ภัททิยกาฬิโคธาบุตร,เอตทัคคมหาสาวกผู้เกิดในตระกูลสูง(๙,๒๓)

       พระภัททิยกาฬิโคธาบุตร เป็นเจ้าศากยะองค์หนึ่ง มาบังเกิด

ในขัตติยสกุลในกรุงกบิลพัสดุ์ และพวกญาติทั้งหลายขนานนาม

ของท่านว่า  ภัททิยกุมาร  เป็นบุตรของนางกาฬิโคธาเทวี  เหตุที่

เรียกพระนางว่า กาฬิโคธาเทวี  เพราะพระเทวีนั้นเป็นผู้มีผิวดำ.

ซึ่งพระนามเดิมว่า โคธา เป็นนามของพระเทวีนั้น   เพราะฉะนั้น

ภายหลังจึงเรียก ภัททิยกุมารว่า ภัททิยกาฬิโคธาบุตร

       พระมหานามศากยะ และอนุรุทธศากยะทั้ง ๒  เป็นพี่น้องกัน

เป็นสุขุมาลชาติ เธอมีประสาท ๓ หลัง คือ สำหรับอยู่ในฤดูหนาว

หลัง ๑  สำหรับอยู่ในฤดูร้อนหลัง ๑  สำหรับอยู่ในฤดูฝนหลัง ๑

เธออันเหล่าสตรีไม่มีบุรุษเจือปนบำเรออยู่ด้วยดนตรีตลอด ๔ เดือน

ในปราสาทสำหรับฤดูฝน  ไม่ลงมาภายใต้ปราสาทเลย

       ท่านมีพระสหาย ๕ พระองค์คือ พระอนุรุทธะ พระกิมพิละ

พระอานนท์   พระภัคคุ  พระเทวทัต  ภายหลังได้ชวนพระสหาย

ออกบวชพร้อมกัน  โดยมีพระอุบาลีซึ่งเป็นช่างแต่งผม (ภูษามาลา)

ขอตามไปออกบวชด้วย.

       ลำดับนั้น ศากยกุมารทั้ง ๖ เหล่านั้น พาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา

เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ครั้นแล้วถวายบังคมประทับนั่ง ณ

ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

       พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ

อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน

ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด

พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม

สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้

ความถือตัวว่าเป็นศากยะของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะ

จักเสื่อมคลายลง  

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลา

บวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ

       ครั้นต่อมา ในระหว่างพรรษานั้นเอง ท่านพระภัททิยะ

ได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ (บรรลุโสดาปัตติผล) ท่านพระอนุรุทธะ

ได้ยังทิพยจักษุให้เกิด    ท่านพระอานนท์ได้ทำให้แจ้งซึ่ง

โสดาปัตติผล พระเทวทัตได้สำเร็จฤทธิ์ชั้นปุถุชน ฯ    

       ครั้งนั้น ท่านพระภัททิยะ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี

ไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

       ครั้งนั้น ภิกษุมากรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม

นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า

       พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี

ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระภัททิยะ ฝืนใจประพฤติพรหมจรรย์

โดยไม่ต้องสงสัย   หรือมิฉะนั้นก็ระลึกถึงสุขในราชสมบัติ

ครั้งก่อนนั้นเอง ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี

จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า

       ดูกรภิกษุ เธอจงมาจงเรียกภัททิยะภิกษุมาตามคำของเรา

       ท่านพระภัททิยะรับคำของภิกษุนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี

พระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่าน

พระภัททิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

       ดูกรภัททิยะ ข่าวว่า เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือน

ว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ จริงหรือ

       ภ. จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า  

       พ. ดูกรภัททิยะ ก็เธอพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไร

ไปสู่ป่าก็ดี  ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ

ว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้

       ภ. พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

แม้ภายในพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย แม้ภายนอก

พระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง   แม้ภายในพระนคร

ก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย  แม้ภายนอกพระนครก็ได้จัดการ

รักษาไว้อย่างแข็งแรง  แม้ภายในชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย

มั่นคง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้านั้น แม้เป็นผู้อันเขาทั้งหลาย

รักษาคุ้มครองแล้ว อย่างนี้ก็  ยังกลัว ยังหวั่น ยังหวาด ยังสะดุ้งอยู่

       แต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปสู่ป่าก็ดี ไป สู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือน

ว่างก็ดี ลำพังผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวั่น ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ขวนขวาย

น้อย มีขนอันราบเรียบ เป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤค

อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์นี้แล ไปสู่ป่าก็ดี

ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ... จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า

สุขหนอ สุขหนอ  

       ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเปล่ง

อุทานในเวลานั้น ว่าดังนี้:   

                                          อุทานคาถา   

       บุคคลใดไม่มีความโกรธภายในจิต และก้าวล่วงภพน้อย

       ภพใหญ่มีประการเป็นอันมากเสียได้ เทวดาทั้งหลาย

       ไม่อาจเล็งเห็น วาระจิตของบุคคลนั้น ผู้ปลอดภัย มีสุข

       ไม่มีโศก ฯ

       ในหนหลัง เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน

ทรงผนวชในสำนักของพระศาสดาแล้วได้บรรลุพระอรหัต

       ถามว่า ผู้มีตระกูลสูงกว่าพระภิททิยะนั้นไม่มีหรือ.

