สั่งเครื่องให้ทำการพิมพ์
ลานธรรมเสวนา > ชีวิตกับธรรมะ
กระทู้ 37310 พระโพธิสัตว์ที่บรรลุโสดาบัน ( http://larndham.net/index.php?showtopic=37310 )


ผมมีข้อสงสัยครับว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งก็เป็นคนธรรมดาแล้วได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนาได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบันแล้วพบว่าจิตมีความต้องการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งคงต้องใช้เวลาสั่งสมบุญบารมีอีกมากจนอาจต้องตายเกิดอีกเป็นแสนหรือเป็นล้านชาตินั้น ในกรณีนี้มีปรากฏบ้างไหมครับ เพราะผมเข้าใจว่าการบรรลุโสดาบันแล้วไม่ว่าอย่างไรก็จะตายเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ

ตอบโดย: Bigball 09 พ.ย. 52 - 11:08


  ถือโอกาสตอบ ปัญหานี้ให้คุณ  Bigball เข้าใจนะครับ และเผื่อผู้อื่นด้วย

     พระโพธิสัตว์ที่สามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันกลายเป็นพระอริยะสาวกได้นั้น  เรียกว่า อนิยตะโพธิสัตว์  ก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์สาวกได้ในชาตินั้น และถ้าเมื่อยังเป็นพระโสดาบันก็จะมาเกิดบนโลกมนุษย์ไม่เกิน 7 ชาติก็บรรลุเป็นพระอรหันต์สาวกดับขันธ์นิพพาน

     พระโพธิสัตว์ประเภทนี้มีมาก  เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอริยะ ก็จะไม่เรียกว่าเป็นพระโพธิสัตว์แล้วครับ และตัวท่านเองก็จะไม่บอกแล้วว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เพราะท่านเป็นพระอริยะสาวกไปแล้ว วาสนาที่จะผลักดันให้สร้างบารมีแบบพระโพธิสัตว์นั้นหมดไปแล้ว.

    แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้แล้ว คือได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอดีตมาแล้ว หรือองค์ปัจจุบัน เรียกว่า พระนิยตะโพธิสัตว์

    ท่านก็สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างยิ่งยวด แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยะ หรือประหารกิเลสได้ แต่สามารถทำอนุสัยกิเลสนั้นออ่นกำลังลงได้ในชาตินั้นๆ เมื่อท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้วิปัสสนาญาณ ที่ 13 ถึง โคตรภูญาณ  และถ้าท่านฝึกสมถะก็สามารถทำได้ถึง สมาบัติ 8 และทรงอภิญญา 5 ได้ แต่อภิญญา ที่ 6 คือ อาสวกยญาณไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้  จนกว่าจะสร้างสมบารมีสมบูรณ์ตามระยะเวลาอันเหมาะสม ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้

     และท่านก็จะไม่หลงวิปลาสผิดเพี้ยนหรือบ้าด้วยเพราะเหตุว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระอริยะ (เน้นคำว่า หรือ) มีก็เพียงแต่การรังเลสังสัย แต่เมื่อบารมีถึงที่สุดแล้วท่านจะรู้ตัวท่านดีว่า เป็นพระโพธิสัตว์   (การหลงบ้าวิปลาสผิดเพี้ยนแบบบ้าไป จะไม่เกิดกับพระนิยตะโพธิสัตว์ เพราะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งใน 18 ข้อ ที่ไม่เป็น คนบ้า)

    ดังนั้นผู้ที่คิดว่าตน เป็นทั้งโพธิสัตว์และเป็นพระอริยะ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในสมัยหน้า ผู้นั้นกำลังหลงอยู่ หรือวิปลาส หรือบ้าจริงๆ  ไม่มีอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ (เน้นคำว่า และ).
           

ตอบโดย: Vicha 09 พ.ย. 52 - 15:03


ขอบคุณมากครับคุณ Vicha

ตอบโดย: Bigball 09 พ.ย. 52 - 16:53


   

ตอบโดย: มุ่งเต็มใจ 09 พ.ย. 52 - 17:37


ขอคุณคุณ Bigball กับคำถามที่ตั้งในกระทู้นี้ และ ขอบคุณคำตอบของคุณ Vicha มากครับ  
กระทู้นี้ทำให้ผมกระจ่างในเรื่องที่สงสัยมานาน

ตอบโดย: hiwatcher 09 พ.ย. 52 - 23:51


จากกระทู้  พระโพธิสัตว์ จะไม่ผ่านญาณ 16 ใช่ไหมครับ ?


ที่ท่านผู้รู้ อย่างคุณพระนาย ได้แสดงไว้(แต่หายไป)  ที่คุณ Beckham ได้อ้างอิงไว้ ดังนี้

http://larndham.net/index.php?showtopic=13871&st=23

ด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎกพร้อมอรรรถกถา จึง  มีกล่าวไว้ว่า ในบางพระชาติพระ

โพธิสัตว์สามารถบรรลุญาณสูงสุดได้ถึง    "อนุโลมญาณ"   (  แต่โดยส่วนมากจะสิ้นสุดที่  สังขารุเบกขาญาณ )

           * ด้วยเหตุนี้  ในวิปัสสนาทีปนีฎีกา  จึงแสดงเพียง  " สังขารุเบกขาญาณ"

เพราะท่านแสดงเอาโดยอาการส่วนมาก    ไม่ได้แสดงโดยเอาทั้งหมด

----------------------------------------------------------------
จากพระอภิธัมมัตถสังคหะ  ปริเฉทที่ ๙  กรรมฐานสังคหวิภาค

              โสฬสญาณ  (วิปัสสนาญาณ ๑๖)
http://www.abhidhamonline.org/aphi/p9/069.htm


๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์

๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว

๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณนี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็ได้

๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน

๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ

๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพาน, กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่

ตั้งแต่ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เพราะสัมมสนญาณนั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

---------------------------------------
       วิสุทธิ
http://www.abhidhamonline.org/aphi/p9/067.htm

-----------------------------------------------------
  วิสุทธิ ๗ และ ญาณ ๑๖
http://abhidhamonline.org/visudhi.htm

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

 คือ ปัญญาที่เข้าถึงความรู้สึกในทางที่ถูก ตรงสู่พระนิพพานโดยถูกต้องแล้ว ทางในที่นี้หมายถึง อารมณ์อันเป็นปฏิปทาที่ถูกต้อง ตัณหาแลทิฎฐิไม่สามารถเข้าไปในอารมณ์นั้นได้ อารมณ์ของ วิปัสสนา คือ ไตรลักษณ์ในนาม-รูป เป็นตัวถูกรู้   ส่วนปัญญาเป็นตัวรู้อารมณ์ไตรลักษณ์นั้น ความรู้เช่นนี้เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อเนื่องไปถึงโคตรภูญาณ

 วิปัสสนาปัญญาตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลสจนถึงโคตรภูญาณจัดเข้าอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ดังนั้น วิสุทธิขั้นนี้จึงประกอบด้วยวิปัสสนาญาณลักษณะต่าง ๆ รวม ๑๐ ญาณ ได้แก่ อุทยัพพยญาณที่ปราศจาก วิปัสสนูปกิเลส ภังคญาณ ภยญาน อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และโคตรภูญาณ

อานิสงส์ที่จัดอยู่ในวิสุทธิข้อนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านวิปัสสนาปัญญาขั้นภังคญาณหรือภังคานุปัสสนาญาณแล้ว จะได้รับอานิสง ๘ ประการ คือ

๑. ละความใคร่ในภพต่าง ๆ เพราะรู้แล้วว่าไม่ใช่ความสุข

๒. ละความใคร่ในชีวิต เพราะเห็นแล้วว่าชีวิตเป็นไปเพื่อทุกข์และการแก้ไขเท่านั้น

๓. หมั่นประกอบความเพียร เพื่อจะได้พ้นจากทุกข์

๔ เลี้ยงชีพด้วยความบริสุทธิ์ ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

๕. ไม่ขวนขวายในทางที่ผิด ให้ผิดไปจากพระธรรมวินัย

๖. มีความกล้าหาญ ไม่ยอมผิดศีล ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งที่จะทำให้เสียศีลธรรม

๗. มีขันติอดทน ไม่เป็นไปกับกิเลสของคนอื่น เป็นคนสอนง่าย เลี้ยงง่าย ไม่ดื้อรั้น

๘. อดกลั้นต่อความยินดียินร้ายไม่ตอบสนองกิเลสของตนเองในอารมณ์ต่างๆ โดยผิดทาง

คุณธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นอานิสงส์อันเนื่องมาจากปัญญาของผู้ปฏิบัติที่เข้าถึง  ภังคานุปัสสนาญาณดังกล่าว อาศัยคุณธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยให้บรรลุถึงธรรมที่ดับทุกข์ ถ้าผู้ใดยังไม่ได้รับอานิสงส์นี้แล้ว ก็ยากจะดำเนิน ถึงพระนิพพานได้ อานิสงดังกล่าวมิใช่เกิดจากทาน หรือจากศีล หรือจากสมาธิ แต่จะต้องได้มาจากเหตุโดยตรง คือ จากวิปัสสนาเท่านั้น

จะเห็นว่า วิปัสสนาญาณแต่ละลักษณะทำให้เกิดวิสุทธิได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เพราะญาณปัญญาแต่ละข้อมีอำนาจไม่เท่ากันนั่นเอง วิปัสสนาบางข้อก็มีอำนาจให้เกิดวิสุทธิได้เต็มข้อ เช่น นาม-รูปปริจเฉทญาณ ทำให้เกิดทิฎฐิวิสุทธิเต็ม ปัจจยปริคหญาณ ทำให้เกิดกังขาวิตรณวิสุทธิ  ส่วนอุทยัพพยญาณที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสจัดอยู่ในขั้นมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ถ้าปราศจากวิปัสสนูปกิเลสจะจัดอยู่ในขั้นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นต้น แต่วิปัสสนาบางข้อต้องรวมกันหลายข้อ จึงจะสามารถ ทำให้เกิดวิสุทธิได้เพียงข้อเดียว เช่น อุทยัพพยญาณส่วนหลัง จนถึงโคตรภูญาณ รวม ๑๐ ญาณ ทำให้เกิดปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิ เพียงข้อเดียว


