความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์

พึงเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า  พระองค์หนึ่งในอนาคต

เหมือนอุปเรวตะสามเณรนี้ ด้วยอนุภาพแห่งกุศลกรรมนี้

พระศาสดาทรงเห็นว่า หาอันตรายมิได้  จึงทรงพยากรณ์ว่า

ในอนาคตมหาบพิตรจักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้า

พระนามว่าโคตมะ ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป.

       ส่วนปฐวินทรนาคราช เมื่อถึงกึ่งเดือนอีกครั้งหนึ่งก็ไป

เฝ้าท้าวสักกะกับพระยานาคชื่อวิรูปักษ์ คราวนั้นท้าวสักกะ

ตรัสถามพระยานาคนั้นผู้มายืนอยู่ในที่ใกล้ว่า สหาย ท่าน

ปรารถนาเทวโลกนี้แล้วหรือ

       ร. ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาดอกเพื่อน

       ส.ท่านเห็นโทษอะไรเล่า?

       ร. โทษไม่มีมหาราช, แต่ข้าพเจ้าเห็นสามเณรอุปเรวตะ

โอรสของพระทศพล ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นสามเณรนั้นก็

มิได้น้อมจิตไปในที่อื่น ข้าพเจ้านั้นกระทำความปรารถนา

ว่าในอนาคตกาล  ขอข้าพเจ้าพึงเป็นโอรสเห็นปานนี้ของ

พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ก็

จงกระทำความปรารถนาอย่างหนึ่งเถิดเราทั้ง ๒ จักไม่

พรากกันในที่ ๆ เกิดแล้ว ท้าวสักกะรับคำของพระยานาค

นั้นแล้วเห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงนึกว่ากุลบุตร

นี้ออกบวชจากสกุลไหนหนอดังนี้ ทราบว่ากุลบุตรผู้นี้เป็น

บุตรของสกุลผู้สามารถสมานรัฐที่แตกแยกกันแล้ว กระทำ

การอดอาหารถึง ๑๔ วัน ให้มารดาบิดาอนุญาตให้บรรพชา

แล้วบวชแล้ว   ก็แลครั้นทราบแล้วจึงเป็นเหมือนไม่ทราบ

ทูลถามพระทศพลแล้วกระทำมหาสักการะ ๗ วัน กระทำ

ความปรารถนาว่า พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งกัลยาณกรรมนั้น

ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุ   ผู้บวชด้วยศรัทธา

ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

เหมือนอย่างกุลบุตรผู้นี้ในศาสนาของพระองค์เถิด. 

พระศาสดาทรงเห็นความปรารถนาหาอันตรายมิได้ จึง

พยากรณ์ว่า มหาบพิตรพระองค์จักเป็นยอดของเหล่า

ภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนาม

ว่า โคตมะ ในอนาคตแล้วเสด็จกลับไป ฝ่ายท้าวสักกะก็

เสด็จกลับไปยังเทพบุรีของพระองค์ตามเดิม.

       ชนทั้งสองนั้นจุติจากทีที่ตนเกิดแล้วเวียนว่ายอยู่ในเทวดา  

และมนุษย์ล่วงไปหลายพันกัป ในที่สุดกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้

พระพุทธเจ้าพระนามว่า ผุสสะ ทรงอุบัติขึ้นในโลก

พระพุทธบิดาของพระองค์ เป็นพระราชาพระนามว่า มหินทะ

มีน้องชายต่างมารดากัน ๓ องค์   พระราชาทรงยึดถือว่า

พระพุทธเจ้าเป็นของเราเท่านั้น พระธรรมเป็นของเรา

พระสงฆ์เป็นของเรา ทุก ๆ วันทรงให้พระทศพล     

เสวยโภชนะด้วยพระองค์เองเป็นประจำ

       ต่อมาภายหลัง วันหนึ่งเมื่อชายแดนของพระองค์กำเริบ      

พระองค์ตรัสเรียกโอรสมาสั่งว่า ลูกเอ๋ย ชายแดนกำเริบ พวก        

เจ้าหรือเราควรไป  ถ้าเราไปเจ้าจะต้องปรนนิบัติพระทศพล

โดยทำนองนี้ พระราชโอรสทั้ง ๓ นั้น ทูลเป็นเสียงเดียวกันว่า

ข้าแต่พระชนก พระองค์ไม่จำต้องเสด็จไป  พวกข้าพระองค์

จักช่วยกันปราบโจรดังนี้ จึงถวายบังคมพระชนกแล้วเสด็จ

ไปยังปัจจันตชนบท  ปราบโจรแล้วมีชัยชนะแก่ข้าศึกแล้ว

เสด็จกลับ พระราชกุมาร เหล่านั้นปรึกษากับเหล่าผู้ใกล้ชิด

ในระหว่างทางว่า พ่อเอ๋ยในเวลา ที่เรามาเฝ้าพระชนกจัก

ประทานพร เราจะรับพรอะไร พวกข้าบาทมูลิกาทูลว่า

พระลูกเจ้าเมื่อพระชนกของพระองค์ล่วงลับไป ไม่มีอะไร

ที่ชื่อว่าได้ยาก แต่พระองค์โปรดรับพรคือการปรนนิบัติ     

พระผุสสพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระเชฎฐภาดาของพระองค์เถิด

พระราชกุมารเหล่านั้นกล่าวว่า พวกท่านพูดดีจึงพร้อมใจ

กันทุก ๆ องค์  ไปเฝ้าพระชนก.

