พระชาติของมหาโพธิสัตว์

ในหนึ่งพุทธันดร

โดย วิชา

คำนำ

ในหนังสือเล่มนี้รวบรวมขึ้น เพื่อให้อ่านชาดกอันเป็นอดีดชาติของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้น โดยอ้างอิงจากพระไตรปิฏกและตำราอรรถกถา ซึ่งตำราอรรถกถานั้นเป็นตำราที่พระภิกษุสาวกตั้งแต่โบราณกาล ได้เขียนขึ้นเพื่อขยายพระไตรปิฏก

เจตนาหนังเสือเล่มนี้ หาได้ประสงค์เพื่อเบี่ยงเบนจากอรรถกถาที่พระภิกษุสงฆ์ในอดีตกาลได้รจนาไว้ แต่ทำให้มีการจัดลำดับและเชื่อมต่อเรื่องเพื่อให้มีรสชาติในการอ่านชาดก ผู้เขียนได้เขียนเรื่องตามสำนวนผู้เขียนโดยย่อก่อนเพื่อให้อ่านความเพลิดเพลิน แต่ถ้าตรงส่วนไหนยกพระไตรปิฏกหรืออรรถกถามาได้ก็จะยกมาแสดงทั้งหมด และได้ให้ไปหาอ่านข้อมูลของพระไตรปิฏกและอรรถกถาในท้ายของแต่ละเรื่องที่มีเนื้อหายาวๆ และในเนื้อเรื่องส่วนของผู้เขียนได้อธิบายความหมายและแนวสมมุติฐานพร้อมทั้งความคิดเห็นของผู้เขียนไว้ด้วย ดังนั้นขอให้ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านและการเชื่อ เพื่อไม่เกิดความสบสนในทางความคิดของผู้อ่านและไม่ก่อให้เกิดอกุศลต่อผู้เขียน

                ท้ายคำนำ มนุษย์ที่มีการศึกษาส่วนมากหาได้มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อมีหลักฐานอยู่การเข้าไปศึกษาก็หาได้เสียประโยชน์ หรืออาจข้ามๆ ไปบ้าง ยกเว้นท่านที่มีอัตตาจัด อคติฟุ้งฉูดขึ้นมาทันที จึงขอบอกว่า อัตตา นะ อัตตา

                ส่วนท่านที่เชื่อโดยขาดการโยนิโสมนสิการแล้วยึดมั่นถือมั่นใครมาแตะหรือปฏิเสธไม่ได้ อคติฟุ้งฉูดขึ้นมาทันที จึงขอบอกว่า อัตตา นะ อัตตา

สรุปเรียงลำดับพระชาติของมหาโพธิสัตว์

                        1. เป็นโชติปาลพราหมณ(มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        2. เป็นเทพบนชั้นดุสิต       (มีกล่าวถึงในอรรถกถา เพียงกล่าวว่าไปเกิด)

                        3. เป็นมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิด (ผู้เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อความเข้ากันได้)

                        4. เป็นเทวดาประจำสมุทร (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

5. เป็นมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด (ผู้เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อความเข้ากันได้)

                        6. เป็นรุกขเทวดา                 (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        7. เป็นมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด (ผู้เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อความเข้ากันได้)

                        8. เป็นพระอินทร                (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                หมายเหตุ เรื่องที่ 1 ถึง 8 นั้นอยู่ในสมัยที่ศาสนากัสสปพุทธเจ้ายังดำเนินอยู่

                        9. พระมหาสุตโสม              (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        10. เป็นเทวดา (ในอรรถกถา เพียงกล่าวว่าไปเกิด)

11.เป็นคุตติละโพธิสัตว์ (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

12. เป็นเทวดา                      (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เพียงกล่าวว่าไปเกิด)

13. พระเจ้าเภรุวราช           (มีในอรรถกถา)

                        14. เป็นเทวดา                      (มีในอรรถกถา เพียงกว่าว่าไปเกิด)

                15. พระเจ้าเนมิราช             (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                16. เป็นพระพรหม              (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เพียงกล่าวว่าไปเกิด)

                        17. เป็นมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด (ผู้เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อความเข้ากันได้)

                        18. พระมหากัญจนดาบส (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        19. เป็นพระพรหมเวียนว่ายตายเกิด

                        20. เป็นมหาโควินทดาบส (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        21. เป็นมนุษย์เวียนว่ายตายเกิด (ผู้เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อความเข้ากันได้)

                        22. เป็นเทวดาชั้นดาวดึงส (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        23. พระเวสสันดร               (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

                        24. พระเสตุเกตุเทพบุตร    (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

หมายเหตุ เรื่องที่ 9 ถึง 24 เป็นช่วงไม่มีพุทธศาสนา

25. พระพุทธเจ้า (มีในพระไตรปิฏก และอรรถกถา)

ต้นเรื่อง(เท้าความ)

                เมื่อโลก(กัป)บังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้ปรากฏมีพระพุทธเจ้าผ่านมาแล้วถึง 4 พระองค์ มีรายพระนามดังนี้

1.พระกกุสันธพุทธเจ้า

2.พระโกนาคมพุทธเจ้า

3.พระกัสสปพุทธเจ้า

4.พระศรีศากยมุนีโคตมพุทธเจ้า      

พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งพุทธศาสนาของพระองค์ยังดำรงค์อยู่ในปัจจุบันนี้ และในพระไตรปิฏกพระพุทธองค์ทรงแสดงอดีตชาติก่อนๆ ของพระองค์ให้ทราบ เริ่มตั้งแต่เมื่อ 4 อสงไขย เศษแสนมหากัป เมื่อครั้งดำรงค์พระชาติเป็น สุเมธดาบส ซึ่งมีระยะเวลายาวนานแสนนานมาก ๆ ดังประมาณระยะเวลาได้ดังนี้

                หนึ่งกัป คือระยะเวลาทั้งแต่โลกจักรวาลบังเกิดขึ้นจนดับสลายหรือพังทลายไป 1 ครั้ง เรียกว่า 1 กัป

                หนึ่งอสงไขย คือระยะเวลาที่โลกจักรวาลบังเกิดขึ้นและดับสลาย แล้วบังเกิดขึ้นใหม่และดับสลายไปเป็นจำนวนนับไม่ได้ หรือ เลข 1 ตามด้วย เลข 0 ถึง 140 ตัว นับเป็น 1 อสงไขย

                ดังนั้นชาติอดีตของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ตั้งแต่ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป จนถึงในปัจจุบัน มีการเกิดตายมากมายจนประมาณนับไม่ได้ แต่ในเรื่องที่เขียนนี้ จะไม่เขียนอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ช่วงก่อนกัปปัจจุบัน จะกล่าวถึงเฉพาะในกัปปัจจุบัน ซึ่งมีแสดงอยู่ในจริยาปิฏก

                ซึ่งในเรื่องที่เขียนนี้ เขียนอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าเท่านั้น เพื่อให้อยู่ในหนึ่งพุทธันดรตามเจตนาของเรื่อง ดังที่ยกมาจากพระไตรปิฏก

กัสสปพุทธวงศ์ที่ ๒๔

ว่าด้วยพระประวัติพระกัสสปพุทธเจ้า

[๒๕] สมัยต่อจากพระโกนาคมนพุทธเจ้า มีพระสัมมาพุทธเจ้าผู้อุดมกว่าสัตว์เป็นพระธรรมราชา มีพระรัศมีสว่างไสวทรงพระนามว่า กัสสปะทรัพย์อันเป็นต้นทุนของตระกูล ที่สัตว์เป็นอันมากบูชา พระองค์ทรงละทิ้งเสียแล้วทรงเป็นทายกผู้องอาจให้ทาน ยังฉันทะให้เต็ม ทรงทำลายกิเลสดังสัตว์ร้ายแล้ว ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม

เมื่อพระกัสสปะผู้เป็นนายกของโลก ทรงประกาศพระธรรมจักร ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์สองหมื่นโกฏิ ในคราวเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโลกตลอด ๔ เดือน ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์หมื่นโกฏิ ในคราวเมื่อพระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ทรงประกาศพระญาณธาตุ ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ห้าพันโกฏิ ในคราวที่พระองค์ทรงแสดงธรรม ณ สุธรรมเทพนครอันรื่นรมย์ พระชินเจ้าทรงทำให้เทวดาสามพันโกฏิได้ตรัสรู้และในคราวทรงแสดงธรรมแก่มนุษย์ เทวดา และยักษ์อีกครั้งหนึ่งมนุษย์เป็นต้นผู้ได้ตรัสรู้ธรรมนั้นจะคณนานับมิได้ แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงมีการประชุมพระภิกษุขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทินมีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ ครั้งเดียว ครั้งนั้นพระภิกษุขีณาสพผู้ล่วงสุดภพแล้ว ผู้คงที่ด้วยหิริและศีลมาประชุมกันสองหมื่น

ในกาลนั้นเราเป็นมาณพ มีชื่อปรากฏ ว่าโชติปาละ เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์รู้จบไตรเพทถึงที่สุดในคำภีร์ทำนายลักษณะและคัมภีร์อิติหาสะ เป็นผู้ฉลาดในวิชาดูพื้นที่และอากาศ เป็นผู้ใช้วิชา ไม่มีทุกข์ ฆฏิการอุบาสกผู้อุปัฏฐากแห่งพระผู้มีพระภาคกัสสปะ เป็นผู้มีความเคารพยำเกรง เป็นพระอนาคามี ฆฏิการอุบาสกได้พาเราเข้าไปเฝ้าพระกัสสปชินเจ้า เราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้วบวชในสำนักของพระองค์ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร ฉลาดในวัตรและมิใช่วัตรไม่เสื่อมในที่ไหนๆ ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระชินเจ้าบริบูรณ์ เล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้วทุกอย่าง ยังพระศาสนาของพระพิชิตมารให้งดงาม แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงเห็นความอัศจรรย์ของเราแล้ว จึงทรงพยากรณ์ว่า ในภัทรกัปนี้ผู้นี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ...... ข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉะนั้นเราได้ฟังพระพุทธพยากรณ์แม้นั้นแล้วยังจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง เราอธิษฐานวัตรในการบำเพ็ญเพียรบารมี ๑๐ ประการ การให้ยิ่งขึ้นไป เรานึกถึงพระพุทธพยากรณ์อย่างนี้แล้ว งดเว้นอนาจาร กระทำกรรมที่ทำได้ยาก เพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณเท่านั้น

พระนครชื่อว่าพาราณสี พระบรมกษัตริย์ พระนามว่ากิกี ตระกูลใหญ่ของพระสัมพุทธเจ้าอยู่ในพระนครนั้น พรหมทัตตพราหมณ์เป็นพุทธบิดานางธนวดีพราหมณีเป็นพุทธมารดา พระองค์ทรงครอบครองอาคารสถานอยู่สองพันปี ทรงมีปราสาทอันประเสริฐ ๓ ปราสาท ชื่อหังษะยสะ และสิริจันทะ มีนางสาวนารีสี่หมื่นแปดพันนางล้วนประดับประดาสวยงาม นางสุนันทาพราหมณีเป็นภรรยา บุตรชายนามว่าวิชิตเสน พระองค์ผู้เป็นบุรุษอุดม ได้เห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกบวชพร้อมด้วยปราสาท ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน พระกัสสปมหาวีรเจ้าผู้เป็นนายกของโลกผู้อุดมกว่านรชน อันพรหมทูลอาราธนาแล้วทรงประกาศพระธรรมจักรที่มฤคทายวัน ทรงมีพระติสสเถระและพระภารทวาชเถระ เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อว่าสรรพมิตตะเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก พระอนุลาเถรีและพระอุรุเวลาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา ไม้โพธิพฤกษ์ของพระองค์เรียกชื่อว่านิโครธ สุมังคลอุบาสกและฆฏิการอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก วิชิตเสนาอุบาสก และภัททาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา

พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระองค์สูง ๒๐ ศอก มีพระรัศมีเปล่งปลั่งดังสายฟ้าในอากาศดุจพระจันทร์เต็มดวง พระองค์มีพระชนมายุสองหมื่นปี เมื่อทรงดำรงอยู่เพียงนั้น ทรงช่วยให้ประชุมชนข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากมายทรงสร้างสระน้ำคือธรรมไว้ ทรงประทานเครื่องลูบไล้ คือ ศีลทรงจัดผ้าคือธรรมไว้นุ่งห่ม ทรงแจกพวงมาลัยคือธรรม ทรงตั้งกระจกเงาอันไร้มลทินคือธรรมไว้ให้มหาชน ด้วยทรงหวังว่า ชนบางพวกปรารถนานิพพาน จงเห็นเครื่องประดับของเรา ทรงจัดเสื้อคือศีล เกราะหนังคือญาณ ทรงจัดหนังคือธรรมไว้ให้คลุม และเครื่องรบอย่างดีเลิศให้ ทรงจัดโล่ห์คือสติ หอกคือญาณอันคมกล้าดาบอย่างดีคือธรรม และศาตราวุธเครื่องย่ำยีศัตรูคือศีลไว้ให้ ทรงจัดภูษา คือไตรวิชา พวงมาลัยสวมศีรษะคือผล ๔ เครื่องอาภรณ์ คืออภิญญา ๖ และดอกไม้เครื่องประดับคือธรรม ร่มขาวคือพระสัทธรรมอันเป็นเครื่องป้องกันบาป ทรงนิรมิตดอกไม้ คือ ความไม่มีเวรภัยไว้ให้เสร็จแล้ว

พระองค์ก็เสด็จนิพพานพร้อมด้วยพระสาวก แท้จริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ ยากที่จะรู้ได้พระธรรมรัตนะที่ตรัสไว้ดีแล้วควรเรียกให้มาดู พระสังฆรัตนะผู้ปฏิบัติดี ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า ทั้ง ๓ รัตนะนี้ หายไปหมดทุกอย่างแล้วสังขารทั้งปวงว่างเปล่าหนอ พระมหากัสสปชินศาสดา เสด็จนิพพานที่เสตัพยาราม พระสถูปของพระองค์ สูงหนึ่งโยชน์ ประดิษฐานอยู่ณ เสตัพยารามนั้น ฉะนี้แล.

จบกัสสปพุทธวงศ์ที่ ๒๔

จบต้นเรื่อง จากพุทธวงค์ ในพระไตรปิฏก

เริ่มเรื่อง (สำนวนผู้เขียนและต่อเติมบางส่วน)

                ระยะเวลาจาก กัสสปพุทธเจ้า ถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เรียกว่าเวลา หนึ่งพุทธันดร เริ่มต้นในพระชาติแรกคือพระชาติเป็น โชติปาละพราหมณ์

โชติปาลโพธิสัตว์

โชติปาลมานพ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนิคมชื่อว่า เวภัลลิคะ เป็นผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาดี ฐานะบิดามารดาของโชติปาลก็อยู่ในขั้นเศรษฐี ในยุคนั้นพวกพราหมณ์เป็นที่นับหน้าถือตายิ่งกว่าวรรณะใดทั้งหมด บิดามารดาได้ส่งโชติปาลมานพศึกเล่าเรียนไตรเพทจนจบสมบูรณ์ โชติปาลมานพมีความเชียวชาญในการดูทิศทางของแผ่นดินและอากาศ โชติปาลมานพมีเพื่อนที่วิ่งเล่นกันมาตั้งแต่เล็กคนหนึ่งชื่อว่า ฆะฏิมานพ ฆะฏิมานพมีวรรณะต่ำกว่า แต่ทั้งสองเป็นเพื่อนที่สนิทกันมากจนกระทั้งโตเป็นหนุ่ม และครอบครัวของฆะฏิมานพมีฐานะธรรมดาอยู่ในขั้นจนมีอาชีพทำหม้อขาย และมีมารดาบิดาที่แก่มากและตาบอดที่ต้องดูแล

ซึ่งขณะนั้นพระกัสสปพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นในโลก และฆะฏิมานพ ก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ จนบรรลุเป็นพระอนาคามี แต่ไม่สามารถบวชได้เพราะมีหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูมารดาบิดาที่ตาบอด เมื่อฆะฏิมานพบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ยังไปมาหาสู่กับโชติปาลมานพอยู่ จึงประสงค์ที่จะชวนโชติปาลมานพไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม ฆะฏิมานพเป็นถึงพระอนาคามีย่อมมีญาณทราบอยู่ เมื่อฆะฏิมานพได้เจอกับโชติปาลมานพ จึงได้เอ่ยปากชวนทำนองว่า “เพื่อนโชติปาละ พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก เราควรไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และฟังธรรมจากพระองค์ เพราะการได้พบพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ดี”

โชติปาลมานพเนื่องจากมีญาณยังอ่อนจึงตอบเพื่อนทำนองว่า “สมนะหัวโล้นเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร การเป็นพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยาก เราจะไปหาสมนะนั้นเพื่อประโยชน์อะไร” ฆะฏิมานพชวนโชติปาละถึง 3 ครั้ง โชติปาละก็ตอบทำนองเดียวกันถึง 3 ครั้ง

ฆะฏิมานพจึงชวนโชติปาละไปอาบน้ำกันในแม่น้ำ โชติปาละก็ไปอาบน้ำกับฆะฏิมานพ ระหว่างเดินไปท่าน้ำ ฆะฏิมานพได้เข้าไปจับผ้าชายพกของโชติปาลมานพแล้วกล่าวชวนดังเดิม โชติปาลมานพสะบัดผ้าชายพกออกจากมือ ฆะฏิมานพ และปฏิเสธในทำนองเดียวกัน ฆะฏิมานพได้กล่าวชวนอย่างนี้ถึง 3 ครั้งก็ได้รับคำปฏิเสธเหมือนเดิม

หลังจากนั้นทั้งสองคนก็ลงอาบน้ำและกำลังอาบน้ำอยู่ ฆะฏิมานพก็คิดว่า ต้องชวนโชติปาลมานพไปในวันนี้ให้ได้ จึงย่อมผิดธรรมเนียมของวรรณะ จึงใช้มือจับผมหลังศรีษะของโชติปาลมานพว่า “เพื่อนเอ๋ย พระพุทธเจ้า พระองค์อยู่ใกล้นี้เอง เราไปเผ้าพระพุทธเจ้ากัน เพราะการได้เผ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรมจากพระองค์ถือว่าเป็นการดี” แทนที่โชติปาละจะโกรธเคืองกลับแปลกใจว่า “เพื่อนเราชวนทั้งหลายครั้ง และยังย่อมผิดธรรมเนียมระหว่างวรรณะ ซึ่งก็คงไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา อีกอย่างก็เป็นการรักษาน้ำใจเพื่อน” โชติปาละคิดได้ดังนี้จึงตอบตกลงว่า “เราจะไปด้วยกัน”

ทั้งสองจึงขึ้นจากการอาบน้ำแต่งตัวแล้วไปเผ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเทศนาให้ฆะฏิมานพและโชติปาละฟัง ด้วยบารมีของโชติปาละที่สร้างสมมานานนักหนา ประกอบการเทศนาของพระพุทธองค์ประกอบด้วยเหตุและผลอันเป็นจริง โชติปาละจึงมีความศรัทธาเป็นอย่างมาก ได้แสดงขอบวชกับพระพุทธองค์ หลังจากนั้นก็ได้บวชเป็นพระภิกษุ พยายามศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฏกจนแม่นยำ และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงญาณสูงสุดของโลกีย์ญาณ และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระกัสสปพุทธเจ้าว่า โชติปาลภิกษุนี้ในอนาคตจะได้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ ถัดจากพระองค์ มีพระนามว่า พระโคตมพุทธเจ้า

 เมื่อโชติปาลภิกษุได้รับพุทธพยากรณ์ได้เพียรสร้างบารมีให้ยิ่งขึ้นไปโดยยึดพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ และได้ประกอบคุณงามความดีทำงานพุทธศสานานั้นงดงาม ฝ่ายฆะฏิมานพก็ได้เป็นมหาอุปัฏฐากพระกัสสปพุทธเจ้า เมื่อมารดาบิดาได้สิ้นอายุขัย ฆะฏิมานพก็ได้บวชในศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ทำให้บรรลุถึงพระอรหันต์ ยังคงเป็นพระอนาคามี เมื่อโชติปาละภิกษุและฆะฏิภิกษุสิ้นอายุขัย โชติปาละก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนชั้นดุสิต ส่วนฆะฏิภิกษุได้ไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่ชั้นสุทธาวาสพรหม อันเป็นชั้นพรหมเฉพาะพระอริยะอนาคามีเท่านั้น

                ด้วยพระโพธิสัตว์ได้ทำอกุศลกรรม โดยกล่าวตำหนิพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นสิบครั้งในช่วง ที่ฆฏิการะชวนไปเฝ้าพระกัสสปพุทธเจ้า โดยได้กล่าวดังนี้ “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเล่า ด้วยกรรมนี้ ได้ส่งผลในพระชาติสุดท้ายของมหาโพธิสัตว์เมื่อออกบวชเพื่อตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นเป็นไปได้ด้วยยากและหลงทาง คือต้องหลงทางแสวงหาอาจารย์ หลงทางการบำเพ็ญเพียรด้วยทุกข์กริยาอย่างมากมาย รวมเป็นเวลาถึง 6 ปี จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งที่พระพุทธเจ้าในอดีตที่ผ่านมาทรงออกบวชและบำเพ็ญเพียร อย่างน้อยสุด 7 วัน และอย่างมากที่สุด 10 เดือน

เรื่องโชติปาลโพธิสัตว์อ่านได้เพิ่มเติมในพระไตรปิฏก เล่มที่ 13 ฆฏิการสูตร

จบชาติที่เป็นโชติปาลโพธิสัตว์

เทพดุสิตโพธิสัตว์

                เมื่อเสวยชาติเป็นเทวดามหาโพธิสัตว์บนชั้นดุสิต (*ต่อไปขอเรียกว่ามหาโพธิสัตว์ถ้าไม่มีชื่อนำหน้า เพราะหลังจากนี้ไปไม่มีพระนิยตโพธิสัตว์องค์ใดที่จะมีบารมีพร้อมที่จะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าดังพระองค์ เรื่องตอนนี้ผู้เขียนได้เพิ่มเข้าไปเพื่อความเป็นไปได้กับในอรรถกถา เพราะอรรถกถากล่าวไว้หลังจากจุติ(ตาย)จากชาติโชติปาลภิกษุก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนชั้นดุสิต*)  ขณะที่มาหาโพธิสัตว์เสวยบุญอยู่บนชั้นดุสิตนั้น ก็หาได้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏก และเมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน หลังจากศาสนาของพระองค์ล่วงเลยมาเป็นเวลาแสนปี (*ศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้านั้นดำรงค์อยู่ในโลกนั้นเป็นเวลายาวนาน เพราะพระกัสสปพุทธเจ้าทรงสั่งสอนบรรญัติพระธรรมวินัยอย่างละเอียดเพื่อเหมาะสมกับเวไนยสัตว์ทั้งหลาย และทรงตรัสให้ภิกษุสงฆ์จดจำและบันทึกเอาไว้ เพื่อให้พระธรรมเป็นหมวดหมู่ไม่กระจัดกระจายรวมกันเป็นพระไตรปิฏก เพื่อเป็นประโยชนแด่ชนรุ่นหลัง เหมือนดังพุทธศาสนาปัจจุบันนี้ ดังนั้นพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าดำรงค์อยู่โลกประมาณ หนึ่งล้านปี หรือ 50 เท่าของอายุขัยมนุษย์ในสมัยที่พระกัสสปพุทธเจ้ามีพระชนชีพอยู่ ก็คือ 50 X 20,000 = 1,000,000 ปี ซึ่งเป็นการประมาณตามอัตราส่วนเท่ากับพุทธศาสนาในปัจจุบัน 50 X 100 = 5,000 ปี*) พระมหาโพธิสัตว์ทรงเบื่อหน่ายเทวะโลกประสงค์จะสร้างบารมีในมนุษย์โลก จึงทำการอติมุต(*อธิฐาน ให้จุติจากภพเทวดา เพื่อไปเกิดบนโลกมนุษย์*) เวียนเกิดเวียนตายบนโลกมนุษย์และเทวดา

จบมหาโพธิสัตว์บนชั้นดุสิตที่ผู้เขียนเพิ่มขึ้นมา

มนุษย์โพธิสัตว์

                มหาโพธิสัตว์ได้มาเกิดเป็นมนุษย์โลกในดินแดนพุทธศาสนา และได้สร้างบารมีตามฐานะ แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกและอรรถกถาในยุคปัจจุบัน(*ดังนั้นส่วนนี้ผู้เขียนเพิ่มขึ้นมาเอง*) เมื่อมหาโพธิสัตว์สิ้นอายุขัย ก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาดูแลมหาสมุทรนับเนื่องเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา(*ตอนนี้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกและอรรถกถา*)

จบพระชาติที่เป็นมนุษย์ที่ผู้เขียนเพิ่มเติมเข้าไป

เทวดาประจำสมุทรโพธิสัตว์

                มหาโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวาดูแลมหาสมุทร มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกดังนี้

๑๐. สีลานิสังสชาดก

ว่าด้วยอานิสงส์ศีล

                [๒๒๙] จงดูผลของศรัทธา ศีล และจาคะ นี้เถิด พระยานาคนิรมิตเพศเป็นเรือ พาอุบาสกผู้มีศรัทธาไป.