-----------------------------------------------------

เคยได้ฟังหลวงพ่อท่านหนึ่งซึ่งท่านปรารถนาพุทธภูมิ  ท่านเคยอธิบายไว้ว่า  พระโพธิสัตว์ท่านผ่านญาณทัสสนะที่รู้ว่า เป็นทาง  หรือ ไม่ใช่ทาง แต่พระโพธิสัตว์ท่านเลือกทางที่ช่วยรื้อขนสัตว์ออกจากสังสารวัฏ ท่านจะไม่มีการปฏิบัติแบบหลงทางโดยเด็ดขาด

ซึ่งในตอนแรกผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านอ้างถึง วิสุทธิไหน ระหว่าง มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ  กับ  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

เมื่อได้อ่านหลักฐาน  จากคุณพระนาย และ คำบรรยายเรื่อง วิสุทธิ ๗ จากท่านผู้รู้ จึงสรุปได้ว่า พระโพธิสัตว์ ปกติท่านจะถึง  ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิด  สังขารุเปกขาญาณ  มีส่วนน้อยที่จะถึง อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ

------------------------------------------------------------

อ้างอิง
ผมมีข้อสงสัยครับว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งก็เป็นคนธรรมดาแล้วได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนาได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบันแล้วพบว่าจิตมีความต้องการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งคงต้องใช้เวลาสั่งสมบุญบารมีอีกมากจนอาจต้องตายเกิดอีกเป็นแสนหรือเป็นล้านชาตินั้น ในกรณีนี้มีปรากฏบ้างไหมครับ เพราะผมเข้าใจว่าการบรรลุโสดาบันแล้วไม่ว่าอย่างไรก็จะตายเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ


เข้าใจถูกต้องแล้วครับ   คุณสมบัติพระโสดาบัน ที่ผมรวบรวมไว้ที่

http://larndham.net/index.php?showtopic=34189&per=1&st=10&#entry631965


พระอริยบุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ สักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา หรือแม้สีลัพพตปรามาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้น อันพระอริยบุคคลนั้นละได้แล้ว พร้อมด้วยความถึงพร้อมแห่งการเห็น[นิพพาน] ทีเดียว อนึ่ง พระอริยบุคคลเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ ทั้งไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐานทั้ง ๖ [คืออนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีด] สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 10 พ.ย. 52 - 05:56


อ้างอิง
ท่านก็สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างยิ่งยวด แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยะ หรือประหารกิเลสได้ แต่สามารถทำอนุสัยกิเลสนั้นออ่นกำลังลงได้ในชาตินั้นๆ เมื่อท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้วิปัสสนาญาณ ที่ 13 ถึง โคตรภูญาณ


คุณวิชาครับ  ที่กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ ถึง โคตรภูญาณ  นั้น อ้างอิงจากที่ไหนครับ
(ช่วยแนะนำด้วยนะครับ)

ที่เคยฟังมา  โครตภูญาณ นี้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว  เปรียบเสมือน คนที่กำลังโหนเชือก จากฝั่งหนึ่ง ( โลกียะ)  ไปอีกฝั่งหนึ่ง ( โลกุตตระ )

อ้างอิง
และท่านก็จะไม่หลงวิปลาสผิดเพี้ยนหรือบ้าด้วยเพราะเหตุว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระอริยะ (เน้นคำว่า หรือ) มีก็เพียงแต่การรังเลสังสัย แต่เมื่อบารมีถึงที่สุดแล้วท่านจะรู้ตัวท่านดีว่า เป็นพระโพธิสัตว์   (การหลงบ้าวิปลาสผิดเพี้ยนแบบบ้าไป จะไม่เกิดกับพระนิยตะโพธิสัตว์ เพราะเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งใน 18 ข้อ ที่ไม่เป็น คนบ้า)


เห็นด้วยครับ  ที่อ้างตนว่าเป็น พระโพธิสัตว์ แล้วมีพฤติกรรมแปลก ๆ ในสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็น  พระโพธิสัตว์เทียม ดังที่คุณพระนาย แสดงไว้

http://larndham.net/index.php?showtopic=32485&per=1&st=7&#entry535934

การจะเรียกบุคคลนั้นว่าเป็น  " โ พ ธิ สั ต ว์ "  ได้  ไม่ใช่จะเรียกบุคคลใดก็ได้  ที่

ปรารถนาพระพุทธภูมิ  ว่าเป็น " โ พ ธิ สั ต ว์ "

เพราะการจะเรียกบุคคลนั้นว่าเป็น  "  โ พ ธิ สั ต ว์ "  ได้  บุคคลนั้นจะต้องได้รับพุทธ

พยากรณ์  จาก  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต

คือ     1. จะต้องได้รับ   อนิยตะพยากรณ์   เป็นเบื้องต้น

                             และ

         2.  จะต้องได้รับ    นิยตะพยากรณ์เ   เป็นที่สุด

ดังนั้น  บุคคลใดก็ตามที่ไม่ได้รับการพยากรณ์มาเลย   แม้ชาวโลกจะเรียกว่า "โพธิสัตว์"

แต่ถ้าไม่ได้รับการพยากรณ์แบบใดแบบหนึ่งใน 2 แบบข้างต้นนี้จากพระพุทธเจ้าในอดีตมา

เลย  บุคคลนั้นก็เป็นเพียง " โพธิสัตว์โดยสมมุติสัจจะ หรือ โพธิสัตว์เทียม "  เท่านั้น   ไม่

ใช่  " โพธิสัตว์โดยปรมัตถ์สัจจะ  หรือ โพธิสัตว์แท้ "

____________________________________



  อ้างอิง
ดังนั้นผู้ที่คิดว่าตน เป็นทั้งโพธิสัตว์และเป็นพระอริยะ ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในสมัยหน้า ผู้นั้นกำลังหลงอยู่ หรือวิปลาส หรือบ้าจริงๆ  ไม่มีอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ (เน้นคำว่า และ).



คุณวิชาครับ  คำกล่าวว่าที่ว่า พระอริยะ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในสมัยหน้า  ผมว่าดูขัดแย้งกันเองนะครับ

พระอริยะ ก็ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป  นั้นหมายถึง ท่านถึงกระแสพระนิพพานแล้ว การที่ท่านจะสั่งสมพระบารมี เพื่อเป็น พระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า จะเป็นไปได้อย่างไร ?

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 10 พ.ย. 52 - 06:19


สวัสดีครับทุกท่าน

จากข้อความของคุณเฉลิมศักดิ์ที่ถามผม ดังนี้

อ้างอิง
อ้างอิง
ท่านก็สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างยิ่งยวด แต่ยังไม่สามารถบรรลุเป็นพระอริยะ หรือประหารกิเลสได้ แต่สามารถทำอนุสัยกิเลสนั้นออ่นกำลังลงได้ในชาตินั้นๆ เมื่อท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้วิปัสสนาญาณ ที่ 13 ถึง โคตรภูญาณ


คุณวิชาครับ  ที่กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ ถึง โคตรภูญาณ  นั้น อ้างอิงจากที่ไหนครับ
(ช่วยแนะนำด้วยนะครับ)

ที่เคยฟังมา  โครตภูญาณ นี้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว  เปรียบเสมือน คนที่กำลังโหนเชือก จากฝั่งหนึ่ง ( โลกียะ)  ไปอีกฝั่งหนึ่ง ( โลกุตตระ )


จากข้อความที่ว่า
   "  คุณวิชาครับ  ที่กล่าวว่า พระโพธิสัตว์ ถึง โคตรภูญาณ  นั้น อ้างอิงจากที่ไหนครับ
 (ช่วยแนะนำด้วยนะครับ) "

  ตอบ ข้อมูลนั้นผมก็ได้จากคุณพระนาย ที่พระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ในในสมัยของพระพุทธเจ้าแต่อดีต แล้วผมก็ไปค้นในพระไตรปิฎก ก็เห็นว่าตรงกันตามนั้น (และจากการปฏิบัติส่วนหนึ่ง)  แต่ข้อมูลตรงนั้นผมหาไม่เจอแล้ว เพราะที่ผ่านมานั้นผมทำการล้างอาร์ดิสผมไปหลายครั้งแล้ว จึงทำให้ข้อมูลนั้นหายไป

    ผมต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ที่เดียวในการค้นหาครับ
    ดังนั้นต่อไปผมจะยกข้อมูลจากพระไตรปิฎกประกอบให้พิจารณาเองนะครับ (เน้นพิจารณาเองนะครับ) ดังนี้.