       ในกาลนั้น พระชนกทรงเลื่อมใสพระราชกุมาร  

เหล่านั้น แล้วทรงประทานพร  พระราชกุมารเหล่านั้น

ทูลขอพรว่า   พวกข้าพระองค์จักปรนนิบัติพระตถาคต

ตลอดไตรมาส พระราชาตรัสว่า พรนี้เราให้ไม่ได้

จงขอพรอย่างอื่นเถิด พระราชกุมารกราบทูลว่า

       ข้าแต่พระชนก พวกข้าพระองค์ก็ไม่ต้องการพร

อย่างอื่น  ถ้าหากพระองค์ประสงค์จะพระราชทาน

ขอจงพระราชทานพรนั้นนั่นแหละ แก่พวกข้าพระองค์เถิด

พระราชาเมื่อพระราชโอรสเหล่านั้นทูลขออยู่บ่อย ๆ

ทรงดำริว่า เราไม่ให้ไม่ได้ เพราะเราได้ปฏิญญาไว้แล้ว

จึงตรัสว่า พ่อเอ๋ย เราให้พรแก่พวกเจ้า ก็แต่ว่าธรรมดา

พระพุทธเจ้าเป็นผู้อันใครๆ เข้าเฝ้าได้ยาก เป็นผู้มีปกติ  

เที่ยวไปพระองค์เดียวดุจสีหะ พวกเจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท

ปรนนิบัติพระทศพลเถิด.

       พระราชกุมารเหล่านั้นดำริว่า เมื่อพวกเราจะปรนนิบัติ

พระตถาคต ก็ควรจะปรนนิบัติให้สมควร จึงพร้อมใจกัน

สมาทานศีล ๑๐ เป็นผู้ไม่มีกลิ่นคาว ตั้งบุรุษไว้ ๓ คนให้ดูแล

โรงทานสำหรับพระศาสดา บรรดาบุรุษ ๓ คนนั้น คนหนึ่ง

เป็นผู้จัดแจงการเงินและข้าวปลาอาหาร, คนหนึ่งมีหน้าที่

ตวงข้าว คนหนึ่งมีหน้าที่จัดทาน.

       ในบุรุษ ๓ คนนั้น คนจัดแจงการเงินและข้าวมาเกิด

เป็นพระเจ้าพิมพิสารมหาราชในปัจจุบัน คนตวงข้าวมา

เกิดเป็นวิสาขอุบาสก, คนจัดทานมาเกิดเป็นรัฏฐปาลเถระแล.

       กุลบุตรนั้นบำเพ็ญกุศลในภพ นั้นตลอดชีพแล้วบังเกิด

ในเทวโลก, ส่วนพระยานาคนี้เกิดเป็นพระเชฎฐโอรสของ

พระเจ้ากิกิ ครั้งพระทศพลพระนามว่ากัสสปชื่อว่าราหุลเถระ

พระญาติทั้งหลายขนานนามพระองค์ว่า ปฐวินทรกุมาร

พระองค์มีภคินี ๗ พระองค์ พระภคินีเหล่านั้นสร้างบริเวณ 

ถวายพระทศพลถึง ๗ แห่ง พระปฐวินทรกุมารทรงได้

ตำแหน่งอุปราช  พระองค์ตรัสกะภคินีเหล่านั้นว่า ใน

บรรดาบริเวณที่พระนางได้สร้างไว้นั้น ขอจงประทาน

ให้หม่อมฉันแห่งหนึ่ง พระภคินีเหล่านั้นทูลว่า พระพี่เจ้า

พระองค์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นอุปราช พระองค์พึงประทาน

แก่หม่อมฉันเองต่างหาก พระองค์โปรดสร้างบริเวณอื่นเถิด

พระราชกุมารนั้นได้สดับคำของพระภคินีเหล่านั้นแล้ว จึง

ให้สร้างวิหารถึง ๕๐๐ แห่ง.  อาจารย์บางพวกกล่าวว่า

บริเวณ ๕๐๐ แห่ง.   ก็มี พระราชกุมารนั้นทรงบำเพ็ญ

กุศลตลอดชีพในอัตภาพนั้นไป  บังเกิดในเทวโลก ใน

พุทธุบาทกาลนี้ ปฐวินทรกุมารถือปฏิสนธิ  ในพระครรภ์

แห่งพระองค์มเหษีแห่งพระโพธิสัตว์ของเรา สหายของ

ท่านบังเกิดในเรือนแห่งรัฏฐปาลเศรษฐี ในถุลลโกฎฐิตนิคม    

แคว้นกุรุ.

#อง.อ. ๑/๑/๓๙๔-๔๐๔; ม.อุ. ๑๔/๗๙๕-๘๐๙; วินย. ๔/๑๑๘;

อป.อ. ๘/๑/๑๗๙-๑๘๑; ม.ม. ๑๓/๑๒๕-๑๔๖; ที.อ. ๒/๑/๓๘๒;

สํ.นิ. ๑๖/๕๙๘-๖๓๕; สํ.ข. ๑๗/๒๓๕-๒๓๖;วินย. ๒/๒๙๐,๒๙๔;

ชา.อ. ๓/๔/๒๓๙-๒๔๑; เถร.อ. ๒/๓/๓/๔๐-๔๕