                [๒๓๐] บุคคลพึงสมาคมกับสัตบุรุษทั้งหลายเถิด พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษทั้งหลายเถิด ด้วยว่าช่างกัลบกถึงความสวัสดีได้ ก็เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษทั้งหลาย.

จบ สีลานิสังสชาดกที่ ๑๐.(*จบตามพระไตรปิฏก)

ส่วนในอรรถกถา ก็อยู่ในเรื่องสีลานิสังสชาดก ที่ 10 ดังมีเรื่อง(*เพราะในอรรถกถามีการอธิบายศัพย์บาลี อยู่ด้วยทำให้อ่านเนื้อเรื่องลำบาก ผู้เขียนจึงตัดส่วนนั้นทิ้งเสีย และต่อเติ่มบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เข้ากันเพราะมีที่ผิดพลาดอ่านแล้วเข้าใจยากหลายจุด*) ดังนี้

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกผู้มีศรัทธาคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนา ดังนี้. ได้ยินว่า อุบาสกนั้นเป็นอริยะสาวกผู้มีศรัทธาเลื่อมใส วันหนึ่งเดินไปยังพระวิหารเชตวัน ถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีในตอนเย็น แต่คนเรือจอดเรือไว้ที่ฝั่งต่างไปฟังธรรมกันหมด จึงไม่เรือในที่ท่าน้ำ อุบาสกนั้น จึงยึดปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ให้มั่นเดินลงสู่แม่น้ำ เท้าของเขาหาจมน้ำไม่ เขาเห็นคลื่นเวลาเดินไปกลางน้ำ คล้ายกับเดินเหนือพื้นดิน ครั้นปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมย์ของเขาอ่อนลงเท้าของเขาก็เริ่มจะจม เขาจึงประคองปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมย์ให้มั่น เดินไปหลังน้ำ ถึงพระเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา นั่ง ณ ส่วนหนึ่ง. พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับเขาตรัสถามว่า

ดูก่อนอุบาสก ท่านเดินทางมาถึงโดยเหน็ดเหนื่อยน้อยกระมัง

เมื่อเขากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ข้าพระองค์ยึดเอาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมย์ จึงได้ที่พึ่งเหนือหลังน้ำคล้ายกับเหยียบแผ่นดินมา

พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า   อุบาสก มิใช่ท่านเท่านั้นที่ระลึกถึงพระพุทธคุณแล้วได้ที่พึ่ง แม้แต่ก่อนอุบาสกทั้งหลายก็ระลึกถึงพระพุทธคุณได้ที่พึ่ง เมื่อเรืออับปางกลางสมุทร

เมื่ออุบาสกทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

                ในอดีตกาลครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยะสาวกผู้เป็นโสดาบัน โดยสารเรือไปกับกุกุฏพีช่างกัลบกคนหนึ่ง. ภรรยาของช่างกัลบกนั้นมอบหมายช่างกัลบกแก่เขาว่า นายสุขทุกข์ของสามีของดิฉันขอมอบให้เป็นภาระของท่าน ครั้นถึงวันที่เจ็ดเรือของกุกุฏพีช่างกัลบกอับปางลงในกลางสมุทร ชนทั้งสองเกาะแผ่นกระดานแผ่นหนึ่งลอยมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ช่างกัลบกนั้นจึงฆ่านกปิ้งกินแล้วให้อุบาสก อุบาสกไม่ยอมบริโภคโดยกล่าวว่า อย่าเลยสำหรับเราอุบาสกคิดว่า ในที่นี้นอกจากพระรัตนตรัยแล้ว ไม่มีที่พึ่งอื่นสำหรับเรา เขาจึงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย

ลำดับนั้นเมื่อเขากำลังระลึกถึง พญานาคซึ่งเกิดในเกาะนั้น ได้เนรมิตร่างของตนเป็นเรือลำใหญ่ มีเทวดาประจำสมุทรเป็นมาณพต้นหนเรือ เรือเต็มไปด้วยรตนะเจ็ดประการ เสากระโดงทั้งสาม สำเร็จด้วยแก้วมณีสีอินทนิล ใบเรือสำเร็จด้วยทอง เชือกสำเร็จด้วยเงิน คันใบสำเร็จด้วยทอง เทวดาประจำสมุทรยืนอยู่บนเรือประกาศว่า ผู้จะไปชมพูทวีปมีไหม

อุบาสกตอบว่า เราจะไป ถ้าเช่นนั้นจงมาขึ้นเรือเถิด อุบาสกขึ้นเรือแล้วเรียกช่างกัลบกขึ้นด้วย เทวดาประจำสมุทรกล่าวว่า ได้แต่ท่านเท่านั้น คนนั้นไม่ได้

อุบาสกถามว่า เพราะเหตุไรเล่า เทวดาประจำสมุทรตอบว่า เขาไม่มีคุณ คือศีลและอาจาระ เหตุเป็นดังนั้น ข้าพเจ้านำเรือมาเพื่อท่านมิใช่ผู้นี้ อุบาสกกล่าวว่า เอาละเราให้ส่วนบุญแก่คนนี้ ด้วยทานที่ตนให้ด้วยศีลที่ตนรักษาด้วยภาวนาที่ตนอบรม ช่างกัลบกตอบว่าข้าพเจ้าขออนุโมทนา

เทวดากล่าวว่า ข้าพเจ้าจักพาไปเดี๋ยวนี้แล้วอุ้มเขาพาไปทั้งสองคน ออกจากสมุทรไปถึงกรุงพาราณสีทางแม่น้ำ บันดาลให้ทรัพย์อยู่ในเรือนของเขาทั้งสอง ด้วยอานุภาพของตน เมื่อจะกล่าวถึงคุณของการสังสรรค์กับบัณฑิตว่า ควรทำความสังสรรค์กับบัณฑิตทั้งหลาย หากว่าช่างกัลบกคนนี้ไม่ได้สังสรรค์กับอุบาสกนี้ จักพินาศในท่ามกลางสมุทรนั้นเอง จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

                จงดูผลของศรัทธา ศีล จาคะ นี้เถิดพญานาคเนรมิตเพศเป็นเรือ พาอุบาสกผู้มีศรัทธาไป. บุคคลพึงสมาคมกับสัตบุรุษเถิด พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษเถิด ด้วยช่างกัลบกถึงความสวัสดีได้ก็เพราะการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษทั้งหลาย.

                เทวดาประจำสมุทร ยืนอยู่บนอากาศ แสดงธรรมกล่าวสอนอย่างนี้แล้ว จึงพาพญานาคกลับไปวิมานของตน.

                พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม แล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจธรรมอุบาสกตั้งอยู่ในสกทาคามิผล. อุบาสกโสดาบันในกาลนั้น ครั้นเจริญมรรคให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปก็นิพพาน. พญานาคได้เป็นสารีบุตร ส่วนเทวดาประจำสมุทร คือเราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาสีลานิสังสชาดกที่ ๑๐

                มากล่าวถึงเทวดาประจำสมุทรโพธิสัตว์ เมื่อเสวยสุขอยู่เทวะโลกได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็เกิดประสงค์ลงไปสร้างบารมีในมนุษย์โลก ก็อธิษฐานจุติลงไปเกิดในโลกมนุษย์ (*ส่วนนี้ผู้เขียนเพิ่มเติมเข้าไป*)

จบพระชาติที่เกิดเป็นเทวดาประจำสมุทร      

มนุษย์โพธิสัตว์

                เมื่อพระมหาโพธิสัตว์จุติจากเทวดามาเกิดบนโลกมนุษย์ ซึ่งในยุคนั้นศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้ายังดำรงค์ตั้งมั่นอยู่เป็นปึกแผ่น พระมหาโพธิสัตว์ได้สร้างบารมีตามปกติวิสัยของนิยตโพธิสัตว์ แต่หาได้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกในพุทธศาสนายุคปัจจุบันนี้ จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจผู้เขียนว่า ในยุคนั้นมีการกล่าวถึงพระโพธิสัตว์กันมากเหมือนยกปัจจุบันหรือไม่? คำตอบในใจของผู้เขียนคือ มีการกล่าวถึงแต่คงมีน้อยและคงไม่มีใครที่เป็นพระสาวกในยุคนั้นอวดอ้างตนเอง จนมากมายเกินพระพุทธองค์ เกินพระธรรม และเกินหมู่เหล่าพระสงฆ์ไปได้ ต่างจากยุคปัจจุบัน ที่จะพอวินิสัยได้มีดังนี้

                1.มนุษย์ในช่วง มีอายุขัยสองหมื่นปีนั้น คุณธรรมยังมีมาก การโกหกลองลวง โดยเฉพาะการสร้างภาพเกินความเป็นจริงยังมีน้อย

2.พระพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นในสมัยที่อายุขัยมนุษย์เป็นหมื่นปี เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานสังขารหรือพระธาตุของพระองค์ หาได้แตกกระจายเหมือนดังยุคปัจจุบัน แต่พระธาตุจะรวมกันเป็นแท่งทองมีรูปเหมือนดังพระพุทธองค์ทุกประการเป็นศูนย์รวมความศรัทธา เป็นหลักฐานอันมั่นคง

3.พระนิยตโพธิสัตว์นั้นเมื่อเกิดในพุทธศาสนาในยุคใดยุคหนึ่ง มีอุปนิสัยในการสร้างสมบารมี หาได้ประสงค์ในลาภ ยศ หรือ สรรเสริญ ไม่ประสงค์ให้มีผู้ศรัทธาท่านเกิน พระพุทธ พระธรรม และหมู่เหล่าพระสงฆ์ แม้ท่านจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ดังนั้นนิยตโพธิสัตว์คงไม่มีการสร้างภาพของตนเองขึ้นมาเพื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ ในวงของพุทธศาสนา ที่จะทำให้พระพุทธศาสนาแปดเปื้อน

                ข้อสังเกต ในพระไตรปิฏกปัจจุบันไม่มีการบันทึกกล่าวถึงในชาติที่มหาโพธิสัตว์เกิดเป็นมนุษย์ในการสร้างบารมีหลังจาก ชาติที่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ในขณะศาสนาพุทธยังดำรงค์อยู่ จึงเป็นข้อสังเกตว่า พระมหาโพธิสัตว์หรือพระนิยตโพธิสัตว์ จะไม่สร้างบารมีแล้วสร้างภาพหรือโฆษณาและทำตนให้เหนือไปจากพระพุทธ พระธรรม และหมู่เหล่าพระสงฆ์

มากล่าวถึงพระมหาโพธิสัตว์ ท่านก็สร้างสมบารมียิ่งๆ ขึ้นไปตามฐานะและวาสนาจนสิ้นอายุขัยก็ไปเกิดเป็นรุกขเทวดา ดังมีการกล่าวถึงในพระไตรปิฏกและอรรถกถา จตุทวารชาดกที่ 1

จบชาติที่เป็นมนุษย์ตามที่ผู้เขียนแต่งเติมเพิ่มขึ้นมา     

รุกขเทวดาโพธิสัตว์

                เมื่อมาเกิดเป็นรุกขเทวดา ก็มีเทพบริวารมาก ซึ่งมีการกล่าวถึงในชาดกพระไตรปิฏกดังนี้

. จตุทวารชาดก

ว่าด้วยจักรกรดพัดบนศีรษะ

                [๑๓๑๙] เมืองนี้มีประตู ๔ ประตู มีกำแพงมั่นคงล้วนแล้วไปด้วยเหล็กแดง ข้าพเจ้าถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้?

                [๑๓๒๐] ประตูทั้งหมดจึงปิดแน่น ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนนก ข้าแต่เทวดา เหตุเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงลูกจักรกรดพัดศีรษะ?

                [๑๓๒๑] ท่านได้ทรัพย์มากมายถึงสองล้านแล้ว มิได้ทำตามคำชอบของญาติทั้งหลายผู้เอ็นดู.

                [๑๓๒๒] ท่านแล่นเรือไปสู่สมุทรซึ่งอาจยังเรือให้โลดขึ้นได้ เป็นสาครมีสิทธิ์น้อยได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นางเป็น ๘ นาง จาก ๘นางเป็น ๑๖ นาง.

                [๑๓๒๓] ถึงจะได้ประสบนางเวมานิกเปรตจาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยังปรารถนายิ่งไปกว่านั้น จึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรดย่อมพัดผันบนศีรษะของคนผู้ถูกความอยากครอบงำ.

                [๑๓๒๔] ความอยากเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะให้เต็มได้ มักให้ถึงความวิบัติ ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยาก ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้

                [๑๓๒๕] อนึ่ง ชนเหล่าใดละทิ้งสิ่งของมากมายเสีย ไม่พิจารณาหนทางให้ถ่องแท้ไม่ใคร่ครวญเหตุนั้นให้ถี่ถ้วน ชนเหล่านั้นต้องเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.

                [๑๓๒๖] ผู้ใดพึงพิจารณาถึงการงาน และโภคะอันไพบูลย์ ไม่ส้องเสพความอยากอันประกอบด้วยความฉิบหาย ทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดูทั้งหลาย ผู้เช่นนั้นไม่พึงถูกจักรกรดพัดผัน.

                [๑๓๒๗] ข้าแต่เทวดา จักรกรดจักตั้งอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้านานสักเท่าไรหนอ สักกี่พันปี ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด?

                [๑๓๒๘] ดูกรมิตตวินทุกะ ท่านจงฟังเรา ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน จักรกรดจะพัดผันอยู่บนศีรษะของท่าน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จะพ้นจักรกรดนั้นไปไม่ได้.

จบ จตุทวารชาดกที่ . ยกมาจากพระไตรปิฏกเล่มที่ 27

                และได้มีตามอรรถกถาดังนี้(*ผู้เขียนได้ตัดการอธิบายภาษาบาลีออกเพื่อไม่สับสน และมีการตกแต่งบางส่วนเพื่อให้อ่านง่าย*)

อรรถกถาจตุทวารชาดกที่

                พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า จตุทฺวารมิทํ นครํดังนี้. ก็แหละ เรื่องปัจจุบัน บัณฑิตพึงให้พิสดารในชาดกเรื่องที่ ๑ในนวกนิบาต.

                สำหรับในที่นี้มีความว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้ว่ายากจริงหรือ ? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่าจริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อนเธอก็ไม่เชื่อฟังคำของบัณฑิตไปยินดีจักรกรด เพราะที่เป็นผู้ว่ายากดังนี้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:-

                ในอดีตกาล ครั้งศาสนาพระกัสสปทศพล ในเมืองพาราณสีเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิมีบุตร ๑ คน ชื่อมิตตวินทุกะ มารดาบิดาของมิตตวินทุกะ เป็นพระโสดาบัน. แต่มิตตวินทุกะเป็นคนทุศีลไม่มีศรัทธา ต่อมาเมื่อบิดาตายแล้วมารดาตรวจตราดูแลทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งกล่าวกะเขาว่า ลูกรักความเป็นมนุษย์เป็นของที่ได้ยาก เจ้าก็ได้แล้วเจ้าจงให้ทานรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม ฟังธรรมเถิด มิตตวินทุกะกล่าวว่า แม่ ทานเป็นต้นไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน แม่อย่าได้กล่าวอะไรๆ กะฉัน ฉันจะไปตามยถากรรม ถึงแม้เขาจะกล่าวอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งเป็นวันบูรณมีอุโบสถ มารดาได้กล่าวกะเขาว่า ลูกรักวันนี้เป็นวันอภิลักขิตสมัยมหาอุโบสถ วันนี้เจ้าจงสมาทานอุโบสถ ไปวิหารฟังธรรมอยู่ตลอดคืนแล้วจงมา แม่จะให้ทรัพย์แก่เจ้าพันหนึ่ง เขารับคำว่า ดีแล้ว สมาทานอุโบสถเพราะอยากได้ทรัพย์ พอบริโภคอาหารเช้าแล้วไปวิหารอยู่ที่วิหารตลอดวัน แล้วนอนหลับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งตลอดคืน โดยอาการที่บทแห่งธรรมแม้บท ๑ ก็ไม่กระทบหู วันรุ่งขึ้นเขาล้างหน้าไปนั่งอยู่ที่เรือนแต่เช้าทีเดียว.     

ฝ่ายมารดาของเขาคิดว่า วันนี้ลูกของเราฟังธรรมแล้ว จักพาพระเถระผู้ธรรมกถึกมาแต่เช้าทีเดียว จึงตกแต่งข้าวยาคูเป็นต้น แล้วปูลาดอาสนะไว้คอยท่าอยู่ ครั้นเห็นเขามาคนเดียว จึงถามว่า ลูกรักเจ้าไม่ได้นำพระธรรมกถึกมาหรือ ? เมื่อเขากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการพระธรรมกถึก จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นลูกจงดื่มข้าวยาคูเถิด เขากล่าวว่าแม่รับว่าจะให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่ฉัน แม่จงให้ทรัพย์แก่ฉันก่อน ฉันจักดื่มภายหลัง มารดากล่าวว่า ดื่มเถิดลูกรักแล้วแม่จักให้ทีหลัง เขากล่าวว่าฉันต้องได้รับทรัพย์ก่อนจึงจะดื่ม

ลำดับนั้น มารดาได้เอาห่อทรัพย์พันหนึ่งวางไว้ต่อหน้าเขา เขาดื่มข้าวยาคูแล้วถือเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไปทำการค้าขาย ในไม่ช้านักก็เกิดทรัพย์ขึ้นถึงแสนสองหมื่น. ลำดับนั้นเขาได้มีความคิดดังนี้ว่า เราจักต่อเรือทำการค้าขาย ครั้นเขาต่อเรือแล้วได้กล่าวกะมารดาว่า แม่ฉันจักทำการค้าขายทางเรือ ครั้งนั้นมารดาได้ห้ามเขาว่า ลูกรัก เจ้าเป็นลูกคนเดียวของแม่ แม้ในเรือนนี้ก็มีทรัพย์อยู่มาก ทะเลมีโทษไม่น้อยเจ้าอย่าไปเลย เขากล่าวว่า ฉันจักไปให้ได้ แม่ไม่มีอำนาจที่จะห้ามฉัน แม้เมื่อมารดากล่าวว่า ลูกรัก แม่ต้องห้ามเจ้า แล้วจับมือเอาไว้ ก็สลัดมือผลักมารดาให้ล้มลง แล้วข้ามไปลงเรือแล่นไปในทะเล.

                ครั้นถึงวันที่ ๗ เรือได้หยุดนิ่งอยู่บนหลังน้ำกลางทะเล เพราะมิตตวินทุกะเป็นเหตุ สลากกาลกัณณีที่แจกไปได้ตกในมือของมิตตวินทุกะคนเดียวถึงสามครั้ง ครั้งนั้น พวกที่ไปด้วยกันได้ผูกแพให้เขาแล้วโยนเขาลงทะเล โดยที่คิดเห็นร่วมกันว่า คนเป็นจำนวนมากอย่ามาพินาศเสีย เพราะอาศัยนายมิตตวินทุกะนี้คนเดียวเลย ทันใดนั้นเรือได้แล่นไปในมหาสมุทรโดยเร็ว มิตตวินทุกะนอนไปในแพลอยไปถึงเกาะน้อยแห่งหนึ่ง บนเกาะน้อยนั้นเขาได้พบนางชนี คือนางเวมานิกเปรต ๔ นาง อยู่ในวิมานแก้วผลึก นางเปรตเหล่านั้นเสวยทุกข์ ๗ วันเสวยสุข ๗ วัน มิตตวินทุกะได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้น ๗ วันในวาระสุข ครั้นถึงวาระที่จะเปลี่ยนไปทนทุกข์ นางทั้ง ๔ ได้สั่งว่า นาย พวกฉันจักมาในวันที่ ๗ ท่านอย่ากระสันไปเลย จงอยู่ในที่นี้จนกว่าพวกฉันจะมา ดังนี้แล้วพากันไป

มิตตวินทุกะเป็นคนตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ลงนอนบนแพนั้นลอยไปตามหลังสมุทรอีก ถึงเกาะน้อยอีกแห่งหนึ่ง ได้พบนางเปรต ๘ นาง ในวิมานเงินบนเกาะนั้นได้พบนางเปรต ๑๖ นาง ในวิมารแก้วมณีบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง ได้พบนางเปรต ๓๒ นาง ในวิมานทองบนเกาะอีกแห่งหนึ่ง โดยอุบายนี้แหละได้เสวยทิพยสมบัติอยู่กับนางเปรตเหล่านั้นทุกๆ เกาะ

ดังกล่าวแล้วเมื่อถึงเวลาที่นางเปรตแม้เหล่านั้นไปทนทุกข์ ได้นอนบนหลังแพลอยไปตามห้วงสมุทรอีก ได้พบเมืองๆ หนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ มีประตู ๔ ด้าน ได้ยินว่าที่นี่เป็นอุสสทนรกเป็นที่เสวยกรรมกรณ์ของเหล่าสัตว์นรกเป็นจำนวนมาก แต่ได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเหมือนเป็นเมืองที่ประดับตกแต่งไว้ เขาคิดว่า เราจักเข้าไปเป็นพระราชาในเมืองนี้ แล้วเขาไปได้เห็นสัตว์นรกตน ๑ ทูนจักรกรดหมุนเผาผลาญอยู่บนศีรษะขณะนั้นจักรดบนศีรษะสัตว์นรกนั้น ได้ปรากฏแก่มิตตวินทุกะเป็นเหมือนดอกบัว เครื่องจองจำ ๕ ประการที่อก ปรากฏเหมือนเป็นสังวาลย์เครื่องประดับทรวง โลหิตที่ไหลจากศีรษะเหมือนเป็นจันทน์แดงที่ชะโลมทา เสียงครวญครางเหมือนเป็นเสียงเพลงขับที่ไพเราะ มิตตวินทุกะเข้าไปใกล้สัตว์นรกนั้น แล้วกล่าวขอว่า

ข้าแต่บุรุษผู้เจริญ ท่านได้ทัดทรงดอกบัวมานานแล้ว จงให้แก่ข้าพเจ้าเถิด สัตว์นรกกล่าว่าแน่ะสหาย นี้มิใช่ดอกบัวมันคือจักรกรด มิตตวินทุกะกล่าวว่า ท่านพูดอย่างนี้เพราะไม่อยากจะให้แก่เรา สัตว์นรกคิดว่า บาปของเราคงสิ้นแล้ว แม้บุรุษผู้นี้ก็คงจะทุบตีมารดามาแล้วเหมือนเรา เราจักให้จักรกรดแก่มัน ครานั้นสัตว์นรกได้กล่าวกะมิตตวินทุกะว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ ท่านจงรับดอกบัวนี้เถิด แล้วขว้างจักกรดไปบนศีรษะของมิตตวินทุกะ จักรกรดได้ตกลงพัดผันบนศีรษะเขา ขณะนั้น มิตตวันทุกะจึงรู้ว่าดอกบัวนั้นคือจักรกรด ได้รับทุกขเวทนาเป็นกำลัง คร่ำครวญว่าท่านจงเอาจักรกรดของท่านไปเถิดๆ สัตว์นรกตนนั้นได้หายไปแล้ว.

                คราวนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา พร้อมด้วยบริวารใหญ่เที่ยวจาริกไปในอุสสทนรกได้ไปถึงที่นั้น มิตตวินทุกะแลเห็นรุกขเทวดา เมื่อจะถามว่า ข้าแต่เทวราชเจ้าจักรนี้ลงบดศีรษะประหนึ่งว่าจะทำให้แหลกเหมือนเมล็ดงา ข้าพเจ้าได้กระทำบาปอะไรไว้หนอ ดังนี้ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:-

                เมืองนี้มีประตู ๔ ประตู มีกำแพงมั่นคงล้วนแล้วไปด้วยเหล็กแดง ข้าพเจ้าถูกล้อมไว้ด้วยกำแพง ข้าพเจ้าได้ทำบาปอะไรไว้ ประตูทั้งหมดจึงปิดแน่น ข้าพเจ้าถูกขังเหมือนนก ข้าแต่เทวดา เหตุเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าจึงถูกจักรกรดพัดศีรษะ ?