      หมายเหตุ ด้วยใจจริงๆ ของผม ก็ไม่ประสงค์ ให้วิ่งหาหรือแสวงหาบุคคล แต่ประสงค์ให้แสวงหาธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างดีแล้วมากกว่า

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 23

                                 อาหุเนยยสูตร
          [๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๙ จำพวกเป็นไฉน คือ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ๑ พระอนาคามี ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระสกทาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้ง
ซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑โคตรภู
บุคคล ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                       จบสูตรที่ ๑๐


พระไตรปิฎกเล่มที่ 24

                               อาหุเนยยสูตร
             [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับเป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๑๐ จำพวกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ ท่าน
ผู้เป็นอุภโตภาควิมุต ๑ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๑ ท่านผู้เป็นกายสักขี ๑ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๑
ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๑ ผู้เป็นธัมมานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นโคตรภู ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มี
นาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                  จบสูตรที่ ๖

***************************************

     เป็นเพียงการชี้แจง พระสุตรชื่อเดียวกันในพระไตรปิฎก 2 เล่ม ว่าบุคคลที่ทรงอยู่หรือยั่งอยู่แค่ โคตรภูบุคคลนั้นมี  หาใช่เพียงแต่เป็นเพียงแค่เกิดขณะจิตเดียวแล้วบรรลุถึงมรรคญาณ  เพราะในพระไตรปิฎกเล่ม 24 นั้นกล่าวไว้อย่างชัดเจนยิ่ง.

     ต่อไปผมจะยกความเป็นบุคคลที่เป็นปุถุชน กับ โคตรภูบุคคล ให้พิจารณานะครับ

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 36.2

            [๒๕] บุคคลที่เป็นปุถุชน เป็นไฉน
             สัญโญชน์ ๓ อันบุคคลใดละไม่ได้ ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้นบุคคลนี้เรียกว่าปุถุชน
             [๒๖] โคตรภูบุคคล เป็นไฉน
              ความย่างลงสู่อริยธรรมในลำดับแห่งธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้นนี้เรียกว่า โคตรภูบุคคล


***********************************
  
       ชี้ให้เห็นในส่วนนี้ โคตรภูบุคคล คือต้องปฏิบัติวิปัสสนาจะย่างสู่อริยธรรม ถ้าผ่านไปก็จะเป็นพระอริยะ  แต่ผู้ที่ยั่งอยู่เพียงแค่นั้นไม่ผ่านไปสู่อริยธรรม นั้นมี ดังใน อาหุเนยยสูตร ของพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 .
       ซึ่งหมายถึงมีบุคคลประเภทหนึ่ง เมือปฏิบัติถึงโคตรภูญาณแล้วไม่ข้ามไปสู่อริยธรรม.

   ต่อไปผมจะยกส่วนที่เหลือ ที่ผมค้นและคัดจัดเรียงไว้จากพระไตรปิฏก

*******************************
             ส. วิมุตติญาณของโคตรภูบุคคล ชื่อว่าหลุดพ้นแล้วหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

              ส. โคตรภูบุคคล มีญาณในโสดาปัตติมรรค หรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

              ส. โคตรภูบุคคล มีความรู้ในโสดาปัตติมรรคหรือ?
              ป. ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

              อนุโลม เป็นปัจจัยแก่โคตรภู อนุโลม เป็นปัจจัยแก่โวทาน โคตรภู เป็นปัจจัย
แก่มรรค ที่เป็นสวิตักกสวิจารธรรม

******************************

   ชี้ให้เห็น(ต่พิจารณาเอง นะครับ) จาก
       อนุโลมญาณ เป็นปัจจัยแก่ โคตรภูญาณ
       โคตรภูญาณ เป็นปัจจัยแก่  มรรคญาณ

    ดังนั้นถ้ากล่าวว่า ผู้ชึ่งปฏิบัติธรรมถึง โคตรภูญาณ ต้องได้มรรคญาณ ด้วยตรรกกะเดียวกัน ผู้ซึ่งปฏิบัติถึง อนุโลมญาณ ต้องได้ โคตรภูญาณ เช่นเดียวกัน

      จึงมี บุคคลที่เรียกว่า โคตรภูบุคคล ปรากฏอย่างชัดเจน ในพุทธศาสนาในพระสูตรด้านบน.

       ดังนั้นเมื่อกล่าวว่าพระนิยตะโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่แท้) ปฏิบัติถึง อนโลมญาณ แต่อนุโลมญาณ ก็เป็นปัจจัย แก่ โคตรภูมิญาณ

      และตามการปฏิบัติธรรมนั้น อนุโลมญาณ  โคตรภูมิญาณ มรรคญาณ นั้นเป็นวิปัสสนาญาณที่สามารถปรากฏเพียงช่วงอึดใจเดียว หรือช่วงลัดนิ้วเดียว

       ดังนั้นพระนิยตะโพธิสัตว์เมื่อปฏิบัติธรรมถึงที่สุดอยู่เนื่องๆ ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีก ย่อมทราบชัด ถึงฐานะตนเองอย่างดี. ดังนี้

ตามเนื้อความในพระไตรปิฎก.

**********************************
  ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกไป และหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอก เป็นโคตรภูญาณ ฯ
----------------------------------------------------
          ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้นๆ ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้น
ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการออกไปและหลีกไปจากกิเลส ขันธ์และสังขารนิมิตภายนอกทั้งสองเป็นมรรคญาณ ฯ


****************************

    ชี้แนะ สภาวะธรรม ที่มีปัญญาในการออกไป และหลีกไปจากสังขารนิมิตภายนอก เป็นโคตรภูญาณ ฯ    เมื่อพระนิยตะโพธิสัตว์ปฏิบัติเจริญขึ้นอยู่เนื่องๆ และตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้วย่อมทราบได้.

     จึงถูกผิดคลาดเคลื่อนอย่างไร ผมก็ได้ชี้แจงข้อมูล ตามสามารถแล้ว ส่วนที่เหลื่อก็ท่านผู้อ่านสามารถพิจารณากันเองได้ สามารถหาข้อมูลอื่นในพระไตรปิฏกเพิ่มได้.

  สรุป นับว่าเป็นคำถามที่ยากนักที่เดียวเพราะ 1.ต้องใช้เวลาหาข้อมูล 2.ต้องชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ ถูก/ผิด/คลาดเคลื่อน ได้. เพราะยังหาข้อมูลที่กล่าวตรงๆ ไม่ได้ในพระไตรปิฎก.

ตอบโดย: Vicha 10 พ.ย. 52 - 12:18


อยากให้ทุกท่านได้ เข้าไปฟังครับ
ห้าคำดอบได้ที่นี่ครับ แต่ต้องนำไปฟังกันนะครับผม

http://www.fungdham.com/sound/chodok.html
 

ตอบโดย: สมโภช 10 พ.ย. 52 - 15:51


คำว่าตายเกิดอีก  7  ชาตินี้  น่าจะหมายความว่า  การตายเกิดของตัวตนอีก 7 หนก็จะบรรลุธรรม  มองเห็นเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย

ตอบโดย: ติดดี 12 พ.ย. 52 - 18:21


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
 http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1584&Z=1645
 

อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
โคตรภูญาณนิทเทส

               อรรถกถาโคตรภูญาณนิทเทส
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=136&p=1#[๑๓๖-๑๔๐]

-------------------------------------------

พระอภิธัมมัตถสังคหะ

http://www.abhidhamonline.org/aphi/p9/098.htm

โคตรภูญาณ

๓๑. โคตฺรภูจิตฺตํ นิพฺพานํ อาลมฺพิตฺวา ตโต ปรํ ปุถุชฺชนโคตฺตํ อภิ ภวนฺตํ อริยตฺตนํ สมฺโพชฺฌาวหนํ อภิ สมฺโภนฺตญฺจ ปวตฺตติ

เบื้องหน้าแต่นั้น โคตรภูจิตจึงหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ครอบงำเสียซึ่งโคตรปุถุชน บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล อันนำมาซึ่งความตรัสรู้ มัคค ผล นิพพาน

มีความหมายว่า เมื่อจิตของพระโยคีตั้งอยู่แล้วในอนุโลมญาณ ต่อจากนั้นก็ก้าวขึ้นสู่โคตรภูญาณ ทำหน้าที่โอนจากโคตรปุถุชน ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไปสู่โคตรอริยชนที่ห่างไกลจากกิเลส กล่าวโดยวิถีจิต เมื่ออนุโลมชวนะ ซึ่งมีไตรลักษณ์ คือความเกิดดับแห่งรูปนามเป็นอารมณ์นั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโคตรภูจิต ยึดหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์ นำมาซึ่งปัญญาที่รู้ยิ่งในสันติลักษณะ คือ พระนิพพาน ตามลำดับแห่งวิถีจิตที่ชื่อว่า มัคควิถี ดังภาพนี้

มัคควิถี ของ มันทบุคคล ผู้รู้ช้า

                                      กามชวนะ :  อัปปนาชวนะ

               มหากุสล ญาณสัมปยุตต ๔  : โลกุตตรจิต ๘

น    ท     มโน    บริ    อุป    อนุ    โค  :   มัคค    ผล    ผล   ภ

             มีไตรลักษณ์แห่งรูปนาม  : มีนิพพานเป็นอารมณ์เป็นอารมณ์

                            อนุโลมญาณ     มัคคญาณ
                                       :               :
น    ท     มโน    บริ  อุป     อนุ    โค    มัคค    ผล     ผล    ภ
                                               :                     :
                                        โคตรภูญาณ         ผลญาณ


มัคควิถีของติกขบุคคล ผู้มีปัญญาไว

                             กามชวนะ  : อัปปนาชวนะ

       มหากุสล ญาณสัมปยุตต ๔  : โลกุตตรจิต ๘

น    ท     มโน    อุป    อนุ    โค :  มัคค    ผล    ผล    ผล    ภ

       มีไตรลักษณ์แห่งรูปนาม : มีนิพพานเป็นอารมณ์เป็นอารมณ์

                      
                       อนุโลมญาณ    มัคคญาณ
                               :               :
น    ท     มโน   อุป    อนุ    โค    มัคค    ผล    ผล     ผล    ภ
                                        :                    :
                                 โคตรภูญาณ        ผลญาณ

อักษรย่อ น=ภวังคจลนะ, ท=ภวังคุปัจเฉทะ, มโน=มโนทวาราวัชชนะ, บริ=บริกรรม, อุป=อุปจาระ, อนุ=อนุโลม, โค=โคตรภู, ภ=ภวังค