       ตอบว่า ไม่มี  จริงอยู่  พระมารดาของท่านเป็นใหญ่ที่สุด

ของเจ้าทั้งหมดโดยวัย ในระหว่างเจ้าสากิยานีทั้งหลาย ท่านสละ

ราชสมบัติที่มาถึงในสากิยสกุลอย่างนั้นออกผนวช

       ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร

ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า ภัททิยะโอรสของ

พระนางกาฬิโคธา เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูงใน

ศาสนาของเรา

                                   บุพกรรมของท่านในอดีต

       อีกประการหนึ่ง พระภัททิยะนี้ ด้วยอานุภาพแห่งความ

ปรารถนาในปางก่อนบังเกิดในราชตระกูล แล้วครองราชสมบัติ

ถึง ๕๐๐ ชาติติดต่อกันมาโดยลำดับ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า 

พระภัททิยะนั้น เป็นยอดของภิกษุผู้มีตระกูลสูง ก็ในปัญหากรรม

ของท่าน มีเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับต่อไปนี้:-

       ความพิสดารว่า  ในอดีตกาล  แม้พระภัททิยะนี้  

       ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในสกุลมี

โภคสมบัติมาก   ไปฟังพระธรรมตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

       ในวันนั้นได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง

ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง  จึงคิดว่า  

       แม้เราก็ควรเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูงในศาสนา

ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

       ดังนี้ จึงนิมนต์พระตถาคตถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มี

พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ๗ วัน หมอบแทบบาทมูล ตั้งความ

ปรารถนาว่า

       ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มิได้หวังสมบัติอย่างอื่น

ด้วยผลแห่งทานนี้ แต่ในอนาคตกาล ข้อข้าพระองค์พึงเป็น

ยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูง ในศาสนาของพระพุทธเจ้า

พระองค์หนึ่งเถิด พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตเล็งเห็นความ

สำเร็จ  จึงทรงพยากรณ์ว่า   กรรมนี้ของท่านจักสำเร็จในที่สุด

แห่งแสนกัปแต่กัปนี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรง

อุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูงในศาสนา

ของพระองค์ ดังนี้แล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาภัตแล้ว เสด็จกลับ

วิหาร ครั้งท่านได้ฟังพยากรณ์แล้วจึงทูลถามกรรมที่จะให้เป็น

ไปสำหรับภิกษุผู้เกิดในตระกูลสูง  ได้กระทำกรรมอันดีงาม

มากหลายจนตลอดชีวิตอย่างนี้คือ  สร้างธรรมาสน์  ปูลาด

เครื่องลาดบนธรรมาสน์นั้น พัดสำหรับผู้แสดงธรรม รายจ่าย

สำหรับพระธรรมกถึก โรงอุโสถ กระทำกาละในอัตภาพนั้นแล้ว

เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย   ในระหว่างพระทศพล

พระนามว่า กัสสป และพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา มาบังเกิดใน

เรือนของกุฎุมพีในกรุงพาราณสี

       สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์มาแต่ภูเขาคันธมาทน์

นั่งฉันบิณฑบาตในที่ ๆ สะดวกสบาย ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เขตกรุง-

พาราณสี กุฎุมพีนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น กระทำ

การแบ่งปันภัตรนั้นในที่ตรงนั้นเป็นประจำทีเดียว จึงลาดแผ่นหิน

ไว้    แผ่น  บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่จนตลอดชีพ

ตอนนั้น  ท่านเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ถึงพุทธันดรหนึ่ง 

ครั้งในพุทธธุปบาทกาลนี้จึงมาบังเกิดในขัตติยสกุลในกรุงกบิลพัสดุ์

และในวันขนานนาม   พวกญาติทั้งหลายขนานนามของท่านว่า    

ภัททิยกุมาร ภัททิยกุมารนั้นอาศัยบุญเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งในระหว่าง

กษัตริย์ ๖ พระองค์ ตามนัยที่กล่าวไว้ในอนุรุทธสูตร ในหนหลัง   

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน ทรงผนวชในสำนักของพระ

ศาสดาแล้วได้บรรลุพระอรหัต ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อ

ประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง

เอตทัคคะว่า ภัททิยะโอรสของพระนางกาฬิโคธา เป็นยอดของ

เหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูงในศาสนาของเรา.

#อง.อ. ๑/๑/๓๑๖-๓๑๘; อป.อ. ๘/๒/๑๘๑-๑๘๒.

วินย. ๗/๓๓๗-๓๔๖