                ลำดับนั้น เทวราชเมื่อจะบอกเหตุแก่เขา จึงได้กล่าวคถา ๖ คาถาว่า:-  ท่านได้ทรัพย์มากมายแสนสองหมื่นแล้วยังไม่เชื่อคำของญาติผู้เอ็นดู ท่านแล่นเรือไปสู่สมุทรอันอาจทำให้เรือโลดขึ้นได้ เป็นสาครที่มีสิทธิ์น้อย ได้ประสบนางเวมานิกเปรต ๔ นาง จาก ๔ นางเป็น ๘ นาง จาก ๘ นาง เป็น ๑๖ นาง.ถึงจะได้ประสบนางเวมานิกเปรตจาก ๑๖ นางเป็น ๓๒ นาง ก็ยังปรารถนายิ่งไปกว่านั้นจึงได้ประสบจักรนี้ จักรกรดย่อมพัดผันบนศีรษะของคนผู้ถูกความอยากครอบงำ ความอยากเป็นของสูงใหญ่ไพศาล ยากที่จะให้เต็มได้ มักให้ถึงความวิบัติ ชนเหล่าใดย่อมยินดีไปตามความอยาก ชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.ชนเหล่าใดละสิ่งของที่มีมากเสียด้วยไม่พิจารณาหนทางด้วย แล้วไม่คิดอ่านเหตุการณ์นั้นให้ถ่องแท้ ชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ทรงจักรกรดไว้.ผู้ใดพึงเพ่งพินิจถึงการงานและโภคะอันไพบูลย์ ไม่ซ่องเสพความอยากอันประกอบด้วยความฉิบหาย ทำตามถ้อยคำของผู้เอ็นดูทั้งหลาย ผู้เช่นนั้น จะไม่ถูกจักรกรดพัดผัน.

มิตตวินทุกะได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า เทวบุตรนี้รู้กรรมที่เราทำไหว้โดยถ่องแท้ เทวบุตรนี้คงจะรูกำหนดกาลที่เราจะหมกไหม้อยู่ เราจะถามท่านดู ดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า ข้าแต่ท่านผู้น่าบูชา จักรกรดจักตั้งอยู่บนศีรษะของข้าพเจ้านานสักเท่าไรหนอ จะสักกี่พันปี ข้าพเจ้าขอถามความนั้น ขอท่านได้โปรดบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด.

                ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะบอกแก่มิตตวินทุกะนั้น จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑๐ ว่า:- ดูก่อนมิตตวินทุกะ ท่านจงฟังเรา ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน จักรกรดจะพัดผันอยู่บนศีรษะของท่าน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่จะพ้นไปไม่ได้ ครั้นเทวบุตรกล่าวคาถานี้แล้ว ก็ได้ไปเทพวิมานของตน ส่วนมิตตวินทุกะ ก็ได้ดำเนินไปสู่ทุกข์ใหญ่

                พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก มิตตวินทุกะในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุว่ายากรูปนี้ในบัดนี้ ส่วนเทวราชในครั้งนั้น คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาจตุทวารชาดกที่

                พระมหาโพธิสัตว์เมื่อเสวยสุขในภพรุกขเทวดา ได้เป็นเวลาพักหนึ่งก็ประสงค์ไปสร้างบารมียังมนุษย์โลก จึงได้อธิษฐานจุติลงไปเกิดในมนุษย์โลก

จบพระชาติที่เป็นรุกขเทวดา ยกจากพระไตรปิฏกและอรรถกถา

มนุษย์โพธิสัตว์

                พระมหาโพธิสัตว์ก็ลงมาเกิดบนมนุษย์โลก ซึ่งขณะนั้นพระศาสนาของกัสสปพุทธเจ้ายังดำรงค์ตั้งมั่นอยู่ พระมหาโพธิสัตว์ก็ทรงสร้างบารมีในพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป แล้วพระมหาโพธิสัตว์เวียนเกิดเวียนตายระหว่างมนุษย์และเทวะโลกหลายพระชาติ ในพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า สาเหตุเพราะพระมหาโพธิสัตว์หมั่นเพียรอธิษฐานลงมาเกิดโลกมนุษย์เพื่อสร้างบารมีในพระพุทธศาสนา จนล่วงเลยมาถึงปลายสมัยพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า พระมหาโพธิสัตว์เมื่อสิ้นอายุขัยจุติจากโลกมนุษย์ ก็ไปเกิดเป็นเทวดาบนชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นถึงพระอินทร์ ปกครองเทวดาชั้นดาวดึงส์

จบพระชาติที่เวียนเกิดตายในโลกมนุษที่ผู้เขียนแต่งเติมเข้าไป

พระอินทร์โพธิสัตว์

                เมื่อพระมหาโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระอินทร์ เป็นราชาของเทพดาวดึงส์และจาตุ ซึ่งเป็นช่วงตอนปลายสมัยของศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า พระอินทร์ทรงเห็นว่า เทพบุตรที่มาเกิดในเทวะโลกลดน้อยลง แต่ไปเกิดในนรกนั้นมาก ก็รู้ว่าบัดนี้เป็นช่วงปลายสมัยศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าและกำลังจะหมดไป ซึ่งอายุขัยของมนุษย์เหลือประมาณหมื่นปี จึงดำหริว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้พระกัสสปศาสนาดำรงค์ไปอีกสักหมื่นปี จึงคิดได้ว่าเราต้องทำให้มนุษย์เกรงกลัวและไม่กล้าทำความชั่วด้วยอำนาจของเทวดา จึงมีเทวะบัญชาเรียกมาตุลีเทพบุตร แล้วกล่าวว่า เราจะลงไปยังโลกมนุษย์ ให้ท่านแปลงเป็นหมาดำตัวใหญ่ เท่ากับม้า มีเขี้ยวยาวดวงตาและกริยาดุร้ายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเราจะแปลงเป็นพรานป่ารูปร่างกำยำดูน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะทำให้ชาวโลกเกรงกลัวต่อบาป แล้วตรงไปยังเมืองส่งเสียงคำรามดังปานเสียงฟ้าผ่า เป็นที่หวาดหวั่นตกใจกลัวของชาวเมืองทั้งหลาย แล้วตรงไปจนถึงพระราชวัง และที่ประทับของพระราชา ดังมีในพระไตรปิฏกดังนี้

. มหากัณหชาดก

ว่าด้วยคราวที่สุนัขดำกินคน

                [๑๖๖๑] ดูกรท่านผู้มีความเพียร สุนัขตัวนี้ดำจริง ดุร้าย มีเขี้ยวขาว มีความร้อนพุ่งออกจากเขี้ยวท่านผูกไว้ด้วยเชือกถึง ๕ เส้น สุนัขของท่านจะทำอะไร?

                [๑๖๖๒] ดูกรพระเจ้าอุสินนระ สุนัขนี้มิได้มาเพื่อต้องการกินเนื้อ แต่มาเพื่อจะกินมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อใด จักมีมนุษย์ทำความพินาศให้แก่มนุษย์ทั้งหลายเมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้ก็จะหลุดไปกินมนุษย์.

                [๑๖๖๓] เมื่อใด คนทั้งหลายผู้ปฏิญาณตนว่า เป็นสมณะมีบาตรในมือ ศีรษะโล้นคลุมผ้าสังฆาฏิ จักทำไร่ไถนาเลี้ยงชีพ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้ก็จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

                [๑๖๖๔] เมื่อใด จักมีหญิงผู้ปฏิญาณตนว่า มีตบะ บวชมีศีรษะโล้น คลุมผ้าสังฆาฏิเที่ยวบริโภคกามคุณอยู่ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินหญิงเหล่านั้น.

[๑๖๖๕] เมื่อใด ชฎิลทั้งหลายมีหนวดอันยาว มีฟันเขลอะ มีศีรษะเกลือกกลั้วด้วยธุลี เที่ยวภิกขาจาร รวบรวมทรัพย์ไว้ให้เขากู้ ชื่นชมยินดีด้วยดอกเบี้ยเลี้ยงชีพ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินชฎิลเหล่านั้น.

                [๑๖๖๖] เมื่อใด พราหมณ์ทั้งหลายเรียนเวทคือสาวิตติศาสตร์ ยัญญวิธี และยัญญสูตรแล้วรับจ้างบูชายัญ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินพราหมณ์เหล่านั้น.

                [๑๖๖๗] เมื่อใด ผู้มีกำลังสามารถจะเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชรา เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

                [๑๖๖๘] อนึ่ง เมื่อใด ชนทั้งหลายจักกล่าวดูหมิ่นมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าชราว่า เป็นคนโง่เง่า เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

                [๑๖๖๙] อนึ่ง เมื่อใด คนในโลกจักคบหาภรรยาของอาจารย์ ภรรยาเพื่อน ป้าและน้าเป็นภรรยา เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

                [๑๖๗๐] เมื่อใด พวกพราหมณ์จักถือโล่ห์และดาบเหน็บกระบี่ คอยดักอยู่ที่ทางฆ่าคนชิงเอาทรัพย์ เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินพราหมณ์เหล่านั้น.

                [๑๖๗๑] เมื่อใด นักเลงหญิงทั้งหลาย ขัดสีผิวกายบำรุงร่างกายให้อ้วนพี ไม่รู้จักหาทรัพย์ ร่วมสังวาสกับหญิงหม้ายที่มีทรัพย์ ครั้นใช้สอยทรัพย์ของหญิงหม้ายนั้นหมดแล้ว ก็ทำลายมิตรภาพไปหาหญิงอื่นต่อไป เมื่อนั้นสุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินนักเลงหญิงเหล่านั้น.

                [๑๖๗๒] เมื่อใด คนผู้มีมารยา ปกปิดโทษตน เปิดเผยโทษผู้อื่น คิดให้ทุกข์ผู้อื่น มีอยู่ในโลก เมื่อนั้น สุนัขดำตัวนี้จะหลุดไปกินคนเหล่านั้น.

จบ มหากัณหชาดกที่ .

หลังจากนั้นหลังจากพระอินทร์แปลง ก็แสดงร่างที่แท้จริงแสดงธรรมแก่ชาวเมืองและพระราชา ชาวเมืองและพระราชาก็ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ดำรงค์พุทธศาสนายืนยาวไปอีกช่วงเวลาหนึ่ง  ส่วนในอรรถกถา ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่านี้อ่านได้ที่ อรรถกถากัณหชาดก

สรุปตอนท้ายอรรถกถา เขียนไว้ว่า พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดง แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราประพฤติประโยชน์แก่โลกแม้ในกาลก่อนอย่างนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า มาตลีเทพบุตรในครั้นนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ ส่วนท้าวสักกะได้มาเป็นเราตถาคตแล.

                หลังจากพระอินทร์มหาโพธิสัตว์ ได้กลับไปยังวิมานของพระองค์และได้ปกครองเหล่าเทพเทวดาอยู่จน พระพุทธศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าจบสิ้นลง หลังจากอายุขัยของมนุษย์น้อยกว่า หนึ่งหมื่นปี พระอินทร์มหาโพธิสัตว์ ก็ประสงค์จะลงไปสร้างบารมีบนมนุษย์โลก จึงทรงอธิษฐานจุติจากเทวโลกลงมาเกิดในโลกมนุษย์มีใน มหาสุตโสมชาดก

จบพระชาติเป็นพระอินทร์

มหาสุตโสมโพธิสัตว์

                                เรื่องย่อนี้ผู้เขียนเล่าเองเพราะในพระไตรปิฏกและอรรถกถานั้นยาวมาก

                พระมหาโพธิสัตว์เกิดในมนุษย์โลก ในพระครรภ์พระมเหสีของราชาทรงพระนามว่า โกรัพยะ พระราชาและชาวเมืองตั้งชื่อมหาโพธิสัตว์ว่า สุตโสม เมื่อพระสุตโสมเจริญวัยขึ้น พระราชาจึงส่งไปเรียนที่เมืองตักศิลา พระสุตโสมได้รู้จักกับพระพรหมทัตกุมารที่เดินทางมาเรียนเหมือนกัน ได้ทักทายกันและแสดงความเป็นเพื่อนกัน เดินทางร่วมกันเพื่อไปหาอาจารย์สอนศิลปะวิทยาต่างๆ เมื่อไปถึงสำนักอาจารย์ก็ไปเจอกับราชกุมารของเมื่อต่างๆ ถึง 101 คนที่ร่วมเรียนด้วยกัน

สุตโสมกุมารมีปัญญามากมีคุณธรรมมาก จึงช่วยแนะนำและตักเตือนถึงคุณธรรมต่างๆ แก่บรรดาพระสหาย และพระกุมารต่างๆ ก็ยอมยกให้สุตโสมกุมารเป็นผู้คอยสอนและตักเตือน หลังจากราชบุตรทั้งหลายเรียนจบหลักสูตร ต่างก็แยกย้ายกันกลับเมืองของตน และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชาของเมื่องของตน และพระเจ้าสุตโสม ก็ทรงแนะนำให้ราชาทั้งหลายตั้งมั่นอยู่ในศีล และพระองค์ทรงถืออุโบสถศีล ในวันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ระยะเวลาก็ล่วงเลยมาอย่างปกติ

เรื่องก็บังเกิดขึ้นกับพระเจ้าพรหมทัต เพราะพระพรหมทัตทรงชอบในการเสวยเนื้อเป็นอย่างมาก แม้วันใดเนื้อมีน้อยพระองค์จะเกี่ยวกราดตะวาตเหมือนจะฆ่าหัวหน้าครัวให้ได้ เป็นที่เกรงกลัวของหัวหน้าครัวและพนังนักงานครัวต่าง ในวันหนึ่งพระพรหมทัตทรงให้หัวหน้าครัวจัดทำแกงเนื้อให้พระองค์เสวย หัวหน้าครัวก็จัดหาเนื้ออย่างดีมาเพื่อพระเจ้าพรหมทัตเตรียมไว้ และในคืนนั้นสุนัขในราชวังก็ได้ลักกินเนื้อจนหมดสิ้น หัวหน้าครัวตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นเนื้อ จึงตกใจเป็นอย่างมากหาซื้อเนื้อที่ไหนก็คงไม่มี ด้วยความกลัวตาย จึงได้ไปยังป่าช้า ไปเจอศพที่เพิ่งตายใหม่ๆ จึงได้ชำเละเนื้อที่โคนขาของศพไป ทำอาหารให้พระราชา พระเจ้าพรหมทัตเมื่อได้เสวยเข้าไป ทรงติดพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และถ้าไม่ได้เสวยอีกในมื้อต่อพระองค์ต้องตายแน่ๆ สาเหตุเพราะชาติที่ผ่านมาท่านได้เกิดเป็นยักษ์ ที่จับมนุษย์ที่หลงเข้าไปในป่ากิน และพระองค์ทรงทราบว่าเนื้อนี้ไม่ใช่เนื้อที่พระองค์เสวยเป็นประจำ จึงออกอุบายให้จับหัวหน้าครัวเข้ามาหาพระองค์ และพระองค์ถามอย่างเสียงอันดังว่า เนื้อนี้เราไม่เคยกิน เจ้าเอามาจากไหน ถ้าเจ้าไม่บอกตามความจริงเราจะฆ่าเจ้าทันที ถ้าบอกตามความจริงเราจะยกโทษให้เจ้า หัวหน้าคนครัวด้วยความกลัวตาย จึงบอกความจริงทั้งหมด พระราชพรหมทัตจึงตรัสว่า เออดี ต่อแต่นี้ให้เจ้าหาเนื้อให้ข้ากินทุกวัน ถ้าไม่เช่นนั้นข้าจะกินเจ้า

ตั้งแต่นั้นมาหัวหน้าครัวต้องไปป่าช้าทุกวันเพื่อไปหาศพที่เพิ่งตายมาทำอาหารให้พระราชา เมื่อหลายวันเข้าก็หาศพที่เพิ่งตายได้ยากมาก พ่อครัวก็ทูลบอกพระราชา พระราชาจึงบอกว่า เจ้าจงเอานักโทษที่โดนตัดสินประหารแล้วมาทำอาหารให้ข้ากิน ต่อมานักโทษประหารก็หมด พระราชาจึงสั่งพ่อครัวว่า ให้เอาเงิน 1000 ไปให้ผู้คุมและนำนักโทษมาครั้งละคนทำเป็นอาหารให้พระองค์ จนนักโทษหมดเรือนจำ พระราชาจึงสั่งให้พ่อครัว เอาเงิน 1000 บอกว่าใครประสงค์เงิน 1000 ให้มาเอาสถานที่นี้แล้วให้ฆ่าเสียทำเป็นอาหารให้พระองค์ ชาวบ้านต่างเริ่มเห็นญาติพี่น้องหายไปก็บอกต่อๆ กัน จึงไม่มีใครย่อมรับเงิน

พระราชาจึงสั่งพ่อครัวให้ไปดักจับคนออกนอกบ้านในตอนกลางคืน ทำให้ประชาชนต่างๆ ร้องเรียนต่อกาฬหัตถีเสนาบดี ว่าญาติพี่น้องได้หายไปมากแล้ว และพระราชาก็ไม่ทรงสนพระทัย กาฬหัตถีเสนาบดีจึงกล่าวว่า ให้พวกชาวบ้านชาวเมือง จัดเวรยามจับคนที่ คอยดักจับคนที่จับคนในเวลากลางคืน อยู่มาวันหนึ่งก็ดักจับพ่อครัวได้ จึงนำตัวมาหากาฬหัตถีเสนาบดีสอบสวน จึงได้ทราบว่าพ่อครัวนั้นได้ทำตามคำสั่งของพระราชา ชาวเมืองก็รุกอือให้ฆ่าพระราชาหรือให้เนรเทศออกจากเมือง ทุกฝ่ายตกลงเนรเทศออกไปจากเมือง

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตถูกเนรเทศไปแล้วก็ได้อาศัยอยู่ในราวป่า ค่อยจับฆ่าคนกินเป็นอาหารเพราะไม่สามารถอดกินเนื้อคนได้ จนได้ชื่อว่าโจรโปริสาท วันหนึ่งมีคหบดีคนหนึ่งเดินทางผ่านป่านั้นพร้อมกับบริวารเพื่อไปทำธุระ ก็ได้มีชาวบ้านบอกแล้วในป่านั้นมีโจรโปริสาทคอยดักฆ่ามนุษย์กินเป็นอาหาร แต่คหบดีหากลัวไม่เพราะมีบริวารมากมาย จึงเดินทางไป ฝ่ายโปริสาทก็ได้ขึ้นไปบนต้นไม้มองดูคนที่สรรจรอยู่ ก็เห็นกระบวนของคหบดี จึงประสงค์จะจับไปเป็นอาหารสักคนหนึ่ง ก็เห็นคหบดีนั้นเนื้อตัวสะอาด จึงประสงค์จะจับคหบดีนั้นกินเป็นอาหาร พอขบวนมาถึงก็กระโดยจับหักคอคหบดีทั้งที่นั่งอยู่บนรถ แบกและวิ่งหนีไป แล้วบริวารคหบดีวิ่งตามไป ธรรมดาโปริสาทนั้นเชียวชาญในการยุตที่ได้ร่ำเรียนมา บริวารเหล่านั้นย่อมวิ่งตามไม่ทันอย่างแน่นอน แต่โปริสาทได้วิ่งไปเยียบเอาตอไม้เหลมจนตะลุฝ่าเท้า ต้องโยนคหบดีนั้นทิ้งเสีย ตนเองก็วิ่งทนต่อความเจ็บปวดไปยังใต้ตนไม้ใหญ่ต้นหนึ่งในป่านอนราบอยู่ ดูเท้าตนเองและคิดว่าตนเองต้องตายในป่านี้แน่ จึงได้กล่าวออกว่า ถ้าข้ารอดชีวิตในครั้งนี้ ข้าจะจับราชาทั้ง 101 พระองค์ มาบวงสรวงเทวดาที่สิงสถิตอยู่ต้นไม้ใหญ่นี้ แล้วนอนอดอาหารอยู่สองวันแล้วจับสัตว์เล็กๆ และยอดไม้กิน จนแผลนั้นหายดีเป็นปกติ จึงเข้าใจว่าที่ตนรอดตายนั้นเพราะเทวดาที่สิงต้นไม้ใหญ่คอยปกปักรักษา ดังนั้นต้องจับราชาทั้ง 101 คนมาบวงสรวงให้ได้ แต่ก็ยังเทียวจับสัตว์กินในบริเวณนั้นเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

ได้มาเจอยักษ์ตนหนึ่งที่เคยเป็นเพื่อนยักษ์กันในชาติที่แล้ว ยักษ์นั้นจำได้ และเห็นเพื่อนวิ่งจับสัตว์กินช้าไม่ทันใจเหมือนยักษ์ จึงสอนมนตร์ที่วิ่งได้เร็วตัวเบา และกระโดดได้ไกลดังพายุหมุนให้โปริสาท แล้วสหายยักษ์ก็จากไปยังเขตของตน เมื่อโปริสาทได้มนตร์นี้ การจับมนุษย์กินนั้นง่ายดายยิ่ง ต่อให้มีทหารคอยคุ่มกันเป็นกองทัพก็ไม่สามารดักจับโปริสาทได้ ด้วยการที่ได้ร่ำเรียนการยุทธ์และมีมนตร์ของยักษ์ จุดประสงค์ของโปริสาทย่อมสำเร็จได้อย่างง่ายดาย

ซึ่งโปริสาทใช้เวลาแค่ 7 วันเท่านั้นในการจับราชาทั้ง 101 คน เว้นแต่พระเจ้าสุตโสมที่เป็นเพื่อนรัก มาพัธนาการไว้แล้วเอาเชือกเจาะทะลุมือของราชาแต่ละองค์ผูกกับต้นไม้ใหญ่นั้นเพื่อไม่ให้สามารถหนีหรือมีกำลังต่อสู้ และคิดว่าเราจะฆ่าราชาทั้ง 101 องค์เอาเลือดลาดต้นไม้ใหญ่บวงสรวงเทวดาวันนี้ เทวดาสิงสถิตต้นไม่ใหญ่นั้นร้อนใจว่าราชาทั้ง 101 พระองค์จะต้องมาสิ้นชีวิตและมาเกี่ยวข้องเพราะเหตุเกี่ยวกับตนหาได้ไม่ จึงข้อร้องพระอินทร์ให้ช่วย พระอินทร์ก็บอกว่าช่วยไม่ได้ ยกเว้นนำพระเจ้าสุตโสมมาเท่านั้น พระเจ้าสุตโสมก็สามารถช่วยราชาเหล่านั้นได้ เทพารักษ์จึงออกอุบายปรากฏกายให้โปริสาท ได้เห็นในเพศของเทวดาแล้วกล่าวว่า เราเป็นเทวดาที่สิงอยู่ในต้นไม้ใหญ่นี้ เจ้าจะบวงสรวงด้วยราชาทั้ง 101 องค์ยังหาได้ไม่ เจ้าต้องนำพระราชาสุตโสมมาอีก องค์หนึ่งจึงจะได้ แล้วได้หายไป โปริสาทก็จะไปจับพระสุตโสม

ในวันนั้นพระสุตโสมได้ออกไปเยี่ยมชาวเมืองโดยทรงช้างไป ในระหว่างทางมีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อนันทพราหมณ์ได้ตะโกนบอกว่า พระเจ้าสุตโสมข้าพุทธเจ้ามีคาถาของกัสสปพุทธเจ้าในอดีต พระองค์ทรงประสงค์จะฟังหรือไม่? พระเจ้าสุตโสมก็ลงจากช้างไปหานันทพราหมณ์ แล้วตรัสว่า เราประสงค์จะฟังแต่ได้ยินว่าคาถาของพระพุทธเจ้าในอดีตนั้นหาได้อยากและต้องฟังด้วยความเคารพและสงบ ดังนั้นขณะนี้ยังไม่เหมาะสมเพราะมีภารกิจในการเยี่ยมประชาชน อีกสองวันให้ท่านไปรอที่ศาลาหลังโน้นแล้วเราจะไปหาท่าน ฟังคาถาของพระพุทธเจ้าจากปากของท่าน แล้วพระเจ้าสุตโสมก็ขึ้นช้างดำเนินต่อไป

ตกตอนบ่ายพระเจ้าสุตโสมก็เข้าสู่พระราชวัง ซึ่งขณะนั้นโปริสาท ได้แอบอยู่ในสระบัว รอให้พระเจ้าสุตโสมลงจากช้าง โปริสาทเมื่อได้โอกาสก็ขึ้นจากสระวิ่งรวดเร็วดังพายุหมุนจับพระเจ้าสุตโสมขึ้นแบกก็โดดข้ามกำแพงออกไป จนถึงต้นไม้ใหญ่ ที่จะทำการบวงสรวงจึงวางพระเจ้าสุตโสมลงโดยที่ไม่ทำร้ายร่างกายพระเจ้าสุตโสมแม้แต่น้อยเพราะความเป็นเพื่อนรักกัน พระเจ้าสุตโสมจึงถาม โปริสาทว่า ท่านจับเรามาทำไม่ โปริสาทจึงกล่าวว่า จับมาเพื่อบวงสรวงเทวดาในต้นไม้ใหญ่นี้รวมทั้งราชาทั้ง 101 พระองค์ สุตโสมจึงกล่าว่า ท่านปล่อยเราก่อนได้ไหม ให้เราไปทำธุระที่ได้สัญญากับนันทพราหมณ์คนหนึ่งว่า นัดฟังคาถาของพระพุทธเจ้าจากอดีต เมื่อเราได้ฟังคาถาและได้ให้ทรัพย์ที่ควรแก่คาถาและพราหมณ์แล้ว เราจะกลับมาหาท่าน เพื่อให้ท่านฆ่าและบวงสรวง และพระเจ้าสุดโสมกล่าวคำสาบานด้วยศีลของพระองค์ ส่วนโปริสาทด้วยความที่เคยเป็นเพื่อนรักกัน ทำให้โปริสาทใจอ่อนเพราะใจจริงแล้วไม่ประสงค์จะฆ่าพระเจ้าสุตโสมเลย แต่เมื่อเทวดาประสงค์จึงกระทำตาม และคิดต่อไปว่า ถ้าพระเจ้าสุตโสมไปแล้วไม่กลับมาเพราะกลัวตายก็ไม่เป็นไรตนเองก็เป็นพระราชา จะกรีดเลือดที่แขนพระองค์บูชาแทนก็ได้ จึงกล่าวกับพระสุตโสมว่า ก็ได้ให้ท่านไปทำธุระให้เสร็จก่อนแล้วกลับมาในวันพรุ่งนี้ พระเจ้าสุตโสมได้กลับไปยังราชวัง อาบน้ำแต่งองค์ก็ไปตามที่นัดไว้กับนันทพราหมณ์ นันทพราหมณ์จึงกล่าวคาถาให้ฟังดังนี้

                 การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้ พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญไม่มีความเสื่อม ราชรถที่เขาให้วิจิตรเป็นอันดี ยังคร่ำคร่าได้แลแม้สรีระก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกันย่อมรู้กันได้. ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝังข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.