โคตรภูจิต แม้ว่าจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่ หาใช่โลกุตตรจิตไม่ เหตุนี้จึงเรียกโคตรภูจิตว่าเป็น เอกวุฏฐาน คือ ออกได้แต่ส่วนเดียว ออกจากอารมณ์ที่เป็นสังขาร ออกจากอารมณ์ที่เป็นโลกียธรรม ไปมีอารมณ์เป็นโลกุตรธรรม คือ พระนิพพาน แต่อีกส่วนหนึ่งคือจิตยังหาได้ออกจากโลกียจิต เป็นโลกุตตรจิตไม่ ยังคงเป็นโลกียจิตอยู่ตามเดิม

---------------------------------------------------------------
http://www.abhidhamonline.org/aphi/p9/099.htm

มัคคญาณ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้เรียกว่า ปฐมมัคค หรือ โสดาปัตติมัคคญาณ เป็นมัคคจิตดวงแรกที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังสารวัฏฏของบุคคลนั้น และจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีกเลยจนกระทั่งดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน

แม้มัคคจิตจะเกิดเพียงขณะเดียว ก็สามารถประหาณกิเลสชนิดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตตสันดานที่เรียกว่า อนุสยกิเลสได้เป็นสมุจเฉท สามารถปิดประตูอบายทั้ง ๔ ได้ ทั้งยังสามารถตัดวัฏฏะให้เกิดในกามสุคติอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็ดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน

----------------------------------------------------------





อ้างอิง
เป็นเพียงการชี้แจง พระสุตรชื่อเดียวกันในพระไตรปิฎก 2 เล่ม ว่าบุคคลที่ทรงอยู่หรือยั่งอยู่แค่ โคตรภูบุคคลนั้นมี  หาใช่เพียงแต่เป็นเพียงแค่เกิดขณะจิตเดียวแล้วบรรลุถึงมรรคญาณ  เพราะในพระไตรปิฎกเล่ม 24 นั้นกล่าวไว้อย่างชัดเจนยิ่ง.

ชี้ให้เห็นในส่วนนี้ โคตรภูบุคคล คือต้องปฏิบัติวิปัสสนาจะย่างสู่อริยธรรม ถ้าผ่านไปก็จะเป็นพระอริยะ  แต่ผู้ที่ยั่งอยู่เพียงแค่นั้นไม่ผ่านไปสู่อริยธรรม นั้นมี ดังใน อาหุเนยยสูตร ของพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 .
       ซึ่งหมายถึงมีบุคคลประเภทหนึ่ง เมือปฏิบัติถึงโคตรภูญาณแล้วไม่ข้ามไปสู่อริยธรรม



คุณวิชาครับ การที่บุคคลได้โคตรภูญาณ แล้วไม่ข้ามสู่ มัคคญาณ   จึงเรียกบุคคล เช่นนี้ว่า โคตรภูบุคคล ผมพึ่งได้ฟังจากคุณวิชานี้แหละครับ

คุณวิชา ครับ แม้เกิดขณะจิตเดียวก็เรียกเป็น บุคคลได้ครับ

เช่น มัคคญาณจิต เป็นต้น จะเกิดเพียงแค่ขณะจิตเดียว แล้วตามด้วย ผลจิต   ก็มีการบัญญัติเป็น มัคคบุคคลได้

การที่คุณวิชา คาดคะเนเอาว่า การที่บุคคลได้โคตรภูญาณ แล้วไม่ข้ามสู่ มัคคญาณ   จึงเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า โคตรภูบุคคล    และบุคคลประเภทนี้ คือ พระโพธิสัตว์  อาจจะคลาดเคลื่อนก็ได้ครับ

หมายเหตุ   อรรถกถา อธิบายว่า ลัดมือเดียวจิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ

http://larndham.net/index.php?showtopic=35081&per=1&st=2&#entry610403

๓๓.๔  ตามหลักวิชาอภิธรรมนั้น  รูปารมณ์มีอายุเท่ากับ  ๑๗ ขณะจิต  ในช่วงเวลาหนึ่งลัดนิ้วมือ ( ซึ่งเป็นหน่วยวัดเวลาในอดีต  สมัยอรรถกถา เทียบเท่ากับ ๑/๔ วินาที)  จิตเกิดดับได้แสนโกฏิดวง
 

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 13 พ.ย. 52 - 06:03


จากกระทู้  พระโพธิสัตว์ จะไม่ผ่านญาณ 16 ใช่ไหมครับ ?


ที่ท่านผู้รู้ อย่างคุณพระนาย ได้แสดงไว้(แต่หายไป)  ที่คุณ Beckham ได้อ้างอิงไว้ ดังนี้

http://larndham.net/index.php?showtopic=13871&st=23

ด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎกพร้อมอรรรถกถา จึง  มีกล่าวไว้ว่า ในบางพระชาติพระ

โพธิสัตว์สามารถบรรลุญาณสูงสุดได้ถึง    "อนุโลมญาณ"   (  แต่โดยส่วนมากจะสิ้นสุดที่  สังขารุเบกขาญาณ )

           * ด้วยเหตุนี้  ในวิปัสสนาทีปนีฎีกา  จึงแสดงเพียง  " สังขารุเบกขาญาณ"

เพราะท่านแสดงเอาโดยอาการส่วนมาก    ไม่ได้แสดงโดยเอาทั้งหมด


----------------------------------------------------------------


 อ้างอิง
ตอบ ข้อมูลนั้นผมก็ได้จากคุณพระนาย ที่พระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ในในสมัยของพระพุทธเจ้าแต่อดีต แล้วผมก็ไปค้นในพระไตรปิฎก ก็เห็นว่าตรงกันตามนั้น (และจากการปฏิบัติส่วนหนึ่ง)  แต่ข้อมูลตรงนั้นผมหาไม่เจอแล้ว เพราะที่ผ่านมานั้นผมทำการล้างอาร์ดิสผมไปหลายครั้งแล้ว จึงทำให้ข้อมูลนั้นหายไป


ผมเกรงว่า คุณวิชาจะจำคลาดเคลื่อนก็ได้ครับ  เพราะที่คุณพระนาย ได้อ้างอิงไว้ไม่ใช่เช่นนั้น

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 13 พ.ย. 52 - 06:09


อ้างอิง
ความคิดเห็นที่ 9 : (ติดดี)

คำว่าตายเกิดอีก  7  ชาตินี้  น่าจะหมายความว่า  การตายเกิดของตัวตนอีก 7 หนก็จะบรรลุธรรม  มองเห็นเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย

 
คุณติดดี จะหมายถึง ความรู้สึกเป็นตัวตน ตัวกู ของกู อุปาทานขันธ์ ๕   ( ตามอัตตโนมติที่เคยฟังมา)  หาใช่การเกิด ในภพภูมิต่าง ๆ  อันหมายถึง ชาติ , มรณะ

คุณติดดีลองพิจารณาดูครับ  หาก อุปาทานขันธ์ ๕ ดับไปแล้ว(ซึ่งจะถูกตีความเป็น มรณะ)  จะไปเกิด ขันธ์ ๕ ได้อีกอย่างไร


ชาติในปฏิจจสมุปบาท คือการเกิดขึ้นของตัวกู-ของกู
http://larndham.net/index.php?showtopic=16326&st=0&hl=ปฏิจจสมุปบาท

 

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 13 พ.ย. 52 - 06:35


จากหนังสือ หลักกรรม การเวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนา ของ อ.วศิน

 เรื่องหลักกรรมและสังสารวัฏเป็นซีกหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือเป็นเป็นซีกโลกียะ เมื่อนำเอาหลักอริยสัจมาพิจารณาเรื่องตาย - เกิด  ก็เป็นเรื่องของอริยสัจ ๒ ข้อต้น คือ ทุกข์กับสมุทัย กล่าวคือตัณหาอันเป็นเหตุให้คนและสัตว์ยังต้องเกิดต่อไป เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องทุกข์ต่อไป
           ในราตรีที่ตรัสรู้นั้น  พระพุทธเจ้าทรงได้ญาณ ๓   ,ญาณ ๒ ข้อต้นก็เป็นพระญาณอันเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย และของพระองค์เอง ส่วนญาณที่ ๓ ( อาสวักขยญาณ)  เป็นพระญาณอันเป็นไปเพื่อความสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดถ้าการเวียนว่ายตายเกิดไม่มี คนเราเกิดมาเพียงชาติเดียวแล้ว   การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจะมีความหมายอะไร  นิโรธและมรรคจะเป็นธรรมอันประเสริฐได้อย่างไร แต่เพราะมีกรรมมีการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง  อริยสัจ ๔ จึงเป็นพระญาณอันล้ำลึกของพระบรมศาสดา
           บางคนกล่าวว่าที่ว่าความเกิดเป็นทุกข์นั้นหมายถึง  ความเกิดขึ้นของกิเลสตัณหาในใจ ความเกิดของขึ้นของอหังการ มมังการ(ความยึดมั่นว่า ตัวกุ  ของกุ) ไม่ใช่การเกิดจากท้องแม่ ความเห็นนี้มีส่วนถูกเหมือนกันแต่แคบไป เพราะการเกิดจากท้องแม่ก็เป็นทุกข์เหมือนกัน อย่างที่เห็นๆกันอยู่แล้ว อนึ่ง ถ้าถือว่าความเกิดที่ตรัสในนิเทศแห่งอริยสัจ หมายถึงความเกิดของอหังการ มมังการแล้ว  ความแก่และความตายก็ควรจะหมายถึงความแก่และความตายของอหังการ มมังการด้วยเหมือนกัน  ความตายของอหังการ มมังการเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ด้วยหรือ ? ควรจะเป็นสุขอย่างยิ่งดังพระพุทธพจน์ว่า  " อสฺมิมานสฺส   วินโย เอตํ เว ปรมํ  สุขํ  - การถอนอัสสมิมานะเสียได้ เป็นความสุขอย่างยิ่ง"
            อีกอย่างหนึ่งในนิเทศแห่ง "ชาติ" ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็ระบุชัดหมายถึงการเกิดจากท้องแม่ มีพระพุทธพจน์ดังนี้
            " ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจเป็นไฉน?  ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ .....   ที่ว่าความเกิดนั้น เป็นไฉน ? หมายถึงความเกิดขึ้น การหยั่งลง การบังเกิดขึ้นใหม่ของสัตว์ทั้งหลาย ในพวกสัตว์นั้นๆ คือการปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ การมีอายตนะ(ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) "
            พระพุทธภาษิตนี้ บ่งชัดทีเดียวว่า หมายถึงการเกิดเป็นตัวตนจากท้องมารดา นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานอื่นอีกมาก อันแสดงว่าความเกิดที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น หมายถึงการเกิดเป็นตัวตน เป็นบุคคล มีขันธ์และอายตนะ
            การเวียนว่ายตายเกิดจะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นได้พัฒนาจิตถึงที่สุดแล้ว(ตามแนวทางในมหาสติปัฏฐาน) ละกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิง สิ้นกรรมอันเป็นเหตุให้เกิดอีก เรื่องกิเลส กรรมและการเวียนว่ายตายเกิด จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและอย่างจำเป็น คือแยกกันไม่ได้

----------------------------------------------------------

อ้างอิง
ความคิดเห็นที่ 9 : (ติดดี)

คำว่าตายเกิดอีก  7  ชาตินี้  น่าจะหมายความว่า  การตายเกิดของตัวตนอีก 7 หนก็จะบรรลุธรรม  มองเห็นเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัย


 
คุณติดดี จะหมายถึง ความรู้สึกเป็นตัวตน ตัวกู ของกู อุปาทานขันธ์ ๕   ( ตามอัตตโนมติที่เคยฟังมา)  หาใช่การเกิด ในภพภูมิต่าง ๆ  อันหมายถึง ชาติ , มรณะ

คุณติดดีลองพิจารณาดูครับ  หาก อุปาทานขันธ์ ๕ ดับไปแล้ว(ซึ่งจะถูกตีความเป็น มรณะ)  จะไปเกิด ขันธ์ ๕ ได้อีกอย่างไร
 

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 13 พ.ย. 52 - 07:35


ขอ อนุโมทนา ครับ..

ตอบโดย: jaramat109 13 พ.ย. 52 - 10:12


สวัสดีครับ คุณเฉลิมศักดิ์

      ผมก็ได้ยก หลักฐานและเหตุผลแล้วนะครับคุณเฉลิมศักดิ์

      แล้วลองอ่าน อาหุเนยยสูตร แล้วทำความเข้าใจใหม่ ให้ละเอียด

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 23

                                 อาหุเนยยสูตร
          [๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๙ จำพวกเป็นไฉน คือ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ๑ พระอนาคามี ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระสกทาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้ง
ซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑โคตรภู
บุคคล ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                       จบสูตรที่ ๑๐
พระไตรปิฎกเล่มที่ 24

                               อาหุเนยยสูตร
             [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับเป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๑๐ จำพวกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ ท่าน
ผู้เป็นอุภโตภาควิมุต ๑ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๑ ท่านผู้เป็นกายสักขี ๑ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๑
ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๑ ผู้เป็นธัมมานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นโคตรภู ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มี
นาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                  จบสูตรที่ ๖

***************************************

    ในพระสูตรทั้งสองนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัส แยกให้ทราบอย่างชัดเจน ผมก็เชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้านะครับ  ผมไม่ได้คิดเอาเองหรือวิเคราะห์เอาเอง

     แล้วคุณเฉลิมศักดิ์ ไม่เชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าหรือครับ.  เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตร ไว้อย่างชัดเจนแล้ว

       ใน อาหุเนยยสูตร ของพระไตรปิฎกเล่มที่ 24. ที่ทรงแยกบุคคลออกเป็น เอกเทศถึง 10 บุคคล อย่างชัดเจน

    แสดงส่วนที่เน้นให้ทราบ อีกครั้ง

 พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ ท่าน
ผู้เป็น
อุภโตภาควิมุต ๑ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๑ ท่านผู้เป็นกายสักขี ๑ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๑
ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๑ ผู้เป็นธัมมานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นโคตรภู ๑

     
     เนื่องจากพระสูตรทั้ง 2 ที่เป็นบุคคล 9 และบุคคล 10 ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วยังมีอยู่ ผมก็ย่อมเชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าครับ. หาได้คิดเอาเองนะครับ.

     ถ้ามีเพียงพระสูตรเดียว ที่เป็นบุคคล 9  ผมก็ย่อมพิจารณาไปเช่นเดียวกับ คุณเฉลิมศักดิ์ ว่าโคตรภูบุคคล นั้นเกิดเพียงแค่ช่วงขณะจิตเดียว หลังจากนั้นก็บรรลุมรรคญาณ ตามที่ขีดเส้นใต้ไว้ ในเรื่องบุคคล 9

     แต่เมื่อมีพระสูตรอีกสูตรหนึ่ง ที่กล่าวถึงบุคคล 10 นั้น เป็นการกล่าวถึงตัวบุคคลที่เป็นเอกเทศ ผมก็ย่อมเชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าไว้ก่อนครับ ข้อวิเคราะห์จากที่อื่น แม้ในอรรถกถา จึงตกไปครับ.

     เมื่อพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้ชี้ชัดว่า โคตรภูบุคคล นั้นต้องเป็นพระนิยตะโพธิสัตว์  แต่ในพระไตรปิฏกกล่าวถึงผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาญาณถึงโคตรภูญาณ เป็นโคตรบุคคล ตามพระไตรปิฏกส่วนนี้

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 36.2

           [๒๕] บุคคลที่เป็นปุถุชน เป็นไฉน
             สัญโญชน์ ๓ อันบุคคลใดละไม่ได้ ทั้งไม่ปฏิบัติเพื่อละธรรมเหล่านั้นบุคคลนี้เรียกว่าปุถุชน
             [๒๖] โคตรภูบุคคล เป็นไฉน
              ความย่างลงสู่อริยธรรมในลำดับแห่งธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเหล่านั้นนี้เรียกว่า โคตรภูบุคคล


***********************************

   และสามารถทรงอยู่เป็นบุคคล ที่เป็นเอกเทศได้ ตาม อาหุเนยยสูตร ที่กล่าวถึง บุคคล 10 จำพวกที่เป็นเนื้อนาบุญของโลกได้.

   ซึ่งก็คือผู้ที่ปฏิบัตวิปัสสนาญาณ ได้ถึงโคตรภูญาณ เพียงขณะจิตเดียว หรือ/และผู้ที่สามารถเจริญหรือทรงอารมณ์กรรมฐานที่เป็น โคตรภูญาณ ได้เนื่องๆ เพราะไม่ผ่านไปสู่มรรคญาณได้ ผู้นั้นย่อมเรียกว่า โคตรภูบุคคล.

    ซึ่งหาได้กล่าวว่า พระนิยตโพธิสัตว์ ต้องเป็น โคตรภูบุคคล  แต่หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาญาณ ได้ถึง โคตรภูญาณ แล้วเท่านั้น

     บุคคลโดยทั่วไป เมื่อเจริญวปัสสนาญาณมาถึง โคตรภูญาณ  ย่อมบรรลุมรรคญาณ ติดต่อกันไม่มีสิ่งใดขว้างกั่น เป็นพระอริยบุคคุล  โดยเป็นโคตรภูบุคคล เพียงแค่ขณะจิตเดียว.

      แต่เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแยกบุคคลไว้เป็นเอกเทศให้ทราบใน อาหุเนยยสูตร ที่กล่าวถึง บุคคล 10   ก็ย่อมมีโคตรบุคคลที่เป็นเอกเทศที่เจริญถึง อนุโลมญาณและโคตรภูญาณ ได้เนื่องๆ  ไม่ใช่เพียงแค่ขณะจิตเดียวแล้วบรรลุเป็นพระอริยะ.

       หมายเหตุ เพราะ ในพระไตรปิฏกกล่าวว่า

               อนุโลม เป็นปัจจัยแก่โคตรภู อนุโลม เป็นปัจจัยแก่โวทาน
                โคตรภู เป็นปัจจัยแก่มรรค ที่เป็นสวิตักกสวิจารธรรม


   
         ดังนั้น ไม่ว่าผู้ใดกล่าวว่าตนเป็นพระโพธิสัตว์ที่แท้หรือเทียม หรือเป็นพระนิยตโพธิสัตว์จริงๆ ก็ตาม ก็หาได้ชื่อว่าเป็น โคตรภูบุคคล เมื่อยังไม่สามารถปฏิบัติวิปัสสนาญาณ ถึงอนุโลมญาณและโคตรภู และสามารถเจริญขึ้นในญาณนั้นได้หรือรักษาอยู่ใด้เนื่องๆ

         แต่ผู้ใดที่ปฏิบัติวิปัสสนาญาณ ถึงอนุโลมญาณและโคตรภูญาณ(เพราะเป็นปัจจัยต่อเนื่องกันอยู่แล้ว) แม้เพียงขณะจิตเดียวแล้วผ่านเป็นพระอริยะบุคคล หรือ/และ ผู้ที่สามารถเจริญและทรงอยู่ได้เนื่องๆ เพียงแค่นั้นไม่ผ่านไปมรรคญาณได้ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า เป็น โคตรภูบุคคล ที่เป็นผู้ควรแก่การคำนับการเคารพ และเป็นเนื้อนาบุญ.