เมื่อจบคาถาพระเจ้าสุตโสม ก็รู้ว่าเป็นคาถาของพระกัสสปพุทธเจ้าในอดีตแน่ จึงได้ให้ทรัพย์ 4 พัน กหาปหะ กับยาน(รถ)อย่างดีหนึ่งคันแก่พราหมณ์ แล้วพระเจ้าสุตโสมก็กลับไปหาโปริสาท

วันต่อมาฝ่ายโปริสาทคอยพระเจ้าสุตโสมอยู่ ก็คิดว่าวันนี้ถ้าพระเจ้าสุตโสมไม่มาเราก็จะบวงสรวงราชาทั้ง 101 คน แต่พอเห็นพระเจ้าสุตโสมเสด็จมา ก็มีความครั่นคร้ามในใจว่า สหายของเราหาได้กลัวความตาย รักษาความสัตย์ดังชีวิต เมื่อพระเจ้าสุตโสมมาถึงพระเจ้าสุตโสมก็กล่าวว่า เรามาเพื่อให้ท่านฆ่าและบวงสรวงแล้ว กล่าวโดยไม่สะทกสะท้านและแสดงความกลัวออกมาเลย ทำให้จิตใจของโปริสาทที่เคยฆ่าคนอย่างไม่มีสงสารหวั่นไหว เพราะเห็นคนทั้งหลายพอได้ยินชื่อของโปริสาทแล้วก็จะวิ่งหนี และเมื่อโดนจับก็จะอ้อนวอนขอชีวิต แต่โปริสาทยังแข็งใจเพื่อลองใจให้พระสุตโสมกลัวและอ้อนวอนขอชีวิตจึงกล่าวว่า ท่านสุตโสมจงไปหาไม้มาก่อไฟเพื่อเราจะได้ฆ่าและย้างท่านพร้อมทั้งพระราชาทั้ง 101 พระองค์ พระเจ้าสุตโสมจึงไปเก็บไม้มาจนมากพอโดยไม่หวั่นไหวแล้วกล่าวกับโปริสาท ว่าท่านพร้อมที่จะฆ่าเราแล้วหรือยัง

ความศรัทธาของโปริสาทต่อพระสุตโสมยิ่งมีมากขึ้นจึงกล่าวว่า เรายังไม่ฆ่าท่านในตอนนี้ เรายากทราบว่าที่ท่านกลับไปหาพรหมณ์ท่านได้ฟังคาถาว่าอย่างไรจากพราหมณ์บอกให้เราทราบได้ไหม พระเจ้าสุตโสมเห็นว่าโปริสาทนั้นจิตใจเริ่มอ่อนลง แต่ก็ทรงประสงค์ลดความแข็งกระด้างของโปริสาทลงไปอีกโดยกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกล่าวนั้นอสัตบุรุษย่อมฟังไม่เข้าใจ เพราะความห่างไกลกัน ท่านโปริสาทยังพระสงค์จะฟังอีกหรือ? โปริสาทจึงกล่าวว่า สหายท่านบอกมาเถอะเราจะตั้งใจฟัง แล้วพระสุตโสมยกคาถาตามที่พราหมณ์บอกดังนี้

                 การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้ พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญไม่มีความเสื่อม ราชรถที่เขาให้วิจิตรเป็นอันดี ยังคร่ำคร่าได้แลแม้สรีระก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกันย่อมรู้กันได้.

ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝังข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.

โปริสาทจึงถามพระสุตโสมว่า ธรรมของสัตบุรุษคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร?

พระเจ้าสุตโสมจึงบอกให้ทราบว่า ธรรมของสัตบุรุษคือการไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นได้แก่การรักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์เป็นต้น แล้วทำประโยชน์ตนและผู้อื่นให้สมบูรณ์ ได้แก่การเลียงชีพโดยชอบสุจริต ให้ทานสงเคราะห์ผู้อื่นตามควร ประโยชน์ที่ผู้ถือธรรมของสัตบุรุษคือ ความเป็นอยู่อย่างปกติสุขในปัจจุบัน และเมื่อตายไปสู่ภพหน้าย่อมบังเกิดในสวรรค์ แต่ธรรมของอสัตบุรุษนั้นตรงกันข้าม ย่อมมีความรุ่มร้อนหวาดระแวงกลัวภัยเพราะการกระทำของตน และมีนรกเป็นที่หมายในภพหน้า

โปริสาทเมื่อได้ฟังดังนั้นเริ่มมีความสลดในใจตนถึงน้ำตาตก  เทพารักษ์ก็ปรากฏกายให้ปรากฏ แล้วกล่าวว่า สาธุ สาธุ ท่านสุตโสมกล่าวธรรมได้ถูกต้องแล้ว หลังจากนั้นเทพารักษ์ก็กล่าวว่า เราไม่ประสงค์ให้ท่านโปริสาทฆ่าพระราชาทั้งหลายบวงสรวงเราเลย และการที่แผลที่ฝ่าเท้าของท่านโปริสาทหายนั้นก็หายเอง เราก็ไม่ได้ไปช่วยทำให้หายเลย ท่านคิดไปเองทั้งนั้น แต่เราไม่สามารถไปห้ามท่านได้ เพราะภพของเทวดาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ แต่เมื่อท่านโปริสาทได้กระทำกรรมใหญ่อันน่ากลัว ก็ทำให้เทวดาทนอยู่ไม่ได้ ต้องออกอุบายให้ท่านโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมมา เพราะพระเจ้าสุตโสม ย่อมปราบพยศของท่านโปริสาทได้ แล้วเทวดาก็หายไปยังที่อยู่ของท่าน

ฝ่ายพระเจ้าสุตโสมแสดงธรรมและขอร้องให้โปริสาทปล่อยตัวพระราชาทั้ง 101 องค์ โดยให้พระราชาทั้ง 101 องค์นั้นไม่เอาความและพยาบาทจองร้ายต่อโปริสาท พระราชาทั้งหลายก็รับคำมั่นสัญญานั้น ปล่อยพระราชาทั้ง 101 องค์ พระเจ้าสุตโสมทั้งแสดงธรรมและขอร้องให้โปริสาทเลิกกินเนื้อมนุษย์ จนโปริสาทใจอ่อนให้คำสัตว์ว่าจะไม่กินเนื้อมนุษย์อีกเป็นอันขาด เรื่องนี้ก็จบลงด้วยดี

                พระพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าโปริสาทในกาลนั้น ได้เป็นอังคุลิมาล  กาฬหัตถีเสนาบดีได้เป็นสารีบุตร นันทพราหมณ์ได้เป็นอานนท์ รุกขเทวดาได้เป็นกัสสป ท้าวสักกะได้เป็นอนุรุทธะ พระราชา ๑๐๑ พระองค์ที่เหลือได้เป็นพุทธบริษัท พระราชมารดาบิดาได้เป็นมหาราชตระกูล ส่วนพระเจ้าสุตโสมคือเราตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล.

                สามารถอ่านเนื้อหาที่พิศดารได้จากอรรถกถาสุตโสมชาดก

                สามารถอ่านในพระไตรปิฏก มหาสุตโสมชาดก

หลังจากนั้นพระเจ้าสุตโสมได้ครองราชโดยผ่าสุขตลอดมา จวบจนสิ้นอายุขัย

จบพระชาติที่เป็นพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์

คุตติละโพธิสัตว์

                เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้สิ้นอายุขัยเกิดเป็นเทวดา แล้วอธิฐานเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นนักดนตรีบนโลกมนุษย์ ดังยกมาจากอรรถกถา

                ในครั้งอดีต เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสีพระโพธิสัตว์อุบัติอยู่ในตระกูลคนธรรพ์ ได้เป็นอาจารย์ปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในทุกทิศโดยชื่อว่า คุตติละ เช่นเดียวกับติมพรูนารทะเพราะเป็นผู้มีศิลปะบริสุทธิ์ในศิลปะของคนธรรพ์. ตติละนั้นเลี้ยงดุมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าตาบอด. คนธรรพ์ ชื่อมุสิละ ชาวอุชเชนี ได้ทราบถึงความสำเร็จทางศิลปะของอาจารย์คุตติละนั้น จึงเข้าไปหาทำความเคารพแล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่ออาจารย์คุตติละถามว่า ท่านมีธุระอะไรหรือ จึงบอกว่าประสงค์จะเรียนศิลปะในสำนักของอาจารย์. อาจารย์คุตติละมองดูมุสิละคนธรรพ์นั้น เพราะเป็นผู้ฉลาดในการดูลักษณะ คิดว่า เจ้านี้มีอัธยาศัยไม่เรียบร้อยหยาบคาย จักเป็นคนไม่รู้จักคุณคน ไม่ควรสงเคราะห์ ดังนี้ จึงไม่ให้โอกาสที่จะเรียนศิลปะ มุสิละจึงเข้าไปหามารดาบิดาของอาจารย์คุตติละ ขอร้องให้มารดาบิดาช่วย. อาจารย์คุตติละ เมื่อถูกมารดาบิดาแค่นได้ จึงคิดว่า ถ้อยคำของครู ควรแก่ค่า ดังนี้ จึงเริ่มบอกศิลปะแก่มุสิละ เพราะอาจารย์คุตติละปราศจากความตระหนี่ และเพราะมีความกรุณาจึงไม่ทำอาจริยมุฏฐิ (หวงความรู้) ให้มุสิละศึกษาศิลปะโดยสิ้นเชิง.

                แม้มุสิละนั้น เพราะเป็นคนฉลาด เพราะสะสมบุญมาก่อนและเพราะไม่เกียจคร้าน ไม่ช้าก็เรียนจบศิลปะจึงคิดว่า กรุงพาราณสีนี้ เป็นนครเลิศในชมพูทวีป ถ้ากระไร เราควรแสดงศิลปะแก่บริษัทหน้าเพราะที่นั่งในนครนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็จักปรากฏชื่อเสียงเป็นที่รู้จักยิ่งกว่าอาจารย์

ในชมพูทวีป ดังนี้. มุสิละ จึงบอกแก่อาจารย์ว่า กระผมประสงค์จะแสดงศิลปะหน้าพระที่นั่ง ขอท่านอาจารย์ได้โปรดนำกระผมเข้าเฝ้าด้วยเถิด พระมหาสัตว์ มีความกรุณาว่า มุสิละนี้ เรียนศิลปะในสำนักของเราจงได้รับอุปถัมภ์ ดังนี้ จึงนำเขาเข้าเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ได้โปรดทอดพระเนตรดูความชำนะชำนาญในการดีดพิณของลูกศิษย์ ของข้าพระพุทธเจ้าผู้นี้เถิด พระเจ้าข้าพระราชาตรัสสั่งว่า ดีแล้ว ทรงสดับการดีดพิณของมุสิละนั้น พอพระทัยยิ่งนัก ครั้นมุสิละกราบทูล ทรงห้ามแล้วตรัสว่า เจ้าจงอยู่รับราชการกับเราเถิด เราจักให้ครึ่งหนึ่งจากส่วนที่ให้แก่อาจารย์. มุสิละกราบทูลว่าขอเดชะ ข้าพระองค์จะไม่ขอรับต่ำกว่าอาจารย์ ขอพระองค์ได้โปรดพระราชทานเท่ากับอาจารย์เถิด พระเจ้าข้า

เมื่อพระราชาตรัสว่า เจ้าอย่าพูดอย่างนั้นซิ ธรรมดาอาจารย์เป็นผู้ใหญ่ เราจักให้เจ้าครึ่งหนึ่งเท่านั้น มุสิละกราบทูลว่า ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ ขอพระองค์ได้โปรดทอดพระเนตรศิลปะของข้าพระองค์และอาจารย์เถิด พระเจ้าข้า แล้วก็ออกจากกรุงราชคฤห์ เที่ยวโฆษณาไปในที่นั้น ๆ ว่า จากนี้ไป ๗ วัน จักมีการแสดงศิลปะ ที่หน้าพระลานหลวง ระหว่างข้าพเจ้าและอาจารย์คุตติละขอเชิญผู้ประสงค์จะชมศิลปะนั้นจงพากันมาชมเถิด.

                พระมหาสัตว์ สดับดังนั้นแล้วคิดว่า มุสิละนี้ ยังหนุ่มมีกำลัง ส่วนเราแก่แล้วกำลังก็น้อย ถ้าเราแพ้ เราตายเสียดีกว่า เพราะฉะนั้น เราจะเข้าไปป่าผูกคอตายละ จึงไปป่าเกิดกลัวตายก็กลับ อยากตายอีกไปป่ากลัวตายอีกก็กลับ เมื่อพระมหาสัตว์ไป ๆ มา ๆ อยู่อย่างนี้ ที่นั้นเตียนโล่งไม่มีหญ้าเลย. ลำดับนั้น เทวราชเข้าไปหาพระมหาสัตว์ปรากฏรูปประดิษฐานอยู่บนอากาศ กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านอาจารย์ทำอะไร. พระมหาสัตว์ได้ทูลตอบแสดงความเจ็บใจของตนว่า

                ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ข้าพระองค์ได้สอนวิชาดีดพิณ๗ สาย มีเสียงไพเราะมากน่ารื่นรมย์ แก่มุสิละผู้เป็นศิษย์ เขาตั้งใจจะดีดพิณประชันกับข้าพระองค์กลางเวที ขอพระองค์ได้โปรดเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.

                ท้าวสักกเทวราชได้สดับดังนั้น เมื่อจะทรงปลอบว่า อาจารย์อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าเป็นที่พึ่ง ช่วยบรรเทาทุกข์ของอาจารย์ จึงตรัสว่า

                ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าจะเป็นที่พึ่งของอาจารย์ข้าพเจ้าเป็นผู้บูชาท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าผู้เป็นศิษย์จะไม่ปล่อยให้ท่านอาจารย์แพ้ ท่านอาจารย์จะต้องชนะนายมุสิละผู้เป็นศิษย์แน่นอน. นัยว่า พระมหาสัตว์ได้เป็นอาจารย์ของท้าวสักกเทวราชในอัตภาพก่อน. ก็แลครั้นท้าวสักกเทวราชตรัสอย่างนี้แล้วจึงปลอบว่า ในวันที่ ๗ ข้าพเจ้าจักมายังโรงแข่งขัน ขอให้ท่านอาจารย์วางใจ เล่นดนตรีไปเถิด แล้วก็เสด็จไป.

                ครั้นถึงวันที่ ๗ พระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารประทับนั่ง ณ ท้องพระโรง. อาจารย์คุตติละและนายมุสิละ เตรียมตัวเพื่อแสดงศิลปะเข้าไปถวายบังคมพระราชา นั่งบนอาสนะที่ตนได้ แล้วดีดพิณ ท้าวสักกะเสด็จยืนบนอากาศ. พระมหาสัตว์เห็นท้าวสักกะนั้น แต่คนนอกนั้นไม่เห็น. พวกบริษัทได้ตั้งใจฟังในการดีดพิณของทั้ง ๒ คณะ ท้าวสักกะตรัสกับอาจารย์คุตติละว่า ท่านอาจารย์จงดีดสายที่ ๑. เมื่อดีดสายที่ ๑ แล้วพิณได้มีเสียงกังวานไพเราะ ท้าวสักกะตรัสต่อไปว่า ท่านอาจารย์จงดีดสาย ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗. เมื่อดีดพิณเหล่านั้นแล้ว พิณก็ได้มีเสียงก้องกังวานไพเราะยิ่งขึ้น. นายมุสิละเห็นดังนั้น เห็นทีว่าตนแพ้แน่ถึงกับคอตก. พวกบริษัทต่างร่าเริงยินดี ยกผืนผ้าโบกไปมา ซ้องสาธุการแก่อาจารย์คุตติละ. พระราชาตรัสสั่งให้นำนายมุสิละออกจากท้องพระโรง. มหาชนเอาก้อนดินท่อนไม้เป็นต้นขว้างปา จนนายมุสิละถึงแก่ความตายใน

ที่นั้นนั่นเอง.

                ท้าวสักกเทวราชแสดงความชื่นชมยินดีกับพระมหาบุรุษ แล้วเสด็จกลับสู่เทวโลกทันที ทวยเทพทูลถามท้าวสักกะว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์เสด็จไปไหนมา ครั้นได้ฟังเรื่องราวนั้นแล้ว จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์อยากเห็นพระอาจารย์คุตติละ ขอประทานโอกาสขอพระองค์ทรงนำอาจารย์คุตติละมาแสดงแก่พวกข้าพระองค์ ณ ที่นี้เถิดท้าวสักกะสดับคำของทวยเทพแล้ว มีเทวบัญชาให้มาตลี เอาเวชยันตรถไปรับอาจารย์คุตติละมาให้พวกเรา ทวยเทพอยากจะเห็นอาจารย์นั้น. มาตลีได้ทำตาเทวบัญชา. ท้าวสักกะทรงทำความชื่นชมยินดีกับพระมหาสัตว์แล้วตรัสว่า ท่านอาจารย์โปรดดีดพิณ ทวยเทพอยากฟัง. อาจารย์คุตติละทูลว่า ข้าพระองค์เลี้ยงชีพด้วยศิลปะ เมื่อไม่มีค่าจ้างก็จะไม่แสดงศิลปะ.ท้าวสักกะตรัสถามว่า ก็อาจารย์ต้องการค่าจ้างเช่นไรเล่า. อาจารย์คุตติละทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ต้องการค่าจ้างอย่างอื่น แต่ขอให้ทวยเทพเหล่านี้บอกถึงกุศลกรรมที่ตนทำมาแล้วในชาติก่อนนั่นแล เป็นค่าจ้างของข้าพระองค์ละ. ทวยเทพต่างรับว่าดีแล้ว.

                ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะถามถึงความประพฤติชอบที่ทวยเทพเหล่านั้นกระทำแล้วในอัตภาพก่อน อันเป็นเหตุแห่งสมบัตินั้นโดยการประกาศถึงสมบัติที่ทวยเทพเหล่านั้นได้ในครั้งนั้นเฉพาะตน จึงถามด้วยคาถา ดุจท่านมหาโมคคัลลานะถามฉะนั้น. แม้ทวยเทพเหล่านั้นก็ตอบแก่อาจารย์คุตติละ เหมือนอย่างที่ตอบแก่พระเถระ

ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนโมคคัลลานะ เทวดาเหล่านั้นมิได้

ตอบอย่างเดียวกับที่เธอถามเท่านั้น เมื่อก่อนก็ได้ตอบเหมือนอย่างที่เราถามเหมือนกันดังนี้.

                ได้ยินว่า หญิงเหล่านั้น ครั้งศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเป็นมนุษย์ ได้กระทำบุญอย่างนั้น ๆ. บรรดาหญิงเหล่านั้น คนหนึ่งได้ถวายผ้า คนหนึ่งได้ถวายพวงดอกมะลิหนึ่งพวง คนหนึ่งได้ถวายของหอมคนหนึ่งได้ถวายผลไม้อย่างดี คนหนึ่งได้ถวายอ้อย คนหนึ่งได้ถวายของหอม ๕ อย่างประพรมในเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คนหนึ่งรักษาอุโบสถ คนหนึ่งได้ถวายน้ำแก่ภิกษุผู้ฉันที่เรือในเวลาเข้าไปใกล้ คนหนึ่งเมื่อแม่ผัวพ่อผัวโกรธก็ไม่โกรธตอบ ได้ทำการปรนนิบัติ คนหนึ่งเป็นทาสี ไม่เกียจคร้านมีมารยาทดี คนหนึ่งได้ถวายข้าวเจือด้วยน้ำนมแก่ภิกษุผ้าออกบิณฑบาต คนหนึ่งได้ถวายน้ำอ้อย คนหนึ่งได้ถวายท่อนอ้อย คนหนึ่งได้ถวายมะพลับ คนหนึ่งได้ถวายแตงกวา คนหนึ่งได้ถวายฟักเหลืองคนหนึ่งได้ถวายยอกผัก คนหนึ่งได้ถวายลิ้นจี่ คนหนึ่งได้ถวายเชิงกรานคนหนึ่งได้ถวายผักดองกำหนึ่ง คนหนึ่งได้ถวายดอกไม้กำหนึ่ง คนหนึ่ง

ได้ถวายหัวมัน คนหนึ่งได้ถวายสะเดากำหนึ่ง คนหนึ่งได้ถวายผักดองคนหนึ่งได้ถวายแป้งงา คนหนึ่งได้ถวายผ้ารัดเอว คนหนึ่งได้ถวายผ้าอังสะคนหนึ่งได้ถวายพัด คนหนึ่งได้ถวายพัดสี่เหลี่ยม คนหนึ่งได้ถวายพัดใบตาล คนหนึ่งได้ถวายกำหางนกยูง คนหนึ่งได้ถวายร่ม คนหนึ่งได้ถวายรองเท้า คนหนึ่งได้ถวายขนม คนหนึ่งได้ถวายขนมก้อน คนหนึ่งได้ถวายน้ำตาลกรวด. เทพธิดาเหล่านั้น องค์หนึ่ง ๆ มีนางอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวารรุ่งเรืองด้วยเทวฤทธิ์ใหญ่ บังเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักก-เทวราช ในภพดาวดึงส์ ถูกอาจารย์คุตติละถาม จึงตอบถึงกุศลที่ตนทำตามลำดับ โดยนัยมีอาทิว่า ดังนี้.

                อาจารย์คุตติละได้ถามบุรพกรรมของเทพธิดาเหล่านั้นว่า

ดูก่อนแม่เทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว สถิตอยู่เหมือนดาวประกายพรึกเพราะกรรมอะไร ท่านจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร จึงสำเร็จแก่ท่านในเทวโลกนี้ โภคะทั้งหลายไรๆ เป็นที่รัก ย่อมเกิดแก่ท่าน เพราะกรรมอะไร.

                ดูก่อนเทวี ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอถามท่าน เมื่อครั้งท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะกรรมอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และรัศมี

ของท่านรุ่งเรืองไปทั่วทิศ เพราะกรรมอะไร.