         เมื่อพิจารณาดูแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาญาณ เจริญถึง อนุโลมญาณและโคตรภู ซึ่งไม่สามารถข้ามพ้นถึง มรรคญาณ   เป็นโคตรภูบุคคล ที่เป็นเอกเทศได้นั้น ก็น่าจะมีแต่ผู้ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้ในอนาคตกาล นั้นก็คือ พระนิยตโพธิสัตว์ เป็นต้น.

       ผมก็เคยสงสัยเหลือเกิน ว่าทำไมหนอ? มีความพิศดารหรือเป็นบุญอะไรหรือมีอิทธิพลอะไรหนอ?
      ที่สัตว์บางส่วนจึงแสวงหา พระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้ หรือนิยตโพธิสัตว์ เพื่อการคำนับการเคารพ และทำบุญ เหมือนดังผู้หลงผู้ขาดปัญญา ที่เที่ยวแสวงหาปุถุชน แล้วยึดติดอยู่  ทั้งที่จริงควรแสวงหาพระอริยะหรือพระอรหันต์ นั้นเป็นสิ่งที่สมควรกว่า.

       นี้ก็เป็นเหตุที่ผมได้ทราบเหตุผลในวันนี้  แต่สัตว์บางส่วนเหล่านั้นถือว่า ยังไม่ได้แสวงหาบุญที่ถูกต้องทั้งหมด  เพราะพระนิยติโพธิสัตว์นั้นต้องปฏิบัติธรรมถึงที่สุด คืออนุโลมญาณและโคตรภู จึงเป็น โคตรภูบุคคล  และต้องเจริญและรักษาวิปัสสนาญาณนั้นอยู่เนื่องๆ จึงควรแก่คำนับควรแก่เคารพ จึงเป็นเนื้อนาบุญ รองลงมาจากพระอริยะเจ้าทั้งหลาย.

        ที่เหลือ ถูก/ผิด/คลาดเคลื่อน อยู่ที่ผู้อ่านพิจารณาตามพระสูตรเองนะครับ.

ตอบโดย: Vicha 13 พ.ย. 52 - 10:59



อ้างอิง
ในพระสูตรทั้งสองนั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัส แยกให้ทราบอย่างชัดเจน ผมก็เชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้านะครับ  ผมไม่ได้คิดเอาเองหรือวิเคราะห์เอาเอง

     แล้วคุณเฉลิมศักดิ์ ไม่เชื่อในปัญญาของพระพุทธเจ้าหรือครับ.  เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตร ไว้อย่างชัดเจนแล้ว

       ใน อาหุเนยยสูตร ของพระไตรปิฎกเล่มที่ 24. ที่ทรงแยกบุคคลออกเป็น เอกเทศถึง 10 บุคคล อย่างชัดเจน





อ้างอิง
เมื่อพิจารณาดูแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาญาณ เจริญถึง อนุโลมญาณและโคตรภู ซึ่งไม่สามารถข้ามพ้นถึง มรรคญาณ   เป็นโคตรภูบุคคล ที่เป็นเอกเทศได้นั้น ก็น่าจะมีแต่ผู้ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้ในอนาคตกาล นั้นก็คือ พระนิยตโพธิสัตว์ เป็นต้น.


ผมเชื่อใน พระไตรปิฏก อรรถกถา ครับ

แม้บุคคลนั้น จะมี ขณะจิตใน ญาณแม้เพียงขณะเดียว  เช่น โคตรภูญาณ   มัคคญาณ   ก็จัดว่าเป็นบุคคลได้

http://larndham.net/index.php?showtopic=37310&st=10

แต่ผมไม่แน่ใจในการคาดคะเนของคุณวิชา ที่ว่า โคตรภูบุคคล=พระนิยตโพธิสัตว์    ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จิตจะเกิดต่อเนื่องนับเป็นภพชาติ  อสงไขย  (ตามการสั่งสมพระบารมีของ พระนิยตโพธิสัตว์  ที่ได้รับพยากรณ์แล้ว)

ซึ่งเป็นการคาดเดาของคุณวิชาเอง

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 14 พ.ย. 52 - 08:08


อ้างอิง
โคตรภูจิต แม้ว่าจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่ หาใช่โลกุตตรจิตไม่ เหตุนี้จึงเรียกโคตรภูจิตว่าเป็น เอกวุฏฐาน คือ ออกได้แต่ส่วนเดียว ออกจากอารมณ์ที่เป็นสังขาร ออกจากอารมณ์ที่เป็นโลกียธรรม ไปมีอารมณ์เป็นโลกุตรธรรม คือ พระนิพพาน แต่อีกส่วนหนึ่งคือจิตยังหาได้ออกจากโลกียจิต เป็นโลกุตตรจิตไม่ ยังคงเป็นโลกียจิตอยู่ตามเดิม
ขอเรียนถามท่านผู้รู้ครับ....
1.ท่านผู้เป็นโคตรภู  ในขณะที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีเหตุทำให้ตาย  จะเข้านิพพานโดยเหตุแห่งอารมณ์นิพพานนั้นหรือไม่
2.ท่านผู้เป็นโคตรภู  แม้บุคคลนั้น จะมี ขณะจิตใน ญาณแม้เพียงขณะเดียว  แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่  เมื่อสภาวะญาณ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  แล้วสภาวะความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่เช่นไรต่อไป  เมื่อตายแล้วจะเสวยผลเช่นไร
ขออนุโมทนา..กับทุกท่าน..ที่เป็นคุณครูผู้มีพระคุณ....
ผู้ชี้ให้เห็นแสงสว่างให้เกิดปัญญาในการพิจารณาธรรมครับ...
[COLOR=green]

ตอบโดย: sri-sawang 14 พ.ย. 52 - 13:26


พระพุทธเจ้าเราเมื่อบำเพ็ญ บารมี  ท่านได้พบพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ มากมายนับเป็นแสนองค์
การได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้านับเป็นแสนองค์ กับการบำเพ็ญบารมีมากมายยิ่งยวด
ไม่ได้ทำให้ท่านบรรลุธรรมแม้แค่โสดาเลยหรือ  คิดได้ยังไง

ผู้ได้โสดา  แค่เกิด-ตาย   เกิด-ตาย  7หน  ก็บรรลุอรหัน ง่ายๆ แค่นี้เองหรือ

 

ตอบโดย: wic 15 พ.ย. 52 - 00:17


อ้างอิง
1.ท่านผู้เป็นโคตรภู  ในขณะที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีเหตุทำให้ตาย  จะเข้านิพพานโดยเหตุแห่งอารมณ์นิพพานนั้นหรือไม่
2.ท่านผู้เป็นโคตรภู  แม้บุคคลนั้น จะมี ขณะจิตใน ญาณแม้เพียงขณะเดียว  แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่  เมื่อสภาวะญาณ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  แล้วสภาวะความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่เช่นไรต่อไป  เมื่อตายแล้วจะเสวยผลเช่นไร
ขออนุโมทนา..กับทุกท่าน..ที่เป็นคุณครูผู้มีพระคุณ....
ผู้ชี้ให้เห็นแสงสว่างให้เกิดปัญญาในการพิจารณาธรรมครับ...

จากคุณ : sri-sawang


คุณศรีสว่าง ครับ  ผมได้ไปค้นหลักธรรม  ที่ท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง คือ คุณพระนาย ผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏก อรรถกถา โดยเฉพาะพระอภิธรรมอย่างจริงจัง  (อภิธรรมบัณฑิต)

 ต่างจากผมที่ศึกษาเพียงเบื้องต้น  แถมยังขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง =  อภิธรรมอนุบาล  

คำตอบบางคำตอบจึงไม่อาจหามาได้  


----------------------------------------------------------------------------
ความเข้าใจผิดเรื่อง " โ ส ด า บั น "
         ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพานไม่ใช่ " พระโสดาบัน "
http://larndham.net/index.php?showtopic=20034&st=0&hl=


[COLOR=purple]ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพานไม่ใช่ " พ ร ะ โ ส ด า บั น บุ ค ค ล "

แต่

ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน คือ "  โ ค ต ร ภู บุ ค ค ล"

เพราะในวิถีจิต

                       โคตรภูชวนะ  จะรู้ " พระนิพพาน "  เป็นอารมณ์

                       ก่อน  โสดาปัตติมรรคชวนะ จะรู้ "พระนิพพาน


ดังนั้น           โคตรภูบุคคล จึงเป็นบุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพานก่อน  โสดาบันบุคคล


แต่มีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เรียน  "วิถีจิต"

จึงแปลความหมายของ  "พระโสดาบัน"   ผิดและไม่ตรงกับความเป็นจริงว่า


                         " โสดาบัน  คือ   บุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน"


แต่ที่ถูก  คือ

                  ปุถุชนบุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน      คือ  โคตรภูบุคคล

                   พระอริยะบุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน  คือ  โสดาบันบุคคล

และ  ในบุคคลทั้ง  2  นี้

                 " โคตรภูบุคคล  เป็นผู้แรกถึงกระแสพระนิพพานก่อน  โสดาบันบุคคล "


หมายเหตุ

                    โสดาบัน  มาจาก  คำว่า  โสตะ  หมายถึง  กระแสพระนิพพาน

                                                  อาปันนะ หมายถึง  พระอริยะบุคคลผู้แรกถึง

                   โสตะ + อาปันนะ   จึงหมายถึง     พระอริยะบุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน

(   อย่าใช้ คำว่า  บุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน  แต่ต้องมีคำว่า  พระอริยะบุคคล