                เทพธิดานั้น อันอาจารย์คุตติละถามเหมือนพระโมคคัลลานะถาม แล้วมีใจยินดี จึงตอบถึง

ผลกรรมนั้นว่า

                ดีฉันเป็นสตรีผู้ประเสริฐในนระและนารีทั้งหลาย ได้ถวายผ้าเนื้อดีแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดีฉันได้ถวายผ้าอันน่ารักอย่างนี้ จึงได้เข้าถึงฐานะอันเป็นทิพย์อย่างนี้ เชิญดูวิมานของดีฉันเถิด ดีฉันยังเป็นนางฟ้าที่มีผิวพรรณน่ารัก ทั้งเป็นผู้เลิศกว่านางอัปสรตั้งพัน เชิญดูผลแห่งบุญทั้งหลายเถิด เพราะผลแห่งบุญนั้นดีฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ ความสำเร็จในที่นี้ของดีฉันเพราะผลบุญนั้น โภคะทั้งหลายอันเป็นที่รักย่อมเกิดแก่ดีฉัน เพราะผลบุญนั้น.

                หลังจากนั้น คุตติละโพธิสัตว์ก็ได้แสดงดนตรีให้เหล่าเทพเทวดาฟัง เป็นที่กล่าวขวัญของเหล่าเทวดาทั้งหลาย หลังจากนั้น มาตุลีเทพบุตรก็ได้นำคุตติละโพธิสัตว์กลับมายังโลกมนุษย์

                เมื่อคุตติละโพธิสัตว์กลับมายังโลกมนุษย์ก็ตั้งอยู่ในศีลในธรรม และสั่งส่อนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในศีลในธรรมเช่นกัน ดังปรากฏในคุตติละชาดก เมื่อคุตติละโพธิสัตว์สิ้นอายุขัยก็ไปเกิดเป็นเทวดา แล้วอธิฐานเวียนว่ายตายเกิดมาเกิดบนมนุษย์โลก

                สามารถอ่านอย่างละเอียดในอรรถกถา อรรถกถาคุตติละวิมาน

สามารถอ่านจากพระไตรปิฏก คุตติละวิมาน

จบพระชาติคุตติละโพธิสัตว์

พระเจ้าเภรุวราชโพธิสัตว์

พระมหาโพธิสัตว์ได้เกิดบนโลกมนุษย์ ดังปรากฏ ในอาทิตตชาดก ในอรรถกถา ดังนี้

อรรถกถาอาทิตตชาดกที่ ๘

                พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอสทิสทาน ดังนี้.

                ก็ในวันที่ ๒ จากวันที่พระเจ้าโกศลถวายอสทิสทานแล้ว ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเจ้าโกศลทรงฉลาดเลือกเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ถวายมหาทานแด่อริยสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลือกถวายทานในเนื้อนาบุญอันสูงยิ่งของพระเจ้าโกศล ไม่น่าอัศจรรย์โบราณกบัณฑิตก็ได้เลือกเฟ้นแล้ว จึงได้ถวายมหาทานเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:-

                ในอดีตกาล พระเจ้าเภรุวมหาราช ครองราชสมบัติในเภรุวนคร สีวิรัฐ ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม สงเคราะห์มหาชนด้วย สังคหวัตถุ ๔ ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นมารดาบิดาของมหาชน ให้ได้ทานแก่คนกำพร้า วณิพก และยาจกทั้งหลายมากมาย. พระองค์มีอัครมเหสีพระนามว่า สมุททวิชยาเป็นบัณฑิตสมบูรณ์ด้วยญาณ.

วันหนึ่ง พระเจ้าเภรุวมหาราช เสด็จทอดพระเนตรโรงทาน ทรงพระดำริว่าปฏิคาหกทั้งหลายล้วนเป็นผู้ทุศีล เหลวไหล บริโภคทานของเราข้อนั้นไม่ทำให้เรายินดีเลย เราใคร่จะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มีศีลเป็นอรรคทักขิไณยบุคคล แต่ท่านเหล่านั้นอยู่ในหิมวันตประเทศ ใครหนอจักไปนิมนต์ท่านมาได้เราจักส่งใครไปนิมนต์ได้ ทรงพระดำริดังนี้แล้ว ได้ตรัสบอกความนั้นแด่พระเทวี.

ลำดับนั้น พระเทวีได้ทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ขอพระองค์อย่าทรงวิตกเลย เราจักส่งดอกไม้ไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ด้วยกำลังทานที่จะพึงถวาย กำลังศีลและกำลังความสัตย์ของเราทั้งหลาย ครั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมาถึงแล้ว จึงจักถวายทานที่สมบูรณ์ด้วยบริขารทุกอย่าง.

พระราชาทรงรับสั่งว่าดีแล้ว ดังนี้แล้วรับสั่งให้ตีกลองประกาศว่า ชาวพระนครทั้งสิ้นจงสมาทานศีล ส่วนพระองค์พร้อมด้วยราชบริพาร ก็ทรงอธิษฐานองค์แห่งอุโบสถบำเพ็ญมหาทาน แล้วให้ราชบุรุษถือกระเช้าทองใส่ดอกมะลิเต็ม เสด็จลงจากปราสาทประทับที่พระลานหลวง ทรงกราบเบญจางคประดิษฐ์เหนือพื้นดิน แล้วผินพระพักตร์ไปทางทิศปราจีนถวายนมัสการแล้วประกาศว่า ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระอรหันต์ทั้งหลายในทิศปราจีน ถ้าคุณความดีอะไรๆ ของข้าพเจ้ามีอยู่ไซร้ ขอท่านทั้งหลายจงอนุเคราะห์พวกข้าพเจ้า โปรดมารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิดประกาศดังนี้แล้ว ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ. ในวันรุ่งขึ้นไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้ามา เพราะในทิศปราจีนไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า.

ในวันที่ ๒ ทรงนมัสการไปทางทิศทักษิณ ก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่. วันที่ ๓ ทรงนมัสการไปทางปัจฉิม ก็หามีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาไม่. วันที่ ๔ ทรงนมัสการไปทางทิศอุดร. ก็แหละครั้นทรงนมัสการแล้ว ทรงซัดดอกมะลิไป ๗ กำมือ อธิษฐานว่า ขอพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่อยู่ในหิมวันตประเทศด้านทิศอุดร จงมารับภิกษาหารของข้าพเจ้า.

                ดอกมะลิได้ลอยไปตกลง เหนือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ๕๐๐ องค์ ที่เงื้อมภูเขานันทมูลกะ. พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พิจารณาดูก็รู้ว่า พระราชานิมนต์ วันรุ่งขึ้น จึงเรียกพระปัจเจกพุทธเจ้า มา ๗ องค์ แล้วกล่าวว่า แน่ะ ท่านผู้เช่นกับด้วยเรา พระราชานิมนต์ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงสงเคราะห์พระราชาเถิด.

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เหาะมาลงที่ประตูพระราชวัง. พระเจ้าเภรุวมหาราชทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วทรงโสมนัสนมัสการแล้ว นิมนต์ขึ้นปราสาท ทรงสักการะบูชาเป็นการใหญ่แล้วถวายทาน ครั้นฉันเสร็จแล้วได้นิมนต์ให้มาฉันวันต่อๆ ไปอีกจนครบ ๖ วัน ในวันที่ ๗ ทรงจัดแจงบริขารทานทุกอย่าง แต่งตั้งเตียงตั่งที่วิจิตรด้วยแก้ว ๗ ประการ ทรงวางเครื่องสมณบริโภคทั้งปวงมีไตรจีวรเป็นต้น ในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ ถวายนมัสการตรัสว่า ข้าพเจ้าขอถวายบริขารเหล่านี้ทั้งหมดแด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นฉันเสร็จแล้ว พระราชาและพระเทวีทั้ง ๒ พระองค์ประทับยืนนมัสการอยู่.

                ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่เมื่อจะอนุโมทนาแด่พระราชาและพระเทวี จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:-

                เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ บุคคลผู้เป็นเจ้าของขนเอาสิ่งของอันใดออกได้ สิ่งของอันนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของนั้น แต่ของที่ถูกไฟไหม้ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่เขา.

                โลกถูกชราและมรณะเผาแล้วอย่างนี้ บุคคลพึงนำออกเสียด้วยการให้ทาน ทานที่ให้แล้วจะน้อยก็ตาม มากก็ตาม ชื่อว่าเป็นอันนำออกดีแล้ว.

                พระสังฆเถระ ครั้นอนุโมทนาอย่างนี้แล้ว ได้ให้โอวาทแด่พระราชาว่า มหาบพิตร พระองค์อย่าทรงประมาท แล้วเหาะขึ้นอากาศทำช่อฟ้าปราสาทให้แยกเป็นสองช่องไปลง ณ เงื้อมภูเขานันทมูลกะ. แม้บริขารที่พระราชาถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็ลอยตามไปกับพระปัจเจกพุทธเจ้าลงที่เงื้อมภูเขานั้นเหมือนกัน. พระสกลกายของพระราชาและพระเทวี เต็มตื่นไปด้วยปิติ. เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่ไปอย่างนี้แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ยังคงเหลืออยู่ ๖ องค์ ได้

อนุโมทนาด้วยคาถา องค์ละคาถาว่า:-

                คนใดให้ทานแก่ท่านผู้มีธรรมอันได้แล้วผู้บรรลุธรรมด้วยความเพียรและความหมั่น คนนั้นล่วงเลยเวตรณีนรก ของพระยายมไปได้แล้วจะเข้าถึงทิพยสถาน.

                ท่านผู้รู้กล่าวทานกับการรบว่า มีสภาพเสมอกัน นักรบแม้จะมีน้อย ก็ชนะคนมากได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน แม้จะน้อยย่อมชนะหมู่กิเลสแม้มากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมให้ทานแม้น้อย เขาก็เป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคมีประมาณน้อยนั้น.

                การเลือกทักขิณาทานและพระทักขิไณยบุคคล แล้วจึงให้ทาน พระสุคตเจ้าทรงสรรเสริญ ทานที่บุคคลถวายในพระทักขิไณยบุคคลมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในสัตว์โลกนี้ ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชที่หว่านลงในนาดีฉะนั้น.

                บุคคลใดไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปอยู่ ไม่ทำบาปเพราะกลัวคนอื่นจะติเตียน บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้กลัวบาปนั้น ย่อมไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาป เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำบาป เพราะความกลัวถูกติเตียน.

                บุคคลย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์เพราะพรหมจรรย์อย่างต่ำเกิดในเทวโลกเพราะพรหมจรรย์อย่างกลาง และบริสุทธิ์ได้ เพราะพรหมจรรย์อย่างสูง.

                ทาน ท่านผู้รู้สรรเสริญโดยส่วนมากก็จริง แต่ว่าบทแห่งธรรมแลประเสริฐกว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายในครั้งก่อน หรือว่า ก่อนกว่านั้นอีก ท่านมีปัญญา เจริญสมถวิปัสสนาแล้ว ได้บรรลุพระนิพพานทีเดียว.

                ครั้นกล่าวอนุโมทนาอย่างนี้แล้ว ก็ได้เหาะไปเหมือนอย่างนั้นแหละ พร้อมกับบริขารทั้งหลาย.

                พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ พระองค์ พรรณนาอมตมหานิพพานแด่พระราชา ด้วยอนุโมทนาคาถาอย่างนี้แล้ว กล่าวสอนพระราชาด้วยอัปปมาทธรรม แล้วไปที่อยู่ของตนๆ ตามนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. แม้พระราชา พร้อมด้วยพระอัครมเหสี ก็ได้ถวายทานจนตลอดพระชนมายุ ครั้นเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ได้เสด็จไปสู่สวรรค์.

                พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่าแม้ในกาลก่อน บัณฑิตก็ได้เลือกถวายทานด้วยอาการอย่างนี้ ดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายในครั้งนั้น ปรินิพพานแล้ว พระสุททวิชยาเทวี ได้เป็นมารดาพระราหุล พระเจ้าเภรุวราช

คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

พระชาตินี้ไม่มีการกล่าวถึงในจริยาปิฏก แต่ในอรรถกถามีการอ้างอิงพระกัสสปพุทธเจ้าอยู่เพียงเล็กน้อยในเชิงเปรียบเทียบ และในพระไตรปิฏก มีการกล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า ปรากฏขึ้นระหว่างหลังสิ้นสุดศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า กับก่อนเริ่มพระพุทธศาสนาปัจจุบันเป็นเสียส่วนมาก ผู้เขียนจึงชัดพระชาตินี้ให้อยู่ใน หนึ่งพุทธันดรนี้

จบ อรรถกถาอาทิตตชาดกที่ ๘

พระเนมิราชโพธิสัตว์

พระมหาโพธิสัตว์ลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ ดังปรากฏในเนมิราชชาดก มีเรื่องย่อดังนี้

ในอดีตกาล ณ กรุงมิถิลา แคว้นวิเหรัฐ ได้มีพระ มหากษัตริย์ ทรงพระนามว่ามฆเทวะราช พระองค์ทรงเล่นอย่างราชกุมารอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ครองไอศวรรย์ ๘๔,๐๐๐ ปี เมื่อเสวยราชย์เป็นพระราชาธิราชได้ ๘๔,๐๐๐ ปี มีพระราชดำรัสกะเจ้าพนักงานภูษามาลาว่า เมื่อใดเจ้าเห็นผมหงอกในศรีษะเรา เจ้าจงบอกข้าเมื่อนั้น

ครั้นกาลต่อมา เจ้าพนักงานภูษามาลาได้เห็นเส้นพระศกหงอก จึงกราบทูลแด่พระราชา พระองค์ตรัสสั่งให้ถอนด้วยแหนบทองคำ ให้วางไว้ในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรพระศก

หงอก ทรงพิจารณาเห็นมรณะเป็นประหนึ่งว่ามาข้องอยู่ที่พระนะลาตะ มีพระดำริว่า บัดนี้เป็นกาลที่จะผนวช จึงพระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วตรัสเรียกพระเชษฐาโอรสมา มีพระดำรัสว่า พ่อจงรับครองราชสมบัติพ่อจักบวช พระราชโอรสทูลถามถึงเหตุที่จะทรงผนวช เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถานี้ว่า

                ผมหงอกที่งอกบนศรีษะของพ่อนี้ นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวะทูตปรากฏแล้ว คราวนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.

                ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็อภิเษกพระราชโอรสในราชสมบัติ แล้วพระราชทานพระโอวาทว่า แม้ตัวเธอเห็นผมหงอกอย่างนี้แล้ว ก็พึงบวช ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จออกจากพระนคร ทรงผนวชเป็นฤาษี เจริญพรหมวิหาร ๔ ตลอด เมื่อสิ้นอายุขัย จึงบังเกิดในพรหมโลก แม้พระราชโอรสของพระเจ้ามฆเทวราชก็ทรงผนวชโดยอุบายนั้นแหละ ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า กษัตริย์ผู้เป็นพระราชโอรสของพระราชาก็ปฏิบัติตามกันมาหลายพระองค์ กษัตริย์มีพระนามว่ามฆเทวะบังเกิด

ในพรหมโลกก่อนกว่ากษัตริย์ทั้งปวง สถิตอยู่ในพรหมโลกนั่นแหละ และตรวจดูพระวงศ์ของพระองค์ ทรงพิจารณาว่า เบื้องหน้าแต่นี้ วงศ์ของเราจักเป็นไป หรือจักไม่เป็นไปหนอ ก็ทรงทราบว่าไม่เป็นไป จึงทรงคิดว่า เรานี่แหละจักสืบวงศ์ของเรา ก็จุติจากพรหมโลกนั้นลงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งพระอัครมเหสีของพระราชาในกรุงมิถิลา ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา พระราชาตรัสเรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้ทำนาย มาถามเหตุการณ์ ในวันขนานพระนามพระราชกุมาร พราหมณ์ทั้งหลายตรวจดูพระลักษณะแล้ว กราบทูลว่า พระราชกุมารนี้สืบต่อวงศ์ของพระองค์เกิดแล้ว ด้วยว่าวงศ์ของพระองค์เป็นวงศ์บรรพชิตต่อแต่พระกุมารนี้ไปเบื้องหน้าจักไม่มี พระราชาทรงสดับดังนั้น มีพระดำริว่าพระราชโอรสนี้สืบต่อวงศ์ของเรามาเกิด ดุจวงล้อรถ ฉะนั้น เราจักขนานนามพระโอรสนั้นว่า เนมิกุมาร ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงพระราชทานพระนามพระโอรสว่า เนมิกุมาร. พระเนมิกุมารนั้นเป็นผู้ทรงยินดีในการบำเพ็ญรักษาศีลและอุโบสถกรรม จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์

ลำดับนั้น พระราชาผู้พระชนกของเนมิราชกุมารนั้น ทอดพระเนตรเห็นเส้นพระศกบนพระเศียรหงอก ก็พระราชทานบ้านส่วยแก่เจ้าพนักงานภูษามาลา แล้วมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส ทรงผนวชในพระราชอุทยานอัมพวันนั่นเอง เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า โดยนัยหนหลังนั่นแหละ.

ฝ่ายพระเจ้าเนมิราชโปรดให้สร้างโรงทาน ๕ แห่ง คือ ที่ประตูพระนคร ๔ แห่งท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง ยังมหาทานให้เป็นไปด้วยความเป็นผู้มีพระอัธยาศัยในทาน พระราชทานทรัพย์ที่โรงทานแห่งละ ๑๐๐,๐๐๐ ทรงบริจาคทรัพย์วันละ ๕๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทุก ๆ วัน ทรงเบญจศีลเป็นนิจ ทรงสมาทานอุโบสถทุกวันปักษ์ ทรงชักชวนมหาชนในการบำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น ทรงแสดงธรรมสอนให้ทราบทางสวรรค์ คุกคามประชุมชนให้กลัวนรก ประชุมชนตั้งอยู่ในพระโอวาทของพระองค์ บำเพ็ญบุญมีให้ทานเป็นต้น จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวะโลก เทวะโลกเต็ม นรกเป็นดุจว่างเปล่า กาลนั้นหมู่เทวดาในดาวดึงส์พิภพ ประชุมกัน ณ เทวาสถาน ชื่อสุธรรมมา กล่าวสรรเสริญคุณของพระมหาสัตว์ว่า โอ พระเจ้าเนมิราชเป็นพระอาจารย์ของพวกเรา ชาวเราทั้งหลายอาศัยพระองค์ จึงได้เสวยทิพย์สมบัตินี้

                ได้ยินว่า พระเจ้าเนมิราชนั้นทรงสมาทานอุโบสถศีล ในวันอุโบสถ ๑๕ คำ ทรงเปลื้องราชาอาภรณ์ทั้งปวง บรรทมบนพระยี่ภู่มีสิริ หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ตลอดสองยาม ตื่นบรรทมในปัจฉิมยาม ทรงคู้บัลลังก์ขัดสมาธิทรงดำริว่า เราให้ทานไม่มีปริมาณแก่ประชุมชนและรักษาศีล ผลแห่งทานบริจาคมีมาก หรือแห่งพรหมจริยาวาสมีผลมากหนอ ทรงดำริฉะนี้ก็ไม่ทรงสามารถตัดความสงสัยของพระองค์ได้.

                ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกะเทวะราชทรงอาวัชนาการเหตุนั้น ก็ทรงเห็นพระเจ้าเนมิราชกำลังทรงปริวิติยู่อย่างนั้น จึงคิดว่า เราจักตัดความสงสัยของเธอ จึงเสด็จมาโดยพลันแต่พระองค์เดียว ทำสกลราชนิเวศน์ให้มีรังสิโยภาสเป็นอันเดียวกัน เข้าสู่ห้องบรรทมอันมีสิริ แผ่รัศมีสถิตอยู่ในอากาศ ทรงพยากรณ์ปัญหาที่พระเจ้าเนมิราช

ตรัสถาม ดังบทความที่ยกมาจากพระไตรปิฏกดังนี้

                พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

                                ท้าวมฆวานเทพกุญชรสหัสสเนตรทรงทราบพระดำริของพระเจ้าเนมิราช ทรงกำจัดความมืดด้วยรัศมีปรากฏขึ้น พระเจ้าเนมิราชจอมมนุษย์มีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสกะท้าววาสวะว่า ท่านเป็นเทวดา หรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกะผู้ให้ทานในก่อนรัศมีของท่านเช่นนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็น หรือไม่ได้ยินมาเลย ขอท่านจงแจ้งตัวท่าน แก่ข้าพเจ้า ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ท้าววาสวะทรงทราบว่าพระเจ้าเนมิราชมีพระโลมชาติชูชัน ได้ตรัสตอบว่า หม่อมฉันเป็นท้าวสักกะจอมเทพ มาสู่สำนักพระองค์ท่าน ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมมนุษย์ พระองค์อย่าทรงสยดสยองเลย เชิญตรัสถามปัญหาที่ต้องพระประสงค์เถิด. พระเจ้าเนมิราชทรงได้โอกาสฉะนั้นแล้ว จึงตรัสถามท้าววาสวะว่า ข้าแต่เทวราชผู้เป็นอิสระแห่งปวงภูต หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ท่าน ทานหรือพรหมจรรย์อย่างไหนมีผลานิสงส์มาก. อมรินทรเทพเจ้าอันนรเทพเนมิราชตรัสถามดังนี้ พระองค์ทรงทราบวิบากแห่งพรหมจรรย์จึงตรัสบอกแก่พระเจ้าเนมิราชผู้ยังไม่ทรงทราบว่า บุคคลย่อมบังเกิดในขัตติยสกุล เพราะประพฤติพรหมจรรย์อย่างต่ำ บุคคลได้เป็นเทพเจ้า เพราะประพฤติพรหมจรรย์ปานกลาง บุคคลย่อมหมดจดวิเศษเพราะประพฤติพรหมจรรย์สูงสุด หมู่พรหมเหล่านั้นอันใคร ๆ จะพึงได้เป็น ด้วยการประพฤติวิงวอน ก็หาไม่ต้องเป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนบำเพ็ญตบธรรม จึงจะได้บังเกิดในหมู่พรหม.

หมายเหตุ จะเห็นว่าญาณรู้ ของมนุษย์ธรรมดาไม่ว่าจะเป็นมหาโพธิสัตว์ ถ้ายังไม่ถึงฌานหรืออภิญญา ย่อมมีญานรู้ด้อยกว่าเทพเทวดามาก ถึงแม้จะมีบารมีมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาโดยธรรมชาติ จะเห็นว่าพระมหาโพธิสัตว์ในชาติที่เป็นมนุษย์ก็อาศัยเทพเทวดาอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัยในชาดกอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ แต่ที่น่ากลัวสำหรับคนทั่วไปก็คือ อันได้แก่ทิฐิ และอุปทาน พาให้ลุ่มหลงญาณของเทวดาหรือของตนเอง จนขาดขาดปัญญา ที่บิดโอกาสตนเอง ในการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะมัวแต่ติดอยู่กับ ลาภ ยศ สรรเสริญ

หลังจากนั้นไม่นานเหล่าเทพเทวดาบนชั้นดาวดึงส์ ประสงค์จะชมดูพระเจ้าเนมิราชบนสวรรค์ เพราะเทพเทวดาที่เกิดใหม่ในชั้นดาวดึงส์มีมาก ที่เกิดจากการชักชวนให้ทำ ทาน รักษาศีล ของพระเจ้าเนมิราช เทพเทวดาจึงชุมนุมกัน พระอินทร์จึงบัญชาให้ มาตุลีเทพบุตรไปรับ พระเจ้าเนมิราชจากโลกมนุษย์มายังเทวะโลก แต่ระหว่างทางพระเจ้าเนมิราชได้ขอแวะชมนรกก่อน ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก และมีความพิเศษพิศดารในอรรถกถา หลังจากนั้นก็ขอแวะชมวิมานของเทวดา จึงมีการกล่าวถึง เทพเทวดาที่ได้สร้างบุญกุศลในสมัยพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าที่รุ่งเรื่องอยู่ ดังมีความพิเศษพิศดารในอรรถกถา จึงวิเคราะห์ได้ว่า เรื่องพระเนมิราชก็อยู่ในช่วง หนึ่งพุทธันดรนี้เอง ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในอรรถกถาเพื่ออ้างอิงดังนี้

                “ ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มาตลีเทพสารถีได้ขับรถต่อไป แสดงวิมานทอง ๗ ของเทพบุตรชื่อโสณทินนะ พระเจ้าเนมิราชทอดพระเนตรเห็นวิมานเหล่านั้น และสิริสมบัติของโสณทินนเทพบุตรนั้น จึงตรัสถามถึงกรรมที่เทพบุตรนั้นได้ทำไว้ แม้มาตลีเทพสารถีนอกนี้ก็ได้ทูลบอกแด่พระองค์วิมานทั้ง ๗ โชติช่วงอันบุญญานุภาพตกแต่งส่องแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์อ่อน ๆ เทพบุตรในวิมานนั้นมีฤทธิ์มาก ประดับด้วยสรรพาภรณ์ อันหมู่เทพธิดาแวดล้อมผลัดเปลี่ยนเวียนวนอยู่โดยรอบ ทั้ง ๗ วิมาน ความปลื้มใจปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่านเทพบุตรนี้ได้ทำกรรมดีอะไรไว้ จึงได้ถึงสวรรค์บันเทิงอยู่ในวิมาน.

                มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถาม ตามที่ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบุญทั้งหลาย แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า เทพบุตรนี้เป็นคฤหบดีชื่อโสณทินนะเป็นทานบดี ให้สร้างวิหาร ๗ หลังอุทิศต่อบรรพชิตได้ปฏิบัติบำรุงภิกษุผู้อยู่ในวิหาร ๗ หลังนั้นโดยเคารพได้บริจาคผ้านุ่งผ้าห่ม ภัตตาหาร เสนาสนะ เครื่องประทีปในท่านผู้ซื้อตรงด้วยจิตเสื่อมใส รักษาอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๘ แห่งปักษ์และปาฏิหาริยปักษ์ เป็นผู้สำรวมในศีลทุกเมื่อ เป็นผู้สำรวมและจำแนกทาน จึงมาบันเทิงอยู่ในวิมาน.

                บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ททฺทฬฺหมานา แปลว่า โชติช่วงอยู่. บทว่า อาเภนฺติ ความว่า ส่องแสงสว่างดั่งดวงอาทิตย์อ่อน ๆ. บทว่า ตตฺถความว่า ในวิมาน ๗ หลังที่ตั้งเรียงรายอยู่นั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อโสณทินนะ ข้าแต่มหาราชเจ้า เทพบุตรองค์นี้ เมื่อก่อน ในกาลแห่งพระกัสสปทศพล เป็นคฤหบดีมีนามว่า โสณทินนะ เป็นทานบดี ในนิคมแห่งหนึ่งใน กาสิกรัฐ เขาให้สร้างกุฎีที่อยู่อุทิศบรรพชิตทั้งหลาย ปฏิบัติบำรุงภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ในวิหารกุฎีนั้น ๆ ด้วยปัจจัย ๔ โดยเคารพ และเข้าจำอุโบสถสำรวมใน ศีลทั้งหลายเป็นนิตย์ ครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จึงอุบัติในวิมานนี้บันเทิงอยู่

พระเนมิราชได้อยู่บนดาวดึงส์เป็นเวลา 7 วัน ก็กลับมายังโลกมนุษย์ และได้สั่งสอนประชาชน ให้ตั้งมั่นอยู่ศีลในธรรม และปฏิบัติธรรม อันเป็นสมถะกรรมฐาน

                ครั้นกาลต่อมา พระมหาสัตว์เนมิราชนั้น เมื่อภูษามาลากราบทูลความที่พระเกศาหงอกเกิดขึ้น จึงทรงให้ถอนพระศกหงอกด้วยพระแหนบทองคำวางในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรเห็นพระศกหงอกนั้นแล้วสลดพระหฤทัยพระราชาทานบ้านส่วยเก่าภูษามาลา มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช จึงมอบราชสมบัติแก่พระโอรส เมื่อพระราชโอรสทูลถามว่า พระองค์จักทรงผนวชเพราะเหตุไร เมื่อจะตรัสบอกเหตุแก่พระราชโอรส จึงตรัสคาถาว่า

                ผมหงอกที่งอกขึ้นบนเศียรของพ่อเหล่านี้ เกิดแล้วก็นำความหนุ่มไปเสีย เป็นเทวทูตปรากฏแล้ว สมัยนี้จึงเป็นคราวที่พ่อจะบวช.

                พระเจ้าเนมิราชตรัสคาถานี้แล้ว เป็นเหมือนพระราชาองค์ก่อน ๆ ทรงผนวชแล้วประทับอยู่ ณ อัมพวันนั้นนั่นเอง เจริญพรหมวิหาร ๔ มีฌานไม่เสื่อม ได้เป็นผู้บังเกิดในพรหมโลก

ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าเนมิราชนั้น มีพระนามว่ากาลารัชชกะ ตัดวงศ์ (คือเมื่อถึงคราวพระศกหงอกและทราบแล้วหาทรงผนวชไม่).

                พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกมาภิเนษกรมณ์ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ออกมหาภิเนษกรมณ์เหมือนกัน ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศจตุราริยสัจ ประชุมชาดก ท้าวสักกราชเทวราช ในครั้งนั้นกลับชาติมาเกิดเป็นภิกษุชื่ออนุรุทธะในกาลนี้ มาตลีเทพสารถีเป็นภิกษุชื่ออานนท์ กษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ เป็นพุทธบริษัท ก็เนมิราช คือเราผู้สัมมาพุทธะนี่เองแล.

                สามารถอ่านเนื้อหาพิศดารตามอรรถกถาตามนี้ อรรถกถาเนมิราชชาดก

สามารอ่านในพระไตรปิฏกตามนี้ เนมิราชชาดก

เรื่องเนมิราชอาจจะไม่อยู่ในพุทธันดรนี้ก็ได้ เพราะอรรถกถากล่าวไว้ว่าอายุขัยมนุษย์ในสมัยนั้นประมาณแสนกว่าปี ซึ่งจะไม่ลงกันในเรื่องของเวลา เพราะสมัยกัสสปพุทธเจ้ามนุษย์มีอายุขัยประมาณ สองหมื่นปี แล้วอายุขัยลดลงมาเรื่อยๆ จนอายุขัยมนุษย์อยู่ 120 ปี และในอายุขัยมนุษย์ประมาณ 120 นี้ พระโพธิสัตว์ก็ได้มาเกิดเป็นพระเวสสันดรเป็นการสร้างบารมีเป็นชาติสุดท้ายในมนุษย์โลก แล้วไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนชั้นดุสิตเสวยทิพย์สุขอยู่เป็นกาลเวลายาวนานมากๆ ตามที่อรรถกถากล่าวไว้ ก่อนที่จะลงมาเกิดบนมนุษย์โลกอีกครั้ง เพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมืออายุขัยมนุษย์ ประมาณ 100 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต แค่เพียงช่วง อายุขัยมนุษย์ลดจาก 120 ปี จนถึง 100 ปี เพราะตามหลักฐานที่กล่าวว่าในหนึ่งร้อยปี อายุขัยมนุษย์ลดลง 1 ปี เมื่อคำนวณแล้วระยะเวลาอายุขัยจาก 120 ลดลงเหลือ 100 ปี ใช้เวลาประมาณ 20X100 ประมาณ 2000 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่วันบนสวรรค์ชั้นดุสิต ยกเว้นจะอธิบายว่า พระโพธิสัตว์อยู่บนดุสิตเทวโลก จากมนุษย์อายุขัยมนุษย์ 120 ปี ลดลงเหลืออายุขัย 10 แล้วอายุขัยมนุษย์เพิ่มขึ้นใน หนึ่งร้อยปี เพิ่มขึ้น 1 ปี จนอายุขัยมนุษย์สูงสุดจนแสนแสนปี แล้วอายุขัยลดลงมาเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 100 ปี แล้วพระมหาโพธิสัตว์ลงมาเกิดเป็นมนุษย์พระชาติสุดท้ายตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า น่าจะเป็นไปได้มากกว่า แต่เมื่อในอรรถกถากล่าวว่าอายุขัยของพระเนมิราชโพธิสัตว์ เป็นแสนปี ก็ไม่สามารถจัดอยู่ใน หนึ่งพุทธันดรนี้ได้ ยกเว้นต้องแก้ไขช่วงอายุขัยมนุษย์สมัยของพระเวสสันดรเป็นหลายหมื่นปี ก็จะเข้ากันได้ในอรรถกถา หรือพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรนั้น ไม่ใช่พระชาติสุดท้ายที่เป็นมนุษย์ ก่อนที่จะเกิดเป็นเจ้าชาติสิทธตะและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

จบเสวยพระชาติเป็น เนมิราชโพธิสัตว์ชาดก

พระมหากัญจนดาบสโพธิสัตว์

                พระมหาโพธิสัตว์ ก็อธิฐานเวียนเกิดเวียนตาย ดังมีในอรรถกถาภิงสจริยา ที่ผู้เขียนตัดต่อมาจากอรรถกถา

อรรถกถาภิงสจริยาที่ ๔

                ได้ยินว่า ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในกรุงพาราณสี. มีชื่อว่า กัญจนกุมาร. ครั้นเมื่อกัญจนกุมารเดินได้ ได้มีบุตรอื่นเกิดขึ้นอีก ชื่อว่า อุปกัญจนกุมาร. ตั้งแต่นั้นมา ชนทั้งหลายพากันเรียกพระมหาสัตว์ว่า มหากัญจนกุมาร. โดยลำดับอย่างนี้ ได้มีบุตรชาย ๗ คน. ส่วนน้องคนเล็กเป็นธิดาคนเดียว ชื่อว่ากัญจนเทวี. พระมหาสัตว์ครั้นเจริญวัยได้ไปเมืองตักศิลา เล่าเรียนศิลปะทุกอย่างสำเร็จแล้วก็กลับ.

                ลำดับนั้น มารดาบิดาประสงค์จะผูกพระมหาสัตว์ให้อยู่ครองเรือนจึงกล่าวว่า พ่อและแม่จะนำทาริกาจากตระกูลที่มีชาติเสมอกับตนมาให้ลูก พระมหาสัตว์กล่าวว่า แม่และพ่อจ๋า ลูกไม่ต้องการอยู่ครองเรือน. เพราะโลกสันนิวาสทั้งหมดมีภัยเฉพาะหน้าสำหรับลูกดุจถูกไฟไหม้. ผูกมัดดุจเรือนจำ. ปรากฏเป็นของน่าเกลียดดุจที่เทขยะ. จิตของลูกมิได้กำหนัดในกามทั้งหลาย พ่อแม่ยังมีลูกอื่นอยู่อีก ขอให้ลูกเหล่านั้นอยู่ครองเรือนเถิด แม้มารดาบิดาสหายทั้งหลายขอร้องก็ไม่ปรารถนา ครั้งนั้น พวกสหายถามพระโพธิสัตว์ว่า ดูก่อนสหาย ก็ท่านปรารถนาอะไรเล่า จึงไม่อยากบริโภคกาม พระโพธิสัตว์จึงบอกถึงอัธยาศัยในการออกบวชของตนแก่สหายเหล่านั้น. ดังที่ เรามีธรรมงามคือหิริมีลักษณะเกลียดบาป ชื่อว่า เป็นธรรมขาว เพราะมีธรรมขาวเป็นวิบาก และเพราะชำระสันดานให้บริสุทธิ์ เราเกลียดบาปเป็นอย่างยิ่ง เราเห็นภพทั้งหมดมีกามภพเป็นต้น มีภัยเฉพาะหน้าโดยความเป็นของน่ากลัว ดุจเห็นช้างดุแล่นมา ดุจเห็นเพชฌฆาตเงื้อมดาบมาเพื่อประหาร ดุจเห็น สีหะ ยักษ์ รากษสสัตว์มีพิษร้าย อสรพิษ และถ่านเพลิงที่ร้อน แล้วยินดีในบรรพชา เพื่อพ้นจากนั้น ออกบวชคิดว่า เราพึงบำเพ็ญสัมมาปฏิบัติอันเป็นธรรมจริยา และพึงยังฌานและสมาบัติให้เกิดขึ้นได้อย่างไรหนอ ดังนี้จึงยินดีในบรรพชา (มีคำอธิบายอีกยาวผู้เขียนก็ตัดเอาเฉพาะใจความ) สหายของเราเหล่านั้นรู้ความพอใจในบรรพชาของเราไม่เปลี่ยนแปลง จึงบอกคำของเราอันแสดงถึงความใคร่และบรรพชาแก่บิดาและมารดา ได้กล่าวว่า พ่อแม่ทั้งหลายท่านจงรู้เถิด มหากาญจนกุมารจักบวช โดยส่วนเดียวเท่านั้น. มหากาญจนกุมารนั้นใครๆ ไม่สามารถจะนำเข้าไปในกามทั้งหลายด้วยอุบายไรๆ ได้. ในกาลนั้นมารดาบิดาของเรา ฟังคำของเราที่พวกสหายของเราบอก จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ พวกเราทั้งหมดจะบวชบ้าง. ผิดว่า มหากัญจนกุมารชอบใจการบวช. แม้พวกเราก็ชอบใจสิ่งที่ลูกเราชอบ. เพราะฉะนั้น เราทั้งหมดก็จะบวช. น้องชาย ๖ มีอุปกัญจนเป็นต้น และน้องสาวกัญจนเทวี รู้ความพอใจในบรรพชาของมหาสัตว์ ได้ประสงค์จะบวชเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น แม้ชนเหล่านั้นอันมารดาเชื้อเชิญให้อยู่ครองเรือนก็ไม่ปรารถนา.

                ก็และครั้นสหายทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว มารดาบิดาจึงเรียกพระมหาสัตว์แจ้งความประสงค์แม้ของตนๆ แก่พระมหาสัตว์แล้วกล่าวว่า ลูกรักลูกประสงค์จะบวชให้ได้ ลูกจงสละทรัพย์ ๘๐ โกฏิอันเป็นของลูกตามสบายเถิด. ลำดับนั้น พระมหาบุรุษบริจาคทรัพย์นั้นแก่คนยากจน และคนเดินทางเป็นต้น แล้วออกบวชเข้าไปยังหิมวันตประเทศ. มารดาบิดา น้องชาย ๖ น้องหญิง ๑ ทาส ๑ ทาสี ๑ และสหาย ๑ ละฆราวาสได้ไปกับพระมหาสัตว์นั้น.

                ก็ครั้นชนเหล่านั้นมีพระโพธิสัตว์เป็นประมุข เข้าไปยังหิมวันตประเทศอย่างนั้นแล้ว จึงอาศัยสระปทุมสระหนึ่ง สร้างอาศรมในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ บวชแล้ว ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยอาหารอันเป็นรากไม้และผลไม้ในป่า. บรรดานักบวชเหล่านั้น ชน ๘ คนมีอุปกัญจนเป็นต้น ผลัดเวรกันหาผลไม้ แบ่งส่วนของตนและคนนอกนั้นไว้บนแผ่นหินแผ่นหนึ่ง ให้สัญญาระฆัง ถือเอาส่วนของตนๆ เข้าไปยังที่อยู่. แม้พวกที่เหลือก็ออกจากบรรณศาลาด้วยสัญญาณระฆัง ถือเอส่วนที่ถึงของตนๆ ไปยังที่อยู่บริโภคแล้วบำเพ็ญสมณธรรม.

                ครั้นต่อมาได้นำเอาเง่าบัวมาบริโภคเหมือนอย่างนั้น. ฤๅษีเหล่านั้นมีความเพียรกล้า มีอินทรีย์มั่นคงอย่างยิ่ง กระทำกสิณบริกรรมอยู่ ณ ที่นั้นลำดับนั้น ด้วยเดชแห่งศีลของฤๅษีเหล่านั้น ภพของท้าวสักกะหวั่นไหวท้าวสักกะทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า จักทดลองฤๅษีเหล่านี้ ด้วยอานุภาพของตนจึงทำให้ส่วนของพระมหาสัตว์หายไปตลอด ๓ วัน. ในวันแรกพระมหาสัตว์ไม่เห็นส่วนของตน คิดว่า คงจะลืมส่วนของเรา. ในวันที่ ๒ คิดว่าเราจะมีความผิดกระมัง. ไม่ตั้งส่วนของเราคงจะไล่เรากระมัง. ในวันที่ ๓ คิดว่า เราจักฟังเหตุการณ์นั้นแล้วจักให้ขอขมา จึงให้สัญญาณระฆังในเวลาเย็น เมื่อฤๅษีทั้งหมดประชุมกันด้วยสัญญาณนั้น จึงบอกเรื่องนั้นให้ทราบครั้นฟังว่า ฤๅษีเหล่านั้นได้แบ่งส่วนไว้ให้ทั้ง ๓ วัน จึงกล่าวว่า พวกท่านแบ่งส่วนไว้ให้เรา แต่เราไม่ได้ มันเรื่องอะไรกัน? ฤๅษีทั้งหมดฟังดังนั้นก็ได้ถึงความสังเวช.

                ณ อาศรมนั้นแม้รุกขเทวดาก็ลงมาจากภพของตน นั่งในสำนักของฤๅษีเหล่านั้น. ช้างเชือกหนึ่งหนีจากเอมมือของพวกมนุษย์เข้าป่า วานรตัวหนึ่งหนีจากเงื้อมมือของหมองูพ้นแล้ว เพราะจะให้เล่นกับงู ได้ทำความสนิทสนมกับฤๅษีเหล่านั้น ในกาลนั้นก็ได้ไปหาฤๅษีเหล่านั้น ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

ในขณะนั้น อุปกัญจนดาบสน้องของพระโพธิสัตว์ ลุกขึ้นไหว้พระโพธิสัตว์ แล้วแสดงความเคารพพวกที่เหลือ ถามขึ้นว่า ข้าพเจ้าเริ่มตั้งสัญญาณแล้วจะได้เพื่อยังตนให้บริสุทธิ์หรือ เมื่อฤๅษีเหล่านั้นกล่าวว่าได้ซิ จึงยืนขึ้นในท่ามกลางหมู่ฤๅษี เมื่อจะทำการแช่ง จึงได้กล่าวคาถานี้

ว่า:-

                                ท่านพราหมณ์ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านไปผู้นั้นจงได้ม้า โค ทอง เงิน ภริยาและสิ่งพอใจณ ที่นี้ จงพรั่งพร้อมด้วยบุตรและภริยาเถิด.

                เพราะอุปกัญจนดาบสนั้น ตำหนิวัตถุกามว่า ความทุกข์ทั้งหลาย

ย่อมเกิดขึ้น ในเพราะการพลัดพรากจากวัตถุอันเป็นที่รัก จึงกล่าวคาถานี้. หมู่ฤๅษีได้ฟังดังนั้น จึงปิดหูด้วยกล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น คำแช่งของท่านหนักเกินไป. แม้พระโพธิสัตว์ก็กล่าวว่า คำแช่งของท่านหนักเกินไป. อย่าถือเอาเลยพ่อคุณ. นั่งลงเถิด. แม้ฤๅษีที่

เหลือก็ทำการแช่ง ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ตามลำดับว่า:-

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบังของท่านไป ผู้นั้นจงทรงไว้ซึ่งมาลัยและจันทน์แดง จากแคว้นกาสี. สมบัติเป็นอันมากจงมีแก่บุตร.จงทำความเพ่งอย่างแรงกล้าในกามทั้งหลาย.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้นจงมีข้าวเปลือกมาก สมบูรณ์ด้วยกสิกรรมมียศ จงได้บุตร จงเป็นคฤหัสถ์ จงมีทรัพย์จงได้สิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง ไม่เห็นความเสื่อม จงครองเรือน.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้นเป็นกษัตริย์ จงเป็นผู้ทำการข่มขี่ จงเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา ทรงพลัง จงมียศจงครองแผ่นดินพร้อมด้วยทวีปทั้ง ๔ เป็นที่สุด.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้นเป็นพราหมณ์ จงไม่ปราศจากราคะ จงขวนขวายในฤกษ์ยาม และในวิถีโคจรของนักษัตรผู้เป็นเจ้าแว่นแคว้น มียศ จงบูชาผู้นั้น.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านโลกทั้งปวง จงสำคัญผู้นั้นว่า ผู้คงแก่เรียนผู้มีเวทพร้อมด้วยมนต์ทุกอย่าง ผู้มีตบะ, ชาวชนบทพิจารณาเห็นแล้ว จงบูชาผู้นั้น.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้นจงบริโภค บ้านส่วยอันหนาแน่นด้วยสิ่งทั้ง ๔ อันบริบูรณ์พร้อม ที่ท้าววาสวะประทานจงไม่ปราศจากราคะ เข้าถึงมรณะ.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน จงบันเทิงอยู่ด้วยการฟ้อนรำ การขับร้องในท่ามกลางสหาย ผู้นั้นอย่าได้เสื่อมความเสียไรๆ จากพระราชา.

                                ท่านพราหมณ์หญิงใดได้ลักเง่าบัวของท่านหญิงนั้น เป็นอัครชายา ทรงชนะหญิงทั่วปฐพีจงดำรงอยู่ในความเป็นเลิศกว่าหญิง ๑,๐๐๐ จงเป็นผู้ประเสริฐกว่าหญิงทั่วแดน.

                                ท่านพราหมณ์หญิงใดได้ลักเง่าบัวของท่านหญิงนั้น ไม่หวั่นไหว บริโภคของอร่อยในท่ามกลางฤๅษีทั้งหลาย ที่ประชุมกันทั้งหมด จงเที่ยวอวดด้วยลาภ.

                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวของท่านผู้นั้น จงเป็นผู้ดูแลวัด ในมหาวิหาร จงเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง ในคชังคลนคร จงทำหน้าต่างเสร็จเพียงวันเดียว.

                                ท่านพราหมณ์ช้างใดได้ลักเง่าบัวของท่านช้างนั้นถูกคล้องด้วยบ่วง ๑๐๐ บ่วงในที่ ๖ แห่งจงนำออกจากป่าน่ารื่นรมย์ไปสู่ราชธานี ช้างนั้นถูกเบียดเบียนด้วยขอมีด้ามยาว.

                                ท่านพราหมณ์วานรใดได้ลักเง่าบัวของท่านวานรนั้น ประดับดอกรักที่คอ หลังหูประดับด้วยดีบุก ถูกเฆี่ยนด้วยไม้เรียว จงนำเข้าไปต่อหน้างู ผูกติดกับผ้าเคียนพุง จงเที่ยวไปตลอด.

                ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ดำริว่า เมื่อดาบสเหล่านี้ทำการแช่ง. แม้เราก็ควรทำบ้าง. เมื่อจะทำการแช่ง จึงกล่าวคาถานี้ว่า:-

                                ผู้ใดแลกล่าวสิ่งที่ไม่สูญหายว่าสูญหาย ผู้นั้นจงได้และจงบริโภคกามทั้งหลาย หรือว่า ข้าแต่เทวะผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดไม่เคลือบแคลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นจงเข้าถึงมรณะ

ในท่ามกลางเรือนเถิด.

                ลำดับนั้นท้าวสักกะทรงทราบว่า ฤๅษีทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีความเพ่งในกามทั้งหลาย จึงทรงสลดพระทัย เมื่อจะทรงแสดงว่า บรรดาฤๅษีเหล่านี้แม้ผู้ใดผู้หนึ่ง ก็มิได้นำเง่าบัวไป. แม้ท่านก็มิได้กล่าวถึงสิ่งที่ไม่สูญหายว่าหาย. ที่แท้ข้าพเจ้าประสงค์จะทดลองพวกท่านจึงทำให้หายไปดังนี้ จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า:-

                                ข้าพเจ้าเมื่อจะทดลอง จึงถือเอาเง่าบัวของฤๅษีที่ฝั่งแม่น้ำ แล้วเก็บไว้บนบก. ฤๅษี

                ทั้งหลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ลามก ย่อมอาศัยอยู่.ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ นี่เง่าบัวของท่าน.

พระโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงต่อว่าท้าวสักกะว่า:-

                                ท่านเทวราชผู้เป็นท้าวสหัสนัยน์ พวกอาตมาไม่ใช่นักฟ้อนรำของท่าน ไม่ใช่ผู้ควรจะพึงเล่นของท่าน ไม่ใช่ญาติของท่าน ไม่ใช่สหายของท่าน ที่พึงทำการรื่นเริง ท่านอาศัยใครจึงเล่นกับพวกฤๅษี.

                ลำดับนั้นท้าวสักกะทรงขอให้ฤๅษีนั้นยกโทษให้ด้วยพระดำรัสว่า:-

                                ข้าแต่ท่านผู้เป็นดังพรหม ท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า และเป็นบิดาของข้าพเจ้าเงาเท้าของท่านนี้จงเป็นที่พึ่งแห่งความผิดพลาดของข้าพเจ้า ท่านผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน ขอท่านจงอดโทษสักครั้งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่มีความโกรธเป็นกำลัง.

พระมหาสัตว์ได้ยกโทษให้แก่ท้าวสักกเทวราชแล้ว ตนเองเมื่อจะยังหมู่ฤๅษีให้ยกโทษให้ จึงกล่าวว่า:-

                                การอยู่ในป่าของพวกฤๅษี แม้คืนเดียวก็เป็นการอยู่ที่ดี พวกเราได้เห็นท้าววาสวะภูตบดี. ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดีใจเถิด เพราะพราหมณ์ใดได้เง่าบัวส่งคืนแล้ว.