    เพราะ  บุคคลผู้แรกถึงกระแสพระนิพพานก่อนพระอริยะบุคคล  คือ  โคตรภูบุคคล )


ปล.  นี่คือ  สิ่งที่พุทธศาสนิกชนเข้าใจผิดสืบต่อกันมานาน

  โคตรภูบุคคล   คือ   จิตขณะเดียวเท่านั้น  ที่เกิดขึ้นก่อนที่บุคคลนั้น

                                             จะสำเร็จเป็นพระโสดาปัตติมรรคบุคคล

                                              และ
                                             
                                             โคตรภูจิตจะเกิดขึ้นกับแต่ละคนเพียงครั้งเดียว  และ

                                             ชาติเดียวเท่านั้น

           และ เมื่อโคตรภูจิต  ดับไปแล้ว  โสดาปัตติมรรคจิต  จะเกิดขึ้นติดต่อกันไปทันที

                 โดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่าง  โคตรภูจิต  และ โสดาปัตติมรรคจิต  เลย


                       โคตรภูจิต   จะเกิดขึ้นเพียง  1  เดียว  และเพียงครั้งเดียว เท่านั้น

       เกิดจากการที่บุคคลนั้น   เจริญวิปัสสนาญาณ  10 อันมีพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ มา

       แล้วอย่างบริบูรณ์   ก็จะเป็นเหตุให้  "โคตรภูจิต"  เกิดขึ้น

                       โคตรภูจิต    เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น   บุคคลนี้แล  ชื่อว่า  " โคตรภูบุคคล "

โคตรภูบุคคล   คือ  บุคคลที่กำลังก้าวล่วงพ้นความเป็น  ปุถุชนบุคคล

                          และกำลังเข้าสู่ความเป็น  อริยะบุคคล

                          อุปมาเหมือนบุรุษผู้กระโดดข้ามคูน้ำกว้าง   แล้วขาข้างหนึ่งลอยจากฝั่งนี้

                          แล้วขาอีกข้างหนึ่งกำลังจะไปเหยียบฝั่งโน้น


จิต  เป็น  โลกียะ

แต่

อารมณ์ที่จิตกำลังรู้   เป็น  โลกุตตระ

โคตรภูบุคคล  จึง   มี  โลกียะ และ โลกุตตระ  พร้อมกัน

----------------------------------------------------

อ้างอิง
1.ท่านผู้เป็นโคตรภู  ในขณะที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีเหตุทำให้ตาย  จะเข้านิพพานโดยเหตุแห่งอารมณ์นิพพานนั้นหรือไม่
2.ท่านผู้เป็นโคตรภู  แม้บุคคลนั้น จะมี ขณะจิตใน ญาณแม้เพียงขณะเดียว  แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่  เมื่อสภาวะญาณ เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  แล้วสภาวะความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่เช่นไรต่อไป  เมื่อตายแล้วจะเสวยผลเช่นไร
ขออนุโมทนา..กับทุกท่าน..ที่เป็นคุณครูผู้มีพระคุณ....
ผู้ชี้ให้เห็นแสงสว่างให้เกิดปัญญาในการพิจารณาธรรมครับ...
จากคุณ : sri-sawang


ผมเข้าใจว่า  เมื่อ โคตรภูจิตเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิด มัคคจิต ขึ้นทันที ไม่สามารถที่จะมี จุติจิต และ ปฏิสนธิ มาคั่นได้  จึงเป็นไปไม่ได้ ที่ โคตรภูบุคคล จะตายแล้วปฏิสนธิใหม่ พร้อม โคตรภูจิตได้อีก

 โคตรภูบุคคล เกิดขึ้นเพียงขณะจิตเดียว ( ลัดมือเดียวจิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ) มีพระนิพพานเป็นอารมณ์  แล้วโอนจากโคตรปุถุชน เป็น  พระโสดาบัน คือ  มัคคบุคคล  ซึ่งมีขณะจิตเดียวเช่นกัน   หลังจากนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิด ผลจิต อย่างต่อเนื่อง เป็นพระโสดาบัน จนกว่าจะประหารกิเลสได้อีก



วิถีจิตในพระอภิธรรม
http://larndham.net/index.php?showtopic=37310&st=10


แม้บุคคลนั้น จะมี ขณะจิตใน ญาณแม้เพียงขณะเดียว  เช่น โคตรภูญาณ   มัคคญาณ   ก็จัดว่าเป็นบุคคลได้  นี่ความละเอียดอ่อนของ วิถีจิตกับบุคคล

หากไม่มีพระสัพพัญญุตาญาณ   พวกเราก็คงไม่ทราบรายละเอียดถึงขนาดนี้

" ม ห า ค ช จิ ต "
         จิตที่มีคุณอุปมาดั่ง " สัพพัญญุตตญาณ"
http://larndham.net/index.php?showtopic=17540&st=0

ตอบโดย: เฉลิมศักดิ์ 15 พ.ย. 52 - 07:18


สวัสดีครับทุกท่าน

      ผมจะยก อาหุเนยยสูตร ให้ทบทวนอีกครั้ง จะได้แจ่มแจ้งในพระปัญญาของพระพุทธเจ้า  อย่างแต่จริง พระองค์ทรงวางหลักไว้อย่างชัดเจนแล้ว อยู่ที่ปัญญาของแต่ละท่านจะวินิสัยได้หรือไม่ ดังนี้.

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 23

                                 อาหุเนยยสูตร
          [๒๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๙ จำพวกเป็นไฉน คือ พระอรหันต์ ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ ๑ พระอนาคามี ๑
ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระสกทาคามี ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้ง
ซึ่งสกทาคามิผล ๑ พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑โคตรภู
บุคคล ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                       จบสูตรที่ ๑๐  


************************************

    ในพระสูตรด้านบนนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัส บุคคลที่เป็นขณะหรือช่วงที่ปรากฏอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างจากที่ขีดเส้นใต้

  พระโสดาบัน ๑ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑โคตรภู
บุคคล ๑


    คือเป็นช่วงที่เป็นหรือขณะที่บรรลุถึง โสดาบันติมรรค โสดาบันติผล  และ โคตรภู

    แต่พระสูตรส่วนที่สองซึ่งมีชื่อพระสูตรเดียวกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงความเป็นบูคคลที่เป็นเอกเทศ แยกให้ปรากฏอย่างชัดเจน ถึงความเป็นบุคคลในฐานะนั้น หาได้เน้นไปที่ขณะหนึ่งหรือช่วงหนึ่งเท่านั้น

     แต่หมายถึงบุคคลที่ดำรงณ์ฐานะชื่อนั้นอยู่อย่างต่อเนื่อง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ท่านผู้เป็น อย่างเช่นเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ฯลฯ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ขณะจิตเดิยว

*************************************
พระไตรปิฎกเล่มที่ 24

                               อาหุเนยยสูตร
             [๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับเป็นผู้ควรของ
ต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
๑๐ จำพวกเป็นไฉน คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๑ ท่าน
ผู้เป็น
อุภโตภาควิมุต ๑ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๑ ท่านผู้เป็นกายสักขี ๑ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๑
ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๑ ผู้เป็นธัมมานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี ๑ ท่านผู้เป็นโคตรภู ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มี
นาบุญอื่นยิ่งกว่า ฯ
                                  จบสูตรที่ ๖
***************************************

   พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างครอบคลุ่มแล้วทั้งความเป็นบุคคลช่วงขณะ ในพระไตรปิฏกเล่มที่ 23
    และความเป็นบุคคล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ช่วงขณะเดียว ในพระไตรปิฏกเล่มที่ 24

    ทำไม ? ต้องวินิสัยเพียงนัยเดียว เพราะในพระไตรปิฏกมีถึง 2 นัยยะ
    หรือทำการศึกษาเน้นเพียงนัยเดียว ต้องเป็นจิตแต่ละขณะๆ เท่านั้น ไม่เป็นบุคคลตามสมมุติสัจจะ จนยึดถือเป็นหลักไป ปิดบังความเช้าใจที่เป็นธรรมดาของคำว่าบุคคลไปเสีย.

    ที่เหลือถูก/ผิด/คลาดเคลื่อน อยู่ที่ท่านผู้อ่าน พิจารณา วินิสัย เพราะพระไตรปิฏก ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ยังมีให้ศึกษาเทียบเคียงอยู่.

ตอบโดย: Vicha 15 พ.ย. 52 - 10:18


เรียนคุณเฉลิมศักดิ์และคุณวิชา

             ข้อความที่ทั้งสองท่านกำลังอภิปรายกันอย่างเข้มข้นนั้น เรื่องที่ว่าพระโพธิสัตว์จะอบรมวิปัสสนาญาณได้จนถึงโคตรภูญาณนั้นหรือไม่ ผมเองเคยเป็นคนตั้งกระทู้นั้นครับ
หลักฐานที่คุณวิชาสามารถอ้างอิงได้คือ ข้อความจากอรรถกถาของ คัมภีร์บุคคลบัญญัติ หัวข้อ สัมมาสัมพุทธบุคคล ครับ จะมีข้อความที่กล่าวถึงวิปัสสนาญาณที่พระโพธิสัตว์สามารถกระทำให้แจ้งได้ ซึ่งในคัมภีร์อรรถกถาใช้คำว่า โคตรภู จริง ๆ จึงได้เรียนปรึกษาพระครูธรรมธรสุมนต์ นันทิโก อัครมหาบัณฑิต วัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการและท่านอาจารย์จำรูญ ธรรมดา หัวหน้าโครงการพระไตรปิฎกนิสสยะ มูลนิธิเผยแผ่พระสัทธรรม ซึ่งได้ทำการค้นคว้าในระดับชั้นฎีกาประกอบ ซึ่งนานมากแล้วจนผมจำข้อความบาลีได้ไม่ชัดเจนเหมือนตอนนั้น ได้ข้อสรุปว่า ท่านใช้คำว่า อาหจฺจ ซึ่งหมายความถึง การจรด (เอาของสองสิ่งมาชนกัน), การชนกัน ยกตัวอย่างเช่น ปลายนาติดภูเขาหรือปลายนาชนภูเขา ซึ่งนาไม่ใช่ภูเขา ลักษณะการใช้คำว่า อาหจฺจ ประกอบในบริบทนี้มีมากในชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถา เพื่อต้องการสื่อให้รู้ว่า

             พระโพธิสัตว์สามารถกระทำวิปัสสนาญาณได้จนก่อนถึงโคตรภูญาณ เพราะก่อนหน้าโคตรภูญาณนั้น เป็นอนุโลมญาณ เป็นการบอกขอบเขตความสามารถหรือศักยภาพของพระโพธิสัตว์ว่า ทำได้เต็มที่ก็ไม่ถึงโคตรภูญาณ ดังนั้นจุดนี้ค่อนข้างลึกซึ้งหน่อยเพราะว่าพระอรรถกถาจารย์นี้เป็นระดับมหากวี นักปราชญ์ชั้นเยี่ยม     ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อความบาลีแล้วจึงหมดความสงสัยและสอดคล้องกับสภาวะธรรมได้อย่างกลมกลืนทีเดียว

             อีกแห่งคือ วิปัสสนากถาในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ซึ่งกล่าวละเอียดลงไปอีกถึง อนุโลม คำว่าอนุโลม มีความหมายกว้างกว่า อนุโลมญาณ ซึ่งน่าศึกษามากครับ
    
             จริง ๆ ลานธรรมน่าจะมีบอร์ดอภิธรรมเหมือนสมัยก่อนนะครับ น่าเสียดาย หากเราใช้เหตุผลและมีศิลปะในการนำเสนอพระธรรมอันบริสุทธิ์ ประโยชน์อันมหาศาลย่อมเกิด อยากให้เวบมาสเตอร์สร้างห้องพระไตรปิฎกจังเลยครับ สาธุล่วงหน้า

ตอบโดย: little buddha 15 พ.ย. 52 - 12:36


สวัสดีครับทุกท่าน

   ขอบคุณมากครับคุณ  little buddha   ซึ่งผมทำการค้นหาอยู่นาน แต่ไม่สามารถค้นได้ ผมต้องใช้พยายามแล้วพยายามอีก ทั้งที่รู้ว่าผมเองได้อ่านผ่านสายตาไปแล้ว.

    เอาแหละผมจะยก อรรถกถาตรงส่วนนั้นมาแสดงให้ชัดเจนครับ.

                           อรรถกถาสัมมาสัมพุทธบุคคล
            วินิจฉัยในนิเทศแห่ง  สัมมาสัมพุทธบุคคล.  คำว่า  "ปุพฺเพ
อนนุสฺสุเตสุ"  ได้แก่  ในธรรมอันไม่เคยสดับมาก่อนในสำนักแห่งบุคคลอื่น
ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้สัจธรรมในปัจฉิมภพ. ก็ในภพก่อน ๆ  แต่ภพนั้น
พระสัพพัญญูโพธิสัตว์  ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา  เรียนพระไตรปิฏกทั้ง
๓  แล้วยกขึ้นสู่คตปัจจาคตวัตรคือ  วัตรที่นำกรรมฐานไปและนำกลับมา  เริ่ม
ตั้งกรรมฐานจนจดอนุโลมและโคตรภูญาณ.
 เพราะฉะนั้น  คำว่า  "สัมมาสัม-
พุทโธ" นี้  ท่านกล่าวหมายเอาความเป็นผู้ไม่มีใคร ๆ  เป็นอาจารย์ในปัจฉิมภพ
คือภพสุดท้ายเท่านั้น.
             จริงอย่างนั้น  พระตถาคตเจ้า  ทรงตรัสรู้สัจธรรมทั้ง  ๔  ด้วยพระองค์
เอง  ด้วยญาณอันประจักษ์แก่พระองค์ว่า  "อิทํ  ทุกฺขํ  ฯลฯ  อิทํ  ทุกฺข-
นิโรธคามินีปฏิปทา"  ดังนี้  ในสังขตธรรมทั้งหลาย  ที่ไม่ได้สดับมาในสำนัก
แห่งบุคคลอื่น  เพราะความที่พระองค์เป็นผู้มีบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว.  คำว่า
"ตตฺถ"  ได้แก่  อรหัตมรรค  กล่าวคือปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้สัจธรรมทั้ง  ๔
นั้น. คำว่า  "พเลสุ  วสีภาวํ"  ได้แก่ ย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในการ
ประพฤติพระสัพพัญญุตญาณ  และทศพลญาณทั้งหลาย.  ก็กิจอื่น  ชื่อว่าควร
กระทำย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  จำเดิมแต่การบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
และพระทศพลญาณ.  เหมือนอย่างว่า  อิสริยยศทั้งหมดใคร ๆ  ไม่ควรกล่าวว่า
ชื่อว่า  อิสริยยศนี้  ไม่มาถึงแก่ขัตติยกุมารผู้อุภโตสุชาติ  จำเดิมแต่การได้อภิเษก
อิสริยยศนี้  ย่อมเป็นธรรมชาติมาแล้วทั้งสิ้น  ฉันใด  ชื่อว่า  คุณนี้อันใคร ๆ
ไม่ควรกล่าวว่า  ไม่มาถึงแล้วแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย,  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่แทงตลอดแล้ว,  และไม่ประจักษ์แก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  จำเดิมแต่การบรรลุ
อรหัตมรรค  คุณคือพระสัพพัญญุตญาณแม้ทั้งปวง  ชื่อว่ามาแล้ว  พระพุทธเจ้า
ได้แทงตลอดแล้ว  กระทำให้ประจักษ์แล้ว  ฉันนั้น  เหมือนกัน.
               คำว่า  "อยํ  วุจฺจติ" ความว่า  บุคคลนี้ได้แก่  บุคคลผู้มีสัพพัญญูคุณ
อันแทงตลอดแล้วด้วยอริยมรรค  โดยอานุภาพแห่งความสำเร็จแล้ว  ด้วยบารมี
อันบริบูรณ์ด้วยประการฉะนี้  ท่านจึงเรียกว่า "สัมมาสัมพุทโธ".
                          จบอรรถกถาสัมมาสัมพุทธบุคคล


ผมขอนำบทความนั้นแสดงให้ชัดอีกครั้งนะครับ

ก็ในภพก่อน ๆ  แต่ภพนั้น
พระสัพพัญญูโพธิสัตว์  ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา  เรียนพระไตรปิฏกทั้ง
๓  แล้วยกขึ้นสู่คตปัจจาคตวัตรคือ  วัตรที่นำกรรมฐานไปและนำกลับมา  เริ่ม
ตั้งกรรมฐานจนจดอนุโลมและโคตรภูญาณ.



   ตามที่ผมพอทำความเข้าใจได้ พระสัพพัญญูโพธิสัตว์  หรือ พระนิยตโพธิสัตว์นั้น มีความแตกต่างกับพระโพธิสัตว์ทั้วไป หรือพระอนิยตโพธิสัตว์ เป็นธรรมดา ที่เจริญได้ถึงวิปัสสนาญาณที่ สังขารุเบกขาญาณ เพียงเท่านั้น บางท่านปฏิบัติวิปัสสนาแก้กล้า จึงถึง สังขารุเบกขาญาณ อย่างแก่กล้าปัญญาเห็นรูปนาม เพียงน้อยนิดเบาสงบจนเสมือนทิ้งหายไป แต่ไม่ใช่อนุโลมญาณ ซึ่งอนุโลมญาณที่แท้จริงยังไม่ปรากฏขึ้น แล้วกลับมาปรากฏชัด

    ต่างกับพระนิยตโพธิสัตว์เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างแก่กล้า ตรวจสอบตนเองอย่างยิ่งยวด ท่านย่อมเจริญถึง จนจดอนุโลมและโคตรภูญาณ
     ซึ่งไม่ใช่สภาวะที่เป็นสาธารณะ สำหรับปุถุชนทั่วไป  จึงอยากที่จะวินิสัยตัดสินอย่างชัดเจนได้โดยทั่วๆ ไป.

     ก็จะมีแต่พระนิยตโพธิสัตว์ที่ปฏิบัติวิปัสสนาตรวจสอบตนเองอย่างยิ่งยวดแล้ว ปรากฏกับท่านเท่านั้น แต่ไม่ย่างเข้าสู่การละกิเลสอย่างสมุทเฉทได้คือมรรคญาณ เมื่อยังไม่ใช่เป็นภพสุดท้ายที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่ได้เป็นสภาวะสาธารณะ สำหรับปุถุชนทั่วไป.
     เพราะปุถุชนทั่วไปเมื่อเจริญถึงอนุโลมและโคตรภูญาณ ก็ต้องเจริญถึงมรรคญาณ โดยไม่สิ่งใดขว้างกั้น เป็นพระอริยบุคคล อย่างแน่นอน

       สิ่งที่เราท่านสนทนากันนี้เป็นเรื่องเฉพาะ และหาบุคคลมาเปรียบเทียบได้อยาก มีเพียงน้อยนิดๆๆ เมื่อเทียบกับสัตว์ทั้งหลาย หาได้เป็นสภาวะที่เป็นสาธารณะ จึงหาได้เป็นจุดเด่น ที่น่าจะต้องวิเคราะห์เรียนรู้สำหรับทั่วๆ ไป.

ตอบโดย: Vicha 15 พ.ย. 52 - 19:18

ลานธรรมเสวนา http://larndham.net