ท้าวสักกะทรงไหว้หมู่ฤๅษีแล้วกลับสู่ เทวโลก. แม้หมู่ฤๅษียังฌานและอภิญญาให้เกิด แล้วได้ไปสู่พรหมโลก.

                น้องชายทั้ง ๖ คน มีอุปกัญจนะเป็นต้น ในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตร พระโมคคัลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ และพระอานนทเถระ ในครั้งนี้. น้องสาว คือนางอุบลวรรณา. ทาสี คือนางขุชชุตตรา. ทาส คือจิตตคฤหบดี. รุกขเทวดา คือสาตาถิระ. ช้าง คือช้างปาลิไลยยะ. วานร คือมธุวาสิฎฐะ. ท้าวสักกะ คือกาฬุทายี. มหากัญจนดาบส คือพระโลกนาถ.

                แม้ในจริยานี้ ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมี ๑๐ ของพระโพธิสัตว์โดย นัยดังที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพมีความไม่คำนึงถึงในกามทั้งหลายเป็นต้น ส่วนเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

จบ อรรถกถาภิงสจริยาที่ ๔

ขยายความโดยผู้เขียน จัดเรื่องนี้อยู่ใน หนึ่งพุทธันดรนี้ ก็คือตอนที่ รุกขเทวดา สาบแช่งว่า                                ท่านพราหมณ์ ผู้ใดได้ลักเง่าบัวขอท่านผู้นั้น จงเป็นผู้ดูแลวัด ในมหาวิหาร จงเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง ในคชังคลนคร จงทำหน้าต่างเสร็จเพียงวันเดียว.

คือรุกขเทวดาระลึกอดีตชาติก่อนของตนเองได้ว่า ในศาสนากัสสปพุทธเจ้า ตนได้บวชเป็นพระ เป็นสมภารวัด ต้องลำบากในการดูแลวัดจนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม

                หลังจากมหากัญจนดาบสสิ้นอายุขัย ก็ไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วอธิฐานเวียนว่ายตายเกิด

มหาโควินทโพธิสัตว์

ได้เกิดบนโลกมนุษย์ ดังปรากฏในมหาโควินทสูตร ซึ่งตัดมาส่วนหนึ่งในพระไตรปิฏกดังนี้

เรื่องพระเจ้าทิสัมบดี

                ดูกรท่านผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระราชาทรงพระนามว่าทิสัมบดี พราหมณ์นามว่า โควินทะ เป็นปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมบดีพระกุมารพระนามว่า เรณู เป็นโอรสของพระเจ้าทิสัมบดี มาณพมีนามว่า โชติปาละ เป็นบุตรของ โควินทพราหมณ์ คน ๘ คนเหล่านี้คือ พระราชโอรสพระนามว่า เรณู ๑ โชติ ปาลมาณพ ๑ และกษัตริย์อื่นอีก ๖ พระองค์ เป็นสหายกันดังนี้ครั้งนั้น โดย วันคืนล่วงไปๆ โควินทพราหมณ์ได้ทำกาละ เมื่อโควินทพราหมณ์กระทำกาละแล้ว พระเจ้าทิสัมบดีทรงพระรำพันว่า สมัยใด เรามอบราชกิจทั้งปวงไว้ในโควินทพราหมณ์ แล้วสะพรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณ บำเรออยู่ สมัยนั้น โควินทพราหมณ์ถึง อนิจจกรรมเสียแล้ว

                เมื่อท้าวเธอดำรัสอย่างนี้แล้ว เรณูราชโอรสได้กราบทูลพระเจ้าทิสัมบดีว่า ขอเดชะเมื่อท่านโควินทพราหมณ์ถึงอนิจจกรรมแล้ว พระองค์อย่าทรงกรรแสง นักเลย โชติปาลมาณพบุตรของโควินทพราหมณ์ยังมีอยู่ เขาฉลาดกว่าทั้งสามารถ กว่าบิดา บิดาของเขาสั่งสอนอรรถเหล่าใด แม้อรรถเหล่านั้น โชติปาลมาณพก็ สั่งสอนได้เหมือนกัน อย่างนั้นหรือ พ่อกุมาร อย่างนั้นขอเดชะ ฯ

                ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีจึงตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า มานี่เถิด บุรุษผู้เจริญ ท่านจงเข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ แล้วจงบอกกะโชติปาลมาณพ อย่างนี้ว่า ขอความเจริญจงมีแก่ท่านโชติปาลมาณพเถิด พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่ง ให้ท่านโชติปาลมาณพเข้าไปเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีทรงมีพระราชประสงค์จะทอด พระเนตรท่านโชติปาลมาณพ ฯ บุรุษนั้นทูลรับคำพระเจ้าทิสัมบดีแล้ว เข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่าขอความเจริญจงมีแก่ท่านโชติปาลมาณพเถิด พระเจ้าทิสัมบดี รับสั่งให้ท่านโชติปาลมาณพเข้าไปเฝ้า ทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร ท่านโชติปาลมาณพ ฯ

                โชติปาลมาณพรับคำบุรุษนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระเจ้าทิสัมบดีถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระเจ้าทิสัมบดี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าทิสัมบดีจึงตรัสว่า ขอท่านโชติปาลมาณพจงสั่ง สอนเรา อย่าบอกคืนในการสั่งสอนเราเลย เราจักแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา จักอภิเษกในตำแหน่งโควินทพราหมณ์ โชติปาลมาณพทูล รับสนองพระเจ้าทิสัมบดีว่าอย่างนั้น ขอเดชะ ฯ

                 ครั้งนั้น พระเจ้าทิสัมบดีทรงอภิเษกโชติปาลมาณพไว้ในตำแหน่ง โควินทพราหมณ์ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดาโชติปาลมาณพผู้อันพระเจ้า ทิสัมบดีทรงอภิเษกในตำแหน่งโควินทพราหมณ์ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน บิดาแล้ว ก็สั่งสอนอรรถที่บิดาของเขาสั่งสอน ไม่สั่งสอนอรรถที่บิดาของเขา ไม่สั่งสอน ย่อมจัดแจงการงานที่บิดาของเขาจัด ไม่จัดแจงการงานที่บิดาของเขา ไม่จัด มนุษย์ทั้งหลายกล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านโควินทพราหมณ์หนอ ดูกรท่านผู้เจริญ ท่านมหาโควินทพราหมณ์หนอ ดูกรท่านผู้เจริญ โดยปริยายนี้ นามสมญาว่า มหาโควินท์ นั่นแล จึงเกิดมีแก่โชติปาลมาณพ ฯ

นามสมญาว่ามหาโควินทะ เรื่องเรณูราชโอรส

                [๒๒๐] ดูกรท่านผู้เจริญ ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าทิสัมบดีทรง พระชราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ใครจะรู้ชีวิต ข้อนี้เป็นฐานะ ที่จะมีได้ เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีเสด็จสวรรคตแล้ว พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ พึงอภิเษกเรณูราชโอรสเป็นพระราชา ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงมาไปเฝ้าเรณูราชโอรส กันเถิด แล้วจงทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย เป็นสหายที่รักที่เจริญใจ โปรดปราน ของท่านเรณู ท่านมีสุขอย่างใด ข้าพเจ้าทั้งหลายก็มีสุขอย่างนั้น ท่านมีทุกข์ อย่างใดข้าพเจ้าทั้งหลายก็มีทุกข์อย่างนั้น ข้าแต่ท่าน พระเจ้าทิสัมบดีทรงพระ ชราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาล ผ่านวัยแล้ว ใครจะรู้ชีวิต ข้อนี้เป็นฐานะ ที่จะมีได้ เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีเสด็จสวรรคตแล้ว พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ พึงอภิเษกท่านเรณูให้เป็นพระราชา ถ้าท่านเรณูพึงได้ราชสมบัติขอจงแบ่งราช สมบัติให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ฯ กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้น รับคำมหาโควินทพราหมณ์แล้ว เข้าไปเฝ้า เรณูราชโอรสถึงที่ประทับ แล้วทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายเป็นสหายที่รักที่เจริญใจ โปรดปรานของท่านเรณู ท่านมีสุขอย่างใด ข้าพเจ้าทั้งหลายก็มีสุขอย่างนั้น ท่าน มีทุกข์อย่างใด ข้าพเจ้าทั้งหลายก็มีทุกข์อย่างนั้นดูกรท่านผู้เจริญ พระเจ้าทิสัมบดี ทรงพระชราแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาล ผ่านวัยแล้ว ใครจะรู้ชีวิต ข้อนี้เป็น ฐานะจะมีได้ เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีเสด็จสวรรคตแล้ว พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ พึงอภิเษกท่านเรณูเป็นพระราชา ถ้าท่านเรณูได้ราชสมบัติ ขอจงแบ่งราชสมบัติให้ข้าพเจ้า ทั้งหลาย ฯ เรณูราชโอรสตรัสว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา ใครอื่นจักพึงมีความสุขนอกจากท่านทั้งหลาย ถ้าข้าพเจ้าจักได้ราชสมบัติ จักแบ่ง ให้ท่านทั้งหลาย ฯ

ดูกรท่านผู้เจริญ ครั้งนั้น เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พระเจ้าทิสัมบดีเสด็จ สวรรคต ครั้นพระเจ้าทิสัมบดีเสด็จสวรรคตแล้ว อำมาตย์ผู้สำเร็จราชการทั้งหลาย อภิเษกเรณูราชโอรสเป็นพระราชาเรณูได้อภิเษกเป็นพระราชาแล้ว สะพรั่งพร้อมไปด้วย เบญจกามคุณ บำรุงบำเรออยู่ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ทั้ง ๖ พระองค์นั้นถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลว่า

ข้าแต่ท่านทั้งหลาย พระเจ้าทิสัมบดี เสด็จสวรรคตแล้ว เรณูได้อภิเษกเป็นพระราชา สะพรั่ง

พร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ บำรุงบำเรออยู่ ก็ใครหนอจะรู้ว่า กามารมณ์ทั้งหลายเป็นเหตุให้มัวเมาท่านผู้เจริญ ทั้งหลายจงมาไปเฝ้าพระเจ้าเรณูกันเถิด แล้วจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้าทิสัมบดี เสด็จสวรรคตแล้ว ท่านเรณูได้รับอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระ ดำรัสนั้นได้อยู่หรือ ฯ

                กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้น รับคำมหาโควินทพราหมณ์ แล้วเข้าไปเฝ้า พระเจ้าเรณูถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้าทิสัมบดีเสด็จ สวรรคตแล้ว ท่านเรณูได้รับอภิเษกเป็นพระราชาแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระดำรัสนั้น ได้อยู่หรือ ฯ พระเจ้าเรณูตรัสตอบว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรายังระลึกถึงคำนั้น ได้อยู่

                . ใครหนอจะสามารถแบ่งมหาปฐพีนี้ที่ยาวไปทางทิศอุดร และทักษิณ ออกเป็น ๗

ส่วนเท่าๆ กัน ให้เป็นดุจทางเกวียน ฯ

                . ใครอื่นจะสามารถ นอกจากท่านมหาโควินทพราหมณ์

ครั้งนั้น พระเจ้าเรณูตรัสเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมารับสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงมาจงเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ แล้วจงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ พระเจ้าเรณูรับสั่งหาท่าน ฯ บุรุษนั้นรับสนองพระราชดำรัสของพระเจ้าเรณูแล้ว เข้าไปหามหาโควินท พราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้าเรณูรับสั่งหาท่าน ฯ มหาโควินทพราหมณ์รับคำของบุรุษนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณูถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระเจ้าเรณู ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าเรณูได้ตรัสว่า ท่านโควินท์ท่านจงแบ่งมหาปฐพี นี้ที่ยาวไปทางทิศอุดรและทิศทักษิณ ออกเป็น ๗ ส่วนเท่าๆ กันให้เป็นดุจทาง เกวียน ฯ

พระเจ้าทิสัมบดีสิ้นพระชนม์

                มหาโควินทพราหมณ์ รับสนองพระราชดำรัสของพระเจ้าเรณูแล้ว แบ่ง มหาปฐพีนี้ที่ยาวไปทางทิศอุดรและทิศทักษิณออกเป็น ๗ ส่วนเท่าๆ กัน ให้ เป็นดุจทางเกวียน ตั้งเนื้อที่ทั้งหมดให้เป็นดุจทางเกวียน ฯ ได้ยินว่า ในเนื้อที่เหล่านั้น ชนบทของพระเจ้าเรณูอยู่ท่ามกลาง

                [๒๒๑] ทันตปุรนคร เป็นมหานครของแคว้นกาลิงคะโปตนนคร เป็นมหานครของแคว้นอัสสกะมาหิสสตินคร เป็นมหานคร ของแคว้นอวันตีโรรุกนคร เป็นมหานครของแคว้นโสจิระมิถิลา นคร เป็นมหานครแห่งแคว้นวิเทหะ จัมปานครสร้างในแคว้น อังคะ พาราณสีนคร เป็นมหานครแห่งแคว้นกาสี พระนคร เหล่านี้ ท่านโควินทพราหมณ์สร้าง ฯ

                [๒๒๒] ครั้งนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้น ทรงดีพระทัยมีความดำริ บริบูรณ์ด้วยลาภของตนๆ ว่า สิ่งใดที่เราทั้งหลายอยากได้ หวัง ประสงค์ ปรารถนายิ่ง เราทั้งหลายก็ได้ สิ่งนั้นแล้วหนอ ฯ

                [๒๒๓] กษัตริย์เหล่านั้น ทรงพระนามว่า สัตตภูพระองค์ ๑ พรหมทัตพระองค์ ๑ เวสสภูพระองค์ ๑ ภรตพระองค์ ๑ เรณูพระองค์ ๑ ธตรถ ๒พระองค์ รวมพระมหากษัตริย์ผู้ทรง พระราชภาระ ๗ พระองค์ ในกาลนั้น ฯ

จบภาณวารที่หนึ่ง

                [๒๒๔] ครั้งนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้น เสด็จเข้าไปหามหาโควินท พราหมณ์ถึงที่อยู่ แล้วตรัสว่า ดูกรท่านผู้เจริญ ขอท่านโควินทพราหมณ์ จงเป็น สหายที่รัก ที่เจริญใจโปรดปรานขอข้าพเจ้าทั้งหลาย ดังท่านโควินท์เป็นสหาย ที่รัก ที่เจริญใจโปรดปราน ของพระเจ้าเรณูเถิด ขอจงสั่งสอนข้าพเจ้าทั้งหลาย อย่าบอกคืนในการสั่งสอนข้าพเจ้าทั้งหลายเลย มหาโควินทพราหมณ์รับสนอง พระดำรัสของกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้น ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้วว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ จึงสอนพระราชาผู้กษัตริย์ ๗ พระองค์ ผู้ได้มูรธาภิเษก

แล้ว ที่ตนพึงสั่งสอนด้วยราชกิจ แลบอกมนต์กะพราหมณ์ มหาศาล ๗ คน และเหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ ฯ

เกียรติศัพท์อันงามของมหาโควินทพราหมณ์

ครั้งนั้น สมัยต่อมา เกียรติศัพท์อันงามของมหาโควินทพราหมณ์ ขจร ไปอย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์ อาจเห็นพรหม อาจสนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหม ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์มีความดำริว่า เกียรติศัพท์อันงาม ของเราขจรไปอย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหม ก็เราไม่ได้เห็นพรหม ไม่ได้สนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหม แต่เราได้สดับความข้อนี้มาต่อพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์ และปาจารย์ พูดกันว่า ผู้ใดหลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ถ้ากระนั้น เราพึงหลีกออกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝนเถิด ฯ

ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณูถึงที่ประทับ แล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกียรติศัพท์อันงามของข้าพระพุทธเจ้าขจรไป อย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์ อาจเห็นพรหม อาจสนทนา ปราศรัย ปรึกษา กับพรหมได้ ก็ข้าพระพุทธเจ้ามิได้เห็นพรหม มิได้สนทนาปราศรัย ปรึกษากับ พรหม แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับความข้อนี้มาต่อพราหมณ์ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็น อาจารย์และปาจารย์ พูดกันว่า ผู้ใดหลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะหลีกออกเร้น เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระพุทธเจ้า นอกจากคนนำอาหารไปให้คนเดียว พระ เจ้าเรณูรับสั่งว่า ท่านมหาโควินทพราหมณ์ย่อมสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ฯ

มหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้า ๖ กษัตริย์

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์นั้น แล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกียรติศัพท์อันงามของข้าพระพุทธเจ้าขจรไป อย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนา ปราศรัย ปรึกษา กับพรหมได้ ก็ข้าพระพุทธเจ้ามิได้เห็นพรหมมิได้สนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหม แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับความข้อนี้มาต่อพราหมณ์ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า ผู้ใดหลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะหลีกออกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระพุทธเจ้า นอกจากคนนำอาหารไปให้คนเดียว กษัตริย์ ทั้ง ๖ พระองค์นั้น ตรัสว่า ท่านโควินทพราหมณ์ย่อมสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปหาพราหมณ์มหาศาล ๗ คน และ เหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ดูกรท่านผู้เจริญทั้งหลาย เกียรติศัพท์ อันงามของข้าพเจ้าขจรไปอย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ก็ข้าพเจ้ามิได้เห็นพรหม มิได้สนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหม แต่ว่า ข้าพเจ้าได้สดับความข้อนี้มาต่อพราหมณ์ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า ผู้ใดหลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณา ฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ผู้นั้น ย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนา ปราศรัย ปรึกษา กับพรหมได้ ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงทำการสาธยายมนต์ตามที่สดับมาแล้ว ตามที่เรียนมาแล้วโดยพิสดาร และจงบอกมนต์ให้แก่กันและกัน ข้าพเจ้าปรารถนา จะหลีกออกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไป หาข้าพเจ้า นอกจากคนนำอาหารไปให้คนเดียว พราหมณ์มหาศาลและเหล่า ข้าราชบริพารเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านโควินทพราหมณ์ย่อมสำคัญกาลอันควรใน บัดนี้เถิด ฯ

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปหาภรรยา ๔๐ คน ผู้เสมอกันที่อยู่ แล้วกล่าวว่าดูกรนางผู้เจริญทั้งหลาย เกียรติศัพท์อันงามของฉัน ขจรไปอย่างนี้ว่า มหาโควินทพราหมณ์อาจเห็นพรหม อาจสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ก็ฉันมิได้เห็นพรหม มิได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพรหม แต่ว่า ฉันได้สดับ ความข้อนี้มาต่อพราหมณ์ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า ผู้ใด หลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝนผู้นั้นย่อมเห็นพรหม ย่อมสนทนาปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ ฉันปรารถนาจะหลีกออกเร้น เพ่งกรุณา ฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน ใครๆ ไม่พึงเข้าไปหาฉัน นอกจากคนนำอาหาร ไปให้คนเดียวภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านโควินทพราหมณ์ย่อมสำคัญกาลอันควร ในบัดนี้เถิด

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ จึงให้สร้างสัณฐาคารใหม่โดยทิศบูรพา แห่งนคร แล้วหลีกออกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน ใครๆ ไม่เข้าไปหา นอกจากคนนำอาหารไปให้คนเดียว ครั้งนั้น พอล่วง ๔ เดือน ในวันนั้นเอง มหาโควินทพราหมณ์มีความระอา ความท้อใจว่า ก็เราได้สดับความ ข้อนี้มาต่อพราหมณ์ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์พูดกันว่า ผู้ใดหลีกออก เร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือน ในฤดูฝน ผู้นั้นย่อมเห็นพรหมย่อม สนทนา ปราศรัย ปรึกษากับพรหมได้ แต่เราก็มิได้เห็นพรหม มิได้สนทนา ปราศรัยปรึกษากับพรหม

กถาว่าด้วยการปรากฏของสนังกุมารพรหม

                ครั้งนั้น สนังกุมารพรหม ทราบความปริวิตกแห่งใจของมหาโควินท พราหมณ์ ด้วยใจแล้ว จึงหายไปในพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะหน้ามหาโควินท พราหมณ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ออก หรือคู้แขนที่เหยียดเข้า ฉะนั้น ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์มีความกลัวหวาดเสียว ขนลุกชูชัน เพราะเห็น รูปที่ไม่เคยเห็น ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ กลัวหวาดเสียว ขนลุกชูชัน ได้กล่าวกะสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า

ปฏิปทาที่ให้ถึงพรหมโลก

                [๒๒๕] ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครเล่า มีวรรณมียศ มีสิริ ข้าพเจ้าไม่รู้จักจึงถามท่าน ไฉนข้าพเจ้าจะพึงรู้จักท่านได้ ฯ

                . เทวดาทั้งปวงรู้จักเราว่า กุมารเก่าในพรหมโลก เทวดาทั้ง ปวงรู้จักเราดูกรโควินท์ ท่านจงรู้จักเราอย่างนี้ ฯ

                . อาสนะ น้ำ น้ำมันทาเท้า น้ำผึ้งเคี่ยวไฟ ข้าพเจ้าเชื้อเชิญ ท่านด้วยของควรค่า ขอท่านจงรับของควรค่าของข้าพเจ้า เถิด ฯ

                . ดูกรโควินท์ เราย่อมรับของควรค่าของท่าน ที่ท่านพูดถึง นั้น ท่านผู้ที่เราให้โอกาสแล้ว จงถามความที่ท่านปรารถนา เถิด เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบัน และสุขใน ภพหน้า ฯ

                [๒๒๖] ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์มีความดำริว่า เรามีโอกาสอัน สนังกุมารพรหมให้แล้ว เราจะพึงถามทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หรือสัมปรายิกัตถ ประโยชน์ กะสนังกุมารพรหมดีหนอ ลำดับนั้น มหาโควินทพราหมณ์มีความ ดำริว่า เราเป็นผู้ฉลาดในทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามทิฏฐธัมมิกัตถ ประโยชน์กะเรา ดังนั้น เราพึงถามสัมปรายิกัตถประโยชน์กะสนังกุมาร พรหมเถิด ฯ ลำดับนั้น มหาโควินทพราหมณ์ได้กล่าวกะสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า

                [๒๒๗] ข้าพเจ้ามีความสงสัย จึงขอถามสนังกุมารพรหม ผู้ไม่มีความสงสัย ในปัญหาของคนอื่น สัตว์ตั้งอยู่ในอะไร ศึกษาในอะไร จึงจะถึงพรหมโลกอันไม่ตาย

                . ดูกรพราหมณ์ สัตว์ละความยึดถือว่าเป็นของเรา ในสัตว์ ทั้งหลายที่เกิดเป็นมนุษย์แล้วอยู่โดดเดี่ยว น้อมไปในกรุณา ไม่มีกลิ่นร้าย เว้นจากเมถุน สัตว์ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และ ศึกษาอยู่ในธรรมนี้ ย่อมถึงพรหมโลกอันไม่ตายได้

                [๒๒๘] . ข้าพเจ้าทราบต่อท่านว่า ละความยึดถือว่าเป็นของเรา คน บางคนในโลกนี้ ละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต ดังนี้ ชื่อว่า ละความ ยึดถือว่าเป็นของเรา ข้าพเจ้าทราบต่อท่านดังนี้ ฯ ข้าพเจ้าทราบต่อท่านว่า อยู่โดดเดี่ยว คนบางคนในโลกนี้ย่อมเสพ เสนาสนะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง หลีกออกเร้นอยู่ ดังนี้ ชื่อว่า อยู่โดดเดี่ยว ข้าพเจ้าทราบต่อท่าน ดังนี้ ฯ ข้าพเจ้าทราบต่อท่านว่า น้อมไปในกรุณา คนบางคนในโลกนี้มีใจ สหรคตด้วยกรุณาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในที่ทุกสถาน มีใจสหรคต ด้วยกรุณา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการทั้งปวง ดังนี้อยู่ ดังนี้ ชื่อว่า น้อมไปในกรุณา ข้าพเจ้าทราบต่อท่านดังนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ทราบคนมีกลิ่นร้าย ต่อท่านซึ่งพูดถึงอยู่

                [๒๒๙] . ข้าแต่พรหม ในสัตว์ทั้งหลาย คนเหล่าไหนมีกลิ่น ร้ายข้าพเจ้าไม่ทราบคนกลิ่นร้ายเหล่านี้ ท่านนักปราชญ์ ขอจงบอก ณ ที่นี้เถิด หมู่สัตว์อันอะไรร้อยแล้ว ย่อม เหม็นเน่าคลุ้งไปต้องไปอบาย มีพรหมโลกอันปิดแล้ว ฯ

                . ความโกรธ การพูดเท็จ การโกง ความประทุษร้ายมิตร ความเป็นคนตระหนี่ ความเย่อหยิ่ง ความริษยา ความมักได้ ความลังเล การเบียดเบียนผู้อื่น ความโลภ ความ คิด ประทุษร้าย ความเมา และความหลง สัตว์ผู้ประกอบ ในกิเลสเหล่านี้ จัดว่าไม่หมดกลิ่นร้ายต้องไปอบาย มี พรหมโลกอันปิดแล้ว ฯ

                [๒๓๐] . ข้าพเจ้าเพิ่งทราบกลิ่นร้าย ต่อท่านซึ่งพูดถึงอยู่กลิ่น ร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้ง่ายเลย ข้าพเจ้าจะออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ

                . ท่านโควินท์ ย่อมรู้กาลอันควรในบัดนี้เถิด

มหาโควินทพราหมณ์ทูลลาพระเจ้าเรณูเพื่อบวช

                ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณูถึงที่ประทับ แล้ว กราบทูลว่าบัดนี้ ข้าพระองค์จงแสวงหาปุโรหิตคนอื่น ที่จักแนะนำราชกิจต่อ พระองค์เถิด ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับ กลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้นอัน บุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ฯ

                [๒๓๑] . ข้าพระพุทธเจ้าขอเชิญพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าเรณู ขอพระองค์ทรงรับรู้ด้วยราชกิจเถิด ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ยินดีในความเป็นปุโรหิต

                เร. ถ้าท่านพร่องด้วยกามทั้งหลาย เราจะให้ท่านบริบูรณ์ อนึ่ง ผู้ใดเบียดเบียนท่าน เราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินจะห้ามผู้นั้น ท่านเป็นบิดาข้าพเจ้าเป็นบุตร ดูกรท่านโควินท์ ขอท่านอย่าสละเราเสียเลย ฯ

                . ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความบกพร่องด้วยกาม ไม่มีใครเบียด เบียนข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของท่านผู้ไม่ ใช่มนุษย์เหตุนั้น จึงไม่ยินดีในเรือน ฯ

                เร. ท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์ มีวรรณอย่างไร ได้กล่าวข้อความอะไร กะท่านซึ่งท่านฟังแล้วจะละเรือนของเรา พวกเรา และ ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นเล่า

                . เมื่อข้าพระพุทธเจ้า อยู่โดดเดี่ยวเมื่อก่อนประสงค์จะเส้น สรวงไฟสุมด้วยใบหญ้าคาลุกโพลงแล้ว ขณะนั้น สนังกุมารพรหมมาจากพรหมโลก ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าพรหมนั้นพยากรณ์ปัญหาปัญหาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าฟังปัญหานั้นแล้ว จึงไม่ยินดีในเรือน ฯ

                เร. ดูกรท่านโควินท์ ท่านพูดคำใด ข้าพเจ้าเชื่อคำนั้นต่อท่าน ท่านฟังคำของท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว จะประพฤติโดย ประการอื่นอย่างไรข้าพเจ้าทั้งหลายนั้นจักประพฤติตาม ท่าน ท่านโควินท์ ท่านเป็นครูของเราทั้งหลาย แก้ว ไพฑูรย์ ไม่มีฝ้า ปราศจากราคี งาม ฉันใดข้าพเจ้าทั้ง หลายจักเชื่อฟัง ประพฤติอยู่ในคำสั่งสอนของท่านโควินท์ฉันนั้น

                [๒๓๒] เร. ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้เรา ทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่งคติ อันใดของท่าน คตินั้นจัก เป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                ครั้งนั้น มหาโควินท์พราหมณ์ เข้าเฝ้ากษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า บัดนี้ขอพระองค์ทั้งหลายจงแสวงหาปุโรหิตคนอื่น ที่จักแนะนำ ราชกิจต่อพระองค์ทั้งหลายเถิดข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้าย เหล่านั้น อันบุคคลผู้ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลยข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ

                ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นหลีกเลี่ยงไป ณ ข้างหนึ่งแล้ว คิด ร่วมกันอย่างนี้ว่า ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภทรัพย์ ถ้ากระไรเราทั้งหลายจะพึง เกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์ด้วยทรัพย์ แล้วเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้มีทรัพย์เพียงพอ ท่านต้องการทรัพย์ ประมาณเท่าใด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะให้นำมาเท่านั้น

                . ขอเดชะ อย่าเลย ทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้านี้มีเพียงพอเหมือน ทรัพย์ของพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าจักละทรัพย์ทั้งปวงออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่น ร้ายเหล่านั้นอันบุคคลผู้ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจัก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ

                ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์หลีกไป ณ ข้างหนึ่ง แล้วคิดร่วมกัน อย่างนี้ว่าธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักโลภด้วยหญิง ถ้ากระไรเราทั้งหลายจะพึง เกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์ด้วยหญิง แล้วจึงเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีหญิงมากมาย ท่านต้อง การหญิงเท่าใด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะให้นำมาเท่านั้น ฯ

                . ขอเดชะ อย่าเลย ภรรยาของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคนเสมอกัน มีถึง ๔๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าจักละภรรยาเหล่านั้นทั้งหมด ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้าย เหล่านั้น อันบุคคลผู้ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจัก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ

                 . ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของ ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                [๒๓๓] . ถ้าพระองค์ทั้งหลายจะละกาม อันเป็นที่ข้องของ ปุถุชน ขอจงทรงปรารภความเพียรให้มั่น ประกอบด้วยกำลังขันติ ทางนี้เป็นทางตรง ทางนี้ไม่มีทาง อื่นยิ่งกว่า พระสัทธรรมอันสัตบุรุษทั้งหลายรักษา เพื่อบังเกิดในพรหมโลก

                [๒๓๔] . ถ้าอย่างนั้น ขอท่านมหาโควินท์จงรออยู่สัก ๗ ปีก่อน พอล่วง ๗ ปี แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่งคติ อันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                . ขอเดชะ ๗ ปี ช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ อยู่ได้ถึง ๗ ปี ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูด ถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้ครองเรือน ไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจัก

ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ฯ

                . ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่สัก ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ... ๓ ปี ... ๒ ปี ... ๑ ปี พอล่วง ๑ ปีแล้ว แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้น จักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                . ขอเดชะ ๑ ปีช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี ใครจะรู้ชีวิตสัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วยว่าข้า พระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคล ผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ฯ

                . ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่ ๗ เดือนก่อน พอล่วง ๗ เดือน แล้ว แม้ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                . ขอเดชะ ๗ เดือนช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ได้ถึง ๗ เดือน ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วยว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิต ฯ

                . ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์ จงรออยู่สัก ๖ เดือน ... ๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... ครึ่งเดือน พอล่วงครึ่งเดือนแม้ข้าพเจ้า ทั้งหลายก็จักออกเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจัก เป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                . ขอเดชะ ครึ่งเดือนช้านัก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อาจรอพระองค์ได้ถึง ครึ่งเดือน ใครจะรู้ชีวิต สัมปรายภพอันบุคคลต้องไป อันบัณฑิตควรกำหนดด้วย ปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์เกิดมาแล้วที่จะไม่ตายไม่มี ด้วย ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ข้าพระพุทธเจ้าจึงจักออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ฯ

                . ถ้าอย่างนั้น ขอท่านโควินท์จงรออยู่สัก ๗ วัน พอให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย สั่งสอนบุตรและพี่น้องชายของตนๆ ในราชกิจเสียก่อน พอล่วง ๗ วัน แม้ข้าพเจ้า ทั้งหลายก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่านคตินั้นจัก เป็นของข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                . ขอเดชะ ๗ วัน ไม่นาน ข้าพระพุทธเจ้าจักรอพระองค์ทั้งหลาย ๗ วัน ฯ

ครั้งนั้น มหาโควินทพราหมณ์ เข้าไปหาพราหมณ์มหาศาล ๗ คน และ เหล่าข้าราช บริพาร ๗๐๐ ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า บัดนี้ท่านทั้งหลายจงแสวงหา อาจารย์อื่น ซึ่งจักสอนมนต์แก่ ท่านทั้งหลายเถิด เราปรารถนาจะออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต ด้วยว่าเราได้สดับกลิ่นร้ายมา ต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย เราจึงจักออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ฯ พราหมณ์และเหล่าข้าราชบริพารเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านโควินท์อย่าออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชิตมีศักดิ์น้อย มีลาภน้อย ความเป็น พราหมณ์มีศักดิ์มาก มีลาภมาก ฯ

                . ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดอย่างนี้ ท่านทั้งหลายอย่าได้พูดอย่างนี้ว่า บรรพชามีศักดิ์น้อยมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์มาก มีลาภมาก ดูกร ท่านทั้งหลาย ใครอื่นจะมีศักดิ์มากมีลาภมากกว่าเรา บัดนี้เราเป็นเหมือนพระราชา ของพระราชาสามัญทั้งหลาย เป็นดังพรหมของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นดุจเทวดา ของคฤหบดีทั้งหลาย เราจักละสิ่งทั้งปวงนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยว่า เราได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อันบุคคลผู้อยู่ครอง เรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย เราจึงจักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

                . ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของ ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย ฯ

                ครั้งนั้น มหาโควินท์พราหมณ์ เข้าไปหาภรรยา ๔๐ คน ผู้เสมอกัน ถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า เธอคนใดปรารถนาจะไปยังสกุลญาติของตน ก็จงไป หรือ ปรารถนาจะแสวงหาสามีอื่นก็จงแสวงหา ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตด้วยว่าฉันได้สดับกลิ่นร้ายมาต่อพรหมผู้พูดถึงอยู่ กลิ่นร้ายเหล่านั้น อัน บุคคลผู้อยู่ครองเรือนไม่พึงย่ำยีได้โดยง่ายเลย ฉันจักออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต

                . ท่านนั่นแล เป็นญาติของดิฉันทั้งหลายผู้ต้องการญาติ เป็นสามีของ ดิฉันทั้งหลายผู้ต้องการสามี ถ้าท่านโควินท์จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้ ดิฉันทั้งหลาย ก็จักออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต อนึ่ง คติอันใดของท่าน คตินั้นจักเป็นของดิฉันทั้งหลายด้วย

                ครั้งนั้น พอล่วง ๗ วันนั้นไป มหาโควินทพราหมณ์ปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต และเมื่อมหาโควินทพราหมณ์ บวชแล้ว พระราชาผู้กษัตริย์ซึ่งได้มูรธาภิเษก ๗ พระองค์ พราหมณ์มหาศาล ๗ คน เหล่าข้าราชบริพาร ๗๐๐ คน ภรรยา ๔๐ คน เจ้าหลายพัน พราหมณ์หลายพัน คฤหบดีหลายพัน และนางสนมหลายพัน ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้า กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามมหาโควินทพราหมณ์

                ข่าวว่า มหาโควินทพราหมณ์ แวดล้อมด้วยบริษัทนั้นเที่ยวจาริกไปใน บ้าน นิคม และราชธานีทั้งหลาย สมัยนั้น มหาโควินทพราหมณ์เข้าไปยังบ้าน หรือนิคมใด ในบ้านและนิคมนั้นท่านเป็นดังพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นดังพรหมของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นดังเทวดาของคฤหบดีทั้งหลาย ฯ

การเจริญอัปปมัญญา ๔

                สมัยนั้น มนุษย์เหล่าใดพลาดพลั้งหรือล้ม มนุษย์เหล่านั้น กล่าวอย่าง นี้ว่า ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์ ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของ พระราชา ๗ พระองค์ มหาโควินทพราหมณ์มีใจสหรคตด้วยเมตตา ไม่มีเวร ไม่ พยาบาท แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในที่ทุกสถานมีใจสหรคต ด้วยเมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการทั้งปวงอยู่ มีใจสหรคตด้วยกรุณา อันไพบูลย์ เป็น มหัคคตะ ไม่มีประมาณไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการ ทั้งปวงอยู่ มีใจสหรคตด้วยมุทิตา อันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ไปทั่วโลก โดยประการทั้งปวงอยู่ มีใจ สหรคตด้วย อุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่พยาบาท แผ่ ไปทั่วโลกโดยประการทั้งปวงอยู่ และแสดงหนทางแห่งความเป็นสหายกับพรหม ในพรหมโลก แก่สาวกทั้งหลาย สมัยนั้น บรรดาสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ ซึ่งรู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ พรหม โลก ผู้ที่ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บางพวกเข้า ถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกเข้าถึงความเป็นสหาย ของเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นยามา บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของ เทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิก ผู้ที่ บำเพ็ญกายต่ำกว่าเขาทั้งหมด ก็ยังกายคนธรรพ์ ให้บริบูรณ์ได้ ด้วยประการฉะนี้แล บรรพชาของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด ไม่เปล่า ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ฯ

จบที่ยกข้อความบางส่วนจาก มหาโควินทสูตร

การที่ผู้เขียนจัดพระชาตินี้ลงในช่วงพุทธันดรนี้ ก็อ้างอิงจาก สุนังกุมารพรหม เพราะในพุทธภูมิปัจจุบัน สุนังกุมารพรหมก็มาเกี่ยวข้องอยู่หลายส่วนในพระไตรปิฏก ในพระชาติที่เป็นมหาโควินทะนี้ นับว่าพระมหาโพธิสัตว์เป็นศาสดาองค์หนึ่งของโลกในยุคนั้น เพราะมีผู้บวชตามมากมายมหาศาล แต่ก็ยังมีหลายพระชาติเหมือนกันในอดีตที่เป็นศาสดาองค์หนึ่งของโลกในยุคนั้นๆ นำผู้บวชตามไปสู่พรหมโลก

เมื่อมหาโควินทะดาบสสิ้นอายุขัยก็ไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วอธิฐานเพื่อสร้างบารมีเวียนว่ายตายเกิดเป็นมนุษย์ต่อไป

ข้อสังเกตในการเวียนว่ายตายเกิดของพระมหาโพธิสัตว์ในหนึ่งพุทธันดรนี้ ถ้าเกิดอยู่เป็นเทวดาหรือพระพรหมจะต้องอธิฐานมาเกิดเป็นมนุษย์ก่อนเสมอ จึงจะเปลี่ยนภพภูมิเป็นอย่างอื่นแทบทุกครั้ง

จบมหาโควินทะโพธิสัตว์

เทวดาดาวดึงส์มหาโพธิสัตว์

เป็นอันว่าเรื่องที่ผู้เขียนเรียงลำดับมา กำลังใกล้จบแล้ว เพราะกำลังจะถึงเรื่องพระเวสสันดรชาดก แต่ก่อนเกิดเป็นพระเวสสันดรนั้น พระมหาโพธิสัตว์ได้เกิดอยู่ ณ ดาวดึงส์พิภพ ดังยกมาจากอรรถกถาเวสสันดรชาดก

ในกาลนั้นพระมหาสัตว์อยู่ในดาวดึงส์เทวะโลก อายุของมหาสัตว์นั้นสิ้นแล้วท้าวสักกะทรงทราบความนั้นจึงไปสู่สำนักของพระโพธิสัตว์ตรัสว่า แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ ควรที่ท่านจะไปสู่มนุษย์โลก ควรถือปฏิสนธิในพระครรภ์แห่งนางผุสดีอัครมเหสีของพระเจ้าสีวีราช ณ กรุงเชตุดร ตรัสฉะนี้แล้ว ถือเอาปฏิญญาแห่งพระโพธิสัตว์ และเหล่าเทพบุตรหกหมื่นเหล่าอื่นผู้จะจุติ แล้วกลับทิพยะวิมานที่ประทับของตน

จบพระชาติเป็นเทวดาดาวดึงส์โพธิสัตว์

พระเวสสันดรโพธิสัตว์ชาดก

ผู้เขียนขอตัดมาบางส่วนจากอรรถกถา เพราะเรื่องพระเวสสันดรนี้ชาวพุทธทั้งหลาย ส่วนมากจะได้ยินได้ฟังมามากแล้ว และเป็นเรื่องที่ยาวมาก จึงเอามาแต่ส่วนต้นเรื่องเท่านั้นจากอรรถกถาดังนี้

ฝ่ายพระมหาสัตว์จุติจากเทวะโลกนั้นเกิดในพระครรภ์แห่งพระนางผุสดี เทพบุตรหกหมื่นก็บังเกิดในเคหสถานแห่งอำมาตย์หกหมื่น ก็ในเมื่อพระมหาสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดา พระนางผุสดีผู้มีพระครรภ์เป็นผู้ทรงใคร่จะโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ที่ท่ามกลางพระนคร ๑ ที่ประตูพระราชวัง ๑ ทรงสละพระราชทรัพย์หกแสนกหาปณะทุกวัน ๆ บริจาคทาน ครั้นพระเจ้าสญชัยสีวีราชทรงทราบความปรารถนาของพระนาง จึงให้เรียกพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้นิมิตมาทำสักการะใหญ่แล้วตรัสถามเนื้อความนั้น พราหมณ์ผู้รู้นิมิตทั้งหลายจึงทูลพยากรณ์ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ท่านผู้ยินดียิ่งในทานมาอุบัติในพระครรภ์แห่งพระราชเทวี

จักไม่อิ่มในทานบริจาค พระราชาได้ทรงสดับพยากรณ์นั้นก็มีพระหฤทัยยินดี จึงโปรดให้สร้างโรงทาน ๖ แห่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว ให้เริ่มตั้งทานดังประการที่กล่าวแล้ว จำเดิมแต่กาลที่พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิ ส่วนอากรของพระราชาได้เจริญขึ้นเหลือประมาณ เหล่าพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้นส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าสญชัย ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ พระนางผุสดีราชเทวีมีบริวารใหญ่ เมื่อทรงพระครรภ์ครั้น ๑๐ เดือนบริบูรณ์ มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรพระนคร จึงกราบทูลพระราชสวามี พระเจ้ากรุงสีวีจึงให้ตกแต่งพระนครดุจเทพนคร ให้พระราชเทวีทรงรถที่นั่งอันประเสริฐทำประทักษิณพระนคร ในกาลเมื่อพระนางเสด็จถึงท่ามกลางถนนแห่งพ่อค้า ลมกรรมชวาตก็ป่วนปั่น ราชบุรุษนำความกราบทูลพระราชา พระราชาทรงทราบความจึงให้ทำพลับพลาสำหรับประสูติแก่พระราช เทวีในท่ามกลางวิถีแห่งพ่อค้า แล้วให้ตั้งการล้อมวงรักษาพระนางเจ้าผุสดีประสูติพระโอรส ณ ที่นั้น.

                พระมหาสัตว์ประสูติจากพระครรภ์แห่งพระมารดา เป็นผู้บริสุทธิ์ ลืมพระเนตรทั้งสองออกมา เมื่อออกมาก็เหยียดพระหัตถ์ต่อพระมารดาตรัสว่าข้าแต่พระแม่เจ้า หม่อมฉันจักบริจาคทาน มีทรัพย์อะไร ๆ บ้าง ครั้งนั้นพระชนนีตรัสตอบว่า พ่อจงบริจาคทานตามอัธยาศัยของพ่อเถิด แล้ววางถุงกหาปณะพันหนึ่งในพระหัตถ์ที่แบอยู่.

                ครั้งนั้น ในวันถวายพระนามพระโพธิสัตว์พระประยูรญาติทั้งหลาย ได้ขยายพระนามว่า เวสสันดร เพราะประสูติในถนนแห่งพ่อค้า เหตุนั้น

จากที่ยกมาจากอรรถกถา

ส่วนนี้ของผู้เขียน หลังจากนั้นพระเวสสันดร ก็ทรงถวายทานอย่างมากมาย ได้ทำให้บารมีของพระองค์เติมบริบูรณ์ รอเพียงแต่เกิดเป็นมนุษย์ อีกชาติก็จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า หลังจากพระเวสสันดรสิ้นอายุขัย ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพเทวดาบนชั้นดุสิต

จบพระชาติพระเวสสันดรโพธิสัตว์

พระเสตุเกตุเทพบุตรโพธิสัตว์

การที่ผู้เขียนได้ชื่อ เสตุเกตุเทพบุตรของพระมหาโพธิสัตว์ ก็ได้จากอรรถกถา เล่มที่ 1 ดังนี้

“หลายบทว่า ตตฺราปาสึ เอวนฺนาโม ความว่า เราได้เป็นเทวบุตรมีนามว่า เสตุเกตุ ในดุสิตพิภพแม้นั้น.

                บทว่า เอวํโคตฺโต ความว่า เรามีโคตรอย่างเดียวกันกับเทวดาเหล่านั้น.

                บทว่า เอวํวณฺโณ ความว่า เรามีผิวพรรณดุจทอง.

                บทว่า เอวมาหาโร ความว่า เรามีอาหารขาวสะอาดเป็นทิพย์.

                บทว่า เอวํสุขทุกฺขปฏิสํเวที ความว่า เราได้เสวยสุขอันเป็นทิพย์อย่างนี้. ส่วนทุกข์ เป็นเพียงทุกข์ประจำสังขารเท่านั้น.

                บทว่า เอวมายุปริยนฺโต ความว่า เรามีที่สุดแห่งอายุห้าสิบเจ็ดโกฏิกับหกสิบแสนปี อย่างนี้.

                หลายบทว่า โส ตโต จุโต ความว่า เรานั้น จุติจากดุสิตพิภพนั้นแล้ว.

                ชุมนุมบทว่า อิธูปปนฺโน ความว่า เราเกิดแล้วในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวีในภพนี้

เมื่อพระเวสสันดรสิ้นอายุขัยก็จุติจากมนุษย์โลก ไปเกิดเป็นเทพชั้นดุสิตทรงพระนามว่า พระเสตุเกตุเทพบุตร พระองค์มีความสมบูรณ์พร้อมในโลกิย์สุขอันเป็นเลิศทั้งหลาย พระองค์เสวยสุขบนดุสิตพิภพจนเต็มอายุขัยของเทพชั้นดุสิต คือ 400 ปีทิพย์ หรือเท่ากับ 570,600,000 ปีของโลกมนุษย์ (ห้าร้อยเจ็ดสิบล้านหกแสนปี) โดยปกติพระนิยตโพธิสัตว์ในช่วงที่ยังสร้างบารมีอยู่โดยส่วนมากเมื่อเกิดเป็นเทพเทวดา หรือพระพรหม ก็จะไม่ดำรงค์อยู่จนสิ้นอายุขัย จะทำการอธิมุติ คือการอธิฐานให้จุติจากภพนั้น มาเกิดบนมนุษย์โลกเสียมากกว่า การทำอธิมุตินั้น พระนิยตโพธิสัตว์นั้นทำได้โดยง่าย เทพเหล่าอื่นที่พอกระทำได้บ้างในบางครั้งบางคราวได้แก่ สหชาติของพระนิยตโพธิสัตว์ที่บารมีใกล้เติมบริบูรณ์แล้ว

เมื่อถึงกาลเวลาที่พระเสตุเกตุเทพบุตร์จะจุติลงไปเกิดบนโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าเทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุได้อันเชิญพระองค์ไปเกิดบนโลกมนุษย์ เมื่อพระเสตุเกตุเทพบุตรทรงตรวจสอบกาลทุกอย่างพร้อมแล้วจึงจุติลงไปเกิดในพระครรภ์พระนางมหามายาเทวี

มาถึงตรงนี้บางท่านสงสัยเรื่องโลกธาตุ นั้นคืออะไร ประมาณเท่าไร ดังนั้นผู้เขียนยกจากพระไตรปิฏกให้ทราบโดยปริยายดังนี้

                “. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่ง มีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่งมีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่งมีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ

                อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร

                . ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ

แสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ”

สรุป โลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกธาตุอย่างใหญ่มีแสนโกฏิจักรวาล(ล้านล้านจักรวาล) ดังนั้นถ้าเป็นหมื่นโลกธาตุก็ให้ประมาณดูกันเองครับ และอีกอย่างให้ลองประมาณพุทธคุณของพระพุทธเจ้า แค่เพียงช่วงเดียว ตอนที่พระพุทธองค์ไปโปรดเทศนาแก่พระมารดา บนชั้นดาวดึงส์ในเวลา 3 เดือนโดยมีหมู่เหล่าเทพเทวดาและพระพรหมทั้งหมื่นโลกธาตุได้มาฟังธรรม ย่อมเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์อย่างมากมายมหาศาล ที่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน และเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานในกาลต่อไป

จบพระชาติเป็นพระเสตุเกตุเทพบุตรโพธิสัตว์

                พระชาติสุดท้ายตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าสามารถหาอ่านได้ในพระไตรปิฏก

จบบริบูรณ์

กลับเมนูเดิม